fbpx

ส่องปัญหาความน่าเชื่อถือของสื่อ เมื่อข่าวลวงเกิดขึ้นได้ทั่วโลก

เมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา Google News Initiative ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จัดการประชุม Trusted Media Summit APAC 2022 ซึ่งมีเจตจำนงในการรวมตัวของคนทำงานด้านสื่อ เพื่อค้นหาแนวทางและการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนเผยแพร่ข่าวออกไป และทำให้ลดผลกระทบที่เกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย ซึ่งในช่วงแรกนี้เป็นการพูดถึงปัญหาการตรวจสอบและเผยแพร่ข่าวลวงจาก 5 ประเทศด้วยกัน

เริ่มต้นด้วยคุณ Summer Chen บรรณาธิการบริหารของ Taiwan Factcheck Center กล่าวถึงปัญหาข่าวลวงที่เกิดขึ้นในไต้หวันว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมาจีนกำลังรุกไต้หวันอย่างหนักเพื่อขยายฐานอำนาจและข่มไต้หวัน ซึ่งรวมไปถึงการแทรกแซงทางด้านสื่อ การให้ข้อมูลผ่านทางทวิตเตอร์ และสร้างรูปภาพที่คุกคามไต้หวันอยู่เสมอ นอกจากนั้นยังปล่อยข่าวลือเป็นจำนวนมาก สื่อมวลชนในไต้หวันเองต้องทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้หนักขึ้น เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดจากการปล่อยข้อมูลลวงนั่นเอง

ต่อจากนั้นคุณ Daisuke Furuta , Teacher Fellow – Google News Initiative กล่าวถึงสถานการณ์ข่าวลวงว่า ในญี่ปุ่นเองได้มีการก่อตั้งองค์กรเพื่อตรวจสอบข้อมูลบ้างแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาจากสถานการณ์การเมืองหรือสภาพสังคมทำให้เกิดการปล่อยข้อมูลลวงออกมาเป็นจำนวนมาก ญี่ปุ่นถือเป็นหนึ่งประเทศที่เกิดการปล่อยข่าวลวงมากที่สุด โดยใช้วิธีการอ้างว่ามาจากสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วเกิดจากการนำข้อเท็จจริงมาแปลและสรุปตามความเข้าใจของตนเอง จนทำให้ข้อมูลเกิดการบิดเบี้ยวได้ แต่คนญี่ปุ่นนั้นมีอัตราการส่งต่อข้อมูลข่าวลวงค่อนข้างน้อย เนื่องด้วยวัฒนธรรมการไม่แชร์ข่าวลงสื่อสังคมออนไลน์ จึงทำให้อัตราการเข้าถึงข่าวลวงจริงๆ มีเพียงแค่ 1 ใน 3 เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ นั่นเอง

หลังจากนั้น คุณ Dilrukshi Handunnetti, Executive Director – Center for Investigative Reporting Sri Lanka ได้กล่าวต่อถึงสถานการณ์ในศรีลังกาว่า ในประเทศเองมีข้อมูลข่าวลวงถูกปล่อยออกมาเป็นจำนวนมาก จนส่งผลทำให้เกิดการแบ่งแยกฝ่ายกันขึ้น และต่างคนต่างปล่อยข้อมูลข่าวลวงให้อีกฝ่ายถูกลดความน่าเชื่อถือซึ่งกันและกัน นั่นเป็นเพราะสถานการณ์ทางการเมืองของศรีลังกามีความวุ่นวายพอสมควร ทำให้ข่าวลวงถูกปล่อยลงสื่อสังคมออนไลน์มามากด้วยเช่นกัน

Yvonne T. Chua, Associate Professor – University of the Philippines ยังกล่าวต่อถึงสถานการณ์ของฟิลิปปินส์ว่า ปัจจุบันข้อมูลข่าวลวงภายในประเทศมีปริมาณที่สูงขึ้นมาก ซึ่งบางครั้งมุ่งเป้าในการสร้างความแตกแยกและทำให้คนที่เกลียดนั้นเสื่อมเสียชื่อเสียง และการเข้ามาของ TikTok ก็มุ่งทำให้คนรุ่นใหม่เห็นคลิปและเชื่อไปตามๆ กัน จนขาดการใช้วิจารณญาณในการตรวจสอบก่อนส่งต่อได้

ส่งท้ายด้วย Raimundos Oki, Chief Editor – The Oekusi Post กล่าวถึงสถานการณ์การทำงานข่าวในติมอร์-เลสเตว่า ด้วยการตรวจสอบและดำเนินการค้นหาความจริงของนักข่าว ทำให้บางครั้งเขาเองถูกรัฐบาลในประเทศเล่นงาน โดยเฉพาะในกรณีที่มีผู้ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดทางเพศในเด็ก และเขาต้องพิสูจน์หาความจริงเกี่ยวกับคดีที่เกิดขึ้น ทั้ง ๆ ที่เขาพยายามอยากเป็นนักข่าวที่ดี ซึ่งแน่นอนว่ามันมีราคาที่ต้องจ่าย แต่เขาก็ตั้งใจที่จะเดินหน้าต่อไป ตามแนวทางที่เขาตั้งใจไว้ว่าการทำหนังสือพิมพ์ที่ดี ต้องตรวจสอบและหาข้อเท็จจริง เพื่อต่อสู้กับเหล่าผู้มีอิทธิพลนั่นเอง

