fbpx

ละครไทยในเลนส์คนเขียนบท – คุยกับคนเขียนบท “วัยแสบสาแหรกขาด”

บทสัมภาษณ์นี้เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2562


ว่ากันว่าละครโทรทัศน์ถือเป็นอีกหนึ่งดัชนีชี้ถึงคุณภาพชีวิตของคนไทยในด้านสังคมเลยก็ว่าได้ เพราะคนไทยส่วนใหญ่ก็มักรับชมละครกันเพื่อความบันเทิงกันแน่นอนอยู่แล้ว ยิ่งละครหลังข่าวช่วง 20.00 น. หลายช่องก็ยิ่งจัดละครมาทำให้การแข่งขันแย่งเรตติ้งรุนแรงขึ้นไปอีก แต่จะมีสถานีโทรทัศน์สักกี่ช่องกันที่ไม่ได้หวังสร้างละครเพื่อแข่งขันเอาเรตติ้งอย่างเดียว แต่กลับให้พื้นที่ละครที่ปลูกฝังด้านทัศนคติ ความเข้าใจกันในสังคม ซึ่งคือ “ละครทางเลือก” ได้ออกอากาศในช่วง Super-Primetime กันจริงๆ บ้าง

แต่วันนี้ ส่องสื่อ เราได้พบกับละครชุดหนึ่งซึ่งปีนี้สร้างมาเป็นโครงการ 2 แล้ว นั่นก็คือ “วัยแสบสาแหรกขาด” นั่นเอง ละครเรื่องนี้เป็นละครที่เราเองพอได้ดูแล้วก็อินไปกับเรื่องราวต่างๆ ภายในเรื่อง ส่วนหนึ่งก็เพราะมันเป็นสิ่งที่เราได้เจอมาด้วย เราก็เลยไม่รอช้าที่จะไปตามล่าหาคนเขียนบทประพันธ์ ซึ่งได้ข่าวว่าการเขียนบทละครเรื่องนี้นั้นเขาทำงานหนักเป็นอย่างมาก

และเขาคนนั้นก็คือ “คุณณัฐิยา ศิรกรวิไล” นักเขียนบทละครโทรทัศน์ที่คร่ำวอดอยู่ในวงการมามากกว่า 20 ปีแล้วนั่นเอง เราจึงขอเข้าไปพูดคุยถึงเรื่องราวกว่าจะมาเป็นวัยแสบสาแหรกขาดทั้ง 2 โครงการ รวมไปถึงข้อแนะนำในการเป็นนักเขียนบทที่ดีด้วย

ถ้าพร้อมแล้วอย่ารอช้า ไปอ่านกันเลยครับ…

(จากซ้ายไปขวา) ผู้เขียนบทละคร – นักแสดงนำ – ผู้กำกับ ละคร “วัยแสบสาแหรกขาดโครงการ 2”

แนะนำตัวก่อน

พี่นัท : ชื่อพี่นัทนะคะ ณัฐิยา ศิรกรวิไล เป็นคนเขียนบทละครโทรทัศน์ค่ะ

ทำไมถึงสนใจมาเขียนบทละครโทรทัศน์เรื่อง “วัยแสบสาแหรกขาด”?

พี่นัท : ปกติพี่จะเขียนบทละครที่ดัดแปลงมาจากนวนิยายเยอะ พอมาถึงจุดหนึ่งเราก็เขียนมาเยอะแล้ว เราก็เลยอยากเขียนเรื่องที่มันแปลกๆ ออกไปบ้าง แล้วเราก็หันมาสนใจด้านจิตวิทยาซึ่งก็จะเชื่อมโยงกับเด็กและเยาวชนด้วย มันก็เลยเอาไอเดียหลายๆ อย่างมาผสมกัน

ในขั้นตอนของการเขียนบทละครโทรทัศน์ จำเป็นต้องไปหาข้อมูลมาจากแหล่งไหนบ้าง?

