fbpx

ในช่วงเวลาที่ผ่านมานั้น ในชุดรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความพยายามในการดันร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. … ให้เป็นพระราชบัญญัติที่บังคับใช้ โดยเป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของรัฐบาลชุดนี้ โดยล่าสุดคณะรัฐมนตรีได้นำเข้าที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 โดยเป็นวาระเร่งด่วน ซึ่งคนในวงการสื่อเองต่างเป็นห่วงถึงกรณีการเร่งนำร่าง พรบ.สื่อ เข้ารัฐสภา ซึ่งวันนี้ส่องสื่อได้สอบถามคนวงการสื่อหลายฝ่ายถึงกรณีนี้ และมีหลากหลายความเห็นที่น่าสนใจ

เริ่มต้นด้วย พีระวัฒน์ โชติธรรมโม อดีตนายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวกับส่องสื่อถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมของสื่อมวลชนว่า สื่อมวลชนและสมาคมต่างๆ ได้พยายามเข้าไปแก้ไขร่างพระราชบัญญัตินี้ โดยลดอำนาจของรัฐให้น้อยที่สุด ซึ่งองค์กรสื่อไม่ได้เห็นด้วยกับการผลักดันแบบสุดซอยของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ซึ่งคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือสื่ออิสระที่จะต้องรวมกันเป็นองค์กร แต่ในเมื่อไม่สามารถยับยั้งได้ก็ต้องศึกษาให้ถี่ถ้วนมากขึ้น โดยส่วนตัวเชื่อว่าการตั้งคณะกรรมการจากร่างพรบ.ชุดนี้ จะไม่ได้มีหน้าที่กำกับดูแล แต่จะมีหน้าที่ส่งเสริมวิชาชีพมากกว่า

ในขณะที่ พงษ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บรรณาธิการอาวุโส The Matter กล่าวถึงปัญหาของร่างพรบ.สื่อฯ ฉบับนี้คือการกำหนดว่า “เสรีภาพในการสื่อสาร” ต้องอยู่ภายใต้ “หน้าที่ปวงชน” และ “ศีลธรรมอันดี” ซึ่งเป็นถ้อยคำที่กว้างมากๆ อยู่ที่คนจะตีความ และมีโอกาสที่ผู้มีอำนาจจะตีความใช้เพื่อควบคุมการสื่อสารของประชาชน ส่วนสภาวิชาชีพสื่อมวลชน-องค์กรที่จะตั้งขึ้นมากำกับดูแล “สื่อมวลชน” ตามร่าง พรบ.สื่อ มาจากการคัดสรรของคนในวงแคบ แต่กลับอยู่ได้ยาวติดต่อกันถึง 8 ปี โดยจะได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐ ไม่ว่าจะกองทุน กทปส. หรืองบประมาณรายจ่ายประจำปีของรัฐบาล จึงอาจเป็นอีกช่องทางที่ภาครัฐใช้แทรกแซง แต่ทั้ง ๆ ที่ เนื้อหาของร่าง พรบ.สื่อกินความรวมไปถึงบุคคลจำนวนมาก กลับมีคนเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดทำน้อยมากๆ กระทั่งคนในแวดวงสื่อมวลชนเอง เกิน 99.99% ก็น่าจะไม่รู้เรื่องถึงการมีอยู่ของร่างกฎหมายนี้ กระทั่งที่ประชุม ครม. เห็นชอบต้นปี 2565 ที่ผ่านมา

ธนกร วงษ์ปัญญา บรรณาธิการข่าวในประเทศ กองบรรณาธิการข่าว THE STANDARD ให้ความเห็นต่อผลกระทบในการผลักดันร่าง พรบ.สื่อฯ ว่า การก่อตั้งองค์กรแบบนี้ก็เหมือนดาบ 2 คม  ถ้าองค์กรนี้มีกลไกถ่วงดุลก็อาจจะดี แต่หากองค์กรที่ตั้งตามกฎหมายนี้ ไม่มีการถ่วงดุลตรวจสอบที่มากพอ องค์กรนี้ก็อาจกลายเป็นเครื่องมือเล่นงานสื่อที่ไม่สนองตอบความต้องการของผู้มีอำนาจเหนือคณะกรรมการ และหากร่างนี้ผ่านสภาขึ้นมาจริงๆ ก็ต้องจับตากลไกการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของคณะกรรมการต่าง ๆ  และการตรวจสอบผลประโยชน์ทับซ้อนของคนที่จะมาเป็นกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ทั้งที่มาก่อนเข้ารับตำแหน่ง และต้องคอยจับตาหลังจากได้รับตำแหน่ง เพราะคณะกรรมการต่าง ๆ ที่ตั้ง มีอำนาจบทบาทให้คุณและให้โทษกับสื่อได้ทั้งนั้น

ผศ.ดร.สกุลศรี ศรีสารคาม อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวปิดท้ายเกี่ยวกับการกำกับดูแลสื่อว่า การกำกับดูแลสื่อควรเป็นเรื่องของการกำกับดูแลกันเอง คือสื่อกำกับดูแลกัน แต่ที่ผ่านมาเรายังเห็นความแข็งแรงตรงนี้น้อย การตกลงร่วมกัน การตักเตือน ลงโทษ แก้ไขภายในกระบวนการกำกับดูแลกันเองของสื่อยังไม่ชัดเจน นั่นคือปัญหา การรวมกลุ่มสมาชิกวิชาชีพเกิดขึ้นก็จริง แต่ความแข็งแรงที่จะกำกับดูแลกันเอง ยังต้องสร้างความร่วมมือมากขึ้น อีกมุมคือ การกำกับดูแลสื่อโดยภาคประชาชนก็สำคัญ สังคมควรมีส่วนร่วม มีช่องทางในการตรวจและให้คนสะท้อนและตรวจสอบสื่อ สื่อที่กำกับดูแลกันเองก็ต้องปรับปรุงพัฒนาตัวเองให้เห็นจริง จึงจะทำให้การกำกับดุแลกันเองเข้มแข็งขึ้น และไม่ต้องมีรัฐมาแทรกแซงกำกับดูแลสื่อ