fbpx

**บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์ The Modernist เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2565**

หากจะพูดถึงผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ที่ฝากรายการในดวงใจวัยรุ่นตั้งแต่ยุค ’90 ลากยาวมาจนถึงยุคปัจจุบัน ก็คงมีไม่กี่เจ้าในดวงใจ และหนึ่งในนั้นก็คงเป็น TV Thunder” หรือ บริษัท ทีวี ธันเดอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัทผู้ผลิตรายการทุกรูปแบบภายใต้บรรทัดฐานในการสร้างความสุขสู่ผู้ชมทุกเพศทุกวัย รวมถึงยังเป็นผู้ผลิตรายการรายแรกของประเทศไทยที่ชูนโยบาย Green Entertainment เพื่อร่วมรณรงค์ลดภาวะโลกร้อนอีกด้วย

จากวันแรกที่ตัดสินใจขายธุรกิจเพลงอย่าง “คีตา เรคคอร์ด” จนมาจดจัดตั้งบริษัทในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2535 ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท และบริหารงานโดย สมพงษ์-ภัทรภร วรรณภิญโญ และเริ่มต้นผลิตรายการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น “มาสเตอร์คีย์”, “โอนลี่วันซันเดย์” จนกระทั่งปัจจุบันบริษัทเติบโตจนเข้าตลาดหลักทรัพย์ mai และขยายรายการมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ Take Me Out Thailand” รายการเดตติ้งยอดนิยมมากกว่า 10 ปีในประเทศไทยที่ผู้ชมให้การยอมรับมากที่สุด

วันนี้นอกจาก “สมพงษ์-ภัทรภร วรรณภิญโญ” ที่บริหารงานหลักแล้ว เขายังส่งมอบงานสานต่อให้กับทายาทรุ่นสอง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “ณฐกฤต วรรณภิญโญ” หนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรง ผู้เข้ามาดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานปฏิบัติการ ที่เติบโตมาพร้อมกับสตูดิโอและวงการบันเทิงผ่านการเข้าไปดูการถ่ายทำ เขาต้องเรียนรู้แบบชนิดเริ่มต้นใหม่ และที่สำคัญเส้นทางนี้ไม่ได้ง่ายสำหรับเขา แต่เขาปรับตัวและพัฒนางานให้กับทีวี ธันเดอร์อย่างไรบ้าง บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้มีคำตอบให้ทุกคน

1
ทีวี ธันเดอร์ในมุมมองของเด็กคนนี้

TV Thunder เกิดขึ้นมาได้อย่างไร

บริษัททีวีธันเดอร์ก็ก่อตั้งขึ้นโดยคุณพ่อกับคุณแม่แหละครับ (สมพงษ์-ภัทรภร วรรณภิญโญ) เป็นธุรกิจครอบครัว เราอยู่ในวงการบันเทิงมา 29 ปี จริง ๆ คุณพ่อเริ่มมาตั้งแต่ JSL (บริษัท เจเอสแอล โกลบอลมีเดีย จำกัด) และก็ทำคีตา เรคคอร์ด และจึงมาเป็นทีวีธันเดอร์ครับ ท่านก็อยู่ในวงการบันเทิงมาตั้งแต่แรก ๆ เลย ปัจจุบันคนดัง ๆ ที่ทำงานอยู่ในวงการบันเทิงส่วนมาก ก็จะผ่านมาจาก JSL เกือบทั้งหมด

ตอนเด็กๆ ที่เราจำความได้เกี่ยวกับทีวีธันเดอร์คืออะไร

ถ้าย้อนไปช่วงแรก ๆ น่าจะเป็นรายการมาสเตอร์คีย์ และมาสเตอร์คีย์ก็เป็นรายการแรกของบริษัทด้วย เรามักจะเดินเข้าไปดูในสตูดิโอ มักจะจำภาพพี่นีโน่ – เมทนี บุรณศิริ, พี่เทพ – สุเทพ โพธิ์งาม, พี่ถนอม สามโทน – วิทยา เจตะภัย แล้วก็คุณจ๋า – ญาสุมินทร์ เลิศอมรวัฒนา ได้ อีกส่วนหนึ่งก็จะเป็นออฟฟิศ เพราะเราก็จะเดินไปเดินมาอยู่ในออฟฟิศบ้าง มาแวะมาเวียนบ้างครับ

ตอนคุณเด็กๆ ทันใครบ้างในคีตา เรคคอร์ด

โห ทันหมดครับ พี่อ๊อฟ – พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจงพี่ฮันนี่ – ภัสสร บุณยเกียรติพี่อ้อม – สุนิสา สุขบุญสังข์ อย่างพี่อ้อมก็จะสนิทกัน เจอกันตั้งแต่เด็ก ๆ เวลาเจอที่แกรมมี่ก็จะทักทายตลอด น่าจะมีประมาณนี้ที่จำได้นะ (หัวเราะ) เราฟังเพลงบางทีเราก็ยังไม่รู้เลยว่าเป็นเพลงของคีตา

ตอนเด็กๆ คุณมองว่าทีวี ธันเดอร์เจ๋งขนาดไหน

ผมไม่ทราบหรอกว่าเมื่อไปเทียบกับคนอื่นแล้วเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทำขึ้นมา ผมว่ามันเป็นสิ่งที่เก่งจริง ๆ เพราะว่าทั้งหมดที่ผมพูดมา เขาเริ่มจากศูนย์ทั้งหมด ตอนนั้นยังเด็กมาก ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ารายได้เท่าไหร่ กำไรเท่าไหร่ ไม่สนใจเลย รู้แค่ว่าคีตา เรคคอร์ดมันดัง เพราะในไทยมันก็มีใหญ่ ๆ อยู่สามค่ายเนอะที่คนรู้จัก คือ แกรมมี่ เอนเตอร์เทนเมนต์ (จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่), อาร์เอส โปรโมชั่น และคีตา เรคคอร์ด

พอมาเป็นทีวี ธันเดอร์ เราก็ทำอยู่กับช่อง 3 เขาก็กรุณาให้เราได้มีโอกาสทำงาน ซึ่งช่อง 3 ตอนนั้นก็น่าจะเป็นเบอร์ต้น ๆ อยู่แล้ว ก็เลยรู้สึกว่ามันอยู่แถวหน้าแน่ ๆ เพราะว่าทุกพาร์ทเนอร์ที่ทำงานด้วยก็เป็นเบอร์ต้น ๆ ทั้งหมด แต่ถ้าถามว่ายิ่งใหญ่แค่ไหนผมก็ตอบไม่ได้เหมือนกันในตอนเด็ก ๆ