พี่นัท : คือมันเริ่มจากเรื่องก่อน บังเอิญว่าเรื่องของเราเนี่ยมันไปเกี่ยวข้องกับครู เกี่ยวกับนักเรียน เกี่ยวกับนักจิตวิทยา และนักจิตวิทยาก็ต้องดีลกับเด็กในหลายๆ เคสด้วย แล้วก็จะลงลึกในแต่ละเคส เพราะฉะนั้นเนี่ยพอมีเคสขึ้นมา เราก็จะไปหาแล้วว่าในแต่ละเคสนั้นเราจะไปหาข้อมูลได้จากที่ไหนบ้าง? มันก็จะแตกต่างกันออกไป อย่างเช่นเคสของเด็กติดเกม เราก็ต้องไปหาคุณหมอที่บำบัดเด็กติดเกมจริงๆ ถ้าเกิดเป็นออทิสติกอย่างนี้ เราก็จะไปหาองค์กรที่เกี่ยวกับเด็กออทิสติก โรงเรียนที่สอนเด็กออทิสติก หรือว่าผู้ปกครองที่มีเด็กเป็นออทิสติก พอเรามีเรื่องแล้ว การหาข้อมูลก็จะลงไปตามเรื่องที่เราต้องการข้อมูล

ตอนที่ลงไปเก็บข้อมูล มีการลงไปพบเจอกับเด็กที่เจอสถานการณ์ตรงนั้นจริงๆ บ้างไหม?

พี่นัท : มีเลยนะ โดยเฉพาะเด็กออทิสติก คือพี่ก็ได้ไปคุยกับครอบครัวที่มีเด็กเป็นออทิสติก แล้วก็ได้ไปใช้เวลาอยู่กับน้องเขาจริงๆ เลย ไปเรียนรู้ ไปดูพฤติกรรม แล้วก็ไปลองศึกษาดูว่าน้องที่เป็นออทิสติกเขามีลักษณะเป็นยังไง บุคลิกภาพเป็นยังไง แล้วก็เอามาปรับใช้ในบทของเราค่ะ

เขียนบทละครยังไงให้ไม่ดูวิชาการหรือเข้าใจยากจนเกินไป?

พี่นัท : หนูรู้สึกว่ามันไม่วิชาการไปใช่ไหม? (หัวเราะ) โอเค อันดับแรกเราต้องหาเส้นเรื่องให้เจอก่อน ในเชิงการเขียนบทเราต้องมีเรื่องก่อน เราจะเอาเรื่องมาก่อนวิชาการ เช่น มันเป็นเรื่องของเด็กคนหนึ่ง พ่อแม่แยกทางกัน อย่างในเรื่องก็เส้นของบุ๊ค เขาเป็นเด็กขี้เหงา พ่อแม่แยกทางกัน พ่อทำงานกะดึก แม่ทำงานอยู่ต่างประเทศ ตัวเองเป็นเด็กช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ กำลังจะขึ้นม.4 แล้วก็มาเป็นเด็กที่โดนแกล้งในโรงเรียน เป็นเด็กขี้อาย พูดน้อย เวลาเขาอยู่ในเกม พอเริ่มเล่นเกมแล้วเขาอิน เขาทำได้ดี เอ๊ย! เขามีเพื่อน พอถึงช่วงปิดเทอมเขาก็เล่นหนักมาก ก็เลยต้องส่งบำบัด พอส่งบำบัดเสร็จแล้ว พ่อกับแม่เริ่มเรียนรู้ แม่เรียนรู้ก่อนเพราะไปเห็นสังคมที่ต่างประเทศแล้วเรียนรู้ว่าติดเกมมันเป็นโรคนะ มันต้องบำบัด แม่ก็จะเปิดมากกว่าพ่อ พวกนี้เส้นเรื่องต้องมาก่อน พอเส้นเรื่องสุดท้ายพ่อแม่ปรับเข้าหากัน แล้วเราก็ไปหาว่าเด็กคนนี้มีพัฒนาการอย่างไร มีมุมมองชีวิตอย่างไร? พอเส้นเรื่องตรงนี้มันมาแล้ว ข้อมูลวิชาการตรงนี้ก็จะเข้ามาเสริมเส้นเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นเวลาที่เราคิดเอาเส้นเรื่องนำเนี่ย ข้อมูลมันจะเป็นรอง พอมันใส่เข้ามามันก็จะตามตัวละครอยู่ เป็นเทคนิคง่ายๆ

