fbpx

เมื่อเจอรายการพังๆ ก็ต้อง “เขวี้ยงรีโมท” ใส่จอทีวี!!

ปกติคุณติดตามเรื่องทีวีจากเพจไหนกันบ้างครับ? เชื่อเหลือเกินว่าใครหลายๆ คนนอกจากจะติดตามผ่านส่องสื่อของเราแล้ว ยังติดตามผ่าน “เขวี้ยงรีโมท” เพจอีกเพจที่คอยอัพเดตเรื่องราววงการโทรทัศน์จากหลากหลายช่อง แต่ใครจะทราบว่าแอดมินที่ดูแลเพจเป็นใคร? (เอาจริงๆ ตอนสัมภาษณ์ เขาก็ไม่อนุญาตเปิดเผยตัวตนด้วย แต่จะด้วยเพราะอะไรนั้น ลองอ่านดู) และที่สำคัญ ข้อมูลเขาเอามาจากไหนกันบ้าง? หลายคำถามวันนี้ เราจะมาเคลียร์ให้กระจ่างกันครับ กับทีมแอดมินเพจ “เขวี้ยงรีโมท” ติดตามจากบทสัมภาษณ์นี้ได้เลยครับ

ที่มาที่ไปของการทำเพจ รวมตัวกันทำเพจได้ยังไง?

เรียกว่าเป็นการรวมตัวของคนที่มีความชอบเหมือนๆ กัน นั่นคือ การชอบดูทีวี เป็นกลุ่มคนที่รวมตัวกันเพื่อพูดคุยเรื่องทีวี เม้าท์มอยละคร – รายการทีวี ว่าเรื่องนี้สนุกจัง เรื่องนี้ห่วยแตก คุยๆ กันนานมากรู้จักกันมาเกิน 10 ปี จนมาวันนึงเมื่อสัก 3 ปีที่แล้วคิดว่า น่าจะทำอะไรสักอย่าง เหมือนคนมีของแล้วอยากปล่อยของ เลยคิดว่าน่าจะทำเพจ สักเพจไหม? ไว้ระบายอารมณ์ กับความฉุนเฉียวของวงการทีวี ที่ตอนนั้นเริ่มเข้าสู่ยุคทองของทีวีดิจิทัล ที่เรามองแล้วว่ามันไม่ใช่ทอง…มันกำลังเป็นฟองสบู่ที่รอวันแตก แต่สุดท้ายก็ขี้เกียจ ไม่มีใครเริ่มทำ จนมาเมื่อปีที่แล้ว เหมือนทุกคนว่างตรงกัน เลยคิดว่า เออ มันน่าจะทำได้แล้วนะ คันไม้คันมือมาก เลยได้ฤกษ์เปิดเพจ

ทำไมต้องชื่อเขวี้ยงรีโมท

พอจะเปิดเพจ ก็มีปัญหาเรื่องชื่อเพจ จะเอาแบบไหน ยังไงดี คุยกันหลายชื่อมาก แต่ตอนนั้น จุดประสงค์หลักคือ ต้องการวิจารณ์รายการ หรือ ละครทีวีที่ห่วยแตก เน้นด่ารัวๆ เหมือนเพื่อนวิจารณ์งานกัน แต่ทำแบบมีเหตุผลรองรับนะ แล้วไม่ใส่ข้อมูลที่ไม่เป็นจริง แล้วมีคนนึง เสนอขึ้นมาว่า “เขวี้ยงรีโมท” ดีไหม? เหมือนเวลาเราดูอะไรแล้วไม่พอใจรายการนั้นๆ มันต้อง เขวี้ยงของใส่ สิ่งที่อยู่ใกล้มือคนดูทีวีมากที่สุดคือ “รีโมท” เลยกลายเป็น “เขวี้ยงรีโมท” กะแบบว่า รายการนี้ห่วยแตกมาก รับรีโมทที่ถูกเขวี้ยงไปเลย 5 รีโมท เป็นเหมือนเพจให้คะแนนเชิงลบกับรายการที่ควรดีดทิ้ง

