fbpx

**บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์ The Modernist เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565**

หากพูดถึงคุณหมอที่มาเขียนหนังสือ หลายคนคงอาจจะมองว่าหมอที่มาเขียนหนังสือก็คงเขียนแนวสาระเป็นหลักกันเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่แท้ที่จริงแล้วยังมีคุณหมออีกหลายๆ ท่านที่ตั้งใจใช้งานเขียนของตนเองในการสร้างความสุขพร้อมกับสาระความรู้ที่สอดแทรกเข้าไปอีกด้วย ซึ่งเราก็มักจะพบได้ไม่บ่อยสักเท่าไหร่ในประเทศไทย ซึ่งถ้าเราจะวัดประสบความสำเร็จก็คงอาจจะวัดจากจำนวนการตีพิมพ์ ไม่ก็การนำนิยายไปทำเป็นซีรีส์โทรทัศน์ เป็นต้น

วันนี้ส่องสื่อจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับ “หมอแพท-นายแพทย์ อุเทน บุญอรณะ” ซึ่งเป็นทั้งคุณหมอ นักเขียนเจ้าของนามปากการังสิมันต์ และเจ้าของเพจหมอตุ๊ด ผู้ซึ่งใช้งานเขียนเยียวยาผู้คนและสร้างความสุขอยู่เสมอๆ รวมถึงนำพานิยายของตนเองก้าวสู่ระดับโลกผ่านการจัดจำหน่ายแล้วในหลากหลายประเทศ และที่สำคัญคือการที่ถูกบริษัทสื่อนำนิยายและ Pocketbook ไปผลิตเป็นซีรีส์โทรทัศน์อีกด้วย เขามองตัวเองในวันนี้และการเติบโตของวงการนักเขียนอย่างไร ติดตามอ่านได้ในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้

1
จากความฝัน สู่การลงมือทำในฐานะ “นักเขียนระดับนายแพทย์”

ทำไมถึงสนใจที่จะเขียนนิยาย

จริงๆ อยากเป็นนักเขียนก่อนเข้ามหาวิทยาลัยอีก ตอนช่วง ม.ปลายเนี่ยจะมีความใฝ่ฝันอย่างหนึ่งว่าอยากเป็นสาวอักษรจุฬาฯ แต่พอรู้ตัวอีกทีก็เข้ามาเรียนคณะแพทย์แล้ว แต่ระหว่างที่เรียนหมอก็ไม่ได้ทิ้งความอยากเขียนซะทีเดียวนะ เราก็คิดว่าต่อให้เป็นหมอก็เป็นนักเขียนได้เหมือนกัน ตอนประมาณมหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 5 ตอนนั้น Dr. Pop เขียนเรื่อง The White Road’ ซึ่งดังมากเลย และช่วงนั้นเป็นยุคทองของ Dek-D ทุกๆ คนจะเข้าไปใน Dek-D เพื่อที่จะเขียนนิยาย เราก็เขียนนิยายใน Dek-D ด้วย ก็เขียนได้เรื่องนึง ยังไม่จบดีแต่มีคนติดตามเยอะ แต่ไม่มีคอนคอมเมนต์ ตอนนั้นเราเขียนเรื่อง ‘กังหันกับพัดโบก’ เป็นเรื่องแรกเลย เขียนไปแค่ 5-6 ตอนเอง ก็มีคนนึงมาคอมเมนต์ว่า “เขียนได้ดีนะอยากให้เขียนต่อไป” คอมเมนต์นั้นชื่อว่า ประภัสสร เสวิกุล (นักเขียนชื่อดัง) เราได้กำลังใจมากแต่ก็ไม่ได้เขียนต่อ เพราะว่าขึ้น extern (นักศึกษาแพทย์ปี 6) มันยุ่ง ก็ไม่ได้เขียนอีกนานเลย

จนกระทั่งได้มาทำงานเป็นหมอเฉพาะทาง ก็ได้เริ่มทำเพจชื่อว่า ‘คุณหมอเกาลัด’ เพราะชอบวาดการ์ตูน แต่พอทำแล้วพวกมุกตลกของเราก็โดนเพจใหญ่ก็อปปี้งานเราไป เราก็ไปทวงเครดิตเขาว่าคุณเอามุกตลกเราไป เราก็โดนบล็อกหมดเลย บล็อกคอมเมนต์ แถมลูกเพจเขาก็ตามมาด่าถึงเพจเราเลย หาว่าไปเกาะเขาดัง คือเรารู้สึกว่ามุกตลกในการ์ตูนมันก็อปปี้ง่าย แล้วเราใช้เวลาทั้งวันในการวาดการ์ตูน 4 ช่องให้เขามาก็อปปี้? เราว่ามันไม่ใช่ ก็เลยไปเขียนเป็นบทความลงในเพจ ก็ทำเพจ ‘หมอตุ๊ด’ ขึ้นมาเขียนบทความ เขียนมาได้สักพักนึงก็มีสำนักพิมพ์ติดต่อมา เขาบอกว่าดูจากลักษณะคำพูดคำจาในการเขียนแล้วพอจะเป็นนักเขียนได้นะ ลองเริ่มเขียนนิยายดูมั้ย ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นเขียนนิยายครับ สำนักพิมพ์แรกที่ติดต่อเข้ามาคือ Mono Publishing ก็ได้เขียน Wake Up ชะนี เป็นหนังสือที่เขียนเล่มแรกแต่ออกเป็นเล่มที่ 2 นะ เล่มแรกที่เขียนทีหลังแต่เสร็จก่อนคือ ‘กว่าเจ้จะเป็นหมอ’ ซึ่งออกกับสำนักพิมพ์ Siam Inter หลังจากนั้นก็เขียนมาเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบันนี้เลยครับ

ในระยะทางการเขียนเราเก็บประสบการณ์ยังไงบ้าง

มีอยู่ 2 อย่างครับ คือเก็บประสบการณ์และเก็บความรู้ ประสบการณ์เราได้จากบรรณาธิการล้วน ๆ เลย เพราะสมัยนั้นการเขียนหนังสือจะต้องพึ่งพาระบบบรรณาธิการ เขาก็จะอ่านแล้วก็คอมเมนต์เราโดยตรงในมุมมองของคนอ่านและคนที่ใช้ภาษาเก่งกว่าเรา เขาก็จะบอกว่าเราว่ามีคำซ้ำที่ใช้เยอะไปนะ มันจะดูรกๆ นะ เขาก็จะแก้ภาษาให้เรา ความประณีตในการเว้นวรรคย่อหน้า นั่นคือสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากบรรณาธิการ แล้วก็ได้เรียนจากคนอ่าน การที่เราเล่าเรื่องเราเข้าใจมันอยู่แล้วเพราะเราเป็นเจ้าของเรื่อง แต่คนรับสารเขาจะเข้าใจตามที่เราเขียนหรือเปล่า การที่เราเขียนลงบนอินเตอร์เน็ตแล้วมีคนอ่านและเขาคอมเมนต์กลับมา มันทำให้เราเหมือนได้ตรวจการบ้านว่าคนที่เขารับสารจากเราเขาเข้าใจตรงกับเรามั้ย ถ้าไม่ตรงมันเป็นเพราะอะไร เราก็มาปรับแก้ สุดท้ายคือประสบการณ์จากตัวเองว่าเราพอใจกับเรื่องที่แต่งมากน้อยแค่ไหน กลับมาอ่านแล้วรู้สึกยังไงกับตัวเอง อันนี้เป็นส่วนของประสบการณ์

ถัดมาคือในส่วนของความรู้ เราก็ได้เรียนออนไลน์กับ Writing Academy หลายๆ ที่ เรียนเรื่องทฤษฎีการเขียน แล้วก็อ่านหนังสือด้วย จริงๆ แล้วการเขียนนิยายมันก็มีทั้ง Hard Side แล้วก็อยู่ใน Soft Side ด้วย เราก็ได้ไปฝากเนื้อฝากตัวกับนักวิจัยทางด้านสมองคนนึง เขาคือ Professor Paul Zak เขาทำการวิจัยเกี่ยวกับสมองเป็น Neuro Storytelling ว่าเรื่องราวแบบไหนที่มันกระตุกสมอง ทำให้คนสนใจมากขึ้น เราได้ไปฟังเขาพูดในการประชุมวิชาการนานาชาติหลายๆ ที่ ได้ทำความรู้จักพูดคุยทาง E-mail ติดตามงานวิจัยของเขา จริงๆ ถ้าไม่ติดเรื่องสถานการณ์ COVID-19 นะ เราคงจะไปทำวิจัยกับเขาที่อเมริกาแล้ว เรารอให้สถานการณ์ดีขึ้นเรากะจะไปทำ Research Fellow กับเขาช่วงนึง ก็คงจะไปสัมภาษณ์เรื่อง Neuro Storytelling ทั้งในเรื่องของ Experience และ Knowledge เอง

