fbpx

วันนี้ส่องสื่อได้มีโอกาสเข้ามาร่วมในงานแถลงข่าวเปิดตัว Platform ใหม่ล่าสุดสำหรับธุรกิจและการเงินการตลาด นั่นก็คือ Business Today ซึ่งเขาได้ระดมขุนพลบรรณาธิการข่าวสายธุรกิจ ทั้งรุ่นใหญ่กับรุ่นใหม่ มาร่วมกันวางกลยุทธ์ O2O ผนึกรวมสื่อออนไลน์กับสื่อออฟไลน์เข้าด้วยกันด้วย แต่วันนี้เราจะมาขอเจาะกันว่าทำไมต้องเป็น Business Today กันนะ?

ส่องสื่อเลยอดไม่ได้ที่จะต้องไปถาม “คุณอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Business Today กันถึงที่มาที่ไปของ Business Today (ในบทสัมภาษณ์จะขอเรียกชื่อย่อว่า ‘BT’ นะครับ) รวมไปถึงการสร้างระบบ Subscription Model ที่ขอบอกได้เลยว่าที่นี่จะเป็นที่แรกที่ครบวงจรจริงๆ ประหยัดทั้งต้นทุกและเข้าถึงกลุ่มผู้อ่านจริงๆ ได้อีกด้วย ติดตามจากบทสัมภาษณ์นี้กันครับ


หมายเหตุ : ส่องสื่อเป็นหนึ่งในคอลัมนิสต์ประจำหนังสือพิมพ์ของ Business Today ซึ่งจะเริ่มวางแผงในวันที่ 9 กันยายน 2562 และส่องสื่อเป็นหนึ่งในพันธมิตรของ Business Today ด้วยเช่นกัน


BT คือคอนเทนต์แนวไหน?

คือเป็นแนวธุรกิจโดยตรงเลย แล้วเรามองธุรกิจไม่ได้จำแนกว่าเป็นประเภทไหน? น้ำหนักที่เราให้คือเราเน้นเรื่องของการใช้ Big Data มาวิเคราะห์ต่างๆ เช่น การเงิน ธุรกิจสายแบงค์ เราใช้ Big Data เข้าไปวิเคราะห์ ฉะนั้นนักข่าวของเรา มันจะไม่ใช่นักข่าวสายการเงิน แต่จะเป็นนักข่าวไอทีอธิบายอะไรประมาณนั้น ดังนั้นสิ่งที่เราทำคือเราเป็น Beyond Journalist คือเราไม่ใช่ Journalist อย่างเดียว เพราะ Journalist อย่างเดียวคือการรายงานข่าวธรรมดา แต่เรารายงานสิ่งที่มากกว่าสื่อทั่วไป โดยใช้พันธมิตรอื่นๆ เข้ามาร่วมด้วย เพราะว่าสื่อเองทำเองไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็คือที่เราทำ เพราะเราต้องการพิสูจน์ Business Model ที่เป็น Subscription Model ด้วยนะ เพราะว่าในต่างประเทศมันมาทางนี้เยอะ

แนวคิดของ BT มาจากไหน?

Business Today เป็นแพลตฟอร์มสื่อธุรกิจที่เป็นมากกว่าสื่อสารมวลชน (Beyond Journalism) นำเสนอคอนเทนต์ครบทุกมิติทุกแพลทฟอร์ม ในรูปแบบการเล่าเรื่อง (Storytelling) ด้วย Big Data และข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภค (Social Listening) ผ่าน Infographic

Big Data บวก Design บวก Creative Content จะทำให้รูปแบบการนำเสนอน่าติดตาม เข้าใจง่าย สอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคคอนเทนท์ของกลุ่มคนทำงานและนักธุรกิจยุค Digital Disruption ที่มีทั้งวิกฤตและโอกาสทางธุรกิจในเวลาเดียวกัน โดยรวมขุนพลคนข่าวระดับบรรณาธิการสื่อธุรกิจที่มีประสบการณ์มากที่สุด และร่วมกับพันธมิตรบริษัท สตาร์ทอัพ ฯลฯ พร้อมด้วย Influencer วงการสื่อสารด้านข่าวธุรกิจและกองทัพคอลัมนิสต์ นักเขียน นักเล่าเรื่องกว่า 50 คน

ด้วยแนวคิด iiAE (Insight – Informative – Analysis – Exclusive) ประกอบด้วย ออริจินัลคอนเทนต์ที่คัดสรรจากฐานคิดเชิงวิเคราะห์ เจาะลึกข้อมูลเชิงนโยบายเศรษฐกิจสำคัญจากผู้เชี่ยวชาญ (Insight) นำเสนอแปลความหมาย Big Data ให้เข้าใจง่ายด้วยอินโฟกราฟฟิค (Informative) วิเคราะห์ Business Intelligence ด้วยกระบวนการ Data Analytics (Analysis) และคอนเทนต์ที่จัดทำเฉพาะและไม่สามารถหาได้จากแหล่งอื่น (Exclusive)

