fbpx

รู้จักตัวตนคนพิการให้มากขึ้น ผ่านคนพิการตัวจริง : เปิดมุมมองเบื้องหลังของ ThisAble.me

บทสัมภาษณ์นี้เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2562

หลายคนอาจจะเคยสัมผัสหรือเห็นคนพิการจำนวนไม่น้อยในสังคมอย่างแน่นอน แต่จะมีน้อยคนนักที่จะเข้าใจว่าคนพิการในปัจจุบันใช้ชีวิตยังไง? มีเซ็กส์ยังไง? หรืออย่างล่าสุดคือการมีสุนัขนำทางในประเทศไทยที่หลายคนยังไม่ทราบว่ามีจริงๆ แต่เรามีเว็บไซต์หนึ่งมาแนะนำกันครับ

เว็บไซต์นี้นำเสนอข้อมูล ความรู้ และความเข้าใจเกี่ยวกับคนพิการทุกประเภท ทุกแง่มุม ชนิดที่ว่ารู้ทุกเรื่องเลยก็ว่าได้ วันนี้ส่องสื่อจึงดึงตัวบรรณาธิการเว็บไซต์ thsAble.me “นลัทพร ไกรฤกษ์” มาคุยกัน ทั้งเบื้องหลังการทำงานที่มีพนักงานประจำแค่ 2 คน! แต่สามารถผลิตผลงานจนเป็นที่นิยมได้เป็นจำนวนมาก รวมไปถึงมุมมองเรื่องสื่อกับคนพิการที่พูดเท่าไหร่ก็ไม่หมด เอาเป็นว่าเรามาอ่านแบบ Unseen กันดีกว่าครับ

แนะนำตัวหน่อยครับ

ชื่อ นลัทพร ไกรฤกษ์ เป็นบรรณาธิการเว็บไซต์ thisAble.me ค่ะ

สื่อเข้าถึงคนพิการแค่ไหน?

เราคิดว่าแล้วแต่ประเภทความพิการ อย่างคนที่เป็นทางร่างกาย เค้าเข้าถึงสื่อได้มากหน่อย เพราะหูก็ได้ยิน ตาก็มองเห็น แต่ว่าคนที่มีปัญหาในเรื่องการเข้าถึงการสื่อสาร เช่น คนหูหนวก ที่เราเห็นว่าสื่อมีภาษามือเนี่ย มันก็ตกแค่วันละชั่วโมงต่อวัน เพราะฉะนั้น เท่ากับว่าเขาจะเข้าถึงข้อมูลทั้งหมดได้เพียงแค่ 1/24 ของวัน

ซึ่งส่วนมาก ข้อมูลเหล่านั้นมันเป็นแค่เรื่องข่าว ไม่พ้นรายการข่าว เพราะว่ามันทำซับไตเติ้ลง่ายที่สุด มันจึงทำให้เขาเข้าถึงข่าวอย่างเดียว แต่ในสื่อบันเทิงอื่นๆ เช่น ละคร หนัง ก็ไม่สามารถเข้าถึงได้ หรือเข้าถึงได้ก็เห็นแค่ภาพ โดยที่ไม่รู้ว่าในเนื้อหาพูดถึงเรื่องอะไร

สำหรับคนตาบอดก็ต่างกันออกไป คือคนตาบอดเค้าได้ยินใช่ไหม? เค้าสามารถได้ยินเนื้อหาทั้งหมดได้ แต่ว่าเค้ามองไม่เห็นว่ามันคืออะไร เพราะฉะนั้นสื่อสำหรับคนตาบอด สมมุตินะ สื่อบางประเภทคนตาบอดอาจจะเข้าใจมาก เช่นหนังตลกที่มันต้องพูดเยอะๆ หนังดราม่าอะไรแบบนี้ แต่พอเป็นหนังผี หนังแอคชั่น หรือละครบางอย่างที่เล่นกับสีหน้าคนเยอะๆ คนตาบอดจะเริ่มเข้าใจมันลำบากมากขึ้น เพราะว่าเค้ามองไม่เห็น อันนี้พูดถึงสื่อในทีวีเนอะ 

แต่ถ้าพูดถึงสื่อในโซเชี่ยลมีเดีย ในข่าวก็ยังคิดว่าคนที่เป็นทางร่างกายกับคนตาบอด เข้าถึงมากกว่าคนหูหนวกค่อนข้างเยอะ คนตาบอดถึงเค้าจะมองไม่เห็น หลายคนก็สงสัยว่าเขาจะเล่นโซเชี่ยลมีเดียหรือตามข่าวได้ยังไงใช่ไหม? เดี๋ยวนี้มือถือหรือคอมพิวเตอร์ก็ดี มันมีโปรแกรมอ่านจอแล้ว เขาสามารถใช้โปรแกรมในเครื่องของเขาอ่านทุกอย่างที่อยู่บนหน้าจอได้ เมื่อเขาเปิดเว็บเข้าไป เขาก็กดให้มันอ่าน เพราะฉะนั้นเขาก็ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองแลค(หน่วง) ในการเข้าถึงเนื้อหาเท่าไหร่

กลับกันคนหูหนวกเนี่ย ถึงแม้ว่าเขาจะมองเห็น แต่ว่าทักษะในการอ่านของเขา มันค่อนข้างต่ำ คนที่เรียนจบปริญญาตรีจะอ่านได้ประมาณเด็ก ป.4 นั่นเท่ากับว่าคนหูหนวกที่จบปริญญาตรีมีน้อยมาก เท่ากับว่าคนที่อ่านได้ก็ไม่ได้เยอะ เพราะฉะนั้นมันก็ทำให้เราคิดแค่ว่า “เฮ้ย แค่มีซับไตเติ้ลคนหูหนวกก็อ่านได้แล้ว” ซึ่งมันไม่ได้จริงเสมอไปไง มันอาจจะอ่านได้ในบางกลุ่ม แต่ในกลุ่มใหญ่ๆ อาจจะยังมีคนที่อ่านไม่ถนัด อ่านไม่คล่อง แล้วเขาก็ยังต้องการภาษามือเพิ่มขึ้น

แล้วสื่อกับคนพิการในละคร หรือรายการต่างๆ คิดว่าเราอยู่จุดไหนอยู่ ทำให้ดูตลกหรือสร้างสาระมากขึ้น?

