fbpx

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา มีประเด็นเกี่ยวกับเกณฑ์การให้รางวัล “สุพรรณหงส์” ซึ่งกลายเป็นที่พูดถึงอีกครั้งในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ซึ่งแน่นอนว่าทำให้หลายคนเข้าใจกลไกภาพยนตร์ไทยมากขึ้น แต่แน่นอนว่านั่นเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของทั้งอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ยังมีอีกหลายเรื่องรวมถึงอนาคตภาพยนตร์ไทย การจัดตั้งกองทุนภาพยนตร์แห่งชาติ และมุมมองภาพยนตร์ไทยที่หลายคนอยากทราบจาก “สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ” แห่งนี้ ที่นี่ซึ่งกำลังมีกระแสต่างๆ ถาโถมเข้ามาจำนวนมาก

ส่องสื่อขอย้อนเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับอนาคตภาพยนตร์ไทย และการผ่านร้อนผ่านหนาวของสมาพันธ์สมาคมแห่งนี้ ผ่านปากของ น็อต-ณฤชภณ ธุวะประดิษฐ์ รองเลขาธิการสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ ผู้คร่ำวอดด้านภาพยนตร์ไทยมานาน ที่จะมาคุยเรื่องการส่งออกคอนเทนต์ไทยที่ไม่ได้มีแค่รางวัลสุพรรณหงส์เท่านั้น แต่ยังมีอีกหลากหลายมุมมอง รวมไปถึงความคาดหวังของสมาพันธ์สมาคมในช่วงเลือกตั้งอีกด้วย

พูดถึงสถานการณ์ภาพยนตร์ปี 2565

สถานการณ์ภาพยนตร์ปี 2565 เป็นปีแห่งการช่วยเหลือตัวเอง อาจจะดูสองแง่สองง่ามเนอะ แต่มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ก็พึ่งพาตัวเองกับเพื่อนในสมาพันธ์ แลกเปลี่ยนข่าวสารซึ่งกันและกัน ซึ่งก็คงต้องยอมรับว่าซบเซาต่อเนื่องมาจากปี 2564 ย้อนกลับไปซัก 10 ปีที่แล้ว เราจะเห็นว่าตอนนั้นภาพยนตร์แต่ละค่ายจะมี Line-Up  เปิดตัวหนังที่ยิ่งใหญ่มาก สังเกตไหมครับ อย่าง GDH ก็จะเปิดแล้วว่ามีอะไรบ้าง 6 เรื่อง 7 เรื่อง สหมงคลฟิล์มเปิด Line-Up แต่ 2-3 ปีเราจะไม่ค่อยเห็น นั่นก็เป็นเพราะว่าปัจจัยเรื่องของงบประมาณ เรื่องเงินลงทุน ที่แต่ละคนต้องดิ้นรนเอาตัวรอด ภาพยนตร์ที่ต้องเปิดตัวขึ้นมาจะต้องลงทุนทำขึ้นมาในแต่ละเรื่องก็ต้องคิดแล้วคิดอีก หาผู้มาร่วมลงทุนเพิ่มเติม ผมว่าแบ่งเป็น 2 อย่าง จากคนที่มีใจรักหนัง อยากทำหนัง เราก็จะได้ยินข่าวเสี่ยนู่นเสี่ยนี่ควักเงินก้อนหนึ่งอยากทำหนังเรื่องนี้ ก็จะมีค่ายหนังเข้าไปทำให้ อีกเรื่องหนึ่งคือ OTT ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในบ้านเรา Netflix เอย อาจจะรวมไปถึงหลายๆ แบรนด์ที่กำลังเข้ามา เป็นนักลงทุนให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย

คิดว่า OTT มีส่วนทำให้ผู้ชมโรงหนังมีจำนวนน้อยลงบ้างมั้ย

ก็มีส่วน ตอนแรกอุตสาหกรรมก็พยายามปฏิเสธว่ามันไม่เกี่ยวกันหรอก เหมือนไปเที่ยวทะเล เอาเท้าเหยียบทราย เอาตัวไปแช่น้ำ เหมือนกัน โรงหนังก็มีเสน่ห์ของมัน ที่ได้ดูจอ Big Screen ระบบเสียงที่ดีกว่า มีบรรยากาศที่ดีกว่า มี Eco-system มีปัจจัยต่างๆที่แวดล้อม เหมาะกับการเสพภาพยนตร์มากกว่า ก็มีคนบางกลุ่มที่ชอบ ยืนยันว่าถ้าหนังเรื่องนี้เขาจะเข้าไปดูที่โรงภาพยนตร์มากกว่า เลือกมากกว่าที่จะดูผ่าน OTT ซึ่งก็แน่นอนว่าภาพยนตร์ใหญ่ที่เป็นหนังฟอร์มยักษ์จริงๆ ก็จะเข้าโรงภาพยนตร์มากกว่า แล้วซักพักหนึ่งถึงจะเข้า OTT เหตุการณ์มันก็เหมือนถ้าย้อนกลับไปประมาณยุคที่ยังไม่มี OTT ก็จะเข้าโรงภาพยนตร์มากกว่า แล้วซักพักหนึ่งก็จะกลับมาสู่ DVD นึกออกมั้ยครับ คล้ายๆ กัน แต่ยุคนี้มันพัฒนาออกไป เทคโนโลยีมันก็พัฒนาไปให้เกิด OTT

ในแง่ของสมาพันธ์สมาคม จะช่วยยังไงให้โรงหนังกลับมาคึกคักได้บ้าง

โรงภาพยนตร์ก็ต้องมีภาพยนตร์ อันนี้โจทย์ง่ายที่สุด โรงภาพยนตร์จำเป็นต้องมีภาพยนตร์ จำนวนภาพยนตร์ที่เข้าโรงภาพยนตร์ในแต่ละปี จำเป็นต้องมีอัตราส่วนที่สามารถหล่อเลี้ยงให้คนต้องการเข้าไปในโรงภาพยนตร์ได้ เพราะฉะนั้นบริษัทที่ผลิตภาพยนตร์ก็สำคัญ ก็อย่างที่บอกว่าเมื่อไหร่ที่ Line-Up หนังแต่ละปีของแต่ละบริษัทมันเริ่มน้อยลงๆ นั่นหมายความว่าภาพยนตร์ที่ผลิตออกมาในแต่ละปีก็น้อยลงด้วย โรงภาพยนตร์ก็จะมีผลกระทบตามไปด้วย มันเป็นห่วงโซ่ นั่นหมายความว่าโรงภาพยนตร์ก็ต้องไปพึ่งหนังต่างประเทศมากขึ้น เพราะว่าบริษัทหนังไทยผลิตออกมาน้อยลง อย่างผมพูดถึง 2 ค่ายใหญ่ๆ เมเจอร์กับ SF ถ้าภาพยนตร์น้อยรายได้เขาก็น้อย สมการง่ายๆ เลย อุตสาหกรรมมันเกี่ยวข้องซึ่งกันและกันอย่างแยกไม่ออก

