fbpx

ช่อง 3 ทำกำไรได้อีกไตรมาส! คว้ากำไร 184 ล้านบาท

บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) รายงานงบการเงินต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2564 โดยงบการเงินประจำไตรมาสที่ 2/2564 พบว่ามีกำไรสุทธิ 184 ล้านบาท และมีรายได้รวมอยู่ที่ 1,513 ล้านบาท มากกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อนทั้งในเชิงรายได้และกำไรสุทธิ สร้างประวัติศาสตร์กลับมามีกำไรในปีนี้ 2 ไตรมาสรวด

โดยรายได้ของช่อง 3 หรือบีอีซี เวิลด์ แบ่งรายได้เป็นรายได้จากการขายเวลาโฆษณา มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเกือบ 400 ล้านบาท โดยจากไตรมาส 2/2563 มีรายได้อยู่ที่ 887,001,000 บาท ในไตรมาสที่ 2/2564 มีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 1,222,271,000 บาท ในขณะที่รายได้จากการให้ใช้ลิขสิทธิ์และบริการอื่นลดลงประมาณ 2 ล้านบาท โดยในไตรมาสที่ 2/2563 มีรายได้อยู่ที่ 284,591,000 บาท แต่ในไตรมาส 2/2564 มีรายได้อยู่ที่ 282,442,000 บาท และรายได้อื่นๆ มีรายได้ลดลงอยู่ที่ 100,000 บาท โดยรายได้ในไตรมาส 2/2563 อยู่ที่ 8,878,000 บาท ขณะที่ไตรมาส 2/2564 มีรายได้อยู่ที่ 8,779,000 บาท

ทำให้รายได้รวมของช่อง 3 ในไตรมาส 2/2564 อยู่ที่ 1,513,492,000 บาท มากกว่าไตรมาส 2/2563 ที่มีรายได้อยู่ที่ 1,192,719,000 บาท มากกว่าประมาณ 300 ล้านบาท ในขณะที่ค่าใช้จ่ายของช่อง 3 ก็ลดลงไปด้วยเช่นกัน โดยไตรมาส 2/2563 มีรายจ่ายรวมอยู่ที่ 1,389,117,000 บาท แต่ในไตรมาส 2/2564 มีรายจ่ายอยู่ที่ 1,257,530,000 บาท ลดลงไปเกือบ 100 ล้านบาท ส่งผลให้กำไรสุทธิประจำงวด 2/2564 อยู่ที่ 184,687,000 บาท มากกว่าไตรมาส 2/2563 ที่ขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 305,183,000 บาท

สำหรับคดีฟ้องร้องในบริษัทฯ นั้น พบว่าในปี 2560 บริษัทย่อยของบริษัท 2 แห่ง ถูกฟ้องเป็นจำเลยร่วม ในฐานผิดสัญญาการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลจากยุโรป จำนวนทุนทรัพย์ 260.22 ล้านบาท เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้บริษัทย่อยของบริษัทชนะคดี ต่อมาเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น อย่างไรก็ตามโจทก์มีสิทธิยื่นคำฎีกาคำพิพากษาได้ แต่บริษัทย่อยของบริษัทคาดว่าจะไม่ได้รับความเสียหายจากการถูกฟ้องร้อง ดังนั้นจึงไม่ได้บันทึกเป็นค่าใช้จ่ายและหนี้สินที่อาจเกิดขึ้น

นอกจากนี้ยังพบว่า บริษัทและบริษัทย่อยของบริษัท 2 แห่ง ถูกฟ้องเป็นจำเลย รวม 2 คดี ในคดีแรงงาน จำนวนทุนทรัพย์รวม 138.82 ล้านบาท ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นแต่บริษัทและบริษัทย่อยคาดว่าจะไม่ได้รับความเสียหายจากคดีดังกล่าว ดังนั้นจึงไม่ได้บันทึกเป็นค่าใช้จ่ายและหนี้สินที่อาจเกิดขึ้น

และเหตุการณ์หลังรอบระยะเวลาบัญชีก็ยังพบว่าในเดือนกรกฎาคม 2564 บริษัทย่อยของบริษัท 3 แห่ง ได้จดทะเบียนเลิกกิจการกับกระทรวงพาณิชย์และอยู่ระหว่างการชำระบัญชี