fbpx

เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 13 ธันวาคม 2563

เมื่อ 10 กว่าปีก่อน หากพูดถึงคำว่า “ค่ายเพลง” หลาย ๆ คนก็อาจจะคิดถึง 2 ค่ายใหญ่ อย่างอาร์เอส และจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เป็นค่ายแรก ๆ 

แทบทุกคนต่างก็รู้จักค่ายเพลงเหล่านี้ ในระดับที่เรียกได้ว่าแทบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยทีเดียว บ้างก็โตมากับแนวเพลงของอาร์เอส บ้างก็โตมากับแนวเพลงของแกรมมี่

ในช่วงที่ทั้ง 2 ค่ายต่างก็เติบโตแบบสุดขีด การขยายธุรกิจจึงเป็นทางเลือกเพื่อที่จะขยายอาณาจักรของธุรกิจบันเทิงที่ทำอยู่ให้ใหญ่กว่าเดิม 1 ในนั้นก็คือธุรกิจการจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางโทรทัศน์ ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับบริษัทได้ในระดับหนึ่ง ยิ่งถ้าหากมีสถานีโทรทัศน์ในมือแล้วด้วยละก็ นั่นก็ยิ่งช่วยได้มาก

ในปัจจุบันที่นิยามของคำว่า “ค่ายเพลง” ไม่ได้ถูกจำกัดนิยามไว้แค่ผลงานที่มาจาก 2 ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ แต่หลาย ๆ คน ต่างก็ตั้งค่ายเพลงใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย และศิลปินบางคนก็เลือกที่จะเป็นค่ายเพลงเสียเอง การมีรายได้จากกลุ่มธุรกิจมากกว่า 1 ธุรกิจก็สามารถกระจายความเสี่ยงให้กับบริษัทได้

ยิ่งโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจ Home Shopping ที่ถึงแม้ว่าคนดูรุ่นใหม่ ๆ อาจจะไม่ได้ถูกใจนักก็ตาม แต่ก็ยังมีลูกค้าที่พร้อมสั่งอยู่เรื่อย ๆ 

วันนี้ทางผู้เขียนจึงจะขอหยิบยกกรณีของ 2 ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ที่ต่างค่ายต่างก็ทำ Home Shopping ของตัวเอง มาให้ผู้อ่านได้อ่านกันครับ


โอ ช้อปปิ้ง(จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่) – ผู้นำแนวคิดโชว์โฮสเข้ามาในไทย

สำหรับจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ ต้องอธิบายแบบสั้น ๆ เลยว่านอกจากธุรกิจเพลงที่ค่อนข้างแมสในตลาดเพลงไทยแล้ว 1 ในธุรกิจเกี่ยวเนื่องอย่างการทำโฮมช้อปปิ้งก็ดูจะเป็นสิ่งที่ค่ายนี้สามารถทำได้ และทำออกมาแล้วเวิร์คด้วย

ในที่นี้ผู้เขียนจะขอพูดถึงกลุ่มธุรกิจ “โฮมช้อปปิ้ง” ที่ค่ายนี้ทำอยู่อย่าง “โอช้อปปิ้ง”

โอช้อปปิ้งจัดตั้งบริษัทในช่วงปลายปี 2554 และเริ่มดำเนินงานในอีกไม่กี่เดือนถัดมา โดย บริษัทจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด(มหาชน) ร่วมทุนกับบริษัท CJ O Shopping Co., Ltd. จากประเทศเกาหลีใต้ ในอัตราส่วน 51 : 49[1] (*ในปี 2562 ทางจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ได้เข้าซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นรายเดิมที่ถือในสัดส่วน 49% ทำให้ในปัจจุบัน จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ถือหุ้นในบริษัททั้งหมด  และเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท โอ ช้อปปิ้ง จำกัด ในเวลาถัดมา และเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท จีเอ็มเอ็ม โอ ช้อปปิ้ง จำกัด เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา)

ในช่วงแรก ๆ อาจกล่าวได้ว่าโอช้อปปิ้งนั้นได้สร้างจุดเปลี่ยนในด้านของรูปแบบการผลิตรายการแนะนำสินค้า โดยนำแนวคิดของอาชีพที่เรียกว่า “โชว์โฮส” ซึ่งเป็นที่รู้จักในประเทศเกาหลีใต้ มาเผยแพร่ให้กับผู้ชมชาวไทย