ตอนเขียนเรื่อง ‘กังหันกับพัดโบก’ ได้ใช้ประสบการณ์ของตัวเองในเรื่องไหม

ไม่เลยครับ ‘กังหันกับพัดโบก’ เป็นเรื่องที่เริ่มต้นจากความประทับใจในมหาวิทยาลัยตัวเอง เพราะในมหาวิทยาลัยมีมุมสวยๆ เยอะ มีมุมที่คนไปจีบกันได้เยอะ ถ้าหากว่ามีความรักเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยนี้จะเป็นยังไง ก็เลยเขียนจากความประทับใจในสถานที่ของตัวเอง แล้วก็สร้างเป็นเรื่อง ‘กังหันกับพัดโบก’ ขึ้นมา นิยายที่ดีมีได้หลายแบบนะ แต่สำหรับเรานิยายที่ดีเป็นนิยายที่สะท้อนความคิด ไม่ใช่สะท้อนตัวตนของเรา มันสะท้อนความคิดของเราต่อสถานที่นี้ว่าเรารักในสถานที่แห่งนี้ เราอยากให้สถานที่นี้ไปปรากฎในนิยาย ฉะนั้นจะแทบไม่มีเรื่องราวและตัวตนของเราไปปรากฎในนิยาย เว้นแต่จะมีมุกตลก มุกจีบกัน ที่บางทีเราก็ได้ยินมาจากเพื่อนได้เห็นจากที่ต่างๆ เราก็จะทยอยใส่เข้าไปในเรื่องเป็นกิมมิค ในเรื่อง คำพูดติดปากบางอย่างก็ใส่เข้าไป แต่พวกลักษณะนิสัยก็จะไม่ค่อยได้ใช้ ตัวละครเราจะออกแบบขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์วัตถุประสงค์บางอย่าง เช่น เรื่องนี้จำเป็นต้องมีตัวละครนิสัยแบบนี้เป็นตัวดำเนินเรื่อง ตัวละครก็จะนิสัยแบบนี้ จะไม่ได้กำหนด character มาก่อนแล้วค่อยมาดำเนินเรื่อง เราจะกำหนดเนื้อเรื่องมาก่อนแล้วค่อยออกแบบตัวละคร

การเป็นอาจารย์แพทย์ กับการเป็นนักเขียน มีอะไรที่ต้องใช้เหมือนกันไหม

ทุกอาชีพมีสิ่งที่ต้องใช้เหมือนกันคือวินัยในการทำงาน แบ่งเวลา ทุกคนจะถามทำยังไงถึงแบ่งเวลาได้ การแบ่งเวลาไม่มีจริง แต่มีวินัยในการใช้เวลา เคารพเวลา ตารางเวลาของเราที่สำคัญ เราทุกคนรู้อยู่แล้วว่าเราต้องทำอะไรบ้าง เราจัดตารางเวลาของตัวเองได้ ทุกคนมีตัวช่วยในการจัดตารางเวลาเหมือนการเขียน Bullet Journal แต่ที่เราทำไม่ได้เพราะเราไม่เคารพวินัยในการจัดตารางเวลา เราไม่มีวินัยในการทำงาน เพราะฉะนั้นการทำงานหลายๆ อย่างมันจะส่งผลแบบนี้ได้จริง ขาดแค่วินัยอย่างเดียว เราก็ใช้แค่นี้แหละ ทุกวันเราจะต้องนั่งหน้าคอม 1 ชั่วโมง จะเขียนออกหรือไม่ก็ต้องนั่งให้ได้ 1 ชั่วโมง พยายามเขียนเต็มที่เท่าที่จะเขียนได้ นี่เป็นวิธีที่ Stephen King สอน เขาบอกว่าอย่าไปกำหนดหน้า เช่นทุกวันต้องเขียนได้ 10 หน้า เพราะเราอาจต้องใช้เวลา 10 ชั่วโมงในการเขียน 10 หน้า หรือบางวันเราใช้ 10 นาทีก็เขียนเสร็จแล้ว แล้วเวลาที่เหลือล่ะ เครื่องเรายังร้อนอยู่เลย แต่เราเซ็ตเอาไว้แล้วว่า 10 หน้าพอ วันที่เครื่องร้อนวันนั้นก็ได้แค่ 10 หน้า ฉะนั้นให้กำหนดเวลาซึ่งมันจะตรงกับทฤษฎีของสมองว่า สมองคนเราเหมือนโต๊ะทำงาน ถ้าเรารู้ว่าบ่าย 3 เราจะต้องเตรียมเขียน สมองส่วน Prefrontal Cortex เราก็จะสั่งการแบบนั้น ถ้าเราวางแผนไว้ว่าทุกวันเราจะต้องเขียน มันจะเริ่มดึงสภาวะจากโต๊ะทำงานในสมองให้เหมาะสำหรับการเขียน สมองก็จะฝึกให้เรามีวินัยในการทำงาน แล้วก็เอื้อให้เราทำงานตรงนั้นได้ง่ายขึ้น คุณลองดูก็ได้

สมมติว่าไปถ่ายรูปมาแล้วจะมาแต่งรูป 1 ชั่วโมง วันแรกก็จะไม่ค่อยมีอะไร แต่ 1 สัปดาห์ผ่านไปเมื่อคุณกลับมาแต่งรูปในเวลาเดิมจะเห็นได้ว่าความเร็วในการทำงานจะเพิ่มขึ้น เพราะสมองส่วน Prefrontal Cortex ได้รับการฝึกมาแล้ว นี่เป็นการเอา Neurology มาใช้ในชีวิตประจำวัน

2
เมื่อนิยายวายไม่ได้มีแค่ Y

อยากให้ช่วยขยายที่บอกว่านิยายที่แต่งโดย LGBTQ+ จะมีความ Real กว่า

เอางี้ นิยายชาย-ชายในตลาดสากลอย่าง Amazon เขาจะแยกเป็น 2 หมวดหมู่ คือ Yaoi Novel (นิยายวาย) กับ LGBT Literature (Gay Literature) แยกกันชัดเจน นิยายวายมีจุดประสงค์ให้คนอ่านแล้วมีความสุข อะไรที่อ่านแล้วมีความสุขเขาก็ใส่ เพราะ reality มันไม่ใช่ KPI ของเขา พอมาในส่วน LGBT Literature เขาต้องการให้คนเข้าใจวิถีชีวิตมากขึ้น เขาก็จะใส่ความ real เข้าไป ถ้าอ่านแล้วฟินด้วยก็ไม่ผิด แต่วัตถุประสงค์หลักของเขาคือสร้างความเข้าใจต่อ community มันจึงแยกประเภทชัดเจน เวลาคุณจะลงขายคุณเลือกได้เลยว่าคุณจะไปที่ Yaoi Novel หรือ LGBT Literature

พอมาเป็นของไทย บางคนก็เขียนแบบ hybrid เราก็เป็นคนนึงที่เขียนแบบนั้น ความต่างกันก็จะไม่ค่อยชัด เราเคยเขียนบทความเรื่องนี้ลงใน Twitter เรื่องนิยายวายกับ LGBT เราโดนถล่มด่าเละเลยว่าเราโง่ เราก็สงสัยนะว่าคนที่เขาพยายามจะมา educate เราเขาจบอะไรมาเหรอ เขาถึงมีสิทธิ์ที่จะพูดว่าจะมาสอนเราได้ คือเราสอนในมหาวิทยาลัยนะ เราสอน anatomy ของวรรณกรรมด้วย แต่ก็ไม่เป็นไร ถือว่าเราได้ฟังเขาด้วยว่าการรณรงค์ที่จะแยกเรื่องพวกนี้มันไม่เวิร์ค รู้สึกว่าเราก็ไม่ควรทำแบบนั้นเหมือนกัน ถ้านิยายออกมาแล้วทำให้คนอ่านมีความสุข หรือได้ความเข้าใจมากขึ้น นั้นคือมันทำหน้าที่ของมันได้ดีแล้ว หลังจากนั้นเราก็ไม่ได้พูดเรื่องนี้อีกเลย