2
ยอมทิ้งใบสมัครงาน Agency ที่รัก เพื่อกลับมาทำงานที่บ้าน

แล้วมาเริ่มต้นทำงานในธุรกิจของครอบครัวได้อย่างไร

ก็คงเป็นช่วงที่เราเรียนปริญญาโทจบกลับมา แล้วเราก็กลับมาทำงานที่นี่ จนปัจจุบันก็มาช่วยบริหารในทีวี ธันเดอร์มาประมาณสัก 10 ปีแล้ว ตั้งแต่กลับมาก็เริ่มตั้งแต่จุดเล็ก ๆ ของงาน เราทำตั้งแต่เริ่มแรก เพราะว่าเรายังต้องเรียนรู้งานที่เกี่ยวกับวงการบันเทิง แต่ปัจจุบันมันเป็นสื่อแล้ว จนกระทั่งเราเป็น Content Provider มันก็พัฒนามาเรื่อย ๆ เราก็พยายามจะทำความเข้าใจในสิ่งที่เป็นธุรกิจของครอบครัว เพราะจริง ๆ ส่วนตัวก็จบมาทาง Management ไม่ได้จบมาทางสื่อเลย ก็เลยต้องทำความเข้าใจ ต้องเรียนรู้ ต้องทำงานตั้งแต่เริ่ม ๆ จนกระทั่งจาก Family Business เปลี่ยนไปสู่บริษัทมหาชน ก็ทำจริงจังมากขึ้น ทำให้มันเป็นระบบระเบียบต่าง ๆ มากขึ้น เป็นธุรกิจที่มีนักลงทุนมาลงทุนมากขึ้น ในช่วงนั้นเราก็อยู่ในองค์กรและก็จดทะเบียนมาได้สัก 5 ปี

เห็นว่าคุณไม่ได้เรียนนิเทศศาสตร์ คุณเรียนอะไร

ชื่อว่า Enterprise Management for Creative Arts ที่อังกฤษ แต่คำว่า Creative Arts ในที่นี้ มันจะโฟกัสไปในงานที่เป็น Creative Arts จริง ๆ มันเหมือน Study Management ขององค์กรที่ทำ Creative Arts เช่น พิพิธภัณฑ์ เพราะว่าพิพิธภัณฑ์จะดังมากที่อังกฤษ บริษัทที่เป็นค่ายเพลง รวมถึงบริษัทที่เป็นโฆษณา ก็จะอยู่ในนี้ด้วยเช่นกัน

องค์กรเหล่านี้เป็นองค์กรที่ต่างจากพวกธนาคาร หรือองค์กรที่เป็น Consumer Brand เขาเลยแยกเป็นวิชาเอกออกมา แต่ก็ยังอยู่ในเรื่องการ Management ตอนนั้นที่เรียน เรายังไม่เคยทำงานอะไรแบบนี้ มันก็เป็นสิ่งใหม่ แต่ไม่ใช่ว่าผมเรียนที่นู่นและกลับมาจัดการบริษัทเลย มันไม่ได้ ผมจำเป็นต้องลงไปที่เนื้องาน ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นงานผลิต เป็นงาน Production มันเลยเป็นการเรียนรู้ใหม่ทั้งหมด

เอาวิชาเรียนมาปรับใช้ในธุรกิจอย่างไรบ้าง

รูปแบบของมันก็คือการเรียน Management ทั่วไป เหมือนทุก ๆ บริษัท แต่จำกัดเฉพาะบริษัทที่ทำ Creative arts นั่นคือสิ่งที่ต่าง ที่ผมจำได้ชัด ๆ เลยนะ คือการจัดการลิขสิทธิ์ เพราะว่าวิธีการจัดการลิขสิทธิ์ของฝรั่งมันมืออาชีพ และเป็นระบบระเบียบมาก และก็เรื่องการจัดการการบริหารคน เพราะว่าหน่วยที่เป็นเรื่องของ Human Resource เขาบอกเลยว่าการจัดการกับคนที่ทำ Creative Arts ต้องจัดการอย่างไร มูลค่าอยู่ตรงไหน สองส่วนนี้น่าจะเป็นส่วนที่ต่างจากองค์กรทั่วไป แต่หน่วยอื่น ๆ ก็จะเป็น Management ทั่วไปหมด

แสดงว่าคุณไม่ได้คาดหวังตั้งแต่แรกที่จะกลับมาบริหารงานที่บ้าน

ถ้าให้ตอบตามตรง เราก็รู้อยู่แล้วว่าคงต้องทำ เพราะว่ามันเป็น Family Business มันก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่เราเลือกเรียนคณะนี้ด้วย เพราะคิดว่าน่าจะได้ในเรื่องของ Management ด้วย แต่ว่าพอกลับมาจากอังกฤษ ในเชิง Management (การบริหาร) เรายังไม่ได้เริ่มใช้เลย แต่มันต้องเกิดจากการที่เรารู้ก่อนว่า Business Core (หัวใจหลักของการดำเนินธุรกิจ) เราคืออะไร เราต้องทำตรงนั้นเป็นก่อน เพราะว่าถ้าทำไม่เป็นแล้วเราต้องจัดการคน เราจะบอกเขาได้อย่างไรว่าต้องทำอะไร มันก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่เราเริ่มจาก Production ก่อน

แล้วก่อนหน้านี้เคยสมัครงานอื่นไหม

จริง ๆ ก่อนกลับมาทำที่ทีวีธันเดอร์ ผมสมัคร Agency ผมอยากเป็น Media Planer หรือ Strategic Planner เพราะอยากรู้เรื่องการวางกลยุทธ์ เราสนุกกับการใช้ไอเดีย และสนุกกับการวาง Logic เพื่อทำกลยุทธ์ อันนั้นคือสิ่งที่รู้ตัวว่าชอบ ก็เลยไปสมัครที่ Agency นั่นแหละ เขาก็บอก ‘อ่าว ลูกคนนั้น ลูกคนนี้นี่หว่า’ เขาก็จะพอรู้ว่าเราเป็นใคร จริง ๆ ก็มี Agency ที่กรุณารับให้เข้าทำงาน แต่ก็ไม่ได้ไป เพราะทางบ้านดึงตัวกลับมา บอกไม่ต้องไป (หัวเราะ)

ตำแหน่งแรกในบริษัทคือตำแหน่งอะไร

เป็น Event Producer ครับ ผมจะจัดการในส่วนของอีเว้นท์ที่อยู่ในบริษัทช่วงนั้น ตอนนั้นก็มีงานอีเว้นท์เยอะพอสมควร เลยมาจับงานในส่วนนี้ก่อน ทำอยู่สัก 2 – 3 ปี จึงเริ่มเปลี่ยนมาเป็นโปรดิวเซอร์ของรายการทีวี

ตอนนั้นเป็นโปรดิวเซอร์ของรายการอะไร

รายการแรกน่าจะเป็น Take Me Out Thailand Season 1 เนื่องจากมันเป็นรายการรูปแบบที่ค่อนข้างใหญ่ ลงทุนสูง พอเราซื้อรูปแบบมา เราก็รับผิดชอบในเรื่องของการผลิตร่วมกับพี่โปรดิวเซอร์อีกสองท่าน และผมก็มีโอกาสได้เรียนรู้เยอะจาก Flying Producer ของบริษัทที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ซึ่งก็คือ Fremantle

ในโลกนี้บริษัทที่ทำคอนเทนต์ที่เรียกว่า Non-Scripted Format มันจะมีหลายๆ เจ้า และ Fremantle ก็เป็นหนึ่งในนั้น ถัดจากนั้นผมก็ทำ Dance Your Fat Off ทำไป 3 ซีซันที่ช่อง 3 และก็เปลี่ยนมาเป็น Hidden Singer Thailand, La Banda Thailand, Thailand Dance Now ที่เป็นรายการเต้น แต่ก็ทำได้ซีซันเดียว เพราะเรารู้สึกว่าศิลปะการเต้นไม่ค่อยใกล้ตัวกับคนไทย ผลตอบรับเลยไม่ดีสักเท่าไหร่