ภาพใบพัด เด็กที่มีอาการออทิสซึ่ม จากละคร “วัยแสบสาแหรกขาด โครงการ 2”

จังหวะไหนที่ควรใส่ข้อมูลประกอบการนำเสนอในละคร?

พี่นัท : ส่วนมากก็จะปรึกษาคุณหมอเลย เราก็จะเล่าเส้นเรื่องให้เขาฟัง หมอก็จะบอกว่า “อะ โอเค ช่วงนี้จะต้องอยู่ที่โรงพยาบาลนะ” ต้องนานขนาดนี้ แล้วต้องมีอะไรบ้าง? 1 2 3 4 5 เราก็จะเลือกแล้ว คงไม่ใช้หมดทั้ง 5 ข้อ โดย 1 2 อาจจะเป็นการพูดสรุปของหมอ 3 อันนี้ขยายเป็นดราม่าได้นะ อย่างเช่น You Massage , I Massage อันนี้เป็นดราม่าได้ เราให้แม่เล่นเลย อะไรแบบนี้ พอเราดีไซน์ฉากละครได้แล้วก็จบ ข้อมูลก็จะถูกใส่มาเนียนๆ

ส่วนไหนในเรื่องที่เขียนยากที่สุด?

พี่นัท : สำหรับพี่เองนะ พระเอกนางเอกยากสุด เนื่องจากแต่ละเคสมันชัดไง เรื่องเด็กๆ มันเยอะ แต่พอตัดมาพระเอกนางเอกเราก็ต้องเขียนไม่ให้มันจม พระเอกก็รอดไปเพราะเราหาเหลี่ยมเรื่องการศึกษาได้ ก็มีครูพรรณีซึ่งตรงนี้คนดูก็เข้าใจสิ่งที่ต้องการสื่อสารออกไปพอสมควร ก็เป็นเรื่องการทำงานของคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ที่จะปรับจูนกันยังไง สรุปก็คือทุกคนมีความหวังดีกับโรงเรียนและกับนักเรียนหมดแหละ เพียงแต่วิธีการหรืออายุอาจจะแตกต่างกัน แต่ถ้าเกิดเราปรับเข้าหากันมันก็จะเกิดผลดีต่อสังคม ต่อโรงเรียน ส่วนประเด็นของนางเอกเราก็จะเล่าประเด็นที่ว่า ก่อนที่จะช่วยเหลือคนอื่น เราก็ต้องดูแลตัวเองด้วย หรือคนที่มีความรู้ที่สามารถแก้ไขปัญหาของคนอื่นแล้วพอถึงเวลาเกิดปัญหาของตัวเองแล้วมันจะรอดเสมอไป หลายๆ คนพอเจอปัญหาของตนเองก็แย่ไปเหมือนกัน แล้วก็สอดแทรกเรื่องการทำงานกับคู่ชีวิต ถ้าเราต้องทำงานร่วมกับคู่ชีวิตเราควรจะต้องทำยังไงให้การทำงานมันไม่กระทบกับชีวิตคู่ พอเราเจอมุมนี้แล้วมันก็รอด แต่จะทำยังไงให้เนื้อเรื่องมันลื่นไหล คนดูก็ตามเรื่องของสองคนนี้ด้วย ไม่ใช่พอตัดมาพระเอกนางเอกแล้วคนก็เบื่อ คนจะดูแต่เด็กซึ่งตรงนี้ก็อันตราย พี่ก็ต้องดูส่วนตรงนี้ให้มันเข้ากันทั้งหมด

ผลตอบรับออกมาค่อนข้างดี รู้สึกภูมิใจไหม?

