fbpx

เห็นชื่อหัวข้อแล้วอาจจะแปลกใจว่านี่ใช่เว็บส่องสื่อหรือเปล่า? ใช่แล้วครับ นี่คือส่องสื่อแหละครับ แต่วันนี้เราจะขอนำเสนอหัวข้อสำคัญที่หลายวันมานี้คงตกใจกันไม่น้อย นั่นก็คือ “Fake News” นั่นเอง ซึ่งล่าสุดก็เกิดขึ้นกับวงการวิทยาศาสตร์และอวกาศ เพราะมีข่าวปลอมเล่นงานนั่นเอง งานนี้บอกเลยว่าไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดข่าวแบบนี้ขึ้น แต่ยังมีอีกหลายครั้งที่ข่าวปลอมมักถูกลือและสื่อกระแสหลักอย่างโทรทัศน์ วิทยุ สื่อออนไลน์ และสิ่งพิมพ์หลายเจ้าก็เอาไปเล่นงานโดยขาดการตรวจสอบอย่างจริงจัง

วันนี้เราเลยขอนำส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์ (ที่กำลังจะได้เผยแพร่ฉบับเต็มลงทาง YouTube ส่องสื่อ และ Facebook ส่องสื่อ) โดยเราได้ไปจ่อไมค์ถามสองนักเขียนด้านอวกาศจากเว็บไซต์อันดับ 1 ด้านอวกาศในประเทศไทย นั่นก็คือ spaceth.co นั่นเอง โดยมี “เติ้ล – ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน” บรรณาธิการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง และ “เอมีน – กัลยรัตน์ ปวนกาศ” บรรณาธิการประจำเว็บไซต์ จะมาเป็นคนบอกกล่าวถึง 3 อันดับข่าวลวงและเรื่องผิดๆ ที่ทำให้ใครหลายคนหนักใจไม่น้อยเลยที่จะต้องออกมาแก้ข่าว…

*Disclaimer: บทสัมภาษณ์นี้ถ่ายทำเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2561 ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน และ กัลยรัตน์ ปวนกาศ เป็นบรรณาธิการสื่อออนไลน์ Spaceth.co*

อันดับที่ 3 : ดวงจันทร์เป็นเสี้ยวเพราะโลกไปบัง

เติ้ลได้ให้สัมภาษณ์กับส่องสื่อว่า แท้ที่จริงแล้วโลกไม่ได้อยู่วงโคจรเดียวกับดวงจันทร์อยู่แล้ว ฉะนั้นช่วงเดียวที่ดวงจันทร์จะมีเสี้ยวเพราะโลกไปบังก็คือช่วงที่เกิด “จันทรุปราคา” แต่พระจันทร์ที่เราเห็นเป็นเสี้ยวในแต่ละเดือนเป็นเพราะดวงจันทร์ที่ไปบังตัวเอง คือมันเป็นมุมที่ดวงอาทิตย์ไปบังแล้วมีเสี้ยวที่มีแสงสว่างพอดี

อันดับที่ 2 : “ภาวะไร้น้ำหนัก” ไม่ใช่ไร้แรงโน้มถ่วงนะ!!

อันที่จริงแล้วเติ้ลเปรียบเทียบให้ฟังว่าเสมือนกับเราอยู่บนลิฟต์ แล้วลิฟต์เคลื่อนที่ลงก็มีแรงเท่ากับการเคลื่อนที่ลงของลิฟต์ ดังนั้นเราจะรู้สึกว่าดันลิฟต์ไปทางซ้าย-ขวาได้โดยที่แรงโน้มถ่วงยังมีอยู่ โดยที่เราไม่สามารถสัมผัสได้ เพราะสภาพแวดล้อมของมันตกลงมาพร้อมๆ กัน สถานีอวกาศนานาชาติก็เหมือนกัน เพราะว่ามันโคจรรอบโลก เปรียบเสมือนเราปาก้อนหินไปก้อนหนึ่ง แล้วเราก็อยู่ในก้อนหินนั้น เราก็ถูกดันไปพร้อมกับก้อนหินนั่นแหละ แล้วพอถึงภาวะหนึ่งที่แรงพอดีกัน เราก็จะเหมือนไร้น้ำหนักอยู่ในก้อนหินก้อนนั้น ดังนั้นคำที่จะเรียกสภาวะนั้นให้ถูกต้องเลยก็คือคำว่า “ภาวะไร้น้ำหนัก” ไม่ใช่ “ภาวะไร้แรงโน้มถ่วง”