ถ้าถามเรา สมัยก่อนตอนเรายังเด็กๆ อยู่ ภาพคนพิการของเราที่เราเห็นในทีวี หรือในละคร ส่วนมากมักไม่พ้นการเอามาทำให้เป็นตัวตลกอ่ะ หรือแบบน่าสงสารงี้ ในละครมันฉายภาพอยู่ไม่กี่ภาพเลยนะ ถ้าพูดจริงๆ เช่น ตัวร้ายทำชั่วมาทั้งเรื่องเลย สุดท้ายรถชน พิการ เป็นบ้า ตาบอด อะไรก็ตาม หรือสุดท้ายกรรมไปตกอยู่ที่แม่ แม่ตกบันไดเป็นคนพิการอะไรแบบนี้ คือมันถูกฉายซ้ำภาพเหล่านั้นมาเยอะมากๆ

อีกอย่างที่กลับกันก็คือ เปิดฉากมาพระเอกเป็นคนตาบอด พระเอกทำความดีต่างๆ นานา ได้นางเอกมารัก เอาใจใส่ สุดท้ายหายตาบอด นี่คือภาพที่เราเห็นในละครมาก่อนตอนเด็กๆ แล้วเราก็คิดมาตลอดว่า อ๋อ ก็เพราะว่าทำไม่ดีไงก็เลยได้รับกรรม แล้วสุดท้ายก็เลยพิการ พอคนทำดีอย่างพระเอก พระเอกก็หายตาบอด มันเป็นภาพที่ค่อนข้างจะฝังในหัวคนไทยว่า ความพิการมันหายง่ายเหลือเกิน แต่ก็เป็นง่ายเหมือนกัน เพราะคุณแค่ทำชั่วก็เป็นแล้ว

แล้วภาพเหล่านี้มันค่อนข้างติดในหัวคนไทยนะ รวมถึงข่าว เราคิดว่าในแง่ข่าวก็เช่นกัน สังเกตดูสิเวลามีข่าวตอนช่วงหัวค่ำอ่ะ พอข่าวจบก็จะมีสกู๊ปสั้นๆ เล็กๆ พาไปดูบ้านคุณคนนี้ที่แบบมีหลังคาเป็นสังกะสี น้ำรั่วหยดแหมะๆๆ แต่เขาก็ยังต้องนอนจมตัวเองอยู่ในกอง พร้อมกับเลขบัญชีอยู่ข้างล่าง เราคิดว่าภาพจำแบบนี้มันอยู่คู่กับสังคมไทยมาตลอด

จนมาช่วงหลังๆ ในช่วงปีถึงสองปีให้หลัง เราคิดว่ามีการเปลี่ยนแปลงนะ หลังจากที่มีซีรีส์ค่ายใหม่ทำ เช่นเรื่อง พี่น้องลูกขนไก่ ที่มีการเอาคนที่เป็นออทิสติกก็ทำให้ดูเป็นคนธรรมดา เขาสามารถใช้ชีวิตกับคนอื่น เขาเป็นตัวหลักในเรื่อง เขามีปฏิสัมพันธ์ แต่ใช่ เขาก็ยังมีความผิดปกติในตัวเขา เราคิดว่าภาพมันถูกทำให้สังคมเข้าใจมากขึ้น ยังไงก็ดีมันยังสู้ภาพจำจากกระแสหลักที่ยังคงดำเนินมาอย่างคู่ขนานได้ยาก ถึงแม้มันจะมีอะไรใหม่ๆ แบบนี้เกิดขึ้น  รวมถึงเว็บเราด้วยใช่ไหม แต่ว่ากระแสหลักเขาก็ไม่ได้ลดละความพยายามในการสร้างภาพจำแบบเดิมนะ (พูดปนหัวเราะ)

เราจะเห็นได้ว่าปัจจุบันตลกก็ยังเอาคนพิการไปเล่น หมายถึงก็ยังเล่นเป็นคนพิการอยู่ คือเอาความพิการไปทำให้มันขำ ปากเบี้ยว เดินขาเป๋อะไรแบบนี้แล้วก็ถูกแกล้ง กลายเป็นละครตลก เราก็มองว่าในขณะเดียวกันที่มีคนพยายามสร้างภาพจำใหม่ๆ ภาพจำเก่าๆ มันก็ยังอยู่ แล้วก็อาจจะไม่ใช่ระยะเร็วๆ นี้ที่คนในสังคมจะเปลี่ยนหรือจะจดจำภาพจำใหม่ๆ ได้ทัน เราคิดว่าคน Generation ค่อนข้างใหม่หน่อยที่จะถูกซีรีส์อะไรพวกนั้น แต่ในกระแสหลักเขาก็ยังดูช่องทางที่เขาเคยดูซึ่งมันยังไม่เปลี่ยนไปมากนะ สำหรับเรา

แล้วสำหรับตัวเราเอง มีวิธีการแก้ไขยังไง ในฐานะที่เราก็เป็นคนพิการคนหนึ่ง?

ก็มีสองแง่นะ ถ้าเจอกับตัวก็จะพยายามอธิบาย แต่มันเป็นหน้าที่ของเราไหม เราก็ว่าไม่ใช่ หมายถึงในแง่ individual นะ ไม่ใช่ในงาน หมายถึงว่าถ้าเราไปเจอความเข้าใจผิดของใครสักคนตามห้างอย่างงี้ บางครั้งเราก็เหนื่อยเกินไปที่จะนั่งอธิบายว่า คุณไม่ควรไปคิดกับคนพิการแบบนั้นนะ คุณควรคิดแบบนี้นะ บางทีเราไม่ได้มีเวลาขนาดนั้น และเรารู้สึกว่าคนๆ นี้ไม่ได้มีเวลานั่งฟัง นั่งคุยกับเราเป็นสิบถึงสิบห้านาที

