fbpx

**บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์ The Modernist เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2564**

ถ้าหากเราพูดถึงเก๋-กมลพร วรกุล ในยุคปัจจุบันนี้ เราก็คงนึกถึงการเป็นผู้ประกาศข่าวมือทองที่ต้องคู่กับเคนโด้-เกรียงไกรมาศ พจนสุนทร ที่ไม่ว่าจะไปเป็นผู้ประกาศข่าวที่ช่องไหน ทุกคนต่างก็นึกถึงและพูดถึงเป็นอย่างมาก ทั้งการทำข่าวเชิงลึก สะท้อนแนวคิดของประชาชน และเตือนภัยประชาชนอยู่เสมอๆ แม้กระทั่งการเล่าข่าวที่สนุกสนาน จนทำให้ช่วงหนึ่งเขาทั้งสองคนถึงจุดโด่งดังมากที่สุด ถึงขนาดได้นั่งแท่น “รองบรรณาธิการบริหาร” เลยก็ว่าได้!

แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าจากคนที่เป็นผู้ประกาศข่าวในบ้านพระอาทิตย์ จนขอลาออกในปีที่ 16 มาเดินตามทางฝันคู่กับเคนโด้ และจนกระทั่งเขาทั้งสองคนได้ออกมาแยกย้ายไปทำตามความฝันของแต่ละคน เคนโด้รุกธุรกิจเต็มตัวและไปเป็นผู้ประกาศข่าวที่ PPTV HD 36 ส่วนเก๋ก็ตัดสินใจอยู่นานกว่าจะมาที่อมรินทร์ทีวี โดยมีเคนโด้เป็นที่ปรึกษาด้วย กลับไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิดไว้ นอกจากผู้ใหญ่ทางช่องอมรินทร์จะตามจีบเธอถึง 3 รอบ! ยังมีอีกหลายเรื่องราวที่เธอไม่เคยพูดที่ไหน

และใช่ครับ เขามาพูดให้กับส่องสื่อแล้ว ณ วันนี้ และที่นี่!

1
บ้านพระอาทิตย์ จุดเริ่มต้นของความฝัน

เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการทำงานข่าวหน่อย

มันต้องย้อนไปเกือบ 20 ปีเลยนะ (หัวเราะ) ตอนนั้นพี่เรียนอยู่ที่คณะนิเทศศาสตร์ ภาคอินเตอร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ แต่ตอนนั้นเรียนประชาสัมพันธ์ แล้วพี่ก็ไปได้งานที่ มีเดียออฟมีเดียส์ ปีแรก ตอนทำงาน ด้วยลักษณะงานเราต้องไปหานักข่าว แล้วพี่ก็รู้สึกว่าทำไมนักข่าวสมัยก่อนเขาไม่ธรรมดาขนาดนี้ ขอลงข่าวหนึ่งตัว ทำไมมันยากจัง พอทำประชาสัมพันธ์ที่นั่นได้ 11 เดือน ระหว่างนั้นเพื่อนพี่ชวนไปเรียน Gen-X เป็นโรงเรียนที่สอนเกี่ยวกับดีเจ ผู้ประกาศ นักข่าว นักร้อง พี่เรียนเอกพีอาร์ก็จริง แต่โทคือสื่อสารมวลชนซึ่งได้มีโอกาสเขียนข่าวบ้าง พี่ก็ไปเรียนพากย์เสียง ด้วยความอยากเป็นนักพากย์ แล้วพอเรียนการเป็นนักพากย์จบปุ๊บ มันมีโปรโมชั่นให้เรียนต่อคอร์สผู้ประกาศข่าว แบบสมัครปุ๊บได้ลดราคา ฉันก็เรียน ตอนเรียน คนมาสอนคือพี่กิตติ สิงหาปัด, พี่แอน จินดารัตน์ และพี่ติ่ง-มัลลิกา บุญมีตระกูล ก็มีมาสอน 3 คน สอนให้เราอ่านข่าว อ่านจริงจังมากเลยนะ

มีอยู่วันหนึ่งเพื่อนพี่ชวนมาบอกว่า ทางผู้จัดการทำโครงการร่วมกับช่อง 11 (สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย) แล้วเป็น News1 ด้วย ไปสมัครเป็นเพื่อนหน่อย พี่ก็ไปสมัคร แล้วตอนนั้นเขารับสมัครนักข่าว เขามีคำถามนึงว่าคุณรู้สึกยังไงกับนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ซึ่งตอนนั้นคือคุณทักษิณ ชินวัตร เขาเข้าไปเป็นนายกฯ ปีแรกๆ พี่ก็เขียนไป เสร็จปุ๊บ ผอ.ช่องมานั่งอ่าน พี่กำลังจะลงไปแล้ว ตอนนั้นทดสอบนักข่าวเสร็จแล้วด้วย เปิดหน้า มีไมค์ แล้วคือพี่กำลังจะลงกลับบ้านแล้ว ขับรถออกไปแล้ว เขาบอกให้ขับรถกลับมาขอทดสอบผู้ประกาศหน่อย เขาถามว่าเคยอ่านไหม พี่ก็บอกว่าเคยเรียนคอร์สนี้ เขาก็เรียกไป พี่ก็ไปวันนั้นเลย ได้ทดลองนั่งครั้งแรก มีโต๊ะ กล้องพร้อม เครือผู้จัดการสมัยนั้นคืออลังการมาก ห้องส่งถึงจะเป็นแค่ 11 News1 แต่ดูอลังการ ทันสมัยที่สุดแล้ว

ตอนนั้น คุณสนธิ ลิ้มทองกุลเป็นคนทุ่มทุนมาก ก็อ่านไป อ่านเสร็จก็กลับ ไม่ได้คิดอะไรด้วยนะ เพราะว่ากะจะไปเรียนต่อเมืองนอกที่อเมริกา เพราะแม่อยู่ที่นั่น กลับบ้านไปค่ำวันนั้น ผอ.ช่องโทรมาถามว่าลาออกได้เมื่อไหร่ อยากได้ผู้ประกาศเลย มันจะมีล็อตผู้ประกาศที่เรียกว่าล็อตตู้ปลา คือห้องผู้ประกาศจะเป็นห้องกระจก แล้วคุณสนธิเป็นคนดูและเคี่ยวเอง คำว่าผู้ประกาศข่าว เราก็จำภาพแค่ว่าสวยๆ แต่งหน้า นั่งอ่านข่าวมีสคริปต์ ก็เราเรียนมาแค่นั้น ปรากฏว่าพอไปเจอคนที่ดูแลเราคนแรกชื่อสนธิ ลิ้มทองกุล เรามีกันทั้งหมด 14 คน คัดไปคัดมา เคี่ยวกันเหมือนบ้านนี้เลย เหลือ 7 คน คุณสนธิจะดูเอง ผู้ประกาศของคุณสนธิคือทำทุกอย่างแม้กระทั่งถ่าย สมัยก่อนจะมีกล้องแฮนดี้แคม ผู้ประกาศจะไป พี่ลงสามจังหวัดชายแดนใต้ พี่ไปพร้อมไมค์ พร้อมตัวพี่ และกล้องแฮนดี้แคม ใครถ่ายให้ ก็เป็นพี่ทหารชายแดน ฝากเขาถือ นี่คือสิ่งที่คุณสนธิสอนมาตั้งแต่วันแรกที่พี่ทำงานที่นั่น

พี่ทำงานที่ผู้จัดการมา 15 ปี ทำตั้งแต่อัด ถ่าย เขียน ทำสกู๊ป เป็นพิธีกร ผู้ดำเนินรายการ ตัดต่อ ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านม็อบ อาชญากรรม การเมือง พี่อยู่สายอาชญากรรมการเมืองเพราะพี่ไม่ได้เก่งภาษาอังกฤษ ก็ไม่ได้อยู่สายต่างประเทศ ก็อยู่สัก 14-15 ปี จนกระทั่งปีที่ 15 เจอพี่เคนโด้ (เกรียงไกรมาศ พจนสุนทร) เขามาทำเป็นเรื่องที่ผู้จัดการ ตอนนั้นผู้จัดการเริ่มผันตัวจากทีวี เป็นเคเบิล เฉพาะเว็บไซต์ และปรับมาเป็นออนไลน์ทั้งหมด พี่ก็มาเจอพี่เขา ณ เวลานั้น คือรายการเป็นเรื่อง เป็นรายการที่ธีมเป็นออนไลน์ ความเป็นออนไลน์มันฉีกทุกอย่าง และฉีกอยู่บนฐานของบ้านพระอาทิตย์ ขอให้คุณทำเต็มที่แล้วเดี๋ยวจะมีทนายความให้ ทำไปเถอะ (หัวเราะ) พี่เคนโด้เขาไม่เคยเจอแบบนี้ เพราะไปทุกที่มันต้องมีเส้นบางๆ คั่นไว้

