fbpx

Echo Chamber: เสียงสะท้อนที่มีแต่เราได้ยิน

ในแวดวงสื่อสารมวลชน หรือผู้ที่เรียนด้านสื่อ ต้องเคยได้ยินหรือผ่านตากันมาบ้างกับแนวคิดเรื่อง “Echo Chamber” หรือแปลว่า “ห้องเสียงสะท้อน” ข้อมูลจากวิกิพีเดียได้กล่าวไว้ว่า เป็นความหมายเปรียบเปรยถึงห้องที่ออกแบบ ให้มีการสะท้อนเสียงกลับไปกลับมา ในขณะที่ โตมร ศุขปรีชา (2556) ได้ให้คำนิยามแก่แนวคิดดังกล่าวไว้ว่า “ห้องที่สะท้อนแต่เสียงตัวเอง” เขากล่าวว่าสื่อโซเชียลมีความไม่เป็นกลางในการคัดเลือกข้อมูลให้กับเรา และมันก็อาจจะทำให้เราไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างหลากหลาย มันอาจจะเป็นการตอกย้ำโลกทัศน์เดิม ๆ ของเรา แทนที่จะเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้กว้างขึ้น “มันเหมือนเป็น Echo Chamber” เวลาเราพูดออกไป ยิ่งแรงเท่าไหร่ เสียงสะท้อนกลับมามันก็ยิ่งชัดเท่านั้น เมื่อไม่มีการแลกเปลี่ยนถกเถียงกันมาก ๆ เข้าก็ทำให้เราเผลอเชื่อไปว่า คนส่วนใหญ่ในสังคมน่าจะคิดเหมือนเรา และแน่นอนว่ามันไม่ใช่การเปิดโลกทัศน์ที่เราอยากจะให้มันเกิดขึ้น

งานศึกษาของ อัลเบอท ปอทเจส กล่าวว่าในแวดวงสื่อสารมวลชน (Mass Media) พฤติกรรมการรับชมโทรทัศน์ของผู้ชมที่มีรีโมทคอนโทรลอยู่ในมือ และเปลี่ยนช่องดูแต่รายการที่ตนชื่นชอบ ก็ถือเป็นการสร้าง Echo Chamber ในระดับปัจเจกบุคคล ผู้ชมสามารถเลือกรับสาร โดยมีรีโมทคอนโทรลเป็นกลไกในการคัดกรองเนื้อหา

ประเทศสหรัฐอเมริกา มีงานวิจัยหลายชิ้นที่พูดถึงผลกระทบของ Social Media ที่มีต่อมิติทางการเมือง Nicholas Difonzo ศาตราจารย์ด้านจิตวิทยา จากสถาบันเทคโนโลยีโรเชสเตอร์ (RIT) ระบุว่าอินเตอร์เน็ตได้กลายเป็นแหล่งซ่องสุมนินทาของกลุ่มคนที่มีความคิดเห็นคล้ายกัน โดยเฉพาะกลุ่มการเมืองพวกฝ่ายขวาจะจับกลุ่มฝ่ายขวา ฝ่ายซ้ายจะรวมหัวกับฝ่ายซ้าย

ในประเทศไทยเองมีการศึกษาเรื่อง Echo Chamber มาอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่การศึกษาจะเน้นไปที่เรื่องการเมืองเป็นหลัก เช่นเดียวกับงานศึกษาของ อัลเบอท ปอทเจส ได้ทำการศึกษาในสื่อสังคมออนไลน์ Facebook ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 ที่มองว่าใส่สื่อสังคมออนไลน์เหล่านี้เป็นพื้นที่แห่งการสร้าง Echo Chamber ทำให้มวลชนจำนวนหนึ่งปักใจเชื่อว่ามันเป็นข้อเท็จจริง ทั้งที่มันเป็นแค่ชุดข้อมูลหนึ่งที่เต็มไปด้วยอคติ และทำให้พวกเขาติดกับดักทางความคิด มองอะไรเป็นขาว-ดำไปหมด เพราะรูปแบบของการ Edit Privacy หรือการ Unfriend และการ Block ยิ่งทำให้เกิดการกีดกันคนเห็นต่าง และชุดความคิดที่แตกต่าง ออกจากไปสารบบการรับรู้ของเรา