แต่เอาจริงๆ นะ พอทำเพจจริงๆ ถ้าตามดูจะพบว่าข้อมูลที่เราวิจารณ์ หรือ ด่า มีสัดส่วนน้อยกว่า ชม มาก แล้วหลายๆอันที่กลายเป็นไวรัล กลับกลายเป็นเรื่องราวการชื่นชม การอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น จำได้เลยว่า ผลงานชิ้นแรกๆที่มีคนแชร์เยอะๆ คือ “3 สารคดีน้ำดีที่ห้ามพลาด!” ตอนนั้นรู้สึกว่ารายการดีๆ มีต้องมีที่ยืนในวงการทีวีดิจิทัลป่าววะ เราต้องซัพพอร์ตคนผลิตรายการแบบนี้สิ จึงเขียนถึงรายการที่น่าจดจำ คือ หนังพาไป / เถื่อนทราเวล และ รอบโลกกับกรุณา ปรากฏว่าคนแชร์เยอะมาก โดยเฉพาะคุณกรุณา แชร์ไปในทำนองขำๆ ชื่อเพจ เลยมานั่งคิดตอนนั้นว่า….เอ ชื่อเพจกับคอนเทนต์มันตรงกันไหม? แต่ทำไงได้ ตั้งชื่อนี้ไปแล้ว (ฮา)

ข้อมูลส่วนใหญ่ได้มาจากไหน?

มาจาก “กล่องความทรงจำ” ของตัวเอง เรียกว่าทีมงานที่ร่วมทำกันแต่ละคนมีข้อมูลที่น่าตกใจมาก มันเหมือนสิ่งที่เราดูทีวีมาตลอดชีวิตมันซึมซับอยู่ภายใต้หลีบสมอง เหมือนต่อม “เอ๊ะ” มันสะกิด เช่น ละครแนวนี้ มันเคยทำมาลักษณะนี้นิหว่า ละครบางเรื่องมันรีเมกเยอะนะ ฉันจำได้ บวกกับการสืบค้นข้อมูลมันก็ช่วยแตกประเด็นออกไป

และส่วนหนึ่งบางข้อมูลก็มาจากการชี้เป้าจากสมาชิกในเพจ โดยเฉพาะข้อมูลลับๆภายใน เหมือนพอมีบางเรื่องที่โพสต์ไปมันจริง โดยเฉพาะเรื่องที่ควรปิดลับ แต่มันปิดไม่มิด ก็เลยทำให้หลายๆคนส่งข้อมูลให้ บางคนกล้าเปิดใจที่จะคุยกับเรา เพราะเราก็มีหลักคิดของเราในการปกปิดข้อมูลและตัวตนของผู้สนทนา และบางเรื่องก็มีบุคคลที่ปรากฏในข่าวตัวจริงเสียงจริงช่วยยืนยันข้อมูลให้ ก็รู้สึกขอบคุณกับทุกคนที่เข้ามามีส่วนร่วม

รูปภาพส่วนหนึ่งจากเพจ เขวี้ยงรีโมท

เคยโดนแฟนคลับตามช่องต่างๆ ด่าบ้างไหม?

อาจมีบ้าง ซึ่งทางเราก็มีเส้นในการตอบโต้นะ ถ้าบางเรื่องมันดูงี่เง่าเกินไป เราก็อาจจวกกลับด้วยความรุนแรงระดับหนึ่ง เพราะอย่างที่บอก ชื่อเพจ มันไม่ได้แปลถึงความสดใสในทุ่งลาเวนเดอร์ อยู่แล้ว และเพจนี้ก็ไม่ใช่เพจร้านอาหารฟาสฟู้ดที่จะตอบกลับคุณด้วยรอยยิ้ม ทุกอย่างมันมีลีลาการตอบแบบยียวนตามอารมณ์และสไตล์ของแต่ละคน

ซึ่งถ้ามองภาพรวมคิดว่า ไม่ถือว่ามากนะ สำหรับแฟนคลับ เค้าจะแซวๆกันเองมากกว่า เพราะบอกแล้วว่าข้อมูลที่เราเขียน ส่วนใหญ่มีฐานมาจากตัวเลขเรตติ้ง ส่วนความคิดเห็นหรือการวิจารณ์ก็ว่ากันแบบตรงไปตรงมา ตัวแอดมินไม่ได้เป็นติ่งช่องใด ค่ายไหนแน่นอน แต่ที่ไม่ค่อยโอเค คือ คนใน หรือ คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับองค์กรจริงๆบางคนมากกว่า ที่ยอมรับความจริงไม่ได้ และพยายามตอบกลับด้วยการพาล และ พาดพิงบุคคลที่ 3 ซึ่งทำให้เห็นว่าทำไมองค์กรนั้นๆที่ห่างไกลจากคำว่า “ประสบความสำเร็จ”

มีทีมงานกันทั้งหมดกี่คน? มาจากไหนกันบ้าง?

