fbpx

หากเราพูดถึงวงการหนังสือพิมพ์ เชื่อเหลือเกินว่า “ไทยรัฐ” จะเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกๆ ที่หลายคนนึกถึงอย่างแน่นอน แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาหนังสือพิมพ์เป็นสื่อที่อยู่ในช่วงขาลงอย่างเห็นได้ชัด ประกอบกับค่ากระดาษและค่าขนส่งที่สูงขึ้น ทำให้หนังสือพิมพ์หลายเจ้าล้มหายตายจาก บางเจ้าก็หายไปโดยไร้สัญญาณเตือน หลายเจ้าก็ปรับเข้าสู่ออนไลน์เต็มสูบ แต่ไทยรัฐทำไมถึงยังทำสื่อสิ่งพิมพ์อยู่ แล้วออนไลน์กับทีวีจะไปอย่างไรต่อหลังจากนี้?

วันนี้ส่องสื่อขอพาทุกท่านไปส่องเครือไทยรัฐ เกี่ยวกับธุรกิจนับจากนี้ว่าแต่ละกลุ่มจะมีทิศทางอย่างไรต่อไป และผู้ที่จะพามาทำความรู้จักได้ดีที่สุดก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นคุณนิค-จิตสุภา วัชรพล ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง Chief Content Officer : ไทยรัฐทีวี ช่อง 32 และผู้อำนวยการฝ่ายขาย หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ มาส่องอนาคตสื่อไทยในปี 2023 กัน

ไทยรัฐผูกพันกับคนไทยยังไงบ้าง

เนื่องจากว่ามันยังอยู่ในช่วงที่การเข้าถึงข่าวสาร การเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ช่องทางมันมีจำกัด ในอดีต print มันเลยเป็นช่องทางการสื่อสารหลักของประชาชน ของประเทศ แล้วก็ของโลก ในแง่ของความผูกพันมันก็เป็นส่วนหนึ่งของบ้าน ส่วนหนึ่งของสังคม ของการเปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคสมัยของคน ของสังคม ของประเทศ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐปีที่ผ่านมามีอะไรเปลี่ยนแปลงจากเดิมบ้างมั้ย

ถ้าในแง่คอนเทนต์ภาพรวมยังเหมือนเดิม แนวข่าว สไตล์การเล่าเรื่อง ก็ยังเป็นข่าวชาวบ้าน เหมือนเดิม คอลัมนิสต์ที่เขียนคอลัมน์ประจำก็ยังเหมือนเดิม สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปก็คงเป็นจำนวนหน้าหนังสือพิมพ์ที่ปรับลดเพื่อควบคุมต้นทุนให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ แล้วก็โครงการและรูปแบบการขายใหม่ๆ ที่พยายามพัฒนาขึ้นเพื่อสร้างให้มันเกิดแรงจูงใจในการซื้อโฆษณา

เห็นเริ่มทำอีเวนต์มากขึ้น ผลตอบรับเป็นยังไงบ้าง

จริงๆครั้งแรกสุดเป็น dinner talk เราจัดแล้วก็โดนโควิด-19 พอดี เลยต้องหยุดไปประมาณ 2-3 ปี ปีนี้ก็เลยต้องเอากลับมาจัดอีกรอบหนึ่ง คิดว่าจะเป็นงานประจำปีของไทยรัฐกรุ๊ป ผลตอบรับดีมากค่ะ คือเราก็คุยกันเยอะ จริงๆ แล้วการจัดอีเวนต์พ่วงกับมีเดียมันเป็นเรื่องใหม่มั้ย จริงๆ มันก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ มันก็เป็นรูปแบบการขายในรูปแบบทั่วไปอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับไทยรัฐ ทีนี้ด้วยจุดขายที่เราจะทำตัวอีเวนต์ เราก็เลือกที่จะทำน้อยแต่ได้มาก เหนื่อยครั้งเดียวแต่ต้องได้ impact ก็เลยจะไม่ได้เน้นเรื่องความถี่เหมือนบางเจ้าบางบริษัท

