fbpx

ในบทความที่แล้ว เราได้นำเสนอเรื่องราวการก่อกำเนิดของสถานีโทรทัศน์ 2 สถานีแรกอย่าง ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม และ ททบ.5 (ช่อง 7 ขาว-ดำ เดิม) ไปบ้างแล้ว ในบทความนี้จะขอนำเสนอการเข้ามาของโทรทัศน์กรมประชาสัมพันธ์กันบ้าง ว่าที่มาที่ไปเกิดขึ้นได้อย่างไรกันบ้างนะครับ

การเกิดขึ้นของโทรทัศน์กรมประชาสัมพันธ์นั้น เกิดขึ้นในช่วงที่จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้น ประเทศไทยอยู่ในช่วงเร่งพัฒนาประเทศ และรัฐบาลเล็งเห็น อยากให้ประชาชนรับทราบข่าวสาร นโยบาย และการดำเนินการโครงการของรัฐอย่างรวดเร็วและทั่วถึง จึงได้ตั้งหน่วยงานในสังกัดกรมประชาสัมพันธ์ขึ้น ซึ่งเดิมทีเรียกว่ากรมโฆษณานั่นเอง โดยจัดตั้งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ เพื่อดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของรัฐบาล โดยใช้ชื่อเรียกว่า “ศูนย์ประชาสัมพันธ์เขต”

ซึ่งศูนย์ประชาสัมพันธ์เขตในแต่ละแห่งนั้นได้ตั้งแบบกระจายพื้นที่กัน อย่างในภาคเหนือจะอยู่ที่จังหวัดลำปาง ซึ่งในตอนนั้นเป็นจังหวัดที่เป็นศูนย์กลางการคมนาคมในเขตภาคเหนือ ส่วนในภาคอีสานไปตั้งที่จังหวัดขอนแก่น และภาคใต้ไปตั้งอยู่ที่จังหวัดสงขลา นอกจากนั้นยังอนุมัติงบประมาณไปยังกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อดำเนินการขยายวิทยุโทรทัศน์ไปยังทั้ง 3 ภูมิภาคที่มีศูนย์ประชาสัมพันธ์เขตตั้งอยู่ โดยได้ดำเนินการจัดตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยขึ้นดังนี้

  • จังหวัดลำปาง เริ่มทดลองออกอากาศในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2505 ใช้ระบบการส่งสัญญาณแบบ 525 เส้น ขาว-ดำ ช่อง 8 ด้วยกำลังเครื่องส่ง 1 กิโลวัตต์ ถือเป็นสถานีโทรทัศน์แห่งที่ 3 ในประเทศไทย
  • จังหวัดขอนแก่น เริ่มทดลองออกอากาศในวันเดียวกับที่จังหวัดลำปาง โดยใช้ระบบการส่งสัญญาณแบบ 525 เส้น ขาว-ดำ ช่อง 5 กำลังเครื่องส่ง 1 กิโลวัตต์ และเป็นสถานีโทรทัศน์แห่งที่ 4 ในประเทศไทย
  • จังหวัดสงขลา เริ่มทดลองออกอากาศในวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2505 ใช้ระบบการออกอากาศแบบ 525 เส้น ขาว-ดำ ช่อง 9 กำลังเครื่องส่ง 500 วัตต์ เสาอากาศความสูง 75 เมตร ถือเป็นสถานีโทรทัศน์แห่งที่ 5 ในประเทศไทย
ภาพจาก กรมประชาสัมพันธ์

จะว่าเอาจริงๆ ถ้าทุกคนสังเกตจะเห็นว่าทั้งช่อง 4 บางขุนพรหม ททบ. 5 (ช่อง 7 ขาว-ดำ) หรือแม้กระทั่งโทรทัศน์ตามภูมิภาคที่ตั้งกันทั้งหมด ต่างใช้เสาส่งความสูงไม่ถึง 100 เมตร และต่างก็มีกำลังส่งไม่มากนัก จึงทำให้ไม่สามารถให้บริการในวงกว้างได้ และในช่วงเวลานั้นประเทศไทยยังไม่มีเครือข่ายโทรคมนาคมที่สามารถดำเนินการถ่ายทอดสัญญาณภาพโทรทัศน์ได้ จึงต้องใช้เทคโนโลยีอีกอย่าง นั่นก็คือ “การทวนสัญญาณ” หรือ Translator ขยายสัญญาณจากสถานีหนึ่งสู่อีกสถานีหนึ่ง ซึ่งถือเป็นหนทางเดียวที่จะทำได้ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการที่สิ้นเปลืองช่องความถี่ ทำให้ความชัดเจนและคุณภาพของสัญญาณภาพลดลงด้วยเช่นกัน

สำหรับการขยายพื้นที่บริการวิทยุโทรทัศน์ในภาคกลาง ซึ่งไม่ได้มีศูนย์ประชาสัมพันธ์เขตนั้น กรมประชาสัมพันธ์ได้จัดตั้งสถานีทวนสัญญาณของช่อง 4 บางขุนพรหม และตั้งสถานีทวนสัญญาณจากสถานีโทรทัศน์ในส่วนภูมิภาคเขตภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ไว้ในพื้นที่ต่างๆ โดยแบ่งพื้นที่กันดังนี้

