fbpx

ถ้าจะให้พูดถึงว่าเด็กนิเทศศาสตร์ควรมีคุณสมบัติอย่างไรในยุคนี้ หลายคนคงจะนึกถึงเรื่องของเทคโนโลยีเป็นหลัก จนเราอาจจะลืมไปว่าอีกคุณสมบัติหนึ่งที่ควรมีนั่นก็คือ “หูตากว้างไกล” เอ๊ะ! แล้วมันคืออะไร ต้องทำแบบไหน? วันนี้เรามีบทสัมภาษณ์จาก “ครูปิ่น – ผศ.ดร.มรรยาท อัครจันทโชติ” จากภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาให้ทุกท่านที่อ่านอยู่ตรงนี้ได้เข้าใจและเรียนรู้กับสถานการณ์ตรงข้างหน้ามากยิ่งขึ้นด้วย ไปอ่านกัน!!

“ครูปิ่น – ผศ.ดร.มรรยาท อัครจันทโชติ” จากภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์

เริ่มต้นด้วย “เด็กปี 1” กับการเรียนนิเทศศาสตร์

เด็กที่เข้ามายุคหลังๆ ครูปิ่นคิดว่าอาจจะเป็นด้วยความเข้าใจผิดด้วยแหละที่มองว่า “นิเทศฯ คือคณะบันเทิง” หลายคนคิดแบบนั้น ครูปิ่นเป็นกรรมการสอบสัมภาษณ์เด็กปี 1 หลักสูตรปริญญาตรีมาหลายปีแล้ว เราก็ถามคำถามแรกคือ “ทำไมถึงอยากเข้านิเทศศาสตร์” หลายคนบอกว่า เป็นคนชอบทำกิจกรรม หรือไม่ชอบเรียนในห้องเรียน ก็เลยมาเรียนนิเทศศาสตร์ บางคนก็มองว่าเป็นคณะเฮฮา สนุก เราก็บอกว่าจริงๆ มันไม่ใช่อย่างงั้นนะ คือนิเทศศาสตร์คือเป็นคนที่ต้องรู้อะไรเยอะมาก แล้วเราก็จะเจอบางคนที่ไม่รู้ข่าวสารบ้านเมืองเลย แต่ตัวเองคิดว่าเรียนนิเทศศาสตร์ได้ หลายคนที่เข้ามายุคหลังๆ แล้วเราถามว่าเรียนอะไร ก็บอกว่าอยากเรียนฟิล์ม อยากทำหนัง เราก็ถามว่าผู้กำกับภาพยนตร์ที่ชอบเป็นใคร ก็นึกไม่ออก เราก็เลยถามว่าหนังเรื่องล่าสุดที่ดูคือเรื่องอะไร? เขาก็นึกไม่ออก เหมือนไม่เคยดูมาเลยหรือมันนานมากแล้วก็ไม่รู้ และเราก็ถามว่าอะไรที่ทำให้คุณอยากเรียนหนัง เขาก็ตอบแค่ว่า “สนุก” ซึ่งเรารู้สึกว่าถ้าคุณอยากจริงๆ มันต้องมีหรือเปล่า? ปัญหามันก็เลยย้อนกลับมาว่า เด็กไม่ได้รู้ตัวเองจริงๆ

หูตากว้างไกล นี่ก็สำคัญสำหรับเด็กนิเทศฯ ยุคนี้

ครูปิ่นนึกถึงตอนสมัยเรา เรารู้สึกที่จะสนุกที่จะได้รู้อะไรใหม่ๆ คือต้องเป็นคนที่อยากรู้ กระหายอยากรู้ เพราะว่านิเทศฯ บางคนก็บอกว่ามันเหมือนอยู่แค่ตรงกลางๆ เรื่องการเมืองคุณก็ไม่รู้ลึกเหมือนรัฐศาสตร์ เรื่องเศรษฐกิจคุณก็ไม่รู้ลึกเท่าเศรษฐศาสตร์ อะไรต่างๆเหล่านี้ แต่ว่านิเทศศาสตร์นี่มีข้อดีที่เป็นจุดเด่นที่บางคนบอกว่านิเทศศาสตร์จะตายหรือไม่ตาย จริงๆ คือ มันต้องสื่อสาร มันคือตัวกลางที่ต้องทำให้คนทั่วไปเข้าใจการสื่อสารเหล่านั้นได้ง่าย เพราะฉะนั้น คุณก็ต้องรับรู้เรื่องราวต่างๆ อาจจะไม่ได้รู้ลึกเท่า แต่เหมือนมันต้องเปิดโลกกว้างว่ามันมีอะไรเกิดขึ้น ไม่ว่าคุณจะเรียนนิเทศศาสตร์ สาขาไหนก็ตาม ไม่ใช่แค่หนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์ที่ต้องรู้ข่าวสารบ้านเมือง คุณเรียนภาพยนตร์อย่างงี้ คุณก็ต้องดูภาพยนตร์ดีๆ เพราะบางทีงานมันเป็นการเล่าเรื่อง บางทีเป็นเรื่องเชิงลึกที่ทำให้คนได้คิดอะไรมากขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้าคุณไม่ได้รับรู้เรื่องอะไรเลย แบ๊วมาเลย แล้วคุณจะสามารถเล่าเรื่องอะไรแบบนั้นได้อย่างไร?  เหมือนกับตอนที่ครูปิ่นเข้ามาเรียน พอเขาถามมาครูปิ่นก็ตอบได้เลยว่า “เราอยากเป็นนักข่าวแบบคนนี้” หรือเราชอบหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ เป็นต้น นั่นคือสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจที่เราอยากเป็น เราไม่ได้บังคับว่านักศึกษาจะต้องดูข่าว เด็กสมัยนี้ไม่ค่อยชอบดูข่าวเราก็ไม่ว่า แต่อย่างน้อยคุณต้องหูตากว้างไกล ถ้าคุณอยากทำหนัง คุณก็ต้องดูหนังเยอะๆ 