แล้วหนังสือพิมพ์ตอนนี้ยังมีกรอบเช้ากรอบบ่ายมั้ย

ยังมีอยู่ ก็จะเหลืออยู่สองกรอบ เช้าและบ่าย แต่เมื่อก่อนมี 6 กรอบค่ะ แบ่งตามภาค มีกรอบบ่าย 2 กรอบด้วย แล้วก็มีกรอบเช้าประมาณ 4 กรอบ เหนือ อีสาน ใต้ ภาคกลาง

เขาบอกว่ารถหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเป็นรถที่เร็วที่สุดในประเทศนี้

จริงๆ แล้วมันก็เป็นรถ ISUZU ปกตินี่แหละ แต่ว่าทีมเขาก็เอามาโมดิฟายเครื่อง ปรับแต่งเครื่องยนต์ให้มันเหมาะสมกับการขนส่งซึ่งมันหนัก ตู้ก็จะเป็นไซส์พิเศษ สูงมากไม่ได้เพราะมันจะไม่มั่นคง เพราะต้องวิ่งระยะทางไกล แล้วต้องวิ่งเร็ว เพราะกุญแจแห่งความสำเร็จของหนังสือพิมพ์คือต้องไปถึงแผงก่อนเป็นเจ้าแรก ก็คือคนจ่ายตลาดตอนเช้า เห็นไทยรัฐก็คือซื้อได้เลย เพราะฉะนั้นความเร็วในการขนส่งจึงปัจจัยหลักในการแข่งขันในอดีต

แล้วไทยรัฐโลจิสติกส์เกิดขึ้นได้ยังไง

จริงๆ ไทยรัฐโลจิสติกส์มันเริ่มแข็งแรง แล้วก็เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาในช่วงโควิด-19 เหมือนกัน เพราะว่าช่วงโควิด-19 มันมีโอกาสบางอย่างที่เราได้ร่วมขนส่งตู้ความดันลบให้กับผู้ป่วยโควิด-19 ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดใหม่ๆ เลย ก็มีวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เขาติดต่อมาให้ไทยรัฐช่วยขนส่งตู้ความดันลบให้กับผู้ป่วยโควิด-19 ในต่างจังหวัดให้หน่อย ซึ่งเราก็โอเคทำ ก็ช่วย CSR ไป แล้วมันก็เลยทำให้บริษัทที่ปรึกษาข้างนอกเห็นว่าเราทำอันนี้ มันน่าสนใจ แล้วก็น่าจะมีสินทรัพย์ในการต่อยอดได้ เขาก็เลยเข้ามาคุยกับเรา แล้วก็พัฒนาโครงการมาเรื่อย ๆ ชัดเจนขึ้นมาเรื่อย ๆ กลายเป็นไทยรัฐโลจิสติกส์ที่เป็นธุรกิจใหม่ของกลุ่มไทยรัฐจริงๆ 

เห็นสถานการณ์ในปี 64 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐเลขบวกขึ้นมากำไร

มันเป็นรายได้ที่มาจากสองส่วน ส่วนหนึ่งก็มาจากการขายโฆษณาที่เราก็พยายามจะขายให้ได้ ก็ต้องยอมรับตรงๆ ว่ามันยากมากแล้วก็เหนื่อยมากจริงๆ เหมือนกันค่ะ แล้วก็การเติบโตมันอาจจะไม่ได้เยอะมากแบบก้าวกระโดด แต่ว่าเราก็พยายามประคองเส้นรายได้โฆษณาเอาไว้ให้ได้ แต่ว่าส่วนที่ทำให้มันเป็นบวกก็คงจะเป็นเรื่องของโลจิสติกส์ การขนส่งก็เป็น 1 ในเส้นรายได้หลักของตัวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐตอนนี้ รวมไปถึงการควบคุมค่าใช้จ่าย ตอนนี้เราก็รู้ว่าเรากำลังฝืนเทรนด์ตลาดโลก และลูกค้าใดๆ ไม่ได้ หน้าที่ที่ดีที่สุด คือ การบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพที่สุด 