บางทีเจอหน้ากันไม่ถึงนาที เจอกันในลิฟต์ แล้วเค้าอาจจะพูดคำบางคำเช่น “โอ้ย เก่งจังเลย เป็นคนพิการแล้วยังมาเที่ยวห้างได้อีก” สมมุตินะ ซึ่งเป็นเรื่องที่เคยเจอ เวลาแค่ลิฟต์สี่ชั้น มันจะไปอธิบายอะไรให้เค้าเข้าใจได้ เพราะฉะนั้นเราก็ได้แต่ยิ้ม บางทีก็ทำได้แค่นี้จริงๆ แต่ถ้าเกิดว่ามันมีเวลามากกว่า บางคนที่มีโอกาสได้เจอกันในแง่ที่ได้พูดคุยในงานอบรม ถ้าเขามีความเข้าใจอะไรแบบนี้  เราคิดว่าการที่เขาเห็นเรากับเขาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันซักแปปนึงอ่ะ เราคิดว่าเขาจะเก็ทไอเดียมากขึ้น แล้วก็คิดว่าไอเดียที่เค้าเคยคิดตอนแรก มันอาจจะเป็นไอเดียที่ไม่ได้ดีนัก อะไรแบบนี้

ส่วนของเรื่องงาน เราคิดว่าเราพร้อมไฟท์เต็มที่นะ เราคิดว่ามันมีความจำเป็นในแง่ของการที่เราต้องอธิบาย สร้างความเข้าใจให้คนในสังคมให้เปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อคนพิการ เขาอาจจะไม่ได้เปลี่ยนปุบปับ แต่ว่าอยากให้เขาได้ค่อยๆ เรียนรู้ อย่างน้อยก็รู้จักมองเห็นว่าคนพิการเค้าใช้ชีวิตหรือมีตัวอย่างยังไงในสังคม

เพราะเราเข้าใจว่าที่ผ่านมาที่ทุกๆ อย่างมันเกิดขึ้นแบบนี้ มันไม่ใช่อยู่ดีๆ ทุกคนจะพร้อมใจกันแบบ “โอ้ย คนพิการน่าสงสารจังเลย” มันไม่ใช่หรอก มันก็ค่อยๆ เป็นมา และเพราะเราไม่เคยเห็นคนพิการตัวจริงๆ ในชีวิตประจำวันไง คนพิการทั้งหมดที่เราเห็นมันก็อยู่ในละคร แล้วจะให้เราไปเรียนรู้จากไหนว่าคนพิการในชีวิตจริง เขาก็ใช้ชีวิตได้แบบคนอื่นๆ นั่นแหละ

เพราะฉะนั้นเราก็คิดว่ามันเกิดจากแค่การมองไม่เห็นกัน เราก็เลยคิดว่า โอเค ถ้าในชีวิตจริงเขาอาจจะยังไม่เห็นคนพิการมากพอ เพราะว่าคนพิการหลายคนก็ไม่สามารถที่จะเดินทางไปไหนมาไหนได้สะดวก เราก็เลยคิดว่าถ้าแพลตฟอร์มเราอย่างน้อยเป็นพื้นที่ที่ทำให้กลุ่มสองกลุ่มนี้ได้เห็นกันมากขึ้น มันก็เป็นสิ่งที่เราอยากทำ

ก็เลยเป็นที่มาของ thisAble.me หรือเปล่า?

ก็ใช่ คือเราเป็นเด็กที่เรียนรวมมาตลอด เรียนรวมเป็นยังไง? เรียนรวมก็คือนักเรียนพิการและไม่พิการเรียนด้วยกัน เรียนในโรงเรียนเดียวกัน อยู่ในห้องเดียวกัน เป็นเพื่อนกัน จากการที่เราได้เรียนรวมมาตลอด เรารู้เลยว่าเพื่อนไม่ได้อยากกีดกันเราออกจากสังคม เขาไม่ได้อยากจะแบบ “หึ้ย เธอพิการ เธอไม่ต้องมายุ่งกับชั้น เธอไม่ใช่แก๊งเรา” ไม่ใช่ จากชีวิตที่ผ่านมาไม่เคยมีเหตุการณ์ไหนที่เป็นแบบนั้น

แต่สิ่งที่เจอคือเพื่อนๆ ไม่มีความเข้าใจ คือเพื่อนๆ ไม่รู้ว่าพิการคืออะไร เด็กม.ปลายอ่ะ เออ คิดดูสิมันถึงขั้นไหนแล้วอ่ะ ที่เด็กม.ปลายไม่รู้ว่าความพิการคืออะไร แล้วแบบเรางงเลย คือต้องอธิบายก่อนว่าเราอยู่กับเพื่อนกลุ่มแรกมาตั้งแต่อนุบาล เพราะฉะนั้นเขาจะเห็นมาตลอดว่าเราเปลี่ยนไปยังไง แต่พอเราต้องย้ายโรงเรียนตอน ม.4 อ่ะ เราก็กังวลมากเลยว่าเพื่อนอีกกลุ่มซึ่งเป็นกลุ่มใหม่ เขาจะเข้าใจความพิการของเรายังไง เพราะว่าเขาไม่เคยเจอตอนที่เรายังวิ่งได้อ่ะ

ทีนี้พอเราไป ความกังวลมันก็อยู่แหละ แล้วเพื่อนเรายอมรับเลยว่า ไม่คิดว่าจะมีคนพิการมาเรียน เขาพูดว่านึกว่าขาหัก คือภาพในสมองของเขาที่จดจำต่อคนที่นั่งวีลแชร์ แล้วยังเป็นเด็กอยู่ เขาจดจำว่าเพื่อนอาจจะไปประสบอุบัติเหตุแล้วขาหักอะไรแบบนี้

ในวันที่เราเข้าไปเรียน เขาถึงได้เรียนรู้ว่ามันมีคนที่ร่างกายอาจจะไม่เหมือนเราอยู่ในสังคมนี้ด้วยนะ แล้วเขาก็เป็นเด็กด้วยนะ เขาไม่ใช่คนแก่เหมือนที่เราคิด และเขาสามารถมาเรียนได้ เมื่อเราอยู่ร่วมกันไปสักพักแล้วได้เรียนรู้ว่า อ๋อ ความพิการมันเป็นแบบนี้นะ แล้วเราจะอยู่ร่วมกับมันได้ยังไง เพื่อนๆ ก็ไม่เคยมีใครมีปัญหานะ คือเพื่อนๆ ก็พร้อมจะช่วยในสิ่งที่เราทำไม่ได้ ขณะเดียวกันมีอะไรที่เขาทำไม่ได้ เราก็ช่วย

