fbpx

หลายๆ คนอาจจะคิดว่าทีวีคนดูอาจจะน้อยลงแล้ว และอาจจะไม่ได้สำคัญอีกต่อไป โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่หลายคนมองว่าปัจจุบันหันเหไปให้กับสื่อออนไลน์มากขึ้นแล้ว ขณะเดียวกันสื่อสาธารณะก็ดูจะเป็นอะไรที่เข้าถึงยากและหลายคนอาจจะไม่ได้เข้ามาดู วันนี้เราเลยได้พูดคุยกับ “รศ.วิลาสินี พิพิธกุล”  ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (สสท.) ในงานเปิดตัวผังรายการไตรมาส 3/2562 โดยจะเริ่มใช้ในเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2562 นี้ ซึ่งมีรายการหลากหลายให้ได้ติดตามกัน

แต่เราไม่ได้มาคุยเรื่องผังรายการเป็นหลัก วันนี้เราจะมาคุยเรื่องรายการเด็กและเยาวชนว่าไทยพีบีเอสให้ความสำคัญมากน้อยแค่ไหน? แล้วในฐานะที่เป็นสื่อสาธารณะ เขาจะปรับตัวยังไงบ้างในยุคที่ใครๆ ก็เข้าถึงออนไลน์กันแล้ว ติดตามจากบทสัมภาษณ์นี้กันครับ

ผังรายการไตรมาสนี้เป็นอย่างไรบ้าง?

ผอ. : คือโดยรวมผังไทยพีบีเอสก็มีความต่างจากหลายๆ ช่องอยู่แล้ว เพราะว่าเราไม่มีโฆษณา ฉะนั้นผังเราลงเต็มหมด เรียกว่าแทบจะไม่มีช่องว่างเลย แล้วก็เราพยายามจัดสัดส่วนของผังรายการ โดยให้น้ำหนักกับข่าวร้อยละ 60 สาระความรู้และสาระบันเทิงร้อยละ 40 เราก็ยังคงรักษาสัดส่วนนี้อยู่ 

แต่ว่าสิ่งที่จะชัดเจนในไตรมาสนี้เลยก็คือสัดส่วนของรายการเด็ก เนื่องด้วยสถานการณ์การคืนช่องทีวีดิจิทัล 7 ช่อง และในนั้นมีช่องเด็กอยู่ 2 ช่อง ทำให้ไทยพีบีเอสเล็งเห็นเลยว่าสังคมอาจจะสูญเสียโอกาสที่จะได้รับชมรายการเด็กที่มีคุณภาพ ก็เลยเป็นเหตุผลหนึ่งที่หันกลับมาว่าจะพัฒนารายการเด็กมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาเราพัฒนาและผลิตรายการเด็กมากอยู่แล้ว และไทยพีบีเอสค่อนข้างมีทุนทางสังคมในการผลิตรายการเด็กมากอยู่แล้ว เพราะ 11 ปีที่ผ่านมาเราสร้างมิตร สร้างความรู้ให้กับสังคมมามากเลยทีเดียว ก็เลยทำให้เราเพิ่มสัดส่วนรายการเด็กขึ้นมาจากทุกวันนี้ จากผังรายการไตรมาส 2/62 ที่มีสัดส่วนรายการเด็กอยู่ 10 ชม./สัปดาห์ ในส่วนของวันจันทร์-ศุกร์ เรามีรายการเด็กอยู่ในช่วงเด็กหลังเลิกเรียนคือช่วง 16.00-17.00 น. แล้วก็จะไปอยู่ช่วงเสาร์-อาทิตย์ตอนเช้า 

สารคดีไทยพีบีเอส คือหนึ่งในรายการที่เน้นให้เด็กและครอบครัวรับชม เพื่อให้เกิดความรู้ ความบันเทิงมากขึ้น โดยฝีมือการผลิตเป็นคนไทยทั้งหมด

