fbpx

หากพูดถึงสถานการณ์ของวงการโทรทัศน์ หลายคนคงจะเห็นความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในปีนี้ชนิดที่ว่าเกิดขึ้นเกือบจะทุกเดือน ทั้งกรณีการนำเสนอข่าว การถ่ายทอดฟุตบอลโลก รวมไปถึงประเด็นข้อกฎหมาย และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ยังไม่นับรวมถึงอายุใบอนุญาตทีวีดิจิตอลที่กำลังจะหมดในอีก 6 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 2572 อีกด้วย

ส่องสื่อ ส่องอนาคตสื่อไทย ขอเปิดตัวซีรีส์ที่เราจะจับคนสื่อมาวิเคราะห์อนาคตสื่อไทย ด้วยเรื่องของทีวีดิจิตอลที่ไม่ได้มีแค่ตู้สี่เหลี่ยมไว้ฉายรายการเท่านั้น แต่ภายในนั้นมีความอลหม่านในหลากหลายมิติ ซึ่งเราได้รับเกียรติจาก “เดียว วรตั้งตระกูล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท วันสามสิบเอ็ด จำกัด (ช่อง one31) และเลขาธิการสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) มาร่วมวิเคราะห์และพูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์ทีวีดิจิตอลไปด้วยกัน

สถานการณ์ทีวีบ้านเราเป็นยังไง

เหนื่อยครับ อย่างที่เรารู้กัน เราเจอ disruption ทุกคนต้องปรับตัว แล้วเจอโควิดเข้าไปอีก มันหมายความว่า ปรับตัวกับเทคโนโลยีแล้ว ต้องปรับตัวกับพฤติกรรมคนดูที่เปลี่ยนไปเร็วกว่าที่เราคิดไว้ เพราะช่วงโควิดทำให้วัฏจักรในการเรียนรู้ในการใช้เทคโนโลยีมันเร็วขึ้น หมายความว่าจากเดิมมันควรจะใช้เวลาในการที่จะทำให้คนเจน X หรือ baby boomer เรียนรู้เทคโนโลยีในอีก 5 ปี แต่พอโควิดมันเร่งให้ทุกอย่างเร็วขึ้น มันสามารถที่จะไปใช้ digital platform เร็วขึ้น สะดวกขึ้น เข้าใจมากขึ้น ทำให้สถานการณ์การค้นหาคอนเทนต์มันเลยไปในแพลตฟอร์มเร็วกว่าที่เราคิดไว้ ทำให้เราต้องปรับตัวในการสร้างคอนเทนต์เพื่อตอบโจทย์โทรทัศน์ และบนดิจิทัลแพลตฟอร์ม

เพราะอย่างที่เห็นว่าพอพฤติกรรมเปลี่ยน สิ่งที่สนับสนุนเราคือเม็ดเงินโฆษณา มันก็ต้องปรับเปลี่ยนสัดส่วนไปกับพฤติกรรมผู้บริโภคเช่นกัน นั่นหมายความว่าสัดส่วนที่เราแชร์จากตอนนั้นที่เราเข้าอุตสาหกรรมใหม่ ๆ แชร์อยู่ร้อยละ 70 ของโฆษณาทั้งหมด วันนี้เหลือร้อยละ 50 แต่ก็มีแนวโน้มว่าจะผ่องถ่ายไปที่ดิจิทัลมากขึ้นอยู่แล้ว ดิจิทัลมันก็มีสัดส่วนในการเข้าถึงที่มากขึ้น แต่เม็ดเงินที่ต้องใช้มันไม่ได้โตแบบทันทีทันใด ก็เป็นช่วงที่หาจุดสมดุลว่าการทำธุรกิจแบบเดิมบนทีวีกับแบบใหม่บนสื่อใหม่ เราจะสร้างสมดุลยังไงให้ธุรกิจสามารถเดินไปได้อย่างมั่นคง

แล้วสมาชิกในสมาคมว่าอย่างไรบ้าง

จริง ๆ แล้วก็เป็นเรื่องที่เป็นวาระแห่งชาติที่เราจะต้องมาปรับทุกข์กัน ใครจะทำอะไรแบบไหนยังไง เราก็จะมีการเจอกันอย่างน้อยเดือนละครั้งอยู่แล้ว ผมเป็นคณะทำงานก็จะเจอกันบ่อยหน่อยทางออนไลน์ เพราะสถานการณ์ไม่ปกติ ก็จะต้องมีการแลกเปลี่ยนกันเยอะ ทุกช่องพยายามฝ่าฟันไปให้ได้ ก็คงจะไม่ต่างจากเรา สถานการณ์มันบีบบังคับให้พวกเราต้องคิดต้องหาหนทางที่จะทำให้ธุรกิจของเรามันอยู่รอด