ตอนนั้นคุณสนธิอยู่ในเรือนจำแล้วด้วย เขาบอกทำไปเถอะ ถ้าเป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชน ก็น่าจะเห็นเรื่องเราค่อนข้างแรงตอนนั้น เพราะเราทำออนไลน์ ทำอะไรก็ได้ เช่นการโทรไปดักซื้อยาทำแท้งในรายการ นี่เป็นประเด็นที่ทำให้ได้รู้จัก drama-addict จ่าพิชิตโทรมาบอกว่ากล้าทำได้ไง เราก็งงว่าเขาไม่ทำกันเหรอ ฉันแค่โทรไปซื้อเองนะ แล้วเขาก็ถามว่าอายุครรภ์กี่เดือน นี่ก็ต้องแกล้งเป็นภรรยาพี่เคนโด้ จนกระทั่งไปถึงว่าคงไปเข้าตาผู้ใหญ่หลายช่อง ก็เริ่มมีการทาบทามกันเกิดขึ้น ตอนนั้นก็มีประมาณ 3-4 ช่อง จนกระทั่งพี่อั๋น ภูวนาท คุนผลิน โทรมา ตอนนั้นแกเป็นผอ. GMM News ของช่อง GMM25 พี่อั๋นก็โทรมาบอกว่าขอคุยด้วย แต่ตอนนั้นพี่ไม่ได้ออกเต็มตัวนะคะ ตอนนั้นพี่อ่านทั้งสองช่อง เพราะว่าก็แค่รับอ่าน รับทำงาน แล้วก็ดูคอนเทนต์ ตอนที่รับอ่านก็วิ่งสองที่ ก็ยังทำนี่อยู่

แต่ช่วงเวลานั้นอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างของเครือผู้จัดการ ด้วยคุณสนธิอยู่ในเรือนจำด้วย แล้วแกรมมี่เขาอยากจะทำโครงสร้างใหม่ เราก็รู้สึกว่าเราโตเต็มที่แล้วในตำแหน่งของผู้ประกาศข่าว จริงๆ พี่ว่ามันก็คือความเสี่ยงในการไปรับตำแหน่งรองบรรณาธิการบริหาร คือถัดจากพี่อั๋นลงมา ก็จะเป็นพี่เคนโด้ พี่ แล้วก็พี่ต๊ะ พิภู พุ่มแก้วกล้า ทำงานบริหาร พี่ก็อยากรู้ว่าทีวีข้างนอกเขาทำงานกันยังไง เรตติ้งเรารู้ แต่เราไม่รู้วิธีการวัดเรตติ้ง พี่ก็เลยได้คุยกับลูกชายคุณสนธิและปรึกษากับคุณสนธิด้วยแล้วว่าอยากลองขอออกไปเติบโตข้างนอกในปีที่ 16 ของพี่ พอไปทำก็เจออากู๋ (ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม) มาดูเองทุกเรื่องจริงๆ พี่ประชุมชั้น 35 คืองานส่วนใหญ่มีแต่ประชุม แล้วทุกอย่างมันประเดประดังเยอะมาก ในปีที่อยู่แกรมมี่ปีที่ 2 จะเข้าปีที่ 3 มันเยอะจนรู้สึกว่าพี่หลุดโฟกัสไปจากข่าว คือเราโตมากับคนข่าว เราอ่านข่าว เราจับประเด็น เราวางประเด็น เราบอกน้อง เราบอกให้น้องไปตามประเด็นนี้ ไปเจาะประเด็นนี้ หน้าที่ของเรารู้สึกแบบนั้น เราสนุกกับมัน แต่ว่าพอเราขึ้นไปเป็นผู้บริหาร เราต้องรู้แล้วว่าข่าวนี้ขายได้ไหม นี่คือวิธีการทำงานของช่องใหญ่ๆ

2
ในวันที่กลายเป็นไวรัล

แล้วประเด็นเมจิกสกินมันเกิดขึ้นได้อย่างไร

เรื่องนี้มันมาจากวันที่พี่เข้าไปทำงานกันได้ 5 วัน พี่เคนโด้จะเป็นคนมุ่งมั่นมากว่าการเข้าไปที่ไหนก็แล้วแต่ภายใน 1-3 เดือน ถ้าเราทำดีคือดี ถ้าเราทำไม่ดี เราควรจะพิจารณาตัวเอง พี่ก็บังเอิญมีหลักคิดเดียวกันพอดี เราก็คุยกันแล้ว วันนั้นอยู่ดีๆ มันก็จะมีน้องเข้ามาที่นี่ เขารู้อยู่แล้วว่าถ้ามีเรื่องร้องเรียน ให้มาที่นี่ ตอนนั้นผู้จัดการก็ทำเรื่องนี้ด้วย น้องคนหนึ่งก็เอาเอกสารหลักฐานมาว่า พี่ ของที่ขายกันอยู่ มีโฆษณาเยอะๆ มันปลอมนะ ส่วนผสมมันผิดนะ น้องก็เอาถุงมาใหญ่มาก ก็เอามาให้พวกพี่ดู เราสนิทกับผู้เชี่ยวชาญ ก็ส่งให้แกดู อาจารย์บอกส่งแป้งอะไรมา เรายังย้อนบอกไปว่า อาจารย์ นี่มันกลูตาไธโอนนะ (หัวเราะ) อาจารย์บอกว่าแป้งชัดๆ พี่ก็สงสัยว่าอะไรวะ ก็คุยกับพี่เคนโด้สักพักหนึ่ง

แต่ความผิดพลาดก็คือว่าไม่ได้ปรึกษาพี่ฉอด (สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา) ก่อน ไปถามพี่อั๋น พี่อั๋นบอกประชาชนเดือดร้อน ต้องเล่นเลย เราก็เห็นประชาชนเดือดร้อนไม่ได้เหมือนกัน ก็ลุย วันนั้นที่มันกลายเป็นเรื่องขึ้นมา ข้อแรกก็คือเขาเป็นสปอนเซอร์ละครของช่องพอดี (หัวเราะ) แล้วการตลาดก็ไม่มาพูดอะไรกับเรา แล้วที่เราตรวจแล้วว่ามันผิดจริงๆ อย.ก็ไม่มี เราเห็นอยู่แล้ว คือพี่ไม่ได้มาจากสายบริหาร ถ้าพี่อยู่บริหารก็อาจจะมาคุยกันว่าน้อง นี่มันลูกค้าหรือเปล่า แต่เรามาจากคอนเทนต์ เราเข้าแกรมมี่อาทิตย์แรก แล้วตอนแรกที่ออกอากาศเราเอาถังขยะขึ้นมาตั้งจากที่เห็นอยู่ข้างล่าง อันนี้ไม่ดี ฉีก อันนี้ให้มันเป็นภาพแล้วเดี๋ยวทำต่อวันจันทร์ ช่างภาพพูดว่าถ้าพี่เอาถังขยะไว้ข้างล่าง ผมต้องซูมขึ้นซูมลง ไม่งั้นมันไม่เห็น เราก็ไม่เป็นไร ง่ายๆ เอาวางข้างบนเลย แล้วเดี๋ยวอาทิตย์หน้ามาดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น พอทำอันนั้นเสร็จปุ๊บ เขาโทรไปจี้การตลาด เผลอๆ โทรหาพี่ฉอดเลยด้วย เพราะเขาเป็นลูกค้ารายใหญ่ของละครเรื่องหนึ่ง แล้วละครเรื่องนั้นก็ประสบความสำเร็จมากตอนนั้น

