fbpx

**บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์ The Modernist เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2564**

หากใครหลายคนได้เปิดดูรายการข่าวอย่าง “รอบโลก เดลี่” หรือรายการ “เข้มข่าวค่ำ” ที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ PPTV HD 36 ก็คงจะพบลีลาการนำเสนอข่าวที่ไม่เหมือนใคร ชัดเจนด้วยเรื่องราว การเล่าเรื่องที่เจาะลึก และการเชื่อมโยงมิติต่างๆ ออกมาได้อย่างมากมายไม่ซ้ำกับสถานีโทรทัศน์อื่นๆ นี่เลยเป็นเหตุผลที่หลายคนยกย่องการนำเสนอข่าวของช่องนี้ว่าเป็นสถานีโทรทัศน์ที่คำนึงถึงคนดูได้อย่างแท้จริง

วันนี้ผมและทีมของส่องสื่อเลยเชิญชวน “เสถียร วิริยะพรรณพงศา” ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์พีพีทีวี เอชดี ช่อง 36 มาคุยถึงที่มาที่ไปของการนั่งแท่นผู้บริหารฝ่ายข่าวในช่องนี้ ตลอดจนลีลาการนำเสนอข่าวที่เรียกได้ว่ามีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใครว่าวิธีการกว่าจะมาเป็น 1 รายการเขาต้องทำอย่างไรบ้าง? ลองอ่านบทสัมภาษณ์นี้แล้วจะเข้าใจมากขึ้นครับ

1
หลังบ้านของทีมข่าว

ทำไมต้อง “เรื่องข่าว เรื่องใหญ่”

ทีมข่าวพีพีทีวีให้น้ำหนักกับข่าวมาก ซึ่งตอนเริ่มแรกมาในการสร้างทีมมันอาจจะยังไม่ได้มีกำลังเยอะมาก แต่ว่า 2-3 ปีมานี้ มันตกผลึกแล้วว่าถึงเวลาต้องยกระดับแล้วจริงๆ โดยเฉพาะช่วงหลังโควิด-19 ระบาด ทำให้เราคิดเลยว่าตอนนี้ข่าวมันเหมือนวัคซีนทางปัญญา คือสิ่งที่จะทำให้คนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ๆ เอาตัวรอดในกระแสการเปลี่ยนแปลงที่มันสูงมาก แล้วการเปลี่ยนแปลงทุกวันนี้มันเร็วมาก เราไม่สามารถจมอยู่กับข่าวแบบเดิมได้ เพราะฉะนั้นเราถึงคุยกับพี่กรุณา บัวคำศรี คุยกับคุณสุทธิชัย หยุ่น เพื่อที่จะตกผลึกว่า วันนี้ถ้าเราทำข่าว แล้วทำให้คนเปิดโลกทัศน์ตัวเอง เห็นการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของชีวิต ได้เห็นความเคลื่อนไหวของโลก มันจะทำให้เราสามารถฝ่ากระแสความเปลี่ยนแปลงและฝ่าวิกฤตการณ์ได้ ฉะนั้น แนวคิดที่ว่า เรื่องข่าว เรื่องใหญ่ มันหมายถึงว่าข่าวคือชีวิต ข่าวมีความสำคัญถึงขั้นเป็นเข็มทิศให้กับชีวิต โดยเฉพาะข่าวความเคลื่อนไหวทั่วโลก ซึ่งทุกวันนี้มันเป็นเรื่องหนึ่งเดียวกันหมด วันนี้ไม่มีข่าวต่างประเทศ ไม่มีข่าวในประเทศ ไม่มีข่าวต่างจังหวัด ไม่มีข่าวภูมิภาค  เพราะทุกพื้นที่มันเชื่อมสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกันหมด มีโรคระบาดที่อัฟริกา แป๊ปเดียวถึงเมืองไทยแล้ว ฉะนั้น โลกของข่าวมันไม่มีพรมแดน มันไม่มีเส้นแบ่งอีกต่อไป  เรื่องข่าวจึงเป็นเรื่องใหญ่ของชีวิต

มีวิธีการเล่าข่าวอย่างไรให้คนรู้สึกว่าใกล้ชิด

จริงๆ มันก็เป็นโจทย์ที่ไม่ง่าย เพียงแต่ว่าโอเค วันนี้หลักคิดมันชัดมากและมันนิ่งมากในการวาง sequence ข่าว การวาง rundown ข่าว นี่เป็นเรื่องที่เราต้องแลกเปลี่ยนกับโปรดิวเซอร์ กับกองบรรณาธิการข่าว ถามว่าเราทำได้ดี 100 เปอร์เซ็นต์หรือยัง ก็ยัง เพราะเรายังไม่สามารถคลุกทุกอย่างให้มันเป็นก้อนเดียว แต่ว่าแนวคิดมันนิ่ง หลักที่มันชัด ตอนนี้เรามีวัตถุดิบ มีข้อมูล มีนักข่าวจากทั่วประเทศ และในต่างประเทศ เรามีเครือข่ายข่าวที่กว้างขวาง ขณะที่กองบรรณาธิการก็จะทำหน้าที่เหมือนเชฟ เหมือนห้องครัวที่จะต้องปรุงข่าวสารที่หลากหลายสารพัดทิศทาง ให้คนดูรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องเดียวกัน มันเป็นหนึ่งเดียวกัน อันนี้ก็จะเป็นในเชิงเทคนิคแล้ว แต่ก็เอาล่ะ ทุกวันนี้ก็พยายาม เพียงแต่อาจจะยังไม่ใช่ดีที่สุด แต่ว่าแน่นอนมันจะเป็นทางที่เราเดินไป จริงๆ นอกจากข่าวต่างประเทศ ข่าวไทยจะเป็นตัวที่เราสู้กับมันเยอะมากนะ เราพยายามงัดเอามุมที่คนไทยควรจะรับรู้และเป็นมุมที่สะท้อนสังคมได้ชัดๆ  เช่น จะมีช่วงหนึ่งที่มีปล้นร้านทองทุกวัน แล้วมันน่าสนใจเพราะวิธีการมันดิบมาก บางทีก็คว้ามีด คว้าไม้  ใช้อะไรปาเข้าไป  แสดงว่ามันไม่ได้วางแผน ฉะนั้น ไอ้คนที่ปล้น อาจจะไม่ใช่โจรโดยสันดาน อาจจะตกงานกระทันหัน หน้ามืดคิดอะไรไม่ออก แล้วร้านทองคือทรัพย์สมบัติข้างทาง ก็เลยเอาวะปล้นทองเลยดีกว่า กองบก.พีพีทีวี ก็ต้องหาคำตอบเพื่ออธิบายว่ามันเกิดอะไรขึ้นในสังคม มันไม่ใช่แค่ปล้นทองแล้วจบๆไป พรุ่งนี้เสนอข่าวใหม่ ปล้นร้านโน้นที ร้านนี้ที เราก็อยากให้คนดูรู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากอะไร ที่มามาจากอะไร เพื่อให้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้วันหนึ่งอาจจะเกิดกับเรา หรือคนใกล้ตัวเรา สิ่งเหล่านี้เราคิดทุกวัน