คิดว่าโรงภาพยนตร์ยังตอบโจทย์มั้ย

ยังตอบโจทย์นะ ก็ยังไม่เคยได้ข่าวโรงภาพยนตร์ในเมืองไทยกับประเทศที่พัฒนาแล้วเจ๊งนะ มันก็ยังมีเสน่ห์ของมันอยู่ เพียงแต่ก็อย่างที่บอกว่าสตูดิโอหรือค่ายหนังเขาทำออกมาในจำนวนมากเท่าไหร่ คือต้องยอมรับว่าโควิด-19 มันทำให้อัตราการถ่ายทำหนังมันหยุด เพราะมันถ่ายทำไม่ได้ พอมันถ่ายทำไม่ได้ หนังไม่ใช่ทำวันนี้แล้วอีก 3 เดือนจะได้ดู มันใช้เวลา บางเรื่อง 2-3 ปี บางเรื่องออาจจะสั้นหน่อยแค่ปีเดียว การผลิตมันต้องใช้เวลา กว่าที่จะออกกองถ่ายได้มันใช้เวลานานมาก มันต้องกระทบแน่นอนกับโรงภาพยนตร์ ผมเชื่อว่าในปี 2566 จะมีหนังเข้าโรงภาพยนตร์มากยิ่งขึ้น แล้วค่อยมาวัดดูว่าคนยังเข้าโรงภาพยนตร์เยอะหรือเปล่า ถ้าเกิดว่ามีสินค้าที่เข้าไปที่โรงภาพยนตร์มากขึ้น

ปี 2565 มีผู้ผลิตรายใหม่เกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน

ก็มีนักลงทุนรายใหม่ๆ เพิ่มขึ้นนะในความคิดผม แน่นอนว่าบุคลากรมันมีจำกัด แยกออกระหว่างบุคลากรภาพยนตร์กับ investor อันหลังจะเกิดขึ้นใหม่ตลอดเวลาเพราะมีเศรษฐีใหม่ตลอดเวลาบนโลกนี้ แต่บุคลากรที่ทำในอุตสาหกรรมภาพยนตร์มันมีจำกัด พอมี investor เกิดขึ้นก็ต้องดึงคนไปอยู่กับเขา เหมือนกันทุกวงการไม่ว่าจะวงการเพลงวงการอะไรบุคลากรจะมีจำกัด แต่ investor มันเกิดขึ้นมาเรื่อย ๆ เชื่อว่ามีนักลงทุนเพิ่มขึ้น เพียงแต่จำนวนภาพยนตร์ที่เข้าสู่โรงหนังจะไม่มากขึ้นตาม เพราะหนังแต่ละเรื่องจะมีเรื่องของคุณภาพเข้ามาด้วย มันมากพอที่จะเข้าสู่โรงภาพยนตร์ได้หรือเปล่า มันก็ต้องคัด หนังของคุณมันผ่านมาตรฐานของโรงเขาหรือเปล่า

แล้วแบบนี้มันจะผู้มีผลิตที่ลี้ภัยไป OTT มากขึ้นมั้ย

คือมันเป็นคู่ขนานกันไป เขาก็ต้องทำหนังเข้าโรงภาพยนตร์ ในขณะเดียวกันเขาก็ต้องเลี้ยงพนักงานของเขาด้วยกันป้อนหนังเข้า OTT ด้วย เพราะ OTT มีรายได้ที่แน่นอน คือทุกอย่างมันเป็นการบิดประมูลทั้งหมดในวงการภาพยนตร์ OTT ก็มีให้คุณเลือกว่าจะคุณภาพแค่ไหน สมมุติคุณทำหนังเรื่องหนึ่ง ถ้าคุณอยากได้เงินก้อนเดียวแบบใหญ่ๆ เลย คุณก็ต้องเลือกมาตรฐานสูง คือ OTT จะเข้ามายุ่งตั้งแต่วันแรกที่คุณเขียนบท เป็นคนกำหนดทิศทางให้หมดเลย ไปนั่งเฝ้าตอนคุณออกกอง ไปนั่งมอนิเตอร์อยู่กับคุณ กับมาตรฐานแบบปกติก็คือทำไป แต่ได้เงินน้อยนะ เดี๋ยวนี้ผมไม่แน่ใจว่าสมการพวกนี้มีมากขึ้นหรือเปล่า มันอาจจะมีสมการที่มากขึ้นกว่านี้ มีบางคนที่ทำก่อนเลย แล้วไปบิดเอาข้างหน้า

หนังประเภทไหนที่คนไทยชอบมากที่สุด

น่าจะเป็น Comedy เป็นหลัก จะ Romantic-Comedy หรือ Comedy ล้วน ก็ยังถูกจริตคนไทยอยู่ นั่นเป็นเพราะว่าวัฒนธรรมของแต่ละชาติมันไม่เหมือนกัน คุณจะเอาตลกเกาหลีหรือตลกอเมริกันมาให้คนไทยดู บางมุกมันไม่เก็ทนะ แต่คนไทยเรารู้จริตว่าพูดไปแบบไหนมันน่าขำ จังหวะไหนมันจะขำ แต่หนัง Action มันไม่มีทางสู้เขาได้เลย มันต้องใช้เงิน คุณไม่มีเงิน คุณไม่มีทางสู้เขาได้ เพราะแต่ละฉากต้องใช้เงินหมดเลย ส่วนหนังนอกกระแสก็คงจะมีคนพยายามทำเรื่อย ๆ เพียงแต่ว่าบางเรื่องมันจะเข้าหูเรา มันพอได้ยินบ้าง บางเรื่องหายไปในสายลม ผมเชื่อว่าไม่มีใครอยากทำหนังนอกกระแสหรอก ผู้กำกับทุกคน ยกเว้นเด็กรุ่นใหม่ที่ไฟแรงมาก แต่เมื่อตกตะกอนความคิดมาถึงระดับหนึ่ง ไปถามผู้กำกับอินดี้ทุกคน ไม่มีใครอยากทำหนังนอกกระแส ทุกคนอยากทำหนังกระแสทั้งนั้นแหละ อยากขายแล้วได้เงิน อยากให้คนดูหนังเขาเยอะๆ เพียงแต่ว่าเขาก็คาดเดาไม่ถูกหรอกว่า หนังที่เขาคิดว่าดีแล้ว ที่มันเยี่ยมที่สุด คนน่าจะชอบ มันไม่มหาชน มันเป็นเรื่องที่ใช้การคาดเดาเหมือนกันนะ

