fbpx

เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2562 Voice TV ได้ยุติการออกอากาศบนทีวีดิจิทัลหมายเลข 21 อย่างเป็นทางการ และย้ายไปบนทีวีดาวเทียมในฐานะ Content Provider แทนเป็นที่เรียบร้อย วันนี้ส่องสื่อจึงขอนำบางส่วนของคำให้เสัมภาษณ์ของ “ธีรัตถ์ รัตนเสวี” ผู้ประกาศข่าว Voice TV ต่อกรณีการยุติการออกอากาศบนทีวีดิจิทัล รวมไปถึงอุปสรรคที่ผ่านมาในการทำงานภายใต้รัฐบาลรัฐประหาร ติดตามจากบทความนี้ได้เลย

เป็นอย่างไรบ้างกับ VoiceTV ที่ต้องปิดทางทีวีดิจิทัล

ก็ต้องยอมรับสภาพ เนื่องมาจากเป็นการตัดสินใจเชิงธุรกิจของผู้บริหารเอง เนื่องจากว่าย้อนกลับไป 10 ปี VoiceTV ขาดทุนเยอะมาก การทำธุรกิจมันไม่ได้ง่าย ฉะนั้น ถึงแม้มันมีต้นทุนที่ต้องจ่ายเยอะมาก แล้วรายได้ที่เราได้ปีหนึ่งมันไม่ Cover ค่าใช้จ่าย เพราะฉะนั้นเมื่อมีโอกาสให้คืนได้ ก็ต้องคืน เพราะธุรกิจมันขาดทุนแหละ 

เห็นตัวเลขขาดทุนแล้วตกใจไหมครับ?

ก็ไม่ตกใจ เพราะพี่เห็นตัวเลขตรงนี้มาตั้งแต่ต้น ตอนที่เราเป็นผู้บริหารเราก็เห็นว่ามันขาดทุนแค่ไหนมาตั้งแต่ Day 1 เลยก็ว่าได้ และพอมาเป็นทีวีดิจิทัลเราก็ขาดทุนอย่างหนักด้วย แล้วเราก็เคารพการตัดสินใจของผู้บริหารด้วย ที่มันขาดทุนเยอะอยู่ต่อไปมันก็ลำบากเหมือนกัน

ทำไมถึงตัดสินใจมาร่วมงานกับ VoiceTV?

ตอนนั้นก็มีคนมา offer job ให้หลายช่องเลย ทั้งช่องหลักก็ตาม แต่เมื่อปี 2552  VoiceTV เป็นสื่อใหม่ ณ ตอนนั้นอินเตอร์เน็ตกำลังมา คุณทรงศักดิ์ เปรมสุข ซึ่งตอนนั้นเป็นกรรมการผู้จัดการคนสุดท้ายของไอทีวีเป็นคนชวนพี่มา ก็เลยมาร่วมกันปลุกปล้ำกันตั้งแต่พนักงานมี 40-50 คน

ช่วงแรกๆ เจอสถานการณ์อะไรบ้างกับ VoiceTV?

คือช่วงแรกๆ เรายังไม่มีสถานการณ์ทางการเมืองอ่าครับ มีมากสุดคือยุคสลายการชุมนุมปี 2552-2553 แต่หนักจริงๆ ก็คือตอนเปลี่ยนเป็นทีวีดิจิทัลแล้วเกิดรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 คือก่อนเกิดรัฐประหารก็มีการควบคุมสื่ออยู่แล้ว เราโดนปิดก่อนรัฐประหารด้วยซ้ำ 

มีการรับมือเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไหม?