หรือข่าวอย่างเช่น นักดำน้ำตายในอุโมงค์ลึก 100 เมตร และเป็นพวกนักดำน้ำระดับโลกทั้งนั้น เราก็คิดว่ามันเกิดจากอะไร  บางสื่อบอกว่า เป็นตัวตายตัวแทน มีผีมาดึงขา แต่เราไม่ยอมไปทางนั้น ในเวลา 4-5 ชั่วโมงเท่ากัน ก่อนจะถึงเวลารายการข่าว  ทีมข่าวก็ต้องระดมกำลังไปหาคำตอบให้ได้ว่ามันเพราะอะไร  เราต้องไปหานักดำน้ำ ผู้เชี่ยวชาญ เราไม่ไปหาร่างทรง แต่ต้องไปวิเคราะห์ว่าก๊าซออกซิเจนมันลงไปในระดับน้ำเท่าไร แล้วความดันเป็นยังไง ข่าวไทยคือเราสู้ทุกมุมมอง ถ้าเรายอมให้เป็นเรื่องตัวตายตัวแทน เด็กๆที่ดูข่าวอยู่จะคิดยังไง  

กว่าจะมาเป็นวิธีการเล่าแบบนี้ ทำงานกันอย่างไร

คือการเล่าเรื่องของเรา เวลาตอนประชุมตอนกลางวัน ผมก็จะนั่งถามว่าข่าวนี้นำเสนอไปแล้วเป้าหมายคืออะไร ปลายทางคืออะไร อย่างข่าววัยรุ่นตบตีกันดิบๆ ภาพรุนแรงหวือหวา ดูแล้วซี๊ดเลย  แต่แล้วยังไงต่อ สังคมจะได้อะไรจากข่าวนี้? ความยากในการบริหารข่าวของเราคือ เราคิดเยอะ คิดมาก มันทำให้หน้าจอเราอาจจะไม่ได้โอ้ โห มันหว่ะ ไล่ยิง ไล่แทงกัน เลือดสาดอย่างนี้เลยเหรอ  เราไม่สามารถปล่อยภาพได้ทั้งหมด กระบวนการเราคิดเยอะมาก ถ้าจำเป็นต้องเสนอ เราต้องฟรีซ(หยุดภาพ) เราต้องเบลอ อันนี้เราไม่เอา คือโปรดิวเซอร์จะบ่นมาก เพราะเขาจะบอกว่าพี่หน้าจอมันต้องสนุกสิ อย่างภาพ Immersive ถือปืนเราก็ไม่ยอมนะ  บางสื่ออาจจะบอกว่าเขาไม่ใช้ภาพรุนแรง แต่เขาใช้ Immersive Graphic แล้วมันมีหอกแทง แต่อย่าลืมนะว่าเด็กก็ดูข่าว แล้วเด็กดูเป็นการ์ตูน ทีนี้เพลินเลย เด็กเพลินเพลินไปกับการเอามีด ไล่แทง เอาปืนไล่ยิงกัน เด็กก็ซึมซับภาพเหล่านี้ทุกวัน   คือพีพีทีวีจะคิดเรื่องนี้เยอะมากและซับซ้อนมากจนกองบรรณาธิการเองมีถามว่าทำไมพี่ไม่ยอม อันนั้นก็ไม่ได้ อันนี้ก็ไม่ได้ คือเราอยากให้คนดูข่าวได้ทั้งครอบครัว  ไม่ใช่พอข่าวมาต้องปิดตาลูก กลัวลูกจะเห็นเพราะมันมีแต่ความรุนแรง ตบตีกัน ไล่ยิง ไล่แทงกัน ข่าวมันต้องเป็นอาหารเสริมให้คนได้คิด ไม่ใช่เป็นยาพิษที่เราต้องหนี 

ทำงานกันหนักแค่ไหน

อย่างผมก็ต้องเริ่มทำงานตั้งแต่ 7 โมง จนได้กลับบ้าน 4 ทุ่ม กองบก. นักข่าวที่นี่ทำงานหนักมาก เพราะที่นี่เราตั้งคำถามเยอะมากว่าข่าวแบบนี้ ไปสัมภาษณ์คนนี้ แล้วจะได้อะไร เป้าหมายคืออะไร ออกหน้าจอแล้วจะเป็นยังไง ข่าวสมดุลมั้ย ถ้าสัมภาษณ์ฝ่ายนี้มา แล้วฝ่ายนั้นได้สัมภาษณ์มามั้ย  ถ้าไม่ได้สัมภาษณ์มาทั้งคู่ก็ไม่เอา ไปทำมาใหม่ ไปหามาให้ได้  คือเราซีเรียสมาก การเขียนข่าวก็จะระมัดระวังมาก ข่าวการเมืองจะเอียงไม่ได้ ต้องบาลานซ์ตลอด เรากลั่นกรองทุกอย่าง คำพูด หรือภาพที่ปลุกเร้าให้เกิดความเกลียดชัง เกิดอคติต่อกัน เราต้องกลั่นกรอง ถึงบอกว่าเราทำงานหนักกันมากในทุกขั้นตอน  

อะไรที่ทำให้กองบรรณาธิการยอมทำงานหนัก

อาจจะเสียงตอบรับจากคนดู ที่มีเข้ามา ทีมข่าวพีพีทีวี จะมีคนให้กำลังใจเราเรื่อยๆ เพราะรู้ว่าเราตั้งใจ   บางทีเราจะเห็นคอมเมนต์พวกนี้มาจากเพจโน้นเพจนี้ เราก็มีกำลังใจ บางส่วนก็เป็นสิ่งที่ผมบอกกับทีมข่าวว่า งานของเราปลายทางอยู่ที่คุณค่าของสังคมนะ เราต้องภูมิใจ ในกองบก. เราจะดีเบตกันตลอดเวลาว่าเราจะเสนอข่าวอะไร เสนอทำไม เสนอแล้วสังคมได้ประโยชน์รึเปล่า ข่าวบางข่าวสนุกนะ มันเร้าใจ  เรตติ้งดีแน่ๆ   แต่ถามว่าสังคมได้อะไร เสนอไปครอบครัวเขาจะอยู่ยังไง  ถ้าตอบตรงนี้ไม่ได้ เราก็ต้องคิดกันใหม่  แล้วควรจะเปิดหน้าคนนี้ไหม คนนี้เขาเป็นเด็กนะ คือผมคิดว่ากระบวนการพูดคุยในกองบรรณาธิการ มันเหมือนผูกทุกคนให้เข้าใจไปเรื่อยๆ คือทุกคนมีสิทธิ์ถามได้ว่าทำไมข่าวนี้ไม่เล่น ทำไมเราเสนอภาพนี้ไม่ได้ ทั้งๆ ที่ช่องนั้นเขาก็เสนอนะ ช่องนี้เขาก็ออก เรตติ้งเขาก็ดีด้วย ทุกคนก็มีสิทธิ์ถาม แล้วในกองบรรณาธิการ ตอนหลังผมแทบไม่ต้องตอบอะไรเลย จะเป็นกองบรรณาธิการที่ช่วยกันเสนอมุมมองว่าถ้าเด็กเขาดู แล้วเขาได้อะไรล่ะ คือผมคิดว่าพอมันมีคำถามหลักว่าสังคมได้อะไรจากข่าวนี้ ในกองบรรณาธิการมันจะคุยกัน แลกเปลี่ยนกันทุกวันๆ จนมีความมั่นใจว่าพอทำถึงจุดหนึ่ง จนทุกคนมั่นใจว่าข่าวช่องเรามันมีคุณค่า ทุกคนจะมีความรู้สึกนี้ว่างานที่เราทำอยู่มันมีคุณค่าต่อสังคม  เราไม่ได้เหมือนคนอื่นนะเว้ย แล้วเราไม่ได้ว่าใครนะ ใครดีหรือไม่ดี มันตัดสินไม่ได้หรอกในโลกการแข่งขันแบบนี้ เรตติ้งเราก็ไม่ได้ดี ของเขาสิ ก้าวกระโดดพรวดๆ แต่กลับบ้านแล้วเรายังนอนหลับตาได้เต็มตาว่าอย่างน้อย พีพีทีวี เราทำสื่อที่เราคัดทุกอย่างที่มีคุณภาพให้กับคนดู และที่สำคัญเรารับผิดชอบสังคม  