แต่ในไตรมาส 3 เราเพิ่มสัดส่วนรายการเด็กขึ้นมาอีกในช่วงเช้าของทุกวันจันทร์-ศุกร์ ครึ่งชั่วโมง คือเวลา 06.30-07.00 น. ซึ่งเป็นเวลาที่เราวิจัยมาแล้วว่าเป็นช่วงที่เด็กกำลังแต่งตัวไปโรงเรียน เพราะฉะนั้นเราจึงทำรายการเด็กที่ทำให้เด็กเตรียมพร้อมไปโรงเรียน ทำให้เด็กกระตือรือร้นและเป็นรายการที่เด็กและพ่อแม่ดูไปด้วยกันได้ ซึ่งเราได้การ์ตูน “ชิมาจิโร่” ซึ่งขึ้นชื่อมากในญี่ปุ่นมาฉาย เด็กๆ ทั่วโลกติดกกันมาก แต่เราไม่ได้เอาการ์ตูนมาลงแบบเต็มๆ เราเอามาตัดมาเสริมในแบบของเราเอง มีพี่คอยมาช่วยเรียนรู้ ตอนเย็นช่วง 16.00-17.00 น. เราก็พยายามจัดผังรายการที่เหมาะสมกับที่เด็กกลับมาแล้วได้มาพักผ่อนด้วย ในช่วงเด็กทำการบ้านก็ได้ดูรายการเราไปด้วยในช่วงวันจันทร์-ศุกร์

ในช่วงเสาร์-อาทิตย์เราก็จัดเต็ม ตั้งแต่ตี 5 – 10 โมงเช้าเลย ก็จะเป็นรายการเด็กทั้งของไทยเราเอง เช่น “คิดส์สนุก” ซึ่งเป็นรายการปกติของเราอยู่แล้ว เรามี “คิดส์ทันข่าว” แล้วก็มีรายการหลากหลายรูปแบบที่เราจะจัดเรียงมา อันนี้คือผังที่เราตั้งใจมากๆ เรียกว่ารวมกันเบ็ดเสร็จเราจะมีสัดส่วนรายการเด็กเพิ่มขึ้นมาอีก 5 ชม./สัปดาห์ แล้วก็เราตั้งใจไว้ว่าจะค่อยๆ ปรับเพิ่มสัดส่วนชั่วโมงรายการเด็กขึ้นมาเรื่อยๆ แต่รายการเด็กของเราไม่ได้ตั้งใจทำให้แค่เด็กได้ดูนะ แต่เป็นเด็กและครอบครัวที่สามารถดูด้วยกันได้ ก็จะเรียงจากเด็กเล็กไปเด็กโต เด็กที่กำลังจะเข้าป. 1 ไปจนถึงครอบครัวที่ดูด้วยกัน อย่างเช่น สารคดี ไปจนถึงผู้สูงวัยที่เรามีรายการในช่วงบ่ายจันทร์-ศุกร์ และช่วงเช้าของเสาร์-อาทิตย์ด้วย เป็นความตั้งใจมากๆ เพราะถ้าจะพูดต่อไปเลยคือ ไทยพีบีเอสเรามีทุนทางสังคมที่สะสมมานานในเรื่องนี้

ล่าสุด เราให้สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะทำวิจัย ติดตามพฤติกรรมของเด็กไทยว่า 24 ชม.ของเด็กไทย ตั้งแต่ตื่นนอน แต่งตัวไปโรงเรียน กลับเข้าบ้าน จนถึงนอน ทั้งวันในวันธรรมดาและวันเสาร์-อาทิตย์ พฤติกรรมในการใช้สื่อเป็นอย่างไร? 

ยกตัวอย่างใน 2 กลุ่มอายุ กลุ่มแรกคือเด็กปฐมวัย (3-6 ปี) เราพบว่าทีวีเป็นสื่อที่เด็กดูเป็นอันดับ 1 โดยเฉพาะตอนเช้าเวลาแต่งตัวไปโรงเรียน ตื่นขึ้นมาพ่อแม่ก็เปิดทีวีให้เด็กดู กลับถึงบ้านก็ยังดูทีวีอยู่ แต่สื่ออันดับ 2 ของเด็กคือ YouTube บางทีเด็กก็จะดูรายการ ดูคลิปที่เขาดูต่อเนื่อง ส่วนอันดับ 3 ก็คือหนังสือ เด็กก็ยังคงอ่านหนังสืออยู่ โดยเฉพาะเด็กเล็กที่จะอ่านนิทานก่อนนอน อันนี้ก็เป็นสื่อ 3 รูปแบบที่เด็กปฐมวัยใช้มากที่สุด 

พอโตขึ้นมาเป็นเด็กประถมศึกษา (7-10 ขวบ) เด็กกลุ่มนี้เริ่มเปลี่ยนแล้ว อันดับ 1 ก็คือ YouTube เลย เขาก็จะรับสื่อผ่านกลุ่มนี้มากขึ้น แล้วก็อันดับ 2 คือทีวี แล้วสุดท้ายก็เป็นพวกออนไลน์ต่างๆ เช่น Facebook ,Line เป็นต้น 