ในช่วงเวลาต่อมา เป็นการปาฐกถาพิเศษโดย มาเรีย เรสซา เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 2021 ซึ่งเขาได้กล่าวถึงการตรวจสอบข้อเท็จจริงในปัจจุบันว่าในปัจจุบันการค้นหาข้อเท็จจริงนั้นค่อนข้างเจออุปสรรคในเชิงอำนาจของผู้มีอิทธิพล เพราะเมื่อไหร่ที่นักข่าวตรวจสอบพวกเขาเมื่อไหร่ นักข่าวเหล่านี้ก็จะถูกหมายหัวทันที ซึ่งยังส่งผลให้นักข่าวหญิงมากกว่าร้อยละ 73 ที่ถูกคุกคามทางเพศในโลกออนไลน์อีกด้วย และแน่นอนว่าการเกิดขึ้นในโลกออนไลน์ก็อาจจะนำไปสู่การเกิดขึ้นในโลกความเป็นจริง

ฉะนั้นการตรวจสอบข้อเท็จจริงในปัจจุบันอาจจะไม่ใช่หน้าที่ของนักข่าวเพียงอย่างเดียวแล้ว แต่ควรหามุมมองและการเล่าเรื่องที่แตกต่าง รวมถึงสร้างความร่วมมือกับวิชาชีพอื่นๆ เช่น นักวาดรูปการ์ตูน หรือ Influencer เพื่อทำให้ข้อเท็จจริงถูกเผยแพร่ออกไปให้ได้มากที่สุด และเข้าถึงหลากหลายช่องทาง ซึ่งการเป็นนักข่าวที่ดีจำเป็นที่จะต้องนำเสนอข้อเท็จจริงเพื่อต่อสู้กับข้อมูลลวง และนอกเหนือจากความร่วมมือกับภายนอกแล้ว องค์กรภายในก็ต้องคุยกันมากขึ้น เพื่อวางแผนการนำเสนอข้อเท็จจริงออกมาให้รัดกุมและมีผลลัพธ์ที่ดี รวมถึงการสร้างการรับมือกับการถูกคุกคาม การแก้ไขปัญหาและการบอกกับสังคมถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งสุดท้ายแล้วการหันหน้ามาร่วมกันทำงานจะช่วยทำให้เป้าหมายในการนำเสนอข้อเท็จจริงออกมาได้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่านั่นเอง

หลังจากนั้น Hannah Perry, Senior Research Advisor – Love Frankie ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัญหาในการสื่อสารข้อเท็จจริง ซึ่งประกอบไปด้วยการใช้คนละภาษาในการสื่อสารระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสาร การจำแนกภาษาระหว่างทางการและไม่ทางการ ประเภทในการสื่อสารข้อมูลนั้นๆ การไม่รู้จักกลุ่มเป้าหมายในการสื่อสาร และการให้ข้อมูลไม่เพียงพอ ซึ่งเราสามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยการร่วมมือในรูปแบบภาคีเครือข่าย และช่วยพัฒนาในส่วนของจุดอ่อนให้สามารถพัฒนาได้มากขึ้น

ในช่วงต่อมา ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท นำโดย พีรพล อนุตรโสตถิ์ – ผู้จัดการศูนย์ฯ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาคอนเทนต์ในศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ ว่าในปัจจุบันได้แบ่งการทำงานออกเป็น 2 ทีม คือทีมผลิตคอนเทนต์ (Production) และทีมสื่อสารข้ามแพลตฟอร์ม (Social Media) โดยในส่วนของทีมผลิตคอนเทนต์นั้นจะเน้นการผลิตวีดิโอ โดยมีหลักการในการหาต้นตอ ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ และพูดโน้มน้าวด้วยข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ส่วนทีมสื่อสารข้ามแพลตฟอร์มนั้น จะมีหน้าที่ในการนำวีดิโอที่ผลิดสำเร็จนำไปพัฒนาให้เกิดการสื่อสารที่เหมาะสมในแต่ละแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ โดยแต่ละสื่อสังคมออนไลน์นั้นมีความเฉพาะเจาะจงของกลุ่มเป้าหมายแตกต่างกัน ทำให้ต้องผลิตเนื้อหาให้เหมาะสมและสื่อสารข้ามแพลตฟอร์มได้ ซึ่งผลตอบรับนั้นทำให้มีผู้คนเข้าถึงเป็นจำนวนมาก

ส่งท้ายงานด้วยการปาฐกถาพิเศษโดย เอเลียต ฮิกกินส์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Bellingcat ในประเด็นการต่อต้านข่าวลวง โดยเขาได้กล่าวว่าการสร้างเว็บไซต์ Bellingcat นั้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อลบล้างข้อมูลลวง และสร้างภูมิคุ้มกันในการรับมือกับข่าวลวงได้ ซึ่งการค้นคว้าหาหลักฐานก่อนที่จะเชื่อข้อมูลนั้นๆ ทำให้เราสามารถจัดการกับข้อมูลชุดนั้นได้มากขึ้น และทราบว่าเรื่องไหนเป็นเรื่องจริง โดยสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือการสร้างความเข้มแข็งให้กับคนในชุมชนให้เข้าใจมากขึ้นและสร้างภูมิคุ้มกันในทีมให้เท่าทันข่าวลวงนั่นเอง

บันทึกสรุปโดย ถิรพร จึงสำราญ และณัชชา สังข์สมิต