fbpx

เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2566 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ร่วมกันจัดเสวนาวิชาการในหัวข้อ “สิ่งที่สื่อมวลชนควรทราบ เกี่ยวกับมรรยาททนาย” ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อให้สื่อมวลชนและทนายความรับทราบเกี่ยวกับมรรยาททนาย และการปฏิบัติตัวเมื่อต้องให้ข้อมูล หรือนำเสนอข่าวที่มีทนายอยู่ในหน้าจอ โดยที่ผ่านมามีบุคคลอ้างว่าเป็นทนาย และทนายความได้ถูกเป็นที่สนใจในสื่อมวลชนจำนวนมาก จนบางครั้งทนายความและสื่อมวลชนอาจจะปฏิบัติตนผิดมรรยาททนายไป จึงเกิดเสวนาครั้งนี้ขึ้น

ดร. วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ กล่าวว่า มรรยาททนายความเป็นข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งโดยปกติแล้วทั้งประชาชนสามารถฟ้องร้องทนายได้ กับทนายฟ้องร้องทนายด้วยกันเอง ซึ่งส่วนหลังมีปริมาณน้อย ในการฟ้องร้องโดยส่วนใหญ่จะเป็นการละเมิดและทำให้เกิดความเดือดร้อน ส่งผลต่อการทำให้กระทบสิทธิ เสรีภาพของประชาชน โดยหลังจากพิจารณาและถูกตัดสินว่าผิดจริงไปแล้ว ก็จะมีขั้นตอนในการลงโทษ เช่น ภาคทัณฑ์ จนไปถึงการลบชื่อออกจากสภาทนายความ และเมื่อต่อใบอนุญาตก็จะต้องผ่านการสอบสวนไปก่อนจนได้รับความไว้วางใจ ถึงจะต่อใบอนุญาตได้

นายเกษม สรศักดิ์เกษม ประธานกรรมการมรรยาททนายความ กล่าวว่า ปัจจุบันมรรยาททนายความมีกฎหลายข้อที่ทนายความอาจจะละเมิด เช่น การหลงทำให้ลูกความรู้สึกว่าจะชนะคดี แต่รู้แก่ใจว่าคดีจะแพ้ หรือการประกาศโฆษณาเรื่องอัตราค่าจ้างว่าความ หรือการไม่รับค่าจ้างว่าความ เว้นแต่การประกาศโดยสภาทนายความเอง โดยที่ผ่านมามีผู้กระทำความผิดจำนวนมาก และประชาชนก็มาร้องเรียนฟ้องร้องกับสภาทนายความจำนวนมาก ในหลายกรณีก็มีการตัดสินไปแล้ว โดยมีการตัดสินคดีเหล่านี้ทุกเดือนเลยทีเดียว ส่วนการที่ทนายเชิญสื่อมวลชนไปแถลงข่าวนั้น สื่อไม่ควรที่จะไปแถลงข่าว เนื่องจากจะมีผลประโยชน์ร่วมกันเป็นเบื้องหลังระหว่างลูกความกับทนายอยู่แล้ว

นายสุชาติ ชมกุล อุปนายกฝ่ายกิจการพิเศษ กล่าวว่า ที่ผ่านมาสภาทนายความเคยลงโทษพักใบอนุญาต 2 ปี กับทนายหิวแสงที่ไปโฆษณาอวดอ้างว่าตนเองเป็นทนาย เป็นอาจารย์ ในขณะที่ปัจจุบันนี้สภาทนายความกำลังจัดสรรพกำลังในการจัดการ เป็น “ตำรวจทนายความ” ตรวจจับทนายที่กระทำความผิดและป้องปรามไม่ให้เกิดการกระทำความผิด เพราะทนายในยุคนี้สามารถสื่อสารไปยังสำนักข่าวโดยตรง ทนายก็ทำตัวรอบรู้ทุกเรื่องจนทำให้เกิดปัญหามายังสภาทนายความ เพราะประชาชนจะได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งสื่อมวลชนสามารถโทรปรึกษาสภาทนายโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ เพื่อป้องกันปัญหาข้อมูลที่เข้าใจผิดได้ ซึ่งถ้าเราตรวจสอบประวัติของทนายความร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้

รศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สื่อที่อ้างอิงทนายนั้น เกิดมาจากในช่วงปี 2557 ข่าวที่เป็นประเด็นหลักๆ ที่ไม่สามารถนำเสนอได้จากการรัฐประหาร ประกอบกับการถือกำเนิดของทีวีดิจิตอลที่ต้องจ่ายค่าใบอนุญาตแบบปีต่อปี ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัว จากข่าวอาชญากรรมเดิมที่เน้นเรื่องเจาะลึกและสืบสวนสอบสวน ต้องเปลี่ยนเป็นอาชญากรรมสังคม เพื่อเจาะข้อมูลและเรื่องราวชาวบ้านมากขึ้น ประกอบกับสังคมให้ความสนใจในเรื่องที่มีทนายร่วมอยู่ในหน้าจอ ทำให้หลีกเลี่ยงการนำเสนอไม่ได้ บางครั้งสื่อจึงไม่อาจทราบได้ว่าเป็นการละเมิดมรรยาททนาย และอาจจะเสี่ยงต่อกองบรรณาธิการเอง

นายนพปฎล รัตนพันธ์ รองเลขาธิการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวว่า สื่อมวลชนที่ผ่านมา มีการรายงานข่าวที่เกี่ยวข้องกับทนายนั้น มีวัตถุประสงค์ในการนำเสนอเนื้อหาให้ประชาชนได้รับทราบ โดยเฉพาะเมื่อทนายไปกับมูลนิธิต่างๆ เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาคดี ฉะนั้นไม่นำเสนอไม่ได้ แต่กองบรรณาธิการต้องมีวิจารณญาณในการนำเสนอเนื้อหาต่างๆ เหล่านี้ รวมถึงตัดสินใจว่าจะนำเสนอหรือไม่นำเสนอ สิ่งนี้เป็นสำคัญ ไม่ใช่ว่าจะไม่ให้นำเสนอเลยก็คงเป็นไปไม่ได้ แต่ที่ผ่านมาสื่อก็ได้รับบทเรียนจากผู้บริโภคมากพอสมควรจากการนำเสนอเนื้อหาที่ละเมิด ซึ่งสื่อมวลชนก็ทราบและมีการปรับ ควบคุม และเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน

นายบรรยงค์ สุวรรณผ่อง กรรมการจริยธรรมวิชาชีพ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวปิดท้ายว่า ทนายความเป็นวิชาชีพที่ต้องจบนิติศาสตร์โดยตรง และต้องจดทะเบียนให้ได้รับใบอนุญาตว่าความจากสภาทนายความเท่านั้น ในขณะที่สื่อมวลชนไม่ต้องจบนิเทศศาสตร์ก็ได้ และไม่ต้องขึ้นทะเบียนใดๆ เว้นแต่สื่อสิ่งพิมพ์ที่ต้องจดแจ้งที่หอสมุดแห่งชาติ หรือสื่อวิทยุโทรทัศน์ที่ขึ้นกับ กสทช. อยู่แล้ว ซึ่งเมื่อสื่อมวลชนกระทำความผิด หากอยู่ในสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยนั้น ก็มีการลงโทษตั้งแต่ตักเตือน จนถึงขึ้นไล่ออกจากการเป็นสมาชิกสมาคมฯ สำหรับกรณีศึกษา คือ กรณีการรับงานมูลค่า 350,000 บาทจัดงานแถลงข่าวโดยทนาย ต้องแบ่งความรับผิดชอบเป็น กรณีองค์กรสื่อ ถ้ารับส่วนแบ่งเงินแล้วขึ้นว่าเป็น Advertorial เท่ากับรับได้ในกรณีนี้ แต่ถ้าไม่แจ้งเท่ากับมีประเด็นทางจริยธรรม สำหรับกรณีนักข่าว ถ้าเกิดรับเงินมา เท่ากับขัดต่อจริยธรรมรุนแรง และจะยังมีกรณีการนำเสนอข่าวเอนเอียง ถ้าเกิดมีการรับเงินส่วนตัวด้วยเช่นกัน