กลุ่มไทยรัฐมีการเชื่อมต่อระหว่างหน่วยงานยังไงบ้าง

จริงๆ Thairath Forum ก็เป็นตัวอย่างของการเชื่อมต่อที่เห็นภาพชัดมากเหมือนกัน เพราะว่ามันเป็นกระบวนการเชื่อมต่อตั้งแต่กระบวนการเริ่มการออกแบบโครงการไปจนถึงการพัฒนาคอนเทนต์ร่วมกันของบรรณาธิการ 3 บ้าน ไปสู่ขั้นตอนของการจัดงานขึ้นมาไปจนถึงการเผยแพร่ Content หลังจากนั้นก็จะแบ่งงานกันไปว่า บก.หนังสือพิมพ์ ช่วยเรื่องนี้ บก.ทีวีทำเรื่องนี้ บก.ออนไลน์ทำเรื่องนี้

ทำไมคนยังเชื่อมั่นหนังสือพิมพ์อยู่ ทั้ง ๆ ที่มันก็เก่าแล้ว

นิคว่าความเชื่อมั่นมันมาจากการที่เราสร้างมันปีต่อปี แล้วมันก็มาจากการที่เราเป็นสื่อหลักที่มีตัวตนชัดเจน แล้วช่องทางสื่อสิ่งพิมพ์เป็นช่องทางที่ได้รับความน่าเชื่อถืออยู่แล้วด้วยตัวของมันเอง ไม่แน่ใจว่าความน่าเชื่อถือของไทยรัฐหรือจุดแข็งของไทยรัฐอันไหนเกิดก่อนกัน แต่ว่าตัวมันเองก็ได้รับความน่าเชื่อถืออยู่แล้วก่อนที่จะถูกตีพิมพ์ พอเป็นสำนักข่าว ยังไงก็ต้องมีการตรวจสอบข้อมูลความถูกต้อง ความแม่นยำ ยังไงมันก็ต้องมาเป็นอันดับหนึ่งอยู่แล้ว ไทยรัฐก็ยึดถือบรรทัดฐานนั้นในการทำงานมาตลอดระยะเวลาการทำงานที่ผ่านมา พอมันถูกสั่งสมมาเรื่อยๆ มันก็เลยเป็นความน่าเชื่อถือของแบรนด์ที่แข็งแรงมาก แล้วก็ถ่ายทอดส่งต่อมายังอื่นๆใดๆ ที่เราทำต่อมาในอนาคตด้วย

ช่วงโควิด-19 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐได้เรียนรู้อะไรบ้าง

หลักๆ คงจะเป็นเรื่องของวิธีคิดของคนทำงานมากกว่าค่ะ แล้วก็วัฒนธรรมบางเรื่อง หนังสือพิมพ์มันเป็นองค์กรที่ค่าเฉลี่ยอายุของคนค่อนข้างจะสูง แล้วอายุงานก็ยาวนานมาก ตั้งแต่หนุ่มยันแก่ สาวยันลูกโต เรื่องวัฒนธรรมมันแข็งแรงมาก ความผันผวนในการเปลี่ยนแปลงตามพลวัตของสังคม บางทีมันก็อาจจะช้า พอเกิดโควิด-19 ขึ้นมาก็จะทำให้เกิดขึ้นได้เร็วขึ้น คนทำงานก็เข้าใจ เปิดใจ และยอมรับที่จะเปลี่ยนแปลง

มีกลยุทธ์และการปรับตัวยังไงบ้างในช่วงโควิดบ้าง

จริงๆ ในเชิงกลยุทธ์ นิคว่ามันเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คล้ายๆ กับที่ทุกองค์กรทำว่าตอนโควิด-19 มันไม่รู้อะไรเลย และไม่รู้จบยังไงหรือจะพัฒนาไปทางไหน มันคือการควบคุมสถานการณ์ ความแพนิค ความอลหม่านให้มันอยู่ในร่องในรอยมากที่สุด สิ่งที่มันเกิดขึ้น การเปลี่ยนแปลงมันเป็นเรื่องของวัฒนธรรมของคนทำงาน มันพร้อมที่จะเผชิญกับอะไรก็ได้ พอมันถึงจุดที่ข้างหน้าเราไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้น เราก็ตอบอะไรไม่ได้ ทุกคนก็จะสู้แล้วไปด้วยกัน ไม่ว่าสถานการณ์นั้นอะไรจะถาโถมเข้ามา หรือว่ามันมีอะไรที่ไม่แน่นอนแค่ไหน คนทำงานก็พร้อมลุยไปกับเรา