อาชีพโชว์โฮส มีความแตกต่างจากอาชีพพิธีกร หรือพนักงานขายทั่วไป เพราะจะคัดสรรจากผู้ที่มีคุณสมบัติโดดเด่นในทุกด้าน ที่สำคัญก็คือผู้ที่จะประกอบอาชีพโชว์โฮส จะต้องเป็นบุคคลที่เข้าใจความต้องการของมวลชนได้เป็นอย่างดี

นั่นจึงทำให้อาชีพโชว์โฮสมีความแตกต่างจากพิธีกร และพนักงานขายอย่างชัดเจน

แต่ในเวลาถัดมา ก็มีทั้งโฮมช้อปปิ้งเจ้าใหม่ ๆ เข้ามา  ก็จัดทำรายการในรูปแบบที่คล้าย ๆ กัน ส่วนเจ้าเก่า ๆ ก็ปรับรูปแบบให้เป็นไปในทางเดียวกัน รูปแบบที่โอ ช้อปปิ้งนำเข้ามาจึงกลายเป็น “เรื่องปกติ” ของรายการโฮมช้อปปิ้งในปัจจุบัน

ปัจจุบันโอช้อปปิ้งมีรายการแนะนำสินค้าอยู่ในสถานีโทรทัศน์หลายช่อง รวมถึงช่องดาวเทียมของตนเอง

สิ่งที่น่าสนใจคือก่อนหน้านี้เมื่อปีก่อนมีการร่วมทุนกับ บริษัท โรจูคิส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ KISS เพื่อก่อตั้ง “บริษัท โอทู คิส จำกัด” แต่เมื่อไม่นานนี้มีการปรับสัดส่วนการถือหุ้นใหม่ โดย KISS ได้เข้าซื้อหุ้นสามัญหุ้นสามัญทั้งหมดใน O2KISS จากโอ ช้อปปิ้ง ทำให้ O2KISS กลายมาเป็นบริษัทย่อยของ KISS

ที่น่าสนใจคือเมื่อผลรายได้ของ บจก.จีเอ็มเอ็ม โอ ช้อปปิ้ง ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมามีรายได้รวมลดลง

ปี 2562 มีรายได้รวม 1,700 ล้านบาท ขาดทุน 37.98 ล้านบาท
ปี 2563 มีรายได้รวม 1,535 ล้านบาท กำไร 20.80 ล้านบาท
ปี 2564 มีรายได้ 1,332 ล้านบาท กำไร 5.31 ล้านบาท

แต่โอช้อปปิ้งยังไม่ใช่แหล่งรายได้หลักของจีเอ็มเอ็มแกรมมี่เสียซะขนาดนั้น เพราะกลุ่มธุรกิจซื้อขายสินค้าของจีเอ็มเอ็มแกรมมี่นั้นทำรายได้ให้กับจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ถึง 37.7% ก็จริง แต่รายได้หลักของจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ในปี 2564 ส่วนใหญ่ยังคงมาจากกลุ่มธุรกิจเพลง ซึ่งคิดเป็น 43.1% ของรายได้ทั้งหมด

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่าจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ยังคงโฟกัสกับกลุ่มธุรกิจเพลงมากในระดับหนึ่ง ซึ่งก็จะแตกต่างกับอีกบริษัทที่เรากำลังจะพูดถึง ที่ปัจจุบันหันไปโฟกัสกับกลุ่มธุรกิจพาณิชย์เป็นหลัก


อาร์เอสมอลล์ : เมื่ออาร์เอสไม่ได้จำกัดตัวเองแค่ธุรกิจบันเทิง

ในด้านของอาร์เอส กรุ๊ปนั้น ด้วยความที่ในปัจจุบันรายได้จากกลุ่มธุรกิจ MPC นั้นมีเยอะกว่ารายได้จากกลุ่มธุรกิจสื่อ ทำให้ทางอาร์เอสได้ขอให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยพิจารณาย้ายหมวด จากหมวดธุรกิจสือและสิ่งพิมพ์ ไปยังหมวดธุรกิจพาณิชย์ ซึ่งมีผลมาตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2562

เพลงของอาร์เอสนั้นมักจะได้รับความนิยมในกลุ่มของวัยรุ่น และครองใจวัยรุ่นได้ในหลากยุคสมัย ด้วยตัวเพลงที่ไพเราะ และตัวศิลปินที่เป็นไอดอลในใจของใครหลาย ๆ คน ทำให้กลุ่มธุรกิจเพลงของอาร์เอสนั้นสามารถครองใจผู้ฟังได้ในหลากหลายยุคสมัย