การตั้งคำถามกับข่าวสำคัญอย่างไรบ้าง

สำคัญมากครับ คือเราต้องถามก่อนนะว่าที่เราทำกันอยู่นี้ เราทำเพื่ออะไร เรามีเป้าหมายอะไร อย่างเมื่อก่อนมันมีข่าวที่ผมปวดหัวมาก ข่าวครอบครัวบางข่าว อย่างข่าวนักดนตรีชื่อดัง เล่นกับลูกแล้วสังคมวิจารณ์ว่าเหมือนจะลวนลามลูกตัวเอง แล้วเขาเล่นกันครึกโครมแทบทุกสื่อ แต่สำหรับพีพีทีวี  เราไม่เสนอภาพคนในครอบครัวเลย ถึงแม้จะเป็นคนดัง บางคนบอกบุคคลสาธารณะ สังคมมีสิทธิรู้ แต่สื่อเราเสนอข่าวนี้ พรุ่งนี้ก็เสนอข่าวอื่น สังคมอาจจะลืม แต่ภาพเด็กที่อยู่ในสื่อ มันอยู่ตลอดกาล ค้น google ก็เจอภาพตัวเองเป็นข่าวอื้อฉาว มันจะเป็นปมด้อยเขาตลอดชีวิตเลยนะ ฉะนั้น ข่าวครอบครัวเราจะซีเรียสมาก โดยเฉพาะเด็กๆที่ตกเป็นข่าวเราจะห่วงเขามาก 

จริงๆอย่างข่าว หมอผี ร่างทรง  ใบ้หวย  เราก็ไม่ได้ปฎิเสธนะ แต่เราก็จะเสนอในมุมมองของเรา ถามว่าเราทำข่าวหวยไหม เราทำ เราถามว่าทำไมหวยแพง มันมีใครได้ประโยชน์มันมีโควต้าหวยจริงมั้ย แต่จะให้ไปแช่ภาพน้ำตาเทียนหยด จนม้วนเป็นเลขลอยอยู่ในขัน แล้วให้คนดูนั่งตีว่ามันเลขอะไร  เราอาจจะไม่ถึงขนาดนั้น   พีพีทีวีไม่ได้ทำข่าวที่ดูยาก  หรือต้องปีนบันไดดูข่าว ไม่ใช่เลย   เราศึกษาคนดูตลอด เรารับรู้ว่าชาวบ้านต้องการอะไร เรารับรู้ตลอด เพียงแต่ว่าเราไม่สามารถป้อนทุกอย่างที่คนดูต้องการได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะเราเชื่อมั่นว่ากระบวนการของกองบรรณาธิการ ต้องมีการกลั่นกรอง ไม่ใช่ว่าเราเสนอข่าวผีสางนางไม้ อะไรก็ได้ แล้วขึ้นจอว่าโปรดใช้วิจารณญาณ คือเราคิดว่าก่อนที่ประชาชนใช้วิจารณญาณ กองบรรณาธิการต้องใช้วิจารณญาณก่อน  ไม่ใช่ทุกอย่างดันออกไปหมด ถ้าเด็กดูแล้วซึมซับความงมงาย มอมเมา  แล้วก็บอกว่าเรื่องของคุณ เพราะมันเป็นวิจารณญาณของคุณ  ผมว่าสื่อต้องไม่ผลักให้การใช้วิจารณญาณเป็นของคนดูเพียงฝ่ายเดียว ไม่งั้นเราจะมีกองบรรณาธิการข่าวไว้ทำไม  

“โปรดใช้วิจารณญาณในการรับชม” คือไม้กันหมาหรือไม่

อันนี้มันแล้วแต่กองบรรณาธิการ ผมว่าคนที่เป็นบรรณาธิการก็ต้องรู้ เรารู้อยู่แล้ว เราเรียนตำราเล่มเดียวกัน เราอยู่ในสนามรบเดียวกัน เรารู้อยู่แล้วว่าข่าวแบบนี้ กับการขึ้นอย่างนี้มันคือเทคนิคที่จะเล่นข่าวโดยไม่รู้สึกผิด หรือเป็นการขอร้องให้คนดูใช้วิจารณญาณจริงๆ มันก็พอจะมองออก  แต่ก็พูดยากอันไหนมันเป็นยังไง

ลำดับความสำคัญของข่าวที่จะออกอากาศอย่างไรบ้าง

เรื่องที่เราคิดว่าเป็นปรากฏการณ์สำคัญและส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมากๆ อันนี้เป็นเรื่องที่เราจัดความสำคัญว่าต้องขยายแล้วก็ต้องเจาะ คือเราไม่สามารถเอาคลิปจากโลกออนไลน์แล้วเราก็เสนออย่างนั้นได้ ถ้าสังเกตหรือดูพีพีทีวี ถ้านำเสนอปุ๊บ จะมีตัวจริงๆ ยืนสัมภาษณ์เลย และมันก็ขยับออกมา มันมีคลิปไปดูงานต่างจังหวัดของครู แล้วก็ไปเที่ยวทะเล ซึ่งถามว่าเราเสนอข่าวนี้ได้ไหม ก็ได้นะจริงๆ แล้ว เสนอไปปุ๊บก็จบเลย แล้วทัวร์ก็จะมาลงครู แต่คุณดูดีๆ ว่านี่เป็นปัญหาเชิงระบบเลยนะ   คือตอนนี้มันปลายปี แล้วทุกหน่วยราชการมันมีงบเหลือโดยเฉพาะงบสัมนา เพราะตลอดทั้งปี มันล็อคดาวน์ไปไหนไม่ได้ มันก็มาเทงบเอาช่วงนี้  ถ้าไม่เอางบลงสัมมนา มันต้องเอางบคืน คืนเสร็จแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ปีหน้ามันจะถูกตัด มันต้องเทกระจาด ถ้าคุณดูแค่โรงเรียนเดียว คุณจะเห็นภาพแค่ครูใช้งบสัมนาไปเที่ยว แต่สำหรับพีพีทีวี ทำให้คนดูเห็นว่า นี่มันไม่ใช่ปัญหาของโรงเรียนนี้โรงเรียนเดียว แต่ปัญหาใหญ่คือการผลาญงบค้างปีของหน่วยงานราชการ แล้วมันทำกันหมดแทบทุกกรมกอง คือพอสิ้นปีก็ผลาญกันทุกหน่วย   ตรรกะมาจากอะไรรู้ไหม มันมาจากที่ว่าถ้าคุณใช้ไม่หมด ก็คือคุณใช้เงินไม่เป็น ปีหน้าคุณก็จะไม่ได้งบตัวนี้   คุณก็เลยต้องตะลุยใช้เงินให้หมด ซึ่งอันนี้คือเรื่องใหญ่กว่าครูดำน้ำเที่ยว  เพราะฉะนั้นกระบวนการคิดของกองบรรณาธิการพีพีทีวีคือ คิดจนกระทั่งไปหาคำตอบ จนกระทั่งนำเสนอออกมา