เพราะคะแนนสูง เด็ก Passion ดีเลยต้องหลุดออกไป…

เด็กที่เข้ามาเรียนนิเทศ จุฬาฯ ส่วนใหญ่จะได้เป็นเด็กเรียนมา เป็นเด็กหัวดี อาจจะเพราะว่าคะแนนมันค่อนข้างสูง เราก็เลยได้เด็กที่มีคะแนนสูงมากกว่าเด็กที่จะมีแรงบันดาลใจในการเข้าเรียนซะมากกว่า เราก็เคยแซวกันว่า “นิเทศฯ จุฬา คือได้ input มาแบบเป็นเด็กหัวดีมาเลยนะ เกรดดี แต่เราสามารถทำ output ออกมาได้เป็นเด็กธรรมดาได้” มันเหมือนกับว่าบางคนเรียนมาเครียดมาก เพื่อที่จะเข้ามหาวิทยาลัย แล้วพอเข้ามาแล้วก็คือ “ปล่อยผี” เลยไง เด็กก็เลยไปกิจกรรม ซึ่งกิจกรรมมันทำให้เขาได้รู้อะไรได้มากกว่าห้องเรียน ซึ่งครูปิ่นไม่ได้ปฏิเสธกิจกรรมนะ เพราะตอนเป็นเด็กครูปิ่นก็เป็นเด็กกิจกรรม ตอนสมัยเข้ามาปี 1 ก็เป็นหัวหน้าชั้นปี กิจกรรมบันเทิงเราก็ทำ เขียนบทเราก็เขียน เล่นละครเวทีเราก็เล่น เราก็รู้สึกว่าได้เรียนรู้อะไรเยอะนะ แล้วมันทำให้โลกกว้างมากขึ้น ได้เจอเพื่อนต่างคณะที่พูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้ แต่ว่าในห้องเรียนเราก็ต้องไม่ทิ้ง เราก็รู้สึกว่าเราได้เจอครูดี พอเราอยากเรียนวิชานี้ เราก็เข้าเรียนแล้วมันเปิดโลกเราจังเลย พอเขาให้โจทย์อะไรมา เราก็ทำ เราก็อยากรู้เรื่องอะไรแบบนี้จนรู้สึกสนุก เราก็จะได้เรียนรู้ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติด้วย วิชาทฤษฎีที่ต้องอ่านหนังสือ มันก็ไม่ใช่ว่าจะใช้ไม่ได้เลยซะทีเดียว แต่มันก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ บางทีอยู่ดีๆมันก็มีประโยชน์ขึ้นมาเฉยเลย เพราะฉะนั้นมันต้องไปด้วยกัน แต่พอมาเจอเด็กที่เข้ามาเพราะว่ามันสนุก มีกิจกรรมเยอะ เราก็อึ้ง เราก็คิดว่าจะมีครูไปทำไม? ก็ไปเข้ากิจกรรมกับรุ่นพี่อย่างเดียว ไม่ต้องมาเสียเวลาแอดมิดชั่นดีกว่า 

ตึกคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ภาพจาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

