fbpx

หากจะดูธุรกิจสื่อในปัจจุบันนี้แล้ว เราจะพบว่าเริ่มมีสื่อหลายเจ้าผนึกกำลังกันแบบข้ามแบรนด์มากขึ้นเรื่อย ๆ ยกตัวอย่างเช่น เครือมติชนที่ผนึกกำลังกับเครือเดลินิวส์ในการทำคอนเทนต์เลือกตั้งในปีนี้ (2566) ซึ่งมีทั้งโพลและเวทีดีเบต หรือการผนึกกำลังกันของไทยรัฐพลัสกับ BrandThink ในการทำรายการ “Game of ทอย” ซึ่งเชิญนักการเมืองมาร่วมเล่นบอร์ดเกมส์ ซึ่งต่างจากกรณีการผนึกกำลังกันเองของสื่อในเครือที่เราเห็นจนเป็นเรื่องปกติ กลับกันการผนึกกำลังข้ามสื่อหรือข้ามแบรนด์กำลังเริ่มเป็นเทรนด์มากขึ้นไปด้วย รวมไปถึงสื่อในยุคนี้ต่างก็มีเป็นจำนวนมาก เราจะรับสื่ออย่างไรไม่ให้เครียดจนเกินไป แถมยังเปิดมุมมองได้อีกด้วย นี่คืออีกหนึ่งคำถามสำคัญที่หลายคนถามกันเข้ามาในช่วงที่ข่าวการเมืองกำลังร้อนแรงมากๆ

วันนี้ส่องสื่อจึงสอบถาม ผศ.ดร.เจษฎา ศาลาทอง อาจารย์ภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศ และพิธีกร เกี่ยวกับประเด็นการร่วมมือกันข้ามสื่อในขณะนี้ว่าแท้ที่จริงแล้วเป็นอย่างไรบ้าง และสะท้อนอะไรถึงอุตสาหกรรมสื่อในขณะนี้

Thairath Plus x BrandThink

ร่วมมือกันเพราะผลประโยชน์ทั้งคู่

ผศ.ดร.เจษฎา กล่าวว่า การจับมือข้ามสื่อที่เกิดขึ้นในตอนนี้ ส่วนใหญ่มาจากผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งถ้าการรวมกันนั้นจะทำให้สามารถขยายฐานได้มากขึ้นก็เท่ากับว่าเราต่างคนต่างได้ผลประโยชน์ร่วมกันแบบเห็นชัด ซึ่งการจะจับมือกับก็ต้องดูอะไรที่มันได้ประโยชน์ทั้งคู่ ถึงจะสามารถไปรวมกันได้ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการพูดคุยในรายละเอียดของแต่ละคนอีกทีว่าจะได้ประโยชน์ด้วยอะไร

ระวัง! ยิ่งเสพข่าวการเมืองเยอะ ยิ่งเครียด

ในขณะเดียวกัน การเกิดข้อมูลข่าวสารทางการเมืองในตอนนี้ถือว่าเป็น Over-Information ที่ถ้าหากเสพมากจนเกินไปก็อาจจะเครียดได้ ผศ.ดร.เจษฎา จึงให้คำแนะนำในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งไว้ว่า บันไดขั้นแรกของการรู้เท่าทันสื่อก็คือข้อมูลที่คุณเสพ เพราะคุณเสพอะไรก็มักจะได้สิ่งนั้น เราคงต้องเริ่มบันไดขั้นแรกจากการเลือกเสพสื่อให้มีคุณภาพที่ดีและตรวจสอบ กลั่นกรองให้ดีก่อน และเลือกให้หลากหลาย ไม่เลือกเสพแค่สื่อฝั่งเดียว เพื่อทำให้มีวิจารณญาณและมีมุมมองที่หลากหลายขึ้น ซึ่งมีผลมากกับในช่วงเลือกตั้งที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่จำเป็นต้องเสพทุกอัน แต่ต้องหลากหลาย เพื่อที่เราจะได้ไม่หลงไปในดงของข้อมูลข่าวสาร

ONE NEWS x ATIME x Zanroo

ถ้าสื่อไม่ทำหน้าที่สื่อเอง คนดูก็จะหนีไปดูอย่างอื่นแทน

ผศ.ดร.เจษฎา ยังฝากถึงคนผลิตสื่อในช่วงนี้ด้วยว่า เรากำลังจะติดกับดักของการทำสิ่งที่แตกต่าง แต่เราต้องคำนึงถึงผลประโยชน์สาธารณะเป็นอันดับแรกก่อน สาธารณชนเขาได้ประโยชน์อะไรจากการทำงานชิ้นนี้ ไม่ใช่แค่การทำให้เกิดความสนใจ ความดราม่าต่างๆ เพียงเท่านั้น และต้องทำคอนเทนต์บนฐานของการตรวจสอบข้อมูลแล้ว ไม่ใช่ไปผลักภาระไปให้ผู้บริโภคสื่อเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ไม่งั้นก็จะมีเสียงที่สะท้อนมาบอกว่าทำไมคนไม่เสพสื่อกระแสหลัก ซึ่งผู้บริโภคยุคนี้เขาคาดหวังการทำหน้าที่ของสื่อสารมวลชนมากๆ ถ้าคุณไม่ทำตามหน้าที่ คนก็จะไปดูอย่างอื่น การเลือกตั้งครั้งนี้ก็เป็นโอกาสที่ดีในการทำคอนเทนต์ที่เชื่อถือได้ และทำให้คนเข้าใจโดยไม่ต้องดราม่านั่นเอง


เรียบเรียงโดย กฤตนัน ดิษฐบรรจง