fbpx

ในช่วงปี 2562 เป็นช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมวิทยุมีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดเลยก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงผู้จัดหน้าใหม่แบบกะทันหัน การเปลี่ยนแปลงของเม็ดเงินโฆษณาในกิจการวิทยุ รวมไปถึงเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น ทั้งแอพพลิเคชั่นสตรีมมิ่งอย่าง JOOX หรือ Podcast ที่นักทำคอนเทนต์เริ่มนิยมทำกันมากขึ้น ส่วนนี้ก็มีโอกาสฉุกรั้งเม็ดเงินโฆษณาให้น้อยลงไปด้วย ก็เลยคิดว่าวิทยุไม่มีคนฟังแล้วรึเปล่า? แล้วเขาเปลี่ยนแปลงกันยังไงในยุคนี้บ้าง? ลองติดตามจากบทความนี้กัน

คนฟังยังมีอยู่จริงเหรอ?

ก่อนอื่นต้องพูดถึงจำนวนคนรับฟังวิทยุก่อนว่าปัจจุบันยังมีคนรับฟังวิทยุอยู่จำนวนพอสมควร โดยจากข้อมูลจำนวนผู้รับฟังคลื่นวิทยุคลื่นหลักในระบบ เอฟ.เอ็ม. จำนวน 40 สถานี (นับตั้งแต่ 87.50-107.00 MHz) ซึ่งนับรวมการฟังจากทุกช่องทางประกอบไปด้วย เครื่องรับฟังวิทยุ ,คอมพิวเตอร์ ,โทรศัพท์มือถือ และแท็บเลต ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งเขานับจากจำนวนอายุเริ่มต้นที่ 12 ปี พบว่าในเดือนมิถุนายนมียอดผู้ฟังมากขึ้น โดยมียอดจำนวนอยู่ที่ 10,324,000 คน และจากจำนวนผู้รับฟังตั้งแต่เดือนมกราคม – มิถุนายน 2562 ที่สำนักงาน กสทช. รายงานผ่านทางเว็บไซต์ก็พบว่าในช่วงเดือนมกราคม – เมษายน 2562 จำนวนคนฟังมีทีท่าว่าจะลดจำนวนลงเรื่อยๆ จนกลับมาเพิ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2562

โดยในเดือนมิถุนายน 2562 มีการสำรวจพฤติกรรมการรับฟังวิทยุและพบว่าผู้คนส่วนใหญ่นิยมรับฟังในบ้าน เป็นจำนวนร้อยละ 50.47 รองลงมาด้วยการรับฟังวิทยุบนรถ ร้อยละ 40.78 ,ในที่ทำงาน ร้อยละ 8.39 และในสถานที่อื่นๆ ร้อยละ 0.36 นอกจากนั้นคนส่วนใหญ่ยังเน้นรับฟังผ่านทางเครื่องรับวิทยุมากกว่าร้อยละ 73.87 ผ่านโทรศัพท์มือถือร้อยละ 24.83 ผ่านคอมพิวเตอร์ร้อยละ 1.26 และอื่นๆ อีกร้อยละ 0.04

ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าคนโดยส่วนใหญ่นิยมรับฟังวิทยุผ่านเครื่องรับฟังวิทยุอยู่ และโดยส่วนใหญ่ก็นิยมรับฟังที่บ้านเป็นหลัก จะมีรองลงมาคือรับฟังบนรถซึ่งคนกลุ่มที่รับฟังบนรถจะมีช่วงเวลาที่รับฟังวิทยุ นั่นก็คือช่วงเช้าระหว่างเดินทางไปทำงาน กับหลังเลิกงานในช่วงเดินทางกลับบ้านนั่นเอง