มันมีเรื่องของการติดแบรนด์มั้ย

ผมใช้คำว่าการไว้ใจดีกว่า สมมุติผมใช้คำว่าผู้กำกับคนนี้ทำหนัง มันสามารถการันตีในเรื่องแอคชั่นได้เต็มที่ ถ้าเห็นชื่อผู้กำกับคนนี้ คุณรู้ได้เลยว่าหนังเรื่องนี้ตลกแน่นอน คุณเห็นผู้กำกับคนนี้มาหนังเรื่องนี้มันจะต้องลึกลับสอบสวน คุณเห็นผู้กำกับคนนี้ มันจะต้องเป็นหนังผีทุก 3 นาที เหมือนกันครับ ค่ายหนังก็เหมือนกัน มันการันตีในตัวของมันเองอยู่ อันนี้คนดูคงรู้ด้วยตัวเอง ไม่มีค่ายไหนหรอกครับที่ทำแต่หนังบู๊ ทุกค่ายก็อยากจะทำหนังทุกประเภท แต่ว่าด้วยบุคลากร ทรัพยากรที่เขามีมันอาจจะไปไม่ถึงตรงนั้น

ปัญหาสำคัญที่ทำให้หนังไทยมีแค่ “โรเมนติก-คอเมดี้” มันอยู่ที่ใคร

โคตรเป็นคำถามที่ไก่กับไข่เลย โทษคนดูก็ไม่ได้นะ จะโทษผู้ผลิตก็ไม่ได้อีก คือไม่รู้จะโทษใคร ก็อย่างที่บอกว่า investor เขาก็กลัวถ้าเขาจะต้องลงเงิน มันคือความเสี่ยงมากๆ เลยครับ investor คนหนึ่งถ้าเขารักในภาพยนตร์มาก แล้วมาเจ๊งกับหนัง 3 เรื่อง เขากลายเป็นยาจกได้เลยนะ สมมุติเขาลงหนังไปเรื่องละ 50 ล้าน เขายอมมากเลยนะ 3 เรื่อง 150 ล้าน หายไปดื้อๆ เลยนะ คือถ้าคุณจะทำหนังฉายโรง ความเสี่ยงของคุณสูงอยู่แล้ว เพราะคุณต้องไปวัดกับ Box Office ถ้าคุณจะเข้า OTT คุณต้องไป Pitch ให้ผ่านมาตรฐานเขาก่อนว่าจะซื้อคุณมั้ย เขาก็จะมีข้อกำหนดเยอะ แต่ถ้าคุณอยากจะทำหนังฉายโรงมันจะง่ายกว่า OTT ด้วยซ้ำไป เพราะว่า 20-30 ล้านบาทคุณลงเองนี่ ก็ทำไปสิ

คนดูมักจะบอกว่า “วงการหนังบ้านเราไม่พัฒนา” จริงเหรอ

อย่างเกาหลีเขาไปถึงออสการ์ได้ เรื่อง parasite ก็ต้องย้อนกลับไปที่พื้นฐานก่อน กว่าเขาจะมาถึงวันนี้ได้ ถ้าผมเริ่มย้อนประวัติศาสตร์เกาหลี ทุกคนคงรู้ว่าปกครองด้วยระบอบประธานาธิบดี ก็เหมือนเมืองไทยครับ มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ประธานาธิบดีเป็นทหารยาวนาน ก็จะเป็นทหารขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีตลอด จนกระทั่งถึงจุดที่ประธานาธิบดีคนสุดท้ายที่เป็นทหาร ก่อนจะเปลี่ยนเป็นประธานาธิบดีที่เป็นประชาชน เขาก็คิดว่าเขาต้องอะไรบางอย่างไว้ให้ประเทศนี้บ้าง เขาก็รู้ว่าเกาหลีไม่ได้มีอะไรที่จะไปแข่งกับต่างประเทศได้ สถานที่ท่องเที่ยวมันสู้ไม่ได้ อะไรที่จะขายได้ นั่นก็คือวัฒนธรรม แต่การที่คุณจะขายวัฒนธรรม คุณต้องลงทุนอะไรบางอย่าง ไม่ใช่แค่หากินกับของเก่าที่มีอยู่ เขาก็ตั้งเป้าเลยว่าจะขายวัฒนธรรมของเกาหลีส่งออกไปทั่วโลก เริ่มจากอะไรบ้าง ภาพยนตร์ ซีรีส์นี่แหละ เขาก็กำหนดว่าเขาต้องทำยังไงบ้าง แผนยุทธศาสตร์ชาติเขามันต้องขับเคลื่อนด้วยอะไร ด้วยเงิน ขอความร่วมมือจากคนในชาติ แต่คนในชาติไม่มีอาวุธมันก็ทำไม่ได้ เขาก็เลยตั้งกองทุนขึ้นมา ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท แล้วก็ทำให้เป็นโมเดล วัฒนธรรมจากการใช้นักการเมืองมาเปลี่ยนเป็นคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่เข้าใจบริบทของการที่จะเข้าไปถึงยุทธศาสตร์ของเขาได้

