fbpx

หลังจากที่โทรทัศน์ภาพขาว-ดำ ดำเนินการออกอากาศไปได้สักช่วงระยะหนึ่ง ก็มีการปรับเปลี่ยนระบบไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครที่จากเดิมใช้ระบบ 110 โวลต์ 60 ไซเคิล ปรับมาเป็นระบบ 220 โวลต์ 50 ไซเคิลเป็นการทดแทน (ในส่วนภูมิภาคใช้ระบบเดียวกันนี้) ในช่วงปี พ.ศ. 2508-2510 จึงได้มีการปรึกษา พูดคุยกันว่าระบบโทรทัศน์มาตรฐาน CCIR 625 เส้น 25 ภาพ/วินาที น่าจะเหมาะสมกับประเทศไทยและเหมาะกับระบบกระแสไฟฟ้าด้วย ประกอบกับด้วยประเทศไทยได้ถูกจัดอยู่ใน Zone 3 ตามการจัดสรรความถี่ของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ทำให้จำเป็นต้องจัดสรรความถี่ช่องสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ตามมาตรฐาน เพื่อไม่ให้สัญญาณถูกรบกวนกันโดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน

การเปลี่ยนระบบออกอากาศจาก 525 เส้นเป็นระบบ CCIR 625 เส้น 25 ภาพ/วินาที จึงได้เริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 2510 โดยกรมประชาสัมพันธ์ได้ทำการย้ายสถานีเครื่องส่งโทรทัศน์สงขลาไปติดตั้งบนเขาคอหงส์ อ.หาดใหญ่ ที่มีความสูง 375 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ดำเนินการออกอากาศผ่านช่อง 10 เป็นสถานีแรกที่ดำเนินการเปลี่ยนระบบนี้ ด้วยเครื่องส่ง PYE ขนาด 5 กิโลวัตต์ 2 เครื่อง รวมกำลังส่ง 10 กิโลวัตต์ และได้เริ่มทดลองออกอากาศในวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510 มีพื้นที่ครอบคลุม 7 จังหวัด ได้แก่ สงขลา พัทลุง ปัตตานี สตูล ยะลา นราธิวาส นครศรีธรรมราช รวมไปถึงบริเวณภาคเหนือของประเทศมาเลเซียอีกด้วย

นอกจากนี้ยังได้ขยายสถานีทวนสัญญาณจากสถานีวิทยุโทรทัศน์ช่อง 10 สงขลา ไปยังพื้นที่อื่นๆ ในภาคใต้อีกด้วย ประกอบไปด้วย

สถานีทวนสัญญาณช่อง 10 สงขลา (เริ่มปี พ.ศ. 2515)

  1. สถานีทวนสัญญาณ จ.ตรัง
  2. สถานีทวนสัญญาณ จ.สตูล
  3. สถานีทวนสัญญาณ จ.นราธิวาส และ อ.สุไหงโก-ลก (เริ่ม พ.ศ. 2519)

สถานีทวนสัญญาณที่ช่อง 4

  1. สถานีทวนสัญญาณ อ.เชียรใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช
  2. สถานีทวนสัญญาณ เขาปกโย๊ะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา (เริ่ม พ.ศ. 2518)

สถานีทวนสัญญาณที่ช่อง 7

  1. สถานีทวนสัญญาณ อ.เมืองยะลา

และหลังจากนั้นในปีเดียวกัน (พ.ศ. 2510) กรมประชาสัมพันธ์ก็ได้จัดตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์สุราษฎร์ธานี โดยได้ย้ายสถานีวิทยุโทรทัศน์สงขลาไปติดตั้งและออกอากาศทางช่อง 9 ระบบ 525 เส้น ขนาด 500 วัตต์

