fbpx

เข้าสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง ซึ่งจะมาถึงในวันพรุ่งนี้ (14 พฤษภาคม 2566) แล้ว สื่อทุกช่อง ทุกสำนักต่างทุ่มสรรพกำลังในการรายงานข่าวการเลือกตั้งแบบเรียลไทม์ จนบางครั้งก็เกิดการ Over-Information หรือการรับข้อมูลข่าวการมากจนเกินไป จนอาจจะเครียดหรือไม่สามารถแยกแยะข้อมูลกับความเห็นออกจากกันได้ วันนี้ส่องสื่อจึงขอไปสอดส่องสอบถาม “สุภิญญา กลางณรงค์” ผู้ร่วมก่อตั้ง Cofact Thailand แพลตฟอร์มตรวจสอบข้อมูลข่าวลวง ซึ่งอยากให้ทุกคนตั้งใจอ่านเพื่อนำไปปรับใช้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ เพื่อทำให้การรับข่าวสารอย่างไม่เครียดและมีวิจารณญาณมากที่สุด

ในช่วงเข้าใกล้วันเลือกตั้ง สิ่งใดที่ควรระมัดระวังในการเสพสื่อมากที่สุด

ควรระวังข้อมูลที่พยายามโน้มน้าวใจ ทำให้ความคิดเห็น (opinion) ความรู้สึก หรือ ความเชื่อ (faith) กลายเป็นข้อเท็จจริง (facts or truth) ในลักษณะจงใจบิดเบือน จับแพะชนแกะ ใส่ร้ายป้ายสี โจมตี ทำให้เกิดความเกลียดชัง ทั้งในลักษณะภาพ คลิป เสียง เพราะส่วนใหญ่จะมาจากเจตนาที่ไม่ดี ยุคนี้ ภาพ เสียง คลิป สามรรถตัดต่อได้อย่างง่ายดาย  ถ้าเราได้รับมา ไม่ควรแชร์ต่อ เพราะถ้าเป็นข้อมูลลวง ผิดพลาด บิดเบือนจะส่งผลต่อทั้งคนแชร์ และ คนรับแบบที่แก้ไขลำบาก  รวมทั้งส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกจากข้อมูลไม่ถูกต้อง เราต้องระวังแม้เป็นการส่งต่อข้อมูลจากคนรู้จัก ญาติสนิทมิตรสหาย แม้เป็นคนที่เรานับถือก็ตาม โดยเฉพาะที่ส่งต่อกันทางแอพพลิเคชันวงปิดที่สังคมช่วยตรวจสอบยาก ทำให้เราตกอยู่ในห้องแห่งเสียงสะท้อน หรือ echo chamber นั่นเอง

สิ่งที่ควรระวังมากที่สุดคือข้อมูลเชิงลบต่อฝั่งที่อยู่ตรงข้ามกับความชอบความเชื่อทางการเมืองของเรา  ต้องระวังอคติที่จะทำให้เกิดความเชื่อที่มืดบอดว่าสิ่งนั้นเป็นความจริง (blind faith) ซึ่งการมีสติคิด วิเคราะห์ ตั้งคำถาม ตรวจสอบข้อมูลก่อนเสมอ เป็นทักษะที่จำเป็นยิ่งสำหรับพลเมืองยุคดิจิทัล โดยเฉพาะในประเด็นการเมืองที่อ่อนไหวกับความคิดความเชื่อ

อะไรคือผลกระทบจากการเสพสื่อที่มีข้อมูลบิดเบือนในช่วงเลือกตั้ง

ทำให้เกิดความเข้าใจผิด สับสน ส่งผลต่อการตัดสินใจลงคะแนนเสียง ส่วนมากจะทำให้เกิดความเกลียดชังกันในสังคม ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อภาพรวมการพัฒนาประชาธิปไตยบนฐานของสังคมสันติภาพ ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเลือกตามความชอบความคิดความเชื่อของตนเอง แต่ทุกฝ่ายควรหาเสียง และ สนับสนุนฝ่ายที่เราชอบบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ไม่ใช่ใช้ข้อมูลบิดเบือน เพราะจะทำให้การเลือกตั้งไม่ยุติธรรม ส่งผลเสียหายต่อผู้ที่ถูกกล่าวหาบิดเบือนจนเกินเยียวยา

การตรวจสอบกันและกันเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่ควรเช็คแล้วแล้วเช็คอีกว่าข้อมูลที่เราได้นับมานั้น มีข้อเท็จจริงแค่ไหน หรือไม่ อย่างไร เราต้องไม่เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมที่อยู่กับข้อมูลลวง เพราะจะทำให้สังคมตัดสินกันด้วยอารมณ์ความรู้สึก มากกว่าข้อเท็จจริงหรือเหตุผล

ความรุนแรงของการเสพสื่อที่มีข้อมูลบิดเบือนในช่วงเลือกตั้งกับช่วงปกติ ต่างกันมากน้อยแค่ไหน

แน่นอนว่าการเลือกตั้งมีเดิมพันสูง ความเข้มข้นของสงครามข้อมูลข่าวสารย่อมมีจำนวนมากกว่าปรกติ เพื่อทำให้ฝ่ายตนเองดูดี และ ทำให้ฝ่ายตรงข้ามถูกทำลายความน่าเชื่อถือ เอชนะกันในวันหย่อนบัตร ในอดีตก็อาจเป็นใบปลิว หรือการปล่อยข่าวลือที่ทำให้เข้าใจผิด แต่ยุคนี้ทุกอย่างอยู่ในออนไลน์ เกิดการวนซ้ำ (circular reporting) วนแล้ววนอีก แม้มีการแก้ไขข่าวแล้ว แต่ก็เหมือนยิ่งวนซ้ำ จึงเป็นความยากของทุกฝ่ายในการรับมือหรือแก้ไขผลกระทบที่ซึมลึกบานปลายไร้ขอบเขต

อย่างไรก็ตาม เราเห็นการตรวจสอบ โต้แย้งกันทันท่วงทีในแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ระหว่างฝ่ายต่างๆ การดีเบททางโทรทัศน์ก็ช่วยได้มาก  แต่ในกลุ่มสนทนาปิด ข้อมูลไหลเวียนเร็ว เป็นเรื่องยากต่อสื่อในการตรวจสอบ จึงเป็นภาระหน้าที่ของคนในกลุ่มปิดหรือชุมชนนั้นต้องช่วยกันแก้ไขข้อเท็จจริงไม่ให้ลุกลามบานปลาย แต่คนก็มักเกรงใจกันเพราะกลุ่มปิดคือคนที่รู้จักกันเข่นเพื่อนร่วมงานหรือเครือญาติ ในขณะที่กลุ่มเปิด ไม่รู้จักกันส่วนตัว กล้าโต้แย้งกันได้ แต่ก็จะมีความรุนแรงทางวาจามากกว่า ส่งผลให้เกิดความตึงเครียด ขัดแย้งและใช้อารมณ์มากเกินไปด้วยเช่นกัน

