fbpx

“The Moment of Truth” เงินที่แลกมาด้วยความจริงสุดเลวร้าย

รายการเกมโชว์มักจะมีรายการหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเกมโชว์ทั่วไป เกมโชว์ตอบคำถาม เกมโชว์ประกวดความสามารถ เป็นต้น ที่มอบความสนุกสนานหรือความรู้ให้กับผู้ชมที่กลับบ้านมากจากการทำงานอันแสนเหน็ดเหนื่อยได้เป็นอย่างดี 

แต่ในขณะเดียวกัน เกมโชว์ก็ยังมีอีกด้านที่มอบความดุเดือดเผ็ดมัน การถกเถียง หรือประเด็นความขัดแย้งภายในใจให้กับผู้ที่ดูเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเกมโชว์แนว Reality Show ที่เหมือนการนั่งดูละครที่ตัวแสดงไม่ได้มีสคริปอะไรทั้งสิ้น หรือจะเป็นรายการเกมโชว์แนวโต้วาที ที่นำเสนอญัตติให้ผู้รับชมทางบ้านกลับไปคิด และนั่นรวมไปถึงรายการเกมโชว์ตอบคำถาม หรือ ควิซโชว์ที่นอกจากจะมอบความรู้แล้วมันยังมอบความแตกแยกไปด้วย ถ้าคุณเล่นกันเป็นทีม (นี่ผมยังไม่รวมไปถึงรายการเกมโชว์ร้องเพลงที่แม่ยกพร้อมฝาดฝีปากกับคนทั่วไปที่มองเข้ามาในรายการด้วย) 

หลายท่านที่อ่านบทความนี้คงจะเห็นภาพจากรายการในไทยที่ผ่านหน้าผ่านตาไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น The Weakest Link กำจัดจุดอ่อน ที่เบื้องหลังก็ดุเดือดพอๆ ตัวกับเบื้องหน้า หรือ Divided คนไม่ยอมเกม ที่ออกอากาศตอนแรกก็เป็นรายการที่ทำให้เกิดข้อถกเถียงของชาวเน็ตอย่างมากมาย

แต่ในบทความนี้ผมนำรายการหนึ่งจากสหรัฐอเมริกา (ที่ซื้อลิขสิทธิ์จากโคลัมเบียมาอีกที) ที่กล้าการันตีว่าถ้ามีคนซื้อลิขสิทธิ์เข้ามาในไทยแล้วออกอากาศจริงๆ มันน่าจะสามารถกลบความแรงของกำจัดจุดอ่อนที่หลายๆ คนว่าดุเดือดแล้ว เพราะเพียงคำถามข้อเดียวของรายการจะทำให้คุณมองผู้เข้าแข่งขันเปลี่ยนไป และนั่นคือรายการ The Moment of Truth

ภาพโลโก้รายการ The Moment of Truth เวอร์ชั่นสหรัฐอเมริกา – ภาพจาก Youtube Channel Lighthearted Entertainment

รู้จัก The Moment of Truth

The Moment of Truth เป็นรายการสัญชาติอเมริกันที่ได้ต้นฉบับจากรายการ Nada más que la verdad (Nothing but The Truth) ของประเทศโคลัมเบีย โดยได้บุคคลมากความสามารถอย่าง Mark L. Walberg มาเป็นพิธีกร โดยออกอากาศทางช่อง FOX ในช่วงปี ค.ศ. 2008-2009

ภาพโลโก้รายการ และภาพตัวอย่างรายการ The Moment of Truth เวอร์ชั่นโคลัมเบีย (Nada más que la verdad) – ภาพจาก Youtube Channel JR3006 Producciones

ภาพโลโก้รายการ และภาพตัวอย่างรายการ The Moment of Truth เวอร์ชั่นโคลัมเบีย (Nada más que la verdad) – ภาพจาก Youtube Channel JR3006 Producciones

และหากคุณย้อนกลับไปอ่านประโยคแรกของหัวข้อนี้อีกรอบผมใช้คำว่า “ได้ต้นฉบับ” แทน “ซื้อลิขสิทธิ์” นั่นก็เพราะว่าเจ้าของฟอร์แมตนี้อย่าง Howard Schultz ผู้ที่คิดฟอร์แมตรายการนี้ขึ้นมา ก็เป็นทั้งเจ้าของสตูดิโอและ Executive Producer ของรายการนี้และต้นฉบับของรายการนี้อีกด้วย