2
ทำข่าวดีต้องสร้างเงิน?

ทำอย่างไรให้ข่าวมีคนดูและสร้างเม็ดเงินได้

ผมคิดว่ามันมีหลายปัจจัยนะครับ มันมีทั้งเรื่องการสร้างคอนเทนต์ข่าวที่แข็งแรง น่าเชื่อถือ บวกกับการวางกลยุทธ์ที่แหลมคม เพราะว่ามันคือธุรกิจ ธุรกิจแน่นอนว่ามันคือกำไร คือผลประกอบการ คือรายได้ ในส่วนของพีพีทีวี นี่ก็เป็นโจทย์ที่ท้าทายมากๆ นะ หลายปีที่ผ่านมา เราก็ต้องสู้กับยอดตัวเลขเรตติ้ง เพราะตอนนี้มันคือดัชนีเดียว ในตลาดนี้ มันกลายเป็นตัวชี้ขาดความสำเร็จ ไม่สำเร็จ ความล้มเหลว ความดีงาม บางทีก็น่าเสียดาย ผมเห็นหลายสื่อเขาทำข่าวดี  ทำข่าวแล้วเกิดความเปลี่ยนแปลงสังคม  แต่มันไม่มีตัวชี้วัดตรงนี้ ทุกอย่างไปวัดกันที่เรตติ้ง กองบรรณาธิการของพีพีทีวีเองก็คิดเยอะมาก มันเป็นความท้าทายทำข่าวยังไงให้มีคนดูและให้มีรายได้ หมายถึงเราทำข่าวที่มีคุณภาพ ขณะเดียวกันมันก็มีเรตติ้งและมีรายได้  ทุกอย่างมันต้องไปพร้อมกันให้ได้หมด  ซึ่งผมเชื่อว่ามันไปด้วยกันได้ ซึ่งข่าว ถ้าเป็นสินค้า ก็เป็นสินค้าที่จุดแข็งของมันคือความน่าเชื่อถือ ความถูกต้อง ความชัดเจน ซึ่งเราก็ต้องรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ให้ได้ เพราะมันคือมูลค่าที่จะไปต่อยอดในทางธุรกิจได้ วันนี้ เรามั่นใจว่าพีพีทีวี เริ่มมีแบรนด์ข่าวที่แข็งแรง เรามีทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพในฝ่ายข่าวมากมาย ซึ่งเราก็ต้องรักษาไว้ เราชัดเจนว่าเราไม่ได้สะเปะสะปะ เราทำข่าวคุณภาพ เราทำข่าวที่มีประโยชน์ต่อสังคม  เรามีข่าวทีมข่าวที่กว้างขวาง มีนักข่าวมืออาชีพ มีนักข่าวอาสา มีนักข่าวภูมิภาค และมีนักข่าวที่ประจำอยู่ในเมืองสำคัญๆทั่วโลก ขณะเดียวกันเรามีกองบรรณาธิการที่เข้มแข็งสามารถผลิตคอนเทนต์ที่หนักแน่น เป็นข่าวที่ลึก แม่นยำ สิ่งเหล่านี้คือรากฐานที่จะสามารถเอาไปต่อยอดในทางธุรกิจทั้งสิ้น  

ฉะนั้น โจทย์ของเราคือสร้างสิ่งใหม่ๆ ในตลาดข่าว ให้คนดูได้เป็นทางเลือก และเป็นทางเลือกที่มีคุณค่า  เราเอารายการรอบโลกเดลี่มาลงไพรม์ไทม์ ล่าสุดเราเปิดรายการรอบโลกเอ็กซ์เพรสตอน 10 โมงครึ่ง เราลงทุนจ้างนักข่าวไทยที่ยืนรายงานอยู่ทั่วโลก คือมันต้องใช้ความทุ่มเทสูงมากที่เราจะไปเทรนนักข่าวคนหนึ่งให้รายงาน แล้วนักข่าวเราที่มาจากต่างประเทศไม่ใช่โทรมาเล่าเหตุการณ์นะ  แต่เขายืนรายงานเหมือน CNN มีทักษะ มีระบบในการรายงานเล่าเหตุการณ์ มีข่าว มีข้อมูลที่เจาะลึก ไม่ใช่ใครก็ได้มาเล่า เบื้องหลังมันหนักมาก พี่กรุณาเทรนคนที่อยู่ในแคลิฟอร์เนีย ในเยอรมนี ในไต้หวัน เริ่มต้นจากศูนย์เลย บางคนโชคดีที่เป็นอดีตผู้สื่อข่าวที่ไปทำงานอยู่เมืองนอก บางคนเป็นนักศึกษาและมีความตั้งใจสูงมาก คือเขาต้องมีทักษะในการเล่าเรื่อง การถ่ายภาพ คือหลังบ้านนี่กระอักเลือด เพราะทีมกองบก.ต้องใช้กำลังมหาศาล ในการสร้างนักข่าวที่จะรายงานจากต่างประเทศ บางทีประชุมกันดึกๆดื่นๆ เพราะเวลาเมืองไทย กับเวลาต่างประเทศไม่ตรงกัน บางทีก็ต้องประชุมกันตีสองตีสามก็มี  ถามว่าเราทำไปทำไม คือสังคมมันก็ต้องมีคนที่ต้องทำ ต้องทุ่มเทอย่างนี้ ซึ่งเราเชื่อว่าในที่สุดมันจะทำให้แบรนด์ข่าวพีพีทีวี มันเป็นแบรนด์ของสถานีข่าวที่มีมาตรฐาน  