เราก็เป็นสื่อปกติ ก็ไม่ได้รับมือกับเหตุการณ์ตรงนั้น ก็ไม่ได้คิดว่าต้องมีปิดช่องหรือต้องมีคนมาล้อมช่อง เหมือนตอนที่พระพุทธอิสระมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 57 เราก็ไม่ได้คิดถึงสถานการณ์แบบนั้น เราคิดว่าเราทำงานแบบนี้ เราอยู่แบบนี้ก็ไม่น่าจะโดนอะไรขนาดนี้ แต่ว่ามันก็โดนนะ หลีกเลี่ยงไม่ได้

ช่วงที่พุทธอิสระมา เกิดอะไรขึ้นบ้าง?

ช่วงนั้นมีการชุมนุม กปปส. อยู่นะครับ แล้วก็จะมีพระพุทธอิสระพาผู้ชุมนุมไปตามจุดต่างๆ ที่เป็นเครือชินวัตร แล้วเขาก็คิดว่า VoiceTV เป็นหนึ่งในนั้น ตอนนั้นน่าจะเป็นวันจันทร์ ก็มีผู้ชุมนุมมาอยู่หน้าสถานี แล้วก็บอกว่าจะค้างคืนกันเลย พอดีวันนั้นพี่ไม่ได้เข้าสำนักงาน เราก็มอนิเตอร์สถานการณ์จากข้างนอก แต่ท้ายที่สุดก็มีการเรียกร้องว่าให้ออกมาขอขมา เพราะว่าเรารายงานข่าวบิดเบือนอะไรยังงี้ มันก็ลำบากใจเหมือนกัน เพราะว่าเราไม่เคยรายงานข่าวบิดเบือนจากสิ่งที่เป็นมาตรฐานในการรายงานข่าวอยู่แล้ว แต่ว่าเราก็ถูกใส่ความ เพราะว่า VoiceTV เราประกาศกันตั้งแต่ต้นว่าใครเป็นเจ้าของ แต่ว่าเจ้าของช่องก็เป็นเพียงนักลงทุนเท่านั้น เขาไม่ได้มามีส่วนร่วมในกองบรรณาธิการข่าวอยู่แล้ว แค่สนับสนุนแนวคิดประชาธิปไตยออกมาเท่านั้นเอง


บางทีเราก็น้อยใจเหมือนกันว่า เออว่ะ บางครั้งไม่ต้องบอกก็ได้ว่าใครเป็นเจ้าของช่อง แต่ว่าบอกว่าเรามีจุดยืนยังไงดีกว่า 

ภาพจาก sanook.com

การที่เรามีจุดยืนของเราชัดเจน ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานไหม?

คือผลกระทบผมว่าส่วนหนึ่งคือมีคนกลุ่มหนึ่งไม่เชื่อเราว่า เรานำเสนอข่าวที่แปลกไปจากสื่ออื่นที่นำเสนอแบบปกติ เรานำเสนอข่าวแบบที่มีจรรยาบรรณอยู่แล้ว คือเราเปลี่ยนแบบเสมอในการนำเสนอข่าว แต่พอรู้ว่าใครเป็นเจ้าของก็เกิดอคติขึ้นว่า “อ้อ นำเสนอแบบนี้เหรอ?” จึงทำให้คนบางกลุ่มไม่ค่อยเชื่อเรา

อีกกลุ่มหนึ่งที่กระทบเลยก็คือ ผู้ซื้อโฆษณา คือผู้ซื้อโฆษณาพี่ก็มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ช่วงนั้นเป็นนกหวีดแหละ ทีมโฆษณาเราไปหาโฆษณา บาง agency สวมนกหวีดออกมาหาเราเลย คือมีการโชว์ว่าฉันคือใครนะ กูได้ดูว่าคนในวงการโฆษณาเขาคิดยังไง? มันก็สะท้อนกับรายได้ของเราอย่างหลีกเลื่ยงไม่ได้

รายได้ที่ลดลง เกิดจากเหตุทางการเมืองรึเปล่า?