รายการนี้ออกอากาศครั้งแรก 23 มกราคม พ.ศ. 2551 และออกอากาศรวมทั้งสิ้น 23 ตอน 2 ซีซั่น และด้วยความสำเร็จของมัน FOX กำลังจะทำซีซั่น 3 พร้อมกับ 15 ตอนภายในซีซั่นพร้อมกับการขึ้นเป็นไลน์อัพเกมโชว์ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง แต่เหมือนจะได้เกิดดันไม่ได้เกิด So You Think You Can Dance กำลังจะปิดฉากรายการพร้อมความทรงจำด้วยซีซั่นสุดท้าย และ รายการน้องใหม่ที่ FOX จีบเข้ามาอย่าง Hole in the Wall กำลังจะออกอากาศพอดี ทำให้ช่องต้องดันรายการฉาบฉวยนี้ลงมาจนสุดท้ายทั้ง 15 ตอนนั้นก็ไม่ได้ออกอากาศอีกต่อไป

แล้วกติการายการนี้คือ….

รายการนี้เริ่มด้วยการสัมภาษณ์ก่อนเลย การสัมภาษณ์ของรายการนี้แตกต่างออกไปจากรายการเกมโชว์อเมริกาในยุค 2000s ทั้งสิ้นเพราะว่ารายการนี้สัมภาษณ์ด้วยการให้ผู้สัมภาษณ์ (ที่จะเข้ามาเป็นผู้เล่นในภายหลัง) ตอบคำถามจำนวน 50 ข้อขณะที่ใส่เครื่องจับเท็จอยู่โดยผู้สัมภาษณ์ไม่รู้เลยว่าคำตอบของพวกเขานั้นทีมงานได้บันทึกคำตอบ พร้อมผลลัพธ์ที่พวกเขาตอบมานั้นเป็นเรื่องจริงหรือโกหกกันแน่ และภายหลังทีมงานนึกคึกอะไรไม่รู้ เพิ่มอีก 50 ข้อเข้าไปในการสัมภาษณ์ นั่นเท่ากับว่าผู้สัมภาษณ์ต้องตอบคำถาม 100 ข้อพร้อมกับเครื่องจับเท็จ

ภาพการตอบคำถามผ่านเครื่องจับเท็จก่อนถ่ายทำรายการ – ภาพจาก Youtube Channel Lighthearted Entertainment

แล้วคำถามในรายการเขาเอาอะไรมาถามหละ? คำตอบก็คือ 21 ข้อจาก 50/100 ข้อนั่นแหละ แต่รายการไม่ได้ให้ตอบทีละข้อ เขาแบ่งขั้นคำถามไว้ 6 ขั้นโดยแต่ละขั้นจำนวนคำถามจะน้อยลงเรื่อยๆ เพราะชั้นที่ 1 จะเริ่มต้นด้วย 6 ข้อ ขั้นที่ 2 ก็ 5 ข้อ และมันก็ลดไปเรื่อยๆ จะขั้นที่ 6 ที่เหลือเพียงแค่ข้อเดียว แต่นั้นก็ต้องแลกมาด้วยระดับคำถามที่เริ่มส่วนตัวขึ้นเรื่อยๆ จนถึงระดับที่ว่าคำถามข้อเดียวที่คุณตอบไปสามารถเป็นขี้ปากของคนทั้งประเทศไปตลอดกาล

ขั้นที่จำนวนคำถามเงินรางวัลที่จะได้หากตอบถูกทั้งหมด
16 ข้อ$10,000
25 ข้อ$25,000
34 ข้อ$100,000
43 ข้อ$200,000
52 ข้อ$350,000
61 ข้อ$500,000
ตารางแสดงขั้น จำนวนคำถามในแต่ละขั้นและเงินรางวัลที่ได้ในแต่ละขั้น

หลักกติกาง่ายๆ พิธีกรจะถามคำถามที่มาจากทีมงาน และผู้เล่นก็ต้องตอบตามความจริงที่ได้จากการสัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ ถ้าผู้เล่นตอบตามความจริงก็จะถามคำถามข้อต่อไปจนกว่าจะครบจำนวนในขั้นนั้น ถึงจะได้เงินรางวัลตามขั้น แต่หากผู้เล่นบ่ายเบี่ยงหรือโกหกเกมจะจบลงทันที โดยในซีซั่นแรกหากตอบผิดหลังขั้นที่ 2 ผู้เล่นจะกลับบ้านด้วยเงินรางวัล $25,000 แต่หลังจากซีซั่นแรก ถ้าตอบผิดคือผิดเลยไม่ว่าคุณจะทำเงินรางวัลมาได้เท่าไร ทั้งหมดก็สูญเปล่า

บรรยากาศแสนกดดันที่ผู้เข้าแข่งขัน (ชุดสีส้ม) จะต้องตอบคำถามที่น่าอึดอัดจากเพื่อน ต่อหน้าครอบครัว ผู้ชมในห้องส่ง และผู้ชมทางบ้าน – ภาพจาก Youtube Channel Lighthearted Entertainment