การนำเสนอข่าวแบบการเล่าเรื่อง (Storytelling) ลักษณะ Business Story ทุกเรื่องราวธุรกิจมีเรื่องเล่าผ่านทุกรูปแบบการนำเสนอ อาทิ เล่าเรื่องรูปแบบ Text บนสื่อออนไลน์ เวบไซต์ โซเชียลมีเดียและสื่อสิ่งพิมพ์ เล่าเรื่องรูปแบบ Video บนสื่อออนไลน์ โซเชียลมีเดียและโทรทัศน์ เล่าเรื่องรูปแบบ Audio บนสื่อออนไลน์ โซเชียลมีเดียและวิทยุในรูปแบบ Podcast เล่าเรื่องรูปแบบ Animation, Photo Essay, Infographic, Data Visualization, Cartoon บนออนไลน์และสิ่งพิมพ์

ทำไมถึงเลือกเป็น Subscription Model?

เพราะว่าโฆษณามันลดลงไง คือเดิมธุรกิจสื่อต้องพึ่งพิงโฆษณาเป็นหลัก แต่คราวนี้ปัญหาของมันคือโฆษณามันน้อยลง แต่ถามว่าคนอ่านหรือคนที่เสพคอนเทนต์มันน้อยลงด้วยไหม? มันไม่ได้น้อยลงเลย เพียงแต่มันเปลี่ยน Platform เพราะฉะนั้นคนท่ทำคอนเทนต์ก็ต้องเข้าหา Platform ที่คนเขาใช้กัน ไม่ว่า Platform ไหนคนไปเราก็จะไปหมด เพราะฉะนั้นถามว่าหนังสือพิมพ์มันตายไหม? มันไม่ได้ตายหรอก แต่มันอาจจะมีคนอ่านประมาณหนึ่ง คนที่อายุมากหน่อย คนที่สะดวกอ่านที่บ้าน อ่านที่สำนักงานก็ได้ 

วิทยุก็แปลงเป็น Podcast Ondemand มากขึ้น แต่ว่าแต่ละอันก็มีธรรมชาติของมัน เพราะฉะนั้น Platform ไหนที่มีผู้บริโภคเราก็จะไปหมด เช่น ล่าสุดเราก็กำลังศึกษาเรื่อง Telegram ซึ่งในเมืองไทยอาจจะยังไม่นิยม แต่ดูแล้วมันเป็นกลุ่มเฉพาะ เช่น กลุ่มที่เป็นสายการเงินที่เขานิยม คอนเทนต์ BT ที่จะเข้าไปใน Telegram ก็อาจจะมุ่งเน้นไปที่เรื่องของการเงิน เพราะฉะนั้นเราก็มีแนวคิดที่ว่าที่ไหนมีลูกค้า เราก็เข้าไปขายที่นั่น ในสิ่งที่เราทำเราก็เข้าไปทำให้มันตรงกับพื้นที่ที่เราขายที่นั่น 

แล้วก็เราพยายามที่จะใช้ Subscription Model ผมไม่อยากเรียกว่าเป็นค่าสมาชิก เพราะว่าเราบอกว่าเราเป็นเหมือนองค์กรที่บริหารองค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องธุรกิจเพื่อหารูปแบบให้คนเข้าใจได้ง่ายๆ เพราะฉะนั้นตรงนี้มันเหมือนเป็นค่าบริการทางธุรกิจ เพราะฉะนั้นเราอาจจะมี Big Data เข้ามา อาจจะมีงานวิจัยที่ทำร่วมกับพันธมิตรของเรา เข้ามาแบบเต็มรูปแบบ อันที่เป็นข่าวอาจจะนิดเดียวแต่ถ้าอยากอ่านเต็มๆ อาจจะต้องจ่ายเงิน มันก็เป็นเรื่องปกติ


ในต่างประเทศ มีแนวคิดการทำสื่อยุค Beyond Journalism เพื่อเอาชนะ การคุกคามของเทคโนโลยีในหลายรูปแบบ เช่น การสร้างระบบสมาชิกสื่อหนังสือพิมพ์กับสื่อออนไลน์ควบคู่กัน เพื่อลดการพึ่งพารายได้จากโฆษณา, การสร้างสื่อออนไลน์แบบใหม่ โดยไม่พึ่งพาสื่อดั้งเดิมอย่างสิ่งพิมพ์ที่มีประสิทธิภาพการเข้าถึงคนอ่านได้น้อยกว่า ฯลฯ