แล้วจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น คิดว่าเกิดจากหน่วยงานกำกับดูแล หรือกฎหมายที่ไม่พัฒนา

ผมว่าทั้งสองอย่าง เราทำธุรกิจในโลกที่มันหมุนเร็วมาก แต่แน่นอนว่ากฎหมายของเรามันตามไม่ทัน เราใช้กฎหมายตั้งแต่ยุคที่เรามีช่องทีวีไม่กี่ช่อง แต่ทุกวันนี้มันไม่ใช่แค่ 19 ช่องแข่งกันเอง แต่มันหมายถึงเป็นล้าน ๆ ช่องที่อยู่บนแพลตฟอร์มดิจิทัล แต่บนแพลตฟอร์มดิจิทัลมันไม่มีกฎหมายไปควบคุม ในขณะที่การควบคุมของเรามันก็โยงมาถึงคนที่กำกับดูแลเราเข้าใจเทคโนโลยีมั้ย เข้าใจธรรมชาติของอุตสาหกรรมนี้มั้ย เข้าใจคนในอุตสาหกรรมมั้ย มันคือธรรมชาติแหละ แต่ความคิดของคนในอุตสาหกรรมมันเป็นอีกเรื่องที่มีความเฉพาะทางมาก ๆ แต่เท่าที่ผมสัมผัสมาก็พบว่าคณะทำงานไม่มีความเข้าใจเฉพาะทางในอุตสาหกรรมเลย ด้วยกฎกติกาที่ไม่สามารถทำให้คนในยุคการทำงานแบบปัจจุบันอยู่ในคณะทำงาน ก็จะมีแต่นักวิชาการ คนที่เว้นวรรคทางธุรกิจ 5-10 ปี ซึ่งมันต่อไม่ติดแล้ว นี่คือสิ่งที่เราต้องจำใจยอมรับสิ่งที่มันเกิดขึ้น แล้วก็ต้องพยายามต่อสู้กับช่องว่างอันนี้ เพราะสุดท้ายก็เป็นเรื่องที่สำคัญในการทำให้เราอยู่ให้รอด

อยากให้พูดถึงประเด็นในช่วงที่ผ่านมาคือ Must Have, Must Carry ว่าสมาคมมีมติกันอย่างไรบ้าง

คือต้องทำความเข้าใจที่มาของทั้งสองกฎนี้ก่อนนะครับ คือผมอยู่ในเหตุการณ์ Must Have, Must Carry คือฟุตบอลยูโร 2012 ที่จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ได้ลิขสิทธิ์มาและมีกล่อง GMMZ นั่นคือจุดที่เราเริ่มเรียนรู้ว่าลิขสิทธิ์ที่เราได้มามันแบ่งสิทธิ์ ไม่ใช่มาทีเดียวแล้วดูได้ เราเริ่มเรียนรู้ว่าเทคโนโลยีมีภาคพื้นดิน ภาคดาวเทียม ภาคเคเบิลทีวี แล้วก็ IPTV เมื่อก่อนคนไทยได้ดูบอลโลกคือเขาไม่สนใจว่าดูผ่านอะไร แต่เขาดูทีวี ไม่รู้ว่าสายที่มาเสียบทีวีมาจากเสาก้างปลา เคเบิล ดาวเทียม หรือ IPTV เสียบจอฉันต้องได้ดู เพราะฉันดูแบบนี้ตั้งนานแล้ว มันทำให้เราเห็นว่าพอทีวีมันไม่ชัด ก็ไปติดอะไรให้มันชัด นั่นคือการพัฒนาของเทคโนโลยี

