fbpx

เปิดกลยุทธ์ไตรมาส 3/64 ของช่อง 3 – เมื่อโควิด-19 ยังไม่ซา

บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ดำเนินกิจการสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3HD (หมายเลข 33) ได้จัดการประชุมนักวิเคราะห์ขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ โดยเป็นการสรุปสถานการณ์และทิศทางในช่วงครึ่งปีหลังของไทยทีวีสีช่อง 3 รวมถึงเจาะลึกถึงการดำเนินการให้ธุรกิจยังไปได้ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่ปกติอีกด้วย โดยมีรายละเอียดที่สำคัญดังต่อไปนี้

ท่าทีโควิด-19 ยังสูงขึ้นเรื่อย ๆ กระทบอุตสาหกรรมโดยรวม

สำหรับไฮไลท์ที่สำคัญในไตรมาสที่ 2/2564 นั้นพบว่าโควิด-19 ยังคงเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจโดยรวม โดยจากผลกระทบในการ Lockdown รวมไปถึงสถานการณ์ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อการถ่ายทำและผลิตคอนเทนต์โดยรวมของอุตสาหกรรมโทรทัศน์ ในขณะที่เม็ดเงินโฆษณาตลอดครึ่งปี 2564 พบว่ามีจำนวนโดยรวมสูงขึ้นถึงร้อยละ 8 จากปีที่ผ่านมา โดยมีมูลค่ารวม 53,640 ล้านบาท เป็นธุรกิจโทรทัศน์ 32,097 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากครึ่งปีแรกของ 2563 ร้อยละ 9.9 และในไตรมาสนี้ไทยทีวีสีช่อง 3 ยังส่งออกละครได้ถึง 4 เรื่อง ซึ่งขยายทั้งในภูมิภาคเอเชียและภูมิภาคอื่นๆ อีกด้วย

ในขณะที่เรตติ้งในเขตกรุงเทพมหานคร โดยนับจากกลุ่มอายุ 15 ปีขึ้นไป พบว่าไทยทีวีสีช่อง 3 ครองความนิยมเป็นอันดับที่ 1 อย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการจัดอันดับเรตติ้งบน AIS Playbox และ PSI Rating ก็พบว่าช่อง 3 ยังเป็นช่องที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 1 และสูงขึ้นจากการกลับมาของสรยุทธ สุทัศนะจินดาอีกด้วย

รายได้ยังไปได้สวยและต่อเนื่อง

จากผลประกอบการในไตรมาสล่าสุด พบว่าไทยทีวีสีช่อง 3 มีรายได้ที่สูงขึ้น คว้ารายได้ในไตรมาส 2/2564 อยู่ที่ 1,504 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากโฆษณาโทรทัศน์ 1,222.3 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นรายได้ที่เติบโตขึ้นเล็กน้อย เมื่อมาดูรายได้โฆษณาเฉลี่ยต่อนาที (นับจาก 24 ชั่วโมงเฉลี่ย) พบว่าลดลงเล็กน้อยเหลือร้อยละ 79.8 จากไตรมาสที่ 1/2564 มีรายได้โฆษณาเฉลี่ยต่อนาทีอยู่ที่ร้อยละ 85.2 ในขณะที่เรตโฆษณาในสล็อตโดยรวมสูงขึ้นเป็นร้อยละ 70.2 จากไตรมาส 1/2564 ที่อยู่ที่ร้อยละ 63.9

ในส่วนของรายได้โฆษณาที่ปรับแล้วซึ่งแยกตามประเภทรายการ พบว่ารายได้ในส่วนของรายการข่าวสูงขึ้นถึงร้อยละ 24.3 ในรอบ 6 เดือนแรกของปี 2564 จากเดิมอยู่ที่ร้อยละ 20.1 ใน 6 เดือนแรกของปี 2563 โดยเกิดจากการปรับรายการข่าวทั้งช่องให้เป็นไปในทิศทางใหม่มากขึ้น ในขณะที่ละครก็อยู่ที่ร้อยละ 58.5 ลดลงเล็กน้อย แต่รายได้กลับเข้ามามากขึ้น เช่นเดียวกับส่วนของรายการวาไรตี้และบันเทิงที่เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 13.8 และรายการอื่นๆ ร้อยละ 3.5 รวมในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 มีรายได้อยู่ที่ 2,396.8 ล้านบาท มากกว่า 6 เดือนแรกของปี 2563 ที่มีรายได้อยู่ที่ 1,940.9 ล้านบาท