กลับมาที่อุตสาหกรรมวาย ยังไงก็เป็นของผู้หญิง ทำเพื่อผู้หญิงอยู่ดี LGBT ก็เริ่มเข้ามาบ้าง นักเขียนที่เป็นเกย์ก็เริ่มเข้ามาบ้างเหมือนกันแต่ก็ยังน้อยอยู่ ถือว่าเป็นรสชาติอีกแบบนึง เป็นอีกตัวเลือก ไม่ได้ต่อสู้แย่งชิงคนอ่านกัน มาเพิ่มความหลากหลายของตลาด เพราะนิยายเป็นสิ่งที่อ่านแล้วจบ ไม่ได้แปลว่าเขาจะอ่านแค่นักเขียนคนเดียว เขาอ่านทุกอย่างในโลกนี้แหละ ดังนั้นทุกคนสามารถเข้ามาอยู่ในตลาดนี้ได้หมด มีทั้งนักเขียนผู้หญิง เกย์ หรือชายแท้ก็มีนะ ซึ่งต่างจากตลาดเมืองนอก ถ้าเป็นแนววายฟิน ๆ ไปเลยจะเป็นผู้หญิง ส่วนเกย์ก็จะเขียน LGBT Literature ไปเลย พวกเรื่อง Coming of Age, Come out, การสารภาพกับครอบครัว, การต่อสู้ภายใต้ความกดดันทางศาสนา มีเรื่องนึกเราชอบอ่านมากคือ Autoboyography พระเอกเป็นผู้เผยแพ่ศาสนาในนิกาย Church of Normal ซึ่งต้องถือครองพรหมจรรย์หรือต้องมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงเท่านั้น แต่เขาดันชอบชายด้วยกัน มันก็ต้องต่อสู้กับความรักทางศาสนา แล้วก็ความรักของตัวเอง ดังนั้นแนวของเมืองนอกก็จะมีความกระเสือกกระสน จะไม่ค่อยฟินเท่าไหร่ ไม่แปลกเลยที่เมืองนอกเขาก็อ่านนิยายวายของไทยเยอะ

แล้วมีวิธีแยกไหม

ไม่มีนะ แล้วก็คิดว่าไม่จำเป็นต้องแยกด้วย นักเคลื่อนไหวต้องการให้สังคมเกิดการรับรู้และนำไปสู้ความเข้าใจ ซึ่งมันต้องใช้สื่อที่หลากหลายเข้าไปช่วยเช่นซีรีส์ เพราะคนให้ความสนใจเยอะ แต่จริงๆ มีสื่ออื่นๆ อีก ดังนั้นการคาดหวังที่จะสร้างรอยยิ้มให้คนดูต้องให้ความรู้ด้วย มันก็อาจจะเกินตัวไปหน่อย คือซีรีส์เขามีนายทุนจ้าง เขาก็ต้องทำงานตอบสนองลูกค้าก็คือคนดู ไม่ใช่ว่าผู้จัดจะไม่อยากนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง หลายๆ คนเขาก็อยากจะใส่โน้นนี้นั้นแหละ แต่ด้วยทุนที่จำกัดและ KPI ที่กำหนดมาแล้วเขาก็ทำได้เท่าที่ได้โจทย์มา บางทีการที่เราจะเข้าใจอะไรสักอย่างคือการหยุดทำความเข้าใจ

คิดเห็นอย่างไรกับการให้ความรู้ที่ผิดออกไป หรือเกินจริงบางอย่าง

มันเป็นข้อถกเถียงในกลุ่มนักเขียนเลยนะว่าบางท่านมองมันเป็นแค่นิยายที่ให้ความบันเทิง ฉันก็อยากจะใส่ความรู้แต่ดันใส่ความรู้แบบผิดๆ มา แต่คนอ่านควรจะมีวิจารณญาณในการคัดกรองเอง เช่น ผู้ชายท้องได้มันไม่มีจริง แต่ก็มีคนโต้กลับมาว่า แล้วนักเขียนไม่คิดจะมีวิจารณญาณเหรอ มันเลยเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันตลอดเวลา สุดท้ายก็แล้วแต่นักเขียน ถ้าคุณอยากจะใส่อะไรที่คุณไม่รู้แล้วภูมิใจกับมันเต็มที่ สักวันมันจะกลับมาหาตัวคุณเอง มีบางคนพยายามจะเขียนเกี่ยวกับโรค 2 บุคลิก เวลาที่จะเปลี่ยนจากบุคลิกนึงไปอีกบุคลิกจะมีอาการชักดิ้นชักงอ ช่วงที่ออกมาขายแรกๆ คนก็ชอบ แต่หลังๆ ก็เริ่มสงสัยกันว่าแบบนี้มันจริงเหรอ แล้วมันก็ย้อนกลับมาหานักเขียนเอง ฉะนั้นคุณจะเขียนอะไรก็เขียนได้ แต่คุณต้องยอมรับผลลัพธ์ที่มันจะย้อนกลับมาหาตัวคุณเองด้วย เราก็เลยจะเขียนแต่สิ่งที่ตัวเองรู้ มีคนเคยถามนะว่าทำไมเขียนแต่เรื่องหมอ อ้าว! ก็เราอยู่ในวงการนี้ เรามีความรู้ในด้านนี้ หรือเขียนเรื่องที่เราสามารถหาผู้เชี่ยวชาญมาคุยได้ เพราะถ้าเขียนเรื่องที่เราไม่รู้ไปมันก็เสี่ยง เราเองก็ไม่มีแนวคิดที่จะรับผิดชอบคนอ่านขนาดนั้น แต่ขอรับผิดชอบตัวเองก่อน มันไม่สะท้อนกับมาทำร้ายเราก็ถือว่าโอเคแล้ว

3
ซีรีส์และนิยายวายไทย ไปไกลระดับโลก

ช่วยขยายความเรื่องเกรด Thailand ทั้งตัวนิยายและซีรี่ส์หน่อยครับ

ซีรี่ส์เขาถือว่าเป็นหน่วยที่น่าลงทุนลงหุ้น สมมุติว่าซื้อลิขสิทธิ์ในการ Streaming เอาไปฉายในบ้านเขาจะทำกำไรได้แน่ เวลามีการขายเขาก็จะซื้อในราคาที่ค่อนข้างดี ประมาณ 1,000 – 3,000 USD/ตอน ถ้าเรื่องนั้นทำกระแสได้ดีก็จะทำเงินได้มากกว่านั้นอีก ถือว่าขายได้ในราคาที่ดี แล้วก็ขายได้เร็วด้วย บางเรื่องยังไม่ได้เปิดกล้อง แค่เอาเรื่องของตัวเองไปใส่ใน catalog ของ agency ก็มีคนซื้อแล้วนะ ถ้าคุณภาพยังดีอยู่แบบนี้ ราคาในตลาดก็จะสูงขึ้นเรื่อยๆ แล้วมันต่อยอดได้เยอะ ไม่ได้ขายได้เพียง Broadcasting License นะ แต่ Fan Meet ก็ได้ ขายสินค้าก็ได้ซึ่งอาจจะเป็นของที่แทรกอยู่ในเรื่องอย่างตุ๊กตาจากเรื่องรักแห่งสยาม เขาประมูลกันไป 5 – 6 หมื่นก็มีนะ

ลองตีเป็นราคาไทย 12 ตอนนี่น่าจะได้ 10 ล้านบาทต่อ 1 ประเทศเลยใช่ไหม

ใช่ ถ้าเราคิดราคาแบบ maximum นะ เพราะฉะนั้น เราจะเริ่มเห็นอนาคตแล้วว่าซีรี่ส์ที่ฉายจะฉายแบบ Exclusively มาขึ้นจะพยายามไม่เอาไปลงช่องทางที่ดูฟรีอย่าง YouTube พยายามไม่มีคำบรรยายภาษาอังกฤษ เพราะถ้ามี ถามว่าคนฟิลิปปินส์จำเป็นต้องดู Streaming ของเขามั้ย ก็ไม่ ถึงยอดวิวจะเพิ่มขึ้น แต่รายได้ไม่ได้เพิ่มขึ้น เพราะเป็นยอดวิวจากนอกประเทศ ไม่ได้เกิดมูลค่าการซื้อขายภายในประเทศไทย ถ้ายอดวิวเพิ่มแต่ convertion rate ลดลง racial ลดลงมันไม่ดีต่อผู้ประกอบการแน่นอน เราก็จะเริ่มเห็นการที่ไม่มีคำบรรยายภาษาอังกฤษบ้าง เพื่อบีบให้ Streaming ต่างประเทศมาซื้อ Broadcasting License ไป อย่างเรื่อง รักนาย My Ride แถบละตินอเมริกาเขาอยากดูมาก ก็มีคนที่ฟังภาษาไทยได้เขาก็ทำ Fan Sub (คำบรรยายภาษาอังกฤษที่จัดทำโดยแฟนคลับกันเอง) แล้วยอดคนดูเป็นล้าน แต่บริษัทแม่ไม่ไล่ลบคลิปนะ เขาไปแคปมาให้ดูว่ามีคนดูเยอะขนาดนั้นเลยนะ แล้วส่งไปให้ Streaming ของประเทศนั้นดูว่าคนดูเยอะนะ ถ้าคุณซื้อเรื่องนี้ไปฉาย คนดูจะเยอะขนาดไหน แค่ไปตั้งฝ่ายกฎหมายมาไล่ลบ แล้วดูตัวเลขสิว่าคนเขาพร้อมดูกันขนาดนี้ คุณให้ดูฟรีแล้วขายโฆษณายังได้เลย สมมุติขายให้ 3 ล้าน แล้วคุณขายโฆษณาได้ 5 ล้าน คุณให้คนในประเทศดูฟรีก็ได้กำไรไปแล้ว 2 ล้านไม่เอาหรอ นี่แหละเขาก็จะขายได้ ฉะนั้น Fan Sub ก็มีส่วนช่วยที่จะอำนวยความสะดวกในส่วนนี้ได้