แล้วประชาสัมพันธ์อย่างไรให้คนมาดูเรา

เอาจริงๆนะ ถ้าบอกว่าคนไทยไม่สนใจข่าวต่างประเทศหรือข่าวหนักๆเลยก็ไม่ใช่นะ  คือผมเชื่อนะว่าถ้าเราตั้งใจและทุ่มเทมันจริงๆ บนความเชื่อที่แรงพอ  บนแรงผลักดันที่หนักแน่น และการวางแผนกลยุทธ์ที่ดี   จะทำให้คนเข้าใจเรา อย่างแฟนๆ รอบโลกเดลี่เยอะมาก ถ้าเราไม่ทำ เราก็ไม่รู้ แล้วเราก็ไปสรุปเอาเองว่าคนเขาจะดูแต่ข่าวดราม่า ใบ้หวย ไม่จริงเลย มีแฟนๆข่าวพีพีทีวี บอกเราทุกวัน ขอบคุณเราที่มีรายการรอบโลกเดลี่ รอบโลกเอ๊กเพรส  ทำให้เขาได้เปิดโลกทัศน์ ได้เห็นโลกกว้าง บางคนบอก เนี่ยลูกยังชอบดูข่าว ลูกชอบมาก   มีคนอีกมากมายที่อยากให้ลูกได้ดูนวัตกรรมใหม่ของประเทศนั้น จีนตอนนี้เอไอมันขับรถบินแล้วนะ ยาวัคซีนแก้โควิด-19 มันทำได้แล้วนะ  คือคนที่เขาต้องการเห็นข้อมูลข่าวสารจากทั่วโลก จริงๆมีเยอะ     ทีนี้พอเราทำ ตัดสินใจเดินไป ถามว่าเสี่ยงไหม เสี่ยงแน่นอน เรตติ้งก็ประมาณนึง แต่เราภูมิใจที่ได้ทำ 

มีวิธีการสมดุลอย่างไรระหว่างความฝันกับคนดู

จริงๆ บนหน้าจอพีพีทีวีจะไม่ใช่ข่าวต่างประเทศทั้งหมดนะ เราจะผสมผสานกันให้มันหลากหลาย ถ้าดูดีๆ ข่าวกลางวัน ข่าวตอนบ่าย ข่าวตอนเย็น มันก็มีข่าวไทย แต่ข่าวไทยจะเป็นข่าวไทยในแบบฉบับของพีพีทีวี คืออิงกับเป้าหมายและผลประโยชน์ของสังคมเป็นหลัก อาจจะไม่ได้เห็นข่าวแทงกันหรือเด็กตบกัน กระชากหัวกัน แน่นอนว่ามันไม่สามารถที่จะมีข่าวต่างประเทศได้ตลอดทั้งวัน เรารู้ดี แต่ถามว่าทำไมเราลงไพรม์ไทม์ ก็เพื่อเป็นสัญลักษณ์ส่วนหนึ่งว่าแม้แต่ช่วงเวลาที่เขาบอกว่าเป็นเวลาทอง   เราก็ทำให้เห็นว่าเรากล้าเอาคอนเทนต์เหล่านี้วาง เพื่อจะบอกว่าเราคิดอะไร

3
รอบโลกเดลี่ เพราะทั้งโลกอยู่ใกล้ตัวคุณ

เพราะอะไรคนถึงมั่นใจมาดู “รอบโลกเดลี่”

ผมคิดว่าสิ่งที่กองบรรณาธิการต้องการก็คือให้คนที่ได้รับข่าวได้เห็นภาพรวม เหมือนเดินไปแล้วได้เห็นป่าทั้งป่า อย่างที่บอกว่าโลกมันคือหนึ่งเดียวกัน จริงๆ ก่อนจะรอบโลกเดลี่ เราก็มีตระกูลเข้ม เข้มข่าวเย็น เข้มข่าวค่ำ มันก็จะเป็นข่าวไทยที่จัดจ้าน  และไปสุดๆทุกข่าว ถ้าเป็นอาชญากรรมก็สอบสวนกันให้มันสุด ก็คิดว่ามันไปสุดในแบบเรา เพราะฉะนั้นคนดูเราเขาจะได้ข่าวแบบสุด   พอถึงเวลารอบโลกเดลี่ คนก็จะอ๋อ โลกมันไปขนาดนี้แล้วเหรอ คือเราอยากให้คนดูข่าวพีพีทีวี ได้เห็นโลกทั้งใบ เหมือนได้เห็นป่าทั้งป่า ไม่ใช่แค่ดูต้นไม้วันละต้นสองต้น มันก็มองไม่ออก ว่าทั้งป่านี่มันคืออะไร คือถ้าเรามองเห็นป่าทั้งป่า เราจะรู้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น ถ้ามีไฟป่าอยู่มุมโน้น เดี๋ยวมันก็ลามมาถึงตรงนี้เหมือนกัน วันนี้เราดูข่าวไวรัสกลายพันธุ์ในประเทศต่างๆ เราเล็งไว้ได้เลย อีกไม่นานมันก็มาประเทศไทย ฉะนั้น ดูข่าวไปล่วงหน้า จะได้รู้ว่าประเทศเขารับมือยังไง ผิดพลาดยังไง มาถึงเรา เราจะได้ไม่พลาด นี่คือสิ่งที่เราอยากคาดหวัง คือหวังให้ข่าวเป็นเหมือนวัคซีน สร้างภูมิในร่างกายเรา เพื่อให้เรามีภูมิ เหมือนมีข้อมูลข่าวสารเป็นอาวุธประจำตัว  

ผมอยากให้ข่าวมันทำให้เราวางแผนชีวิตได้ ผมเองก็มีลูก เราเองจะคิดถึงคนเหล่านี้มาก คิดถึงเด็กๆ มากว่าเขาเปิดทีวีมา ก็ไม่อยากให้เขาเปิดทีวีมาแล้วเจอแต่ความโหดร้ายของสังคมจนมันหดหู่หม่นหมอง จริงๆพีพีทีวีก็มีข่าวอาชญากรรม แต่อาชญากรรมของเราก็จะไม่ได้เป็นอาชญากรรมแบบเลือดสาด ปาดคอ แต่เราพยายามหามุมที่มันสะท้อนสังคม หรือเป็นอุทาหรณ์ได้ อย่าง คดีเอ็กซ์ จักรกฤษณ์ โหดร้ายมาก เราก็ทำให้เห็นว่าอะไรที่มันซ่อนอยู่เบื้องหลังการจ้างวานฆ่า นั่นคือปัญหาครอบครัว เราก็บอก คุณไปคุยกับผู้หญิงที่โดนสามีซ้อมทุกวันๆ สุดท้ายทนไม่ไหวก็ต้องชักมีดมาฟัน แต่ว่าเบื้องหลังกว่าเขาจะถึงจุดตรงนั้น มีทางออกให้เขาไหม อย่างเลิกบุหรี่ก็มีเบอร์โทร คนเจ็บป่วยฉุกเฉินก็มี 1669 แต่ถามว่าคนที่ถูกผัวซ้อมทุกวันๆ มันมีทางออกไหม มีหน่วยงานไหนหรือมีเบอร์ฮอตไลน์ปรึกษาได้ไหม นอกจากทางเดียวที่มีคือเขาคว้าไม้หน้าสามมาฟาดกลับแล้วเขาถูกติดคุกตลอดชีวิต แล้วถามว่ามันเป็นธรรมกับเขาหรือเปล่า   เพราะสุดท้ายคำตัดสินของศาล ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องติดคุก แต่ว่าคดีของเอ็กซ์เป็นคดีตัวอย่างที่ศาลมองในมิติว่าเขาถูกกระทำ จนสุดท้ายเขาใช้คำว่าเป็นความทุกข์เข็ญแสนสาหัส สุดท้ายเขาก็ตัดสินไม่เยอะ คดีอย่างนี้สังคมก็มาตั้งคำถามต่อว่าผู้หญิงที่ถูกกระทำซ้ำๆ เขาหันหน้าไปหาใครได้บ้าง มีหน่วยงานไหนหรืออะไรที่จะช่วยเขาออกจากวงจรอุบาทว์พวกนี้