แนวโน้มสำคัญในการปรับตัวขององค์กรสื่อขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกาและยุโรป กำลังประสบความ สำเร็จมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการปรับรูปแบบทางธุรกิจหรือ Business Model เป็นการเน้นระบบสมาชิกหรือ Subscription Model ทั้งสิ่งพิมพ์และออนไลน์ควบคู่กันไป ด้วยระบบการชำระเงินที่สะดวกมากกว่าในอดีต ประกอบกับการขนส่งที่แข่งขันกันส่งสินค้าถึงมือผู้บริโภครวดเร็วมากขึ้น

หนังสือพิมพ์ในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในการปรับรูปแบบทางธุรกิจ เป็นแบบระบบสมาชิกอาทิ ประเทศสหรัฐอเมริกา เช่น หนังสือพิมพ์ New York Times, หนังสือพิมพ์ Wall Street Journal ประเทศอังกฤษ เช่น หนังสือพิมพ์ Financial Times, หนังสือพิมพ์ The Guardian, หนังสือพิมพ์ The Daily Telegraph ฯลฯ

ทำไมถึงต้องอ่าน Business Today?

คือผมก็คิดว่า BT เนี่ย สิ่งที่เราทำมันมากกว่าความเป็นสื่อใช่ไหม? แล้วตอนนี้ปัญหาอย่างหนึ่งที่นักธุรกิจเผชิญอยู่ก็คือข้อมูลทางธุรกิจที่เขารับมันไม่ตรงหรือมันก็เฉพาะกลุ่มเกินไปจนกระทั่วเกิดการบิดเบือน เราคิดว่าคนของเรามีประสบการณ์โดยส่วนใหญ่ กับเราร่วมมือกับพันธมิตรซึ่งอันนี้ไม่เคยมีใครเคยทำนะ คือเราต้องการคำอธิบาย อย่าง IMC ก็จะมีข้อมูลเกี่ยวกับการ Transform ของบริษัทต่างๆ มีทั้งเคสที่เปิดเผยชื่อได้และไม่ได้ เราก็เอาข้อมูลตรงนี้มาเล่าและสื่อสารให้นักธุรกิจเข้าใจง่าย 

เราว่าตอนนี้นักธุรกิจงงนะ แบบว่า “เฮ้ย Disrupt ยังไง? Transform ยังไงว่ะ?” เรียนถูกเรียนผิด เรียนเองคือมันจะเจ็บตัวกว่า แต่ถ้ามีบทเรียนจากธุรกิจใกล้เคียงว่าเขาเปลี่ยนแบบนี้นะ แล้วเขาไปได้ เป็นต้น ซึ่งถามว่านักข่าวทำได้ไหม? ทำไม่ได้หรอก ต้องยอมรับความเป็นจริงตรงนี้ พวกนั้นเขาทำเขาก็อาจจะทำแบบวิชาการมากๆ เราก็เหมือนจะเป็นตัวกลางที่เอาเรื่องพวกนั้นมาจัดวาง ทำ Package ใหม่โดยผ่านเครื่องมือต่างๆ ช่องทางต่างๆ ผ่าน Storytelling ในรูปแบบต่างๆ 

แสดงว่า BT ก็เป็น Content Creator เลยใช่ไหม?

จะบอกแบบนั้นก็ได้ แต่คงไม่ใช่ Content Creator แบบพื้นๆ ที่ว่ามีเทคนิค ใส่ Effect อะไรแบบนี้ แต่เราใส่ Data เข้าไป

ความเป็น Beyond Journalist ทำให้เราแตกต่างจากสื่อมวลชนอื่นๆ?

แตกต่างนะ ผมเชื่อว่าถ้าเราทำให้แตกต่าง น่าเชื่อถือ คือผู้บริโภคพร้อมจะจ่ายเงินนะ แต่ทุกวันนี้พูดตรงๆ สื่อก็ทำตัวเองนะ สื่อก็ไม่พร้อมปรับตัว คนก็ไม่พร้อมจ่ายเงินให้ แต่ผมเห็นคนเขายอมซื้อข้อมูล ยอมเสียเงินไปอบรมแพงๆ เห็นคอร์สหนึ่งบางทีเป็นแสนๆ อบรมแค่ไม่กี่วันเอง ทำไมเขายอม? เพราะว่ามันดี มันเป็นสิ่งที่เขาไม่รู้ แต่ถ้าสื่อนำเสนอสิ่งที่เขารู้อยู่แล้ว เขาไม่จ่ายตังค์หรอก 