เขาตั้งสถาบันการศึกษา เพราะว่าคุณจะทำหนังให้ดีได้ยังไง ยกตัวอย่างเรื่อง parasite คัดเลือกมาจาก 2,000 บท อย่างบทในเมืองไทยที่ดีๆ อย่างเก่งก็คัดเลือกมาจาก 100 บท แต่เขามีตัวเลือกเยอะ เพราะเขามีสถาบันการศึกษาที่มันเป็นเฉพาะทางในทุกแขนง เขียนบทอย่างเดียว จัดไฟอย่างเดียว กำกับอย่างเดียว ทุกอย่างเขามีสถาบันการศึกษาของเขาชัดเจน แล้วเขาไม่ได้มีแค่เด็ก นักเรียน นักศึกษาอย่างเดียว สมมุติอย่างเราเกินช่วงวัยเรียนก็สามารถเรียนได้ อย่างคุณจบบัญชี แต่คุณมีความสนใจทางด้านภาพยนตร์มากเลย คุณก็เข้าไปเรียนได้ คือบุคลากร ระบบนิเวศเขาพร้อม มันก็จะเดินไปได้เร็ว เรายังต้องมานั่งแล้วก็หลับตาเราจะรู้ว่า มีตากล้องบางคนที่ใช้ได้ เรามีช่างไฟกี่ทีมที่ใช้ได้ในเมืองไทย เรามีคนเขียนบทในเมืองไทยกี่คนกันเชียวที่จะเขียนบทดีๆ ในเมืองไทยได้ หลับตาเราก็จะนึกออกว่ามีไม่กี่คน แต่บ้านเขามีเยอะกว่ามาก แล้วแยกสายชัดเจนว่าแต่ละคนทำอะไรบ้าง พอวัตถุดิบเยอะมันก็เลือกของดีได้ อันนี้มันหลักการทั่วไปง่ายมากเลย

หลังจากนั้นเขาก็พัฒนาออกมาเป็นเว็บตูน ถ้ายังไม่มั่นใจก็จะส่งเป็นเว็บตูนก่อน คุณได้เขียนเป็นการ์ตูนมั้ย เรื่องไหนที่ได้รับความนิยม ก็ถูกจับเป็นซีรีส์ ทำเป็นหนังอะไรต่อไป กระบวนการเป็นส่วนที่ง่ายมากเลย รัฐบาลไทยพูดเรื่องนี้มานานมากเลย ถ้าย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยเรามีบุญชูภาค 1 จะบอกว่าตอนนั้นเราไปไกลกว่าเกาหลีมากในเรื่องอุตสาหกรรมภาพยนตร์ แต่ผมก็ไม่รู้หยุดกันไปตอนไหน ช่วงที่ผมยังเด็กๆ แล้วก็หยุดไปดื้อๆ เข้าใจได้ว่าเรามาหยุดเพราะเจอเรื่องของทุนนิยม สภาพเศรษฐกิจในการลงทุน ทุกคนก็ต้องคิด คือเราเป็นนักลงทุน เราจะกล้าลงทุนหนังเรื่องละ 100-200 ล้านบาทเหรอ ในขณะที่ Box Office เมื่อก่อนเรามีแค่โรงภาพยนตร์ใช่มั้ยครับ นานๆ เราจะเห็นเรื่องที่ทะลุ 100 ล้านบาท อย่างมากก็ 30-40 ล้านบาท นักลงทุนก็ไม่กล้า

มันจำเป็นที่จะต้องมีกองทุนภาพยนตร์แห่งชาติ เพราะนักลงทุนไม่กล้ากับหนังดีๆ เรื่องหนึ่ง สมมุติจะเอาหนัง parasite ไปให้นักลงทุนในไทย คุณต้องอ่านบทแล้วมีใครกล้าลงทุนมั้ยล่ะ ตลกไหม ดาราใครเล่น ใครกำกับ มันวนเวียนอยู่อย่างนี้ ต้องดึงดาราชื่อดัง คุณต้องตลก นักลงทุนถึงจะกล้าลงทุน มันก็วนเวียนอยู่อย่างนี้ตลอด แล้วการลงทุนก็คือจำกัดขอบเขต เดี๋ยวนี้เรื่องหนึ่งเฉพาะโปรดักชั่นไม่เกิน 30 ล้านบาทหรอกครับ แล้วคุณจะได้หนังดีๆ อะไรจาก 30 ล้านบาท แม้กระทั่งค่ายใหญ่ๆมีใครกล้าลงทุนเกิน 50 ล้านบาทมั้ยล่ะ แล้วคุณจะได้หนังอะไรดีๆ จาก 50 ล้านบาท คุณก็ต้องหาคนร่วมทุน

ยกตัวอย่างเคสที่ประสบความสำเร็จอย่างโต้ง-บรรจง ปิสัญธนะกูล เกาหลีใต้เขาเข้ามาช่วยทำร่างทรง คนก็บ่นว่าฉากคล้ายแบบนั้น มันจะมีเรื่องของกระบวนการ เขาตรวจสอบมาแล้วว่าเป็นแบบนี้มันขายต่างชาติได้ คือเขาคิดข้ามเมืองไทย ถ้าติดแบบนี้ต่างชาติจะโอเค จบแบบนี้ต่างชาติไม่โอเค มันก็เป็นสิ่งที่สมาพันธ์สมาคมอยากทำมากๆ จริงๆ ก็คิดมานานแล้วรุ่นก่อนหน้าผมใครก็ตาม หรือท่านประธานเอง ตัวกรรมการเองก็อยากจะมีความฝันว่าอยากจะมีกองทุนภาพยนตร์แห่งชาติ ใช้เงินไม่เยอะหรอกครับ ไม่ถึงหมื่นล้านของเกาหลีใต้หรอก พันล้านก็หรูละ แล้วก็เป็นเงินกองทุนที่ไว้ให้ใครมีบทดีๆ ใครมีเรื่องดีๆ คุณก็เอาเงินไปลงทุน มายืมสมาพันธ์ไปลงทุน เจ๊ง สมาพันธ์เจ็บให้ก่อน ได้ ก็เอากำไรกลับคืนมาให้กองทุน คนก็จะกล้าทำหนังดีๆ มากขึ้น ไม่ต้องไปพึ่งนักลงทุน เพราะมีกองทุนนี้ขึ้นมา นั่นหมายความว่ามันก็จะมีหนังดีๆ เยอะแยะมากมายที่เราอยากดูเรื่องนี้ อยากได้พล็อตแบบนี้ แต่ไม่มีคนกล้าทำ