สรุปพี่อั๋นโทรมาหาพี่คืนนั้นเลย เขาบอกว่าทำกับสินค้าของเขาแบบนี้ มีถังขยะมาตั้งแบบนี้ พี่ร้องไห้หนักมากเลยนะวันนั้น จริงๆ เราเปิดใจไปแล้วรอบนึง พี่ร้องไห้กับพี่เคนโด้แล้วพูดว่ากลับบ้านเรา คือกลับบ้านพระอาทิตย์ กลับบ้านเรากันถ้านายทุนพูดแบบนี้ สิ่งที่เราทำ พี่รู้สึกไม่ได้ผิด แค่เขาไม่โอเค เพราะตอนนั้นเขาเป็นลูกค้า ตอนนั้นพี่คิดแค่นั้นเลย พี่อั๋นโทรหาพี่เป็นร้อยสาย พี่ไม่รับสายเลยนะ บอกกับพี่เคนโด้ว่าวันจันทร์พี่ไม่มาแล้ว พี่ไม่ทำ ไม่แคร์ พี่กลับบ้านพี่ได้ พี่กลับบ้านพระอาทิตย์ของพี่ พี่ไม่เอาแล้ว พี่อั๋นก็น่ารัก ไปเอาเบอร์มาจากใครไม่รู้โทรมา เขาบอกมาว่าเก๋ใจเย็นๆ นะ พี่ขอคุยอะไรด้วยหน่อย พี่อั๋นหนูไม่ได้ผิดนะ ไปเช็กอย.สิ ส่วนผสมเขาก็ผิด จะเอามาดูไหม พี่เขาก็บอกว่า เก๋ใจเย็นๆ นะ เรื่องมันซีเรียสมาก เพราะเป็นลูกค้าด้วย เราก็ แล้วยังไง หนูก็ไม่ได้ทำผิดนี่ เราเป็นสื่อ เราต้องพูดความจริงสิ ตอนนั้นเสียงแข็งแรงมาก แต่พี่อั๋นบอกว่าตอนนี้เรายังพิสูจน์ไม่ได้ทั้งหมดนะ แล้วก็มีดาราเต็มไปหมดเลย พี่อั๋นจะขอคุยด้วย เขาจะขับรถมาหาพี่ที่บ้านเลยนะ คือขนาดพี่อั๋นน่ะ แล้วพี่รู้สึกว่าเราเป็นเด็กน้อยหอยกาบมาก

พี่อั๋นเป็นผู้ใหญ่ที่พี่รักมากด้วย ก็ลองคุยกับพี่อั๋น ก็คุยๆ ไป ก็รู้ว่าพี่ฉอดไม่ได้โกรธนะ พี่ฉอดรู้แล้ว ได้อธิบายพี่ฉอดแล้ว เพียงแต่ว่าตอนนี้ทันยังพิสูจน์ไม่ได้ แล้วมันเชื่อมโยงหลายคน แล้วงบประมาณมันเยอะมาก พี่อั๋นก็เลยบอกว่าวันจันทร์ขอประชุมเช้า เก๋มาก่อน ปรากฏพี่ฉอดไม่ว่าอะไรสักคำ โต๊ะประชุมผู้บริหารเต็มเลย พี่ก็นั่งตัวเล็กๆ ตรงมุมหนึ่งกับพี่เคนโด้ นั่งจับมือเลยแบบว่าเตรียมตัวจะไปแล้วนะ เราจะกลับบ้านพระอาทิตย์ ตอนนั้นคิดในหัวว่าถ้าไปสู้ที่บ้านเรา ไม่มีทางสู้ได้เลยนะ เพราะเรามีหลักฐานที่แน่นมาก เราแค่อยู่ผิดที่ คิดแล้วน้ำตาไหล แล้วพี่ฉอดก็บอกว่า เก๋ไม่ได้ผิดนะ พี่เห็นข้อมูลหมดแล้วล่ะ แต่ว่ามันผิดจังหวะ แล้วเราเองต่างหากที่เป็นคนเปิดประตูบ้านให้เขาเข้ามาโจมตีได้ มันผิดมารยาท เขาเข้ามาโจมตีตรงที่เราเอาถังขยะมาตั้งทั้งที่สินค้าเขาฉีกแล้วทิ้งไป ทั้งที่ตัวเองยังพิสูจน์ไม่ได้ ไม่ได้ปูข้อเท็จจริงก่อน แต่ข้อเท็จจริงปูแล้วว่าไม่มีอย. แล้วก็มันจะต้องไปเคลียร์กับเขา

ตอนแรกพี่ก็ไม่ยอมไง พี่รู้สึกว่าพี่ไม่ผิด ทำไมต้องเจอหน้ามัน พี่อั๋นบอกเดี๋ยวพี่คุยเอง เก๋ไม่ต้องพูด คิดดูสิ พี่ฉอดเป็นคนบอกไม่เป็นไร เดี๋ยวพี่ลงไปเอง เวลานั้นมันคือเจ้านายปกป้องลูกน้องมาก มันเลยเป็นสาเหตุว่าทำไมพี่รักพี่อั๋นกับพี่ฉอดมาก ณ วันนั้นเขาทำให้เราเห็นว่า ยังไงก็แล้วแต่ คือลูกน้องต้องไม่เจ็บ แม้ว่าเราจะเป็นคนหาเรื่องเข้าบ้าน เขาเองเขาอยู่ของเขาดีๆ แล้ววันนั้นก็เป็นวันที่พี่รู้สึกว่า โอเค ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น พี่รับผิดชอบเอง เพราะว่าพี่ฉอด พี่อั๋นก็ไม่ได้ผิด แต่พอตอนไปคุย พี่อั๋นกางปีกปกป้องเลยนะ แล้วมันจะให้ขอโทษหน้าจอ ยกมือขอโทษหน้าจอ พี่ไม่ทำไง พี่เป็นนักข่าวมาสิบกว่าปี แล้วเขาผิดน่ะ พี่ก็ไม่ยอม ศักดิ์ศรีแรงมากตอนนั้น พี่อั๋นพูดกับพี่ว่า ไม่เป็นไรเก๋ เดี๋ยวพี่ทำเอง เก๋ไม่ต้องอ่าน มีแต่เคนโด้กับพี่ เพราะว่าพี่เคนโด้บอกพี่ว่า ไม่เป็นไร เราเรียนบางกอกการละครมา (หัวเราะ) กูทำได้ เราก็บ้าเหรอ แล้วศักดิ์ศรีล่ะ เขาก็บอกว่าไม่เป็นไร นึกว่าเล่นละครพี่ฉอดอยู่ก็แล้วกัน (หัวเราะ) นึกออกไหม ผู้ใหญ่ระดับพี่อั๋น ก็ระดับเดียวกับพี่พุทธน่ะ เขาจะมาขอโทษทำไม ก็เพราะเรานี่ล่ะเป็นคนทำ

พี่ก็มา แต่จะพูดแค่คำว่าขอโทษแต่ไม่ยกมือไหว้มัน พี่ไม่บอม กล้องก็ตัดพี่เคนโด้ แล้วกล้องก็น่ารัก ตัดเข้าพี่เคนโด้ยกมือไหว้ เรานั่งอย่างเดียว ศักดิ์ศรีมันแรง เราไม่ผิดน่ะ เราเป็นสื่อ เราโตมาแบบนี้ เราโตมาจากบ้านพระอาทิตย์น่ะ เรื่องอะไรต้องยอม เรื่องราวมันก็เกิดขึ้นมาแบบนั้นจนทำให้พี่รู้สึกว่าช่อง 25 เป็นที่ที่น่ารัก พี่อั๋น พี่ฉอด เป็นผู้บริหาร เจ้านายที่ดีมาก แล้วพี่ก็อยู่อย่างนั้นล่ะมาประมาณ 2 ปี จนกระทั่งมีข่าวพี่ฉอดออกไป แล้วช่วงนั้นตอนนั้นพี่ขึ้นมาทำตำแหน่งบริหารหลังจากพี่ฉอดออกไปแล้ว อากู๋ก็อยากให้เข้ามาดูข่าวอย่างจริงจัง ก็อย่างที่บอกว่าเข้าไปแล้วมันไม่ใช่เราน่ะ พี่ว่าพี่ไม่เหมาะกับการบริหาร ให้พี่ทำแบบตอนนี้ พี่แฮปปี้กว่า

พออยู่ไปพักหนึ่ง มันก็มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหลายอย่าง ตอนนั้นพี่ถา (สถาพร พานิชรักษาพงศ์) เข้ามาดู พี่ถาก็เป็นพี่ที่น่ารักจริงๆ แต่พี่ถาก็จะมีสไตล์ในการทำที่แตกต่างกัน เราก็เลยรู้สึกว่าเราไม่ค่อยเข้ากับสไตล์ข่าวของช่อง 25 แต่ทุกครั้งที่พี่รู้สึกว่าไม่เหมาะกับที่ไหน พี่จะพิจารณาตัวเองนะ แล้วก็จะคุยกับพี่เคนโด้ ตอนนั้นพี่เคนโด้ก็รู้สึกเหมือนกัน เราก็เลยตัดสินใจออกมา มีข่าวถึงขนาดว่ามีคนดึงตัวไปที่อื่น แต่จริงๆ ฉันตกงานอยู่สองเดือนนะ มีคนไปบอกว่าเดี๋ยวไปโผล่ที่อื่นแน่เลย แต่ฉันไม่ได้ทำงานอยู่สองเดือนนะ แล้วพี่เชื่อว่าถ้ามันมีที่ของเราแล้วเหมาะกับเรา มันจะมาหาและมันจะดึงดูดซึ่งกันและกันเอง แต่พี่จะไม่ฝืนอยู่ในที่ที่พี่ไม่สามารถรู้สึกว่ามันไม่ใช่ที่ของเราได้