รู้รอบตัว มีชัยไปกว่าครึ่ง…

เคยมีปีหนึ่ง ไม่รับข่าวเลย แบบเจอหน้ามาปุ๊ป เราก็ถามข่าวว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้าง เขาก็ตอบว่าไม่รู้เลยค่ะ เราก็ถามว่าทำไมเหรอ? หนูเรียนหนักไปใช่ไหม? เขาก็ตอบว่าเขาไม่ชอบดูข่าว ไม่ค่อยเปิดดู เราก็ถามไปอีกว่า เวลาเปิดฟีดใน Social Media ไม่เจอข่าวอะไรแบบนี้เลยเหรอ? เขาก็ตอบว่าไม่เคยเจอ เราก็เลยถามความรู้รอบตัวว่าช่วงนี้เกิดอะไรขึ้น? (ช่วงนั้นเป็นช่วงลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ) เราก็พยายามช่วยเต็มที่ เขาก็นึกไม่ออก เราก็เลยถามว่า “เคยได้ยินข่าวลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญบ้างไหม?” เขาก็ทำหน้างงๆ เราก็งงว่าเขาไปอยู่ไหนมา? ก็เลยเฉลยว่าเป็นแบบนี้ๆนะ เราก็ถามว่าพอได้ยินข่าวบ้างไหม? เขาก็ตอบว่าพอได้ยินบ้างแต่ไม่ได้สนใจ แล้วเราก็ถามว่ารู้ไหมว่าทำไมต้องมีรัฐธรรมนูญ มันสำคัญแค่ไหน? เขาก็ตอบว่าไม่รู้ ไม่แน่ใจคืออะไร? เราคิดว่ามันไม่ใช่การตื่นเต้น แต่ว่าเขาไม่รู้อะไรเลยนะ เราก็เลยถามคำถามสุดท้ายว่า “การที่คนๆหนึ่งไม่รู้ข่าวสารอะไรเลย คิดว่าจะมีผลกระทบไหม?” เขาก็ตอบมาว่าก็ไม่รู้นิค่ะ เราก็โอเคค่ะ ขอบคุณค่ะ มันก็สะท้อนว่าเราไม่ต้องอ่านหรือรับสื่ออะไรก็สามารถสอบแอดมิดชั่นเข้ามาได้ การรู้หรือไม่รู้ก็ไม่มีผล

ข้อสอบเฉพาะ – สิ่งที่ครูนิเทศฯ อยากให้มี

เราคุยกันมานานมากว่าในแอดมิดชั่น ถ้าจะสอบเข้าคณะนิเทศศาสตร์ ควรจะมีข้อสอบเฉพาะ เหมือนกับสถาปัตย์ที่มีข้อสอบเฉพาะ เด็กนิเทศก็เช่นกัน มันก็จะได้วัดว่าคุณรับสื่อมามากน้อยแค่ไหน? หรือความรู้รอบตัวต่างๆ เป็นต้น คืออยากมีมากเลยนะ แต่ถ้าทำก็เรื่องใหญ่ ต้องเข้าไปถึงระดับการแก้ไขกฎหมายเลย

สิ่งสำคัญที่ควรมีในการเรียนนิเทศศาสตร์

พื้นฐานสำคัญที่เด็กนิเทศศาสตร์ที่จะเข้ามา คือคุณต้องหูตากว้างไกล จะเฉพาะเรื่องบันเทิงก็ไม่ว่านะ แต่คุณต้องรู้ ต้องมี คุณจะแบบติ่งอะไรก็ได้ แต่คุณก็จะต้องรู้ข้อมูลนั้นๆด้วย เราเคยเจอลูกศิษย์ที่รู้ลึกในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเลย เช่น เด็กที่รู้เรื่องกีฬา นี่หายใจเข้าหายใจออกเป็นเรื่องกีฬาเลยนะ พอเข้ามาเรียนสาขาสื่อสารมวลชน (กระจายเสียงฯ) งานทุกงานที่เขาทำเป็นเรื่องกีฬาหมดเลย แต่เราก็ไม่ได้ว่าอะไร เราเปิดกว้างเรื่องประเด็นมากๆเลยนะ เรารู้สึกว่าแบบนี้มันโอเค เข้าใจและรู้ลึกมาก ปัจจุบันคือเขาก็เป็นผู้ประกาศข่าวกีฬา พาทย์บอลด้วย นี่คือบุคลิกของเด็กนิเทศฯนะ 

ถ้าเด็กจะเข้านิเทศฯ สิ่งหนึ่งที่ครูปิ่นว่าจะต้องมีเลยก็คือ “Passion” ที่เราอยากจะเป็นคนสื่อสารอะไรสักอย่าง มันต้องอยากสื่อสาร เพราะฉะนั้นการเลือกมันไม่ใช่ว่าเราต้องเลือกตามกระแส แต่มันต้องเลือกตามใจตัวเอง

นี่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์ทั้งหมดกว่า 2 ชั่วโมงครับ ติดตามส่องสื่อไว้ตลอดนะครับ ในตอนต่อไปเราจะนำเสนอถึงสิ่งที่เด็กนิเทศศาสตร์ขาดหายไปในช่วงเรียนกันครับ
แล้วอย่าลืมเก็บเกี่ยวเอามาใช้กันนะครับ ^^