fbpx

วันนี้ (27 มีนาคม 2566) สำนักงาน กสทช. ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในฐานะผู้วิจัย นำโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดประชุมเผยแพร่ผลการศึกษา โครงการศึกษาแนวทางในการพัฒนาหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลกิจการโทรทัศน์ไทยให้สอดคล้องกับระบบนิเวศของอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีการศึกษาแนวทางของโทรทัศน์ และกิจการ OTT (Over The Top) หรือแพลตฟอร์มออนไลน์ในการอยู่รอดและการกำกับดูแลกิจการ รวมถึงข้อเสนอแนะของผู้วิจัยต่อ กสทช. ด้วย ซึ่งมีข้อมูลที่น่าสนใจต่างๆ ที่ส่องสื่อเก็บมาให้อ่านกัน

อีก 5 ปี ทีวีดิจิทัลจะยังอยู่รอด แต่ไม่ใช่ทุกช่องที่จะรอดไปได้

คณะผู้วิจัยยังได้คาดการณ์การอยู่รอดของทีวีดิจิทัลในอีก 5 ปีว่า กลุ่มทีวีดิจิทัลที่จะรอดคือ กลุ่มที่ทำคอนเทนต์ต้นฉบับด้วยตนเอง โดยจะสามารถเชื่อมกับ Streaming และนำคนเทนต์ที่ผลิตไปขายลิขสิทธิ์ ส่วนข่าวจะเป็นต้นทางในการไปอยู่บน Video Sharing เช่น YouTube แทน ซึ่งการกระโดดมาผลิตคอนเทนต์หรือถือลิขสิทธิ์เองจะเป็นทางรอดในช่วงที่เม็ดเงินโฆษณาทีวีดิจิทัลไม่เติบโตแล้ว โดยใช้การพึ่งพาหลากหลายช่องทางแทน เช่น เม็ดเงินโฆษณาจากแพลตฟอร์ หรือการขายลิขสิทธิ์ไปต่างประเทศผ่าน Streaming เป็นต้น

ฉากทัศน์ของโทรทัศน์ไทย ทีวีดั้งเดิมต้นทุนต้องต่ำ

เทรนด์ของต่างประเทศที่ผคณะผู้วิจัยพบ คือ ทีวีแบบดั้งเดิมสามารถทำให้ต้นทุนการกำกับที่ต่ำ ในส่วนของการเปลี่ยนแพลตฟอร์มจากทีวีแบบดั้งเดิมไปสู่ Online / OTT จะเป็นการทิ้งผู้คนบางคนไว้ข้างหลัง เพราะมีค่าใช้จ่ายในการใช้งานแพลตฟอร์ม รวมไปถึงค่าอินเตอร์เน็ต ซึ่งต้องดูการควบคุมค่าใช้จ่ายของ OTT แต่ถ้าจะใช้ควบคู่กับทีวีแบบดั้งเดิมก็ต้องควบคุมค่าใช้จ่ายของแพลตฟอร์ทีวีแบบดั้งเดิม

ลดต้นทุน ลดขั้นตอน เพิ่มรายได้ ทางรอดทีวีดิจิทัล

คณะผู้วิจัยได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับจากงานวิจัยในชิ้นนี้ว่า ทางรอดในโทรทัศน์ดิจิทัลภาคพื้นดิน คือต้องลดต้นทุนค่าธรรมเนียม ลดต้นทุนค่าใบอนุญาต รวมถึงต้องลดขั้นตอนในการขอใบอนุญาต ผังรายการ และการกำกับเนื้อหา แล้วก็ต้องเพิ่มรายได้ลิขสิทธิ์ ปรับ Must Have โฆษณาและ Product Placement แต่ทั้งนี้ผู้กำกับก็ต้องให้ความเสมอภาคในการให้พื้นที่การช่วยขายลิขสิทธิ์ให้เท่าเทียมกัน ในส่วนของเคเบิลทีวีจะเน้นการเข้าถึงลิขสิทธิ์ให้มากขึ้น โดยเฉพาะรายเล็ก และการหารายได้ ในส่วนของทีวีดาวเทียมสิ่งที่ต้องการคือการออกจากตลาดได้ง่ายที่สุด

ส่องการขอใบอนุญาตในต่างประเทศ

คณะผู้วิจัยยังได้ดูตัวอย่างการให้ใบอนุญาตในต่างประเทศ พบว่าเกาหลีใต้ สิงคโปร์ และอังกฤษใช้วิธีการคัดเลือกใบอนุญาต ซึ่งจะได้รับใบอนุญาตจะค่อนข้างมีระยะเวลาที่แตกต่างกัน เช่นที่เกาหลีใต้จะมีระยะเวลา 5 ปี ส่วนสิงคโปร์และอังกฤษจะ 10 ปี โดยมีการกำหนดเพดานของค่าธรรมเนียมรายปีแบบชัดเจน เช่นที่เกาหลีใต้จะเก็บไม่เกินร้อยละ 6 ของรายได้ในปีนั้นๆ ในขณะที่การทำ Must Carry ของเกาหลีใต้ก็ลดจากเดิม 4 ช่องเหลือเพียง 2 ช่องเท่านั้น ในขณะทาสหรัฐอเมริกาเน้นการประมูล แต่จะมีค่าธรรมเนียมรายปีที่ชัดเจนมาก เช่น โทรทัศน์ดิจิทัลภาคพื้นดิน เสียค่าธรรมเนียมขั้นต่ำ 1.7 ล้านบาท ในส่วนของ IPTV เสียรายผู้ใช้ต่อปี คิดเป็น 24 บาท/ผู้ใช้/ปี และดาวเทียม เสียค่าธรรมเนียมรายปี 16.43 บาท/ผู้ใช้ โดยมีระยะเวลาการให้ใบอนุญาต 5 ปีขึ้นไป