อันนี้ก็เป็นความเชื่อที่เราต้องพิสูจน์ เพราะว่าเรื่อง Subscription Model ในต่างประเทศเขาทำ ในเมืองไทยมีความพยายามจะทำ แต่ผมยังมองว่าเขายังพยายามไม่สุด ก็คือจะขายของแต่ของยังไม่ดีพอ แล้วในขณะเดียวกันเวลาอาจจะไม่เหมาะ อย่างเช่น ในช่วง 5 ปีที่แล้วระบบการจ่ายเงิน ระบบการขนส่งยังไม่ดีพอ แต่ตอนนี้ผมว่ามันพร้อมแล้ว ระบบ Payment ระบบการขนส่ง มันดีพอที่เราไม่จำเป็นต้องผ่านคนกลาง พูดตรงๆ ว่าถ้าเราทำหนังสือพิมพ์เราต้องผ่านเอเย่น แต่อันนี้เราส่งไปที่ร้านหนังสือโดยตรง ผ่านหน้าบ้านโดยตรง ผ่านสำนักงานโดยตรงเลย แทบจะไม่วางแผงทั่วไปเลย เพื่อที่จะให้หนังสือเราเหลือน้อยที่สุด ปัญหาเรื่องของสื่อหนังสือพิมพ์คือมันเหลือส่งคืน เพราะมันกระจายไปตามแผงและอยู่ในพื้นที่ที่มันไม่ใช่ คือคนเขาไม่ซื้อของแบบนี้ แต่โอเค ในร้านหนังสือมันมีกลุ่มนักธุรกิจเขาหยิบอ่านอยู่ 

สิ่งที่เราจะให้จากการสมัครสมาชิกบริการ จะมีหนังสือพิมพ์ ตัวระบบเข้าดูข้อมูลเชิงลึกจากพันธมิตรแบบละเอียด การเข้าร่วมสัมมนาประเด็นร้อนๆ เราก็จะปรับสำนักงานเราให้เป็น Co-creation Space ไว้จัด Business Talk จัดกิจกรรมต่างๆ คือทั้งหมดนี้จ่ายเงินแค่ 1,500 บาทเท่านั้นเอง ถือว่าถูกมากๆ เพราะคุณได้หนังสือพิมพ์ 52 สัปดาห์ด้วย คือเราไม่ได้บอกว่าเราขายสมาชิกหนังสือพิมพ์นะ 

ณ กาฬ เลาหะวิไลย บรรณาธิการอำนวยการ Business Today

ทำไมถึงเลือกทำหนังสือพิมพ์ ทั้งๆ ที่คนวงการสื่อบอกว่าหนังสือพิมพ์จะตายแล้ว?

เพราะว่ามันมีข้อมูลขนาดใหญ่ ถ้ามันไปอยู่บน Online มันมีปัญหาเยอะนะ พวก Data Visualization ถ้าเปิดบนมือถือก็มีปัญหาล่ะ เปิด PC ก็โอ้โห! ไม่พอ แต่ว่ามันก็เสริมกันหมดนะ โอเค สมมุติเราทำข้อมูลออกมาชุดหนึ่งเป็น infographic ขึ้นมา ถ้าลงใน Online มันก็ย้ายได้ มันก็ทำให้เข้าใจได้ แต่ถ้ามันอยู่ใน Print มันเติมรายละเอียดได้ โครงร่างเหมือนกัน แต่รายละเอียดอาจจะไม่เหมือนกัน 

ความยากง่ายของการปรับตัวจากคนทีวีเป็นคนทำหนังสือพิมพ์ (อีกรอบ?)

คือจริงๆ ผมเชื่ยวชาญหนังสือพิมพ์มากกว่า คือผมโตมาจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ คืออย่างนี้ชีวิตในวงการสื่อของผมตลอด 30 กว่าปี ครึ่งหนึ่งคือเนชั่นทีวี อีกครึ่งหนึ่งคือกรุงเทพธุรกิจบวกกับ The Nation ประมาณ 17 ปี มันครึ่งๆ นะ คือผมมาทำทีวีจริงๆ ตอนปี 2543 เป็นช่วง Set Up เนชั่นจนถึงปี 2560 ก็ 17 ปี แต่ผมทำหนังสือพิมพ์ตั้งแต่ก่อนเข้ามาทำเนชั่น ก็ 17 ปี แต่ถามว่าเราทำสื่อที่เป็นหนังสือพิมพ์คือเรามีความสุขกว่านะ 

แล้วเรื่องปรับตัวล่ะครับ?