3
Take Me Out, Take to Thailand.

ทำไมถึงต้องเป็น Take Me Out

ถ้าถามผมในมุมมองของการผลิต สาเหตุที่ Take Me Out เดินทางมาได้กว่า 10 กว่าปีกับเมืองไทย เพราะว่ามันเป็นรูปแบบใหม่ ในสมัยก่อนรายการในไทยมันก็จะเป็นรายการบันเทิงเป็นส่วนมาก เป็นรายการที่เล่นตลกกัน รายการร้องเพลง และก็จะเป็นรายการที่มีดารา สมัยก่อนคนชอบดูดาราเนอะ ถ้าเอาคนธรรมดาไปอยู่ในหน้าจอ Mindset ตอนนั้นก็คิดว่ามันไม่เวิร์ค เพราะว่าเรากำกับคนธรรมดาไม่ได้ แต่ Take Me Out เป็นรายการที่เอาคนธรรมดา 30 คน และคนตรงกลางที่มาหาคู่ก็เป็นคนธรรมดา มีแค่พิธีกรที่เป็นดารา มันเลยเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก และก็สิ่งที่เป็นหัวใจอีกอย่างหนึ่งคือ มันเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นบนเวที คนมักจะถามว่าเป็นเรื่องจริงรึเปล่า สคริปต์รึเปล่า แต่คำตอบนี้ผมตอบไปเยอะเหมือนกัน มันไม่ได้สคริปต์ เราสคริปต์คน 30 คนไม่ได้ แต่ทุกคนต้องถูกเวิร์คชอปให้รู้ว่าคีย์สำคัญคืออะไร

เคยถามเขาว่า ‘ทำไมต้อง 30 คน?’ 20 คน ได้ไหม คนน้อยลง ค่าใช้จ่ายในการถ่ายทำก็น้อยลง แต่สาเหตุที่มันต้อง 30 คนเพราะว่าประเภทของสาว ๆ Character ของคนมันหลากหลายมาก ถ้าคนมันน้อย มันก็จะมีแต่คนแบบเดิม แต่หัวใจของรายการนี้คือคนมาเลือกกัน เพราะฉะนั้นมันจะต้องมีประเภทของคนให้เยอะที่สุด ครอบคลุมความหลากหลายของผู้หญิงจริง ๆ

มันก็เลยเป็นสาเหตุว่าทำไมถึงต้อง 30 คน และที่สำคัญสำหรับเขาคือทุกคนโสดหมด ก่อนถ่ายสองส่วนนี้ห้ามเจอกันโดยเด็ดขาด การจัดการไม่ให้เขาเห็นกัน เห็นกันครั้งแรกได้เพียงบนเวทีเท่านั้น เพราะว่า First Impression สำคัญมาก และเป็นคอนเทนต์ มันทำให้คนเกิดอารมณ์จริง ๆ เพราะฉะนั้น Take Me Out สอนให้เรากำกับอารมณ์ที่เกิดจากความเป็นจริง และก็ความจริงที่เกิดขึ้นมันปฏิเสธไม่ได้ มันเลยเป็นสิ่งแปลกใหม่บนหน้าจอ

การต่อยอด Take Me Out ไปในรูปแบบอื่นต้องคุยกับเจ้าของลิขสิทธิ์มั้ย

ต้องคุย เราคุยทุกครั้งที่เราจะไปทำอะไรที่มันต่อยอด ต้องบอกเขาว่ามันเป็นสิ่งที่เราคิดว่ามันไปได้ และเราอยากทำ พอเราทำมาสักพัก เขาก็เข้าใจแล้วแหละว่าเราเข้าใจหัวใจของรายการนี้มากแค่ไหน และเราจะไม่ทำให้มันผิดเพี้ยน การต่อยอดทั้งหมดนี้มันง่ายมาก แค่คุยกับเขา ไม่ได้ติดปัญหาอะไรเลย และเราก็เป็นต้นแบบของหลาย ๆ สิ่งที่เขาไม่เคยทำด้วยซ้ำ ก็อย่างเช่น Take Me Out RealityTake Guy Out พวกนี้คือเขายังไม่เคยทำเลย เราน่าจะเป็นคนแรกในคนที่ซื้อลิขสิทธิ์ของเขาในโลกนี้เลยที่ทำ

การที่มีคนแต่งงานกันจริง ๆ จากรายการ Take Me Out มันบอกอะไรกับคนทำรายการ

สุดท้ายมันคือหัวใจของรายการว่านี่คือเรื่องจริง ถ้ามันไม่จริง ไม่จะไม่เกิดการแต่งงาน ถ้าจากที่เก็บสถิติ 10% ของคนที่ขึ้นเวทีจะได้เป็นแฟนกัน 1 – 2% จะแต่งงานกัน ซึ่งนั่นมันก็มากพอที่จะพิสูจน์ว่ารายการมันเป็นเรื่องจริง

การต่อยอดเป็น Take Me Out Reality เกิดจากอะไร

จริง ๆ เราอยากทำ Reality เพราะว่าตอนที่ทำคนไทยก็เริ่มชอบดู Reality แล้ว และ Take Me Out ก็เริ่มแข็งแรงในชื่อของมัน เราก็เลยคิดว่าจะทำยังไงดี เราอยากทำ Reality แต่ถ้ามันโผล่มาเป็น Reality เลย มันจะไม่มีอะไรให้เกาะ ก็เลยเอาคู่ที่อยู่บนรายการไปทำเป็น Reality จริง ๆ เหมือน Next Episode คนมักจะถามว่าเวลาจับคู่ลงไปแล้ว เขาไปจับคู่กันจริงรึเปล่า เราก็เลยมาทำ Take Me Out Reality นี่แหละ คิดว่ามันจะมาตอบคำถามเหล่านั้นได้

หลังจากนั้นก็จะมีละครที่ต่อเนื่องใน AIS Play เหมือนกันใช่ไหม

อันนี้เกิดจากว่าเวลาปกติก่อนเราจะเอาสาว ๆ หรือหนุ่มขึ้นเวที เราจะมีการสัมภาษณ์ก่อน โดยเฉพาะคนที่มาเลือก เป็นสัมภาษณ์เชิงลึก เพราะเราต้องทำคอนเทนต์จากตัวเขา มันมีเรื่องที่น่าสนใจเกิดขึ้นเยอะมากเวลาเราทำสัมภาษณ์ลึก ชีวิตหลายคนผ่านประสบการณ์เยอะมาก จนเราตกใจว่ามันมีเรื่องแบบนี้ด้วยเหรอ ชีวิตคน ๆ หนึ่งเราไม่รู้หรอกว่าเขาผ่านอะไรมาบ้าง เรื่องพวกนี้มันน่าสนใจมาก จนเราอยากมาพล็อตทำเป็นละคร เราก็เลยเอาชีวิตของเขาไปพล็อต มาทำเป็นละคร แต่อาจจะมีการเพิ่มนั่นเพิ่มนี่ให้เหมาะสม แต่มันก็เป็นเรื่องของเขาจริงๆ

เชื่อคำว่า ‘ชีวิตคนเราน้ำเน่าเหมือนละคร’ ไหม

เชื่อสิ คือละครมันก็มาจากเรื่องจริงบวกจินตนาการ แต่อย่างที่บอก มันต้องมีการแต่งสีเติมแต่ง นิด ๆ หน่อย ๆ เรื่องจริงมันเลยแข็งแรงด้วยซ้ำ เพราะว่าทุกอย่างมันต้องเป็นเหตุเป็นผล เพราะเขาเป็นแบบนี้ ชีวิตเขาเลยเจอเรื่องนี้