ความแสบของรายการนี้ยังไม่สิ้นสุด บางข้อทีมงานก็จัดความแจ่มด้วยการเชิญแขกสุดแสนจะพิเศษมาเป็นคนถามคำถามแทนพิธีกร ซึ่งอาจจะเป็นเพื่อนรักตลอดกาล แฟนเก่าที่จบกันด้วยอะไรก็แล้วแต่ หรือเพื่อนร่วมงานสุดแสนจะเกลียดขี้หน้า ให้ผู้เล่นตอบท่ามกลางครอบครัวที่อยู่ในสตูดิโอ (ครับ ทีมงานให้ครอบครัวมานั่งดูด้วย) แต่เหมือนฟ้าจะประทานพรมานิดเดียว ครอบครัวที่นั่งฟังอยู่นั้นสามารถกดปุ่มเปลี่ยนคำถาม ที่จะเปิดให้ใช้หลังจากที่ผู้เล่นตอบข้อที่ 3 ถูก (แต่ผมกล้ารับประกันเลยว่าต่อให้เปลี่ยน คำถามก็ระยำตำบอนไม่แพ้ข้อเดิมที่เปลี่ยนออกมาหรอกครับ)

เรื่องราวของรายการ

ในทางปกติแล้วรายการนี้ไม่มีผู้เข้าแข่งขันคนใดตอบครบ 21 ข้อแม้แต่คนเดียวเลย แต่ในความเป็นจริงแล้ว รายการนี้เคยแจ๊คพ็อตแตกแต่ดันไม่ได้ออกอากาศ และนั่นคือตอนที่ผู้เล่นหญิงนาม Melanie Williams ซึ่งเธอคือคนที่โตมากับลัทธิที่สามารถมีคู่รักกี่คนก็ได้ เพศไหนก็ได้ และอายุเท่าไหร่ก็ได้ และออกมาจากเรื่องราวเลวร้ายนั้นได้ เธอได้เขียนเล่าลงในบล็อกส่วนตัวของเธอว่า “ฉันสนใจรายการ ‘The Moment of Truth’ เพราะว่าฉันทนไม่ได้ที่เห็นคนในวงการหรือลัทธิออกมาโกหกเรื่องราวที่เกิดขึ้นในมุมลับ ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมแคบ ๆ แบบนี้” ซึ่งคำถามที่จะทำให้เธอแจ๊คพ็อตแตก เราก็จะพูดในหัวข้อต่อไป

รายการต้นฉบับของรายการนี้ถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปทั้งสิ้น 47 ประเทศ โดยสหราชอาณาจักรคือประเทศแรกที่ออกอากาศโดยใช้ชื่อ Nothing But the Truth ออกอากาศทางช่อง Sky One และเกาหลีคือประเทศแรกที่ออกอากาศรายการนี้ในเอเชีย แต่ฮ่องกงคือประเทศเดียวที่รายการนี้ถูกยกเลิกก่อนจะออกฉาย

คำถามที่โหดร้ายและการยุติของรายการ

เริ่มจากรายการต้นฉบับก่อน รายการต้นฉบับโดนยุติออกอาการหลังในเดือนตุลาคม 2007 หลังจากการออกอากาศตอนของผู้เล่นหญิงที่ชื่อ Rosa Maria Solano ได้ตอบคำถามที่ว่า “คุณเคยว่าจ้างมือปืนให้ฆ่าสามีของคุณเองหรือไม่” และเธอก็ตอบว่าใช่ นั่นทำให้เกิดประเด็นดราม่าในสังคมโคลัมเบียและโดนจดหมายเตือนจากทางการว่าโปรดิวเซอร์รายการกำลังส่งเสริมการก่ออาชญากรรม ทำให้รายการนี้โดนงดออกอากาศไปตามระเบียบ

ต่อด้วยฉบับอเมริกา ในซีซั่นที่ 1 ตอนที่ 5 ผู้เล่นหญิงคนหนึ่งได้ออกมายอมรับจากคำถามในรายการว่า เธอเคยโดนไล่ออกจากงาน จากการขโมยเงินของผู้ว่าจ้าง, ออกมายอมรับว่าคนที่เธอควรแต่งงานด้วยคือแฟนเก่า, ก่อนหน้าวันแต่งงานเธอเคยคบชู้เมื่อสองปีที่แล้ว ระหว่างรายการนั้นจะเห็นได้ชัดว่า แม่เธอเริ่มหงุดหงิดขึ้นเรื่อยๆ ส่วนฝั่งสามีก็หมดคำจะพูด 