นิยายมีโอกาสจะช่วยรณรงค์ในอนาคตบ้างหรือเปล่า

เอา ณ  ตอนนี้ก่อน เจ้าตลาดทางนิยายคือญี่ปุ่น ทั้งนิยายทั้งมังงะ แต่ญี่ปุ่นเริ่มเห็นแล้วว่านิยายวายไทยเริ่มจะมีพื้นที่มากขึ้นในตลาดโลก คนอ่านนิยายไทยเยอะและกำลังการผลิตก็เยอะมาก ถ้าคุณเป็นเจ้าของตลาดแล้วเห็นว่ามีคนเข้ามารุกรานก็คงจะต้องกลัว ทำยังไงถึงจะสู้กลับได้ ญี่ปุ่นใช้เวลาแป๊บเดียวในการคิดแผน เขาไม่สู้กลับ แต่เขาติดต่อมาหาว่าอยากซื้อลิขสิทธิ์ไปแปลเป็นภาษาญี่ปุ่น เขาทำให้นิยายไทยกลายเป็นพันธมิตร ถ้าคนญี่ปุ่นอยากอ่านนิยายไทยก็ไม่ต้องไปหาอ่านออนไลน์ มาซื้อได้เลยเพราะเขาซื้อไปตีพิมพ์เองเลย เขาใช้เวลาไม่กี่นาทีในการคุยโทรศัพท์และร่างสัญญา แล้วเขาก็ตั้งแผนกที่พิมพ์เฉพาะนิยายวายไทยจากนักเขียนที่คัดกรองมาแล้ว แล้วให้นักวาดมาวาดปก ดัดแปลงเป็นมังงะ แล้วก็ทำลิขสิทธิ์ ในสัญญาเขาระบุไว้เลยว่าถ้ามังงะได้รับความนิยมมากจนมีคนสนใจจะนำไปทำเป็นซีรี่ส์ญี่ปุ่นต้องเจรจาผ่านเขา เขาก็จะกลายเป็นผู้ถืออำนาจ เหมือนที่ คาโดคาวะ อมรินทร์ เป็นคนถือลิขสิทธิ์ในการทำเรื่อง Love Stage ดังนั้นในอนาคตจะเป็นเรื่องของการเป็นพันธมิตรกัน นักเขียนที่มี personal branding ก็จะได้รับการติดต่อข้ามประเทศ ฉะนั้นแล้วนิยายกับซีรี่ส์จึงมีกลไกที่จะ across the border ที่ต่างกัน

เรียกอย่างนี้ได้มั้ยว่าตัวนิยายวายมีการสร้าง soft power ของคนไทยให้ไปไกลในระดับโลก

ใช่ มันเป็นไปแล้ว มันเริ่มไปเรียบร้อยแล้ว อย่างเรื่อง รักนาย My Ride ของเราก็มีอาจารย์ด้านไทยศึกษาในมหาวิทยาลัยโตเกียวเป็นคนแปล เขาศึกษาเรื่องวิถีของคนไทย เขาบอกว่านิยายเรื่องนี้มีการพูดถึงการบวช แนวคิดของพุทธศาสนา อาหารไทย วิถีชีวิตของหมอชาวไทยที่เป็นหมอจริงๆ เขาก็บรรจุนิยายเรื่องนี้เข้าไปในหอสมุดของมหาวิทยาลัยโตเกียวด้วย ในหมวดของอาเซียนศึกษา เป็นหนังสือแนะนำเลยว่าควรอ่านถ้าต้องการศึกษาวิถีชีวิตของคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถ้ามีกิจการที่เขาอยากจะมาลงทุนในบ้านเราเขาก็ต้องศึกษาวิถีชีวิต ซึ่งก็สามารถอ่านจากนิยายได้เหมือนกัน ในนิยายเราใส่อาหารไทยไปค่อนข้างเยอะ ก็จะมีคนขอวิธีการทำอาหารเข้ามา สอนให้เขาหน่อยได้มั้ย คือเขาไปหาดูแล้วมันน่ากินมาก แต่เขาไม่รู้ว่ามันทำยังไง อย่างตอนพิเศษที่อยู่ในฉบับภาษาจีนกับญี่ปุ่น และกำลังจะทำเป็นภาษาไทย ก็จะเน้นเรื่องอาหารเป็นส่วนใหญ่ แล้วก็เลือกอาหารที่หาวัตถุดิบทำได้ง่ายตามซุปเปอร์มาร์เก็ตเอเชีย อาหารไทยก็จะถูกนำเสนอผ่านทางนี้ จริงๆ แล้ว soft power มันคือ pop culture อย่างนึงที่ถูกนำพาโดยสื่อบางอย่าง ตัวนิยายวายน่ะไม่ได้เป็น soft power แต่เป็น media ที่จะนำ soft power ออกไปยังตลาดโลก อย่างเกาหลีก็ใช้ซีรีส์ในการนำพาอาหารเกาหลีออกไป

4
เมื่อนักเขียนไทยบุก Amazon

ช่วยขยายเรื่องการนำงานของเราไปขายใน Amazon

Amazon เป็น fullfill business เราสามารถเข้าไปตัวเปล่าได้เลย ไม่ต้องมีอะไรเลย เขาทำให้เราทุกอย่างถ้ามีต้นฉบับภาษาอังกฤษพร้อม เขาจะมีโปรแกรมของเขาที่จะ convert ไฟล์ให้เป็น e-book ในรูปแบบของ Amazon แล้ววางขายได้เลย พอวางขายปุ๊บ อยากได้ ISDN ใช่มั้ย กดปุ๊ปได้เลย เขาออกให้เราเสร็จเลย พอส่งเรียบร้อยแล้ว ภายใน 3 วันนิยายของเราจะถูกวางขาย มีระบบการรายงานถึงเวลาก็จะตีเช็คหรือโอนเงินเข้าบัญชีเรา และในปัจจุบันเขามีโรงพิมพ์หนังสือเป็นของตัวเอง เป็นระบบ print on demand เราเอาไฟล์ต้นฉบับ กราฟิกของปกใส่เข้าไป มันก็จะคำนวณว่าเล่มนี้ต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 7 USD แล้วเราจะขายกี่บาทดี สมมติเราขาย 12 USD ได้กำไรเท่านี้เราได้ส่วนนึงเขาได้ส่วนนึง แล้วถ้ามีคนสั่งเข้ามาเขาก็ทำตามจำนวน ถ้าสั่ง 10 เล่ม ก็พิมพ์ 10 เล่ม แล้วเขาก็จัดการส่งของให้เรียบร้อย เรามีหน้าที่เขียนอย่างเดียวเท่านั้น ISDN ที่ได้ก็เป็นตัวที่เขาออกให้เลย ร้านหนังสือบางร้านในต่างประเทศเขาก็สั่งจาก Amazon 50 – 60 เล่มเพื่อเอาไปวางขายในร้านของเขาก็ได้ เท่ากับว่าเราไม่ต้องมีทีมเลย เรามีแค่ต้นฉบับและรู้วิธีว่าจะต้องทำยังไงบ้าง ซึ่งมีเยอะมากหาอ่านได้ใน Google ใน YouTube ก็มีคลิปสอนนะ