ภาพยนตร์กับ Soft Power ด้านวัฒนธรรมมันจะไปด้วยกันยังไง

เกาหลีใต้เขาให้เงินในรูปแบบให้ขาดไปเลย ไม่ล้ำเลิกบุญคุณกัน ให้ไปคุณไปบริหารสิทธิ์เองเลย สมมุติว่าคุณเอาเงินไป คุณมีกำไรค่อยเอามาคืนกองทุน ถ้าขาดทุนกองทุนเจ็บให้ก่อน แล้วสิทธิ์ในการขายต่างประเทศคุณเอาไปบริหารจัดการ กำไรคุณก็เอากลับเข้ากองทุน แต่ระบบราชการไทยมันติดข้อกฎหมายบางอย่าง เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณเอาเงินจากรัฐ รัฐต้องร่วมเป็นเจ้าของ นั่นหมายความว่าคุณจะเอาไปทำไรต่อไม่ได้ คำถามคือรัฐรู้จักงานเทศกาลภาพยนตร์มากน้อยแค่ไหน หรือตลาดเสรีที่จะเอาของพวกนี้ไปขาย มันก็กลายเป็นทำเองดูเอง ไปต่อยอดมากไม่ได้

คือ Soft Power ต้องแยกให้ออก ผมว่าปัจจุบันคนเข้าใจผิดกันเยอะ ข้าวเหนียวมะม่วงเป็นสินค้านะ ไม่ใช่ Soft Power มิลลิต่างหากที่จับขึ้นมากลายเป็น Soft Power สิ่งที่เราต้องการคือทำยังไงถึงจะมีคนอย่างมิลลิเยอะๆ เพื่อจะขับเคลื่อนสินค้าของไทยออกไป นั่นคือ Soft Power หรือสถานที่ท่องเที่ยวอะไรก็ตามแต่ มันอยู่กับที่ของมัน ถ้าไม่มีคนไปหยิบไปจับก็ไม่เป็น Soft Power อันนั้นมันเป็นสินค้าของมันอยู่อย่างนั้น มันเป็นสิ่งที่พอมันจะทำไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ เพลง หรือว่าซีรีส์อะไรก็ตามแต่ เราพยายามที่จะทำให้เกิดคนพวกนี้มากขึ้น สุดท้ายมันก็วนกลับมาสถาบันการศึกษา กลับมาเงินหมด แล้วสุดท้ายผลประโยชน์ที่ได้คือพอเขาไปหยิบจับอะไร เขาพูดถึงอะไร นั่นมันจะกลายเป็น Soft Power

แล้วอุตสาหกรรมภาพยนตร์ กระทรวงไหนควรเป็นเจ้าภาพดูแล

เวลาไปออกงานทีหนึ่ง ผมใช้คำว่าประเทศเรายังไม่บูรณาการ ยังไม่รวมศูนย์ในเรื่องนี้เลย คือต้องบอกว่าพวกเรามาทำเราไม่มีค่าตอบแทนนะครับ เรามีงานประจำของเราอยู่แล้ว เรามาทำเพราะอยากทำ ช่วยพัฒนา ทุกสิ่งทุกอย่างมันมีค่าใช้จ่าย คุณเชื่อมั้ยว่า สมาพันธ์สมาคมจัดสุพรรณหงส์ทุกปี ย้อนไปประมาณ 5 ปีที่แล้ว เราเคยได้เงินสนับสนุน ซึ่งงานมันมีค่าใช้จ่ายเยอะแยะเต็มไปหมด แล้วเราเอาเงินมาจากไหน ที่ผ่านมากระทรวงวัฒนธรรมสนับสนุน ภาครัฐสนับสนุน เมื่อก่อนต้องให้ปีละ 9-10 ล้านบาทนะ นอกจากให้จัดงาน คุณมีออฟฟิศก็ต้องมีค่าเช่า มีพนักงาน ปีล่าสุด 2.4 ล้านบาท ผมพูดได้เพราะเรื่องจริง ผมคิดว่าเงิน 2 ล้านกว่าบาท เอาไปจัดบูธอีเวนต์ในห้างยังไม่พอเลยมั้ง ขายสินค้าเอามาจัดสุพรรณหงส์ เราจะเห็นได้ว่าสุพรรณหงส์มันแกร็นๆ ลงทุกปี

แล้วคือเขาอยากได้นะ อยากได้เต็มไปหมดเลย เวลามีข่าวเขาอยากได้ก็จะนู่นนี่ๆ ล่าสุดท่านนายกรัฐมนตรี  (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) มีเมตตาให้ท่านรองนายกรัฐมนตรี (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) มาช่วยทำเรื่อง Soft Power ให้เป็นจริง ท่านก็มาถามปัญหาเราก็ตอบเหมือนเดิม ท่านไม่ต้องพูดเลยครับ เงินมาทุกอย่างดีเอง เพราะระบบมันรออยู่แล้ว ศักยภาพขององค์กรภายในประเทศรวมไปถึงการทำงานในวงการนี้เรามีเพื่อนจากต่างชาติ จากเกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา ยุโรปเรามีหมด เรารู้แล้วว่าวิธีการพัฒนาอุตสาหกรรมในบ้านเขามันเป็นยังไง กระบวนการเรามีหมด ติดอย่างเดียวคือไม่มีเงิน เหมือนคุณรู้วิธีสร้างตึกแต่คุณไม่มีเงินจะสร้าง คุณก็จะมีแต่พิมพ์เขียวอยู่อย่างนั้น คุณก็จะถือพิมพ์เขียวไปตลอด