เรารู้สึกว่า มันก็แค่นั้น นี่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ว่า ทำไมในแนวทางการทำงานของเรา เราถึงทำเหมือนอยากให้เพื่อนอ่าน รู้สึกเหมือนอยากให้คนอ่านคือเพื่อนของเราที่เราอยากคุยด้วย เราจะไม่ใส่อะไรหนักๆ หรอก แบบ “เพื่อนจ๋า ชั้นมีสิบยี่สิบข้อมาให้เธออ่าน ว่าถ้าเธออยู่ร่วมกับชั้นน่ะ เธอต้องปฏิบัติตามสิบหรือยี่สิบข้อนี้” เราว่าแบบนี้มันไม่ใช่สิ่งที่เพื่อนทำต่อกันนะ สิ่งที่เพื่อนทำมันคือการเรียนรู้ไปเรื่อยๆ การค่อยๆ ซึมซับว่าเพื่อนเรานิสัยแบบนี้ เพื่อนเราชอบกินอย่างงี้ เพื่อนเราถ้าเขาเห็นของชิ้นนี้แล้วเขาจะต้องดีใจ แนวทางการทำเว็บก็เป็นแบบนั้น คือค่อยๆ ป้อนความใกล้ชิดลงไปเรื่อยๆ

ทำมากี่ปีแล้ว?

น่าจะประมาณเกือบสองปีแล้ว ที่ทำเว็บไซต์นะ

เป็นอย่างไรบ้างกับสองปีที่ผ่านมา ผลตอบรับ?

เราคิดว่าไปไกลเกินที่คาดมากๆ นะ ถ้าถามเรา เราแพลนว่าในปีแรกเราอยากให้เป็นพื้นที่ แต่ไม่คิดเลยว่ามันจะมีคนติดตามอ่ะ คือแค่อยากเป็นพื้นที่รวมคนที่มีความสนใจเข้ามาอยู่ในนี้ก่อน แล้วถ้าเค้ามีความสนใจที่อยากจะเขียนงานก็ให้เขียนเก็บในนี้ คือคิดน้อยมากเลยสำหรับปีแรก คาดหวังแค่นี้จริงๆ

แต่ปรากฏว่าเกือบสองปีใช่ไหม มันไปไกลมาก อาจจะเป็นเพราะว่ามันเป็นประเด็นที่ค่อนข้างเฉพาะ แล้วมันได้รับความเอ็นดูจากหลายสื่อน่ะ เราคิดว่าอย่างนั้น คือหลายๆ สื่อก็มาสัมภาษณ์ มาเรียนรู้ประเด็น ไม่ใช่ อ๋อ เห็นเป็นสื่อใหม่ แล้วก็เป็นสื่อใหม่ แต่เขาอยากเข้ามาทำความรู้จักว่าทำไมเราถึงเริ่มที่จะทำประเด็นเหล่านี้

เรายังจำได้เลย ปีแรกที่เราไปถามคนพิการ ไปงานคนพิการใช่มะ เราก็บอกว่า “ตัวเองคะ หนูมาจาก thisAble.me ค่ะ” เงียบจ่ะ (หัวเราะ) คือแบบเขางงๆ ว่า อะไรวะ อีนี่มาจากไหนเหรอ แบบกาบินผ่านหน้าไปสามตัว เราอุตส่าห์อธิบายว่านี่เว็บอย่างงี้นู่นนั้นนี่ ความมั่นใจหมดอ่ะ แบบเราทำเว็บคนพิการอ่ะ แต่ไปคุยในวงคนพิการไม่มีใครรู้จักอ่ะ คือมันเฟลมากเลยตอนนั้น แต่เราก็ขยันไปไง ด้วยความที่เราขยันไป เพื่อที่จะบอกว่าเรามาจากเว็บนี้นะ แล้วเรามาทำข่าวนะ มาทำงาน ไปกับเครือข่าย ทำโน่นทำนี่

ครั้งนึงที่ทำให้รู้สึกดีใจมาก คือเราไปนั่งในวงเสวนาที่เป็นคนพิการเยอะๆ นี่แหละ แล้วเราก็ไม่ได้แสดงตัวนะ วันนั้นยังไม่ได้แนะนำตัวใดๆ ทั้งสิ้น ก็มีพี่คนนึงพูดขึ้นมากลางวงว่าการทำวงเสวนาอย่างนี้ หลังจากนี้เราคงต้องให้สื่อเผยแพร่ แล้วเราอยากให้ thisAble.me เป็นคนเผยแพร่งาน หูย วันนั้นเราพราวน์มาก รู้สึกตัวใหญ่มากทั้งๆ ที่ตัวเองอ่ะ ยังไม่ได้แนะนำตัวเลยว่ามาจากไหน เขาไม่ได้รับรู้เราในฐานะที่หน้าตาแบบนี้ มาจากที่นี่แล้วนะ แต่เค้าพูดถึงมันในฐานะของสำนักข่าว ในฐานะของพื้นที่ที่คนพิการจะอยากใช้ เราก็เลยรู้สึกว่าเว็บมันเข้าถึงแล้วแหละ มันไปได้ มันมีทางไปของมัน

ตอนนี้ทำหน้าที่อะไรอยู่ใน thisAble.me?

ก็ถ้าตามชื่อตำแหน่ง ก็เป็นบรรณาธิการ

แล้วในความเป็นจริงล่ะ? (หัวเราะ)

ในความเป็นจริงก็ทำทุกอย่างที่มันไม่มีคนทำ

ทั้งทีมมีกี่คน?

สองคน 

จริงเหรอ?

สองคน ก็มีเรา และรักษ์ (คชรักษ์ แก้วสุราช) อีกคน ถ้าเป็นพนักงานประจำนะ นอกจากนั้นจะเป็นน้องฝึกงาน เป็นอะไรที่เวียนมาเรื่อยๆ อาศัยระบบนี้ คือประจำ 2 และฝึกงาน ก็ค่อนข้างคล่องตัวนะ ด้วยความที่คนน้อย ด้วยความที่มันมีสองคน มันก็จะมาเกี่ยงกันไม่ได้ว่าใครจะทำอันนี้ ใครจะทำอันนั้น เราทำแค่ใน Job Description ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเท่ากับว่างานไหนที่ใครมีสกิลมากๆ เช่นรักษ์ถ่ายวิดีโอได้ ถ่ายรูปได้ ตัดต่อวิดีโอได้ งานส่วนนี้แน่นอนว่าเป็นของรักษ์ ซึ่งเราอาจจะมีสกิลในการติดต่อแหล่งข่าว เพราะว่าเราทำมานานกว่ารักษ์ไง จำนวนรายชื่อแหล่งข่าวก็ต้องเยอะกว่าเป็นธรรมดา แต่ถ้ารักษ์ทำไป 5 ปีก็อาจจะเท่าๆ กัน