เอาอย่างนี้ คือทีมงานที่เรารับ ส่วนใหญ่คือสายหนังสือพิมพ์ ไม่ใช่ทีมงานสายทีวี ทีมงานสายทีวีจะมีน้อยมาก เราคิดว่าการเขียนมันเป็นเรื่องสำคัญมากที่สุดตั้งต้น ถ้าคุณไม่สามารถเขียนได้ มันไปอย่างอื่นไม่ได้ ถ้าคุณเป็นคนหน้าจออย่างเดียว แล้วเขียนไม่ได้ จบเลยนะ ยกเว้นว่าคุณไปทำ YouTube ซึ่งตอนนี้คู่แข่งมหาศาล เอาจริงๆ อย่างส่องสื่อ เราทำ Longform ข้อมูลก็มีคนอ่านนะ ถ้าทำข้อมูลดีๆ ดีกว่าทำสั้นๆ ถ้าเราทำได้ดี เป็น informative คนก็อ่าน 

ผมก็เห็นสื่อใหม่ๆ ทำ Longform เยอะนะ The Standard ก็ Longform The People ก็ Longform ยิ่ง The Cloud ก็ยิ่ง Longform ใหญ่เลย อันนี้มันพิสูจน์ได้นะว่าในออนไลน์คนมันไม่ได้แค่เสพสั้นๆ อย่างเดียว ไม่ใช่ เขาเลือกเสพนะ ถ้าสั้นเขาไม่มีความจดจำ เขาไม่เก็บ แต่ถ้ายาวเขาก็จะ Save เก็บไว้ เพราะฉะนั้นมันไม่สามารถตอบได้ หนังสือพิมพ์ก็ต้องมีกลุ่มหนึ่งที่ต้องเก็บ 

คือเวลาคนมาขอสัมภาษณ์ระหว่างลงหนังสือพิมพ์กับลงเว็บไซต์มันต่างกันนะ ความรู้สึกตรงนั้น คือผมแปลกใจมากเวลาคุยกับคนรุ่นเก่า เขาจะบอกว่าทำหนังสือพิมพ์ทำไม? แต่เวลาคุยกับคนรุ่นใหม่ก็จะบอกว่า “เฮ้ย! ทำเลยพี่ อยากลงหนังสือพิมพ์” เพราะลงเว็บไซต์ใครๆ ก็ลงได้ 

อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Business Today

อนาคตของ BT

คือเราต้องการทำให้เป็นสถาบันจัดการการผลิตคอนเทนต์ เพื่อเป็นคนกลางอีกทีหนึ่ง คือเราไม่ใช่เป็นแค่ผู้สื่อข่าวนะ แต่เราเป็น Content Management โดยที่อย่างพันธมิตรของเราไม่สามารถเข้ามาสื่อ บริษัทที่เป็นด้านธุรกิจได้ เราทำให้ เราจับมือร่วมกันก็เป็นธุรกิจร่วมกัน เราก็สามารถเอาคอนเทนต์ของพันธมิตรมาขายได้ เราไม่ได้ขายแค่ข่าว แต่เราขายมุมมอง บทวิเคราะห์ เพราะเรามีคอลัมนิสต์ด้วย เราว่าตรงนี้สำคัญ คือข่าวไม่สำคัญแล้ว ตอนนี้ข่าวทุกคนรู้เหมือนกันหมด

ฝากอะไรถึงคนที่สนใจ BT

คือผมคิดว่าในยุคที่ข้อมูลข่าวสารมันท่วม ผู้บริโภคก็จะงงว่าจะเสพอะไรดี? แต่ข้อเสนอแนะของผมก็คือ ผู้บริโภคจมอยู่กับทะเลข้อมูลมากเกินไป คุณเลือกแล้วคุณจะมีเวลาทำอย่างอื่นมากกว่า เลือกเรา เรารวบรวมข้อมูลมาให้ ว่ายออกมาหน่อย ว่ายอยู่ในทะเลข่าวสารจะจมตายเอา เหนื่อยตาย เอาจริงต้องออกมาจากตรงนั้นหน่อย เราก็เหมือนเป็นแหล่งที่รวบรวมข้อมูล สิ่งที่เราทำ เรารวบรวมข้อมูลข่าวสารจากสิ่งที่เราทำ เราเรียนรู้จากการที่เราเป็นสื่อที่ถูก Disrupt มา ซึ่งเอาจริงๆ อนาคตเราก็อาจจะดีกว่าคนรุ่นใหม่ที่มาทำโดยไม่มีพื้นฐาน อันนี้ความเชื่อผมนะ เพราะว่าตอนนี้ก็จะมีกระแสช่องปิดโน่นนั้นนี่ พวกสื่อเก่าปิดทีวีก็มาทำออนไลน์ แล้วผมว่านี่จะเป็นอีกคลื่นลูกหนึ่งที่จะสร้างความน่าเชื่อถือให้กับโลกออนไลน์มากกว่ารุ่นที่ไม่มีพื้นฐาน 