คือข่าวอาชญากรรมของพีพีทีวีก็จะต้องหาปมที่มันสะท้อนสังคม หรือเป็นเคสกรณีศึกษาที่สังคมได้เรียนรู้ มันอาจจะไม่เชิงถึงกับหาทางออก แต่ว่าเป็นมุมมองของกองบรรณาธิการที่เห็นว่าสิ่งที่มันซ่อนอยู่จากเรื่องนี้ อย่างเรื่องสจ.ดำที่คนตัดสินใจฆ่าเมีย ฆ่าลูกตาย มันต้องอยู่ในสภาพขนาดไหน แล้วเขารักลูก ลูกน่ารักมาก มันต้องอยู่ในสภาพขนาดไหน คำถามก็คือโควต้าล็อตเตอรี่มันคืออะไร มันคือหวยลม คือแชร์ลูกโซ่ เราต้องหาคำตอบให้ได้ ไม่งั้นจะมีเหยื่ออย่างนี้อีกเท่าไรที่พอได้ล็อตเตอรี่มา ปล่อยขาย ได้กำไรใบละ 50 สตางค์หรือใบละบาท เหยื่อถ้าเขาไม่ถึงจุดตรงนั้นที่เป็นจุดสุดท้ายฆ่าลูก ฆ่าเมีย ผมคิดว่าการทำข่าวต้องหาจุดให้ได้และหาหลักให้เจอ แล้วผมว่าสังคมนี้ก็จะได้เรียนรู้จากข่าวไปด้วย 

ทำไมแนวคิดในการเล่าข่าวของ “รอบโลกเดลี่” ต้องเอาข่าวไทยเชื่อมข่าวโลก

เราตั้งหลักอยู่แล้วล่ะว่าคนไทยยังไงก็ต้องกินส้มตำ ผัดกะเพรา คนไทยไม่สามารถจะกินชีสหรือพิซซ่าอย่าง CNN ได้ตลอดเวลา อย่างที่บอกไปว่ามันเหมือนพ่อครัว ยังไงก็ต้องถูกปากคนไทยก่อนเป็นอันดับหนึ่งก่อนเว้ย เราจะบอกว่าคนไทยกินอาหารแบบนี้มีวิตามินเยอะ ถามว่าจะกินได้กี่มื้อ มันก็ต้องมีมันบ้าง เผ็ดบ้าง เราไม่สามารถจะได้ประโยชน์จากอาหารทุกมื้อตลอดเวลา เพียงแต่ว่ามันต้องมีส่วนผสมอะไร เพราะฉะนั้นข่าวของพี่กรุณามันมีจุดเริ่มต้นเลยว่าเราจะปรุงยังไงให้มันเข้าปากคนไทย ให้เขาดูเพลินๆ ให้เขาไม่รู้สึกว่าเรากำลังให้อะไรที่มันไกลตัว อย่างข่าวเมียนมา ผลกระทบมันเกิดขึ้นที่ชายแดนเราอยู่แล้ว ยิ่งมีการประท้วง เสียชีวิต ผู้ลี้ภัยมาที่เรา ทุกอย่างมันสัมพันธ์กันหมด เพราะฉะนั้นพี่กรุณาเขาจะมีบทที่สวย เขาคือนักเขียน นักเดินทาง ฉะนั้นผมคิดว่านี่เป็นจุดแข็งของรอบโลก มันสละสลวย ไม่เยิ่นเย้อ แล้วการเลือกประเด็นมันเชื่อมโยงกับสถานการณ์ในประเทศไทย เช่น การที่เราพูดถึงการเปิดประเทศไทย รอบโลกเดลี่ก็จะมีว่าออสเตรเลียเขาเป็นยังไง นิวซีแลนด์เขาเปิดมาแล้วเป็นยังไง เปิดมาแล้วมาตรการเขาเป็นยังไง มันอยู่ในห้วงอารมณ์ที่คนไทยกำลังรู้สึกในประเด็นข่าวนั้นๆ รอบโลกเดลี่เขาจะคัดมา นี่เป็นสิ่งที่เราคุยกันอยู่แล้วว่าเราจะเชื่อมโยงไป ในความคิดเห็นแบบนี้ ไม่มีช่องไหนทำ

4
เพราะข่าวไม่มีสูตรสำเร็จ

การทำข่าวเปลี่ยนความคิดในชีวิตมากน้อยแค่ไหน

คือพอเราอยู่ในสังคมที่มันเหวี่ยงมากๆ ข่าวสารมันเยอะมากๆ มีเพจเยอะมากๆ ผมยิ่งห่วงมากๆ โดยเฉพาะเด็ก คนรุ่นใหม่ๆ เขาจะเติบโตมากับความหวือหวา ความร้อนแรงของข่าว เขาจะอยู่ได้จริงเหรอ สังคมอีก 10-20 ปี เด็กเหล่านี้จะอยู่ในโลกไหน ปรากฏว่าเขาไม่ได้สนใจข่าวในทีวีแล้ว เขาก็จะไปเสพอะไรของเขาเองตามที่เขาต้องการ เพราะฉะนั้นในขณะที่เรารับผิดชอบหน้าจอทีวีอยู่หรือหน้าจอออนไลน์ เราก็ต้องทำหน้าที่ให้เต็มที่ เพื่อปกป้องรักษาสังคมให้ข่าวสารที่เราคิดว่ามันมีประโยชน์ มันได้อยู่บนโปรดักชั่นที่สนุก บนการเล่าเรื่องที่ไม่น่าเบื่อ ฉะนั้นโจทย์เหล่านี้มันก็เป็นแรงผลักดันที่ทำให้อย่างที่บอกว่า ทำไมกองบก.เราถึงคิดเยอะมาก และต้องหนักแน่นมากๆต้องมีคำตอบที่ชัดมากในใจเราว่าเราทำข่าวทุกวันเพื่อที่วันหนึ่งเราอยากเห็นสังคมเป็นยังไง