ตอนนี้ไทยรัฐออนไลน์ก็เลยเกิดเป็นหลายหัวมากเลย

เพราะว่าไทยรัฐบนภูมิทัศน์สื่อออนไลน์ คนสามารถเข้าถึงได้ง่ายดายมาก ก็เลยเกิดส่วนแบ่งทางการตลาดที่เศษมาก ก็เลยรู้สึกว่า Mass Media หรือสไตล์ข่าวแบบไทยรัฐออนไลน์ มันก็มีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่ชอบข่าวสไตล์นี้ ชอบวิธีการเล่าเรื่องแบบนี้ แต่ก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่อาจจะไม่ได้อยากเสพข่าวแนวนี้ ไม่ชอบไม่ว่าจะเหตุผลอะไรแล้วแต่ มันก็เลยทำให้เราต้องคลอดแบรนด์ ย่อยออกมาเพื่อจับกระแสตลาดที่นับวันมันจะแตกย่อยมากขึ้นบนโลกออนไลน์

แบรนด์แรกที่เราคลอดออกมา น่าจะเป็นแบรนด์ Peepz (พีซซ์) ก็จะเป็นแบรนด์สำหรับคอนเทนต์บันเทิงสำหรับวัยรุ่นไปจนถึงวัยก่อนทำงาน แล้วก็เป็นคอนเทนต์บันเทิงเชิงตลกอย่างเดียวเลย ไม่ได้มีข่าวเลย แล้วก็เน้นเป็นคอนเทนต์วีดิโออย่างเดียวเลย ไม่มีบทความอะไรทั้งสิ้น ไม่มีเว็บไซต์ มีแต่สื่อสังคมออนไลน์ ปล่อยคอนเทนต์ลงบน YouTube, Facebook, Instagram

ส่วน Mirror ก็เป็นแบรนด์ที่จับผู้หญิงวัยทำงาน แล้วก็เป็นไลฟ์สไตล์คอนเทนต์ ก็จะไม่มีข่าวสไตล์ที่เป็นไทยรัฐ ก็จะเป็นคอนเทนต์ที่จะสร้างแรงบันดาลใจ หรือสร้างพลังให้ผู้หญิงยุคใหม่ ส่วน Thairath Plus ก็เป็นแบรนด์ย่อยตัวใหม่ล่าสุด ก็เป็นแบรนด์ข่าว นำเสนอคอนเทนต์ข่าว แต่เป็นข่าวแนวนโยบาย เป็นข่าวแนวไม่ใช่มีสังคมอาชญากรรม แต่ถ้าจะมีก็จะเป็นบทวิเคราะห์เชิงลึก แล้วเราก็จะพยายามแตกแบรนด์กีฬาออกมาเป็น Thairath Sport นอกเหนือจากนี้ก็จะมีบันเทิงไทยรัฐ นิยายไทยรัฐ และอื่นๆ อีกมากมาย

อนาคตจะไปทำข่าวกีฬาเป็นล่ำเป็นสันมั้ย

ตอบยากเหมือนกัน เพราะส่วนตัวนิคไม่ได้เป็นคนดูในส่วนนี้ เพราะไม่ได้เป็นคนรู้เรื่องกีฬา ถ้าถามในเชิงคุณค่า นิคไม่มั่นใจว่าคอนเทนต์กีฬามันเฉพาะกลุ่มมาก แต่ละกลุ่มเป้าหมายที่มีมันชัดเจน แล้วก็มีความแข็งแรงในตัวเอง ไม่มั่นใจในเรื่องของการเติบโตของกลุ่มเป้าหมายในแง่ของโอกาสทางธุรกิจอาจจะมีอะไรที่น่าสนใจประมาณหนึ่ง แต่ว่าถ้าภาพใหญ่มากๆ ไปทำข่าวกีฬาเชิงลึกเยอะๆ อาจจะยังไม่ได้วางภาพไว้ใหญ่มากซักเท่าไหร่