จากงานวิจัยตรงนี้และยังมีอีกเยอะมาก เราค่อนข้างมั่นใจว่าที่เราวางผังรายการแบบนี้เนี่ย มันตอบโจทย์พฤติกรรมเด็กไทยมากๆ และก็อยากบอกว่าทีวียังไม่ตาย โดยเฉพาะเด็กเล็ก เพราะจากการที่เราทำ Focus Group กับพ่อแม่ของเด็กเล็ก ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เราพบว่าพ่อแม่ยังวางใจให้เด็กดูทีวี โดยเฉพาะตอนเช้าในระหว่างเตรียมตัว สักครึ่งชั่วโมง- 1 ชั่วโมง พ่อแม่ยังเรียกร้องว่าอยากให้มีรายการทีวีที่เขาสามารถไว้วางใจให้ลูกดูได้อยู่ อันนี้คือเป็นสิ่งหนึ่งที่ไทยพีบีเอสเรามีความรับผิดชอบว่าเราต้องทำ

มีโอกาสที่จะพัฒนาเป็นช่องเด็กและเยาวชนไหม?

ผอ. : จริงๆ ก็มีเสียงเรียกร้องจากเครือข่ายทางสังคมอยู่ และก่อนหน้านี้ไทยพีบีเอสก็มีการวางแผนเตรียมตัวเรื่องนี้อยู่เมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว ถึงตอนนี้ยังไม่อยากตอบ 100% ว่าจะทำหรือไม่ทำเพราะว่าสถานการณ์ต่างๆ อีกอย่างเรามองว่าเราสามารถจัดสรรสัดส่วนรายการในผังของช่องหมายเลข 3 ได้ แล้วก็มันตอบสนองในช่วงเวลาของเด็กด้วย แต่ในขณะเดียวกันเราก็ทำช่องทางออนไลน์ควบคู่กันไป แล้วก็เรากำลังจะพัฒนาเว็บไซต์รายการเด็กของเราให้เป็นเว็บไซต์แบบ interactive ไม่ใช่แค่มีเนื้อหารายการไปวาง แต่ว่าเราทำงานหนักมากเพื่อจะทำให้รายการสามารถมีลูกเล่นบนเว็บไซต์ ออกไปเสริมตามหลักสูตรที่เขาต้องเรียนเลย 

เพราะฉะนั้น แผนตอนนี้คือเราอยากจะจับมือกับพันธมิตรทั้งภาคประชาสังคม ภาครัฐและภาคเอกชน เป็นอย่างมาก ที่เรากำลังจะเริ่มคุยคือ เรากำลังจะไปชวนเกมเมอร์ดังๆ มาช่วยออกแบบทำเกมที่สอดคล้องกับหลักสูตรและรายการเด็กของเราด้วย อันนี้คือตัวอย่างว่าเราไม่ได้คิดแค่ผลิตรายการผ่านหน้าจอทีวี แต่เราพัฒนาแบบครบวงจร

แปลว่าตอนนี้สื่อสาธารณะไม่ได้หยุดอยู่ที่สื่อทีวีเท่านั้น?

ผอ. : ถูกต้อง โดยเฉพาะช่องทางไหนที่ประชาชนเข้าถึงได้ เราก็จะเอาตัวเองไปวางอยู่ตรงนั้นให้ได้

สัดส่วนรายการเด็กจะเพิ่มมากขึ้นยังไงให้สอดคล้องกับวิถีการดูของเด็กได้?

ผอ. : ความเป็นไปได้คือการเพิ่มชั่วโมงในวันจันทร์-ศุกร์ ซึ่งในไตรมาสนี้เราให้ครึ่งชั่วโมง ไตรมาส 4 อาจจะขยับเป็น 1 ชั่วโมงเต็ม แต่เราก็ต้องมีการประเมินก่อนด้วย ทั้งนี้ก็เพื่ออยากให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการดูของเด็ก

แสดงว่าเรตติ้งก็มีผลต่อการจัดผังรายการ?

ผอ. : ก็มีผลในระดับหนึ่ง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเนื้อหารายการมันเข้าถึงคนดูจริงๆ อันที่อยากจะเสริมคือปัจจุบันเราไม่ได้ทำแค่สื่อทีวีและสื่อออนไลน์เท่านั้น เราทำพอตแคสต์ด้วย เรามีวิทยุออนไลน์ และเราก็กำลังให้ความสำคัญกับพอตแคสต์ที่เหมาะสมกับเด็ก เรามีรายการต่างๆ เช่น รายการวิทยาศาสตร์ ความรู้ต่างๆ มากมายที่เด็กๆ สนใจ เราก็เริ่มทำแล้ว รวมไปถึงการสอนภาษาจีน ภาษาอังกฤษอีกด้วย

เราจะได้เห็นไทยพีบีเอสผลิตรายการสำหรับเด็กที่ฉีกจากเดิมมากขึ้นไหม?