เช่นเดียวกับ พิรงรอง รามสูต (2556) กล่าวถึงปรากฏการณ์ Echo Chamber ในสังคมไทยไว้ว่า “การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น Facebook ของผู้คนในสังคมที่แตกแยกอย่างรุนแรง ก็อาจกลายเป็นช่องทางในการ “เลือกรับ” เฉพาะข้อมูลที่ปัจเจกคนนั้น ๆ ต้องการที่จะได้ยิน/ฟัง ส่วนความเห็นที่ไม่ต้องการนั้นก็จะถูกปิดตาย เช่น การ Unfriend เพื่อนที่มีความคิดแตกต่าง เป็นต้น ฉะนั้น การใช้ชื่อสมัยใหม่ จึงเป็นเพียงเสียงสะท้อนของความเห็นที่เราอยากได้ยินซ้ำแล้วซ้ำอีก เครือข่ายเพื่อนใน Facebook จึงเป็นเครือข่ายของคนที่คิดเหมือน ๆ กัน และมีความเป็นไปได้ที่จะผลิตสร้างความเห็นที่มีเนื้อหาสร้างความเกลียดชังต่อคนกลุ่มอื่น ๆ”

หากจะพูดเรื่อง Echo Chamber กับสถานการณ์ปัจจุบัน คงหนีไม่พ้นกับสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองที่กำลังเกินขึ้นทั้งในโลกกายภาพ และโลกออนไลน์ หากจะย้อนกลับไปในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา (16 สิงหาคม 2564) ในสื่อสังคมออนไลน์ Twitter ที่มี Hashtag ร้อนจนขึ้นอันดับ 1 ของประเทศไทย #กูสั่งให้มึงทำข่าว กับสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่การชุมนุม ทั้งการใช้กระสุนยาง แก๊สน้ำตา และความรุนแรง

ในโลกออนไลน์อย่าง Twitter มีการแชร์ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์การชุมนุมอย่างต่อเนื่อง และแสดงภาพการใช้ความรุนแรงจาก คฝ. หรือ “ตำรวจควบคุมฝูงชน” ทั้งภาพการใช้ความรุนแรงจากกระสุนยาง ยิงใส่ผู้ชุมนุม นักข่าว และชาวบ้านในบริเวณที่มีการชุมนุม การยิงแก๊สน้ำตา และการใช้กำลังในการควบคุมฝูงชน สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เกิดขึ้นแต่เพียงโลกออนไลน์ ที่แชร์ผ่านกลุ่มคนเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งอาจนำมาซึ่งคำถามว่า การเกิดข้อความ #กูสั่งให้มึงทำข่าว นี้สามารถเรียกได้ว่าเป็น Echo Chamber ได้มั้ย คำตอบคือ ได้! เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นตามแนวคิดดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นจากกลุ่มคนที่มีความคิดเหมือนกัน และรับข้อมูลข่าวสารจากแหล่งเดียวกัน

แล้วคำถามที่ตามมา ทำไมสื่อถึงไม่ทำข่าว หรือทำข่าวแล้วไม่ตรงความต้องการของกลุ่มคนในโลกออนไลน์ ต้องย้อนกลับไปที่ข้อความนี้ “งานศึกษาของ อัลเบอท ปอทเจส กล่าวว่าในแวดวงสื่อสารมวลชน (Mass Media) พฤติกรรมการรับชมโทรทัศน์ของผู้ชมที่มีรีโมทคอนโทรลอยู่ในมือ และเปลี่ยนช่องดูแต่รายการที่ตนชื่นชอบ ก็ถือเป็นการสร้าง Echo Chamber ในระดับปัจเจกบุคคล” แสดงให้เห็นว่าแม้สื่อมวลชนจะนำเสนอเรื่องราวต่าง ๆ ไปแล้ว แต่สื่อมวลชนมีกลุ่มผู้ชมที่มีจำนวนมาก และสื่อมวลชนพยายามเก็บกลุ่มผู้ชมทุกกลุ่มไว้ ดังนั้นหากนำเสนอเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากเกินไป จะส่งให้ผู้ชมเหล่านั้นเลือกไปชมช่องอื่นหรือไม่? อาจจะนำไปซึ่งการเสียซึ่งฐานผู้ชมของตนเอง ที่สำคัญผู้ชมที่ไม่ชื่นชอบการชุมนุมก็เปรียบการชุมนุมเป็นสีดำ และพาลเชื่อว่าช่องที่นำเสนอนี้เป็นสีดำไปด้วย (ตามแนวคิดเรื่อง Echo Chamber ที่กลุ่มคนจะเลือกแค่ 2 ฝั่ง ไม่ซ้ายก็ขวา ไม่ขาวก็ดำเท่านั้น)