เมื่อค่ายเพลงแข่งกันทำวิทยุ

กลุ่มสำคัญที่หลายคลื่นวิทยุนิยมทำการตลาดมากที่สุดและเป็นกลุ่มคนที่นิยมรับฟังวิทยุมากที่สุดในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลนั่นก็คือกลุ่มพนักงานออฟฟิศ ซึ่งมีไลฟ์สไตล์ชอบฟังวิทยุตอนขับรถ เดินทางไปทำงานหรือกลับบ้าน และฟังในขณะทำงาน โดยมีคลื่นวิทยุที่จัดผังรายการวิทยุให้ตรงใจคนฟังกลุ่มนี้ประกอบไปด้วยตัวหลักๆ คือ Cool 93.00 MHz ของอาร์เอส ,Chill Online และ GreenWave 106.50 MHz ของเอ-ไทม์ มีเดีย เป็นต้น

โดย 2 เจ้าหลัก อย่างอาร์เอสและเอ-ไทม์ ซึ่งมีบริษัทแม่อย่างแกรมมี่ มักจะนิยมทำการตลาดในหลากหลายรูปแบบ โดยอาร์เอสจะเป็นผู้นำในกลุ่มผู้ฟังชาวพนักงานออฟฟิศ เนื่องมาจากมีการทำกิจกรรมที่ครอบคลุม เช่น การจัดกิจกรรม อิ้งค์ Eat all Around หรือการจัด Outing ต่างๆ รวมไปถึงขยายมาทำคอนเสิร์ตเพื่อขยายฐานคนฟังที่อยู่ในยุค ’90 อย่าง “Raptor Volution” ผนวกกับสร้างแคมเปญ “เพลงเพราะต่อเนื่องมากที่สุด” ซึ่งค่อนข้างตรงใจกับกลุ่มคนฟัง ในขณะเดียวกันฝั่งเอ-ไทม์จะถนัดในการจัดกิจกรรมที่หลากหลายมากกว่า โดยมีคอนเสิร์ตอย่าง Cove night , Green Concert เป็นตัวหลัก ตามมาด้วยกิจกรรมที่ทำเพื่อสังคมโดยร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ และกิจกรรมบุกสำนักงาน เป็นต้น และอาศัยการจัดรายการตามกลุ่มที่ตัวเองตั้งไว้ เช่น กลุ่ม First Jopper จะเหมาะกับ Chill Online ส่วนกลุ่มคนอายุ 35 ปีเป็นต้นไปจะเหมาะกับ GreenWave มากกว่า

สิ่งสำคัญที่ทำให้ 2 เจ้านี้เน้นการทำกิจกรรมควบคู่ไปกับการจัดผังรายการที่เน้นเพลง Easy-listening ก็เป็นเพราะว่าเพลงกลุ่มนี้เป็นเพลงที่ฟังเพลินระหว่างทำกิจกรรมได้ และยังฟังซ้ำได้ตลอดทั้งวันอีกด้วย นอกจากนั้นการจัดกิจกรรม Offline ควบคู่ไปด้วย เพราะจะทำให้ได้ใกล้ชิดกับกลุ่มผู้ฟังมากขึ้น รวมไปถึงเป็นการเชิญชวนคนที่ยังไม่เคยฟังคลื่นของตนเองให้กลับมาฟังคลื่นนั้นได้อีกทางหนึ่งด้วย และการจัดกิจกรรมภายนอกเพิ่มเติมจากการขายเวลาบนหน้าปัดก็ถือเป็นการหาเม็ดเงินจากการจัดกิจกรรมได้มากขึ้น เช่น ยอดจำนวนการขายบัตรคอนเสิร์ต หรือเม็ดเงินโฆษณาจากการเป็นผู้สนับสนุนงานกิจกรรม เป็นต้น