คือมันมาทั้งสองข้าง ทั้งข้างที่เป็นเรื่องการเมืองด้วย และด้านที่คนซื้อโฆษณาน้อยลงด้วย สิ่งแรกคือปฏิเสธไม่ได้ว่าเรตติ้งเราน้อย พอเรตติ้งเราน้อยลูกค้าก็ไม่ซื้อไง แล้วเราก็ไม่ได้ขายแบบ CPRP ที่แบบว่าไปคุยกับ Agency แล้ว Agency แบ่งเงินตามเรตติ้งที่ได้ ถมเงินตรงนั้นไป ส่วนใหญ่ลูกค้าของ VoiceTV คือลูกค้าที่ Low-contact เจ้าหนึ่งจ่ายมา เราก็ทำให้ทั้งปี เพราะฉะนั้นลูกค้าประเภทนี้หายากขึ้นเรื่อยๆ ครับ ก็เลยกระทบมากต่อรายได้ของเรา

มีทหารไปเฝ้าถึงห้อง MCR จริงไหม?

จริงครับ คือตั้งแต่รัฐประหารมาทุกๆ 6 โมงเย็น – 8 โมงเช้า ก็จะมีทหารออกมาถ่ายรูปหน้าห้อง MCR ของเรา ถ่ายรูปส่งนายอ่ะว่าช่วงนี้ตัดเข้านี้นะ คือเป็นเรื่องปกติว่าช่วง 6 โมงเย็นจะมีรายการตัดเข้า คสช. เขาก็ต้องมาดูว่าเราตัดเข้าหรือไม่? คือย้อนไปตั้งแต่ก่อนถูกสั่งปิด 20 พฤษภาคม 2557 ก็มีทหารมาคุมแล้วก็ตัดสัญญาณเราไป แล้วพอหลังจากเราเริ่มกลับมาเปิด 3 สัปดาห์ก็มีทหารมาคุมตลอดเวลา 

มีการแทรกแซงระหว่างทหารกับกองบรรณาธิการข่าวบ้างไหม?

คือทหารไม่ได้เข้ามาในกอง บก. เลย เขาก็อยู่ในห้อง MCR ของเขา แต่เราเชื่อว่าการแทรกแซงสื่อมาจาก “คณะกรรมการติดตามสื่อ” ซึ่งเป็น Mornitering Team ของทางทหารที่คอยส่งเรื่องไปยัง กสทช. เพราะว่าต้องบอกทางส่องสื่อว่า พอเราปิด 3 สัปดาห์แล้วเราก็มีความพยายามที่จะทำให้ช่องเรากลับมาเปิดให้ได้ ซึ่งการกลับมาเปิดให้ได้เราก็ต้องมีการเซ็น MOU 

ซึ่งถ้าย้อนกลับไปตอนที่เรามีการฟ้องศาลปกครองเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เราก็อาจจะได้ยินคำว่า MOU ซึ่งมันเป็นสิ่งที่เราผูกมัดเอาไว้ว่าเราต้องปิดรายการโน้น รายการนี้ ต้องไม่นำเสนอข่าวที่ยุยง ปลุกปั่น ทำให้เกิดความเข้าใจผิด และ MOU ตัวนี้มันเป็นตัวที่มาผูกมัดตัวเราหลายครั้ง เวลาเราถูก กสทช. เรียกเราเข้าไปก็จะบอกว่าคุณมีการนำเสนอข่าวที่บิดเบือน เอนเอียง คือเขาใช้กลไกทาง กสทช. เข้ามาบีบเรา นั่นจึงเป็นที่มาของการถูกปิดช่อง 2 ครั้ง แล้วก็ยกเลิกรายการ ถอดพิธีกร

การโดนร้องเรียน เกิดจากใครเป็นผู้ร้อง?