ข่าวที่ดีสำหรับพีพีทีวีเอชดี 36 คืออะไร

คือข่าวที่มีแง่มุมและคนไปคิดต่อเป็นประกาย เหมือนกับเราเป็นแสงสว่าง อันนี้ที่ผมคิดนะ ซึ่งความจริงทำได้หรือไม่ ผมก็ไม่รู้ ต้องถามคนดูข่าวเรา  คือเหมือนเราเป็นตะเกียง  อาจจะไม่ได้ดูเราตลอด แต่ได้ยินผมพูดสัก 5 นาที ได้ดูข่าวสักชิ้นหนึ่งแล้วเขารู้สึกว่ามันต้องอย่างนี้สิ เบื้องหลังเป็นอย่างนี้นี่เอง ประเด็นมันอยู่ตรงนี้ คือมันเป็นแสงแวบๆ ที่เขาจะคิดต่อได้ แค่นี้ผมก็ภูมิใจแล้ว ทุกวันนี้ไม่ได้หวังให้คนต้องเชื่อเรา  ไม่มีทางที่ใครจะเป็นเจ้าของความคิดใครได้อยู่แล้ว แต่ว่าเขาเห็นว่ามันมีมุมมองแบบนี้นะ เรื่องที่เราเห็น   เราเห็นปล้นทองทุกวันเลย เราไปคุยกับนักเศรษฐศาสตร์มา แล้วเขาบอก GPD ตก โรงรับจำนำก็คนเต็มเลยนะ คนมันไม่มีทางออก เพราะโควิด-19 นะ ฉะนั้นถ้าเสียงเหล่านี้มันสะท้อนไปถึงภาครัฐ ถ้าเขาเห็นสิ่งที่เรานำเสนอ รัฐบาลก็ต้องคิดว่าเฮ้ย ทำไมมันปล้นทองทุกวัน ผู้คนเขาไหวมั้ย  ไม่ใช่ว่าคนเขาอยากปล้นทองแต่มันไม่มีจะกิน  อย่างเด็กม.6 ที่ไปชิงทอง โดนหลอกหมดตัว การหลอกลวงมิจฉาชีพเกิดเยอะขึ้นเพราะอะไร เพราะคนมันหน้ามืดกันหมด คนถึงหลอกง่ายไง เพราะว่าคนไม่ได้มีความหวังกับการทำมาหากินโดยขั้นตอนปกติ 

พีพีทีวี ทำข่าวก็พยายามสะท้อนปัญหาให้สังคมได้  ถามว่าวันนี้ทำไมเรื่องข่าวหวยเป็นข่าวใหญ่ สมัยผมเป็นนักข่าวใหม่ๆ เมื่อ 10 กว่าปีก่อน  ข่าวหวยนี่เป็นข่าวเฉพาะตลาดแม่ค้า นักธุรกิจเขาไม่พูดเรื่องหวยกันนะ หวยเป็นข่าวที่คุยอยู่ในตลาดสด แต่วันนี้ดูสิ เป็นเรื่องตั้งแต่เศรษฐี นักธุรกิจ ชนชั้นกลาง พนักงานออฟฟิศ เรียกว่าทุกๆ ชนชั้นก็ว่าได้ มันเกิดอะไรขึ้น ปรากฏการณ์เล็กๆ น้อยๆ ที่เราเห็นในแต่ละวัน มันกำลังอธิบายว่า ถ้าสังคมเป็นคน มันป่วยขนาดไหน คนมันยากจนลงแค่ไหน  เพราะฉะนั้นกองบรรณาธิการพีพีทีวี ด้านหนึ่งก็เหมือนเอาปรอทจิ้มสังคมในแต่ละวันว่าวันนี้สังคมเราปกติดีมั้ย ปวดหัวตัวร้อน หรือเปล่า 

5
สังคมเปลี่ยน แต่เราต้องมั่นคง

การทำข่าวในบรรยากาศที่ความคิดเห็นแตกต่างกันมันยากไหม

ผมว่ายากในการประคองความรู้สึกตัวเองนะ ประคองใจของคนทำงาน นักข่าว กองบรรณาธิการ  ความยากที่สุดอยู่ตรงนี้เลย เพราะว่าเวลาสังคมมันขัดแย้งมากๆ มันเหวี่ยงแรง แล้วอย่างผมเป็น บรรณาธิการ หรือนักข่าว ทุกคนก็มีรัก ชอบ มีแอบเชียร์ แต่เมื่อไหร่ที่เราเขียนข่าว ถ่ายภาพ หรืออ่านข่าว เราต้องตัดเรื่องพวกนี้ออกไปให้ได้ นี่คือเรื่องยากสุด เพราะทุกคนก็รู้สึกว่าฉันก็อยากเชียร์ฝ่ายนี้ ทุกคนคิดว่าฝ่ายตัวเองถูกต้องหมด แต่คนเป็นร้อยคนนะในกองบรรณาธิการ บางทีผมต้องสั่งให้บรรณาธิการทุกคนนั่งอ่านข่าวทุกคน ทุกบรรทัด เพราะบางทีข่าวรายงานมาจากแต่ละสนามข่าว บางทีมันเอียงไปเอียงมา บรรณาธิการต้องจัดสมดุลข่าวให้ได้ก่อนออกอากาศ   ผมก็ต้องบอกกับทุกคนว่ายิ่งเราตัดอารมณ์ความรู้สึกส่วนตัวไปได้มากเท่าไหร่ แพลตฟอร์มเราจะน่าเชื่อถือมากที่สุด

ควรเล่าข่าวการเมืองแบบไหนในยุคนี้

จริงๆ การลงความเห็นในข่าวไม่ใช่เรื่องง่ายนะ โดยเฉพาะข่าวการเมือง  ยิ่งสังคมขัดแย้งแตกแยกกันมากๆ ความสลับซับซ้อนสูงมาก ผมนี่จริงๆ ไม่ค่อยกล้าด้วยซ้ำที่จะใส่ความเห็นลงไปในข่าว อันนี้เป็นความยากของผู้ประกาศข่าว โดยเฉพาะรุ่นใหม่ๆ  ผมคิดว่าการเล่าข่าวที่ใส่ความเห็นเป็นเรื่องยากนะ คือมันเป็นเรื่องต้องใช้ประสบการณ์ ต้องใช้ข้อมูลเยอะมาก กว่าจะประมวลออกมาเป็นความเห็นที่ถูกต้อง แม่นยำ มันไม่ได้ง่ายๆนะ   คือคุณมีความเห็นกับเพื่อนฝูงได้ในการคุยกัน แต่ถ้าออกสู่สาธารณะ ความเห็นมันสำคัญมาก  เพราะมันชี้นำสังคม  การออกความเห็น มันต้องมาจากการตกผลึกในเรื่องนั้นๆ แล้วต้องตกผลึกจากทุกแง่มุม ผมนี่ถ้ามันไม่ชัดเจนจริงๆ จะหลีกเลี่ยงที่จะแสดงความเห็น   