มีทั้งหมด 38 คน มาจากทุกที่ ทุกช่อง อาจเป็นคนที่คุณกำลังเปิดทีวีดูอยู่ หรือ อาจเป็นคนที่คุณเดินสวนกันระหว่างทางไปห้องน้ำ หรือ อาจเป็นคนที่ออกบัตรพนักงานให้กับคุณก็ได้ เรียกว่ามาจากทุกยูนิต ทุกกรม กอง และ ทุกแผนกที่คุณคาดไม่ถึง และด้วยจำนวนที่เยอะแบบนี้ บอกเลยว่าหลังบ้านเราปั่นป่วนมาก ถ้าดูดีๆจะเห็นว่า คำผิด มีตลอด เพราะบางคนแก้จากผิดเป็นถูก ถูกเป็นผิด สุดท้ายก็ผิดอีก จนมักถูกลูกเพจทำหน้าที่ตำรวตรวจภาษา ซึ่งส่วนตัวแอดมินชอบมาก และไม่ได้มองว่าเป็นการจับผิด แต่เป็นการใส่ใจในบทความที่เราเขียนมากกว่า (ยิ้ม)

อนาคตของเขวี้ยงรีโมท?

ก็คงเป็นเพจที่แอดมินว่างเมื่อไหร่ก็เขียน แลดูไม่ค่อยมีอนาคตเท่าไหร่? เหมือนวงการทีวีดิจิทัลบ้านเรา ที่หลายๆคนมองว่ามันกำลังสาละวันเตี้ยลง แต่เชื่อไหม? ไม่ยังไม่ได้นับถอยหลังแบบลงเหวกันหมดหรอก เหมือนกับวงการหนังสือพิมพ์ ที่บอกว่ามันกำลังจะตาย มันกำลังจะสูญหาย แต่สุดท้ายยังไง เราก็ยังเห็นว่ามีหนังสือพิมพ์ “ที่เหลือรอด” วางแผงอยู่ตามแผงหนังสือ แถมบางสำนักพิมพ์ก็ขยับขยายย้ายร่างมายังออนไลน์กันหมด

ทีวีดิจิทัลก็เช่นเดียวกัน มันอาจไม่โตไปมากกว่านี้ ในแง่จำนวนช่อง แต่มันไม่ตายแน่นอน เพราะเค้กงบโฆษณาที่มีอยู่เยอะมาก แล้วตัวหารก็เหลือแค่ สิบกว่าช่อง ก็ยังช่วยใหอุตสาหกรรมนี้ได้ไปต่อ ต่างกับออนไลน์ที่ตัวหารนับหมื่น และคุณๆ ก็ยังคงเสพความบันเทิงหรือคอนเทนต์ที่มี “แกนเหล็ก” จากการผลิต เฟิร์สรัน คือ “ทีวี” แม้ว่าคุณจะดูมันผ่านแพลตฟอร์มใดก็ตาม

แต่คิดว่าอนาคตของ “เขวี้ยงรีโมท” น่าจะขยายไปวิจารณ์หรือพูดถึง คอนเทนต์ที่น่าสนใจอย่าง LINE TV หรือ Netflix ตามแต่สมควรและเวลาเอื้ออำนวย