ล่าสุดก่อนเลือกตั้งเหมือนว่ารัฐบาลจะส่งคนเข้ามาคุย เราบอกว่าเอางี้มั้ยครับ ไม่มีเงินไม่เป็นไร เราสามารถขอเงินจากอุตสาหกรรมคืนให้อุตสาหกรรมได้มั้ย เกาหลีใต้ก็เป็น มาเลเซียก็เป็น เงินภาษีจากตั๋วหนัง ท่านเอามาเก็บได้มั้ย หนังไทยไม่เก็บนะ ถือว่าส่งเสริมอุตสาหกรรม เก็บภาษีหนังต่างประเทศเข้ากองทุน เพราะฉะนั้นคุณเอาเข้าโรงภาพยนตร์ไทยคุณก็ไม่ได้อะไรจากเขาเลย ภาษีต่างๆ ก็เก็บไปทำอย่างอื่น กองถ่ายทำภาพยนตร์ที่เข้ามาถ่ายทำในไทย คุณเก็บภาษีเข้ากองทุนเราได้มั้ย เพราะเขามากินมาแชร์ในอุตสาหกรรมเรา ง่ายๆ แค่นี้เอง ปีหนึ่งก็ต้องมีเงินแล้ว รวมไปถึงคุณบูรณาการงบเบี้ยหัวแตกที่กระจายตามกระทรวงต่างๆ อยู่กระทรวงวัฒนธรรมบ้าง อยู่กระทรวงพาณิชย์บ้าง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาบ้าง กระทรวงอุตสาหกรรมบ้าง เอามารวมได้มั้ย เราขอก้อนเดียวเลย แล้วคุณบอกว่าก้อนนี้เอามาลงให้กับกองทุนภาพยนตร์แห่งชาติ กระทรวงละ 50 ล้านก็ได้ ดีกว่าไม่มีอะไรเลย 4 กระทรวงก็ได้ 200 ล้านบาทต่อปี คือเงินมันกระจาย มันไม่รวมศูนย์ มันกระจายอยู่ตรงไหนก็ไม่รู้ มันเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องวิ่งไปหาเขาเอง มันเป็นหน้าที่ของเรา

ที่ผ่านมาสมาพันธ์สมาคมดูแลอุตสาหกรรมภาพยนตร์พึงพอใจมากขนาดไหน

ไม่พอใจหรอกครับ เราอยากทำให้มากขึ้นๆ ปีแรกที่เราจะมีเงินมาให้สมาพันธ์ได้เป็นเงินก้นถุง เอาไว้จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าพนักงาน ปีที่ผ่านมาตัวเลขติดลบเกือบตลอด ต้องขอบคุณคณะกรรมการหลายท่านที่บริหารจัดการได้เป็นอย่างดี จริงๆ เราอยากทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยมันพัฒนาแล้วเจริญไปมากกว่านี้มากๆ จริงๆ เราอย่าไปคิดเลยครับ ถ้าเรามีเงินกองทุน 1-2 พันล้านแล้วเราจะรวย ถามหน่อยครับ คุณเคยเห็นคนทำภาพยนตร์รวยซักคนมั้ยครับในชีวิต เคยมั้ยถ้าไม่ใช่ดารา น้อยมากนะ คืออาชีพเราไม่มีใครรวย คือบางทีทำเพราะอยากทำ เงินน้อยก็เอา 24 ชั่วโมงก็ทำเพราะเขาอยากทำจริงๆ ไม่ต้องกลัวหรอกครับว่าพวกเราจะเอาไปใช่สุรุ่ยสุร่าย ไม่มีทางเกิดขึ้นในวงการภาพยนตร์ได้ เพราะเรารู้ว่าสิ่งที่เราจะทำมันคืออะไร มันมีขั้นตอนรองรับหมด

ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาได้เรียนรู้อะไรบ้าง

เรียนรู้โรคภัยเป็นอันดับแรกเลย เพราะติดมาแล้วทีหนึ่ง จริงๆ เราก็ไม่เคยเจอสถานการณ์แบบนี้ที่ทุกอย่างมันถูกแช่แข็งหมด ห้ามออกกอง หมายความว่ารอบข้าง ระบบนิเวศมันไปหมด แม่บ้านไม่ได้ทำอาหารให้กองถ่ายเขาก็ขาดรายได้ รถตู้กี่คันที่เราเคยเช่าเขาขับเขาก็ขาดรายได้ ไม่มีเงินส่งผ่อน คือผมจะบอกว่ามันไม่ได้เกี่ยวข้องแค่ดารา ผู้กำกับ ช่างไฟ แต่มันมีระบบนิเวศรอบข้างที่ได้รับผลกระทบไปด้วย โรงหนังไม่มีหนังเข้าฉายเพราะว่าถ่ายหนังไม่ได้ มันกระทบไปหมด เราไม่เคยเจอเหตุการณ์นี้มาก่อน เป็นสิ่งที่ทำให้เราเริ่มระมัดระวังมากขึ้น มันทำให้เราไม่กล้าที่จะบิด ไม่รู้ว่าจะดีหรือเสีย เมื่อก่อนเรากล้าที่จะบิดกับหนังเรื่องหนึ่ง แต่พอโควิด-19 มามันเตือนให้เรารู้ว่าเราต้องละเอียดและรอบคอบที่สุด เพราะเราไม่รู้ว่าจะเกิดเหตุการณ์นี้อีกเมื่อไหร่

แล้วสมาพันธ์สมาคมมีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างช่วงโควิด-19

ก็เปลี่ยนกรรมการสมาพันธ์ไงครับ (หัวเราะ) เพิ่งเปลี่ยนไปปีกว่าๆ เปลี่ยนกรรมการสมาพันธ์ทั้งชุด กรรมการบางท่านก็ไฟแรง ผมก็เพิ่งเข้ามาใหม่ หลายท่านก็เข้ามาใหม่ บางท่านก็เป็นกรรมการท่านเดิม ตัวสมาพันธ์มีเป้าหมายที่ชัดเจนมากเลยว่า สิ่งที่สมาพันธ์ชุดนี้ตราบเท่าที่มีวาระอยู่จะทำให้ได้ เราจะพยายามจัดตั้งกองทุนภาพยนตร์แห่งชาติให้ได้ให้อยู่ในวาระเรา ไม่รู้แหละว่าจะต้องทางไหน เคยจับมือบ้าๆ บอกเล่นๆ ว่า เรามีพิมพ์เขียวอยู่ พรรคการเมืองไหนมีนโยบายนี้ คนในอุตสาหกรรมเราเลือกพรรคนั้น พูดกันตรงๆ เลย เพราะว่าช่วงเลือกตั้งทุกคนก็รู้ พรรคการเมืองต้องหาเสียง มีพรรคไหนที่พูดเรื่อง Soft Power แล้วพูดถึงอุตสาหกรรมภาพยนตร์บ้าง แล้วเขาพูดมีนโยบายยังไง เราบอกว่าถ้าคุณมีนโยบายที่ดีก็พร้อมสนับสนุน แล้วก็บอกชัดเจนเลยว่าเราสนับสนุนคุณ แต่ต้องทำให้ได้นะ ซึ่งเราเคยทำมาแล้วครับ ทำมาตลอด