4
ตัดใจทิ้งกุญแจเดิม ๆ เพื่อเปิดทางให้กับโอกาสใหม่ๆ

อะไรที่ทำให้คุณเอาทีวี ธันเดอร์เข้าตลาดหลักทรัพย์

จริง ๆ เป็นความตั้งใจของคุณแม่มาตั้งแต่แรก แล้วก็ในเรื่องของเงินทุน นั่นคือประเด็นหลัก การเข้าตลาดทุนเพราะเราต้องการเงินทุน เราต้องการสร้าง Facilities ในการสนับสนุนงานของเราให้มากขึ้น ตอนนั้นจังหวะทุกอย่างดีหมด เราเข้าไป เรามี Funding เข้ามา มีทีวีดิจิตอลเกิดขึ้นหลายช่อง ตอนนั้นเราผลิตงานเยอะมาก มีร่วม 10 รายการต่อปี มันเยอะจริง ๆ พออะไรหลาย ๆ อย่างเปลี่ยน เราก็จำกัดการทำงานโทรทัศน์ให้อยู่ประมาณหนึ่ง ที่เหลือมันจะต้องออกไปทำคอนเทนต์ประเภทอื่นบ้าง มี Contemporary Drama เกิดขึ้น แต่ก่อนเราทำละครหลัก ๆ ก็ช่อง 3 ปีหนึ่งประมาณ 2 – 3 เรื่อง บางช่องก็มีละครเล็ก ๆ ไม่ได้ใหญ่มาก และพอหลังจากเราทำซีรีส์นี้ ทีมละครเราก็ใหญ่ขึ้น งานมันก็เยอะขึ้น

แล้วอะไรที่ทำให้ตัดสินใจทิ้งแบรนด์แรกของบริษัทอย่าง ‘มาสเตอร์คีย์’

ตอนที่ตัดสินใจเรื่องนี้ เราคุยกันหลายรอบ ไม่ได้คุยแค่หลักเดือน แต่เป็นหลักปี ว่ามาสเตอร์คีย์เราทำอะไรกับมันได้อีกบ้าง ผมว่ามี 2 ส่วน คือชื่อมาสเตอร์คีย์แข็งแรงมาก คนที่เป็นแฟนรายการเรารู้จัก เปิดมาก็คุ้น ต่อให้รูปแบบรายการข้างในจะเปลี่ยนยังไงก็ตาม แต่ถ้าเปิดมาเป็นมาสเตอร์คีย์บวกหน้าพี่นีโน่ ยังไงก็คุ้น แต่มันก็มีข้อเสียของมัน คือแบรนด์มันช้ำ ช้ำจนผมถามว่า ‘รูปแบบของรายการมาสเตอร์คีย์คืออะไร’ ผมเชื่อว่าคนตอบไม่ได้ แม้กระทั่งคนในห้องประชุมเอง มันมีชื่อกับหน้าพี่นีโน่ อันนี้คือสิ่งที่แข็งแรง แต่รูปแบบรายการข้างในมันถูกเปลี่ยนมานับไม่ถ้วน

พอแบรนด์ช้ำ สิ่งที่กระทบต่อมาคือเรื่องธุรกิจ ลูกค้าที่สปอนเซอร์มาสเตอร์คีย์ พอเป็นมาสเตอร์คีย์มันก็จะเป็นท่าของมาสเตอร์คีย์ เราจะไม่มีรายได้รูปแบบอื่นได้ในมาสเตอร์คีย์ เพราะมันถูกตีตราไปแล้วว่ามาสเตอร์คีย์เป็นแบบนี้ มันเลยเป็นเรื่องของธุรกิจเป็นหลัก ซึ่งก่อนที่จะเปลี่ยนก็ต้องนั่งคุยกันว่าผู้ใหญ่คิดอย่างไรกัน จริง ๆ เรื่องนี้ไม่ได้เริ่มจากตัวผม เริ่มจากองค์ประชุมนี่แหละ ซึ่งผู้ใหญ่ก็คิดว่าไม่เห็นเป็นไรเลย

เรามองว่ามาสเตอร์คีย์จะเดินทางต่อไป มันก็ยังเดินทางไปได้ แต่มันไม่มีทางกระโดดขึ้น หรือดิ่งลงเยอะ มันก็จะคงตัวอยู่แบบนี้ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรมากไปกว่านี้ จะเดินเรื่อย ๆ ไปแบบนี้ เราก็เปลี่ยนแปลงตัวเองมาเยอะ ที่ทีวีธันเดอร์เราเปลี่ยนแปลงเก่ง ก็เลยไม่ได้มีใครติดอะไรกับการถอดมาสเตอร์คีย์ ถ้ามันถึงเวลาต้องเปลี่ยน ก็เปลี่ยนได้ไม่เป็นไร

ทิศทางหลังจากไร้มาสเตอร์คีย์จะเป็นอย่างไรต่อ

คือเราเปลี่ยนแปลงมาพอสมควร เริ่มตั้งแต่เป็นผู้ผลิตรายการทีวี แพลตฟอร์มหลัก ๆ ก็เป็นทีวี เราก็ทำงานอยู่ตรงนั้น พอการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเกิดขึ้น ทำให้แพลตฟอร์มเกิดเยอะขึ้น เราก็เปลี่ยนแปลงตามนั้น ก่อนจะไปแพลตฟอร์มอื่น กลับมาที่ทีวีดิจิตอล ช่องมันเยอะขึ้น เราก็ทำงานให้กับทุก ๆ ช่อง เราเป็นพาร์ทเนอร์ เราอยู่ในวงการมานานก็รู้จักกับทุกๆ ช่อง แต่ทีวีดิจิตอลมันเริ่มอยู่ตัว เรารู้ว่าแต่ละช่องหาเงินได้ประมานเท่าไหร่ Rating เท่าไหร่ เรทโฆษณาเท่าไหร่ พอมีการเปลี่ยนแปลงอีก หลายช่องก็อาจจะไม่สามารถทะลุทะลวงขึ้นมาได้ อาจมีลักษณะการจ้างงานที่เปลี่ยนไป การจ้างงานในส่วนนั้นก็ลดลงไปเหมือนกันสำหรับเรา แต่ขณะเดียวกันเราก็น่าจะเป็นเจ้าแรกที่ไปทำ OTT ก็คือ LINE TV และก็มี AIS Play ตามมา หลังจากนั้นต่างชาติก็เข้ามาเต็มเลย

ปัจจุบันเราก็ทำคอนเทนต์ให้กับ OTT ด้วยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นจะสังเกตว่าเราเป็นคนทำคอนเทนต์ ทุกแพลตฟอร์มต้องการคอนเทนต์ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราปรับเปลี่ยนจากการเป็นผู้ผลิตทีวี ก็คือเราก็ต้องทำคอนเทนต์ที่อยู่บนทุกแพลตฟอร์ม ที่เหมาะสมกับแพลตฟอร์มนั้นๆ ผมจะใช้คำว่า Content to Connect คือเราต้องทำคอนเทนต์ให้เชื่อมต่อกับคนให้ถูกต้อง หรือมีอะไรมากกว่าทำคอนเทนต์และรอให้คนมาดู แต่เมื่อดูแล้ว React กับคอนเทนต์เรายังไง เราเชื่อมต่อกับเขายังไง เพื่ออะไร มันอาจจะทำให้รายการดังขึ้น