เมื่อระบบการออกอากาศแบบ CCIR PAL 625 เส้น 25 ภาพ/วินาที ได้พัฒนาจนสมบูรณ์ในทวีปยุโรปในช่วงปี พ.ศ. 2509-2510 และได้มีการสาธิตระบบดังกล่าวในประเทศไทย เนื่องในโอกาสครบรอบวันเกิดช่อง 4 บางขุนพรหม วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2510 ณ โรงแรมรัตนโกสินทร์ หลังจากนั้นถัดมาอีก 5 เดือนก็ได้มีการก่อตั้งบริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด ในวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510 และได้ร่วมมือกับกองทัพบกในการดำเนินการส่งโทรทัศน์สีตามมติและนโยบายของคณะกรรมการควบคุมวิทยุและโทรทัศน์กองทัพบกโดยได้เริ่มทำการทดลองออกอากาศระบบโทรทัศน์สี เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510 โดยใช้ระบบออกอากาศแบบ CCIR PAL System B 625 เส้น 25 ภาพ/วินาที และใช้คลื่นความถี่แบบ VHF ที่ช่อง 7 ความถี่ 188-195 MHz เป็นครั้งแรกในประเทศไทย

ภาพการประกวดนางสาวไทย ปี 2510 จาก https://pantip.com/topic/35078178

โดยรายการแรกที่ช่อง 7 สีได้เริ่มต้นการออกอากาศคือ การถ่ายทอดสดการประกวดนางสาวไทย ที่จัดขึ้น ณ พระราชวังสราญรมย์ โดยใช้ชื่อในการออกอากาศว่า “สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7” และหลังจากนั้น 3 วัน (1 ธันวาคม) ก็ได้เปิดสถานีออกอากาศอย่างเป็นทางการ ด้วยกำลังออกอากาศ 500 วัตต์ จากอาคารสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก สนามเป้า

และด้วยระบบการออกอากาศ CCIR PAL System B 625 เส้น 25 ภาพ/วินาที มีคุณสมบัติทางเทคนิคด้านสัญญาณภาพที่ใกล้เคียงกับระบบ FCC System M 525 เส้น 30 ภาพ/วินาที ดังนั้น เครื่องรับโทรทัศน์ขาว-ดำ 525 เส้นจึงสามารถรับสัญญาณภาพ 625 เส้นของช่อง 7 ได้ เพียงหมุนไปที่ช่อง 9 ความถี่ 186-192 MHz แต่จะไม่ได้ยินเสียง เพราะความถี่ของเสียงที่ไม่เหมือนกัน กล่าวคือ ของระบบ 525 เส้นจะใช้ความถี่เสียงที่ 4.5 MHz แต่ในระบบ 625 เส้นจะใช้ความถี่ 5.5 MHz ทำให้ประชาชนที่มีเครื่องรับโทรทัศน์ระบบภาพ 525 เส้นไม่สามารถได้ยินเสียงได้ ช่อง 7 สี จึงต้องส่งสัญญาณเสียงผ่านสถานีวิทยุทั้งในระบบ AM และ FM เพื่อให้บริการควบคู่กันไปด้วยในระยะหนึ่ง ก่อนที่ช่างเทคนิคชาวไทยได้คิดค้นและพัฒนาวงจรที่ใช้ชื่อว่า Sound Adaptor หรือ “เสียงช่อง 9” เพื่อทำการแปลงสัญญาณเสียงจากระบบ 625 เส้น 5.5 MHz ให้เป็น 4.5 MHz และได้ติดตั้งเพิ่มเติมในเครื่องรับโทรทัศน์ระบบ 525 เส้น ขาว-ดำเดิม ให้สามารถรับสัญญาณเสียงของระบบ 625 เส้นได้นั่นเอง

ในเวลาต่อมา ช่อง 7 สีก็ได้เพิ่มกำลังส่งออกอากาศเป็น 5 กิโลวัตต์ และได้เพิ่มความสูงเสาเป็น 200 เมตร ในช่วง พ.ศ. 2516 ช่อง 7 สี ก็ได้เพิ่มสถานีถ่ายทอดสัญญาณในพื้นที่ภูมิภาคที่จังหวัดลพบุรีเป็นแห่งแรก

อ้างอิง – หนังสือ “จดหมายเหตุ 60 ปี โทรทัศน์ไทย” : วิวัฒนาการเทคโนโลยีโทรทัศน์ไทย