fbpx

กสทช. ลงดาบตักเตือนช่อง 3HD กรณีการนำเสนอข่าวการชุมนุม

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้จัดการประชุมคณะกรรมการ กสทช. ครั้งที่ 15/2564 เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2564 โดยมีวาระที่สำคัญ ได้แก่ วาระที่ 5.1.16 ซึ่งเป็นกรณีการร้องเรียนเนื้อหาในการออกอากาศรายการข่าวจำนวน 2 รายการ คือ “ข่าว 3 มิติ” ในวันที่ 6 มีนาคม 2564 และรายการ “เรื่องเล่า เสาร์-อาทิตย์” เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2564 ซึ่งอาจเข้าข่ายมีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม

สำหรับการลงมติ ที่ประชุมเสียงข้างมาก ได้แก่ พลเอก สุกิจ ขมะสุนทร ทำหน้าที่ประธาน กสทช., พันเอก ดร. นที ศุกลรัตน์, พลโท ดร. พีระพงษ์ มานะกิจ, รศ. ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ และ ผศ.ดร. ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ มีมติเห็นชอบตามผลการพิจารณาของคณะอุนกรรมการที่เสนอเข้าที่ประชุม โดยให้มีคำสั่งเตือนทางปกครองแก่บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด ในฐานะผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการภาคพื้นดินช่อง 3 เอชดี เพื่อปรับปรุง แก้ไข และกำกับดูแลการนำเสนอเนื้อหารายการ โดยไม่นำเสนอข่าวสารอันทำให้ประชาชนเกิดความสับสน หรือได้รับข้อมูลข่าวสารที่ไม่ครบถ้วนรอบด้าน และไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาชีพสื่อสารมวลชน โดยอาศัยตามข้อ 19 ประกอบกับข้อ 14 (10) ของประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2555

ซึ่งที่ประชุมเสียงข้างน้อย ได้แก่ นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ได้ขอสงวนความเห็นในวาระนี้ โดยมีข้อคิดเห็นที่แตกต่างจากมติที่ประชุม ได้แก่ กสทช. อาจไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะพิจารณาความผิดตามมาตรฐานทางจริยธรรมของวิชาชีพได้ เนื่องจากมาตรา 27 (10) แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ บัญญัติให้ กสทช. มีอำนาจเฉพาะ “กำหนดมาตรฐานและลักษณะพึงประสงค์ทางด้านเทคนิคในการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์…”

ส่วน (18) บัญญัติให้ กสทช. มีอำนาจหน้าที่ส่งเสริมการรวมกลุ่ม เพื่อจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมของวิชาชีพ ในขณะที่ พ.ร.บ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตรา 39 ก็กำหนดให้ กสทช. ส่งเสริมการรวมกลุ่มเพื่อจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมของการประกอบวิชาชีพและควบคุมการประกอบวิชาชีพเช่นเดียวกัน ดังนั้น โดยหลักการตามกฎหมายจึงหมายถึงว่า คนในวิชาชีพคือฝ่ายที่จะต้องกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมและเป็นผู้พิจารณาว่าพฤติกรรมใดผิดหรือไม่ผิด ไม่ใช่บทบาทหน้าที่หรือำนาจของ กสทช. และเมื่อยังไม่มีมาตรฐานทางจริยธรรมดังกล่าวและไม่มีกระบวนการพิจารณาจริยธรรมทางวิชาชีพอย่างชัดแจ้ง อำนาจของ กสทช. ที่จะตักเตือนหรือดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับประเด็นจริยธรรมจึงไม่อาจเกิดขึ้น