หรืออย่างน้อยคนดูก็ยังรู้ว่ายังมีทีวี ธันเดอร์อยู่ เดินมานานคนอาจจะลืม มันก็เลยเป็นสาเหตุให้เราเน้นเรื่องนี้ คอนเทนต์ที่จะไปแพลตฟอร์มทีวี เราก็ต้องทำคอนเทนต์ที่ยังทำให้เขาคุ้นเคย อย่างทีวีผมจะใช้คำว่า ‘ย่อยง่าย’ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เวลาทำคอนเทนต์ต้องเข้าใจ พอเราเปลี่ยนไปทำ OTT ซึ่งส่วนใหญ่เราทำซีรีส์ แต่เราเรียกซีรีส์ของเราจะใช้คำว่า Contemporary Drama มันคือซีรีส์ที่เราโฟกัสไปที่เรื่องราวของชีวิตคนจริง ๆ มากขึ้น ไม่ใช่ผัวเมียตบตีกันอย่างเดียว เราเอาอาชีพเข้ามาเกี่ยวมากขึ้น เอาประเด็นสังคมเข้ามาอยู่ในซีรีส์มากขึ้น อยากให้มันเชื่อมต่อกับคน มันคือหนึ่งในส่วนของ Content to Connect

5
บริษัทแห่งการทดลองและเรียนรู้

ได้อะไรจากคุณพ่อในเรื่องของการบริหารธุรกิจบ้าง

ส่วนใหญ่ได้แนวคิด เพราะว่าเขาผ่านอะไรมาเยอะ เวลาเขาสอนผม เขาก็จะพูดเรื่องแนวคิดเป็นหลัก แนวคิดในการใช้ชีวิต แนวคิดในการวางตัวในสังคม แนวทางในการทำธุรกิจ บางเรื่องต้องทำอย่างไร ต้องชัดเจน เร็ว คิดแล้วต้องทำเลย

อะไรที่ตัดสินใจทำอะไรหลายๆ อย่างให้ตัวเองเหมือนห้องทดลอง

สภาพแวดล้อมทุกคนเปลี่ยนแปลง (หัวเราะ) มันบังคับว่าต้องทำ มันคือการคว้าโอกาส โอกาสมันมักจะมาตอนเกิดการเปลี่ยนแปลง พอเราเห็นการเปลี่ยนแปลงเราก็จะเห็นโอกาส และการเปลี่ยนแปลงมันจะบีบคับให้เราต้องคว้าอย่างอื่นบ้าง ให้ก้าวออกมาทำเรื่องอื่นบ้าง โอกาสที่ผ่านมาผ่านไป ถ้าคุณไม่คว้าคุณก็จะโดนบีบไปเรื่อย ๆ พอโดนบีบเราอาจจะไม่พลังงานพอที่จะคว้าบางอย่างในตอนที่โอกาสมาก็ได้

แล้วทำไมถึงทำ Content Provider เป็นหลักทั้งที่ทำได้หลายอย่างอยู่แล้ว

ก็กลับมาที่ Business Core ของเราว่าเราถนัดอะไรที่สุด ผมว่าการทำทุกอย่างมันจะมีอยู่ช่วงหนึ่งแหละที่ดี แต่พอในช่วงนี้มันจำเป็นต้องทำ Business Core ให้แข็งแรง และ Core อันนี้มันจะแตกกระจายออกไป และทำได้อีกหลายทาง สมมติถามว่าทำไมผมไม่ทำอีเว้นท์ เพราะว่าอีเว้ทน์ไม่ใช่จุดเด่นของเรา เราไม่มีทางสู้ Index Creative Village ได้ ในเมื่อเราไม่ได้แม่นเรื่องนั้น เราก็ไม่ควรจะใช้ Resource ไปกับเรื่องนั้นเยอะ แม้วิธีการบริหารมันก็จะมีประมาณหนึ่ง แต่ Resource มันจะไม่ได้เยอะมาก มันก็จะไม่โต

เพราะฉะนั้นเราก็กลับมาที่ Business Core ที่เป็นเรื่องคอนเทนต์ เพราะว่ามันสามารถเดินทางผ่านได้ทุกแพลตฟอร์มแล้ว ถ้าเราต้องมองว่าเวลามันผ่านแต่ละแพลตฟอร์ม มันจะผ่านโอกาสอะไรอีกบ้าง ถามว่าทำอีเว้นท์ได้ไหม ทำได้ แต่มันต้องเป็นอีเว้นท์ที่เกิดจากคอนเทนต์ของเรา ไม่ใช่อยู่ดี ๆ เดินไปรับจ้างแบรนด์ทำอีเว้นท์ เพราะฉะนั้นเราควรจะมองว่าจากคอนเทนต์เราสร้างอะไรได้อีก มันหาอะไรได้อีก และใช้ Resource กับตรงนั้นน่าจะดีที่สุด

6
จากผู้ผลิตรายการทีวี สู่ผู้ผลิตคอนเทนต์

ทำไมทีวี ธันเดอร์ถึงไม่ทำรายการประกวดร้องเพลงเหมือนอย่างที่อื่น

จริง ๆ เราทำรายการร้องเพลงมาพอสมควรนะ ถามว่าอยากทำไหม ก็อยากทำ เพราะผมก็ชอบเพลงมาก คนในองค์กรหลายคนก็มีรากมาจากเรื่องเพลง สาเหตุที่ยังไม่ได้ทำเพราะว่ารายการร้องเพลงต้นทุนสูง หลักๆ เลยก็คือค่าลิขสิทธิ์แพง ค่าใช้จ่ายในการถ่ายทำเยอะ แล้วถ้าทำรายการประกวดร้องเพลง เรารู้สึกว่ามันยากที่จะทำให้ต่าง เพราะคนทำมันเยอะมากจริง ๆ เราเคยนับกันในตอนช่วงจุดสูงสุดของรายการประกวดร้องเพลง มันมีรายการเพลงทั้งวงการรวมกันอยู่ประมาณ 10 รายการ ที่เกิดขึ้นพร้อมกัน ตอนนั้นเราแค่รู้สึกว่ามันตัน ทำยังไงมันก็ไม่ต่าง และผมเชื่อว่าทุกอย่างมีอายุไขของมัน ก็เลยเป็นสาเหตุที่เราไม่ได้ทำ สุดท้ายที่เราทำก็คงเป็น La Banda

ซึ่งอย่าง La Banda ตอนซื้อมาผมรู้เลยว่าฝรั่งเขาก็พยายามดิ้นรน ทำยังไงก็ได้ให้รายการร้องเพลงมันดังได้ มันเลยเป็นการตัดสินจากหน้าตาก่อน ถ้าหน้าตาผ่าน ค่อยเข้าไปร้อง ร้องดีหรือไม่ดีให้กรรมการเป็นคนตัดสิน มันมีลูกเล่นที่ใส่เข้าในรูปแบบรายการ ซึ่งผมก็ชอบมันมาก นี่เป็นตัวอย่างของการดิ้นรน ถึงบอกว่ามันตันพอสมควร แต่ทุกวันนี้เมืองนอกมีเหมือนเช็คลิสต์ว่าทุกปีต้องมีรายการประกวดร้องเพลงหนึ่งรายการใหญ่ เพราะเป็นสิ่งที่คนเสพง่ายที่สุด แต่ผมก็เห็นว่าไม่มีรูปแบบไหนดีเท่า The Voice คนคิดรูปแบบรายการนี้คือที่สุด เขาคิดได้เก่งมากจริง ๆ