สถานีทวนสัญญาณเพื่อออกอากาศช่อง 4 บางขุนพรหม

  1. สถานีทวนสัญญาณ หนองจะบก อ.เมืองนครราชสีมา
  2. สถานีทวนสัญญาณ อ.เมืองสระแก้ว

ทวนสัญญาณและออกอากาศที่ช่อง 6

  1. สถานีทวนสัญญาณ เขาพระงาม อ.เมืองลพบุรี
  2. สถานีทวนสัญญาณ เขาใหญ่ อ.ปากช่อง
  3. สถานีทวนสัญญาณ สัตหีบ
  4. สถานีทวนสัญญาณ พริ้ว จ.จันทบุรี
  5. สถานีทวนสัญญาณ หัวหิน

ทวนสัญญาณและออกอากาศที่ช่อง 10

  1. สถานีทวนสัญญาณ เขากบ อ.เมืองนครสวรรค์
  2. สถานีทวนสัญญาณ เขาเขื่อนลั่น อ.สีคิ้ว
  3. สถานีทวนสัญญาณ อ.เพ จ.ระยอง

สถานีทวนสัญญาณเพื่อออกอากาศช่อง 8 ลำปาง

  1. สถานีทวนสัญญาณ อ.งาว จ.ลำปาง
  2. สถานีทวนสัญญาณ ม่อนจอมทอง อ.เมืองพะเยา
  3. สถานีทวนสัญญาณ ดงมะดะ อ.เมืองเชียงราย
  4. สถานีทวนสัญญาณ อ.แม่จัน จ.เชียงราย
  5. สถานีทวนสัญญาณ ดอยป๊กกะโล้ง อ.เด่นชัย จ.แพร่
  6. สถานีทวนสัญญาณ อ.ร้องกวาง จ.แพร่
  7. สถานีทวนสัญญาณ ดอยหินแก้ว อ.เมืองน่าน
  8. สถานีทวนสัญญาณ อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย
  9. สถานีทวนสัญญาณ ปางป๋วย อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง
  10. สถานีทวนสัญญาณ ดอยพระบาท อ.เมืองลำปาง
  11. สถานีทวนสัญญาณ ดอยโตน อ.เถิน
  12. สถานีทวนสัญญาณ อ.บ้านตาก จ.ตาก

ทวนสัญญาณและออกอากาศที่ช่อง 10

  1. สถานีทวนสัญญาณ ดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่

สถานีทวนสัญญาณเพื่อออกอากาศช่อง 5 ขอนแก่น

  1. สถานีทวนสัญญาณ อ.โนนสะอาด
  2. สถานีทวนสัญญาณ อ.เมืองอุดรธานี
  3. สถานีทวนสัญญาณ ภูพาน อ.เมืองสกลนคร
  4. สถานีทวนสัญญาณ อ.เมืองร้อยเอ็ด
  5. สถานีทวนสัญญาณ อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์
  6. สถานีทวนสัญญาณ อ.พล จ.ขอนแก่น
  7. สถานีทวนสัญญาณ อ.บัวใหญ่ จ.นครราชสีมา

สถานีทวนสัญญาณทั้งหมดตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น ใช้เทคโนโลยีการออกอากาศระบบ 525 เส้น แบบ Repeater หรือ Translator ที่มีกำลังส่ง 7-100 วัตต์ โดยเจ้าหน้าที่กองประชาสัมพันธ์เขตขอนแก่น สร้างและประกอบขึ้นเอง และจัดซื้อชนิดที่มีกำลังส่งสูง 400 วัตต์ แต่ก็มีข้อจำกัดในเรื่องของการใช้ความถี่จำนวนมากๆ เพราะการทวนสัญญาณในตอนนั้นใช้วิธีการนำเครื่องส่งขนาดเล็กขยายสัญญาณจากสถานีหนึ่งสู่อีกสถานี ทำให้ความชัดเจนลดลง แม้ว่าจะได้พื้นที่กว้างกว่าก็ตาม แต่คุณภาพก็ยังไม่เป็นที่ถูกใจของผู้รับชม

ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนระบบการส่งโทรทัศน์จาก 525 เส้นเป็น 625 เส้นในปี พ.ศ. 2518 ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนระบบการถ่ายทอดในบางสถานีเป็นระบบไมโครเวฟขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ในปัจจุบันคือ ทีโอที) เช่น ที่สถานีเครื่องส่ง จ.เชียงใหม่ , สถานีเครื่องส่ง ดอยปีกกะโล้ง อ.เด่นชัย ทำให้คุณภาพสัญญาณภาพดีขึ้น ในส่วนของเครื่องส่งก็ได้พัฒนามาใช้เครื่องส่งที่มีกำลังการออกอากาศที่สูงขึ้นนั่นเอง

อ้างอิงหนังสือ “จดหมายเหตุ 60 ปี โทรทัศน์ไทย” : วิวัฒนาการเทคโนโลยีโทรทัศน์ไทย