แต่ลิขสิทธิ์มันก็ไปตามเทคโนโลยีเช่นกัน ถ้าเป็นเมื่อก่อนคุณซื้อสิทธิ์มาเป็นภาคพื้นดินอย่างเดียว ทุกคนทุกบ้านมีเสาก้างปลา ทุกคนไม่มีปัญหา แต่พอมีดาวเทียม มีเคเบิลทีวี ฟุตบอลยูโร 2012 เป็นตัวจุดประกายขึ้นมาว่าเคเบิลทีวีบางเจ้าจะไม่ได้ดู เพราะเราไม่ได้ซื้อสิทธิ์เคเบิลทีวีเพื่อคุณ แต่เราซื้อมาเพื่อธุรกิจของเราที่เป็นกล่องรับสัญญาณดาวเทียม แต่ถ้าใครอยากได้สิทธิ์นั้นต้องมาขอสิทธิ์เราก่อน ดราม่าก็เลยเกิด ทัวร์ลงตึกแกรมมี่ ผมเป็นคนรับทัวร์เอง หมายความว่าเราก็ต้องเดินสายไปชี้แจงว่ามันเป็นเรื่องลิขสิทธิ์ที่ทุกคนต้องเรียนรู้ในการเคารพกติกานี้ซึ่งมีมาแล้วทั่วโลก แต่ทุกคนยินยอมพร้อมบอกว่า ไม่ ฉันต้องได้ดูเท่านั้น

สิ่งที่เราทำได้ก็ต้องขึ้นศาลแล้วเราชนะ เพราะลิขสิทธิ์มันเป็นสากล เราได้มาถูกต้อง แล้วสิทธิ์ก็บอกอยู่แล้วว่ามาตามช่องทางการรับชมตรงนี้ต่างหาก สิทธิ์ไม่เกี่ยวกัน แต่มันก็กลายเป็นว่าต่อไปคุณก็ต้องแบ่งปันให้ทุกช่องทางการรับชม มันก็เลยเป็นกฎ Must Have ว่า คุณต้องทำให้ 7 กีฬาที่มีความสำคัญกับคนไทยที่ได้ไปแข่ง หรือฟุตบอลโลกคนไทยไม่ได้แข่งแต่ต้องได้ดู ซึ่งฟุตบอลยูโรไม่ใช่ Must Have อันนั้นคือกติกาที่ทุกคนต้องได้ดูตอนนั้น

10 ปีผ่านไป เราก็ได้เรียนรู้ว่ากฎหมายลิขสิทธิ์มันศักดิ์สิทธิ์จริงๆ เขาไม่สนใจหรอกว่ามันจะมีหรือไม่มี กฎ Must Have มันก็มาพันตัวเองให้ซื้อสิทธิ์ได้ยากขึ้น แทนที่ธุรกิจจะไปในแต่ละช่องทางการรับชมได้ชัดเจน ทุกคนก็ต่างซื้อ หรือบางคนซื้อมาก็อาจจะขายต่อในเงื่อนไขที่เขาต้องทำธุรกิจต่อ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่คิดว่าสังคมเข้าใจได้จากฟุตบอลโลกครั้งนี้ว่าต้องปลด Must Have สำหรับความเห็นของผม ๆ รู้สึกว่ามันควรจะปลดทั้งหมด แล้วมันอาจจะมีกรณีที่ขึ้นมาพิพาท แต่ควรปล่อยให้เป็นไปตามสากลที่ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดอยู่แล้ว มันไม่มีเหตุผลที่จะต้องไปทำกติกาบังคับ

แต่มันต่างจาก Must Carry จริงๆ แล้วมันต่อเนื่องมาจากฟุตบอลยูโรเช่นกัน ถ้าคุณจะได้ Must Have แต่สิทธิ์การดูมันจะทำให้คนซื้อสิทธิ์มาจากภาคพื้นดินแล้วไปดูภาคดาวเทียม ถ้าซื้อมาแล้วต้องแบ่ง คุณต้องเอา Must Carry ไปด้วย มายังไงไปอย่างนั้น ห้ามไปดัดแปลงทำซ้ำ ซึ่งกฎตรงนี้มันมีนัยยะมาถึงการประมูลทีวีดิจิตอล เพราะวันนั้นเราปล่อยให้ทีวีดาวเทียม เคเบิล เติบโตในแง่ของการเข้าถึงผู้ชม พื้นที่ครอบคลุมการเข้าถึงดาวเทียมกับเคเบิลทีวีในยุคนั้นประมาณร้อยละ 80 และทีวีภาคพื้นดินร้อยละ 20 แต่ปี 2557 กสทช.จะให้มีการประมูลทีวีดิจิตอลโดยบอกว่าต่อไปจะไม่มีทีวีดาวเทียม ตอนนั้นคงจะต้องบอกว่าเป็นการซื้อขายโบรชัวร์ว่าตอนนี้ทีวีภาคพื้นดินมีร้อยละ 20 แต่ต่อไปจะขยายให้ครบร้อยละ 100 ภายในระยะเวลากี่ปีว่าไป