นอกจากนี้ทางด้านสาระของเรื่องร้องเรียน ผู้ร้องตั้งประเด็นในเรื่องการบิดเบือนข่าวจากการที่รายงานข่าวระบุว่าเป็นการชุมนุมที่สงบและสันติ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาข้อความจากการถอดเทป ปรากฏว่าในการนำเสนอข่าวมีเพียงคำว่า “สันติ” โดยไม่มีคำว่า “สงบ” แต่อย่างใด ขณะเดียวกันก็มีการนำเสนอว่ามีตำรวจได้รับบาดเจ็บ มีการพ่นสีรั้วและถนน มีการเผาขยะหน้าศาล ปีนกำแพงศาลเพื่อติดตั้งป้ายคัตเอาต์ ซึ่งเท่ากับไม่ได้ปกปิดข้อเท็จจริง ส่วนว่าการกระทำเหล่านั้นจะเป็นการกระทำโดยสันติหรือไม่ เห็นว่าขึ้นกับการนิยามหลักการของคำว่า “สันติวิธี” ของแต่ละคน จึงมิใช่เรื่องผิด-ถูกหรือบิดเบือน

นอกจากนี้ ทางสถานีก็ยังมีการนำเสนอข่าวของกลุ่มที่มีความเห็นขัดแย้งกัน นั่นคือกลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบัน และในการนำเสนอมีการแยกระหว่างเหตุการณ์การชุมนุมหน้าศาลกับเรื่องการจับกุมผู้กระทำความผิด ด้วยการแยกดังกล่าว ความวุ่นวายจึงไม่ได้เกิดจากการชุมนุม แต่เป็นเรื่องของการจับกุมแล้วมีการไปปิดกั้นรถควบคุมผู้ต้องหา โดยส่วนตัวจึงเห็นว่า โดยหลักแล้วผู้สื่อข่าวก็รายงานตามสถานการณ์เฉพาะหน้า เป็นการรายงานในเหตุการณ์ที่มีข้อจำกัดการเห็นสถานการณ์ในภาพรวม อีกทั้งหลังจากที่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้แถลงเกี่ยวกับกรณีการจับกุม ทางสถานีก็นำเสนอข่าวการแถลงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเช่นเดียวกับทุกสถานี จึงถือได้ว่ามีการนำเสนอข่าวครบถ้วนแล้ว

ทั้งนี้ หาก กสทช. จะมีประเด็นความเห็นแตกต่างว่าเหตุการณ์การชุมนุมมิได้เป็นไปโดยสันติและการนำเสนอข่าวดังกล่าวเป็นเรื่องไม่สมควร ก็เห็นว่าอาจจะพิจารณาแจ้งขอความร่วมมือให้สถานีปรับปรุงมิให้เกิดการเสนอข่าวลักษณะดังกล่าวอีก แต่ไม่สามารถจะตักเตือนบนฐานการใช้กฎหมายได้

นอกจากนี้ในวาระที่ 5.1.54 ยังเป็นการพิจารณาเปลี่ยนหมายเลขช่องรายการของสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก โดยที่ประชุมเห็นชอบตามที่คณะอนุกรรมการของ กสทช. นำเสนอ อันประกอบไปด้วยการปรับเปลี่ยนเลขหมายช่องรายการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล จากแนวทางเดิมให้เป็นช่องหมายเลข 1 เป็นช่องรายการสำหรับกิจการบริการสาธารณะประเภทที่ 1 เพื่อส่งเสริมความรู้ การศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม และช่องหมายเลข 5 เป็นช่องรายการสำหรับผู้ประกอบการกิจการรายเดิมในระบบแอนะล็อก โดยอนุมัติให้กองทัพบก โดยสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกปรับเปลี่ยนหมายเลขจากหมายเลข 1 เป็นหมายเลข 5 นับตั้งแต่วันที่ กสทช. มีมติ (11 สิงหาคม 2564)

และยังเห็นชอบแผนการประชาสัมพันธ์และมาตรการเยียวยาในการปรับเปลี่ยนหมายเลขช่องรายการอีกด้วย โดยทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกจะทำการเปลี่ยนเลขช่องเป็นช่องหมายเลข 5 ในเดือนตุลาคม 2564