fbpx

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2562 บริษัท แพลน บี มีเดีย จำกัด(มหาชน) ได้ประกาศความร่วมมือกับ dentsu X ในการเป็นตัวแทนบริหารสิทธิประโยชน์ทำการถ่ายทอดสดและการตลาดสำหรับ “โอลิมปิก โตเกียว 2020” และ “โอลิมปิกฤดูหนาว ปักกิ่ง 2022”

โดยทางนายปรินทร์ โลจนะโกสินทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แพลนบี มีเดีย จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยว่า คณะกรรมการของบมจ.แพลนบี ได้อนุมัติการลงนามกับ บริษัท เดทสึ อิงค์ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้รับสิทธิจากคณะกรรมการโอลิมปิคสากล (International Olympic Committee) เพื่อเป็นตัวแทนบริหารสิทธิทางการตลาดสำหรับการแข่งขัน 4 รายการ ได้แก่ โอลิมปิค โตเกียว 2020 ,โอลิมปิคฤดูหนาว ปักกิ่ง 2022, โอลิมปิคเยาวชน ดักการ์ 2022 และ โอลิมปิคเยาวชนฤดูหนาว โลซาน 2020

โดยสิทธิทางการตลาดที่ทางแพลนบีเป็นตัวแทนบริหารร่วมกับ บริษัท เดนท์สุ เอ็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด สำหรับประเทศไทยนี้ได้รวมไปถึง 1. สิทธิในการถ่ายทอดสด 2.สิทธิในการบริหารผู้สนับสนุน 3. สิทธิในการบริหารคอนเทนต์ โดยมีโมเดลความร่วมมือส่งเสริม Sport Ecosystem ในประเทศไทยเพื่อก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับวงการกีฬาในประเทศ สื่อทุกแพลตฟอร์ม เพื่อให้เกิดกระแสความนิยมสูงสุด

สำหรับการทำงานร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนในการเผยแพร่สัญญาณการแข่งขันในหลายรูปแบบโดยมีเป้าหมายให้สามารถร่วมเชียร์ทีมชาติไทยได้จากหลากหลายช่องทาง ทุกที่ ทุกเวลา ในทุกแพลตฟอร์ม ที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายและครอบคลุมมากที่สุด ทั้งสถานีโทรทัศน์ดิจิทัล และ เคเบิล ทีวี สื่อดิจิทัลเอาท์ออฟโฮม รวมถึง สื่อบนอินเตอร์เนต โทรศัพท์มือถือ และ ดิจิตอลแพลตฟอร์มและยังมีแผนที่จะสร้างกิจกรรมเพื่อรวมพลังใจและความสามัคคีส่งแรงใจให้นักกีฬาของเราตั้งแต่ในช่วงเตรียมการฝึกซ้อมก่อนการแข่งขันอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 1 ปีล่วงหน้ารวมถึงโปรโมทคอนเทนท์โอลิมปิคผ่านเครือข่ายสื่อโฆษณาของแพลนบีและพันธมิตรทุกรูปแบบทั่วประเทศ

แต่นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายของแพลนบี!

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2556 สำนักงานคณะกรรมกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ได้เผยแพร่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เรื่อง “หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สําคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศนที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555” โดยระบุในข้อ 3 ของประกาศว่า “เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของประชาชนทุกคนรวมถึงคนด้อยโอกาสให้เข้าถึงหรือรับรู้และใช้ประโยชน์จากรายการโทรทัศน์บางรายการที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะได้อย่างเป็นธรรม เสมอภาค และทั่วถึง ให้รายการโทรทัศน์แบบถ่ายทอดสดตามที่กําหนดไว้ในภาคผนวกของประกาศนี้ถือเป็นรายการโทรทัศน์ที่สามารถให้บริการแก่ประชาชนได้ภายใต้การให้บริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไปเท่านั้น”

นั่นหมายความว่ากีฬาที่ทาง กสทช. ระบุไว้นั้นจำเป็นที่จะต้องจัดให้ฉายทางฟรีทีวีภาคพื้นดินเท่านั้น ซึ่งตามภาคผนวกนั้นได้ระบุไว้ว่ามีรายการดังต่อไปนี้
1. การแข่งขันกีฬาซีเกมส์
2. การแข่งขันกีฬาอาเซียนพาราเกมส์
3. การแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์
4. การแข่งขันกีฬาเอเชียนพาราเกมส์
5. การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก
6. การแข่งขันกีฬาพาราลิมปิก
7. การแข่งขันกีฬาฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย

ซึ่งตรงนี้กลายเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ถือลิขสิทธิ์กีฬานั้นๆ จำเป็นต้องหาช่องทางในการออกอากาศรายการกีฬาให้ครบทุกนัดผ่านทางฟรีทีวีภาคพื้นดิน ซึ่งกีฬาโอลิมปิกก็ถือเป็นกีฬาชนิดหนึ่งที่บังคับให้ดำเนินการออกอากาศทางฟรีทีวีภาคพื้นดินเท่านั้น นอกจากนั้นผู้ชมที่ชมผ่านทางช่องทางอื่นๆ ผ่านช่องฟรีทีวีนั้นๆ ก็ยังต้องรับชมได้โดยไม่มีเหตุจอดำอีกด้วย

ความเห็นของนักวิชาการต่อกฏ Must Have

ภาพจากประชาไท

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เคยกล่าวไว้ว่า กฎ must have ที่กำหนดให้รายการกีฬาสำคัญ ๆ จะต้องถ่ายทอดทางฟรีทีวีเท่านั้น ก็จะทำให้เกิดปัญหาเช่นกัน เพราะกีฬาต่างๆ ทั้งซีเกมส์ เอเชี่ยนเกมส์ และโอลิมปิก มีรายการกีฬาที่แข่งขันกันจำนวนมาก จนฟรีทีวีไม่สามารถถ่ายทอดได้หมด การจำกัดให้ถ่ายทอดกีฬาดังกล่าวเฉพาะฟรีทีวีจะทำให้ประชาชนไม่ได้ดูกีฬาเหล่านั้น จากเดิมเคยสามารถดูได้ทางเคเบิ้ลทีวีหรือทีวีดาวเทียม นอกจากนี้ กฎดังกล่าวยังจะทำให้ทีวีช่องใหม่เกิดขึ้นไม่ได้

เท่าที่ศึกษาดูพบว่า ไม่มีประเทศใดในโลกที่มีกฎระเบียบการถ่ายทอดรายการทีวีที่แปลกพิสดารเหมือนกับประเทศไทย เนื่องจากหากประเทศใดมีกฎบังคับให้ฟรีทีวีต้องเปิดสัญญาณให้เอารายการของตนไปถ่ายทอดต่อแล้ว ก็จะต้องมีกฎ must carry บังคับให้เคเบิ้ลทีวีและทีวีดาวเทียมมีหน้าที่ต้องนำเอาสัญญาณดังกล่าวไปถ่ายทอดต่อ นอกจากนี้ ไม่พบว่ามีประเทศใดในโลกที่บังคับให้ถ่ายทอดรายการกีฬาสำคัญๆ เฉพาะทางฟรีทีวีอย่างเดียวเท่านั้น อย่างมากจะกำหนดว่า ถ้ามีการถ่ายทอดรายการกีฬาสำคัญทางเคเบิ้ลหรือทีวีดาวเทียมแล้ว จะต้องยอมให้ถ่ายทอดทางฟรีทีวีด้วย

แต่นี่ยังไม่ใช่บทสรุปสำคัญเกี่ยวกับเรื่องการถือครองลิขสิทธิ์และออกอากาศกีฬาโอลิมปิกในครั้งนี้ เพราะต้องอดใจรอการประกาศช่องทีวีดิจิทัลที่จะเข้าร่วมการถ่ายทอด รวมไปถึงการคุยถึงกฎนี้ของ กสทช. ต่อกีฬาอย่างโอลิมปิกอีกด้วยว่าจะเอายังไงกันต่อ ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไปครับ….

อ้างอิง

https://www.facebook.com/planbmedia/photos/a.10151729795260805/10156718206520805/?type=3&theater
https://broadcast.nbtc.go.th/law/dwl.php?id=NTYwNDAwMDAwMDEz&file=ZGF0YS9kb2N1bWVudC9sYXcvZG9jL3RoLzU2MDQwMDAwMDAxMy5wZGY=
https://tdri.or.th/2013/08/digital-tv/
https://www.thumbsup.in.th/plan-b-and-dentsu-x-marketing-for-olympic