แต่ในระหว่างนี้ไม่ต้องเป็นห่วง เรามีกฎที่จะทำให้ดาวเทียม เคเบิล IPTV รับสัญญาณจากเราไปด้วย มายังไงไปอย่างนั้น ด้วยกฎ Must Carry เข้ามาประมูลกันเถอะ ยังไงก็ถึงร้อยละ 100 แน่นอนตั้งแต่วันแรก เราจึงมองว่ามันเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ผู้ประกอบการเข้าไปประมูล แล้วระหว่างนั้นก็คือช่วง 2 ปีนั้นที่ใช้กฎนี้ เพื่อทำให้การขยายฐาน ขยายเสาส่งสัญญาณของระบบดิจิทัลมันขยายได้ทัน ปรากฏว่าไม่ได้ ไม่มีคนใช้กล่อง กลุ่มผู้บริโภคบอกว่ากล่องราคานี้ไม่ได้ ต้องกล่องราคานี้เท่านั้น 690 บาทจำได้ เราก็ต่อสู้มาตลอด กลายเป็นว่า Must Carry เป็นเรื่องจำเป็นและยังอยู่ เพราะสุดท้าย กสทช.ก็ไม่สามารถขยายเสาสัญญาณตามที่ให้คำมั่นสัญญากับอุตสาหกรรมไว้ได้ อุตสาหกรรมจึงจำเป็นต้องยืนยันว่า Must Carry ต้องยังอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาผ่านไป 8 ปี disruption เกิดขึ้น OTT มา มันหมายความว่าในวันนี้ช่องทางการเลือกชมของคนทั่วไปหลากหลายขึ้น ฉะนั้น Must Carry ยังคงจำเป็นอยู่ในวันนี้

แล้วคุณมองเรื่อง เวลาโฆษณา ในทีวีดิจิตอลอย่างไรบ้าง

คือเราใช้กฎหมายการควบคุมโฆษณาในปี 2551 ซึ่งตอนนั้นมีผู้ทำธุรกิจทีวีเพียง 4 ช่อง กฎหมายบอกว่า 1 นาที โฆษณาได้ 12 นาที 30 วินาทีต่อชั่วโมง แต่รวมกันใน 1 วัน โฆษณาได้ไม่เกินชั่วโมงละ 10 นาที พูดง่าย ๆ เลยคือ 1 วันโฆษณาได้ 240 นาที ตอนเป็น 4 ช่องมันไม่เท่าไหร่ แต่วันนี้โลกเปลี่ยน มันมี 19 ช่องของทีวีดิจิทัล แต่ในขณะที่ผู้คนสามารถดูช่องอื่นเป็นล้านช่องจากทั่วโลกนี้ ปี 2557 เราประมูล กฎหมายฉบับนี้ถือว่าเรารับได้ แต่ถึงปี 2565 ทุกอย่างมันช่วงชิงกันในกลยุทธ์ผัง อย่าลืมว่าทีวีมันวางผังแบบตามตาราง ตามผังรายการ แต่ขณะที่ OTT ผังมันมาเมื่อไหร่ก็ได้ เอาแค่เราแข่งขันตามผัง 19 ช่อง เมื่อก่อนเราออกสตาร์ทพร้อมกันที่ .00 ม้าออกจากลู่วิ่งพร้อมกัน ใน 1 ชั่วโมงเราโฆษณาได้ 12.30 นาที การไปดูยาว ๆ แล้วอัดตอนท้ายมันยากเกิน มันทำให้กลยุทธ์การจัดผังมันยากมาก สิ่งที่มันจะทำได้ก็คือหย่อนเวลาเข้า หย่อนเวลาออก มันถึงจะสามารถดึงคนดูได้

ถ้ากลับไปที่พฤติกรรมของผู้บริโภค ถ้าเราสามารถมีเนื้อหาในขณะที่เพิ่งโฆษณา มันก็จะทำให้คนดูอยู่กับเรา แต่ถ้า .00 ทุกคนพร้อมกันแล้วไปโฆษณาพร้อมกัน มันก็เกิดการแย่งกันแล้วไม่มีใครได้ผลประโยชน์ใดๆ เลย แต่สุดท้ายถ้าเราสามารถที่จะวางกลยุทธ์ผัง สมมุติว่าคู่แข่งของเราออก .00 เราออก .55 แล้วเราปล่อยยาวไป 15 นาที 20 นาที หรือครึ่งชั่วโมง 1 ชั่วโมง มันก็เกิดความยืดหยุ่นในการวางกลยุทธ์ผังได้มากกว่า ทำให้เกิดศิลปะในการวางที่ทำให้ดึงคนดูอยู่กับเรา เรากำลังสู้กับสงครามรีโมทให้ระหว่างที่โฆษณาคนดูยังอยู่กับเรา คนดูไม่เปลี่ยนไปที่อื่น มันก็ต้องมีวิธีที่ทำสร้างเนื้อหาที่กำลังเริ่มเล่าเรื่องให้คนอยู่กับเราให้นานที่สุด ดังนั้นการทำตามชั่วโมงมันไม่มีทางทำแบบนั้นได้เลย