3
จากตกงาน สู่การทำออนไลน์

ช่วงว่างงานสองเดือนทำอะไร

พี่เคนโด้ชวนทำเพจข่าวด่วนออนไลน์ เพจนี้มีคนติดตามอยู่ระดับหนึ่งแล้ว แต่มันว่างอยู่ แล้วเจ้าของเพจชวนไปทำ เราก็ไป ทำไม่ยั้งเลย สไตล์ออนไลน์แบบที่เคยทำอยู่แล้ว เข้าทาง ทำอะไรก็ได้ ทนายรอ ตอนนั้นสนิทกับทนายด้วย ทำไปเลย ถ้ามันถูกต้อง เดี๋ยวพี่ดูเอง ก็ทำหลายอย่างเป็นไวรัลมากๆ อาจจะโชคดีที่พวกพี่เวลารู้จักคนเยอะ ก็เหมือนเป็นเพื่อนกัน ก็ไปเจอพี่เต้ พระราม 7 (มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์) ไวรัลหนักๆ ก็เป็นพี่เต้ เขาไม่ให้สัมภาษณ์ที่ไหนเลย อยู่ดีๆ มันก็ เอาสิ อยากคุยกับเคนโด้กับเก๋อยู่แล้ว เพจข่าวด่วนออนไลน์ก็เลยเป็นที่รู้จัก ณ วันนั้นตั้งแต่เต้มา พอหลังจากเต้มา มันก็กลายเป็นเดี๋ยวมีปารีณา ไกรคุปต์ เดี๋ยวมีนักการเมืองคนอื่นมา ก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน ติดต่อมาเองด้วยนะ ไม่ได้ชวน เราก็โอเค อยากมาก็มาสิ ก็คุยไป แต่ถามว่าเงินได้จากตรงนั้นไหม ทำเพจแรกๆ มันไม่ได้ตังค์หรอก เรารู้กันอยู่แล้ว แต่เราก็ทำเอาสนุก ไม่ให้มันเหงา

ระหว่างที่ทำเพจ TNN16 โทรมาชวนว่ามาทำด้วยกันไหม คือ TNN16 เขาอยากทำออนไลน์ เราก็เติบโตมาสายออนไลน์ค่อนข้างแข็งแรง พี่กับพี่เคนโด้ก็เลยเข้าไปเป็นผู้ดำเนินรายการด้วย ดูออนไลน์ด้วย ถ้าสังเกตดีๆ TNN16 มีการเปลี่ยนแปลงด้านออนไลน์ค่อนข้างเยอะ มี TNN 16 Live มีจัดใหญ่ใส่ไม่ยั้งซึ่งก็งอกมาจากข่าวไม่ยั้งนั่นล่ะ แล้วก็มี TNN ประเด็นใหญ่ เป็นรายการเดียวที่ผู้ใหญ่อนุญาตให้ทำได้แตกต่างกับรายการอื่น คือ TNN16 ทั้งช่องจะเกี่ยวกับเศรษฐกิจ ทันโลก เราก็คือเล่าข่าวนอกกระแสเขาพอสมควร แต่ว่า ณ ตอนนั้นปัญหาที่เราเจอคือจะมีการพูดถึงว่าเราเป็นกลุ่มตลาดล่างหรือต่างจังหวัด พอเราเข้าไปจริงๆ ก็กลายเป็นว่าคนในหัวเมืองใหญ่ (กรุงเทพฯ) ดูเยอะ แปลกไหม ก็งงเหมือนกัน

แล้วเวลาพี่ไปข้างนอก พี่ก็จะเจอคนเป็นหมอ อาจารย์มาดู พี่ก็สงสัยว่าทำไมนะ แล้วเขาบอกว่าในความเล่นตลกของเรา แต่ข้อมูลเราเยอะ แน่น เราก็เลยรู้สึกว่า Content is king จริงๆ ด้วย เพราะจะให้เราตลกโปกฮา เราไม่เคยทิ้งเรื่องคอนเทนต์เลยนะ แล้วเราไม่เคยพลาด คือพี่เป็นคนแบบนี้อยู่แล้วไง ไม่รู้เป็นคนไม่มั่นใจในคนอื่นรึเปล่านะ อาจจะเป็นนิสัยนึง เราก็ต้องตรวจสอบก่อนออกอากาศ ก็จะเป็นแบบนั้นเสมอในทุกที่ที่พี่ทำงาน

พอมันทำมาระยะหนึ่ง ประกอบกับที่บอกล่ะว่าสักปีก่อนถึงปลายปี ต่างคนต่างมีเส้นทางเป็นของตนเอง เลยตัดสินใจแยกกัน คือพี่ยังรักสายข่าวอยู่มากๆ ยังอ่านหนังสือพิมพ์อยู่ทุกวัน ทุกเช้าเสมอ บางคนชอบถามว่าทำไมพี่อ่านหนังสือพิมพ์ล่ะ บ่ายไม่มีเหรอ หนังสือพิมพ์แต่ละเล่มถ้าไปเปิดดูจะมีข่าวสัมภาษณ์พิเศษ เหมือนเราก็จะมีสัมภาษณ์พิเศษของเรา หนังสือพิมพ์เช่นกัน ยิ่งเขาอยู่มานานๆ อย่างนี้ แต่ละฉบับมีคอนเทนต์พิเศษของตัวเอง อ่านดีๆ จะเจอ แล้วนั่นเป็นข้อมูลที่เราต่อยอดได้ หรือถ้าเราไม่ได้ทำอะไร มันก็เป็นข้อมูลอยู่ในตัว

พี่โชคดีที่พี่โตมากับการที่เริ่มแรกเป็นนักข่าว อาจารย์คนแรกคืออาจารย์สนธิ คุณสนธิพูดกับพี่เสมอว่า เราไม่รู้หรอกวันไหนเราต้องใช้ เราต้องพร้อมเสมอ แล้วข่าวมันไหลทุกวันๆ และมีหลายครั้งที่มันช่วยชีวิตพี่ได้นะ หลายครั้งที่พี่อ่านไปแล้ว พี่รู้อยู่แล้วในหัว มันจะอยู่ในตัวพี่ ถ้าไปเจอผู้ใหญ่สักคนถามเรื่องนี้ ก็ตอบได้เฉยเลย หรือจะเป็นดวงก็ไม่รู้ เพราะเราเห็นมาแล้วไง ฉะนั้นปีนี้เป็นปีที่ 19 จะเข้าปีที่ 20 ของวงการข่าว พี่ก็เป็นอย่างนี้มาเสมอ เพราะถ้าพี่ไม่เป็นอย่างนี้ พี่จะตามเขาไม่ทัน พอถูกปลูกฝังว่าต้องอ่านหนังสือ ก็กลายเป็นคนติดการอ่านหนังสือแบบอ่านไว้ก่อน ชอบไม่ชอบช่างมัน เราก็เลยรู้สึกดีนะ การถูกเคี่ยวกรำขนาดนี้ก็ทำให้เราเติบโตมาเป็นแบบนี้