ใครจะมานำหน้า ใครจะตกกระป๋อง

ถ้ามองเฉพาะทีวีดิจิทัลนะ คิดว่าเบอร์ 1 ยังคงเป็นช่อง 7 จะเห็นว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ช่องนี้ ปรับตัวเก่งมาก เหมือนได้มือดีมาวางกลยุทธ์ แบบว่า แก้ไขจุดอ่อน เสริมจุดแข็ง ละครช่อง 7 พ.ศ.นี้ ถูกรีโนเวทปรับปรุงให้ทันสมัยขึ้น และพยายามดึงกลุ่มคนดูคือคนเมืองมากขึ้น แต่ก็ไม่ทอดทิ้งฐานหลักคือ กลุ่มต่างจังหวัด เนื้อเรื่องร่วมสมัย บทละครกระชับ นักแสดงสวยหล่อ สำหรับละคร ช่อง 7 เหลืออีก 2 ด่านที่ต้องเอาชนะ คือ 1. การทำให้เรตติ้ง กทม. สูงแบบเสถียร และ 2. การทำให้นักแสดงดัง แบบลูกค้าดึงตัวเป็นพรีเซนเตอร์โฆษณา หรือ ออกงานอีเวนท์ เพราะทุกวันนี้เวลาเบรกโฆษณาละครช่อง 7 มักจะมีสปอนเซอร์เป็นสินค้าที่มีนักแสดงช่องอื่นๆ เป็นพรีเซนเตอร์ทั้งนั้น ถ้าเอาชนะ 2 ด่านนี้ได้ รับรองว่า “ยืน 1” แบบสบายๆ ไม่ต้องมายด์กระแสอื่นๆ มาทำให้ขุ่นใจ

ส่วนช่อง 3 กำลังเผชิญความท้าทาย กับตัวเลขเรตติ้งที่ร่วงหล่นลงแบบน่าใจหาย แฟนช่องไม่ได้มีความภักดีกับเลข 33 อีกต่อไปแล้ว ทุกคนพร้อมเทใจไปเลขอื่นทันทีที่ ผลงานหน้าจอไม่โดนใจ ภาวะเรตติ้งไหลออกแบบเลือดออกนี้ ผู้บริหารใหม่ต้องลงมาแก้ก่อนจะสาย แล้วต้องแก้แบบให้ตรงจุด

ปัญหาสำคัญคือ การไม่ยอมรับ หรือ เรียนรู้ข้อผิดพลาดของตัวเอง มองด้วยความเป็นธรรมจะพบว่า เราจะเห็นความผิดพลาดแบบซ้ำแล้วซ้ำเล่าในหลายปัจจัย การรวบตึงช่องเหลือช่องเดียวอาจกลายเป็นผลเสียมากกว่าได้ด้วยซ้ำ ถ้ายังแก้กันแบบนี้ โอกาสหล่นบัลลังก์อันดับ 2 ถือว่ามี แต่คิดว่ายังไม่ใช่ปีนี้แน่นอน

เทรนด์เกี่ยวกับรายการทีวียอดนิยมในสายตาของเขวี้ยงรีโมท

รายการทีวียอดนิยม ถ้าเป็นหน้าจอทีวี ยังไงก็ต้องให้ “ละคร” แต่จะเป็นโจทย์ที่ท้าทายขึ้นสำหรับทุกช่อง ที่ต้องหาทางผลิตละครให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายตัวเอง ก่อนอื่นต้องรู้ว่าคนดูช่องตัวเองเป็นใคร แล้วผลิตละครออกมาแบบจริงใจ เช่น ช่องวัน รู้ชัดๆ แล้วว่าช่วงหัวค่ำ คนชอบแนวแฟนตาซี กับ ละครเพลงลูกทุ่ง ก็ลุยไป จัดเต็มไป ผลคือเรตติ้งมาจริง  นาทีนี้คุณไม่สามารถผลิตละครแบบสุกเอาเผากินได้อีกแล้ว คนดูพร้อมเทคุณทุกวินาที ทันทีที่คิดว่าของที่ดูอยู่ไม่ใช่ แล้วกระแสที่มันมาไวไปไว ถ้าจับจังหวะช้าไปแค่นิดเดียว โอกาสที่จะฟื้นคืนเรตติ้งกลับมายากไปทุกที เรียกว่า อายุของใบอนุญาตที่ลดน้อยลงไปทุกวัน มันไม่ใช่เวลามาลองผิดลองถูกอีกแล้ว

สำหรับใครที่อยากติดตามเขวี้ยงรีโมทและการวิเคราะห์เรตติ้งแบบสนุกๆ สามารถติดตามได้ที่ Facebook : เขวี้ยงรีโมท ได้เลยนะครับ แล้วอย่าลืมติดตามบทความของส่องสื่อได้คราวหน้า สวัสดีครับ