แต่เหมือนเวรกรรมมันตามทันแบบติดสปีด เธอดันมาตกม้าตายจากคำถามที่ว่า “คุณเชื่อหรือไม่ว่าตัวเองเป็นคนดี” เธอตอบว่า “ใช่” แต่เครื่องจับเท็จก็บอกว่าเธอกำลังโกหก แถมความตึงเครียดไปอีกเมื่อพิธีกรได้เปิดรายการพร้อมบทสนทนาที่ว่าความจริงแล้วเทปนี้ได้ถูกเอาเข้าที่ประชุมว่า “เราควรจะเอาออกอากาศหรือไม่ออกอากาศ” และเขาคือคนที่อยู่ในฝั่งที่บอกว่าไม่ควรเอาออกอากาศ สุดท้ายก็ตามที่เห็น หลังจากนั้นเธอออกมาบอกว่าที่เธอตอบอย่างงั้นไปเพื่อเงิน สุดท้ายเธอไม่ได้ทุกอย่างครับ… ไม่ว่าจะเป็นเงินรางวัล งาน และโดนหย่าด้วย แหม่… ครบเซ็ต

ส่วนในซีซั่นที่ 2 ตอนที่ 9 ที่ผมเล่าเรื่องของ Melanie Williams ผู้ที่โตมากับลัทธิที่สามารถมีคู่รักกี่คนก็ได้ เพศไหนก็ได้ และอายุเท่าไหร่ก็ได้ไปเมื่อหัวข้อที่แล้ว นี่คือคำถามบางส่วนที่เธอถูกถามในวันนั้น

  • คุณเคยจะให้อภัยพ่อของคุณที่เคยพยายามแต่งงานกับคุณเมื่อตอนที่คุณยังเป็นวัยรุ่นหรือไม่
  • คุณเคยคิดหรือไม่ว่าพ่อคุณคิดผิดที่เคยให้คุณเดทกับชายอายุ 73 เมื่อตอนคุณยังเป็นวัยรุ่น
  • คุณเคยคิดว่าแม่ของคุณเคยพยายามที่จะล้างสมองคุณหรือไม่
  • [คำถามข้อที่ 21] คุณเชื่อหรือไม่พ่อของคุณเคยพรากผู้เยาว์?
ภาพการตอบคำถามข้อสุดท้ายเพื่อเงินรางวัล $500,000 ของ Melanie Williams – ภาพจาก Youtube Channel Lighthearted Entertainment

หรืออย่างในซีซั่นที่ 2 ตอนที่ 10 ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะรายการได้นำคนที่เคยกล่าวอ้างเคยถูก UFO จับตัวไปมาออกรายการ พร้อมการถามคำถามจี๊ดๆ อย่าง “ณ วันที่คุณบอกว่าคุณถูกจับตัวโดย UFO วันนั้นคุณเมาหรือไม่”, “คุณเชื่อหรือไม่ว่าสิ่งที่ตัวเองเจอมาทั้งหมดมันก็เพียงแค่เรื่องเพ้อฝัน” เป็นต้น

ในอินเดียก็อยากให้รายการนี้หยุดออกอากาศเนื่องด้วยหลายเหตุผลทั้งการอยากให้หยุดหากินกับเรื่องชาวบ้าน หรือปัญหาส่วนตัวของพวกเขา ควรปล่อยให้เขาเคลียร์เงียบๆ ไม่ต้องเอามาป่าวประกาศทางทีวี ส่วนทางโครเอเชียก็โดนวงการสื่อแบนเพราะมันสนับสนุนการทำผิดแบบโจ๋งครึ่ม ฝั่งรัสเซียก็โดนวิจารณ์เรื่องการใช้เครื่องจับเท็จแบบผิดวิธี

นี่คือหนึ่งในรายการที่ผมอยากแนะนำให้ทุกคนไปดู หากคุณเก่งภาษาอังกฤษ แต่ผมไม่แนะนำให้เชียร์ให้ทำในไทยนะ เกรงว่าไม่ได้ออกอากาศเอา ครั้งหน้าผมจะแนะนำเกมโชว์หรือเล่าถึงอะไรเกี่ยวกับเกมโชว์อีกหลังจากหายไปนานก็ต้องรออ่านกันครับ


บรรณานุกรม

Lie detector reality gameshow goes off the air in Colombia” : International Herald Tribute
““The Moment of Truth” Produces the Most Awkward Jackpot Win Ever” : Buzzerblog
“MOMENT OF TRUTH Melanie Williams, Jan 7, 2011” : thefreedomdrive’s blogspot
“Woman Who Admitted to Cheating on ‘Moment of Truth’ Says She Did It for Money” : Fox News
“[Moment of Truth] 500,000$ Question (Question 21)” : Youtube (Mohammad B)
“Travis Walton no Polígrafo Legendado em Português UFO ( The moment of truth)” : Youtube (Documentários Ultra Secreto)