fbpx

เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน เราจะย้อนกลับไปสู่ความเป็นมาของฮ่องกงสักเล็กน้อย สำหรับผู้อ่านท่านใดที่รับทราบเรื่องราวอยู่แล้ว สามารถข้ามไปอ่านในส่วนถัดไปได้เลยครับ

ฮ่องกง สู่การเป็นเขตบริหารพิเศษ

หลังจากสงครามฝิ่น สหราชอาณาจักรได้บังคับให้จีนทำสัญญาด้วยในปี พ.ศ. 2441 ซึ่งเป็น “สัญญาเช่าซื้อ” โดยทางสหราชอาณาจักร จะทำการเช่าฮ่องกงเป็นเวลา 99 ปี และสิ้นสุดสัญญาลง ในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2540 หลังจากนั้น ได้มีการเปิดโต๊ะเจรจาใหม่ จีนไม่ยอมให้มีการเช่าต่อ สหราชอาณาจักรจึงคืนฮ่องกงให้แก่จีน และมีการทำสัญญากัน ให้ฮ่องกงเป็นเขตปกครองตนเองเป็นเวลา 50 ปี

นั่นทำให้ฮ่องกงทุกวันนี้ มีสถานะเป็นเขตบริหารพิเศษ มีการบริหารงานภายในเป็นของตนเอง ยกเว้นด้านการต่างประเทศ ความมั่นคง และการทหาร ที่จะถูกจัดการโดยจีนแผ่นดินใหญ่

ภาพจาก New York Times

ฮ่องกง สู่การเป็นส่วนหนึ่งของจีนแผ่นดินใหญ่

หากยึดตามสัญญาแล้ว ฮ่องกง จะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจีนแผ่นดินใหญ่โดยสมบูรณ์ โดยเปลี่ยนการปกครองเป็นแบบเมืองอื่นๆของจีน ในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2590 เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ในระยะเวลาช่วงระหว่าง 50 ปีนี้ จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจ หากจะเห็นความพยายามของจีน ในการเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในต่างๆของฮ่องกง

สาเหตุสำคัญที่น่าจะเป็นไปได้ คือประชาชนโดยส่วนใหญ่ นิยามตัวเองว่าเป็น “ชาวฮ่องกง” ไม่ใช่ประชาชนชาวจีน (Chinese Citizen) หากมองในแง่มุมของรัฐจากฝั่งจีนแผ่นดินใหญ่แล้ว การปล่อยให้ฮ่องกงมีอิสระเต็มที่ไปจนถึงปี พ.ศ. 2590 อาจทำให้การรวมฮ่องกงให้เป็นส่วนหนึ่งของจีนอย่างสมบูรณ์ ประสบความล้มเหลวในท้ายที่สุด

ความพยายามครั้งล่าสุด ในการเข้ามาแทรกแซงของจีน คือการพยายามผ่านกฎหมายการส่งผู้ร้ายข้ามแดนในฮ่องกง นั่นก่อให้เกิดความไม่พอใจเป็นอย่างมาก และมีประชาชนออกมาประท้วงตามท้องถนนจำนวนมหาศาล และแม้จะมีการระงับร่างกฎหมายดังกล่าวแล้ว แต่ผู้ชมนุมก็ยังคงชุมนุมต่อไป และเรียกร้องให้มีการเพิกถอนร่างกฎหมายนี้อย่างเด็ดขาด และให้นางแครี่ แลม ลงจากตำแหน่งด้วย

ภาพจาก BBC สหราชอาณาจักร

Social Media เครื่องมือใหม่ เพื่อขยายใจความเดิม

ผู้ชุมนุมในฮ่องกง ใช้การนัดหมายวัน เวลา และสถานที่ทางออนไลน์ ผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ และวิธีการใหม่ๆในการชุมนุมในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ รวมถึงใช้ Social Media เป็นเครื่องมือสำคัญ ในการบอกเล่าเรื่องราว และข้อเรียกร้องต่างๆของตนเอง โดยหมายจะให้ไปถึงชาวจีนแผ่นดินใหญ่ และชาวโลก

ทางฝั่งของจีนแผ่นดินใหญ่เอง ก็เห็นความสำคัญของเครื่องมือเหล่านี้เช่นกัน จะเห็นได้จากการออกมาโพสต์ประณามการกระทำของผู้ชุมนุม สนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือแม้กระทั่งสิ่งที่เรียกว่า ข่าวปลอม (Fake News)