ผมก็ไม่ค่อยกล้าให้ความเห็นนะ จริงๆผมเป็นนักข่าวภาคสนามมาเกือบ 10 ปี  ผมกินนอนอยู่ในม็อบเสื้อเหลืองผมอยู่ 186 วัน ผมอยู่เสื้อแดงอีก 200 กว่าวัน ผมอยู่ทุกสี เช่าโรงแรมอยู่ในม็อบ ทำข่าวแบบบ้านช่องไม่กลับ   ผมถึงคิดว่าการให้ความเห็นทางการเมืองยากมาก เพราะในความเป็นจริงมันซับซ้อนมาก และความเห็นมันหลากหลายมาก วันนี้ผมว่ายาก คุณดูสิวันนี้ใครที่จะเป็นคนกลางที่จะหลอมรวมคนทุกฝ่าย เด็กก็ไม่ฟังผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ก็เกลียดคม็อบเด็ก เพราะฉะนั้นผมเห็นว่าถ้ายิ่งคุณเข้าใจในสังคม ผมคิดว่าผมเข้าใจเพราะผมเห็นความขัดแย้งในรอบ 10 ปี ผมคิดว่าผมเป็นนักข่าวคนหนึ่งที่เห็นมันตั้งแต่ ถ้าเป็นต้นไม้ ก็เป็นหน่อเล็กๆ วันแรกที่มันมีการเริ่มก่อตัวขึ้นมา จนวันนี้มันสิบกว่าปีแล้ว ผมถึงเห็นว่าต้นไม้เหล่านี้มันโตมาก มันแตกกิ่งก้านสาขาความขัดแย้งไปไกลมาก เพราะฉะนั้นการที่นักข่าวหรือผู้ประกาศข่าวจะออกความเห็นทางการเมือง แล้วได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายในสังคม มันเป็นเรื่องที่ยากมากๆ  

แล้วสื่อควรเป็นแบบไหนในภาวะแบบนี้

ทีวีหรือสื่อทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มให้เต็มที่ ให้เสรีภาพเต็มที่ในการนำเสนอเท่านั้นเอง ผมคิดว่านี่คือขั้นพื้นฐานมากๆ ของการทำหน้าที่สื่อมวลชน ให้เสรีภาพในการเปิดพื้นที่ให้ได้คุยกันอย่างเต็มที่ นี่ล่ะคือสังคมมันไม่มีแล้วที่ว่าแบบว่าขี่ม้าขาวมาแล้วทุกคนหยุดฟังทางนี้ มันไม่มีแล้ว แล้วนักข่าว ผู้ประกาศโดยเฉพาะรุ่นใหม่ๆ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะฟันธงทางการเมือง ว่าฝั่งไหนถูกฝั่งไหนผิด  แล้วคิดว่าที่ฟันไปมันถูกต้องหรือเปล่า เพราะวันนี้ความถูกต้องมันมีนิยามหลากหลายมาก ทุกคนมีความถูกต้องในใจหมด ทุกฝ่าย ทุกขั้ว ผมคิดว่าดีที่สุดคือสื่อมวลชนทำหน้าที่ตัวเองให้ตรงไปตรงมาที่สุด เปิดพื้นที่ให้กว้างที่สุด แค่นี้ก็ยากแล้ว  

6
ก้าวต่อไปของข่าว PPTV HD 36

ทำไมถึงตัดสินใจปรับผังรายการข่าวในปี 2565

ผมคิดว่าด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนอย่างรุนแรงและความต้องการที่เราจะเข้าถึงกลุ่มคนที่หลากหลายมากขึ้น คิดว่าตอนนี้เราก็ปรับองคาพยพเยอะมากในกองบรรณาธิการ กองบรรณาธิการเราก็มีหลายรุ่น แล้วปีหน้าจะเป็นปีที่เราจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง เราจะหลอมกองบรรณาธิการออนไลน์ กองบรรณาธิการข่าวเป็นหนึ่งเดียวกันแล้ว ตอนนี้เริ่มมีการเซ็ตตำแหน่งที่มาเชื่อมต่อกันเลย ตำแหน่งที่เกาะเกี่ยวกับทั้งหมด แต่เดิมมันยังแยกเป็นออนไลน์ ทีวี แล้วส่งคนมาประชุมแลกข่าวสารไม่พอละ ปีหน้าเรากำลังเซ็ตโครงสร้างหลอมเป็นองคาพยพเดียวกัน เพราะฉะนั้นคอนเทนต์ข่าวที่เราคิด Content is king คอนเทนต์เป็นเบอร์หนึ่ง คอนเทนต์ที่ดียังเป็นพระเอก แต่คอนเทนต์ที่สามารถไปสู่ทุกแพลตฟอร์มได้และมีพละกำลังในการทำงาน ก็จะเป็นโจทย์ที่เราวางไว้ครับ 

เราจะทำได้ตามแนวทางที่วางไว้ไหม

เราก็ตั้งใจว่าจะมีนักข่าวในเมืองสำคัญทั่วโลก ก็ปักธงไว้แล้วล่ะ ตอนนี้ก็มีอเมริกา ไต้หวัน โอซาก้า เยอรมนี เกาหลีใต้ หรือทวีปใหญ่ๆ ที่เคยทำ เราเพิ่งเปิดรับสมัครผู้สื่อข่าวจากต่างประเทศ ก็มีคนสนใจส่งอีเมลส่งมาสมัครเยอะเลย คนเขาไปเรียนหนังสือหรือคนที่อยู่ในประเทศต่างๆ เขามีความต้องการที่จะรายงานข่าว เราทำเครือข่ายนักข่าวอาสาอันหนึ่ง เครือข่ายผู้สื่อข่าวต่างแดนอันหนึ่ง ปรากฏว่าเราเจอเพชรที่อยู่ในภูมิภาคต่างๆ เต็มเลย เพราะเราคิดว่าพีพีทีวีเดิมมีแค่นักข่าวส่วนกลาง เรามีสตริงเกอร์ แต่เรามีผู้ประสานงานในแต่ละภาค พอเราเปิดพื้นที่มา เราก็เซอร์ไพรส์นะ นักข่าวอาสามีคนสนใจและหน่วยก้านดีด้วยนะ ไปถ่ายสัมภาษณ์พิเศษ ก็ทำให้หน้าจอเรามันหลากหลาย กว้างดี คือมันเหมือนเป็นภารกิจในการเชื่อมโยงแต่ละจุด เรามีนักข่าวอาสากันทั่วประเทศ มีนักข่าวต่างประเทศที่ทักษะดี หน่วยก้านดี ข้อมูลก็ลึกในนั้น ถ้าสามารถเชื่อมโยงข้อมูลทั้งหมดได้  เรามีความฝันว่าอยากให้เป็นสำนักข่าวระดับสากล  ซึ่งตอนนี้เราเริ่มชัดมากว่าพีพีทีวีปีหน้ามันจะมีมาตรฐานที่สูงขึ้น เรามีหน่วยงาน Fact check ที่ตรวจสอบกลั่นกรองข่าว  คือนึกถึงสำนักข่าวต่างประเทศ แล้วเราพยายามจะไปตรงนั้น และปีหน้าเป็นจุดเริ่มต้น แต่อาจจะใช้เวลา 2-4 ปี เราจะมีเครือข่ายข่าวที่กว้างขวางทั้งนอกและในประเทศ เราฝันอยากให้พีพีทีวีเป็นแบบสำนักข่าวอย่าง CNN เราจะมีทีมข่าวทั่วโลก 


บทสัมภาษณ์โดย กฤตนัน ดิษฐบรรจง
ถ่ายภาพโดย ธเนศ แสงทองศรีกมล