อันดับที่ 1 : ดาวเหนือไม่ใช่ดาวที่สว่างที่สุดบนท้องฟ้า

เอมีนกล่าวกับส่องสื่อไว้ว่าหลายคนอาจจะถูกสอนว่าดาวเหนือมันอยู่ตรงนี้บ้าง หรือดาวเหนืออยู่ตรงทิศเหนือ ให้หาดาวเหนือก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งก็จริงที่ดาวเหนือมันอยู่ตรงบริเวณทิศเหนือ แต่แท้ที่จริงแล้วดาวเหนือไม่ใช่ดาวที่สว่างที่สุดและหาง่ายที่สุด มันเป็นเพียงแค่ดาวดวงหนึ่งที่อยู่บนขั้วหมุนของโลก และในบาทพื้นที่ก็ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วย

เติ้ลกล่าวเสริมว่า บางทีเราก็จะโดนการ์ตูนหลอกมาโดยตลอดว่าหลงป่าลองไปหาดาวเหนือสิ แท้ที่จริงมันไม่ได้หาง่ายขนาดนั้น ซึ่งบางทีเข็มทิศก็หาง่ายกว่าดาวเหนือนะ ที่สำคัญเราไม่สามารถรู้ได้หรอกว่าดาวไหนคือดาวเหนือกันแน่!!

เติ้ลและเอมีน จาก spaceth.co

Fake News กับผลกระทบต่อการทำ Content ด้านวิทยาศาสตร์

เติ้ลได้กล่าวกับส่องสื่อถึงหัวข้อนี้เอาไว้ว่า “คือสังคมไทยยังไม่ได้เป็นสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์ 100% เรายังมีเรื่องของความเชื่อ เรื่องของ ‘ก็เขาพูดมาว่าอย่างนี้’ ยังมี Forward ในไลน์ ยังมีอะไรอีกหลายอย่างที่เราอยากจะเชื่อโดยที่ไม่ต้องอ้างเหตุผล ตรงนี้ก็เป็นอุปสรรคเหมือนกัน เพราะว่าล่าสุดเราเจอมาว่า ‘คอนเทนต์ที่ใส่ความคิดเห็น คือคอนเทนต์ที่ไม่น่าเชื่อถือ’ อันนี้เราเจอจากคนอ่านนะ อันนี้เรามองว่ามันไม่ใช่นะ

เวลาเราทำคอนเทนต์เราจะแยกอัตวิสัย กับภววิสัย ภววิสัยคือสิ่งที่เป็นจริงๆ เช่น โลกเป็นทรงกลม แต่อัตวิสัยซึ่งมันเป็นจุดขายของ spaceth.co เรามองว่าอวกาศมันน่าเศร้า เรามองว่าอวกาศเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น อันนี้มันจะ Relate กับแต่ละคน แต่ก็ยังมีคนที่เข้าใจอยู่ว่าการที่เราไปบอกว่าสิ่งนี้มันดี สิ่งนี้มันไม่ดี แปลว่าคอนเทนต์นี้มันไม่น่าเชื่อถือ มันทำให้เราเห็นว่าคนไทยยังไม่เข้าใจว่าความน่าเชื่อถือของคอนเทนต์มันคืออะไร? มันคือการที่อ้างอิงและตรวจสอบได้รึเปล่า?