ช่วง 2-3 ปีที่แล้วผมไม่แน่ใจ ยุคนั้นไปพบนายกรัฐมนตรี ไปกันหมดเลยทุกค่ายหนัง รวมไปถึงผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์ เราก็พูดถึงปัญหา นายกท่านก็พูดว่า “ไหนใครชอบดูหนัง ผมดูทุกคืน Netflix ผมดูทุกคืน เมื่อก่อนผมดูเรื่องนี้เลย ชอบหนังแอคชั่น” ท่านก็พูด ท่านก็เป็นแฟนภาพยนตร์ แล้วท่านก็ถามว่าปัญหาอยู่ตรงไหน เราก็บอกว่าปัญหาอยู่ที่เงินครับท่าน เรื่องเดียวเลย เงินกับความเข้าใจ ท่านเชิญไปที่ทำเนียบ ที่ประชุมก็ครบองค์ประชุม มีนายกนั่งหัวโต๊ะ มีมาดามเดียร์ (วทันยา บุนนาค) พาเข้าไปเป็นคนประสานให้ ต้องขอบคุณมาดามเดียร์มาก แล้วก็ท่านรัฐมนตรีวัฒนธรรม มีสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) มีกรมบัญชีกลาง มาดูว่าเอาเงินมาได้ยังไง คือคนมาครบมาก ไม่ต่ำกว่า 50 นั่งอยู่ในห้อง แทบจะครบทุกหน่วยงาน หลังจากนั้นก็คุยกัน ท่านนายกก็ อื้อ สุดยอด มันต้องอย่างนี้ อีก 2 อาทิตย์ เรื่องก็ค่อยๆ เงียบหายไป ก็เป็นอย่างนี้ จะให้เราไปตามกับใคร นั่งกันเต็มไปหมดเลย ตามกับกระทรวงวัฒนธรรมก็บอกว่ามีเท่านี้แหละ ก็ต้องเข้าตามระบบ ตามกับสภาพัฒน์ก็บอกว่าต้องไปปรึกษาก่อน ต้องไปประชุมภายในกันก่อนว่าจะเอายังไง เขาก็เสนอว่างั้นตั้งคณะกรรมการร่วมมั้ยครับ กระทรวงวัฒนธรรม สภาพัฒน์นู่นนี่ ตั้งขึ้นมาให้หมด ก็ตั้งขึ้นมาละไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ผมไปประชุมครั้งสองครั้งแล้วก็ไม่ไปละ เพราะมันไม่มีอะไร เถียงกันเรื่องเดิมเรื่องกฎหมาย ก็งงว่าหน่วยงานที่เชิญไปไม่ได้ทำการบ้านมาก่อนเหรอว่าข้อเรียกร้องมันชัดเจน แล้ววันที่นั่งคุยกับนายกทำไมไม่ยกมือว่า ท่านนายกครับทำไม่ได้ครับ ก็บอกนายกให้รู้เลยสิว่าทำไม่ได้ ท่านจะได้ไม่ต้องพูดว่าว่าวันนี้นะเราทำ Soft Power มันจะได้จบไงครับท่านไม่ต้องไปพูดต่อ ได้ก็บอกว่าได้ ไม่ได้ก็บอกไม่ได้ ถ้าย้อนไปวันนั้นผมจะบอกว่าเอางี้แล้วกัน ผมไม่รบกวนภาษีของท่านหรอก ท่านอาจจะเอาไปช่วยเรื่องชาวนา เรื่องน้ำท่วม เรื่องคมนาคม ระบบโลจิสติกส์อะไรต่างๆ มากมาย ผมขอเงินจากอุตสาหกรรมของผมได้มั้ยเล่า ก็ตั๋วหนังที่คุณดู ภาษีจากตั๋วหนังก็เอาเข้ากองทุนสิ ต่างชาติมาถ่ายคุณก็เอาภาษีตรงนั้นมาเข้ากองทุนสิ

เขาทราบถึงเจตจำนงว่าเรามีไอเดียแบบนี้ แต่เขาก็จะติดนู่นนี่นั่นของเขา ก็ถึงบอกไงครับว่าถ้ามีพรรคการเมืองไหนในการเลือกตั้งพร้อมที่จะมาร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ซีรีส์ เพลง ผมไม่พูดถึงแค่ภาพยนตร์แล้วกันให้มันครอบคลุมทั้งหมด ก็ยินดีที่จะมาแลกเปลี่ยนความคิดกัน จริงๆ พิมพ์เขียวเรามีอยู่แล้ว ท่านอาจจะส่งคนมาฟัง ร่วมรับฟัง ช่วยกันวางโครงสร้างนโยบาย แล้วท่านจะเอาไปเคลมว่าเราสนับสนุนท่านก็สุดแล้วแต่ แต่ว่าต้องทำให้ได้นะ

แสดงว่าวันนี้เราพลาดตรงไหน

เราพลาดตรงที่รัฐมนตรีมาจากนักการเมืองหมดเลย คุณหลับตาดูก็ได้ รัฐมนตรีของประเทศไทยคนไหน กระทรวงไหนที่เป็นคนทำงานจริงๆ เออ ไม่มี เขามาบริหารในสิ่งที่เขาไม่รู้ อันนี้มันคือโครงสร้างประเทศ มันเกินตัวกว่าที่ผมหาเงินเข้ากองทุนแล้ว

อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยจะไปได้ไกลขนาดไหน

มันต้องสร้างสถาบันการศึกษาก่อน มันต้องมีการนำเงินเข้าไปในระบบ คุณมีเงินวันนี้ไม่ใช่จะ Pitch เอาบท 2,000 กว่าบทไป คนเขียนบทก็มีแค่ อมราพร แผ่นดินทอง มันก็มีคนอยู่แค่นี้ในวงการที่รู้จักกัน มีคนแค่นี้ที่เข้ามา Pitch งาน สิ่งที่ต้องสร้างคือระบบนิเวศขึ้นมาก่อน มันต้องใช้เวลา ไม่ใช่วันนี้มีเงินแต่พรุ่งนี้ ไม่ต้องพรุ่งนี้หรอก อีก 1 ปี คุณจะมีหนังไทยที่ดีออกไปขายทั่วโลก ไปชิงออสการ์ มันคงเป็นไปไม่ได้ ต้องให้เวลากับมัน ถ้าถามเป็นเวลา ผมตอบได้ว่าเหมือนเรียนมหาลัยครับ ผมไม่แน่ใจว่าสถาบันการศึกษานั้นตั้งเวลาไว้กี่ปี แต่ว่าถ้าคุณมีนักศึกษาที่จบออกมาจากสถาบันนี้ในจำนวนที่เยอะขึ้น คุณก็จะมีวัตถุดิบให้เลือกมากขึ้น