พี่นัท : ดีใจค่ะ รู้สึกดีใจและขอบคุณ เพราะมันก็เป็นกำลังใจนะ ที่พี่ทำตอนแรกก็ไม่ได้คิดว่ามันจะมีแฟนคลับ มันจะมีคนรอดู พอมันมีภาค 2 เออ มันมีคนรอดูเยอะเว้ย เราก็ตกใจและนึกว่ามันก็เป็นแค่ละครเรื่องหนึ่ง ทำแล้วก็จบไป แต่กลับกลายเป็นว่ามันมีแฟนคลับ กลายเป็นมีคนติดตามรอดูอยู่ มันมีคนที่อินกับแต่ละเคสเพราะมันคือตัวเขา อยากให้พ่อแม่มาดู อยากให้พ่อแม่ได้เข้าใจเขาเหมือนพ่อแม่ในเรื่อง เออ มันกลายเป็นอีกเรื่องหนึ่ง อีกมุมหนึ่งที่เราไม่เคยเจอ

วัยแสบสาแหรกขาดจะให้อะไรกับสังคม?

พี่นัท : คือพี่หวังน้อยนะ หวังแค่ให้เข้าใจกันแค่นั้น คือหมายความว่า โอเค ในสังคมเรามีผู้คนมากมายเนาะ สังคมเรามีทั้งพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู แล้วก็มีเพื่อนเราที่เป็น LGBT มีเพื่อนเราที่เป็นออทิสติก มีเพื่อนเราที่ขี้เหงาเลยไปเล่นเกม มีเพื่อนที่ในบ้านสปอยจนเขาทำอะไรไม่ได้ ถ้าเราดูเรื่องนี้แล้วทำให้เราเข้าใจกันมากขึ้น การอยู่ร่วมกันในสังคมมันก็เข้าใจกันมากขึ้น

เอ๊ะ พี่หวังน้อยไปไหม เหมือนหวังเยอะนะ (หัวเราะ) พี่ก็หวังแค่นี้แหละ

เคสของเด็กกลุ่มไหนที่อยากเขียนแต่ยังไม่ได้เขียน?

พี่นัท : การโดนล่วงละเมิดทางเพศจากคนในครอบครัว พี่ว่ามันเยอะมากจนมันน่ากลัว มันเยอะมากจนเรา “เอ๊ย! มันเกิดอะไรขึ้น?” แล้วเราก็ยังไม่มีกระบวนการเยียวยา นี่คือสิ่งที่น่ากลัวมาก แล้วบางทีไม่ใช่แค่ผู้หญิงที่โดน บางทีผู้ชายโดนแต่ไม่เป็นข่าวมันก็มี เราก็เลยรู้สึกว่ามันควรเป็นเรื่องที่สังคมต้องตระหนักและหาหนทางทั้งการแก้ไขและการเยียวยา ทำให้เกิดการเรียนรู้ เด็กก็ควรรู้จักการระวังตัว ผู้ใหญ่ก็ควรรู้ว่าไม่ควรทำ ซึ่งพี่คิดว่ายังไม่เคยทำและยังไม่ได้จับ แต่ถ้าทำจริงๆ ก็คงไม่รวมๆ กับของคนอื่น เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ

“ไออุ่น” ในละคร “วัยแสบสาแหรกขาด โครงการ 2”

มีคนชอบบอกว่า “ละครดีแต่เรตติ้งน้อย” คิดเห็นว่าอย่างไรบ้าง?