แล้วเราก็เลยมองไปถึงเรื่องว่า ถ้ามันไม่ตรงกับที่ฉันคิดมันผิด? แล้วสื่อในไทย ต่อให้นำเสนอข่าววิทยาศาสตร์มันก็มีพื้นที่น้อยอยู่ดีที่จะเห็นการอ้างอิงแบบวิทยาศาสตร์จริงๆ ปกติจะเห็นแค่ว่านักวิทยาศาสตร์คนนี้กล่าวแบบนี้นะ แต่ไม่ได้เข้าใจถึงเหตุผลของมัน

มันมีอยู่ครั้งหนึ่งที่เราไม่พอใจเลย เป็นช่วงถ้ำหลวงที่เราลงข่าวหนึ่ง เป็นข้อมูลเรื่องข่าวเกี่ยวกับดาวเทียมที่เขาจะนำมาสำรวจถ้ำหลวงตอนนั้น แล้วเราก็นำเสนอว่าดาวเทียมดวงนั้นมันไม่มีอยู่จริง แล้วเราก็ลงข้อมูลว่าดาวเทียมมีกี่ประเภท อะไรบ้าง? แล้วก็บอกว่าดาวเทียมที่สำนักข่าวนี้เอาไปลง มันไม่มีอยู่จริง ซึ่งก็เข้าใจได้ว่านี่คือหน้าที่ที่เราจะต้องบอกให้สังคมรับรู้ แต่สิ่งที่เราไม่พอใจก็คือสำนักข่าวนั้นเอาข้อมูลชุดนี้ไปถามนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียง โดยที่ไปถามว่าเว็บนี้พูดถูกรึเปล่า? ซึ่งพอเราอธิบายหลักการและเหตุผลทุกอย่าง กลายเป็นว่าเราแพ้ไปเลย มันกลายเป็นว่าที่เราลงบอกว่าสำนักข่าวนั้นที่ลงข่าวมันไม่จริง โดยที่ไม่ได้สนเหตุผล แต่กลับสนจากที่นักวิทยาศาสตร์คนนั้นพูด

ในเมื่อคนที่ทำการทดลอง คนที่บอกถึงผลการทดลองควรเป็นเรา ไม่ใช่อาจารย์

spaceth.co กับการแก้ไขปัญหาเรื่อง Fake News

เติ้ลยังบอกถึงวิธีการแก้ไขปัญหา Fake News ที่นอกจากการเขียนบทความแล้ว ยังใช้วิธีการสร้างความคิดต่อคนในแง่บวก คือ การใช้หลักเหตุผลในการอ้างอิง ไม่ใช้หลักการอ้างอิงโดยเลื่อนลอย แต่ใช้อ้างอิงโดยระบุแหล่งที่มา ซึ่งมันกลายเป็นทำให้ติดพูดอ้างอิงโดยระบุแหล่งที่มากับทีมด้วยเช่นกัน ซึ่งถ้าเราสามารถเปลี่ยนวิธีการพูดโดยอ้างอิงแหล่งที่มาได้ ก็จะสามารถพูดเพื่อใช้เหตุผลอ้างอิงต่อเนื่องไปได้อีก นอกจากนั้นจะยังใช้ในการอ้างอิงในเรื่องที่หนักๆ และจะไม่ฟันธงว่าเรื่องนี้ผิดหรือถูก

เติ้ลและทีมเชื่อว่า ถ้าคนไทยเจอคอนเทนต์แนวนี้ในทุกๆ วัน ไม่ใช่ที่ไปเชื่อจากในไลน์โดยไม่ได้ระบุแหล่งที่มาว่าใครพูดมา จะทำให้เมืองไทยก้าวพ้นจากข่าว Fake News ที่เกลื่อนอินเทอร์เน็ตได้เยอะระดับหนึ่งเลย

จะเห็นได้เลยว่าวิทยาศาสตร์ก็มีความเกี่ยวข้องกับ Fake News ไม่น้อยเลยทีเดียว แต่จะบอกว่านี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์ เตรียมตัวพบกับบทสัมภาษณ์ของ spaceth.co ได้ทางส่องสื่อเท่านั้น อย่าลืมติดตามเรากันให้ดี แล้วเจอกันนะครับ ^^