ในส่วนของรายได้จากธุรกิจสื่อใหม่สูงขึ้นจากไตรมาส 1/2564 เป็นเท่าตัว โดยมีรายได้รวมอยู่ที่ 189 ล้านบาท จากไตรมาสที่ 1/2564 ที่มีรายได้รวมเพียง 92.3 ล้านบาท และรายได้จากการให้ใช้ลิขสิทธิ์เผยแพร่ที่เพิ่มขึ้นเป็น 85.4 ล้านบาทในไตรมาสนี้เช่นกัน

ส่งผลทำให้กำไรรวมในไตรมาส 2/2564 อยู่ที่ 184.7 ล้านบาท และเป็นไตรมาสที่ 4 แล้วนับจากไตรมาสที่ 3/2563 ที่มีกำไรสุทธิ ส่งผลทำให้ครึ่งปีแรกของปี 2564 มีกำไรสุทธิรวม 323.5 ล้านบาท

กลยุทธ์ในไตรมาสต่อไป สลับคอนเทนต์รีรันเป็นศุกร์-อาทิตย์แทน

สำหรับการวางสล็อตคอนเทนต์ละครในไตรมาสต่อไป ยังเน้นสล็อตละครใหม่สลับกับสล็อตละครรีรัน โดยเปลี่ยนวันรีรันละครในช่วงไพร์มไทม์จากเดิมคือวันจันทร์-อังคาร เป็นวันศุกร์-อาทิตย์ ซึ่งจะเสนอเรื่อง “คลื่นชีวิต” และละครใหม่จะฉายในช่วงไพร์มไทม์วันจันทร์-พฤหัสบดี 2 เรื่องๆ ละ 2 วัน โดยมีเรื่อง “ดวงตาที่ 3” ฉายในวันจันทร์-อังคาร และ “พฤษภา-ธันวา รักแท้แค่เกิดก่อน” ที่จะฉายในวันพุธ-พฤหัสบดี

นอกเหนือจากนี้ในไตรมาสนี้จะยังพบกับละครในช่วงหลัง 23.00 น.ที่จ่อรอให้ติดตามชมด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น CAT RADIO TV Season 2 ที่จะออกอากาศทุกวันอังคาร 23.00-24.00 น. เริ่มกันยายน 2564, Me Always You (เริ่มสิงหาคม 2564) และ Switch On (เริ่ม พฤศจิกายน 2564) ออกอากาศทุกวันศุกร์-เสาร์ 22.55-23.55 น.

นอกเหนือจากการปรับผังละครโทรทัศน์แล้ว การขายลิขสิทธิ์ก็ยังคงรุกต่อเนื่อง โดยมีละคร 6 เรื่องที่ขายให้กับ Netflix ในลักษณะฉายจบ ดูได้ในวันถัดไป 5 เรื่อง ประกอบด้วย ให้รักพิพากษา, พิศวาสฆาตเกมส์, Help Me คุณผีช่วยด้วย, ดวงตาที่ 3 และเกมล่าทรชน โดยยังออกอากาศพร้อมกันกับประเทศไทย ในพื้นที่เขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอีก 1 เรื่องที่ออกอากาศพร้อมกันกับไทย โดยจะฉายใน 25 ประเทศทั่วเอเชีย คือ คุณหมีปาฏิหาริย์

ในส่วนของ VIU ก็ได้มีการขายสิทธิ์ให้ออกอากาศพร้อมกัน 3 เรื่อง ได้แก่ แค้นรักสลับชะตา, พฤษภา-ธันวา รักแท้แค่เกิดก่อน และยมทูตกับภูติสาว โดย 2 เรื่องแรกออกอากาศในประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ส่วน 1 เรื่องหลังออกอากาศที่ประเทศอินโดนีเซีย

นอกเหนือจากนั้นยังให้ความสำคัญกับ CH3PLUS ไปด้วย ภายใต้ 2 แนวทาง คือการให้ดูแบบมีโฆษณา กับไม่มีโฆษณา (ใช้ระบบการสมัครสมาชิก) พร้อมๆ กับการขายสิทธิ์ให้กับ OTT Platform อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น WeTV, iQIYI, VIU, trueiDTV, AIS PLAY รวมไปถึงลงในช่องทางออนไลน์ที่มีโฆษณา ได้แก่ Facebook Watch และ YouTube อีกด้วย