สิ่งที่เรากำลังจะทำกิจกรรมในเร็ว ๆ นี้กับ กสทช. ที่จะไปสู่การปรับกติกา ซึ่งกติกาตอนนี้มีแค่ว่าเริ่มต้นที่ .00 ยังเป็นตามชั่วโมงอยู่นะ แต่ก็มีการอนุโลมให้เช่น เริ่ม .15 ก็จะไปจบที่ .15 ของชั่วโมงต่อไป ก็ยัง 1 ชั่วโมงเหมือนเดิม แต่ก็ยังกำหนดว่าไม่เกิน 12.30 นาที อันนี้ที่ยังติดล็อก และทำให้เราไม่สามารถเดินไปสู่การจัดกลยุทธ์ผังเพื่อการแข่งขัน แม้แต่กับอุตสาหกรรมเองหรือ OTT ได้เลย มันยากมากนะครับ สิ่งที่เรากำลังจะนำเสนอ ก็คือให้ไปตามรายการ หมายความว่า สมมุติว่ารายการละ 2 ชั่วโมงแล้วคุณจะเริ่มที่อะไรก็แล้วแต่ ใน 1 ชั่วโมงก็ต้องมี 12.30 นาที แต่สำหรับตามรายการ ถ้าเวลา 2 ชั่วโมง เท่ากับว่าเราจะมีเวลาโฆษณารวมกัน 25 นาที การโฆษณาของคุณในรายการนั้น ๆ จะจัดไว้ตรงไหนก็ได้ จะเหลื่อมชั่วโมงอะไรก็แล้วแต่ แต่ใน 2 ชั่วโมงนี้ไม่เกิน 25 นาที ถือว่าโอเค

แต่รายการที่จะมีแบบนี้ได้มีแต่ละคร การถ่ายทอดกีฬา หรือรายการข่าวยาว ๆ แต่รายการ 1 ชั่วโมง ครึ่งชั่วโมงสั้น ๆ ก็ตามรายชั่วโมงเหมือนเดิม มันจะไม่มีผลอะไรเลย ถ้าอย่างนั้นก็ต้องยอมรับว่าช่วงเวลาที่มีคนดูเยอะ ๆ ซึ่งมันมีอยู่ไม่กี่ชั่วโมงต่อวัน และสามารถขายโฆษณาได้ในราคาที่สูงที่สุด มันก็สอดคล้องกับการที่มีคนดูเยอะ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่ามันถูกปล่อยเป็นตามรายการใน 4 ชั่วโมงนี้ 50 นาทีนี้ มันจะมีรายการอะไรก็แล้วแต่ที่เราสามารถที่จะเกลี่ยจะโยกเพื่อกลยุทธ์การวางผัง เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่สนุกมากขึ้น มันสามารถที่จะทำได้เลยโดยที่ไม่ต้องกังวลว่า 1 ชั่วโมงจะต้องมีเท่านี้ เราก็ต้องมีกลยุทธ์ที่ทำให้คนดูสนุกและไม่ไปไหน และระหว่างโฆษณาคนก็ยังติดตามเราอยู่กับเรา อันนี้ผมว่ามันจะทำให้เกิดความสมเหตุสมผลที่จะแข่งขันในภาพการณ์ปัจจุบัน