ในตลาด Amazon มีนักเขียนไทยเข้าไปเยอะไหม

เยอะมาก เมื่อก่อนยังไม่ค่อยเยอะ แต่พอนิยายวายไทยเริ่มเป็นที่รู้จักในตลาดโลก ก็มีคนแปลเป็นภาษาอังกฤษเข้าไปขายเยอะมากเช่น ธารไทป์ (Tharn Type) หรือ เพราะเราคู่กัน (2gether) ฉะนั้นสิ่งที่ควรจะต้องระวังก็คือภาษาอังกฤษนี่แหละ บางเล่มได้คะแนนรีวิว 1 ดาวซึ่งมันแย่มาก นักอ่านเมืองนอกเขาใจดีนะเขาให้โอกาสเขาซื้อเขาไม่มาขอของฟรี แต่เขาก็ขอถือสิทธิ์ในการเป็นลูกค้า ถ้าแปลไปแล้วไม่ดีเขาก็ด่าเละเลยเหมือนกัน เราสอบ IELTS ได้ 8 นะ แต่เราก็จ้างนักแปลเพราะถ้าเราแปลเองเราได้ความเข้าใจ แต่นักแปลเขาจะแปลให้ได้อรรถรส ได้ความประทับใจ ซึ่งระดับ IELTS อาจจะพาไปไม่ถึงตรงนั้นเพราะมันไม่ใช่อังกฤษสำหรับวรรณกรรม เราก็เลยจ้างนักแปลไปเลย ลงทุนหน่อยนึง ปีแรกนี่เราแทบไม่ได้กำไรจากการแปลเลย แต่เราได้คนรู้จักผลงานเรา เพราะบางคนเขาซื้อแค่ครั้งเดียว ถ้าเราแปลไม่ดีพอเราออกเล่มถัดไปเขาก็ไม่ซื้อ เราเลยจ้างนักแปล แปลให้ดีที่สุด ถึงมันจะไม่ดังอย่างน้อยคนมาอ่านเขาก็รู้สึกว่านิยายเราแปลดี ภาษาดี เนื้อเรื่องดี ถึงจะได้ 10 รีวิว แต่ได้ 5 ดาวทั้งหมด ก็ถือว่าเราไปรอด แต่ถ้ามี 300 รีวิว มี 100 รีวิวให้ 1 ดาวก็แย่นะ เราไม่ได้ตายที่เนื้อเรื่อง แต่ตายตรงการแปล ก็กลายเป็นว่าตอนนี้นักเขียนไทยบุกตลาด Amazon เยอะ

แล้วมันก็เอื้อให้กับตลาดนักแปลด้วยนะ ตลาดนักแปลก็เริ่มโตขึ้น เริ่มมีดรามานักแปลมาตัดราคากัน สิ่งที่ตามมาคือตลาด Illustrator (นักวาดภาพประกอบ) ก็เริ่มมา อย่างของเราค่าจ้างวาด 33,000 บาท เราลงทุนนะเพราะมันคืองานศิลป์ เราไม่ต่อรองราคาเลย คุณใช้แรงกายไปเยอะคุณสมควรได้ เราให้ทิปส์เขาด้วย เขาคิด 33,000 เราให้เขาไปเลย 35,000 พอเราได้เข้าไปในตลาดเขาแล้วเราก็ได้รู้ว่านักวาดคนไทยเก่งๆ เยอะมาก บางทีนักเขียนต่างชาติแถวๆ อาเซียนนี้ก็จ้างนักวาดไทย แต่นักเขียนไทยดันไปจ้างนักวาดไต้หวัน อย่างอาจารย์ Layla (เลย์ล่า) รับงานไทยเยอะมากจนวาดพญานาคได้แล้ว อาจารย์ Chonggong (ฉงกง) ของจีนก็วาดงานไทยบ่อยมากอย่างเรื่องนิทานพันดาว เห็นมั้ยว่า 1 อุตสาหกรรมต่อยอดไปได้เยอะมากเลย

5
เมื่อถึงวันที่นิยายกลายเป็นซีรีส์

พอนิยายของเราไปเตะตาผู้จัด เรารับมือกับเรื่องนี้ยังไงบ้าง

ต้องเริ่มเล่าจากนิยายไม่เตะตาผู้จัดก่อน จริงๆ แล้วมันจะมีช่วงเริ่มต้นซีรีส์วายประมาณปี 2016 ที่เริ่มมีความนิยมมากขึ้น พอปี 2017 เป็นปีที่กราฟของซีรีส์ชาย-ชายพุ่งขึ้นมากเลย เพราะว่าผู้จัดละครเขาเก็บข้อมูลมาเรียบร้อยละ เขามองว่ามันเวิร์ค ไม่จำเป็นต้องเอาเป็นคู่รองละ เอามาเล่นเป็นคู่หลักไปเลย ตอนนั้นก็มีหลายเรื่องเลยที่ดังขึ้นมา มีนักเขียนที่เขาอยู่ในวงการมาก่อนเช่นนามปากกา JittiRain, Chiffon cake แล้วก็มีเรา ซึ่งเราก็ภูมิใจงานของตัวเองในระดับนึง ภูมิใจในลักษณะภาษาของตัวเองในระดับนึง แล้วก็ความแตกต่างคือเราเป็นนักเขียนที่เป็นเกย์ เราก็จะไม่ค่อยมีความ Fantasize มากเท่านักเขียนผู้หญิงแต่เราจะมีความ Real เราก็น่าจะได้รับการมองเห็นบ้าง แต่ก็ไม่มีเลย เอาจริงๆ นะ นอกจากผู้จัดจะไม่สนใจแล้ว คนอ่านก็ยังไม่สนใจ คือเรามีกลุ่มคนอ่านที่เหนียวแน่น แต่คำว่าเหนียวแน่นไม่ได้แปลว่าเยอะ มันจะมีคนที่ไม่ว่าเราจะเขียนอะไรเขาก็พร้อมจะอ่านและรักงานเรา ซึ่งคนกลุ่มนี้น่าจะมีสักหลักสิบไม่ถึงร้อย แต่เป็นกลุ่มคนอ่านที่เราขอบคุณเขามาจนถึงทุกวันนี้เลยที่อยู่กับเรามาตั้งแต่แรก เพราะเราไม่ได้เป็นที่รู้จัก ดังนั้นเราเลยไม่ได้ถูกมอง ก็มีความน้อยใจ รู้สึกแย่

จนกระทั้งวันนึง คือเราชอบนักเขียนคนนึง เขาชื่อ Devid Levithan เขาเขียนหนังสือดีมาก แต่นิยายของเขาได้ทำเป็นหนังแค่ 2 เรื่อง พ่อบอกว่านั่นคือนักเขียนที่เป็นอาจารย์ของลูก หมายถึงเรานับถือเขาเป็นอาจารย์ ไม่เคยเจอกันนะ แต่เราอ่านหนังสือของเขาทุกเล่มเลย พ่อบอกว่าอาจารย์ของลูกน่ะ เขียนหนังสือเป็นสิบแต่ได้ทำเป็นหนังแค่ 2 เรื่อง แต่หนังสือทุกเรื่องของเขาเป็นหนังสือที่ดี นักเขียนคือคนที่เขียนหนังสือที่ดีไม่ใช่เขียนหนังสือที่จะกลายเป็นซีรีส์ ละคร หรือเป็นหนังได้ อย่าเพิ่งหลงทาง เราไม่ได้จะเขียนเรื่องราวที่จะเอาไปสร้างสิ่งเหล่านี้ ก็จงอยู่ในแนวทางของตัวเองแค่อย่าหลงทางแค่นั้นก็โอเค ว่าแล้วก็ตั้งสติได้ หลังจากนั้นไม่ถึง 2 สัปดาห์ GMM TV ก็ติดต่อกลับมาว่าจะทำ Wake Up ชะนี ก็เป็นซีรีส์เรื่องแรกที่มาจาก Pocketbook ของเราแล้วก็ไม่ได้เป็นซีรีส์วายด้วย

หลังจากนั้นก็มีผู้จัดมาติดต่อขอเรื่อง รักนาย My Ride ไป นี่เป็นความลับของจักรวาลเลยนะ ซีรีส์ไม่ได้มาจากนิยายที่ดังเสมอไป แต่มาจากนิยายที่ตอบโจทย์ผู้จัด คือผู้จัดเขาจะรับโจทย์มาจากนายทุกต่างๆ สมมุติอยากให้มีมอเตอร์ไซค์ในซีรีส์เยอะๆ หรืออยากได้ซีรีส์ที่ไม่ต้องถึงเนื้อถึงตัวมากนัก ไม่ต้องเปลืองเนื้อเปลืองตัวมากนัก และพอจะแทรกซึมเข้าไปในประเทศมุสลิมหลายๆ ประเทศได้ เขาก็จะเอา Requirement พวกนี้มารวมกัน แล้วค่อยให้ทีม Scouting ไปหาบทประพันธ์ที่ตรงโจทย์แล้วค่อยเอามาทำ ดังนั้นบทประพันธ์ที่ได้เป็นซีรีส์ไม่จำเป็นต้องดังเสมอไป แต่เป็นบทประพันธ์ที่ตอบโจทย์ก็ได้เหมือนกัน ซึ่งนิยายเราก็จะมาตรง route นี้มากกว่า หรือว่าเป็นนิยายที่ผู้จัดผู้กำกับอ่านแล้วรู้สึกบันดาลใจ อ่านแล้วเห็นภาพ