คือตอนที่เราไปที่ กสทช. ทาง กสทช. ก็ไม่ได้บอกเลยว่าใครเป็นผู้ร้อง เพียงแต่บอกว่า “มีคนร้องเรียนมาว่า” ใช้ประโยคแบบนี้ตลอด ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าใคร? แต่ว่าเรื่องที่ร้องเรียนเนี่ยก็เป็นเรื่องที่ทุกช่องรายงาน แต่มันอาจจะไปสะดุดใจตรงที่พาดหัวบ้าง หรือความเห็นของพิธีกรเราบ้าง ซึ่งถามว่าเราเป็นคนไปยุยงปลุกปั่นว่าดูช่องเราแล้วจะทำให้เกิดม็อบขึ้นมา มันไม่ขนาดนั้นไงครับ คือเราก็มีสิทธิ์ที่จะวิจารณ์ในสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ว่าการวิจารณ์มันไม่ถูกใจคนดูไงครับ มันก็เลยกลายเป็นปัญหาที่เกิดขึ้น

การทำงานภายใต้รัฐบาลรัฐประหารทำให้การทำงานของสื่อมวลชนยากขึ้นไหม?

ต้องบอกว่าโดยตัวรัฐบาลเขาไม่ได้คุมเราโดยตรง แต่เขาใช้กลไกอื่นในการกดดันเรา เหมือนกับรู้ว่าเราคุยเรื่องนี้ไป มีบางท่านไม่ชอบ เขาก็จะสั่งการลงมาให้มาดูหน่อยซิ คือตอนนี้ กสทช. ถูกใช้เป็นเครื่องมือแหละ ก็ต้องพูดตามตรง ถ้าถามว่าข่าวเดียวกันช่องข้างๆ เขาก็รายงานแต่ไม่โดน ทำไมเรารายงานแล้วโดน? 

เวลาเขาออกคำสั่ง คสช. มีผลกระทบต่อการทำงานของเราบ้างไหม?

แน่นอนครับ คือมันแยกออกมาเป็นสองส่วน ถ้าเป็นคำสั่งที่คุมสื่อมันกระทบสื่อทุกคนอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นคำสั่งทางปกครองออกมาที่ว่าจะปิด มันก็มีความเสี่ยงต่อเรามากขึ้นอีก กับลูกค้าเราเองก็มีผลกระทบว่าลูกค้าก็ไม่สามารถวางแผนได้ พอวางแผนไม่ได้ก็กระทบกับการเงินของเราด้วย พอมีการขู่กันว่าจะปิด 15 วัน ลูกค้าก็โทรมาแล้วว่าจะชะลอลงไปก่อน คือวิธีการมันเป็นการ “บอนไซ” มากกว่า 


เราเชื่อว่าถ้าไม่มีวิกฤตในปี 2557
เราน่าจะดีกว่านี้ พูดตามตรง

แสดงว่าการเป็นทีวีดิจิทัล ทำให้เราไม่สามารถเปิดเผยตัวตนของเราได้มากที่สุด?

การเป็นทีวีระดับชาติหรือไม่ระดับชาติล้วนก็ต้องการจรรยาบรรณและมาตรฐานของการนำเสนออยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นดาวเทียมหรือไม่ก็แล้วแต่ แต่ในแง่ของการเข้าถึง การเป็นทีวีระดับชาติมันทำให้เข้าถึงทุกบ้านอย่างเท่าเทียม แต่ในขณะเดียวกันก็มีครูใหญ่คอยคุมเราอยู่คนเดียว เรารู้สึกว่ามันไม่แฟร์ในการถูกควบคุม ถ้าถามว่าอยู่ดีๆ จะให้เรานำเสนอข่าวอาชญากรรม ข่าวฆ่าจี้ปล้นชิงทรัพย์มันจะเป็นประโยชน์อะไรกับคนดู คนดูเองก็เบื่อ แต่การเป็นสื่อที่แตกต่าง นำเสนอประเด็นหรือมุมมองที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน มันก็เป็นอีกสิ่งที่ประชาชนควรรู้

ท่านสามารถติดตามรับชมบทสัมภาษณ์เต็มๆ ได้ที่วีดีโอด้านล่างนี้ได้เลย