เห็นว่าอย่างสื่อบางเจ้าเขาอาจจะมีการซื้อแบรนด์ M&A แต่ว่าไทยรัฐไม่เคยทำเลย

จริงๆ เราก็ดูตลอดนะคะ ดูตลอดเลย แต่ว่าเป็นคนคิดเยอะ เลยไม่ได้ซื้อกับเขาซักที แต่จริงๆเรื่องนี้ก็สำรวจมาประมาณ 6-7 ปีแล้ว เพราะเราก็รู้ว่าความท้าทายของไทยรัฐออนไลน์คืออะไร เราก็ลองมาหลายกระบวนท่าแล้ว แต่ตอนนี้ไทยรัฐออนไลน์มันอยู่ในจุดที่เป็นจุดที่เติบโตต่อเนื่อง เนื่องจากมันเป็นธุรกิจดาวรุ่งด้วย แล้วก็ตัวไทยรัฐออนไลน์เองมันก็มีผลงานที่เติบโตขึ้นในทุกๆ ปี มีผลประกอบการที่เติบโตขึ้นในทุกๆ ปี ก็คุยกันว่าจะเติบโตแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ตามมูลค่าทางการตลาด หรือเราจะอัดการเติบโตแบบก้าวกระโดดหน่อย ซึ่งทางหนึ่งที่เราจะโตแบบก้าวกระโดดได้คือการควบรวมหรือซื้อกิจการ เพียงแต่ว่าก็อย่างที่บอกคือเนื่องจากว่าไม่เคยทำ ก็มีความคิดเยอะมาก แล้วเราก็อยากจะเลือกสิ่งที่มันดีจริงๆ แล้วก็ไปได้ไกลๆ เพราะว่าเราก็ไม่ได้ถนัดซื้อมาขายไป

ความท้าทายในปีหน้าของอุตสาหกรรมสื่อมันคืออะไร

มันเป็นความท้าทายเดียวกันมาประมาณ 5-6 ปีหลังได้แล้ว มันก็คือความท้าทายของอุตสาหกรรมสื่อทั่วทั้งโลก มันเป็นธุรกิจพระอาทิตย์ตก (ขาลง) ซึ่งเราทุกคนเข้าใจ ทุกคนไม่ใช่ทำงานที่หนังสือพิมพ์ก็เข้าใจ รู้เห็นสิ่งนี้ ความท้าทายนิคว่าจะกลับไปเรื่องของการควบคุมต้นทุน แล้วมันเติบโตยาก ถ้าด้วยตัวแก่นธุรกิจที่เป็นสิ่งพิมพ์จริงๆ มันเติบโตยาก ถ้าจะเติบโตได้มันต้องไปหานวัตกรรมหรือตัวธุรกิจรองที่จะช่วยประคองให้ธุรกิจหนังสือพิมพ์มันอยู่ได้ เช่น การจัดอีเวนต์มันช่วยประคองแก่นหลักให้มันอยู่ได้

มีทางไหนมั้ยครับที่ทำให้คนกลับมาสนใจหนังสือพิมพ์

อาจจะเป็น Special Edition ที่มันจะต้องมีความพิเศษ ควรค่ากับการไปซื้อมาเก็บไว้ อย่างตอนนั้นที่เราทำหนังสือพิมพ์ฉบับพิเศษตอนในหลวง อันนั้นก็เป็นที่ต้องการ เป็น Special Edition ตอนนั้นเป็นกระแสมาก แล้วเป็นครั้งแรกของประเทศที่มันเกิดโครงการหรือสินค้าแบบนั้นด้วย มันเป็นการเชื่อมต่อสื่อที่ชัดเจนมากและเห็นเป็นรูปธรรม ซึ่งจริงๆมันก็ไม่ใช่ไอเดียใหม่ เพราะเมืองนอกก็มี เพียงแต่ว่าเมืองไทยยังไม่มีใครทำ ณ วันนั้น แต่จริงๆ ทุกวันนี้ก็ยังไม่เห็นใครทำ อาจจะด้วยองค์ประกอบ ความพร้อมของทีมงานแต่ละเจ้า

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐอยู่ตรงไหนในช่วงของการเปลี่ยนแปลงของสื่อ