เห็นไหมว่าอย่างไบรท์ทีวีก็เปลี่ยนมาเป็นไบรท์ทูเดย์ สปริง 26 ก็เปลี่ยนเป็น alive สื่อเก่าก็พยายาม Disrupt ตัวเองมาออนไลน์มากขึ้น อันนี้ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีในวงการนะ แสดงว่าเขาปรับตัวแล้ว แต่ด้วยความที่เขาทิ้งอันเก่ามาทำอันใหม่ก็อาจจะต้องปรับตัวหน่อย แต่ทีม BT ของเราๆ ถูก Disrupt จากอันเดิมไปแล้ว แล้วเรามาสร้างใหม่ (หัวเราะ) แล้วเราไม่มีภาระของเก่าแล้ว มันอาจจะง่ายกว่า


นอกจากนี้ ส่องสื่อยังได้รับเกียรติจาก ดร. ธะนาชัย ธีรพัฒนวงศ์ ประธานกรรมการกิตติศักดิ์ กลุ่มบริษัท Media Expertise International จำกัด (MEI) และ บริษัท Nectar มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับที่มาของ BT อีกนิดหน่อยด้วยครับ

ดร.ธะนาชัย เปิดเผยว่า “กว่า 40 ปีที่ผมทำงานร่วมกับนักสื่อสารมวลชนมืออาชีพ ทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร วิทยุโทรทัศน์ ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงวงการสื่อมาโดยตลอด แต่ไม่มีครั้งใดที่สื่อจะเกิดการเปลี่ยน แปลงรุนแรงจากกระแส Digital Disruption เท่าปัจจุบัน ซึ่งสร้างความท้าทายให้กับวงการสื่อสารมวลชนเป็นอย่างมาก หากสื่อใดไม่ปรับตัวหรือปรับตัวไม่ได้ ก็ยากที่จะดำเนินธุรกิจต่อไป ซึ่งสถานการณ์นี้ ทำให้ “นักสื่อสารมวลชนมืออาชีพ” จำนวนมาก ทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์ ที่ยึดมั่นในวิชาชีพและจริยธรรม ต้องสูญเสียอาชีพนี้ไป”

“ที่ผ่านมา ผมได้ทำงานร่วมกับมืออาชีพเหล่านี้มากมาย ทั้งในเครือบริษัทที่ผมได้เคยบริหารงานและพันธมิตรหลายองค์กร ผมจึงได้เชิญชวน “ทีมบริหารสื่อและนักข่าวมืออาชีพที่มีคุณภาพ เสริมด้วยคนรุ่นใหม่ยุค Digital ที่ทันสมัยและสามารถสร้างสรรค์ปรากฏการณ์ใหม่ๆ ในยุค Digital Disruption ได้อย่างอัศจรรย์” โดยการนำของนายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Business Today และนาย ณ กาฬ เลาหะวิไลย บรรณาธิการอำนวยการ Business Today

โดยหลอมรวมสื่อทุกรูปแบบด้วยกลยุทธ์ O2O ออนไลน์สู่ออฟไลน์ ออฟไลน์สู่ออนไลน์ ทั้ง Online, On Air, On Ground, On Print, และ On Demand โดยนำเสนอข่าวสารและเรื่องราวธุรกิจที่มีคุณภาพ เพื่อทำให้เกิดผลสูงสุด (Maximum Impact) อย่างแท้จริง ภายใต้แบรนด์ ‘Business Today’ แพลตฟอร์มข่าวสารธุรกิจ Business Today ที่ตอบโจทย์ทุกคำถามวงการธุรกิจ

ดร.ธะนาชัยกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังนำผู้บริหารสื่อรุ่นใหม่มาร่วมทีมด้วยคือ ดร.ฐิติกร ธีรพัฒนวงศ์ และกิตติกร ธีรพัฒนวงศ์ ผู้บริหารระดับสูงบริษัท Media Expertise International (Thailand) ที่บริหารนิตยสาร Harper’s Bazaar, นิตยสาร Sawasdee Magazine นิตยสารบนเครื่องบินการบินไทยที่มียอดพิมพ์สูงสุด, หนังสือพิมพ์รายเดือนภาษาอังกฤษ Hua Hin Today และหนังสือพิมพ์ธุรกิจรายสัปดาห์ภาษาอังกฤษเมียนมาร์ Myanmar Business Today ซึ่งเผยแพร่ในประเทศเมียนมาร์


นอกจากนี้ เรายังได้รับข้อมูลเพิ่มเติมจากคุณ ณ กาฬ เลาหะวิไลย บรรณาธิการอำนวยการ Business Today ถึงคอนเทนต์ภายใน BT และเหล่าขุนพลที่เข้ามาร่วมแจมในครั้งนี้ด้วย

คอนเทนต์ใน BT มีอะไรบ้าง?