เมื่อธุรกิจเติบโตขึ้น การขยายธุรกิจก็ย่อมเป็นเรื่องอันเป็นธรรมชาติของหลาย ๆ บริษัท อาร์เอสก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจภาพยนตร์, ผู้ผลิตคอนเทนต์ และโทรทัศน์, กล่องรับสัญญาณดาวเทียม, วิทยุ, สื่อสิ่งพิมพ์, ผู้จัดอีเวนต์และคอนเสิร์ต, สื่อดิจิทัล, กีฬา, หรือแม้กระทั่งสื่อโฆษณานอกบ้านก็ยังเคยทำมาแล้ว

แต่เมื่อธุรกิจนั้นค่อย ๆ ถูก Disruption ทีละเล็ก ทีละน้อย นั่นก็ทำให้อาร์เอสก็ต้อง Disruption ตัวเองตามไปด้วย และ 1 ในการ Disruption นั่นก็คือการลงสนามสู่ธุรกิจโฮมช้อปปิ้ง

ถึงแม้ว่าไลฟ์สตาร์จะเริ่มต้นการทำธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2557 และเริ่มการจัดจำหน่ายสินค้าในรูปแบบของรายการโฮมช้อปปิ้งเมื่อปี 2559 แต่ชื่อไลฟ์สตาร์เพิ่งถูกพูดถึงอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อปี 2560 ซึ่งถือเป็นการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ และขยายช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าในกลุ่มของผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้า และผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมวางจำหน่ายบนช่องทางโมเดิร์นเทรด, บิวตี้สโตร์ และร้านผลิตภัณฑ์ความงามครบวงจร

แต่ที่มาชัดเจนจริง ๆ ก็คงเป็นในช่วงปลายปี 2562 ที่อาร์เอสเลือกที่หันมาจะโฟกัสช่องทางการขายของตัวเองในส่วนของ Telesales และออนไลน์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และปรับแบรนด์มาเป็น “อาร์เอส มอลล์” เพื่อขยายแนวรุกเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มทุกรูปแบบ

ปัจจุบันอาร์เอสมอลล์มีรายการแนะนำสินค้า และโฆษณาทั้งในสถานีโทรทัศน์ของตนเอง และสถานีของบริษัทอื่น ๆ 

สำหรับรายได้ของบริษัท อาร์เอส มอลล์ จำกัด ในรอบ 3 ปี รายได้ถือว่าค่อนข้างเติบโตในปี 2563 แต่ปีนั้นก็เป็นปีแรกในรอบ 3 ปี ที่บริษัทขาดทุนเช่นเดียวกัน

ปี 2562 มีรายได้ 2,012 ล้านบาท กำไร 7 ล้านบาท
ปี 2563 มีรายได้ 2,400 ล้านบาท ขาดทุน 21.51 ล้านบาท
ปี 2564 มีรายได้ 2,179 ล้านบาท ขาดทุน 284 ล้านบาท

ในขณะที่สัดส่วนรายได้ของอาร์เอสส่วนใหญ่มาจากธุรกิจพาณิชย์ถึง 63% ส่วนอีก 2 ธุรกิจอย่างธุรกิจสื่อมีสัดส่วนถึง 30% และธุรกิจเพลงและอื่น ๆ อีกเพียงแค่ 7%

ด้วยความที่รายได้หลักของอาร์เอสมาจากกลุ่มธุรกิจพาณิชย์มากกว่าสื่อ จึงอาจจะทำให้ภาพลักษณ์ในปัจจุบันในมุมมองของผู้เขียนมองไปในทิศทางของ “บริษัทพาณิชย์ ที่มีสื่ออยู่ในมือของตัวเอง” มากกว่า “บริษัทสื่อ ที่มีกลุ่มธุรกิจพาณิชย์อยู่ในมือของตัวเอง”


ในมุมของผู้เขียน ผู้เขียนมองว่าการที่ค่ายเพลงมีกลุ่มธุรกิจพาณิชย์นั้น กลุ่มธุรกิจนี้สามารถใช้ช่องทางสื่อของบริษัทแม่ได้อย่างคุ้มค่า และสามารถสร้างรายได้เพิ่มเติมจากรายได้จากช่องทางสื่อที่มีอยู่แล้วด้วย แต่หากกลุ่มธุรกิจนี้ใช้ช่องทางสื่อในการประชาสัมพันธ์กลุ่มธุรกิจนี้ “เยอะเกินไป” จนคนดูรำคาญ ก็อาจจะทำให้คนดูมองว่า “น่าเบื่อ และดูยัดเยียด” ได้เช่นกัน