ส่วนของการโฆษณา ทีมผู้วิจัยก็มีข้อเสนอแนะว่าอยากให้ผ่อนปรนมากขึ้น เกาหลีใต้เป็นตัวอย่างในเรื่องของ Product Placement ที่ดีมากๆ ซึ่งเขามีการผ่อนปรนข้อกฎหมายกำกับดูแลโฆษณาเมื่อปี 2022 โดยเน้นการอนุญาตให้มากขึ้น เพื่อทำให้ทีวีสามารถหารายได้มากขึ้น แต่ยังคงเน้นการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นหลักอยู่ ในขณะที่อังกฤษจะเป็นข้อบังคับ 12 นาที/ชั่วโมง และไม่โฆษณาในรายการเด็ก และสหรัฐอเมริกาจะโฆษณาได้ 10.30 นาที/ชั่วโมงในวันเสาร์-อาทิตย์ และ 12 นาที/ชั่วโมงในวันจันทร์-ศุกร์

ต่างประเทศส่งเสริมการก้าวไปสู่ OTT ของโทรทัศน์ดั้งเดิมอย่างไรบ้าง

ทางคณะผู้วิจัยได้รวบรวมการสนับสนุนการก้าวสู่ OTT ในต่างประเทศพบว่ามีการส่งเสริมทางด้านเทคโนโลยี การลดภาษีในกลุ่ม Production การส่งเสริมผู้ผลิตขนาดกลางและเล็ก การสนับสนุนการจัดเก็บระบบเนื้อหาและรายการ รวมไปถึงการพัฒนาบุคลากร การให้พื้นที่และอำนวยความสะดวกในการผลิต และการหาพาร์ทเนอร์จากต่างประเทศ

ข้อเสนอในการกำกับดูแล OTT ต้องชัดเจน

คณะผู้วิจัยได้ศึกษาการกำกับดูแล OTT ในต่างประเทศ พบว่ามี 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่กำกับดูแล OTT Platform โดยเฉพาะอังกฤษที่เน้นการกำกับ Video On Demand และ Video Sharing Platform และสิงคโปร์ที่ควบคุมทุกแพลตฟอร์ม แต่ในส่วนนี้จะมีข้อเสีย คือรัฐจะแบกต้นทุนในการกำกับดูแลมากพอสมควร แต่ข้อดีคือทำให้เกิดความเท่าเทียมในการกำกับดูแล สำหรับแนวทางข้อเสนอในประเทศไทย จะมีแนวทางหลักๆ คือ การกำกับดูแลกิจการ OTT ที่เฉพาะกลุ่ม คือ Video On Demand ซึ่งจะสอดคล้องกับในยุโรปที่เน้นการกำกับดูแลกิจการที่คล้ายโทรทัศน์ และค่อยพิจารณากำกับ Video Sharing Platform ต่อไปในอนาคต

ส่องระบบการขอใบอนุญาตของต่างประเทศ

ในส่วนของการเข้าสู่ตลาดนั้น ปัจจุบันในต่างประเทศมี 3 ระบบ คือ ระบบใบอนุญาต ระบบแจ้งประกอบการ และไม่ต้องแจ้งใดๆ ต่อผู้กำกับดูแล ซึ่งระบบใบอนุญาตจะมีข้อเสียคือการแบกรับต้นทุนในการกำกับดูแล ระบบแจ้งประกอบการจะมีข้อเสียคือไม่สามารถลงโทษเรื่องการำกับดูแลได้ และไม่ต้องแจ้งใดๆ ก็จะมีข้อเสียตรงที่ไม่สามารถมีข้อมูลในการวิเคราะห์ธุรกิจ แต่จะใช้หลักเกณฑ์ในกฎหมายเดิมที่มีอยู่ในการกำกับดูแลแทน

ทางคณะผู้วิจัยได้ให้ข้อเสนอในระยะยาว คือการใช้วิธีการแจ้งประกอบกิจการเป็นหลัก รวมถึงผู้กำกับดูแลต้องส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในประเทศ ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตไม่ซับซ้อนและทำให้ผู้ประกอบการหารายได้จากโฆษณาได้มากขึ้น รวมถึงมีช่องทางการร้องเรียนที่ชัดเจน เพื่อการกับดูแลให้มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ข้อเสนอในงานวิจัยในครั้งนี้ เป็นการตั้งบนหลักพื้นฐานของตลาดเสรี คือการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการแข่งขันอย่างเต็มที่นั่นเอง