ในส่วนของ CH3PLUS Membership นั้นมีอัตราที่สูงขึ้น โดยไตรมาส 2/2564 พบว่ามีจำนวนสมาชิกรวมกันอยู่ที่ 1.8 ล้านบัญชี และคาดว่าไตรมาส 3/2564 จะมีสมาชิกรวมอยู่ที่ 2.7 ล้านบัญชี นอกจากนี้ยอดการรับชมรายการสดอย่าง “เรื่องเล่าเช้านี้” หลังจากการกลับมาของ “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” นั้นพบว่าสูงขึ้นทั้งในเชิงเรตติ้งโทรทัศน์และเรตติ้งที่รับชมรายการสดออนไลน์ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่มีเรตติ้ง ขึ้นเป็น 2.97 และพีกไปถึง 3.00 ในเดือนกรกฎาคม 2564 ซึ่งยอดรับชมออนไลน์ก็พุ่งไปถึง 3.6 ล้านวิวส์ในเดือนนี้เช่นกัน

เปิดเรตติ้ง “เรื่องเล่าเช้านี้” หลังสรยุทธผงาดจอ คว้าเรตติ้งกว่า 3 ในกรุงเทพฯ

นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 ที่มีข่าวไทยทีวีสีช่อง 3 หรือชื่อที่เรารู้จักกันคือ “ครอบครัวข่าว 3” มีการปรับทัพกำลังกันมากขึ้น หลายคนก็คงจะได้เห็นพัฒนาการการนำเสนอข่าวของช่อง 3 อย่างเห็นได้ชัดเลยทีเดียว ซึ่งหนึ่งในสิ่งที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลง คือการกลับเข้ามาของ “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” กรรมกรข่าวคนดังของไทยทีวีสีช่อง 3 ผู้ครองหน้าจอรายการข่าวยามเช้าอย่าง “เรื่องเล่าเช้านี้” และยามสายวันหยุดอย่าง “เรื่องเล่าเสาร์อาทิตย์” นั่นเอง

การกลับเข้ามาในครั้งนี้ นอกจากการกลับมาเป็นพิธีกรข่าวแล้ว ก่อนหน้าที่เขาจะออกสู่หน้าจอ ในวันที่ 1 เมษายน 2564 เขายังได้รับการดำรงตำแหน่ง “ที่ปรึกษาฝ่ายข่าว” โดยขึ้นตรงต่อ “สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์” กรรมการผู้อำนวยการสายธุรกิจโทรทัศน์ เพื่อปรับกลยุทธ์ในการนำเสนอข่าว จนออกมาเป็น 5 ช่วงเวลาข่าวที่ทางช่อง 3 เป็นผู้ดำเนินการหลัก

ถ้าดูจากเรตติ้งในช่วงเวลาที่ผ่านมาจะพบว่า เรตติ้งของรายการเรื่องเล่าเช้านี้มีระดับที่ทรงตัว โดยพบว่ายอดการรับชมออนไลน์เฉลี่ยอยู่ที่ 1.5-2 ล้านครั้ง ในขณะที่เรตติ้งทางโทรทัศน์ซึ่งวัดในกลุ่มผู้ชมอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปในเขตกรุงเทพมหานครเป็นหลักก็พบว่าเรตติ้งทรงตัว มีขึ้น-ลงในบางช่วง จนถึงเดือนเมษายนที่ผ่านมาก็ยังพบว่าเรตติ้งอยู่ที่ 2.33 และยอดการรับชมออนไลน์อยู่ที่ 2.1 ล้านครั้ง

แต่หลังจากการกลับมาของ “สรยุทธ” ปรากฏว่าในช่วงตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา ยอดการรับชมฟื้นตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยพบว่าเรตติ้งกระโดดไปถึง 2.97 และยอดรับชมผ่านออนไลน์สูงถึง 3.1 ล้านครั้ง และยังทำสถิติสูงสุดในเดือนกรกฎาคมที่มีเรตติ้ง 3.00 และยอดการรับชมออนไลน์อยู่ที่ 3.6 ล้านครั้งอีกด้วย

สอดคล้องกับส่วนแบ่งรายได้ของประเภทรายการในรอบ 6 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งพบว่าสัดส่วนรายการข่าวสูงขึ้นจากปีที่แล้ว (2563) อยู่ที่ร้อยละ 20.1 ขยับมาเป็นร้อยละ 24.3 และยังดันเพดานสล็อตโฆษณารายการข่าวที่มีสรยุทธให้เต็มมากขึ้นได้อีกด้วย

เรียบเรียงโดย กฤตนัน ดิษฐบรรจง