ก็คือเราก็ยังเยอะอยู่ช่วงนี้ แล้วเราก็เป็นคนประสานงาน ตรวจงานทุกอย่าง และออกไปเวลามีวงเสวนาต่างๆ  ส่วนมากก็จะเป็นเราที่ออกไป จะแบ่งบทบาทกันประมาณนี้ เท่าที่เข้าใจนะ แต่นอกนั้น ถ้ามีใครมีอะไรที่ทำไม่ทัน มีรูรั่ว ก็ต้องพร้อมที่จะอุดกันได้ตลอดเวลา

แล้วเวลาเราทำ มีแหล่งทุนสนับสนุนบ้างไหม?

ตอนนี้ยังเป็นมูลนิธิอยู่ มูลนิธิเพื่อการศึกษาของชุมชน ปีแรกเป็น สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) แต่ว่า หลังจากปีนั้นจบ งบประมาณก็ไม่ได้ขออีก

มีความยากลำบากอะไรไหม อย่างในการลงพื้นที่อย่างงี้?

เราคิดว่ามันมีนะ เป็นพักๆ เพราะว่าจริงๆ แล้วรักษ์เพิ่งมาทำงานได้ 5 เดือน เท่ากับว่าปีกว่าที่ผ่านมา เราก็ทำอยู่คนเดียว เมื่อไหร่ก็ตามที่เราไปลงพื้นที่ งานในส่วนของเว็บไซต์มันจะไม่มีคนทำ เราจะไม่สามารถยืดหยุ่นตัวในการที่แบบทำหน้างั้นนั้น แล้วมาทำหน้างานนี้ได้เลย มันเท่ากับว่าเราก็ต้องปล่อยงานใดงานหนึ่งไป คิดว่านั่นคือความยากลำบาก 

แต่ความยากลำบากใจปัจจุบันคือ พอมีสองคนแล้วฝันใหญ่ขึ้นมาก เหมือนมีสักสิบคนน่ะ ตอนมีคนเดียวไม่ค่อยฝัน แบบเราทำได้แค่นี้ ปลง แต่พอมีสองคน หึ้ย รักษ์ทำอันนี้เป็นว่ะ น้องมีศักยภาพ น้องทำได้ เราก็อยากให้น้องได้ทำ อยากให้น้องภูมิใจว่าน้องทำงานออกมาแล้วมันดี เพราะฉะนั้นฝันเราก็ใหญ่ขึ้น เราก็อยากทำโน่นทำนี่ แต่ด้วยความที่เรายังมีสองคนเหมือนเดิม มันก็ทำให้บางครั้งมันก็เฟล เมื่อเราทำไม่ได้แบบที่เราตั้งใจ หรือรู้สึกว่าบางครั้งก็เสียโอกาสในการทำบางงานไป ประมาณนี้

แต่ส่วนเรื่องงาน เราคิดว่า สำหรับสองคนก็โอเคอยู่นะ เราคิดว่าผลงานก็ไม่ได้แย่นะ ถ้าถามเรา

มีคอนเทนต์ไหนที่รู้สึกว่าคนดูชอบมาก หรือคนอ่านชอบมาก ยกตัวอย่าง?

มันเป็นช่วงๆ มันเป็นพักๆ

มีอันไหนที่พีคที่สุดตั้งแต่ทำมา?

พีคที่สุด เราไม่รู้ทำไม คนอ่าน thisAble เป็นพวกเงี่ยนๆน่ะ (หัวเราะ) คือจริงๆ นะ ถ้าเป็นเรื่องเพศ

คนตาบอดจะมีเซกส์ยังไง?

เออ อะไรแบบนั้น หรือแบบไซด์ไลน์อย่างงี้ แฟนเพจหรือคนที่ติดตามจะค่อนข้างชอบอ่าน แล้วก็ดูมีปฏิสัมพันธ์กับมันเยอะ คือค่อนข้างอินอ่ะ แต่เราเข้าใจได้นะ คือมันเป็นเรื่องที่ไม่ว่าจะพิการหรือไม่พิการ เรื่องเพศเป็นเรื่องที่คนสนใจอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราก็ไม่แปลกใจที่มันขายดี เมื่อไหร่ก็ตามที่เว็บเรามีเรื่องเพศ มันก็จะขายดีตลอด ก็เป็นเรื่องที่แบบ ว้าว ว้าวสองชั้น

คือหนึ่งกล้าพูดเรื่องนี้ได้ยังไง ไงสังคมแบบนี้ ที่ปิดๆ เรื่องนี้ สอง เป็นคนพิการแล้วยังพูดเรื่องนี้อีก เราคิดว่าในแง่ความน่าสนใจ มันน่าสนใจมากขึ้น

แล้วอนาคตต่อไป แบบหลายๆ ปี ได้แพลนไว้หรือยังกับ thisAble.me?

ถ้ายังไม่ยาวมาก ช่วงสั้นๆ ก็คงจะทำให้มีระบบในการทำงานที่ชัดเจนขึ้น

จะรับคนเพิ่มไหม?

ไม่มีเงิน (หัวเราะ) ถ้ามีเงินก็อยากจะรับ ก็ถ้าใครสนใจก็สามารถติดต่อได้เลยนะคะ แต่ว่าด้วยงบประมาณที่มันจำกัด มันทำให้จ้างสองคนยังคล่องตัวกว่า เราสบายใจที่เราเลี้ยงตัวเองได้ เราสามารถหารายรับต่อเดือน ได้มากกว่ารายจ่ายที่เราใช้อ่ะ เพราะฉะนั้นเงินที่เราหาได้ มันไม่ไปกระทบกระเทือนกับค่าใช้จ่ายของมูลนิธิ นั่นเท่ากับว่าเราอยู่กันเองได้ เราคิดว่ามันยังเป็นสิ่งที่เราสบายใจ 

แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่มีคนเพิ่มขึ้นมา นั่นเท่ากับว่าเราต้องหาเงินเพิ่มขึ้นอีก เพื่อให้มันพอเหมาะพอดีกับคนที่เรามา เพราะฉะนั้นเราคิดว่าสำหรับตอนนี้ สองคนยังเป็นส่วนผสมที่ลงตัว เราทำกราฟิกไม่เป็น เราตัดวิดีโอไม่ได้ แต่เราทำคอนเทนต์ได้ เราติดต่อคนได้ ก็มีรักษ์มาเสริม รักษ์คือคนที่ทำกราฟิกได้ ตัดวิดีโอได้ เครือข่ายอาจจะมีไม่มาก ไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องการประสานงาน ไม่เป็นไร ซึ่งเราคิดว่ามันเป็นส่วนผสมที่ทดแทนในส่วนที่แต่ละคนขาดได้ดี 

ตอนนี้ก็ยังคงเป็นสองคน แต่ทำให้สองคนที่มี สามารถทำงานได้ราบรื่นมากขึ้น เรารู้ก็ยังสึกว่าช่วงนี้มันยังรวนๆ อยู่ แต่ละคนยังไม่สามารถทำตาม Job Description ของตัวเองได้อย่างเต็มๆ มันต้องไปพาดพิงกับงานนู้นงานนี้ วุ่นไปหมด เรารู้สึกว่า น้องก็เพิ่งเริ่มทำงาน อย่างน้องรักษ์ น้องหารายได้เสริมเป็นตากล้องด้วยนะคะ น้องกำลังผ่อนกล้องอยู่นะคะ tie-in นะคะ (หัวเราะ) เราไม่อยากให้น้องรู้สึกว่า มาทำงานตาม Job Description แบบนึง แต่พอทำจริง ถูกจับไปทำอีกแบบนึง

เรารู้สึกว่าต้องวางระบบให้ดี ให้คนทำงานไม่รู้สึกว่าตัวเองโดนกัดกินน่ะ เออ หมดพลังงานอย่างงี้ และเราคิดว่า thisAble.me เนื่องจากเราใช้ระบบอาสาสมัครค่อนข้างเยอะ นักเขียนส่วนหนึ่งในเว็บ ก็ไม่ได้เขียนประจำ เป็นคนที่อยากส่งบทความเข้ามาเฉยๆ รวมถึงเป็นระบบน้องฝึกงานด้วย เราจึงคิดว่า น่าจะต้องมีระบบบริหารจัดการน้องฝึกงาน และอาสาสมัครที่มันดีขึ้น เพราะเราคิดว่า ถ้าเกิดน้องฝึกงานที่ในสมองเรา คิดว่าเขาจะเป็นกำลังหลักส่วนนึงของเว็บเลยเนี่ย ถ้าเราดูแลเขาไม่ได้ดี เขาเข้ามาฝึกแล้วเขารู้สึกว่าไม่ได้อะไร เราคิดว่าตัวเราสองคน เรากับรักษ์จะเฟล ทำให้เขามาเสียเวลา นี่คงเป็นแผนระยะสั้นของงานว่าจะต้องจัดการระบบอันนี้ให้ดีขึ้น

ใ่นส่วนของระยะ 3 – 5 ปี ที่ควรทำได้ ถ้าเว็บยังอยู่คงต้องหาเงินได้ด้วยตัวเอง 200% อ่ะ ปัจจุบันมันยังหาได้พอดีๆ พอสำหรับสองคน และค่าเช่าสถานที่ เราคิดว่าสามารถอยู่ได้ แต่ถ้าในอนาคต เราอยากขยายการทำงาน เราอยากมีคอมลัมนิสต์ประจำ เราอยากจ้างนักเขียนเพิ่มเนี่ย เราคิดว่า thisAble.me ต้องสามารถหารายได้ที่มั่นคงได้ คือหมายถึงไม่ใช่รายได้ที่ต้องไปขอเอาเป็นรายอีเวนต์ แต่รายได้ต้องมาเป็นประจำ และถาวร นี่เป็นแผนระยะต่อไปที่น่าจะลองดู

จะเป็นรูปแบบไหน?

จริงๆ เราคิดว่าเรามีความสามารถหลายอย่าง เรายังไม่ได้ตกลงกันนะว่าเราอยากพัฒนาตัวเองไปในแบบไหน แต่เราคิดว่า เราสามารถเป็น Production House ที่ทำเรื่องคนพิการได้ไหม เราสามารถพัฒนาไปเป็น Event Organizer ที่เกี่ยวกับงานเรื่องคนพิการได้ไหม หรือเป็นสื่อแบบนี้ต่อไป แล้วไปหาคนสนับสนุนที่เค้าเห็นความสำคัญของการมีสื่อแบบนี้ ซึ่งเราคิดว่าวิธีแบบนี้ อาจจะเป็นวิธีที่เราจะรู้สึกภาคภูมิใจที่สุดในการเป็นสื่อ และได้ทำสิ่งที่อยากทำ

แต่ว่า ในแง่ของการหาทุน มันเป็นทุนที่ไม่ยั่งยืน มันเป็น loop ที่วนมาทุกปี ต้องเขียนโครงการส่ง ต้องหาทุน ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องที่เราต้องแลก ถ้าเราอยากทำในสิ่งที่เราอยากทำ แต่ว่าก็ต้องลองดู เนื่องจากประเทศไทยก็ยังโชคดีที่ยังเป็นประเทศกำลังพัฒนา ทุนต่างๆ มันก็ยังมีสำหรับงานคนพิการ เราคิดว่าอย่างนั้น

เพราะงานคนพิการมันก็เป็นงานที่ดูเฟรนด์ลี่อ่ะ มันดูไม่น่ากลัว ถึงแม้คอนเทนต์เราจะน่ากลัว (หัวเราะ) แต่ว่าประเด็นที่เราพูดถึงคนพิการมันยังดูซอฟต์ใส ซื่อๆ อะไรแบบนี้

พูดถึงสื่อกระแสหลัก อยากให้เขาทำอะไรเพื่อให้คนพิการในแต่ละประเภทสามารถได้รับสื่อได้อย่างครบถ้วน?