แต่ปัจจุบันมันต้องเป็นการการันตีวิว คือต้องมีคนสนใจตั้งแต่ก่อนฉายก่อนเปิดกล้อง ก็จะเริ่มขยับมาทำจากนิยายที่ดังจากนามปากกาดังๆ ก็จะถูกหยิบมาทำเยอะเพราะนิยายเขาดัง มีคนอ่านเยอะก็การันตีได้ว่าทำกระแสได้ก่อนที่จะเปิดกล้องเพราะเขาจะต้องขายลูกค้าให้ได้ตอนนั้น เทรนด์มันก็จะติดไปอีก เพราะฉะนั้นในขณะที่เรามองว่านิยายวายและซีรีส์วายกำลังเติบโต มีกลไกที่เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ พักหลังๆ เราก็จะเห็นว่าพอหยิบมาจากนามปากกาชื่อนี้ปุ๊บ เกิดดรามาตลอดเลย แทนที่จะได้ชื่อเสียงก็กลายเป็นข่าว พอผ่านไป 6 เดือน เทรนด์ก็เปลี่ยนอีก ต่อไป production house แต่ละที่อาจจะไม่เอานิยายละ คิด original series เองเลยดีกว่า ตั้งทีม Story Creating ขึ้นมาเองก็อาจจะเป็นไปได้

อย่างเรื่อง รักนาย My Ride หมอแพทมีส่วนร่วมอะไรบ้างไหม

ดูรายละเอียดครับ เพราะในเรื่องก็มีชีวิตหมอเนาะ เวลาที่เราดูละครก็จะเจอจุดที่ว่าตรงนี้ไม่สมจริงเลยอะ เราก็จะเข้าไปดูรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แล้วก็หนังสือที่อยู่ในเรื่องเราดูรายละเอียดหมดเลยนะ อย่างตัวหนังสือเรียนที่ตะวันใช้ใน trailer เราก็ขนเอา Harrison’s Principles of Internal Medicine เล่มจริงไปใช้เลย แล้วก็มาร์กไว้ว่าต้องเปิดหน้านี้นะ เพราะจะได้ตรงกับบนสไลด์ที่สอน แล้วก็ตอน Workshop แรกๆ ทุกคนที่จะเล่นบทนักศึกษาแพทย์จะมาฟังเราบรรยาย เราก็จะบอกเลยว่าชีวิตในคณะแพทย์เป็นยังไง ตื่นนอนกี่โมง ตื่นแล้วมาทำอะไรบ้าง อย่างที่เราดูในตอนที่ 1- 2 ที่ extern บอกว่าเด็กปี 5 ต้องมา 7 โมงนะ หรืออย่างน้อยที่สุดต้องมาก่อน extern ซึ่ง extern มา 8 โมง ส่วนปี 4 นี่ต้องมาก่อน 7 โมง เพราะความรู้ยังน้อยต้องใช้เวลากับคนไข้เยอะหน่อย พอมีประสบการณ์เยอะขึ้นก็จะใช้เวลาสั้นลงประมาณนี้ หรือการเข้าประชุมจริงๆ เราต้องไปเข้าประชุมก่อนนะแล้วค่อยลงมาตรวจคนไข้ รายละเอียดพวกนี้เราก็จะบรีฟให้นักแสดงฟัง

ตัวอย่างน้องกิ่ง-อารียา ผลฟูตระกูล รับบทเป็นนาเดีย น้องกิ่งเป็นคนที่ปล่อยผมแล้วสวยมาก แต่น้องกิ่งรวบผมทุกตอนเลย เพราะว่าหมอเด็ก ถ้าต้องก้มหน้าเล่นกับเด็กผมมันจะลงไปโดนเด็ก มันอาจจะเกิดการปนเปื้อนได้เพราะฉนั้นหมอเด็กจึงต้องรวบผม และในกระเป๋าของน้องกิ่งจะมีเครื่องคิดเลขตลอดเวลา เพราะหมอเด็กจำเป็นต้องคำนวณสารน้ำของเด็ก คำนวณนมและแคลอรี่ของเด็ก ดังนั้นสิ่งที่หมอเด็กทุกคนมีติดกระเป๋าคือเครื่องคิดเลข และเวลามีตลาดนัดในโรงพยาบาล หมอเด็กก็จะชอบไปกรี๊ดกันอยู่หน้าร้าน gift shop ดูพวกสติ๊กเกอร์ แบบพวกหมอเด็กจะติดสติ๊กเกอร์กับตุ๊กตาเยอะมาก เพราะเอาไว้หลอกล่อเด็ก กับซื้อเครื่องคิดเลข ต่อให้ตัวเองมีเครื่องคิดเลขอยู่แล้ว ถ้าเจอเครื่องคิดเลขสวยๆ น่ารักๆ ก็จะซื้ออีก พวกรายละเอียดพวกนี้เราไม่รู้ว่าซีรีส์เรื่องอื่นจะมีมั้ย แต่เราจะเล่นรายละเอียดพวกนี้เพราะเรารู้สึกว่าอันนี้แหละคือสิ่งที่จะทำให้ซีรีส์สมจริง มุกตลกอย่างเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาเพิ่งได้สอนเรื่องคลื่นหัวใจห้องล่างซ้ายโต มันคือ LVH (Left Ventricular Hypertrophy) แล้วน้องปี 5 ก็ตบมุกกลับมาว่า แล้วแบบไหนที่เรียกว่า LOVE ล่ะคร๊าบบบ สำหรับเรื่องอื่นเราอาจจะยังไม่เห็นการเล่นมุกแบบนี้ แต่ในอนาคตเราอาจจะเห็นมากขึ้น นี่แหละคือสิ่งที่เข้ามาช่วย มันเป็นซีรีส์วายที่มาจากนิยายของเราเรื่องแรก เพราะ Wake Up ชะนี มาจาก pocket book เนาะ ถามว่ามีการเปลี่ยนแปลงในการเข้ามามีส่วนร่วมมั้ย ไม่เปลี่ยนเพราะว่าในเรื่อง Wake Up ชะนี เราก็มีส่วนร่วมพูดคุยกับทีมสร้าง เรื่องนี้ก็เช่นกันแต่วิธีการเล่าเรื่องเป็นเรื่องของผู้กำกับอยู่แล้ว ซึ่งเขาก็มีมุมมองที่จะเล่าเรื่องของเขาให้ออกมาเป็นภาพที่สวยงามให้คนอื่นเข้าใจ เราก็ช่วยเข้าในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้เขาไม่ถูกด่า

มี detail นึงที่ผมเห็นพี่โพสอยู่คือเรื่องจดหมายจีบ 10 ฉบับ เล่าให้ฟังหน่อยครับ

มันเป็นเพื่อนหมอใช้ทุนตอนปี 1 เราก็ดึงเพื่อนคนนึงจากจุฬาฯ ชื่อนัทให้มาใช้ทุนด้วยกันที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ แล้วพอเขามาอยู่ที่นี่เขาก็มาเจอสาวธรรมศาสตร์เพื่อนเรา นางชื่ออิ๋ง อยู่ด้วยกันมา 3 เดือนก็เป็นแฟนกันเลย ต่างคนต่างทิ้งแฟนเดิมนะแล้วก็มาคบกัน เราบอกเลยนะสังคมแพทย์นะพอตอนที่ไปใช้ทุน ส่วนใหญ่เลิกแล้วไปมีแฟนใหม่กันทั้งนั้นเลย แล้วก็พอเขาขึ้นเป็นแพทย์ใช้ทุนปี 2 น่ะ เขาก็มาเป็นอาจารย์ทางเวชศาสตร์ชุมชน เขาต้องไปออกชุมชนกับเด็กประมาณ 10 – 15 วัน แล้วนัทก็ต้องห่างจากแฟนเป็นครั้งแรกในชีวิต นัทก็ให้ซองเอาไว้ เป็นซองน้ำตาลแบบซองข้าราชการ แล้วข้างในนั้นก็มีจดหมายอยู่ 10 ฉบับ นัทบอกอิ๋งว่ามีจดหมายอยู่ 10 ฉบับนะ เขียนเลขกำกับไว้ละ เธอต้องอ่านวันละ 1 ฉบับ ห้ามอ่านเกินนะ