4
ในวันที่เข้าบ้านอรุณอมรินทร์

เพราะอะไรถึงตัดสินใจไปอมรินทร์ทีวี

พี่เป็นคนเชื่อว่า ถ้าเราเหมาะกับที่ไหน เราจะทำได้เต็มประสิทธิภาพ และประสิทธิภาพสูงสุดของเรากับเขา มันจะออกมาทางผลงาน และในประสิทธิภาพนั้นต้องมีความสุข ไม่มีความสุขจะทำไปทำไมล่ะ ชีวิตมันอยู่มานานแล้ว เรื่องเงินเป็นเรื่องสุดท้ายที่พี่คุย ถ้ามันอยู่ในระดับที่ชีวิตพี่อยู่ได้ พี่ก็โอเค เพราะว่าผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการของพี่ก็คือแม่ และแม่พร้อมให้พี่มีชีวิตอย่างมีความสุข เพราะฉะนั้นพี่ไม่แคร์เรื่องพวกนี้เลยจริงๆ แต่ถ้าได้เยอะก็ดี (หัวเราะ) ทุกครั้งที่เราจะย้าย เราจะตัดสินใจร่วมกัน แม้กระทั่งการมาที่นี่ พี่เคนโด้รับรู้ตลอด พี่จะปรึกษาเหมือนเพื่อนสนิท วันที่มีผู้ใหญ่โทรมาหาพี่ วางสายจากผู้ใหญ่คนนั้น สายที่สองคือพี่เคนโด้ เที่ยงคืนครึ่ง เขาก็ถามว่าแล้วเรารู้สึกยังไง อยากไปไหม เนื้อหางานที่ต้องทำคืออะไร เราก็เล่าไป ถามกลับว่าเธอว่ายังไง เขาก็บอกว่ามันจะหนักไปไหม แก่แล้วนะ (หัวเราะ) เธอจะไหวเหรอ เธอไม่เหมือนตอนเด็กๆ ที่จะทำงานควงกะ เธอต้องนอน 8 ชั่วโมงนะ เราก็คุยกันเป็นอาทิตย์กว่าจะลงตัว

ถามว่าทำไมพี่ถึงมาที่นี่ นอกจากเป็นการตัดสินใจร่วมกัน ซึ่งมีพี่เคนโด้อยู่ในการตัดสินใจนั้นด้วย ไม่เคยห่างไปเลย แม้ทุกวันนี้ยังถามอยู่ว่าพี่เหนื่อยไหม ทำงานเป็นยังไงบ้าง เป็นกำลังใจให้นะ รักนะ สู้ๆ เหมือนเดิมปกติ จริงๆ ก่อนจะไปแกรมมี่ อมรินทร์ติดต่อมาแล้วหนึ่งครั้ง จบจากแกรมมี่ไป กำลังย้ายช่อง ตกงานสองเดือน เขาก็ติดต่อมาอีกหนึ่งครั้ง แล้วพอครั้งนี้ครั้งที่สาม ขออนุญาตบอกอย่างนี้ดีกว่าว่า ตอนที่พี่วางสายไป พี่รู้สึกว่าถ้าคราวนี้กูไม่มา เขาคงไม่ง้อแล้วล่ะ (หัวเราะ) เธอเป็นใคร ทำไมเล่นตัวอย่างนี้ ซึ่งทั้งสามครั้งคือคนคนเดียวกันที่ติดต่อมา พี่รู้สึกว่าเขาต้องเห็นอะไรบางอย่างในตัวเราแล้ว ตั้งแต่เรายังเป็นเด็กน้อยยังไม่ออกจากบ้านพระอาทิตย์ การติดต่อก่อนไปแกรมมี่คือพี่อยู่บ้านพระอาทิตย์นะ แล้วพอพี่ไปอยู่แกรมมี่ พี่ว่าด้วยมารยาท เขาน่ารักมาก มันไม่ควรที่จะดึงจากแกรมมี่มา พอเห็นพี่ตกงานอยู่ เขาก็ถามว่าไปไหน อยากมาไหม มีการนัดคุยกันแล้วรอบหนึ่ง แต่จังหวะนั้นเองอาจจะเป็นช่วงที่พี่ไปพักแล้วอยู่เมืองนอกนานด้วย ไปอยู่กับแม่ที่อเมริกา นานด้วย พี่เคนโด้ดีลงานทั้งหมด

กลับมาอีกที พี่เคนโด้บอก เราคุยกับ TNN แล้วนะ เราก็โอเค ตอนนั้นยังไม่ได้มีการคุยรายละเอียดกัน พี่ให้อำนาจในการตัดสินใจกับพี่เคนโด้ เพราะว่าถ้าพี่เคนโด้สบายใจ พี่ทำงานที่ไหนก็สบายใจด้วย ตอนนั้นเราตัดสินใจแบบนั้นร่วมกันจริงๆ พี่ก็ยังไม่ได้คุยรายละเอียดกับที่นี่ด้วย ก็แค่รู้สึกว่าดีนะ พี่เขาอุตส่าห์เป็นห่วง โทรมาถามเรา พอมาครั้งที่สาม มันเป็นจังหวะ อย่างที่บอกล่ะว่าปีที่ผ่านมาเป็นปีที่พี่ก็ยังสนุกกับประเด็นใหญ่อยู่นะ แต่ว่าโฟกัสงานของพี่กับพี่เคนโด้มันมีเส้นทางแตกต่างกันพอสมควร และแน่นอน TNN เป็นสถานีข่าวที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารทางเศรษฐกิจ แล้วพี่เองก็รู้สึกสนับสนุนทางนั้นไม่ได้เต็มที่มากพอ แต่ผู้ใหญ่ TNN น่ารักมาก เขาก็ยังให้พี่ทำสไตล์ประเด็นใหญ่อยู่ แต่ว่าพอมันเป็นประเด็นใหญ่แบบที่เราไม่ได้เป็นข่าวเจาะก็จะรู้สึกว่าพี่อาจจะหงอยๆ ไป พี่ก็ได้มีการหารือกับผู้ใหญ่ TNN เขาก็ถามว่าอยากทำอะไร พี่ก็บอกว่าอยากทำแบบนี้นะ แต่เขาก็บอกว่าแนวทางของช่องไม่เหมือนกัน ก็เลยตัดสินใจออกมา

ตอนมา พี่พูดตรงๆ ว่า ก็ไม่คิดว่าจะมาอยู่ทุบโต๊ะข่าวด้วยนะ คิดว่ามาอยู่ข่าวปกติ ก็พี่เขาไม่ได้บอกว่าให้มาอยู่ทุบโต๊ะข่าวนะ (หัวเราะ) พี่เขาไม่ได้พูดประโยคนี้เลย แล้ววันนั้นที่ตกลงกัน เขาเขียนว่าทุบโต๊ะข่าว 1 แล้วคือเราออกมาได้หนึ่งสัปดาห์แล้วก็มาคุยรายละเอียด เขียนสัญญาว่าต้องมาเริ่มงานนี้นะ ทดลองงานก่อน เราก็โอเคค่ะ พอเอกสารสัญญามา เห็นทุบโต๊ะข่าว 1 คืออะไร เราลาออกมาแล้วจะบอกเขายังไง

ทำไมถึงเกิดความรู้สึกแบบนั้น

พี่อึ้งก่อนเลย คือพี่มองว่าพี่พุทธเป็นคนเก่งมากและไวมาก เราในฐานะคนนอกก็คิดว่าข่าวไปไวมากเลย แล้วเราดูก็รู้สึกว่าไปเอามุมนี้มาได้ไง อมรินทร์ไปเอามุมนี้มาจากไหนวะ แล้วเวลาพี่พุทธไป เหมือนไปตีปิงปองน่ะ พี่ยังรู้สึกว่าคนที่อยู่กับพี่พุทธแล้วแมตช์มากๆ คือฝ้าย (ธนญญ์นภสสร์ น้อยเวียง) กับไอซ์ (สารวัตร กิจพานิช) เหมือนตีปิงปองแล้วก็ตีกลับ คือก่อนเราจะย้าย เราต้องดูก่อน พี่พยายามไล่ดูข่าว พี่แอบคิดเลยนะว่าพี่แมตช์กับที่นี่ยังวะ หาช่องลงให้ตัวเอง

แต่แล้วพอวันเซ็น พี่ถึงบอกว่าพี่อึ้ง แต่พี่ก็ดูมอนิเตอร์ทั้งวันเลย แล้วก็นั่งดูทุบโต๊ะข่าว โอ้โห ข่าวมันลึกว่ะ ไวด้วย เราก็คิดว่านั่งตรงนี้ยากแน่ๆ เลย ตอนเห็นว่าให้มาอ่านที่ทุบโต๊ะข่าว ยังคิดเลยว่าอย่าบอกนะว่าให้แปะไว้ที่นี่ก่อน เซ็นไว้ก่อนเหรอ จะยกหูไปถามพี่เขาก็กระไรอยู่ เรื่องมันเดินมาถึงนี่แล้ว เขาบอกเซ็นก่อนค่ะ แล้วเดี๋ยวจะได้ตรวจสุขภาพ จะได้เริ่มงาน พี่เขารีบ แล้วพี่ก็เซ็นไป แล้วมาเริ่มงานอาทิตย์แรก พี่เขาบอกว่าเก๋อ่านทุบโต๊ะ 1 กับพี่พุทธ (พุทธอภิวรรณ องค์พระบารมี) นะวันนี้ พี่ก็หน้าเหวอๆ หน่อย ตอนแรกก็คิดว่าสัก 15 วันหรือเดือนหนึ่ง จะได้เรียนรู้ พอเจอคำถามว่า แล้วรออะไรล่ะ ก็จะให้พูดอะไรล่ะ (หัวเราะ)