อาจจะมีสองส่วน ก็คือการเข้าถึง เราคิดว่าการเข้าถึงคือปัจจัยนึงที่ผู้ผลิตสื่อควรจะคำนึง ไม่ว่าเขาจะมีสภาพร่างกายแบบไหน มีช่องทางในการเรียนรู้แบบไหน หรือช่องทางในการสื่อสารแบบไหน เราคิดว่าสื่อที่ดีควรจะทำให้ผู้รับสารสามารถเข้าใจมันได้ 99-100% ไม่ควรปล่อยให้ใครคนใดคนหนึ่งตกหล่น จากสิ่งที่เขาต้องการสื่อสาร เราคิดว่าแบบนั้น

รวมไปถึง เราอยากผลักดันให้มีล่ามภาษามือในทุกๆ ช่องและตลอดเวลา เราคิดว่าคุณจะไปคิดแทนคนหูหนวกได้ยังไงว่าเค้าอยากดูอะไร คนหูหนวกคนนึงอาจจะอยากดูข่าว อีกคนนึงอาจจะอยากดูละคร เพราะฉะนั้นคุณไปคิดแทนเค้าทำไม ว่าเค้าอยากดูข่าวอย่างเดียว เราคิดว่ามันไม่ควรมีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ซึ่งเราเข้าใจนะว่ามันเป็นภาระของทางช่อง ที่ต้องหาล่ามภาษามือมาแปลในทุกๆ ข่าว เราก็เลยมองว่าสิ่งเหล่านี้ในช่วงเริ่มต้น มันอาจจะไม่ได้เป็นหน้าที่ของทางช่องซะทีเดียว เราคิดว่ารัฐบาลเองถ้าเชื่อว่าประชาชนทุกคนเป็นพลเมือง แล้วเขามีสิทธิ์เท่ากัน เขาควรจะได้รับสิทธิเหล่านั้นในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเท่าๆ กัน เราคิดว่ารัฐบาลก็ต้องเป็นคนที่สนับสนุนในสิ่งเหล่านี้ด้วย

ขนาดว่าคนที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ แล้วเขาต้องมีผู้ช่วย สิ่งเหล่านั้นรัฐบาลยังต้องเป็นคนสนับสนุนเลย แล้วทำไมในสิ่งเหล่านี้รัฐบาลถึงไม่สนับสนุนหรือสนับสนุนแค่ชั่วโมงเดียว ซึ่งเราคิดว่ามันไม่พอมากๆ

รวมถึงอยากให้เว็บไซต์ของรัฐบาลเปลี่ยนการใช้กระดาษ pdf ให้เป็น word หรือเป็นข้อความที่อ่านได้ได้แล้ว เพราะคนตาบอดเขาอ่านรูปไม่ได้ หมายถึงมันจะมีไฟล์เอกสารที่ถูกสแกนมาเป็นรูปใช่ไหม รูป jpeg หรือ png น่ะ แล้วคนตาบอดจะอ่านยังไงล่ะ คุณไม่ได้คิดถึงเขาเหล่านั้นเลย เพราะฉะนั้นเราก็อยากเรียกร้องให้หน่วยงานราชการเข้าใจ และมันก็ไม่ได้ยาก มันก็แค่คุณใส่ text มา เพื่อให้คนตาบอด สามารถใช้โปรแกรมอ่านได้ ซึ่งเราคิดว่าคุณเป็นหน่วยงานราชการ คุณน่าจะต้องเริ่มเป็นแบบอย่างที่ดีในการทำ

ส่วนอีกแง่ที่เราอยากเห็นจากผู้ผลิต อาจจะเป็นทีวีก่อน จริงๆ แล้วเราอยากเห็นความหลากหลายมากขึ้น ในทีวีหรือในละคร รายการเกมโชว์ ในต่างประเทศ มีการเอาคนพิการจริงๆ มาเล่นมาขึ้นเรื่อยๆ เช่น A Quite Place ที่นักแสดงเป็นคนหูหนวก หรือเรื่องอื่นๆ จริงมันมีการแทรกคนพิการเข้าไปตลอดเวลา คนพิการที่แสดงอาจจะไม่ได้เป็นตัวเด่นก็ได้ เป็นแค่คนประกอบนั่งเป็นเพื่อนร่วมงานอยู่ในออฟฟิส แต่นั่นแหละ มันให้คนดูได้เห็นถึงความหลากหลาย ว่าในออฟฟิศของเราไม่ได้มีแต่คนที่มีสุขภาพแข็งแรงเท่านั้นนะ มีคนพิการอยู่ด้วย มีคนหูหนวกอยู่ด้วย มีคนที่ขายน้ำขายข้าวแล้วใช้ภาษามืออ่ะ ละครสามารถทำได้ ระบบนิเวศน์ของการดูละครสามารถทำได้ นางเอกมีเพื่อนที่หูหนวกได้ไหม? หรืออะไรแบบนี้

เราคิดว่ามันสามารถใส่เข้าไป โดยที่ไม่ต้องพยายามปรับเปลี่ยนความพิการของเค้าให้เป็นคนที่ดูน่าสงสาร น่ารันทดอะไรแบบนี้ รวมไปถึง เราคิดว่าสิ่งที่เราอยากสนับสนุน คือถ้าคุณต้องมีตัวละครเป็นคนพิการน่ะ เราอยากให้เอาคนพิการจริงๆ มาเล่น อย่าไปพยายามให้คนที่ไม่มีความพิการ เล่นเป็นบทบาทของคนพิการเลย เรารู้สึกว่าหลายครั้ง ถ้าเล่นเหมือนมันก็อาจจะโอเคไป แต่หลายครั้งเล่นไม่เหมือนแล้วโอเวอร์เกินความจริง เรารู้สึกว่า ถ้าคุณเป็นคนที่โดนล้อเลียนแบบนั้น คุณไม่ได้น่าจะแฮปปี้กับมัน

ถ้าเป็นอีกส่วนหนึ่งในเกมโชว์ ซึ่งปัจจุบันเราก็ยังเห็นว่าเยอะมากๆ ที่เอาความพิการมาเล่นตลก อันนี้ยอมรับเลย ไม่รู้จะแก้ยังไง