พอวันที่ 9 เนื้อความก็จะประมาณว่า อิ๋งรู้ใช่มั้ยว่าพอเรากลับมาแล้วเราจะบอกอะไรกับอิ๋ง ซึ่งก็คือวันพรุ่งนี้ ในชีวิตจริงน่ะนะอิ๋งก็ไม่รอแล้วจ้า อิ๋งโทรหาเพื่อนคนที่ 1 ก่อนวันนั้นนางต้องอยู่เวรศัลยกรรมไง นางบอกเพื่อนว่า “มึงมาอยู่เวรศัลยกรรมแทนกู” แล้วก็โทรมาหาเราต่อ “แพทตี้! มึงมาขับรถให้กู” จากธรรมศาสตร์รังสิตไปสิงห์บุรีไปหานัท เพราะเขายังอยู่ที่ชุมชนอยู่ ภาพที่เราเห็นคืออิ๋งถอดส้นสูงวิ่งเท้าเปล่าข้ามถนนสายเอเชียไปหานัท ไอ้เราก็กลัวไงอีอิ๋งระวังรถ อิ๋งกระโดดกอดนัทเลยนะแล้วนางบอก “แต่ง” แล้วคือนัทก็ไม่ได้เตรียมตัวไงเพราะแหวนอยู่ที่กรุงเทพฯ นัทกะไว้ว่าเดี๋ยวกลับมาขอวันพรุ่งนี้ไง ไม่คิดว่าอิ๋งจะให้เราขับรถไปหาถึงที่

แล้วธีมงานแต่งคืองานฟุตบอลประเพณี ใครอยู่จุฬาฯก็ใส่เสื้อบอลจุฬาฯ ใครอยู่ธรรมศาสตร์ก็ใส่เสื้อบอลธรรมศาสตร์ ในงานก็คือเป็นสนามฟุตบอล สนุกสนานมาก ตอนนั้นเราประทับใจกิมมิคนี้มากเพราะเราเองก็อยู่ในเหตุการณ์เนาะ ก็เลยเอาเรื่องนี้มาใช้เป็นวิธีที่ปอคุยกับตะวัน ซึ่ง EP 1 ผ่านไปมีแต่คนบอกว่าโรแมนติกมาก ชอบมาก เลยเอามาเล่านิดนึงว่า มันมาจากชีวิตจริงนะจ๊ะ แล้วก็ tag 2 คนนั้นให้เขารู้ตัวว่า มึงกูเรื่องของพวกมึงเอามาใช้นะ คือหนุ่มแพทย์จุฬาฯ จะเป็นคนที่โรแมนติกมากนะ ในชีวิตที่รู้จักมันมา บางคนมองว่าแพทย์จุฬาฯเก่ง อันนั้นก็จริงไม่เถียง แต่สิ่งนึงที่ขึ้นชื่อมากคือความโรแมนติก ในบรรดาคณะแพทย์ 25 สถาบันเราให้แพทย์จุฬาฯ อันดับ 1 เลยจ้า

ผลตอบรับจากนิยายกลายเป็นซีรีส์เป็นอย่างไรบ้าง

มันเพิ่งผ่านมาแค่ 2 ตอนก็ยังบอกไม่ได้เนาะ บอกได้แค่ว่าได้รับการตอบรับอย่างอบอุ่น หลายๆ คนก็พูดประมาณว่าเป็นม้ามืด เราก็ไม่ได้ตั้งความหวังไว้มากนัก ซีรี่ส์เรื่องรักนาย My Ride นี่ประกาศมา 2 ปีแล้วนะแต่เพิ่งได้ทำท่ามกลางกระแสของซีรีส์วายที่มันเยอะมากเลย อย่างปีนี้ก็มีซีรี่ส์วายที่จะออกอากาศทั้งหมด 57 เรื่อง แล้ว 1 ปีมี 52 สัปดาห์ นั้นหมายความว่ายังไม่ทันจะขึ้นสัปดาห์ใหม่เรื่องใหม่ก็ออกอากศแล้วนะ ด้วยความเกร่อขนาดนี้เราก็ไม่ได้คาดหวังอะไร เวลาฉายก็ไม่ดีด้วยคือตอน 5 ทุ่มวันพฤหัสฯ ก็ถือว่าได้รับการตอบรับที่เกินความคาดหมายของเราที่เป็นคนเขียน แล้วเราก็ดีใจแทนผู้สร้างว่าเขาเหนื่อย เขาลงทุน น้องๆ นักแสดงก็อดหลับอดนอนทำงานหนักตั้งแต่ตอน workshop ถ่ายหลายรอบมากเพื่อให้ฉากบางฉากออกมาดีจริงๆ ความเหนื่อยของทีมงานมันเยอะ เราดีใจแทนเขาว่าสิ่งที่เขาทำไปมันผลิดอกออกผล อย่างน้อยก็เป็นสิ่งที่คนชื่นชมว่าเหนือความคาดหมาย มันก็เหมือนเป็นช่อดอกไม้ดีๆ ที่ตอบแทนให้คนเหล่านั้น เราก็เหมือนมองจากที่ไกลๆ มองความสำเร็จของพวกเขาด้วยสายตาที่ภูมิใจในตัวพวกเขา

6
เมื่อสื่อสะท้อนสังคม (โดยเฉพาะซีรีส์วาย)

ประเด็นสมรสเท่าเทียมมีผลอะไรในวงการวายไหม

ผลกระทบแบบทำให้ผลิตผลงานด้านนี้ไม่ได้น่ะไม่มี ผลกระทบในด้านชื่อเสียงมี ลองคิดดูว่าเราเป็นประเทศที่ส่งออกซีรีส์วาย แต่สมรสเท่าเทียมยังไม่มี เป็นประเทศที่คู่รักชาย-ชายสามารถเดินจูงมือกันได้แต่ว่าสมรสเท่าเทียมยังไม่มีเลย คนก็อาจจะมองแบบนี้ เราคิดว่าในอนาคตคนรุ่นใหม่จะมองข้ามเรื่องสมรส สมรสเป็นแค่การกระทำนึงของการอยู่เป็นคู่ชีวิต เขาสามารถดูแลกันและกันได้โดยไม่ต้องพึ่งพากฎหมาย ถามว่ากฎหมายสมรสเท่าเทียมมันช่วยอะไรเราได้บ้าง เช่น เรื่องฐานภาษี สวัสดิการ การตัดสินใจแทนกันได้ในอนาคต การกู้หนี้ยืมสิน ซึ่งตอนนี้ไม่จำเป็นต้องเพิ่งรัฐบาล แต่ธนาคาร บริษัทรับสร้างบ้านเขาจัดการให้ได้เลย คู่รักชาย-ชายก็กู้ได้ ไม่ต้องสนรัฐบาลเลย ประกันชีวิตก็ทำให้กันและกันได้แล้ว โรงพยาบาลก็กำลังเริ่มให้ทำสัญญาคู่ชีวิตกันได้แล้วนะ คือตอนนี้เป็นจุดที่ถ้ามีกฎหมายสมรสเท่าเทียมขึ้นมาคุณจะยังได้เวทีอยู่นะ แต่ถ้าทิ้งไว้นานไปคนจะมองว่ามีแล้วมันทำไมหรอ มันทำอะไรได้อะ มันไม่เห็นจะมาอุดรอยรั่วในชีวิตเราเลย เพราะเราอุดมันได้แล้ว ถ้าถึงตอนที่มันไม่สำคัญแล้ว แล้วมาทำคนก็จะถามว่าทำทำไมอะ

แล้วตอนนี้เราว่าด้วยศักยภาพคนไทยรุ่นใหม่พาไปจนถึงจุดนั้นแล้ว ขนาดคอนโดยังกู้ร่วมกันได้เลย เกือบทุกเรื่องเขาให้สิทธิ์ถึงจุดนั้นแล้ว แล้วสมรสเท่าเทียบจะเหลืออะไร อาจจะไม่เหลืออะไรแล้วก็ได้ ก็ดันมาตอนที่ไม่มีบทจะเล่นแล้ว ส่วนในเรื่องที่มันซ้ำๆ เดิมๆ เราว่าคนมองข้ามเรื่องนี้ไปแล้ว อีกหน่อยคนอาจจะไม่ต้องอาศัยกฎหมายสมรสเท่าเทียมอีกแล้ว ทุกความจำเป็นในชีวิตมีคนวางแผนให้แล้ว คือมีบางประเทศที่ย้อนแย้งกว่าเราอีกนะ อย่างสิงคโปร์เขาก็มีการจัดงานที่เกี่ยวกับเกย์นะ แต่กฎหมายการห้ามเป็นเกย์ก็ยังมี แล้วเขาว่ากันว่าไม่มีทางที่จะสำเร็จ ในอาเซียนเนี่ยประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านสมรสเท่าเทียมกันมากที่สุดคือกัมพูชา ประมาณปี 2540 ศาลรัฐธรรมนูญเขาพิพากษาแล้วว่า การห้ามมิให้คู่รักแต่งงานกันถือว่าเป็นการกระทำอันขัดกับรัฐธรรมนูญสูงสุดของประเทศกัมพูชา แต่เนื่องจากกัมพูชากับไทยใช้ระบอบกฎหมายแบบเดียวกัน คือต้องมีคนยกร่างกฎหมายขึ้นมาก่อนถึงจะทำให้มันเป็นจริงได้ แต่ไม่มีใครยกร่าง ไต้หวันก็พิพากษามาตั้งนานละแต่เขาเพิ่งมายกร่างก็เลยได้เป็นชาติแรก แต่ถ้าเราใช้กฎหมายแบบเดียวกับอเมริกาปุ๊บ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญสูงสุดพิพากษาว่าอันนี้มันขัดกับรัฐธรรมนูญนะ ก็คือแต่งได้เลยไม่ต้องมีใครยกร่าง ฉะนั้นในอาเซียนก็กัมพูชาแหละที่นำหน้าสุดแล้ว