ผอ. : อย่างที่บอกว่าถ้ามีแพลตฟอร์มใหม่ๆ เราก็จะค้นหาและพัฒนาให้เหมาะสม แต่ว่าตัวคอนเทนต์เราก็ยังไม่เปลี่ยน เรายังเน้นเรื่องของพัฒนาการของเด็ก พัฒนาการรอบด้าน เช่น พัฒนาการทางสมอง พัฒนาการด้านร่างกาย พัฒนาการทางสติปัญญา พัฒนาการทางอารมณ์ อันนี้เป็นโจทยฺ์สำคัญในการผลิตเนื้อหาของไทยพีบีเอสอยู่ และเราทำงานกับผู้เชี่ยวชาญมากมาย คิดว่าคอนเทนต์ไม่เปลี่ยนแน่นอน คิดว่าเด็กๆ ยังต้องการอะไรแบบนี้อยู่แน่นอน แต่ว่ารูปแบบ เครื่องมือ แพลตฟอร์มก็คงจะปรับไปตามยุคตามสมัย

ผู้กำกับและนักแสดงจากละครเรื่อง “ลูกเหล็กเด็กชอบยก” : ละครไทยพีบีเอส

พูดถึง VIPA (วิภา) หน่อยว่าทำไมถึงตัดสินใจมาทำ OTT ของตัวเอง?

ผอ. : เป็นการเตรียมเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงไทยพีบีเอสให้มากที่สุด เพราะว่าเราเห็นสถานการณ์ว่าคนดูทีวีลดน้อยลง คนเริ่มอพยบไปสื่อใหม่ๆ ช่องทางใหม่ๆ มากขึ้น เพราะฉะนั้นเราก็ต้องไปตรงนั้นเหมือนกัน เราเลยต้องเตรียมในส่วนของตรงนี้มาเกือบปีแล้วเหมือนกันที่จะทำช่องวิภา แล้วเราก็มองว่าวิธีที่จะทำให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าถึงสาระประโยชน์ที่มีคุณภาพ ตรงนี้ก็สำคัญ เพราะฉะนั้นเราเลยวาง Positioning ของช่องวิภาให้เป็นสาระประโยชน์ แต่ปรับลุคให้ดูเป็นคนรุ่นใหม่มากขึ้น เพื่อให้เข้าถึงได้ เราเลยออกแบบแครักเตอร์ช่องวิภาให้เป็น “Passion and Leaning” เรียนรู้แบบกระตือรือร้น แบบสนุกสนาน

ตัวของวิภามีการใช้โมเดลจากทีวีต่างประเทศมาบ้างไหม?

ผอ. : มีดูอยู่หลายที่มากๆ ยกตัวอย่าง คือเราจะใช้เครื่องมือแบบ UGC ซึ่งตอนนี้เราเริ่มใช้ในแอพพลิเคชั่น C SITE ที่เราชวนคนรุ่นใหม่มาปักหมุดเล่าเหตุการณ์ต่างๆ ตรงนี้เราจะขยายเครื่องมือจาก C SITE เอาไปลงในช่องวิภาและจะสร้างชุมชนแบบ UGC ซึ่งคนจะสามารถส่งคลิปมาเล่าเรื่องได้ คือจะพยายามทำให้น่าสนใจ เราคิดว่าการสร้างช่องวิภาแล้วทำให้คนมีส่วนร่วมในชุมชนออนไลน์น่าจะเป็นจุดดึงดูดที่สำคัญ 

ส่วนของรายการกีฬาบ้าง ปีนี้ไทยพีบีเอสจะมีกีฬาที่แปลกๆ หรือน่าสนใจลงผังเพิ่มเติมไหม?