พี่เข้าประชุมข่าวอาทิตย์แรก พี่กลับบ้าน พี่ร้องไห้นะ ไม่ใช่ว่าเครียดนะ อาทิตย์แรกพี่ไม่เจอความเครียด แต่เขาไวมาก ภาพที่คุณผู้ชมเห็นคุณพุทธทางหน้าจอยังถือว่าช้ากว่าบนโต๊ะข่าว คือเราเห็นเขาเล่าเร็วไปเร็ว เวลาประชุมข่าวคือภาพนี้อยู่ไหน ต้องเช็กลิสต์ทุกวัน ต้องนั่งเช็กภาพข่าวทุกวัน ดูฟีดทุกวัน ดูทุกอย่างให้มันเข้ามาในหัว แม้จะจำหมดไม่ได้ แต่ต้องมีโครงไว้ในหัว แล้วไม่ใช่พี่คนเดียว แต่มันคือประชุมข่าวทั้งแผนก อาทิตย์แรกที่พี่เข้ามาเหมือนเด็กเอ๋อน่ะ แล้วพี่พุทธจะถามอะไรสั้นๆ ทุกอย่างต้องไว แล้วอาทิตย์แรกพี่นั่งพิจารณาตัวเองเลยนะว่าถ้าไปวันนี้ ยกกล่องกลับบ้าน คงไม่มีอะไรมั้ง (หัวเราะ) เพราะเขาเขียนไว้ว่าจะพ้นโปร 119 วัน

สุดท้ายพี่ก็พยายามปรับตัว ใช้เวลาประมาณเกือบสองอาทิตย์ อาทิตย์ที่สองก็อ่านแล้ว วันนั้นจำได้ว่าบนโต๊ะมีข่าวอยู่ 79 หัวเรื่อง แต่ในแต่ละหัวเรื่องจะมีน้องหามา 8 มุม บางข่าวน้องอาจจะตามได้แค่มุมเดียว หรือบางข่าวมาสองมุม แต่แน่นอนใน 79 เรื่อง ต้องมีเยอะๆ แล้วมันวางเต็มไปหมดเลย ที่เห็นโต๊ะกว้างๆ ไม่ใช่อะไรนะ กระดาษวางเต็มทั้งนั้น ของพี่จะวางเต็มไปหมด แต่ของพี่พุทธจะมีเป็นตั้งๆ เพราะเขาจะรู้อยู่แล้ว. เขาเป็นคนเก่งมาก จำข่าว จำภาพได้ เรานับถือเขาตรงนี้จริงๆนะ เรารู้สึกว่านี่คือทุบโต๊ะข่าวจริงๆ และเขาคือตัวหลักของรายการนี้จริงๆ นี่ยังสงสัยจนถึงวันนี้ว่าพี่เขาจำได้ยังไง พี่น่ะเรียงเต็มไปหมดเลยวันแรก มะงุมมะงาหรามาก หาอะไรก็ไม่เจอ เชื่อไหมว่าพี่ไม่คิดด้วยว่าพี่พุทธจะพูดว่ามาวันแรกก็อย่างนี้ จะงงหน่อยนะ

พี่ถึงบอกว่าคุณพุทธอภิวรรณเป็นคนเก่ง จริงใจและจริงจังกับงานมาก และในขณะเดียวกันก็เป็นคนใจดี สำหรับพี่นะ แต่ถ้าเรื่องงานก็ต้องยอมรับว่าจริงจังจริงๆ ชนิดที่เรียกว่าเป๊ะ ซึ่งที่ต้องเป๊ะเพราะว่าคนดูเยอะ ต้องรับผิดชอบคนดู ถ้าเราผิด มันก็จะทำให้คนดูเข้าใจผิด และมันเป็นเรื่องความเดือดร้อน คนทำงานข่าวต้องรับผิดชอบ ทั้งสคริปต์ ทั้งหน้าจอ ทั้งคนดู ทั้งสังคม เพราะฉะนั้นพี่ว่าแบบนี้พี่รู้สึกว่ามันใช่ เราอยากลองความท้าทายนี้ใหม่อีกรอบหนึ่งหลังจากที่เราเคยเจอเมื่อตอนเราเด็กๆ สมัยเป็นนักข่าวใหม่ๆ พี่พุทธเขามีสไตล์การทำงานที่ทำให้พี่นึกย้อนไปถึงสมัยพี่ทำข่าวตอนเด็กๆ ช่วงที่ทำกับคุณสนธิ เป็นแบบนั้นเลย เพียงแต่อาจจะมีสไตล์ที่แตกต่างกัน

ในการทำงานทุบโต๊ะข่าว แบกรับอะไรไว้บ้าง

ต้องบอกอย่างนี้ว่าทุกๆ คนที่อยู่ในทุบโต๊ะข่าวทั้ง 1 (ก่อนข่าวในพระราชสำนัก) และ 2 (หลังข่าวในพระราชสำนัก) ผู้ดำเนินรายการหรือผู้ประกาศจะไม่ใช่ผู้ประกาศอย่างเดียว แต่จะเป็นคนทำคอนเทนต์ด้วย ซึ่งแปลว่าเราต้องรับผิดชอบในการคิดประเด็นต่อยอด แล้วก็ต้องสงสัยตลอดเวลา ในข่าวนั้นมีความจริงอีกด้านไหม ต้องเอามาคลี่ให้คนดูได้ดู เพราะฉะนั้นคนที่ทำทุบโต๊ะข่าวจะต้องไปดูว่าภาพข่าวนี้คืออะไร ผู้เสียหายหรือคนก่อเหตุพูดว่าอะไร แล้วในประโยคนั้นมันมีอะไรต่อ พี่เข้างาน 11.00 น. พี่จะต้องเช็กภาพข่าวทั้งหมดให้เสร็จก่อน 14.00 น. เมื่อเสร็จแล้วก็ต้องมานั่งดูว่าหมายโยกได้ไหม ซึ่งอันนั้นเป็นน้องไอซ์เป็นคนดูเรื่องหมาย เขาเป็นเด็กที่เก่งมาก พอเสร็จแล้วปั๊บก็จะไปตามขยี้ต่อ แล้วเตรียมประชุม 16.30 น. ตอนนั้นล่ะจะเรียกว่า Newsroom ของแท้ เหมือนในหนังเลย ที่ผู้จัดการก็เข้าประชุมรวมกัน เป็นแบบนี้ทุกวันจริงๆ

พอมาทำที่อมรินทร์ เราได้ใช้ประสบการณ์ที่ผ่านมามาพัฒนาการนำเสนอข่าวที่นี่อย่างไรบ้าง

มันก็ทำให้เราแตกยอดของมุมไปได้นะ ด้วยความที่เราอาจจะทำข่าวมาหลายที่ มันก็ทำให้เรารู้ว่าใน 1 ข่าว เราไปไหนได้บ้าง เช่น เราอาจจะไม่ได้ความจริงทั้งหมด แต่กล้องวงจรปิดต้องมี ชาวบ้านต้องเห็นสิ เพื่อนของเพื่อนต้องรู้ เพื่อนสนิทต้องรู้ แล้วถามว่าเด็กๆ เดี๋ยวนี้เขาคิดอย่างนี้ได้ไหม พี่ว่านักข่าวเดี๋ยวนี้เขาก็เก่งนะ โดยเฉพาะนักข่าวสื่อออนไลน์ พี่ว่าวิธีการคิดแบบนี้ทำให้เราแตกยอด แตกประเด็นได้เยอะในหนึ่งข่าว มันทำให้เราต้องช่างสังเกต ขี้สงสัย และในความขี้สงสัยทำให้เราต่อยอดได้และขยายมุมให้มันมากขึ้น คือมันต้องดูลึกมากกว่าแค่ว่าเดี๋ยวนี้เป็นเทรนด์ใหม่ อมรินทร์จะเป็นแบบนั้น พี่ตัดสินใจมาอมรินทร์เพราะอมรินทร์เป็นแบบนี้ พี่ว่าข่าวเขาลึกดี รอบด้านด้วย