Fake News ท่ามกลางกระแสของข้อมูลโลก

19 สิงหาคมที่ผ่านมา Twitter ได้ประกาศว่าทำการลบบัญชีผู้ใช้จำนวน 936 บัญชี จากการตรวจพบความเชื่อมโยงกัน ในการพยายามทำลายความน่าเชื่อถือของการประท้วงในฮ่องกง โดยมีการเข้าใช้งาน Twitter ผ่าน VPN (เครือข่ายส่วนตัวเสมือน) ในขณะที่วันเดียวกัน Facebook ก็ประกาศเช่นกัน ว่าได้ทำการลบแฟนเพจ 7 เพจ , กลุ่ม 3 กลุ่ม และบัญชีผู้ใช้ 5 บัญชี โดยระบุเพิ่มเติมว่า ถึงแม้จะมีการปกปิดตัวตน (เช่น การใช้ VPN) แต่จากการตรวจสอบแล้ว พบว่ามีความเชื่อมโยงกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลจีน

ตัวอย่างเนื้อหาที่ละเมิด จากบล็อกของ Twitter

หลังจากนั้น ในวันที่ 22 สิงหาคม Google ได้ออกมาประกาศปิดช่อง YouTube จำนวน 210 ช่อง เนื่องจากพบว่า มีความพยายามปกปิดที่มาของบัญชี และมีความเกี่ยวเนื่องกันกับกรณีที่พบเจอใน Facebook และ Twitter ในกรณีของฮ่องกง ซึ่งรวมถึงการใช้ VPN อีกเช่นกัน อย่างไรก็ดี Google ไม่ได้ให้รายละเอียดอื่นๆเพิ่มเติมนอกเหนือจากนี้

ปีเตอร์ พอเมอร์แรนเซฟ (Peter Pomerantsev) ผู้เขียนหนังสือ “This is Not Propaganda” ได้ให้สัมภาษณ์กับ The New York Times โดยสรุปได้ว่า มันคือการบิดเบือนข้อมูล(Disinformation) มากกว่าจะเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) โดยหากเป็นการโฆษณาชวนเชื่อที่เป็นความหมายดั้งเดิมแล้ว จะหมายถึงการพยายามชักจูงให้คนเชื่อฝั่งของตน ในขณะที่การบิดเบือนข้อมูล ก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวาย และเป็นความพยายามที่จะทำลายความเห็นอกเห็นใจต่อผู้ชุมนุมมากกว่า

เป็นไปได้หรือไม่ ที่ความจริงแล้ว มันไม่ใช่ข่าวปลอมทั้งหมด

ตามความเห็นของผู้เขียนแล้ว เป็นไปได้ครับ ถึงแม้ว่าจีนแผ่นดินใหญ่เอง จะใช้ข่าวปลอมเป็นเครื่องมือจริง ก็ไม่ได้หมายความว่า ในบรรดาข่าวทั้งหมดที่ถูกแบนไปนั้น จะเป็นข่าวปลอมไปเสียทุกข่าว เพราะบางบัญชีผู้ใช้ คลิปวิดีโอ หรือเนื้อหาต่างๆในข่าวนั้น อาจจะแค่ขัดต่อกฎเกณฑ์การนำเสนอบางอย่าง หรือแค่โดนหางเลขไปด้วยก็เป็นไปได้

นอกจากนี้ อย่าลืมเสียว่า บริษัทต่างๆ ที่เป็นเจ้าของ Social Media ทั้งหลาย เป็นบริษัทของอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่สนับสนุนการปกครองแบบประชาธิปไตย และเพิ่งมีปัญหาใหญ่กับทางจีนไปเมื่อไม่นานมานี้เอง การจัดการกับเนื้อหาใดๆในพื้นที่ที่บริษัทเป็นเจ้าของ เป็นสิทธิ์ของบริษัทเอง แต่ก็ไม่มีใครยืนยันได้ ว่าจะไม่เกิดการแทรกแซงขึ้นจากภาครัฐ

ภาพผู้หญฺิงที่บาดในเหตุชุมนุม ซึ่งรัฐบาลจีนกล่าวว่า เกิดจากผู้ชุมนุมด้วยกันเอง ไม่ใช้จากเจ้าหน้าที่ตำรวจฮ่องกง ภาพจาก New York Times

พึงคำนึงไว้เสมอว่า ทั้งในฝั่งผู้ชุมนุมและฝั่งจีนแผ่นดินใหญ่ ต่างใช้พื้นที่ในโลกออนไลน์ให้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของฝั่งตนเองทั้งสิ้น ท่ามกลางกระแสธารของข่าวสารที่ไหลไปมาตลอดเวลา เป็นหน้าที่ของเราเองเช่นกัน ที่จะไตร่ตรองที่มา ความน่าเชื่อถือ และข้อเท็จจริงที่อยู่ภายในข่าว ก่อนจะตัดสินใจแสดงความเห็นด้วย หรือเห็นต่างต่อปรากฎการณ์ในข่าวนั้นๆ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของอารมณ์ความรู้สึก หรือข้อมูลที่บิดเบือนต่างๆ ซึ่งจะมีมาพร้อมกับข่าวต่างๆอย่างแน่นอนครับ

อ้างอิงข่าว (ที่ไม่ได้ถูกลิงค์ในเนื้อหา)