ผอ. : ถ้าจะบอกว่าแปลกแหวกแนวไหม? คงต้องไปหานะคะ แต่จะบอกว่าจริงๆ กีฬาที่เราฉายมันไม่แหวกแนวหรอก มันคือกีฬาพื้นบ้านที่คนไทยเล่นกันอยู่นี่แหละ ไม่ว่าจะเป็น วิ่งควายเหล็ก แต่ว่าจุดยืนของเราเรื่องของการถ่ายทอดกีฬา เราให้ความสำคัญกับกีฬาชุมชน กีฬาที่มาจากความเป็นเจ้าของชุมชน เพราะฉะนั้นรายการกีฬาเราจะไม่ได้มาถ่ายทอดการแข่งขันว่าใครชนะหรือใครแพ้ แต่อยากให้เห็นถึงความตั้งใจในการถ่ายทอดกีฬาในชุมชนของเขาขึ้นมา

ทีมนักแสดงจากละครไทยพีบีเอส

ส่วนของละครบ้าง ละครไทยพีบีเอสแตกต่างจากละครช่องอื่นอย่างไรบ้าง?

ผอ. : จริงๆ เราไม่ได้รุกมาทำในปีนี้นะ ส่วนใหญ่คิดมาตั้งแต่ปีที่แล้ว (หัวเราะ) เพราะว่ามันใช้เวลานานมากในการพัฒนาบท ในการเตรียมทีมงานผลิตต่างๆ คือเราตั้งใจอยากให้มีละครทั้งปี อย่างน้อยไตรมาสละ 1-2 เรื่อง เป็นละครไทย แต่ว่าอาจจะด้วยเพราะมันต้องใช้เวลา เราเลยนำมาลงในไตรมาส 3 เป็นต้นไป ถ้าปีหน้าเราสามารถเตรียมพร้อมได้ดีกว่านี้ น่าจะมีละครไทยดูกันทั้งปี 

จุดต่างของละครไทยพีบีเอสเลยก็คือ เราเน้นสาระ เนื้อหาสาระต่างๆ แต่พยายามจะทำให้ดูสนุก ดูแล้วคนดูต้องไม่รู้สึกถูกยัดเยียดว่ากำลังดูอะไรที่เป็นความรู้ ที่มาสั่งสอน อันนั้นไม่ใช่แน่นอน เราอยากให้คนดูได้รับแรงบันดาลใจ ได้รับสาระ ข้อคิดต่างๆ ไปโดยไม่รู้ตัวจากการเล่า เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นการสรรหาผู้ผลิตที่เข้าใจสื่อสาธารณะ ต้องบอกแบบนี้ว่าเป็นผู้ผลิตที่เข้าใจหลักคิด แง่มุม ปรัชญาแบบสื่อสาธารณะต้องใช้เวลาเหมือนกัน รวมถึงการหานักแสดงที่ก็มีใจที่อยากแสดงในช่องที่ไม่ได้หวังในการสร้างกำไร กำไรเราคือสังคมต้องได้ประโยชน์ 

แต่เท่าที่ทราบจากทีมงาน พอส่งบทไปให้นักแสดงทุกคนอ่าน ทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าอยากทำงานให้ไทยพีบีเอส เพราะว่าทำงานแล้วรู้สึกให้คุณค่า มันเติมเต็มคุณค่าในชีวิตของเขา หลายคนบอกแบบนั้น เพราะฉะนั้นละครเราอาจจะไม่ได้มีบทที่หวือหวา อาจจะไม่ได้มีฉากตบจูบแย่งชิง อะไรแบบนี้ไม่มีแน่นอน แต่ว่าเรายังคงอารมณ์ที่ดูแล้วสนุกสนานอยู่

ฝากอะไรถึงคนที่อยากจะมาติดตามไทยพีบีเอสในอนาคต?

ผอ. : เราเชื่อว่าคนดูมีทางเลือกเยอะ ประชาชนมีโอกาสที่จะเข้าถึงสื่อต่างๆ มากมายเลย แต่อยากให้มั่นใจว่าไทยพีบีเอสเป็นสื่อสาธารณะของประชาชนทุกคน เพราะฉะนั้นเนื้อหาที่เราออกแบบ ผลิต และสร้างสรรค์ออกมา เราพยายามเอาประชาชนเป็นตัวตั้ง ไม่ว่าจะเป็นข่าวสารที่เราพยายามเอาความจริงทุกแง่มุมมานำเสนอต่อผู้ชม ไม่ว่าจะเป็นสาระ สาระความรู้ ความบันเทิง เราอยากให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าเราสร้างเพื่อคืนกำไรให้กับสังคม ก็อยากให้ประชาชนเชื่อมั่นและอุดหนุนไทยพีบีเอสนะคะ

ยังไงก็อย่าลืมติดตามรายการให้ของไทยพีบีเอสได้ผ่านทางทีวีดิจิทัลหมายเลข 3 และผ่านทางช่องทางออนไลน์ได้ที่ www.thaipbs.or.th ได้เลยนะครับ