ส่วนตัวไม่เคยรู้สึกว่าการทำทีวีกับการทำออนไลน์มันคือการเปลี่ยนแปลงของสื่อเลย เพราะรู้สึกว่ามันก็เป็นธุรกิจใหม่ที่ก็ต้องเริ่มสร้างมันขึ้นมาใหม่อยู่ดี โชคดีที่เรามีทรัพยากรอะไรบางอย่างที่เอาไปต่อยอดได้ คือความเข้าใจของนิคคือการเปลี่ยนแปลงของสื่อมันต้องเปลี่ยนหนังสือพิมพ์อันเดิมพลิกด้านไปเป็นออนไลน์ แต่สิ่งที่มันเกิดขึ้นคือ ไอ้นี่ก็ยังอยู่ แต่มันมีอันนี้เกิดขึ้นมาใหม่อีกสองอัน ก็เลยไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นการเปลี่ยนแปลงขนาดนั้น แต่บางคนก็อาจจะบอกว่ามันเป็นนิยามของการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจสื่อ แต่ว่าถ้ามองอีกมุมหนึ่งมันก็เป็นการเติมเต็มสื่อให้ครบทุกแพลตฟอร์ม จริงๆ ก็จะมองมุมนั้นก็ได้ ซึ่งส่วนตัวนิคมองมุมนั้น ก็เลยไม่ได้รู้สึกว่าไทยรัฐมันอยู่ที่เปลี่ยนแปลงมา แต่ถ้าถามก็ตอบแบบไม่ต้องตีความมาก นิครู้สึกว่าไทยรัฐทีวีกับไทยรัฐออนไลน์ก็แข็งแรงมากแล้วในระดับหนึ่ง แบบที่ไปต่อในอนาคตได้ เพื่อที่จะขยายจักรวาลอะไรบางอย่างอยู่

จบ 15 ปีนี้คิดว่าจะประมูลทีวีดิจิทัลต่ออีกรอบมั้ย

ไม่แล้วค่ะ ใครจะประมูลคะ อยากจะคุยด้วย อยากจะรู้จัก (หัวเราะ) ใครจะคุย ใครจะประมูล โห กว่าจะมาได้ถึงทุกวันนี้ เลือดตาแทบกระเด็น น้ำตาหมดไปเท่าไหร่แล้วก็ไม่รู้ ไม่น่าจะมีใครประมูลแล้วค่ะ ไม่มีทางเลยเพราะว่าอุตสาหกรรมทีวีมันก็เป็นสื่อดั้งเดิม มันก็ขาลงเหมือนกัน เพียงแต่ว่าขนาดของตลาดมันก็ยังใหญ่พอประมาณอยู่

ไทยรัฐมีวิธีการวิจัยและพัฒนายังไงบ้าง

จริงๆ ก็ใช้วิธีการเหมือนทั่วๆไปเลยค่ะ เรามีทำวิจัยอยู่บ้าง เช่น focus group ที่เราทำ มันจะเป็นภาพใหญ่ ไม่ได้ออกมาเป็นสำหรับโครงการนั้นจริงๆ แล้วก็จะมีทั้งการหาข้อมูลคู่แข่ง ประเมินสภาพตลาด ประเมินกลุ่มเป้าหมาย โดยอันนี้ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของ บรรณาธิการและทีมคอนเทนต์ล้วน ๆ อยู่เหมือนกัน

อนาคตไทยรัฐในปี 2566 จะเป็นยังไง

ก็น่าจะยิ่งเหนื่อยมากขึ้นในเรื่องของการหารายได้ แล้วต้นทุนนับวันก็ยิ่งจะแพงขึ้น เพราะค่าน้ำมันก็แพงขึ้นมามหากาพย์มาก ค่ากระดาษอีก ซึ่งพวกนั้นก็เป็นต้นทุนที่หนีไม่ออก ยกเว้นแต่ว่าเราจะมีนวัตกรรมไปแชร์ต้นทุนอะไรบางอย่าง ซึ่งก็พยายามจะค้นหาอยู่ แต่ว่าก็ยังไม่ได้เป็นรูปร่างซะขนาดนั้น ส่วนจริงๆ สถานการณ์ปีหน้า เรื่องของการขายก็ยิ่งยากขึ้นไปอีก ปัญหารายได้ที่จะมาลงโฆษณา ความเชื่อมั่นของลูกค้าที่จะลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ก็น้อยลงเรื่อย ๆ  มีทั้งนโยบายจากเมืองนอกที่ไม่ให้ใช้สื่อดั้งเดิมเลย ใช้สื่อออนไลน์เท่านั้น มันก็มีความท้าทายพวกนั้นที่เราต้องพยายามผลักดันของเราให้เต็มที่