เจ็บปวดไหมที่รายการ La Banda ไม่ประสบความสำเร็จ แต่มีนักร้องที่ดังหลังจากเข้ารายการนี้เยอะมาก

ไม่ได้เจ็บปวดเลย ดีใจกับเขาด้วย เจ้าของ La Banda คือ Simon Cowell เขาเอาโมเดลนี้มาจากการที่เขาปั้นวง One Direction และก็ดังเป็นพลุแตกเลย เขาก็เลยมาทำ La Banda เราเป็น Content Provider สิ่งที่เราเก่งก็คือการทำให้ La Banda สนุก ตอนนั้นจำได้ว่ามีน้องที่เป็นกระแสมาก ที่เขาสู้ชีวิต เขาร้องเพลง และพอผ่านก็กราบเท้าคุณแม่ในรายการ คลิปนี้ยอดวิวก็มหาศาล รายการก็น่าจะดังมาจากน้องคนนั้นเหมือนกัน พอสุดท้ายได้ผู้ชนะมาแล้ว เราก็คุยกับ Simon Cowell ว่าเราไม่ใช่เป็นคนที่ทำวงดนตรี Boyband ได้เก่งนะ เพราะฉะนั้นเราอยากจับมือใครสักคน ที่จะมารับเจ้าวงนี้ไปทำต่อ รายการนี้จะดังเพราะวงนี้ดัง สุดท้ายแล้วการส่งไม้ต่อมันไม่เกิดขึ้น เราก็เสียดาย มันเลยอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้มันไปไม่ถึงจุดประสงค์สูงสุดของ Simon แต่คนที่จบไปจากเวทีไปแล้วดัง ผมดีใจด้วยมากจริง ๆ แพทริค – อนันดา ชื่นสมทรง นี่เขาดังมากเลยนะ เพิ่งรู้จริง ๆ ว่าเขามาจากผม (หัวเราะ)

License ที่ทีวี ธันเดอร์จะซื้อมาทำ ต้องเป็นแบบไหน

ส่วนใหญ่เวลาผมเห็นรูปแบบรายการ ผมดูจาก Format Structure ก่อนเป็นอย่างแรก เพราะส่วนใหญ่แล้ว มันจะมีประเภทรายการที่เขาเรียกว่า Shiny Floor คือใหญ่โต ฉากสวย ๆ ผมตัดเรื่องนั้นออกไปก่อน ผมถอดทุกสิ่งที่เป็นเครื่องแต่งตัวเขาออก ตัวเปลือย ๆ ของเขาเป็นอย่างไร ผมดูแล้วสนุกไหม รูปแบบมันเป็นเหมือนกระดูกสันหลัง มันช่วยให้รายการแข็งแรง แบบที่ผมไม่จำเป็นต้องพยายามกำกับคนมากนัก เพราะว่าโครงสร้างมันช่วยผลักดันของมันอยู่แล้ว

นอกจากนั้นคือโครงสร้างนี้มันมี Twist มั้ย ถ้ามีผมจะชอบยิ่งขึ้นไปอีก อย่าง The Voice นี่สุด ๆ ไปเลยในเรื่องของการ Twist อันแรกเลยคือ ‘ไม่เห็นหน้า ได้ยินแต่เสียง’ การร้องเพลงคือเราต้องได้ยินเสียงก่อนอยู่แล้ว แล้วค่อยตัดสินใจว่าจะหันไหม พอหันมา Twist ที่สองคือ ‘หันมาเกินหนึ่งคน’ คนนี้กลายเป็นเป็นคนที่มีสิทธิ์เลือก กลายเป็น Twist อีกทีหนึ่ง จริง ๆ La Banda มันก็มี Twist ของมัน ขึ้นมาหน้าตาดี ได้เข้ารอบแต่ร้องไม่ดี อันนี้คือ Twist ขึ้นมาหน้าตาไม่ดี แต่ร้องดี ไม่ผ่านก็ไม่ได้เข้า อันนี้ก็ Twist เพราะว่าเราไม่ได้ตามหาคนที่ไม่ผ่านตั้งแต่คนดู มันก็เป็น Twist สำหรับผม เลยรู้สึกว่ามันเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่เวลาเราดู

ถ้าไม่นับเรื่องความสำเร็จของรายการ คิดว่ารายการไหนที่ชอบที่สุด

(คิด) จริง ๆ ต่างปีก็ต่างยุคสมัยนะ ผมชอบสองรายการ อันแรกคือ The Price is Right ราคาพารวย ที่ทำให้ True4U และก็ไปทำให้ช่อง 8 อยู่ประมาณ 1 – 2 ปีที่แล้ว อันที่สองที่ชอบก็คือ La Banda ในเชิงของรูปแบบ ผมว่ามันเจ๋งมาก มันมี Twist ของมัน จริง ๆ  เป้าหมายที่รายการอยากได้ มันก็ไปตอบสนองกับอุตสาหกรรมจริง ๆ ว่าเราทำเพื่ออุตสาหกรรมเพลง

7
อนาคตบนเส้นทางสายคอนเทนต์

อนาคตหลังจากนี้จะพัฒนาเนื้องานอย่างไรต่อไปบ้าง

ถ้าในเชิงคอนเทนต์ เวลาเราทำงานคอนเทนต์ เราจำเป็นต้องเชื่อมต่อกับคน ที่ผมพูดอย่างนี้เพราะว่าผมไม่รู้ว่าคนจะเข้าใจรึเปล่า สำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ Position ของเรา แต่ว่าหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา การทำรายการ เป้าหมาย คือพยายามคุยกับคนดูอยู่แล้ว แต่มันคุยกับคนดูในมุมของความบันเทิง ทำให้เขามีอารมณ์ร่วมกับรายการ ไม่ว่าจะอารมณ์ใดก็ตาม แต่พื้นฐานของมันคือความขำขันที่ดึงให้คนอยู่กับเราได้มากที่สุด แต่สำหรับผม ผมว่าแค่นั้นมันไม่พอ มันจำเป็นจะต้องเชื่อมกับคนในอารมณ์ที่ต่างไปมากกว่านี้ และสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือกลุ่มเป้าหมายว่าเราคุยกับใคร เวลาเราทำทีวี มันเป็น Mass Media (สื่อเพื่อมหาชน) แต่ว่าความมหาชน มันมหาชนยังไง แล้วมหาชนคือใคร แต่ก่อนเราไม่ต้องสนใจ แต่ตอนนี้เราต้องสนใจ อันนี้เฉพาะส่วนของทีวี

ส่วนของออนไลน์ เราทำคอนเทนต์ออนไลน์ เรายิ่งต้องดูว่าเรากำลังคุยกับใคร เพราะฉะนั้นเราจึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากเวลาทำคอนเทนต์ คือต้องเชื่อมต่อกับคน อันนี้เป็น Movement ของเรา เราต้องไปทุกแพลตฟอร์มอยู่แล้ว ไม่ใช่แค่ผม ทุก ๆ ผู้ผลิตก็อยากจะไปทุกแพลตฟอร์ม เราจึงจำเป็นต้องพาคอนเทนต์ของเราไปในทุก ๆ แพลตฟอร์ม แต่สิ่งที่กลับมาคือเราต้องเข้าใจ Target อันนี้คือเรื่องแรก มันต้องไม่่ใช่แค่ Inside Out แต่ต้อง Outside In ด้วย

