fbpx

หมัดต่อหมัดรอบนี้ ทีมส่องสื่อขอพาไปเทียบระหว่างธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ กับธุรกิจสื่อครบวงจร อย่างมติชนกับเครือเนชั่น เนื่องด้วยทั้งสองบริษัทต่างดำเนินธุรกิจสื่อกันทั้งสิ้น ฝั่งเนชั่นปัจจุบันแทบไม่เหลือสื่อสิ่งพิมพ์ในเครือแล้ว ส่วนมติชนก็เน้นสื่อออนไลน์เป็นหลัก แต่ทั้งคู่ต่างดำเนินธุรกิจใกล้ๆ กัน คือการเป็น “สำนักข่าว” ที่ใช้ข่าวในการเป็นตัวหลักสื่อสารถึงผู้คน ฉะนั้นเราจึงเอามาเป็นคู่เปรียบเทียบเพื่อให้เห็นผลประกอบการเฉพาะงวด 9 เดือนของปี 2565 กัน

ก่อนอื่นเราต้องมาดูแบรนด์กันก่อนว่าแต่ละสำนักมีแบรนด์อะไรบ้าง เริ่มต้นจากฝั่งสื่อสิ่งพิมพ์ที่ปัจจุบันเครือเนชั่นมีสิ่งพิมพ์เหลือเพียงแค่ 2 หัวเท่านั้น คือฐานเศรษฐกิจและกรุงเทพธุรกิจ ส่วนมติชนใช้วิธีการทำทั้งสิ่งพิมพ์และออนไลน์ รวมกันมากกว่า 7 หัว คือ มติชน, ข่าวสด, ประชาชาติธุรกิจ, มติชนสุดสัปดาห์, เทคโนโลยีชาวบ้าน, ศิลปวัฒนธรรม และเส้นทางเศรษฐี นอกจากนี้ยังมีสำนักพิมพ์อีก 2 สำนัก คือ สำนักพิมพ์มติชน และสำนักพิมพ์ Broccoli ด้วย

ทางฝั่งสื่อโทรทัศน์และวีดีโอ มีอยู่ด้วยกันอย่างละแบรนด์ คือ มติชนทีวี เอชดี ที่เน้นเป็นทีวีออนไลน์ และเนชั่นทีวี ช่อง 22 ซึ่งเนชั่นได้เปรียบตรงที่ตนเองเป็นโทรทัศน์ดิจิตอลระดับชาติ ทางฝั่งแพลตฟอร์มสื่อก็มีอย่างละ 1 แบรนด์ คือ ศูนย์ข้อมูลมติชน ที่เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลสำหรับบุคคลภายนอก ทางฝั่งเนชั่นก็มีบล็อกของตนเองที่ให้บุคคลทั่วไปใช้อย่าง โอเค เนชั่น และข่าวภาคภาษาอังกฤษก็มีคนละแบรนด์เช่นกัน คือ Khaosod English และ The Nation Thailand ที่ต่างคนต่างเน้นทำบนออนไลน์เป็นหลัก

มาถึงฝั่งสื่อออนไลน์กันบ้าง ซึ่งถ้าดูกันดีๆ เนชั่นถือว่ามีสื่อออนไลน์ในมือมากกว่ามติชน ถึง 10 แบรนด์ ได้แก่ เนชั่นออนไลน์, คมชัดลึก, เนชั่นสุดสัปดาห์, ขอบสนาม, SPRING, ไทยนิวส์ – ThaiNews, The People, Post Today, NewsClear และ Tnews ในขณะที่ฝั่งมติชนมีออนไลน์เพียวๆ เพียง 4 แบรนด์เท่านั้น ได้แก่ FEED For Future, The Politics, คนมองหนัง ที่อยู่ในมติชนสุดสัปดาห์ และขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว โดยทั้งหมดเป็นเพียงแบรนด์หลักเท่านั้น ยังไม่นับแบรนด์ย่อยของแต่ละเครือที่มีเป็นจำนวนมากอีกด้วย

กราฟิกโดย ศุภณัฐ เลิศรักษ์กุล

ในส่วนของรายได้งวด 9 เดือนนั้น ทางฝั่งมติชนมีรายได้รวมอยู่ที่ 509.98 ล้านบาท ซึ่งน้อยกว่าเครือเนชั่นที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 1,212.66 ล้านบาท ด้วยความที่เครือเนชั่นมีสื่อในเครือแบบครบวงจรถึง 15 แบรนด์ ซึ่งครอบคลุมทุก Segment ทำให้สามารถหารายได้ได้ครอบคลุมกว่า รวมถึงการดำเนินการจัดกิจกรรมที่มีแทบทุกเดือนเลยก็ว่าได้ ในขณะทีมติชนนั้นก็มีรายได้หลักจากการจัดกิจกรรมซึ่งเติบโตขึ้นกว่าร้อยละ 40.53 นอกจากนั้นรายได้ส่วนอื่นๆ ก็เติบโตขึ้น เช่น รายได้จาก Pocketbook และการขายสมาชิกสิ่งพิมพ์ เติบโตถึงร้อยละ 33.07 และรายได้จากการอบรมวิชาชีพเติบโตถึงร้อยละ 116

ในขณะที่รายจ่ายของเครือเนชั่นนั้นอยู่ที่ 870 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าเครือมติชนที่มีค่าใช้จ่ายเพียง 130 ล้านบาท ทำให้มติชนมีกำไรประจำงวดอยู่ที่ 47.69 ล้านบาท แต่กลับน้อยกว่าเครือเนชั่นที่กำไรประจำงวดอยู่ที่ 442 ล้านบาท โดยในไตรมาส 4 นั้น เนชั่นยังได้มีการขายบริษัทลูกอีก 1 บริษัท คือ บริษัท เนชั่น ดิจิทัล คอนเทนต์ จำกัด มูลค่ากว่า 11.95 ล้านบาทให้กับนายภัทราวุธ นันทโกวัฒน์ และกำลังดำเนินการซื้อฐานเศรษฐกิจให้มาอยู่ในเครือเนชั่น ทั้งนี้เพื่อเป็นการขยายธุรกิจภายใต้แนวคิด One Nation นั่นเอง