คือสุดท้ายถ้าเราบอกว่า เราทำคอนเทนต์ดีแล้วคนดูอยู่กับเรา มีโฆษณาเข้าหาเรา มีคนที่จะดูคอนเทนต์ดีๆ มีพลังในการทำมากขึ้น ย่อมจะดีกับผู้บริโภคมากกว่าไม่ใช่หรือ แต่ถ้าเราถูกจำกัดท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดแบบนี้ โอกาสที่เราจะรอดมันยากมาก เมื่อเราไม่รอด ผู้บริโภคก็ไม่มีทางเลือก ตอนนี้ไม่มีช่องเด็กแล้วนะ หลายช่องคืนไปแล้วนะ แล้วหลายช่องที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้ สิ่งที่เราคุยกันมาตั้งแต่ต้น มีแค่บางช่องนะที่รอด หลายช่องก็ยังต่อสู้ดิ้นรนร่อแร่อยู่นะ ก็ไม่แปลกใจว่าสุดท้ายทำไมต้องมีโฮมชอปปิงในรายการทอล์คขายของมาอยู่ในทีวีดิจิตอลระดับชาติ มันบอกอะไรบางอย่างว่าถ้าไม่สามารถทำให้ชั่วโมง Prime-Time ซึ่งเป็นเวลาที่มีค่าที่สุดเลี้ยงช่องได้ มันจะไปต่อยากมาก มันก็จะกลับมาที่นั่นแหละเพราะกฎหมายกำกับโฆษณามันกำกับอยู่ มันไม่ทันสมัย ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

มีความท้าทายอะไรใหม่ ๆ ในปีหน้าบ้างไหม

ปีหน้านี้เลย เศรษฐกิจนี่หนักแน่นอนครับ ผลกระทบจากโควิด-19 มันจะส่งผลแน่ ๆ มันหยุดไป 3 ปี ทุกอย่างมันไม่เหมือนเดิมแน่นอน เรื่องของเศรษฐกิจนี่มันเปลี่ยนยุคโฉมแน่ ๆ ผมว่าการอยู่รอดของคนหลังช่วงโควิด มันไม่ได้หมายความว่าคุณมีเงินเยอะ แต่หมายความว่าคุณใช้เงินเป็น แล้วมันมีเครื่องมือให้คุณใช้เงินเป็นมากมาย เราเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จะทำให้เกิดความคุ้มค่า แต่เราก็ต้องทำตัวเองให้คุ้มค่าในการที่เขาจะเลือกเรา อันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ยังไม่นับรวมเรื่องสงครามที่ยังไม่จบ แล้วยังไม่รู้อีกว่าจะมีโรคใหม่ ๆ เกิดขึ้นอีกหรือเปล่า

แล้วอนาคตวงการทีวีบ้านเราจะไปยังไงต่อในปีหน้า

เราคงจะบอกว่าไม่อลหม่านไม่ได้ แต่เราจะคิดว่ามันจะอลหม่านน้อยกว่านี้ (หัวเราะ) จากการควบคุมหวังว่ามันคงจะเป็นนิมิตหมายที่ดีนะครับ ที่ กสทช.ชุดใหม่รับฟังมากขึ้น ปรับตัวมากขึ้น แต่นั่นแหละ มันก็จะอาจทำให้เราเสียเวลาพูดเรื่องเดิม แต่เป็นสิ่งที่ดีนะครับ พูดเรื่องเดิมเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน ก็ยังดีกว่าไม่เข้าใจแล้วเดินไปเรื่อย ๆ โดยที่ไม่ได้คุยกันเลย คาดว่าความยุ่งยากในการทำธุรกิจคงจะลดน้อยลง ในส่วนของการควบคุมที่จะทำให้เกิดความเท่าเทียมนะครับ หรือการแข่งขันที่เป็นธรรมมากขึ้นระหว่างแพลตฟอร์มเดิม คือทีวีดิจิตอล กับแพลตฟอร์มใหม่ คือ OTT ผมว่ากติกาการควบคุมกำกับมันเป็นช่องว่างที่ใหญ่มาก แล้วทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบสูงมาก ในขณะที่ทางนี้มีต้นทุนเรื่องค่าใบอนุญาตที่สูงกว่า มีการกำกับดูแลที่เข้มงวดมากๆ ในขณะที่อีกฝั่งแทบจะไม่มีอะไรเลย แล้วทำคอนเทนต์ได้อย่างอิสระมากๆ มันจะทำให้เกิดการไหลของคนที่จะไปอยู่แพลตฟอร์ม OTT มากขึ้น ก็จะทำงานยากขึ้น ก็หวังว่าจะมีการบริหารจัดการที่ทำให้ช่องว่างตรงนี้มันแคบลง จะบอกว่าไม่มีเลยมันคงไม่ได้ แต่ทำให้มันแคบลง เพื่อจะทำให้แข่งขันได้อย่างสนุกมากขึ้นแล้วก็ยุติธรรมมากขึ้น