พี่นัท : ก็จริงนะ (หัวเราะ) พี่ก็ไม่ได้อยากพูดนะว่าเป็นละครน้ำดีเรตติ้งน้อยนะ คือมันอาจจะมีอะไรบางอย่างก็ได้นะที่คนเขาไม่ดู อันนี้พี่ก็ต้องมานั่งคิด พี่ก็ไม่ได้โยนความผิดให้คนอื่น พี่ก็ต้องมานั่งคิดว่า “เออ ทำไมคนถึงไม่ดู?” มันอาจจะมีอะไรบางอย่างที่มันไม่ชวนดูก็ได้ ซึ่งถ้าหากเราหาคำตอบหรือตีโจทย์แตกได้ เราก็อาจจะทำละครแบบวัยแสบฯ ที่คนดูอาจจะมากขึ้นก็ได้ แต่ตอนนี้ยังคิดไม่ออก เก็บไว้ก่อน (หัวเราะ) แต่พี่ก็ไม่ได้มองว่าเป็นลบนะ พี่ก็มองว่ามันก็คือความจริงในสังคม ก็ออเออ มันเป็นอย่างนี้แหละ ถ้าเกิดเราจะทำต่อเราจะต้องแก้โจทย์ยังไง หรือถ้านายทุนให้เงินมาทำโดยที่ไม่แคร์เรื่องเรตติ้ง เราก็ทำไปโดยที่เขาให้เงินมาทำ เราก็ทำไป

ถ้าเกิดนายทุนให้ทำโครงการ 3 ต่อจะทำไหม?

พี่นัท : โครงการ 3 คงไม่ทำ แต่อาจจะแตกแขนงออกมาเป็นอย่างอื่น อันนี้ก็แล้วแต่โครงการด้วย จริงๆ มันเป็นบทประพันธ์ที่คิดขึ้นมาใหม่นะ มันก็สามารถแตกหน่อได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีโครงการ 3 มันอาจจะมีอะไรอื่นๆ แบบนี้ที่แตกออกไป

ระหว่าง “ดัดแปลงบทประพันธ์” กับ “เขียนบทประพันธ์ใหม่” อันไหนยากกว่ากัน?

พี่นัท : คนละแบบ ถ้าเกิดมันมีบทประพันธ์อยู่แล้ว ความยากคือทำยังไงให้เราจะเพิ่มหรือลดในสิ่งที่ทำให้เป็นละครสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ส่วนถ้าเกิดเป็นเรื่องที่คิดขึ้นมาใหม่เนี่ย คือมันไม่มีข้อมูลอะไรเบื้องต้นมาให้เราเลย เราต้องคิดเองใหม่ทั้งหมด อย่างถ้าเราไปเจอนิยายที่ดีๆ เนี่ย เราก็เหมือนกับเจอแหล่งข้อมูลที่ดี มันก็เหมือนมีคนช่วยเราคิดมาแล้วครึ่งทาง  แต่ถ้าเกิดเขียนใหม่ก็เราต้องคิดเอง 100 เปอร์เซ็นต์ มันก็มีทั้งยากและง่ายต่างกัน

คิดยังไงที่สังคมมองว่า “ทีวีมีแต่ละครน้ำเน่า” แต่คนไทยก็ยังคงดูแนวนี้มากพอสมควร?

พี่นัท : พี่ว่ามันก็เป็นทั่วโลกนะ พี่ว่ามันก็ไม่น่าตกใจนะ เพราะว่ามันสนุก ดูง่าย เพียงแต่ว่าเราจะทำยังไงให้มีละครทางเลือกเพิ่มมากขึ้น หรือจะเพิ่มคนดูละครทางเลือกให้มากขึ้น พี่มองว่าอย่าง “บุพเพสันนิวาส” หรือ “กรงกรรม” ถือเป็นละครที่ดี คือหลายๆ เรื่องนะที่ทั้งเรตติ้งดีแล้วก็เนื้อหาก็ดี ไม่ได้แปลว่าละครเรตติ้งดีแล้วจะประหลาดไปซะทั้งหมด

ฝากถึงคนที่อยากเขียนบทหน่อย?