โครงสร้างเนื้อหาของ Business Today เป็นข่าวสารธุรกิจที่คนทำธุรกิจต้องรู้ Business Today ออกแบบเนื้อหาหลักๆ ให้ตอบสนองคนทำธุรกิจที่สู้กับภาวะ Disruption ด้วยคอนเทนต์ 5 กลุ่ม

  1. กลุ่มไอทีและเทคโนโลยี เทเลคอม, โครงข่าย, อินเทอร์เน็ต, มีเดีย, Social Media, Tech Startup, คอมพิวเตอร์, โทรศัพท์มือถือ, อุปกรณ์ IoT (Internet of Things), Logistics, Digital Transformation ฯลฯ
  2. กลุ่มธุรกิจการตลาด คอร์ปอเรทนิวส์, การตลาด, อสังหาริมทรัพย์, เอสเอ็มอี, ค้าปลีก ค้าส่ง ธุรกิจไลฟ์สไตล์ เช่น โรงพยาบาล ท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร สุขภาพ ธุรกิจเพลง บันเทิง ฯลฯ
  3. กลุ่มการเงินและการลงทุน เศรษฐกิจมหภาค, ธนาคาร, ตลาดหุ้น, ตลาดเงิน, การลงทุน, การออม ประกันภัย ประกันชีวิต, Personal Finance, โครงสร้างพื้นฐาน, Mega Project ฯลฯ
  4. กลุ่มธุรกิจโลก การค้าระหว่างประเทศ, ตลาดหุ้นและตลาดการเงินประเทศมหาอำนาจ, บริษัทระดับโลก, Global Platform, Tech Startup ฯลฯ
  5. กลุ่ม Soft Content เสริมเนื้อหาการใช้ชีวิตในยุคดิจิทัลของผู้คนในวงการธุรกิจ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งในช่วงทำงานและหลังเลิกงาน เพื่อทำให้ชีวิตมีความสุขกับการทำงานแบบ Work Life Balance โดยหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ BLTหรือ BEST-LIVING-TASTE ที่มีกลุ่มเป้าหมายคนทำงานเมือง เน้นเนื้อหาแนวไลฟ์สไตล์ชุมชนคนเมือง จะปรับเนื้อหาเพื่อขยายฐานคนอ่านให้กว้างขึ้นทั่วประเทศ และเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือพิมพ์ Business Today ที่วางจำหน่ายทั่วประเทศ จากเดิมหนังสือพิมพ์ BLT แจกฟรีในย่านชุมชน ทางด่วน ร้านกาแฟสตาร์บัคส์ อาคารสำนักงาน ฯลฯ

ทีมขุนพลในการทำ BT มีใครบ้าง?

Business Today ได้รวมขุนพลคนข่าวระดับบรรณาธิการสื่อสายธุรกิจที่มีประสบการณ์รวมกันมากที่สุด อาทิ ศักดิ์ชัย พฤฒิภัค , ทวี มีเงิน , ทศพร โชคชัยผล , ณัฐพงษ์ โอฆะพนม จักรพงษ์ ศรีสุนทร , วิทยา แสงอรุณ, อศินา พรวศิน , กนกวรรณ มณีแสงสาคร ,อัญชลี พยัคฆะโส, นเรศ เหล่าพรรณราย , ลักขณา สุริยงศ์, ศุนันทวดี อุทาโย ฯลฯ

รวมทั้ง พันธมิตรบริษัทสตาร์ทอัพ อาทิ ดร.สมเกียรติ ชินธรรมมิตร์ บริษัท WealthMagik, กล้า ตั้งสุวรรณ บริษัท WiseSight , ดร.แป้ง อสมา กุลวานิชไชยนันท์ บริษัท Coraline , ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ บริษัท Creden , ดร. ธนชาติ นุ่มนนท์ สถาบันไอเอ็มซี , ดร.อุดมธิปก ไพรเกษตร บริษัท Digital Business Consultant, มะลิวรรณ เดชาฤทธิ์ บริษัท Passage Thailand ฯลฯ

พร้อมด้วย Influencer วงการสื่อสารด้านข่าวธุรกิจ อาทิ พัฒนเดช อาสาสรรพกิจ , อรุณ บริรักษ์, หนุ่ย พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ #beartai, เนาวรัตน์ เจริญประพิณ, ดาว กัญสุชฎา สุวรรณคร และกองทัพ คอลัมนิสต์ นักเขียน นักเล่าเรื่องกว่า 50 คน


