fbpx

หลายๆ ท่านคงเคยรับชมละครเรื่อง “สองนรี” อยู่แน่นอน เพราะทั้งกระแสจาก Social Media และเรตติ้งของละครเรื่องนี้ถล่มทลายตั้งแต่ต้นจนจบเลยทีเดียว และยังสร้างกระแสให้เกิดการพูดคุยเรื่องราวเกี่ยวกับเอชไอวีอีกด้วย วันนี้ส่องสื่อไปเจอตัวนางเอกเจ้าของบทบาท “หนึ่ง” และ “สอง” อย่าง “มิน พีชญา วัฒนามนตรี” ในงานสมัชชาเยาวชน TNY ซึ่งจัดกิจกรรมขึ้นให้กับแกนนำเยาวชนเพื่อที่จะพูดคุยและส่งข้อเสนอเรื่องเอชไอวีให้กับองค์การ UNICEF ประเทศไทย เลยขอนำตัวมาพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นละครเรื่องนี้ รวมไปถึงเรื่องราวเกี่ยวกับเอชไอวี จะเป็นยังไงติดตามกันได้เลย

ตอนที่เห็นบทละคร “สองนรี” ครั้งแรกรู้สึกเป็นยังไงบ้าง?

ตอนที่ได้อ่านบทครั้งแรกก็รู้สึกว่าบทแรงเนาะ คือเราไม่เคยเล่นบทบาทอย่างนี้มาก่อน ค่อนข้างเป็นอะไรที่ไกลตัว เช่น คำพูด คืออย่างในครอบครัวเราก็จะไม่ให้พูดคำหยาบ แต่เราก็มีพูดบ้างกับเพื่อนแบบไม่ได้แรงมาก แต่ตัวหนึ่งเองพูดแรงมาก แรงทุกคำ คือเขาไม่ได้มีแค่เอชไอวีแต่เขามีปัญหาทางจิตด้วย มันก็เลยเป็นอะไรที่ซับซ้อน ทีนี้พอเวลาก่อนที่เราจะเล่นก็ทำการบ้านมาเยอะว่าจริงๆ อาการทางจิตเป็นอย่างไร แสดงออกยังไง?

มีการไปหาข้อมูลจากแหล่งอื่นด้วยไหม?

จริงๆ มากับ UNICEF นี่แหละ ก่อนที่จะเล่นกับละครเรื่องนี้มินก็ได้ร่วมงานกับ UNICEF อยู่แล้ว ก็เลยเดินเข้ามาปรึกษาแล้วพี่ๆ UNICEF ก็ให้ข้อมูลดีมากๆ ดีจนเราก็เอา Feedback กับคนเขียนบทแล้วก็ทางช่อง ตรงนี้ก็ต้องขอบคุณทาง UNICEF ด้วย เพราะว่าเราก็เอาข้อมูลไปบอกเลยว่าเอดส์ปัจจุบันไม่เสียชีวิตแล้วนะ คือมันอยู่ได้ปกติมากเลย ซึ่งต้องขอบคุณคนเขียนบทและผู้กำกับมากที่นำเสนอสองนรีให้มันจบแบบนี้ และจบแบบให้กำลังใจ ให้ความเข้าใจผู้ป่วยและให้ข้อมูลกับคนที่ยังไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับเอชไอวี

Feedback จากคนดูเป็นยังไงบ้าง?

ดีมากๆ คือกระแสใน Social และกระแสเรตติ้งคือดีมากๆ มินว่ามันเป็นอะไรใหม่ๆ นะ การนำเสนอมันก็ไม่เหมือนเดิม คือเมื่อ 22 ปีก่อนมันเคยเอามาทำแล้ว ซึ่งตอนนั้นมินก็ยังเด็กๆ นะ แล้วก็ยังพูดไม่รู้เรื่อง ก็รับรู้ว่ามันเคยมีการเอามาทำแล้วในสมัยก่อน ซึ่งสมัยก่อนมันก็เล่าอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเอชไอวีก็น่ากลัว 

แต่พอนี่มัน 2019 เราก็มีการเล่าที่มันตรงกับยุคสมัยแล้วมันก็สอนคนไปด้วยว่าในปัจจุบันมันก็ยังมีอยู่นะ แต่จะทำยังไงให้อยู่ร่วมกันได้ ซึ่งมันก็สะท้อนออกมาจากการที่ตัวหนึ่งเองก็มีอาการทางจิตที่สะท้อนออกมา จนทำให้เขาได้ไปรับเชื้อเอชไอวี แต่เขาก็นำเสนอออกมาในตอนท้ายว่าเขากลัวว่าจะอยู่กับมันไม่ได้ คือพอไม่มีความเข้าใจก็จะรักษาไม่ได้ พอรู้ว่าเป็นก็ยังไม่ยอมรับและก็ยังไม่ไปตรวจสุขภาพแบบนี้

ภาพสมัยก่อนเกี่ยวกับเอชไอวีมองเป็นยังไงบ้าง?