ข้อมูลลวง มักจะมากับการสร้างความเกลียดชัง  (hate speech) ซึ่งช่วงเลือกตั้งจะหนักหน่วงมากกว่าปรกติ  สังคมต้องช่วยกันเตือนสติ ให้ทุกฝ่ายใจร่มๆ ฝ่ายที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าจะเลือกใครก็ควรเคารพข้อเท็จจริงของอีกฝ่ายโดยไม่เนียนบิดเบือน ส่วนกลุ่มสวิงโวตเตอร์ที่ยังลังเลไม่ตัดสิน ข้อมูลข่าวสารช่วงโค้งสุดท้ายจะมีความสำคัญมาก ทุกฝ่ายอาจใช้จังหวะนี้ปล่อยสงครามข้อมูลดึงคะแนนจากพลังเงียบ  เราก็ต้องรับสารกันด้วยสติและวิจารณญาณกันให้มากที่สุด  สำคัญคือเราอย่าเป็นส่วนหนึ่งในการปล่อยข้อมูลลวง ไม่ควรทำตัวเป็น spreader ไวรัสข้อมูลลวงหรือ disinformation แต่ควรช่วยกันเป็น corrector หรือผู้ที่ช่วยแก้ไขข้อเท็จจริง แม้ว่าข้อเท็จจริงนั้นอาจจะไม่ตรงกับความเชื่อทางการเมืองของเรา ซึ่งไม่ว่าจะเห็นต่างกันอย่างไร แต่ทุกฝ่ายต้องหาทางที่จะยอมรับ ข้อเท็จจริง ที่ยอมรับร่วมกันให้ได้ สังคมเราก็จะมีวุฒิภาวะมากขึ้น

ข้อมูลแบบไหนบ้างที่ควรสงสัยว่าบิดเบือน

พวกจับแพะชนแกะ มโนที่มา จงใจให้ชอบหรือชังแบบมีอคติ   ภาพ เสียง คลิปตัดต่อที่ดูแปลกๆ ไม่น่าเป็นไปได้ หรือ ถ้าเรามีเอ๊ะ ก็ให้ใจเย็น ไม่แชร์ ตรวจสอบก่อนเสมอ หรือลบทิ้งไปเลย ถ้าให้ดีทช่วยบริจาคข้อมูลมาที่แชทบอทโคแฟค @cofact เพราะจะได้รวบรวมไว้ในดาต้าเบสให้คนมาใช้สืบต้นต่อไป

อีกประเภทที่พบบ่อยแต่แก้ไขยากคือพวก ทฤษฎีสมคบคิด (conspiracy theories) ซึ่งอาจจะมีทั้งข้อมูลจริงบางส่วน นำมาใส่ไข่เชื่อมโยงเพิ่มเติม เพื่อมุ่งหวังเป้าหมายเชิงจิตวิทยา  อันนี้ต้องรู้เท่าทันให้มากๆเลย เพราะส่งกันวนซ้ำในวงคุยออนไลน์แบบปิด ทำให้คนที่ถูกพาดพิงโต้แย้งได้ยาก เพราะไม่ได้คุยกันในวงเปิด

อีกแบบหนึ่งที่แก้ยากมากคือการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการบิดเบือนข้อมูล ในรูปแบบ บอท (Bot) ไซบอร์ก (Cyborg) หรือที่เราเรียกกันว่าไอโอ (Information Operations) การใช้ปัญญาประดิษฐ์ในทางที่ผิด (Generative AI) การทำดีพเฟค (Deepfake) ตัดต่อคลิปวิดิโอ อันนี้ต้องใช้ทักษะที่มีต้นทุนสูงมาตรวจสอบ ประเทศไทยยังขาดองค์กรเชิงวิชาการที่เป็นกลางในการมาทำวิจัยตรวจสอบการใช้ Information operation ในลักษณะนี้ จริงๆ เราควรมีรายงานเชิงลึกว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ใครใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการแทรกแซงการไหลเวียนของข้อมูลข่วสารที่ไม่ organic คือไม่เป็นธรรมชาติบ้าง  อันนี้ยากที่คนทั่วไปจะรู้เท่าทัน ยังไม่นับเรื่องอัลกอริทึม (algorithms) หรือ ระบบประมวลผลจากพฤติกรรมของผู้ใช้ และความจงใจของผู้คุมระบบหรือเจ้าของแพลตฟอร์มด้วย ความท้าทายมีมากขึ้นเรื่อย ๆ เราก็ต้องตั้งสติ รู้เท่าทันให้มากขึ้นเช่นกัน