และในปี 2022 เรามีโปรเจค Collaboration อยู่ประมาณ 2 – 3 งาน กับ Workpoint เราคุยกันไปแล้ว และก็เราพยายามจะทำคอนเทนต์ที่อาจจะไม่ได้ใกล้ตัวมาก เราทำ Intelligent Studio ขึ้นมากับพาร์ทเนอร์ ซึ่งมันคือสตูดิโอที่สร้าง Virtual World ซึ่งมันไม่เหมือน Metaverse มันเหมือนเป็น Gateway มากกว่า เพราะมันเป็นสตูดิโอ และสตูดิโอก็ทำคอนเทนต์ Virtual ด้วย อันนี้จะเป็นสิ่งที่เราพูดถึงมากขึ้นด้วยในปี 2022 และที่สำคัญคือยังไม่ได้พูดที่ไหนเลย เพราะว่ามันมี Technical ที่ต้องจัดการเยอะมาก และเราก็จะได้เห็นว่างานของเราบางชิ้น จะมีพาร์ทของ Virtual ไปอยู่ตรงนั้น อันนี้คือในขั้นแรก ในขั้นที่ไกลที่สุดคือเราอยากทำคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับ Virtual World จริง ๆ อันนี้ก็ต้องดูว่า Virtual World ที่เราเรียกกันว่า Metaverse มันจะเดินเข้ามาใกล้เรามากแค่ไหน ตอนนี้มันยังไกลมาก มันยังต้องใช้เวลาอีกสักพัก และถ้ามันมาจริงเราอยู่ตรงนั้นแน่นอน เพราะตอนนี้เราเริ่มแล้ว

ทีวี ธันเดอร์เรียนรู้อะไรจากการที่อยู่ในวงการมา 30 ปี

ผมว่าเราเรียนรู้วัฒนธรรมของคนไทย เรื่องแรกคงเป็นรสนิยมของคนไทยเป็นอย่างไร ถึงแม้วันนี้รสนิยมของคนมันเปลี่ยนแปลงไปเยอะจริง ๆ ผมก็เชื่อว่าเราเข้าใจ เรียนตามตรง การทำคอนเทนต์หนึ่งอย่าง แล้วบอกได้ว่าอันนี้จะดัง ผมเชื่อว่าไม่มีใครในอตุสาหกรรมตอบคำถามนี้ได้ หรือกล้าพูดได้ ผมเคยฟังแม้กระทั่งระดับปรมาจารย์ที่ผมนับถือ คือ พี่เก้ง – จิระ มะลิกุล เขาบอกว่าทำหนังหนึ่งเรื่องเหมือนนับหนึ่งใหม่ ถึงแม้ชื่อของ​ GDH จะสุดยอดแค่ไหน ต่อให้เข้าใจแต่ก็ไม่ได้มีอะไรการันตี ผมไม่ได้การันตีว่าเราทำงานทุกงานสำเร็จ มันตอบไม่ได้ มันมีปัจจัยเยอะมาก ซึ่งปัจจัยเหล่านั้นเราควบคุมไม่ได้เลย แต่ถ้าเราไม่เข้าใจเลย มันก็จะตอบได้ว่าน่าจะไม่สำเร็จสักงาน เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นสิ่งที่เราเรียนรู้ เรามีการทำงาน Research ด้วยบ้าง ไม่ใช่ Inside Out อย่างเดียว

สิ่งที่เรียนรู้อีกอย่างก็คือ การทำคอนเทนต์เราต้องเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาจริง ๆ ผมว่าเราอาจจะไม่มีใครรู้มากว่าเปลี่ยนอะไรบ้าง แต่ถ้าไล่ตามชิ้นงานของเรา จะรู้ว่ามันต้องปรับตัวเยอะเหมือนกัน ก็เป็นสิ่งที่เรารู้สึกว่าอยู่นิ่งไม่ได้ มันจะบางธุรกิจแหละที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมาก แต่ Media มันเปลี่ยนหนักจริง ๆ เราอยู่ในอตุสาหกรรมสื่อ คนทำคอนเทนต์ออนไลน์ อาจจะไม่ใช่แค่ Facebook แต่ในทุก ๆ ที่ วันนี้คืนดี Facebook เปลี่ยน Algorithm การ Reach คนลดลงอย่างเห็นได้ชัด หรืออย่าง YouTube นี่หนักมาก เปลี่ยน Algorithm ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร (หัวเราะ) มันกระทบเรา แต่เราทำอะไรไม่ได้ แล้ว Media มันไม่ใช่ปัจจัย 4 มันไม่ใช่อาหาร ที่อยู่ เสื้อผ้า หรือยา มันเลยไม่ค่อยเปลี่ยน จะเปลี่ยนก็เปลี่ยนตามเทรนด์ เสื้อเรายังก็ต้องใส่ แต่สื่อมันไม่ใช่ วันนี้มูลค่าโฆษณาบนสื่อลดเหลือเท่านี้ ออนไลน์อยู่เท่านี้ ออนไลน์จะแซงอยู่แล้ว ผมเลยคิดว่าคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้ต้องเปลี่ยนตลอดเวลา ไม่เปลี่ยนตายแน่นอน

แล้วคุณเรียนรู้อะไรบ้างจากการทำงานกว่า 10 ปีที่ผ่านมา

ผมว่า 5 ปีแรกเป็นการเรียนรู้ในเชิง Production ล้วน ๆ เลย การทำความเข้าใจว่าการทำงานหรือ Business Core คืออะไร อีก 5 ปีหลัง มันเป็นเรื่อง Management มากขึ้น และหลังจากนั้นมันเริ่มเป็นเรื่อง Business แล้ว ผมเองก็จับงานผลิตน้อยลงเยอะเหมือนกัน แล้วก็ดูงานบริหาร และ Business Development เป็นหลัก ผมก็พยายามจะดูว่าเราจะเดินทางไปตรงไหนได้บ้าง การจะทำ Business Development ชิ้นหนึ่ง คือคุณต้องรู้ว่าจะวิ่งไปไหน ไปหาใคร แล้วได้อะไรกลับมา เพื่อทำให้เรื่องเกิดขึ้น เพราะมันไม่มีทางเกิดขึ้นด้วยมือตัวเอง 100% อยู่แล้ว

งานโปรดักชั่นมันมี Process ในการทำงาน เดินทางมา 29 ปีแล้วมันแข็งแรงมาก เพราะฉะนั้นมันทำงานเป็น Loop คล้าย ๆ เดิม แต่งาน Business Development มันเป็นงานที่ไม่มีรากฐานมาก่อน เพราะงั้นมันต้องทำใหม่ เมื่อทำใหม่มันจึงท้าทายและไม่ง่ายเลย เราก็เริ่มได้เรียนรู้ว่า ถ้าอยากทำให้สิ่งนี้เกิดเราต้องวิ่งหาใคร เราต้องมีการรู้จักกับคน จะเรียก Connection ก็ได้ ก็เป็นสิ่งที่กลับมาเสริมธุรกิจของเรา อันนี้เป็นสิ่งที่ 5 ปีหลังได้เรียนรู้มากขึ้น

8
เมื่อวาน วันนี้ และพรุ่งนี้ของ “ณฐกฤต วรรณภิญโญ”