แต่เมืองไทยในแง่ของการเคลื่อนไหวก็ถือว่านำคนอื่นในอาเซียนนะ นำกัมพูชาด้วย เพราะว่าเรามีม็อบ เรามีวัยรุ่นเยาวชนยุคใหม่ที่พยายามที่จะผลักดัน และไม่ใช้แค่กลุ่ม LGBT แต่เป็นเยาวชนทุกคนที่เขาเห็นความสำคัญของเพื่อนเขา ดังนั้นถ้าพูดถึงการเคลื่อนไหวทางสังคม เราว่าเมืองไทยนี่เบอร์ 1 ของอาเซียนเลย และเป็นเบอร์ 1 ด้วยประชาชนไม่ใช่ด้วยรัฐบาล

มองอนาคตนิยายของตัวเองไว้ยังไงบ้าง

เท่าที่วางไว้คือจะเขียนเรื่องที่เป็นแนวรักสลับกับแนวเรื่องใหม่ๆ คือเราเปิดบริษัทที่ไม่ได้เป็นสำนักพิมพ์ แต่เป็น Writing Librariztory คือแหล่งศึกษาเรื่องเกี่ยวกับการเขียน เราคงจะเขียนอะไรใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ เพื่อที่จะทดลองตลาดดูว่าแบบไหนเวิร์ค แบบไหนสนุก ทำเพื่อสนองความต้องการของตัวเองด้วย เราก็ยังคงจะเขียนต่อไปเรื่อยๆ ในแนวทางของเราไปเรื่อยๆ และแนวทางของนักเขียนที่เราชอบ Devid Levithan ที่กล่าวว่าหนังสือที่ดีก็คือหนังสือที่ดีไม่จำเป็นต้องได้ต่อยอดเป็นซีรีส์ เรามองตัวเองว่าตอนนี้เราเป็น International Writer มองว่านอนาคตจะทำงาน across the border มากขึ้น ทำงานกับสำนักพิมพ์ต่างประเทศมากขึ้น ทำงานกับสังคมนักอ่านต่างประเทศมากขึ้น แล้วก็ไม่ทิ้งสังคมนักอ่านและวงการนักเขียนเมืองไทย

เรียนรู้อะไรบ้างจากงานนักเขียน

เรียนรู้ว่าเราไม่ต้องชนะใครเลย เมื่อก่อนเคยคิดว่าแค่ชนะตัวเองก็พอ แต่ถ้างั้นเราก็แพ้ตัวเองด้วย งั้นไม่ต้องชนะใครเลยแล้วกัน ด้วยมุมมองของคนที่อายุ 40 กว่าแล้ว เรามองว่าเราแค่ต้องหาความสุข ไม่เบียดเบียนอื่นให้ได้ทุกวันพอแล้ว เราใช้เวลามา 40 กว่าปีในการเอาชนะตัวเองมาพอละ ตอนนี้ฉันขอเสวยสุขกับตัวเองบ้างแล้วกัน การที่เป็นหมอมันสอนให้เรารู้ว่าชีวิตมันดับได้ทุกเมื่อ เพราะฉะนั้นก่อนตายอยากมีความสุข และเราไม่รู้ว่าเราจะตายเมื่อไหร่ งั้นก็มีความสุขตอนนี้เลยแล้วกัน จะได้ไม่ต้องมาเสียดายตอนตายไปแล้ว การเป็นนักเขียนก็ทำให้เราได้โฟกัสการกระทำเล็กๆ ในชีวิตบ้าง การกระทำบางอย่างมันทำให้เรามีความสุขแล้วโดยที่ไม่ต้องไปตีความเยอะ ดังนั้นการเป็นแพทย์ทำให้ตัดสินใจว่าต้องรีบหาความสุข การเป็นนักเขียนทำให้เรารู้ว่าความสุขมันอยู่รอบตัว

มีอะไรถึง Soft Power เมืองไทยไหม

เราชอบมอง soft power ด้วยกรอบเดิมๆ ว่ามันจะต้องเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ เราอยากนำเสนอภาพศิลปะวัฒนธรรมไทยความเกรียงไกรของเมืองไทย พอพูดถึงหนังที่แสดงถึง soft power ของไทยก็จะไปนึกถึงรามเกียรติ์ สมเด็จพระนเรศวร ซึ่งจริงๆ แล้ว soft power ไม่ได้เกิดจากการสร้าง แต่มักจะเป็นเรื่องบังเอิญ มันคือการค้นหา หาให้เจอว่า soft power อะไรของเราที่แทรกซึมยังที่ต่างๆ แล้วรีบไปขยายให้มันเติบโตอันนั้นจะได้ผลกว่าตั้งโปรเจคเพื่อผลักดัน คือมันไม่มีต้นทุน เชื่อมั้ยว่าจริงๆ ตอนนี้ก็มี soft power บางอย่างของไทยแทรกซึมไปทั่วโลกแล้ว เราแค่ต้องหาให้เจอ แล้วทำให้มันเติบโตก่อนที่มันจะหายไป นี่เอามาจากหนังสือเลยนะ หนังสือชื่อ Soft Power เขียนโดยลูกชายของคนที่บัญญัติคำว่า soft power นักเขียนชื่อ Joseph Nye Junior คือเขารวบรวมงานวิจัยของพ่อเขามาเขียนเป็นหนังสือเล่มนี้

มองนิยายวายในช่วงปีนี้ถึงอีก 3 ปีข้างหน้าว่ายังไง

มันไม่ได้มาเป็นเทรนด์แล้ว มันกลายเป็นประเภทหลักประเภทนึงของซีรีส์แล้ว ถ้า Amazon ถึงกับตั้ง Category ก็น่าจะจริงจัง มีมูลค่าการซื้อขายเยอะ ตัวนิยายที่เราเอาไปลงใน Amazon ทั้งฉบับอังกฤษและสเปนก็ทำมูลค่าหลักล้านต่อปีเหมือนกัน แสดงว่ามันยังไปต่อได้เรื่อย ๆ แต่พอตลาดมันเริ่มขยายขึ้น สิ่งที่มีตามมาก็คือการคัดกรอง เมื่อมีของเยอะขึ้นคนจะคัดกรองกันมากขึ้น อะไรที่ต้องจริตของผู้บริโภคจะอยู่ได้ แต่อะไรที่ไม่ได้ต้องจริตผู้บริโภคก็จะค่อยๆ หายไป มันกลายเป็นการสร้าง Personal Branding ของนักเขียน ถ้านักเขียนมีแบรนด์ มีฐานลูกค้าก็จะสามารถอยู่ได้ ต่อไปนิยายวายจะมีความหลากหลายมากขึ้น จะพูดถึงประเด็นอื่นๆ นอกจากความรัก เช่น ความภูมิใจในตัวเอง, Coming of Age, Come Out ต่อไปนิยายวายจะเป็นสิ่งที่ across the border จะมีการซื้อขายข้ามเขตกัน จริงๆ แล้วไทยเองเป็นแหล่งส่งออกนิยายวายอันดับต้นๆ ของโลกเลย รวมถึงซีรีส์วายด้วย ตลาดต่างชาติเขาแบ่งเกรดซีรีส์วายเป็น 2 เกรดด้วยคือ General กับ Thailand ถ้าเป็นเกรด Thailand ทุกคนจะสนใจแล้วคิดว่ามันต้องดี ต้องให้ความสุขกับคนดูแน่ ๆ แต่ถ้าเรายังเร่งผลิต เน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ เราจะเสียแชมป์ให้กับชาติอื่นๆ


บทสัมภาษณ์โดย กฤตนัน ดิษฐบรรจง
ถ่ายภาพโดย ธเนศ แสงทองศรีกมล