ข้อมูลบิดเบือนรูปแบบไหนที่ช่วงวันเลือกตั้งจะมาแรงที่สุด

จะวนกันไป 7 ประเภทของ disinformation ทั้งรูปแบบที่เบาที่สุด มาในรูปเสียดสี ล้อเลียน (parody or satire) แต่บางครั้งบางกลุ่มก็คิดว่าของจริง โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัยที่อาจะไม่คุ้นกับสิ่งที่เรียกว่ามีม  (meme) รูปที่ทำมาเพื่อล้อเลียน อาจนำไปสู่ความเข้าใจผิด เกลียดชังก็ได้ในบางกรณี พวกโยงผิดฝาผิดตัว (false connection) เช่นพาดหัวข่าว  รูปภาพ หรือ คำบรรยายที่เกินจริง เรียกร้องความสนใจพวก clickbait ทั้งหลายให้กดอ่าน หรือกลุ่มประเภทเนื้อหาที่ชวนให้เข้าใจผิดต่อตัวบุคคล (misleading) เช่น การให้ข้อเท็จจริงบางส่วน และการนำเสนอผิดที่ผิดทาง (false context) คือเอาข้อเท็จจริงในอีกบริบทหนึ่งมาใช้บิดเบือน โจมตี เพื่อประโยชน์ทางการเมืองในปัจจุบัน

อีกอันที่พบบ่อยคือ เนื้อหาที่มโนขึ้น ทึกทัก อ้างอิงมั่วๆเอาเองว่ามาจากแหล่งข้อมูลจริง (imposter content) เช่นอ้างแหล่งข่าวต่างประเทศ วิชาการ หรือสื่อมวลชน ทำให้ดูน่าเชื่อถือแต่จริงๆคือมโนขึ้นมา จะพบในพวกทฤษฎีสมคบคิดเยอะ และอีกประเภทคือ เนื้อหาที่บิดเบือนเพื่อยุยงปลุกปั่น หวังผลด้านลบต่อฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง (Manipulated content) เช่นการเล่าเรื่องหรือ narratives ต่างๆให้เกิดความกลัว ความเกลียดชัง เป็นต้น

ประเภทสุดท้ายคือ  เนื้อหาที่เฟคหรือตั้งใจปลอมแปลง ผลิตขึ้นมาเพื่อหลอกลวง และตั้งใจให้เกิดความเสียหาย (fabricated content) ส่วนใหญ่จะเป็นมิจฉาชีพได้เลย แต่ก็นำมาใช้โจมตีกันในทางการเมืองบ้าง เพียงแต่อาจจะไม่เผยแพร่วงกว้างหรือในสื่อมวลชน เพราะสื่ออาจจะคิดว่ามันไม่จริงอยู่แล้ว แต่จะมีการแชร์ในกลุ่มเฉพาะ เชื่อกันเป็นตุเป็นตะ อันนี้ก็เป็นความยากในการจัดการแก้ไขเหมือนกัน

คงต้องฝากทั้งปัจเจก สื่อมวลชน ภาครัฐ และ พรรคการเมือง ช่วยกันรณรงค์ให้การต่อสู้ทางการเมืองอยู่บนฐานของข้อเท็จจริงให้มากที่สุด และ ประชาชน ควรแยกให้ออกว่าอะไรเป็นข้อเท็จจริง อะไรเป็นความคิดเห็น เราไม่ควรทำให้ความคิดเห็นกลายเป็นข้อเท็จจริง หรือแม้กระทั่งข้อเท็จจริงก็มีหลายชุด เปลี่ยนแปลงได้ตามข้อมูลใหม่ โดยเฉพาะในโลกการเมือง ดังนั้นควรเปิดใจกว้างๆ จะได้ไม่ผิดหวัง ถ้าเวลาผ่านไปแล้วข้อเท็จจริงเปลี่ยน เราก็ต้องพร้อมจะช่วยกันตรวจสอบ และ เปิดรับข้อเท็จจริงใหม่ที่เข้ามาโต้แย้งข้อมูลเดิมเช่นกัน