มีใครเป็นต้นแบบในการบริหารธุรกิจบ้างไหม

มีหลายท่านครับ ผมชอบคุณรวิศ หาญอุตสาหะ เพราะผมรู้สึกว่าเขาเป็นยอดคน (หัวเราะ) คือทุกคนมีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน แต่ว่าแกทำอะไรได้เยอะมากจริง ๆ และวิธีคิดแกค่อนข้าง Impact ผมฟังแกตลอด เคยเชิญแกมาพูดที่ทีวี ธันเดอร์ครั้งหนึ่ง อีกคนอาจจะเป็นเพราะความสนิท คือพี่โจ้ – ธนา เธียรอัจฉริยะ ก็รู้จักและก็มักจะไปขอคำแนะนำจากแกหลาย ๆ เรื่อง ที่ผมชอบแกที่สุดเลย คือแกไม่เคยบอกเลยว่าตัวเองเก่ง เวลาผมไปอ่านเพจที่แกเขียน แกก็จะบอกว่ามั่ว ๆ เอา แกชอบพูดแบบนี้ แต่วิธีที่มั่ว ๆ กะ ๆ ของแกมันโอโห้ ว่าแกคิดได้ขนาดนี้เลยเหรอ และอีกอย่างหนึ่งคือพี่โจ้มี Creativity ที่สูงมากสำหรับผม และวิธีการในการบริหารคนก็เก่งมากเช่นกัน ค่อนข้างสมัยใหม่

วางแผนตัวเองในอนาคตอย่างไรบ้าง

ผมอยากให้ทีวี ธันเดอร์แข็งแรงขึ้น ไม่ได้หมายความว่าตอนนี้ไม่แข็งแรงนะ แต่หมายความว่าแข็งแรงขึ้นกว่านี้ ไม่งั้นแสดงว่าผมไม่ได้สร้างอะไรให้บริษัทเลย มันก็เหมือนใช้บุญเก่า ผมไม่ต้องการใช้บุญเก่า ถ้าผมไม่สามารถทำอย่างอื่นได้นอกจากใช้บุญเก่า ผมจะไม่ทำ ผมจะไปทำอย่างอื่น เพราะผมเชื่อว่าผมมีพลังงานมากพอที่จะทำอย่างอื่นให้เกิด เพราะฉะนั้นผมเลยอยากจะทำให้ที่นี่แข็งแรงไม่ว่าจะในเชิงไหนก็ตาม

ในเชิงของงาน ผมว่าเราทำคอนเทนต์ได้โอเคอยู่แล้ว อันนี้เป็น Business Core ที่มันเดินมาไกลแล้ว แต่ผมว่าบริษัทนี้สื่อสารไม่เก่ง ไม่ได้สื่อสารออกไปว่าเราทำอะไร เราเป็นเหมือนนักทำ เราทำอย่างเดียว แต่ไม่ค่อยพูด มันจะมีคนที่ทำเก่งและก็พูดเก่ง แต่เราทำเก่งพูดไม่เก่ง อันนี้ก็เป็นสิ่งที่อยากจะปรับปรุง ที่เหลือก็คงเป็นเรื่องใหม่ ๆ ที่ควรจะต้องเกิดขึ้นในบริษัท

เกร็งไหมกับการมีนามสกุลวรรณภิญโญ ต่อท้าย

ผมไม่น่าเกร็ง แต่คนที่ทำงานด้วยน่าจะเกร็ง (หัวเราะ) ตอนทำงานกับผมช่วงแรก ๆ ก็คงมีทั้งเกร็งบ้างไม่เกร็งบ้าง ถ้าถามว่ายากหรือง่าย ผมบอกเลยว่ายากหลายข้อ เช่น ผมต้องมีความสามารถจริง ๆ ผมไม่ได้สามารถดำเนินธุรกิจและทำงานร่วมกับเขาได้เพราะนามสกุล อันนี้เป็นไปไม่ได้ สุดท้ายคนจะต่อต้านผมลับหลังอยู่ดี เพราะฉะนั้นแปลว่าผมต้องพัฒนาตัวเอง ผมวิ่งตามหลังคนอื่นอยู่แล้ว เพราะผมเริ่มช้ากว่าคนอื่นในอตุสาหกรรมนี้ แล้วผมว่ายากตรงที่การเปลี่ยนแปลง ผมว่าธุรกิจครอบครัวทุกที่น่าจะคล้าย ๆ กัน มันจะมีภาพที่ทับซ้อนกันอยู่ ระหว่างการทำธุรกิจกับความสัมพันธ์ มันเลยเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ง่าย ถ้าคุณไม่อดทน ใช้เวลา และออกแบบมันให้ถูกต้อง อยู่ดี ๆ อยากจะเปลี่ยนเลยไม่ได้ เพราะเรากำลังทำงานกับคน ลำดับชั้นมันเยอะ จะเปลี่ยนได้มันต้องเลาะชั้นให้ถูก ต้องคิดให้เยอะ ต่อให้รู้แล้วก็อาจจะเปลี่ยนไม่ได้ก็ได้ บริษัทที่เดินมา 29 ปี มันมี Way of Working ของเขา มันมี Mindset ของเขา ดีอยู่แล้วก็เก็บไว้ แต่มันก็มีสิ่งที่ต้องเปลี่ยน ผมก็ต้องพยายามพลักดัน

เรียนรู้อะไรจากที่ทำธุรกิจครอบครัว

ผมว่าทุกสิ่งที่เล่ามาคือการเรียนรู้จริง ๆ ผมว่าทุกงานทุกอาชีพมันมีความยากง่ายไม่เหมือนกันอยู่แล้ว ธุรกิจครอบครัวมันอาจจะง่าย เพราะมันมีทุกอย่างมาให้แล้ว ถ้าสมมติไม่ทำอะไรเลย อยู่เฉย ๆ คุณก็อาจจะอยู่ได้ ก็ขึ้นอยู่กับคน บางคนอยู่บนกองเงินกองทองของแท้ ไม่ต้องทำอะไรแล้ว บริษัทใหญ่ขนาดนี้ ถือหุ้นขนาดนี้ ไม่ต้องทำงานก็ได้ แต่ของเราก็มันไม่ได้ใหญ่มาก เพราะฉะนั้นมันก็ต้องทำงานจริง ๆ จัง ๆ ก็ยากง่ายคนละแบบครับ

ถ้าตอนนี้ไม่ได้ทำงานที่ทีวี ธันเดอร์จะทำอะไรอยู่

ผมน่าจะเป็นพาร์ทเนอร์ทำบริษัทกับรุ่นพี่คนหนึ่งที่ผมนับถือ จริง ๆ ก็อยากทำงานกับเขามานานแล้ว จะไปในทาง Tech Company หน่อย ผมน่าจะบริหารบริษัทประมาณนั้นอยู่ ซึ่งถ้าบอกไป เขาจะทำด้วยรึเปล่านะ (หัวเราะ) คือคุณหมอคิด – นพ.ศุภชัย ปาจริยานนท์ ผู้ก่อตั้ง RISE Corporation ก็เป็นคนที่อยู่ในวงการเทคโนโลยีที่เก่งท่านหนึ่ง ผมนับถือเขา เขาทำงานแบบบ้าคลั่ง เก่งแบบบ้าคลั่ง ก็เป็นคนที่ผมคุยอยู่ด้วยบ่อย ๆ เคยทำงานร่วมกันหนึ่งโปรเจกต์ และชอบที่ทำงานกับเขา


บทสัมภาษณ์โดย กฤตนัน ดิษฐบรรจง
ถ่ายภาพโดย ธเนศ แสงทองศรีกมล