รายละเอียดเกี่ยวกับ Business Today

แพลตฟอร์มสื่อธุรกิจ Business Today จะเปิดให้บริการครบทุกสื่อ ในวันที่ 9 กันยายน 2019 ในรูปแบบหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์วางแผงทุกวันจันทร์ หลังจากได้เปิดโฉมเว็บไซต์ www.businesstoday.co กับสื่อโซเชี่ยลมีเดีย และรายการโทรทัศน์ในช่อง New TV 18 กับวิทยุกรมการพลังงานทหาร FM 90.5 เมกะเฮิร์ตส์มาได้ประมาณ 1 เดือนแล้ว

สำหรับ Business Today ที่มีสถานะเป็น Business Content Platform มีจุดมุ่งหมายจะยกระดับการทำหน้าที่สื่อมวลชนอิสระในสายคอนเทนท์ธุรกิจให้เป็นมากกว่าสื่อมวลชนทั่วไป ซึ่งเป้าหมายที่ใหญ่กว่าความเป็นสื่อคือ การเป็น ”สถาบันบริหารจัดการองค์ความรู้สื่อธุรกิจ” เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

รวมทั้ง ปรับภูมิทัศน์ออฟฟิศให้เป็น Co-Creation Space ที่มีพื้นที่กว่า 700 ตารางเมตร และสตูดิโอภาพนิ่งให้เป็นมินิคอนเวนชั่น เพื่อจัดกิจกรรมทางธุรกิจ และเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ สำหรับวงการสื่อและวงการธุรกิจ จึงได้กำหนดค่าบริการทางธุรกิจ ดังนี้

แพจเกจสมาชิก Business Today แบบ Exclusive รายปี ค่าบริการทางธุรกิจ 1,500 บาท ที่เป็นค่าบริการคอนเทนท์หรือเนื้อหาเชิงธุรกิจ เป็นเสมือนคู่คิดทางธุรกิจให้ตลอดเวลา

  1. ได้รับหนังสือพิมพ์ Business Today รายสัปดาห์ ส่งตรงถึงบ้านหรือสำนักงานทุกสัปดาห์ หนังสือพิมพ์ Business Today ราคาฉบับละ 30 บาท รวม 52 ฉบับ
  2. ได้รับสิทธิ์เป็นสมาชิก VIP เวบไซต์ รายปี มูลค่า 1,200 บาท สามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกแนววิเคราะห์ Data Analytics รายไตรมาส
  3. ได้รับสิทธิ์เข้าร่วมอบรม เทรนนิ่ง สัมมนาของ Business Today Forum ฟรีจำนวน 30 ชั่วโมง

แพจเกจสมาชิก VIP เว็บไซต์ www.businesstoday.co ค่าบริการทางธุรกิจออนไลน์ รายเดือนๆ ละ 100 บาท เข้าถึงคอนเทนท์เฉพาะผู้สมัครสมาชิกที่ได้อ่านก่อนสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น คอลัมนิสต์ นักธุรกิจ นักคิด นักเขียน นักเล่าเรื่อง ฯลฯ ประมาณ 50 คนหรือวันละประมาณ 10 คอลัมน์บนเว็บไซต์ ข้อมูลเชิงลึกในธุรกิจสำคัญๆ ฉบับเต็มและรับรายงาน Data Analytics ข้อมูลธุรกิจเชิงลึกที่จัดทำ เฉพาะสมาชิก Business Today เท่านั้น

แพจเกจสมาชิก Basic เว็บไซต์ แบบไม่เสียค่าสมาชิก สามารถเข้าเข้าถึงคอนเทนต์ออนไลน์ ได้ทุกมิติ ยกเว้น คอลัมนิสต์และรายงาน Data Analytics

นอกจากนี้ ทุกแพจเกจสามารถเข้าถึงสื่อโซเชียลมีเดียหลัก คือ FB, Youtube, IG, Twitter, Telegram ชื่อ Business Today Thai รวมทั้ง รายการวิทยุ Business Today ทางสถานีวิทยุกรมการพลังงานทหาร FM 90.5 เมกะเฮิรตซ์ และ รายการโทรทัศน์ Business Today ทางช่อง New TV ช่อง18 โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

Business Today ฉบับหนังสือพิมพ์ เป็นการออกแบบและจัดวางลักษณะ Newspaper Layout Magazine หรือ Newspaper Creative Design วางแผงเฉพาะร้านหนังสือใน Modern Trade ร้านซีเอ็ด ร้านนายอินทร์และร้าน B2S รวมทั้งร้าน 7-11 ในอาคารสำนักงาน เริ่มวางจำหน่ายฉบับปฐมฤกษ์ในร้านหนังสือ ในวันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน ราคาปก 30 บาท และส่งตรงถึงสมาชิกในวันเดียวกัน ส่วนสมาชิกออฟฟิศสำนักงานจะได้รับวันจันทร์ที่ 9 กันยายน เป็นต้นไป


ข้อมูลบางส่วนจากเอกสารงานแถลงข่าวการเปิดตัว Business Today