พี่นัท : ก็อยากให้อ่านหนังสือเยอะๆ คนอาจจะคิดว่าคนที่เขียนบทละคร บทหนังไม่ต้องอ่านหนังสือก็ได้ ไม่ใช่เลย การอ่านเป็นพื้นฐานของทุกอย่าง อ่านหนังสือเยอะๆ นะ อ่านแค่หน้าฟีด Facebook แบบนั้นก็ไม่ได้นะ อ่านก็หมายความรวมถึงศึกษา ค้นคว้าทุกอย่าง อย่างสมมุติพี่จะเขียนเรื่องนักจิตวิทยา พี่ก็ไปค้นคว้าหาข้อมูล พี่จะไปนั่งค้นหา Google อย่างเดียวมันไม่พอ ต้องไปอ่าน พี่อ่านตำราเยอะมาก คุณจะเขียนเรื่องยาเสพติด สืบสวนสอบสวน คุณจะเขียนเรื่องหมอ เขียนเรื่องศาล เขียนเรื่องพญานาค คุณก็ต้องไปค้นคว้าศึกษา เพราะฉะนั้นการอ่านคือพื้นฐานอันที่หนึ่ง อันที่สองคือการเขียนที่ถูกต้อง คุณอยากเป็นนักเขียนแต่คุณเขียนนิยายแล้วไม่ได้ แต่จะมาเขียนบทอันนี้ไม่ใช่ คุณก็ต้องเขียนแล้วสะกดให้ถูก ให้อ่านออก สื่อสารกับคนอ่านให้ได้ด้วย การอ่านก็สำคัญ การเขียนก็สำคัญ การดูก็สำคัญ ดูทั้งเรื่องที่ดีและไม่ดี ดูแล้วเอามาวิเคราะห์ วิจารณ์ อ่านบทวิจารณ์ประกอบ ทำไม Marvel ประสบความสำเร็จ ทำไมดูเรื่องนี้แล้วเราชอบ ไปอ่านวิเคราะห์วิจารณ์แล้ว “อ๋อ เขาเขียนแบบนี้ คนดูถึงสนุกถึงชอบ” อ่าน-เขียน-ดู 3 อย่าง

สุดท้ายฝากถึงคนดู “วัยแสบสาแหรกขาด” หน่อย?

พี่นัท : ขอบคุณจากใจจริงๆ จริงๆ พี่ก็เขียนบทมา 20 กว่าปีนะ วัยแสบฯ เป็นละครที่ได้ Feedback กับเรามากที่สุดเท่าที่เคยเขียนมา Feedback แบบตรงๆ หมายความว่า คุณพ่อคุณแม่ น้องๆ วัยรุ่น หรือคนที่อินกับเรื่อง เขาอินกับมันมากจริงๆ คือมันใช่มากจริงๆ มันคือละครของเขาจริงๆ พี่ถึงบอกว่านี่คือพลังของ Niche Market ที่เราไม่เคยจับ คือเรื่องอื่นอาจจะดังแต่ดังเพราะบันเทิง เขาดูเพราะมันบันเทิง เพราะมันดัง แต่อันนี้มันคือชีวิตของเขา มันคือส่วนหนึ่งของเขา ตัวละครหรือเรื่องที่เกิดมันก็เป็นเรื่องของเขา เขาอินในเชิงว่ามันเป็นเรื่องของเขาจริงๆ มันไม่ใช่เรื่องของ Mass พี่รับรู้ตรงนี้และพี่เห็นว่ามันมีพลังดี ก็ขอบคุณทุกคนมากๆ ที่ให้การตอบรับที่ดีมากๆ

ยังไงก็อย่าลืมติดตามรับชม “วัยแสบสาแหรกขาด” โครงการ 2 ได้ย้อนหลังผ่านทาง www.mello.me รวมไปถึงหาซื้อหนังสือที่มีทั้งข้อแนะนำที่ละเอียดกว่าในละครมากกว่าเดิมได้ที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วไปนะครับ

คุณณัฐิยา ศิรกรวิไล