fbpx

บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเกี่ยวกับทิศทางการบริหารในปี 2565-2566 นำการสัมภาษณ์โดย นายสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ – กรรมการผู้อำนวยการสายธุรกิจโทรทัศน์ โดยพูดถึงทิศทางในการทำคอนเทนต์และทิศทางของบริษัทโดยรวม ตลอดจนอัพเดตสถานการณ์สื่อในปีที่ผ่านมา

โดยนายสุรินทร์ กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาบีอีซี เวิลด์เป็นช่วงเวลาของการลงทุนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารศิลปิน เนื้อหา และผลิตสตูดิโอเป็นของตนเอง รวมถึงการทำธุรกิจอื่นๆ เช่น เพลง และภาพยนตร์มากขึ้น ในส่วนของปีหน้าก็จะมีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจนและขยายเป็น Business Unit และทำให้สัดส่วนรายได้มีหลากหลายทางมากขึ้น ซึ่งจะตอบโจทย์การเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์มากกว่าเจ้าของสถานีโทรทัศน์ ฉะนั้นปีนี้จึงเป็นปีที่ลงทุนเป็นหลัก และในช่วง 6 เดือนแรก เรามีรายได้มาจากทีวีกว่าร้อยละ 88 และร้อยละ 12 มาจากการส่งออกไปต่างประเทศและสื่อดิจิทัล

ปัญหาคือเราจะทำอย่างไรให้รายได้ในสองทางนี้สมดุลกัน ซึ่งในช่วงแรกเรามีปัญหาเรื่องของการผลิต รวมไปถึงผลกระทบจากโควิด-19 ที่ติดง่ายขึ้นและมีโอกาสกลับมาเป็นได้อีก ทำให้แผนงานโดยรวมมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้ที่ผ่านมารายได้ลดลงต่ำกว่าที่คาดการณ์ โดยในช่วงของ 6 เดือนหลังจากนี้ จะเน้นเรื่องของทีวีเป็นหลัก โดยจะพยายามลดการรีรัน และเพิ่มคอนเทนต์คุณภาพมากขึ้น จากเดิมที่รายการข่าวเป็นสัดส่วนที่มีรายได้มากเป็นหลัก ซึ่งส่วนของงานข่าวจะเป็นอีกส่วนที่สร้างรายได้เป็นหลักด้วยการสร้างความนิยมของรายการเป็นหลัก เช่น ที่ผ่านมารายการข่าวของช่องมีการเพิ่มเวลาโฆษณาและสามารถสร้างรายได้ได้มากขึ้นจนสล็อตเกือบจะเต็ม ในอนาคตเราอาจจะต้องมีการเพิ่มราคาค่าโฆษณา เพื่อสร้างรายได้มากขึ้น

ธุรกิจของเราคือธุรกิจโฆษณา ฉะนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นของลูกค้าก็อาจจะส่งผลทำให้เรามีรายได้ที่ลดลงด้วย เช่น เราจะขายภาคอีสาน แต่ภาคอีสานน้ำท่วม ก็เท่ากับว่าเราส่งสารของเรากับลูกค้าเราไปไม่ถึง หรือคนกรุงเทพรถติด ใช้เวลากับรถเยอะ ก็ทำให้เขาไม่มีเวลาดูได้ แต่สถานีโทรทัศน์ก็ยังต้องออกอากาศไปเรื่อย ๆ ไปจนจบ เราไม่สามารถออกอากาศไปหยุดไปได้ เราจึงต้องมีหลายช่องทางในการหารายได้ โดยในส่วนของงานเพลงเรามี Chandelier Music ที่เป็นบริษัททำเพลงป้อนละครช่อง 3 อยู่แล้ว และปีหนึ่งเราป้อนเพลงมากกว่า 60 เพลงจากละครกว่า 30 เรื่อง ซึ่งในปีนี้และปี 2566 เราจะพัฒนาศิลปินให้สามารถทำตลาดและพัฒนาเป็น Business Unit ได้ต่อไป รวมถึงการทำการตลาดภายใน เช่น การ Tie-In ในละครซึ่งเริ่มการทำการตลาดผ่านละคร “เกมรักทรยศ” และในละครเรื่องนี้ทางช่องก็จะได้ลองอะไรใหม่ๆ ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีภาพยนตร์ที่จะมีความร่วมมือต่อไปในอนาคตอีกด้วย

นอกจากนี้นายสุรินทร์ยังกล่าวถึงการทำคอนเทนต์ละครว่า คอนเทนต์ละครนั้นพบว่าปัจจุบันการแข่งขันค่อนข้างสูง ยุคโควิด-19 ทำให้เรามีต้นทุนการผลิตทางอ้อมสูงขึ้นมาก การยากลำบากในการถ่ายทำมีเยอะมากขึ้น ทำให้เราต้องบริหารต้นทุนให้ได้ และเราต้องแม่นในการรู้ว่าลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมายของเราคือใคร ละครในอดีตเราขายแค่คนไทย แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว เราขยายกลุ่มเป้าหมายของเราไปถึงต่างประเทศ สิ่งนี้นอกจากจะเพิ่มรายได้แล้ว เราสามารถทำโชว์ไปที่ต่างประเทศด้วย นั่นคือเป้าหมายอันท้าทายของเราว่ามันจะเกิดขึ้น  และเราคิดว่าไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเราขายได้กี่ประเทศ มันอยู่ที่ว่าคอนเทนต์ของเราขายได้กี่คอนเทนต์ ถ้าคอนเทนต์เราเป็นที่ต้องการของตลาด ก็จะมีคนรุมอยากได้ของเรา ราคามันก็มีโอกาสที่จะสูงขึ้นด้วย เราเลยจึงต้องผลิตคอนเทนต์ที่ดีเพื่อได้ขายผลงานที่มีคุณภาพ

คือถ้าละครของเราดีไซน์งานมาเพื่อตลาดต่างประเทศด้วย เราก็จะได้กลุ่มลูกค้าของเราเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเราไม่ได้ตั้งใจว่าละครของเราจะต้องไปต่างประเทศทุกเรื่อง เพราะเราจะต้องมีการทำละครที่ขายแค่คนไทยอยู่แล้ว แต่เราจะคุยตั้งแต่ต้นแล้วว่าเราจะมีการส่งออกด้วย เราก็จะมาดูกันอีกทีว่าจะมีเรื่องไหนบ้างที่เราจะส่งออก และจากการขายต่างประเทศก็พบว่ามีหลายประเทศที่เราผลิตแล้วเขาอยากได้ทันที มีประเทศที่อยากออกอากาศพร้อมเราเลยด้วยซ้ำ และนั่นคือสิ่งที่ทำให้เราขายได้แพงขึ้น