5
เปิดมุมข่าวกับกมลพร วรกุล

ข่าวที่ดีควรมีลักษณะอย่างไร

ในมุมมองพี่คือต้องครบทุกมุม มีคนชอบบอกว่า โคนันชอบบอกว่าความจริงมีหนึ่งเดียวใช่ไหม ความจริงจากใครล่ะ ความจริงจากมุมไหนล่ะ คือมันพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ได้บางเรื่อง แต่บางเรื่องของข่าวมันไม่ได้นะ ทุกคนมีมุมของความจริง มีแว่นตาของตัวเองที่ไม่เหมือนกัน เพียงแต่ว่าเราเป็นคนนอก เราเป็นคนดู เราเป็นคนนำเสนอ คนนำเสนอจะทำยังไงให้คนดูรู้ว่ามีตั้งหลายมุม ที่เขาชอบบอกว่าคนดูใช้วิจารณญาณ ถ้าเราคลี่แค่มุมเดียว คนดูก็ใช้วิจารณญาณแค่มุมเดียว แต่ถ้าเราคลี่ทุกมุม คุณก็ตัดสินใจได้ เราจะไปบังคับให้ทุกคนเชื่อแบบเดียวกันไม่ได้

ทุกคนมีความจริงของตัวเอง เรามีหน้าที่คลี่ทั้งหมด แล้วที่เหลือก็แล้วแต่คุณละ คุณจะเชื่อมุมไหน ประสบการณ์ชีวิตสอนคุณมายังไง คุณก็จะเชื่อแบบนั้นล่ะ แล้วคุณก็จะดัดแปลงใช้แบบนั้นในแบบของคุณ เพราะมันคือสิทธิขั้นพื้นฐานในการตัดสินใจว่าจะเชื่อพี่ไหม พี่ให้ดูแล้วว่ามันมีทั้งหมด 5 มุมที่พี่หาได้นะ พี่ไม่ใช่เทวดา เราหาได้เท่านี้ก็สุดๆ ในชีวิตเราแล้ว 5 มุม ก็เลือกเอาสิว่าจะเชื่อมุมไหน แล้วใช้วิจารณญาณเอามันไปพิจารณาอย่างไร พี่มีหน้าที่แค่นี้ นี่คือเป็นมุมที่มาจากการเป็นนักข่าวของพี่นะ พี่ไม่ค่อยเชื่อโคนันเท่าไร (หัวเราะ)

เชื่อในคำกล่าวที่ว่า นักข่าวคือฐานันดรที่ 4 ไหม

พี่ไม่เชื่อค่ะ พี่โดนคดีตั้งเยอะ ไม่เห็นจะฐานันดรที่สี่ตรงไหนเลย พี่ไม่เคยได้รับการดูแลที่มันดีตรงไหนเลย เราอาจจะได้สิทธิ์ แต่มันคือสิทธิ์ขั้นพื้นฐานในการเข้าไปพูดคุยหรือหาข้อมูลกับแหล่งข่าว เพราะถ้าเราไม่มีสิทธิ์นั้น โอเค ตำรวจอาจจะไม่คุยกับชาวบ้าน ตำรวจอาจจะคุยกับเรา เพราะเราเป็นตัวแทน อันนี้อาจจะเป็นมุมมองฐานันดรที่สี่นะ แต่ในเรื่องของการทำงาน พี่ไม่เชื่อเลย เพราะว่านักข่าวโดนฟ้องก่อน

แล้วเราก็พูดเสมอว่าการทำหน้าที่ของสื่อมันไม่ควรเอาไปปนกับคดีหมิ่นประมาทบุคคล เมื่อไหร่จะเลิกสักทีกฎหมายนี้ เพราะเราต้องขยายความจริง อย่างที่บอกว่าความจริงมีหลายด้าน แน่นอนว่าพอมันขยาย 5 มุม มันก็คือต้องกระทบคน 5 คน การกระทบคน 5 คน คนบางคนก็รักเราและเกลียดเรา กฎหมายหมิ่นประมาทคือกฎหมายที่ฟ้องไปก่อนแล้วไปสู้กันทีหลัง กว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ เราที่ต้องสู้กับ 5 มุมนี่กลับตายก่อนนะ ซึ่งเรื่องนี้ถ้าใครอยู่วงการสื่อก็จะรู้อยู่แล้วว่าเราเคยพยายามที่จะขอแก้ไขกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลกับหมิ่นประมาทสื่อแยกกัน ส่วนใหญ่หมิ่นประมาทบุคคล พอเข้าไปในชั้นศาล มันจะถูกยก แต่กว่าจะถึงตอนนั้นเราและเขาก็ต้องเสียเวลา ลางาน ขึ้นศาล ไม่สนุกหรอก

แสดงว่าพอมานั่งทุบโต๊ะข่าว คือต้องให้พื้นที่ทั้งคู่ ไม่ได้บอกว่าต้องเป็นกลาง

ใช่ พี่ว่าทุกๆ ที่ตอนนี้นะ ประสบการณ์ก่อนหน้านี้ที่เรื่องของสื่อเลือกข้าง คงเคยได้ยินมา มันทำให้ทุกๆ ที่น่าจะรู้ว่าตัวเองควรที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตัวเองอย่างไร สังเกตสิ ทุกคนจะพยายามเสนอทุกมุม ทุกคนจะมีความระมัดระวังเป็นของตัวเอง ยกเว้นช่องที่เขาจริงจังไปแล้ว เราก็ไม่ว่ากัน แต่ว่าพอเราอยู่ในสนามที่คนดูเยอะๆ ก็ย้อนกลับไปในสิ่งที่พี่บอก ทุกคนมีชุดความจริงที่แตกต่างกันไป เพราะฉะนั้นเรามีหน้าที่แค่คลี่ในทุกมุมให้ได้มากที่สุด แล้วก็ขึ้นอยู่กับคนดูจริงๆ คนดูยังคงสำคัญมากสำหรับการทำทีวีทุกวันนี้ แล้วก็ต้องดูด้วยว่ากลุ่มผู้ชมหลักของเราคืออะไร หลักเขาชอบดูแบบไหน แล้วจุดยืนของช่องอยู่ตรงไหน แล้วเราก็นำเสนอประเด็นหลักตรงนั้น แต่ประเด็นอื่นก็ต้องไม่ตก ดูดีๆ เลยในแต่ละช่องเขาจะชัดเจนมาก เด็กนิเทศศาสตร์ควรศึกษาเรื่องนี้เลย

การเป็นคนข่าวมีราคาที่ต้องจ่ายคืออะไรบ้าง

ถ้าเรื่องการทำงาน ก็คือเวลา เพราะเราจะไม่มีเวลา สมัยก่อนตอนพี่เด็กๆ พี่ก็ทำงานแบบนี้ และมีช่วงหนึ่งที่จุดยืนเป็นผู้บริหาร ก็จะหยุดเสาร์-อาทิตย์ไปเมืองนอกปีละ 2 ครั้ง แต่พอเรากลับมาทำงานข่าวแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งที่นี่ทำงานข่าว 100 เปอร์เซ็นต์ไม่ว่าจะเป็นตัวเล็กตัวใหญ่ เวลาส่วนตัวนี่ล่ะที่ต้องจ่าย แล้วพี่ไม่เคยเปิดบ้านนะ เต็มที่อาจจะคุยกันข้างนอก คนในครอบครัวพี่ส่วนใหญ่ พี่มักไม่ค่อยโพสต์หรือแท็ก เพราะพี่รู้สึกว่าชีวิตส่วนตัวบางทีเราไม่รู้หรอกว่าเราทำให้ใครรักบ้างหรือเกลียดบ้างในการทำงานแบบนี้ ฉะนั้นชีวิตส่วนตัว เวลาส่วนตัวคือราคาที่ต้องจ่ายสำหรับพี่ ยิ่งตอนนี้ออกอากาศ 7 วันรวด แล้วจะเอาเวลาที่ไหนไปหาสามี (หัวเราะ)

ถ้าวันนี้กมลพร วรกุลไม่ได้เป็นผู้ประกาศข่าวหรือคนข่าวเลย คิดว่าวันนี้จะทำอะไรอยู่