ในอีก 3 ปีวงการภาพยนตร์จะถูก Disrupt ไปมากน้อยแค่ไหน

ยังไงอุตสาหกรรมภาพยนตร์ก็ไม่มีวันตายหรอกครับ ผมบอกได้เลย ต่อให้มีโควิด-19 อีก 2-3 รอบ มันตายแล้วฟื้นนะครับ เหมือนจิ้งจกที่มันต่อหางตลอดเวลา เพราะว่าหนังมันอยู่คู่กับมนุษย์มานานแล้ว มันเริ่มตั้งแต่มนุษย์ถ้ำเขียนภาพวาดบนฝาผนัง เรื่องนี้ก็รู้แล้วว่าเขาเริ่มมีจินตนาการ เริ่มใส่ความบันเทิงลงไปในนั้น เริ่มใส่จินตนาการลงไป ศิลปะมันอยู่คู่กับมนุษย์มานานแล้ว มันแยกไม่ออกหรอก ผมจะบอกว่าต่อให้มันมีโควิด-19 อีกเป็น 10 รอบ โอเคมีมันจะดรอปลงไปบ้างในเรื่องของสายการผลิตโปรดักชั่น แต่มันก็จะกลับมาอยู่ดี เพราะคนเรียกร้องให้มันกลับมา

ปี 2566 ทิศทางหนังจะเป็นยังไงบ้าง

ผมว่าเราจะได้เห็นหนังที่หลากหลายแนวขึ้น ต้องกราบขอบพระคุณ OTT (หัวเราะ) เพราะแน่นอนว่าส่วนใหญ่ก็จะมุ่งไปทางนั้น จะมีบ้างที่เป็นสายภาพยนตร์โดยตรง แต่ว่าเวลาที่คุณทำหนังที่หวัง Box Office ผมก็จะบอกว่าคุณจะต้องมีพล็อตที่เซฟตัวเอง แต่จากคำถามที่ถามว่ามีหนังประเภทไหนบ้าง เราจะได้เห็นหนังแปลกๆ กับ OTT มากขึ้น แต่เราจะได้เห็นหนังสไตล์ใกล้ๆกั นในโรงภาพยนตร์เหมือนเดิม ปีหน้าก็เชื่อว่ายังมีหนังที่รอ คือตอนนี้ผมเชื่อว่าผู้ผลิตภาพยนตร์ไทย อุตสาหกรรมหนังไทย นักลงทุนหนังไทย เริ่มมีการร่วมผลิต เริ่มมีการร่วมลงทุนกับต่างชาติมากขึ้น ก็จะมีโอกาสได้เห็นหนังแปลกๆ พล็อตแปลกๆ มากขึ้น ที่อาจจะไม่ถูกจริตเรา แต่ว่าไปตรงจริตต่างประเทศมากขึ้น ผมก็เห็นหลายบริษัทที่ผันตัวมาเป็นผู้ผลิต บางบริษัทถนัดสารคดีก็จะเริ่มจากสารคดีก่อน ผลิตให้กับ OTT ก็จะเริ่มได้เห็นอะไรจากคนไทยมากขึ้นที่อยู่ใน OTT

มีอะไรที่เป็นความท้าทายใหม่ๆ ของวงการภาพยนตร์มั้ย

เราได้รัฐบาลใหม่แน่นอน ผมเชื่อเหลือเกินว่าเราจะได้มาด้วยนโยบาย Soft Power ที่ครอบคลุมอุตสาหกรรมบันเทิงทั้งอุตสาหกรรม แล้วเมื่อไหร่ก็ตามที่นโยบายที่ชัดเจนมาจากรัฐบาลใหม่ เมื่อนั้นคุณจะได้เห็นความหวือหวาเฟี้ยวฟ้าวของอุตสาหกรรมบันเทิงไทยอีกมากมายแน่นอน ผมเชื่อว่าคนไทยทุกคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมมีศักยภาพสูงมาก คนต่างชาติที่มาทำโปรดักชั่นในเมืองไทย ชมทีมงานไทยหมดว่าทีมงานไทยมืออาชีพมาก เพียงแต่ว่าตอนนี้เราเป็นได้แค่ระดับทีมงานยังไม่ใช่ระดับนักลงทุน

สมาพันธ์สมาคมจะมีส่วนเข้ามาช่วยสนับสนุนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์มากน้อยแค่ไหน

จริงๆ เราช่วยกันมาอยู่แล้ว เพราะเรารู้จักกันหมดแหละครับ ทุกค่ายก็จะส่งตัวแทน อย่างที่บอกว่าสมาพันธ์สมาคมประกอบด้วยตัวแทนมาจากทุกค่ายภาพยนตร์ ตัวแทนโรงหนัง ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องส่งตัวแทนมานั่งในสมาพันธ์สมาคม เราก็จะมีการปรับทุกข์กันตลอดเวลาอยู่แล้ว ใครช่วยเหลืออะไรกันได้ก็ช่วยเหลือกันในอุตสาหกรรมกันเองอยู่แล้ว จริงๆ เรามีไอเดียอยู่มากมาย แม้กระทั่งตอนนั้นเราอยากตั้งกองทุนมากๆ เราเคยไปคุยกับบริษัทที่ทำ Cryptocurrency เจ้าหนึ่ง เราบอกว่าเราเอาโปสเตอร์ที่ได้สุพรรณหงส์ ตั้งแต่ปีแรกจนถึงปีปัจจุบันมาแปลงเป็น NFT มั้ย เพื่อจะระดมทุนเข้าสมาพันธ์ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ทำ คือสมาพันธ์คิดทุกวันว่าจะทำยังไงให้เกิดกองทุนนี้ให้ได้ คิดอะไรหลายๆ เรื่องด้วย ผมยกตัวอย่างเรื่องเปลี่ยนโปสเตอร์เป็น NFT อันนั้นก็ต้องขอความร่วมมือจากค่ายภาพยนตร์ ทุกคนให้ความร่วมมือ เพราะทุกคนอยากจะให้มันเกิดขึ้น เอกชนไม่ต้องพูดถึงเลย พร้อมที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกันอยู่แล้ว