คือเรารู้สึกว่ามันขายภาพจำของการมองว่าคนพิการที่หน้าตาอย่างนี้ตลกอ่ะ เราจะมองเห็น เช่น เอ็ดดี้ผีน่ารัก หรือผู้หญิงที่ตาชิดแล้วมาเล่นตลก แล้วในรายการก็จะล้อเลียนคนนี้ ล้อเลียนความพิการของเขาตลอด แน่นอนเรานั่งวีลแชร์เราไม่ได้พิการในแบบเค้า แต่คนที่มีความพิการเหมือนกับคนที่อยู่ในทีวี เขาจะรู้สึกยังไง เมื่อไหร่ที่เขาเปิดทีวีก็จะเห็นคนที่มีความพิการแบบเดียวกัน โดนล้อเลียนอยู่ในทีวีตลอดเวลา รวมถึงเพื่อนๆ รอบข้างเขาที่ได้ดูรายการนี้ แล้วเห็นว่าไอ้นี่มันหน้าตาเหมือนกันเลย แล้วมันต้องเกิดการล้อเลียน เกิดการปฏิบัติตามอยู่บ้าง โดยเฉพาะเด็กๆ เราเลยคิดว่ามันก็น่าจะต้องปรับความเข้าใจเหล่านี้ว่าทำไมคนพิการถึงไปเล่นในบทบาทของคนปกติไม่ได้ ทำไมเขาจะต้องมีภาพลักษณ์ในแบบของความน่าสงสาร ตลก อะไรอย่างงี้อยู่ตลอดเวลา

สุดท้ายแล้ว ในอนาคตคิดว่าสื่อสำหรับคนพิการมันจะไปได้ไกลแค่ไหน? จะเป็นแค่ไม้ประดับในรายการข่าว หรือไปได้ไกลกว่านี้?

เราคิดว่ามันค่อยๆ ดีขึ้นนะ ถ้าถามเรา เราว่ามันคงไม่แย่กว่าเดิม เพราะว่าคนทั่วไปในสังคมก็เริ่มเรียนรู้มากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มมีความเข้าใจในคนพิการมากขึ้นนะถ้าถามเรา เพราะสมัยก่อนเราไม่เคยเห็นหรอก ที่คนทั่วไป คนธรรมดาจะมาคอยสอดส่องที่จอดรถคนพิการว่ามีใครปลอมตัวมาจอดหรือเปล่า หรือคอยรุมด่าในโซเชี่ยลว่า เข้าห้องน้ำคนพิการนี่หว่า

แต่เราเข้าใจนะว่าเหตุปัจจัยมันเกิดจากการที่มีโซเชี่ยลมีเดียด้วยนะ สมัยก่อนมันอาจจะมีคนทำแบบนี้ แต่เราไม่รู้ แต่สมัยนี้ความตระหนักรู้ต่างๆมันก็เกิดมาพร้อมกับโซเชี่ยลมีเดียด้วย เราก็เลยคิดว่า การสื่อสารเรื่องคนพิการน่ะ จะง่ายขึ้น คนเข้าใจเรื่องความเปลี่ยนแปลงมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อคนพิการเห็นการต่อสู้ของเพื่อนบ้าน เช่น คนที่มีความหลากหลายทางเพศ มาพูดเรื่องสิทธิความเท่าเทียมของตัวเอง กลุ่มผู้มีเชื้อ HIV ที่ออกมาพูดในเรื่องตัวเองมาก เราคิดว่าคนพิการเมื่อเขาเห็นตัวอย่างเหล่านี้ เขาจะสามารถออกมาบอกเล่าเรื่องราวของตัวเองได้มากขึ้น เพราะรู้สึกว่ามันไม่ได้มีแค่ชั้นกลุ่มเดียวนี่หว่าที่รู้สึกว่าเป็นผู้ถูกกระทำหรือเป็นคนที่ไม่ได้รับสิทธิ์ในสังคม เรามองว่าอย่างนั้นนะ

แล้วเรามองว่า สื่อสำหรับคนพิการในอนาคต มันจะกลับเข้าสู่เส้นปกติมากขึ้น ในแง่นี้คือเส้นที่กระแสสังคมที่เขาไปกัน ในเส้นที่ไม่ใช่เป็นคนน่าสงสาร ให้เค้ากลับมาเป็น Actor หนึ่งในเส้นเรื่องธรรมดา เราคิดว่ามันเป็นแบบนั้นได้ แต่ก็คงต้องใช้เวลา ในปัจจุบันเราก็ยังเห็นอยู่เลยแบบ หนุ่มด้วน ชายขาขาดสองข้าง แต่ในข่าวไม่ได้พูดถึงเรื่องการขาขาดของเขา แล้วมึงบอกทำไมวะ คือเนี่ยมันยังมีอะไรแบบนี้อยู่นะในปัจจุบัน ซึ่งเราก็มองว่ากระแสสังคมจะช่วยทำให้การใช้คำ การใช้ภาพลักษณ์มาขาย ก่อนที่จะมีเนื้อหา คือจริงๆ มันไม่ใช่เนื้อหาใช่ไหม เราคิดว่ากระแสสังคมจะช่วยทำให้สิ่งเหล่านี้ค่อยๆ น้อยลง

สุดท้ายนี้อยากฝากอะไร?

ก็อย่าลืมเข้าไปติดตามเว็บไซต์ thisAble.me นะคะ (ขายของก่อนเลย) หรือถ้าง่ายกว่าก็ติดตามในเพจ Facebook เพจ thisAble.me ค่ะ ถ้าอยากมีส่วนร่วมหรืออยากทำงานร่วมกับเพจ ก็ติดต่อได้โดยตรงเลย

และอยากฝากว่าอาจจะไม่ต้องเข้าใจคนพิการทั้งหมดหรอกค่ะ โดยส่วนตัวเราไม่คิดว่าใครจะสามารถเข้าใจอีกคนนึงได้ทุกอย่าง เราก็เลยไม่เคยร้องขอว่าอยากให้คนทั่วไปเข้าใจคนพิการ อยากให้คนพิการเข้าใจคนไม่พิการ เราไม่เคยพูดว่าอยากให้เข้าใจ 100% แต่อยากให้อย่างน้อยคุณไม่ตัดสิน แล้วก็ยอมรับความแตกต่าง ทั้งในแง่สภาพร่างกาย เชื้อชาติ หรือร่างกายยังไงก็แล้วแต่ เราคิดว่าสิ่งที่คนพิการอยากได้รับมากที่สุด คือการปฏิบัติตัวในแบบที่เท่าๆ กัน ในแบบที่ทำให้เค้ารู้สึกว่าเขาได้รับการเคารพในฐานะเพื่อนมนุษย์คนนึงก็แค่นั้นเอง