เป็นเจ้าของร้านอาหารอยู่เมืองนอกค่ะ บ้านพี่ทำธุรกิจร้านอาหาร จะบอกว่าเป็นนักแสดงของพี่ฉอดได้ไหม (หัวเราะ) คุณแม่พี่ทำธุรกิจร้านอาหารอยู่เมืองนอก เรียกว่าครอบครัวพี่ทำธุรกิจร้านอาหารทั้งหมดเลย ปัจจุบันที่เมืองไทยก็มี แม่พี่ชอบใช้คำว่าแม่ครัว แต่จริงๆ แม่พี่เป็นเชฟ น้องสาวแม่พี่ก็เป็นเชฟ น้องสาวพี่คนหนึ่งเป็นเชฟขนม อีกคนเป็นเชฟอาหาร มีพี่คนเดียวเป็นนักกินอย่างเดียว ทำไม่เป็น ในเมื่อบ้านพี่ทำร้านอาหาร พี่ก็คงทำธุรกิจอาหารล่ะ แต่เขาบอกว่าคนทำร้านอาหาร มันจะหนักกว่านี้อีกนะ มันจะไม่มีเวลามากกว่านี้อีกนะ คนทำร้านอาหารมันจะเครียด มันคือเวลาที่ต้องจ่ายเหมือนกัน อย่าไปคิดว่าจะได้หยุดวันไหน วันไหนหายไป ร้านเจ๊งเลย

6
20 ปีในวงการข่าวกับบทเรียนที่ควรค่ากับการนำไปใช้

เรียนรู้อะไรจากการทำงานมา 20 ปี

ชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ ต้องยอมรับให้ได้กับการเปลี่ยนแปลง และต้องมีความสุขกับมันด้วยนะ บางคนทนทุกข์กับการเปลี่ยนแปลง พี่เข้าใจนะว่าปัจจัยคนเราไม่เหมือนกัน แต่พี่รู้สึกว่าชีวิตมันสั้นน่ะ พอมันเกิดการเปลี่ยนแปลง ต้องรับให้ได้ ถ้ารับไม่ได้จะยิ่งทุกข์ เพราะฉะนั้นสำหรับพี่ ถ้าเมื่อไหร่เปลี่ยน หรืออยากเปลี่ยนด้วยตัวเอง พี่ไม่ค่อยทุกข์หรอก คือมันอาจจะมีบางคนบอกว่าก็พูดได้สิ บ้านมีตังค์ แต่ถ้าเราตกงาน มันก็ไม่มีเงิน ตัวเราก็แค่ใช้เงินให้น้อยลง อยู่สมถะขึ้น ถ้ามันต้องตกงานก็แค่นั้นเอง พี่ว่าชีวิตมันสั้นจริงๆ นะ เดี๋ยวก็ตายละ

ที่บ้านสนับสนุนพี่อย่างไรบ้าง

ที่บ้านเป็นกำลังใจสำคัญมากๆ คือถ้าเราเหนื่อยมากๆ เราไม่ต้องทำอะไรเลย หมายถึงว่าทางกาย เขาก็ดูแลเราทุกอย่าง มีหน้าที่แต่งตัวออกมาทำงาน นอกนั้นที่บ้านดูแลหมด แม่พูดเสมอว่าไม่เป็นไร เกิดอะไรขึ้นแม่เลี้ยงได้ เหมือนตอนที่แม่สนับสนุนให้อยู่กับคุณสนธิ แม่เลี้ยงได้ เหนื่อยเหรอ ทุกข์เหรอ แม่เลี้ยงได้ ตัวเราหาเงินเองได้ เราก็ใช้เงินอีกแบบ แต่แม่เลี้ยง เราก็จะใช้เงินอีกแบบ แม่ชอบพูดประโยคนี้ เพราะฉะนั้นพี่ก็เลยรู้สึกว่า พอที่บ้านเป็นเบื้อหลังที่ดีสำหรับเรา สนับสนุนเรามากๆ โดยเฉพาะคนใกล้ๆ ตัว มันทำให้เราสบายใจที่จะอยู่หรือที่จะไป

แล้วพอมาเป็นผู้ประกาศข่าวตอนนี้แล้วเป็นยังไง

มันกลายเป็นเลือดเนื้อชีวิตเราไปแล้วสำหรับการเป็นนักข่าว เพราะพี่เติบโตมาจากสายนักข่าว และพี่รู้สึกว่าถึงปัจจุบันพี่เป็นนักข่าวที่แค่อ่านข่าวได้ แต่สำหรับพี่พอโตมาด้วยคำว่านักข่าว พี่ก็รู้สึกว่ามันเหมือนอยู่ในสายเลือด ความอยากรู้ของเราจะไม่ธรรมดา แล้วอาชีพนี้สนุก เราได้ทำประโยชน์เยอะ มีอาชีพอะไรที่เราจะได้ทำประโยชน์ขนาดนี้ ได้ช่วยเหลือคนด้วย ได้ทำงานด้วย ได้เงินด้วย มีหลายครั้งที่เราก็รู้สึกว่าเราก็ไม่ได้ช่วยอะไรนะ แต่เขารู้สึกว่าได้ช่วยเขามากๆ แค่เอาความจริงมาตีแผ่เท่านั้นเอง

เมื่อมีคนมาบอกเราว่าข่าวหรือการตีแผ่ความจริงของเราสามารถช่วยชีวิตเขาได้ และขอบคุณเรา รู้สึกอย่างไร

รู้สึกดีนะ รู้สึกมันเป็นรางวัลชีวิต มันคือการได้ช่วยชีวิตคนหนึ่งคนให้เขาได้เงินก้อนสุดท้ายคืนมา ในกรณีเมจิกสกินจะเยอะมาก เพราะเราไปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แล้วเราเจอผัวที่เป็นตำรวจในนั้นล่ะ แล้วภรรยาเขาเอาเงินไป แล้วเขาบอกภรรยากำลังจะเอาเงินไปลงอีก ตอนแรกเขาไม่ให้นะ เขาส่องดูก็รู้ แต่มันห้ามไม่ได้ จนพอมามีข่าว ภรรยาเขาก็ตัดสินใจได้ วันนั้นเขาเดินมาขอบคุณเรา พี่เคนโด้ก็อยู่ด้วย เขาบอกว่านี่โชคดีนะที่เงินก้อนสุดท้ายไม่ออกไปเพราะข่าวนี้ นี่คือตำรวจพูดเลยนะ แค่นี้เราก็รู้สึกดีแล้ว

แล้วในช่วงชีวิตที่เราทำงานมาแบบนี้ เราก็จะได้ยินอย่างนี้เรื่อย ๆ มันเป็นการเติมพลังงานในชีวิต เติมกำลังใจในการทำงานของเรา ทุกงานมันมีความท้อแท้อยู่แล้ว แต่พอเรารู้สึกว่าเราก็ได้ช่วยคน มันก็ดี เหมือนมาอมรินทร์ พี่ก็รู้สึกว่ามันมีช่วงปีนึงที่พี่รู้สึกว่าหมดพลัง มันเป็นวัยด้วยล่ะ ก็เลยรู้สึกว่าเรามาเติมไฟอีกทีดีไหม เพราะว่าพี่ไม่ได้อายุน้อยๆ แล้ว พี่รู้สึกว่าถ้าพี่จะต้องเกษียณ พี่ไม่ได้คิดจะอยู่จนแก่ตายหน้าจอนะ ถ้าพี่จะต้องเกษียณจากอาชีพที่พี่รัก พี่ก็อยากได้ทำอะไรแบบนี้อีกครั้งหนึ่ง ก็เลยตัดสินใจมาที่นี่ แล้วก็ได้ทำอย่างหนักจริงๆ ด้วย

จากประสบการณ์การเป็นนักข่าวมา คิดว่าทักษะสำคัญอะไรบ้างที่สำคัญ

ช่างสังเกต สังเกตเยอะๆ เลยนะ อย่าเพิ่งเชื่อ ให้ร้องเอ๊ะไว้ก่อน บางทีสัมภาษณ์แหล่งข่าว เราอินนะ สงสารจังเลย แต่เอ๊ะไว้ก่อน เอ๊ะกับทุกอย่างเลย คนเป็นนักข่าวจริงๆ จะถูกถามแบบนี้ ก็อาจจะเอ๊ะในใจไว้ แล้วพอหลายปีผ่านไปก็รู้ว่าเป็นความจริงด้วย แล้วเราก็รู้สึกว่าเราโตขึ้นอีกระดับหนึ่ง แค่นี้เอง เพราะว่าตอนนี้ทุกคนก็เป็นนักข่าวได้หมด พยายามดูให้มันรอบด้าน ให้มันครบ


บทสัมภาษณ์โดย กฤตนัน ดิษฐบรรจง
ถ่ายภาพโดย ธเนศ แสงทองศรีกมล