เมื่อผู้เขียนได้ลองย้อนกลับไปชมการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับการชุมนุมในช่วงเวลาที่ผ่านมา พบว่าสื่อมวลชนบางช่องมีการนำเสนอตั้งแต่การเกาะติดสถานการณ์ และบางช่วงก็นำเสนอแค่เพียงช่วงสั้น ๆ เท่านั้น แต่การนำเสนอนี้เป็นการนำเสนอแบบไหนกัน? นี่คือคำถามที่น่าสนใจ ว่าการนำเสนอนี้แสดงให้เห็นว่าผู้ชุมนุมเป็นสีดำหรือขาว หรือให้ข้อมูลที่ครบถ้วนแล้วทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อไม่สร้างห้องสะท้อนเสียงตัวเอง หรือ Echo Chamber ขึ้นมา

หรือแท้ที่จริงแล้ว Echo Chamber เป็นการมองที่ตัวสื่อในแง่ลบเพียงอย่างเดียว และพยายามสร้าง Utopia หรือ สังคมอันแสนสมบูรณ์แบบ (ยูโทเปีย เป็นชื่อหนังสือของเซอร์ทอมัส มอร์ ในปี ค.ศ. 1516 ซึ่งเขียนเป็นภาษาละติน เป็นงานเขียนร้อยแก้วพรรณนาถึงสังคมบนเกาะในจินตนาการแห่งหนึ่ง เล่าเรื่องเกี่ยวกับศาสนา ความเชื่อ ลักษณะทางสังคมและการปกครองบนเกาะแห่งนั้น แต่แท้ที่จริงแล้วในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปแล้วว่า สังคมในงานเขียนของมอร์ไม่ใช่ “สังคมสมบูรณ์แบบ” ของเขา ทว่าเขาเพียงแต่สร้างภาพของสังคมที่ตรงกันข้ามกันระหว่างดินแดนในจินตนาการซึ่งมีแนวคิดการปกครองที่ไม่เหมือนใคร กับการเมืองอันยุ่งเหยิงวุ่นวายในยุคสมัยของเขา เพื่อเป็นโครงร่างสำหรับการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับสภาพสังคมกันต่อไป) ที่มุ่งหวังให้สื่อทำหน้าที่เป็นสังคมแห่งสันติสุข และพยายามสร้างค่านิยมการใช้สื่ออย่างมีสติ สร้างการรู้เท่าทันสื่อ แท้ที่จริงแล้วสิ่งเหล่านี้คือการตกอยู่ภายใต้แนวคิด Technological Determinism (เทคโนโลยีคือตัวบงการ) ที่เชื่อว่าผลเสียทางสังคมทั้งหลายล้วนแล้วแต่เป็นผลพวงที่เกิดจากเทคโนโลยี และความเสื่อมทรามทางสังคม

ดังนั้นแม้ว่ากลุ่มทางสังคมของตนเองจะมีข้อมูลจำเพาะขนาดไหนก็ตาม แต่การเลือกรับข้อมูลจากกลุ่มอื่น ๆ (หรือในแนวคิดนี้คือกลุ่มตรงข้ามนะ) และนำข้อมูลดังกล่าวมาชั่ง ตวง วัด หรือพินิจ พิเคราะห์อย่างไรก็ตาม เพื่อหาความจริงที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง อันนี้จะมองว่าเป็นเรื่องที่สมควรมากกว่า เช่นเดียวกับสื่อมวลชน ต้องตั้งคำถามกลับไปยังสื่อว่า คุณได้มองกลุ่มคนต่าง ๆ ที่อยู่ในสังคมแบบขาว-ดำอยู่หรือไม่ ถ้าทำเช่นนั้นอยู่ เท่ากับคุณยังอยู่ในห้องสะท้อนเสียงของคุณอยู่ แต่ถ้าคุณเป็นสื่อที่แท้จริงแล้ว การนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นจริงที่สุด เป็นหนทางที่ทำให้คุณก้าวออกมาจากห้องสะท้อนเสียงของตนเองได้อย่างแท้จริง

ที่มา:
ยูโทเปีย (หนังสือ): วิกิพีเดีย
#Social Network ‘เปิดโลกกว้าง’ หรือ ‘สร้างกระลา’? ปรากฏการณ์ ECHO CHAMBER และผลกระทบทางสังคม โดย Albert Potjes
ห้องเสียงสะท้อน: วิกิพีเดีย