เม็ดเงินโฆษณาเพิ่มขึ้นทุกเดือน

ซึ่งก็สอดคล้องกับเม็ดเงินโฆษณาที่ทาง Nielsen เปิดเผยออกมาโดยในช่วงปี 2562 มีอัตราการเติบโตมากขึ้น จะมีเพียงแค่ในช่วงเดือนเมษายนที่ตกลงไป เนื่องจากเป็นช่วงวันหยุดยาวและกลุ่มคนฟังส่วนใหญ่กลับภูมิลำเนาเป็นหลักนั่นเอง ซึ่งในช่วงเดือนมิถุนายน 2562 ก็มีเม็ดเงินโฆษณาเข้ามามากถึง 418,149,000 บาท ถือว่าเติบโตพอสมควรเลยทีเดียว ฉะนั้นโอกาสที่เม็ดเงินส่วนนี้จะลดน้อยลง อาจจะต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น จำนวนคนฟังในสถานีต่างๆ หรือการจัดกิจกรรมต่อเนื่องจากการฟังวิทยุ แม้กระทั่งปัจจัยทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการออกอากาศวิทยุก็มีส่วนที่ทำให้เม็ดเงินโฆษณาลดน้อยลงได้นั่นเอง

แต่สิ่งที่ทำให้แปลกใจอยู่ไม่น้อย นั่นก็คือการเปิดช่วงขายสินค้าผ่านหน้าคลื่นวิทยุ โดยทั้ง 2 เจ้าใหญ่ต่างก็มีธุรกิจ Home Shopping ด้วยกันทั้งคู่ อย่างอาร์เอสที่มีธุรกิจ 1781 ก็เน้นนำเสนอสินค้าที่ตรงกลุ่มเพื่อดึงความสนใจ โดยใช้นักจัดรายการวิทยุบอกถึงสรรพคุณประกอบกับยิงโฆษณาตัวแรกในช่วงพักโฆษณาอีกด้วย โดย “เฮียฮ้อ – สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์” ผู้บริหาร บมจ.อาร์เอส ได้ให้สัมภาษณ์กับ The Standard ว่า “กำลังพยายามเปลี่ยนคนฟัง Cool 93 ซึ่งมีคนฟัง 2-3 ล้านคน ให้แปรเปลี่ยนเป็นลูกค้า โดยใช้การรุกตลาดให้ Cool 93 เป็นหน้าร้านแบบ MCP (Multiple Consumer Platform)”  ในขณะที่เอ-ไทม์ ซึ่งมีบริษัทแม่อย่างแกรมมี่ก็มีธุรกิจ Home Shopping ที่เป็นผู้นำอย่าง O Shopping ก็ใช้โอกาสนี้ในการเปิดช่วงให้นักจัดรายการขายของและจัดโปรโมชั่นเช่นเดียวกัน ทำให้เกิดมิติใหม่ในการขายสินค้าโดยใช้เครื่องมือทางสื่อได้อย่างคุ้มค่าเลยทีเดียว

นอกจากนั้นเอ-ไทม์ยังรุกคืบเข้ามาทำ Podcast ซึ่งนับเป็นคลื่นวิทยุเจ้าแรกๆ ที่ก้าวเข้าสู่แพลตฟอร์ม Podcast อย่างเต็มตัว โดยใน Podcast จะมีรายการต่างๆ เช่น รายการรีวิวหนัง รายการเสริมสร้างบุคลิกภาพการพูด หรือละครวิทยุที่เริ่มต้นทำไปบ้างแล้ว แม้กระทั่งรายการวิทยุยอดฮิตอย่าง “พุธทอล์ค พุธโทร อย่าลืมโทรนะ” , “Club Friday” หรือ “Monday มันส์ดี เอกกี้-อ้อม” ก็มีลงเป็น Podcast เช่นเดียวกัน

นับว่าวงการวิทยุเป็นสิ่งที่น่าจับตามองไม่น้อย เพราะแท้ที่จริงแล้วไม่ได้มีเพียงแค่กลุ่มพนักงานออฟฟิศเท่านั้นที่ฟังเป็นกลุ่มหลักๆ ยังมีอีกหลายกลุ่มที่น่าวิเคราะห์ และรวมไปถึงการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีก็เป็นสิ่งที่สำคัญด้วยเช่นกัน ยังไงอย่าลืมติดตามได้ในคราวต่อไปทางหนังสือพิมพ์ Business Today และอ่านย้อนหลังได้ทาง songsue.co