จริงๆ สำหรับมินเมื่อก่อนเป็นอะไรที่ไกลตัวมาก คือแค่ตอนเด็กๆ ในโรงเรียนที่เราเรียนแล้วเราเห็นภาพแค่นั้นเองว่าเอชไอวีมันเป็นแบบนี้นะ มันติดจาก 3 ช่องทางนะ จากการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน และจากการคลอดลูก (แม่สู่ลูก) แล้วตั้งแต่เด็กจนโตเราได้รับข้อมูลที่ถูกต้องมาโดยตลอด เราก็เลยไม่ได้มีความกังวลเรื่องของเอชไอวีมาตั้งแต่ไหนแต่ไรอยู่แล้ว เวลาเจอก็เจอนะ แต่ไม่ได้ตกใจอะไรก็ปกติ สัมผัสเขา Sharing เหมือนเป็นเพื่อนคนหนึ่ง

มองยังไงกับสื่อที่ยังมองเอชไอวีในแง่ลบอยู่?

มินมองว่าคนเราก็ยังมีสิทธิ์ที่จะยังไม่เข้าใจ คือคนไม่รู้ว่าไม่รู้อะไร คือเวลาคนเขาไม่รู้ เรื่องง่ายก็คือทำให้เขารู้ แค่นั้นเอง คือมินคิดง่ายแค่นี้เลย อย่าทำให้มันยาก ไม่มีใครอยากจะไม่รู้ เพราะข้อผิดพลาดในชีวิตของเราที่ทำกันหลายๆ อย่างก็เกิดจากความไม่รู้นะ แล้วพอไม่รู้แล้วเราไม่บอกเขาก็ยิ่งไม่รู้ตัว แต่ว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่เราให้ความรู้เขาได้มากพอ มินก็เชื่อว่าเราจะมีความเข้าใจในการอยู่ร่วมกัน เรียกว่า “มีจุดร่วม สงวนจุดต่าง” สังคมก็จะอยู่ได้อย่างมีความสุข

เวลาผู้ติดเชื้อโดนตีตรา สำหรับมินเองมีวิธีการลดการตีตรายังไงบ้าง?

มันเป็นเรื่องปกตินะที่คนจะมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นอะไรก็ได้อย่างที่มินบอกนะ แต่ว่ามันก็ไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่เราจะเอามาใส่ใจ เพราะฉะนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่เเราแยกแยะข้อมูลแล้วเห็นว่าไม่ใช่ข้อเท็จจริง เราก็มีสิทธิ์ที่จะปฏิบัติตามสิทธิ์ของเราเช่นเดียวกัน ในขณะเดียวกันถ้าเขาแสดงความคิดเห็นแล้วมันเป็นข้อเท็จจริงขึ้นมา เราก็พัฒนาตัวเองให้เติบโตขึ้นเท่านั้นเอง ดีซะอีกที่เขามาบอก แต่ถ้าเขาเข้ามาพูดจาไม่ให้เกียรติ ดูถูกอย่างงี้ก็ไม่ถูกต้อง เราก็มีสิทธิ์ที่จะแสดงจุดยืนของเราอย่างเข้มแข็งแล้วก็มีความสุข มินว่าส่วนใหญ่เวลาที่คนทำอะไรไม่ถูกต้อง สุดท้ายเขาก็จะพ่ายแพ้กับสิ่งที่เขาเป็น หรืออย่าไปทำให้เขาเสียใจ คือเราไม่อยู่ด้วยความเกลียดแต่เราจะอยู่ด้วยความรัก เวลาคนไม่เข้าใจเราก็ทำให้เข้าใจ แค่นี้เราก็สบายใจแล้วเราก็มีความสุข

เรื่องสองนรี สอนอะไรให้กับคนดูบ้าง?

จริงๆ มินเชื่อว่าสองนรีสอนอะไรให้กับคนดูเยอะมาก หนึ่งคือเรื่องของครอบครัว ครอบครัวคือด่านแรกของการที่คนๆ หนึ่งโตมาเป็นประชากรที่มีคุณภาพหรือไม่ เพราะฉะนั้นสองนรี ถ้าสังเกตดีๆ ตัวละครอย่างหนึ่งเป็นตัวละครที่ถูกทำร้ายมาตั้งแต่ต้น แต่แข็งแกร่งมากในเรื่องของการเอาตัวรอดจนโตมา ทั้งการที่โดนล่วงละเมิดทางเพศมาตั้งแต่เด็ก แล้วก็โตมาในสังคมสลัมที่ไม่ได้มีการให้ความรู้ คนก็ไม่ได้พัฒนา แต่สุดท้ายมินเชื่อว่าคนจะอยู่ได้ถ้ามันมีสิ่งยึดเหนื่ยวอะไรสักอย่าง ซึ่งถ้าเรารู้ว่าคุณค่าของการที่เราเกิดมาคืออะไร? เราจะรู้ว่าเราจะใช้ชีวิตต่อไปเพื่ออะไร? มันเหมือนกับว่าวันที่เราโชคดีที่สุดคือหนึ่งคือวันเกิด สองคือวันที่เรารู้ว่าเราเกิดมาทำไม? คือถ้าเรารู้ว่าเราเกิดมาทำไมเราก็จะรู้เป้าหมายและใช้ชีวิตพุ่งไปที่จุดนั้น สุดท้ายเรารู้อยู่แล้วว่าเป้าหมายมันคืออะไร? แต่ระหว่างที่เราใช้มันคือที่สุดไง มันคือช่วงเวลาที่ดีที่สุดและสนุกที่สุดหรือว่ามีความสุขไปกับมัน เพราะฉะนั้นก็ใช้ชีวิตให้มีความสุขสิ 

พูดถึงเรื่องการมาช่วย UNICEF บ้าง มาร่วมช่วยอะไรเกี่ยวกับ HIV บ้าง?

จริงๆ ของเอชไอวีเพิ่งมีโอกาสได้เข้ามาร่วม เพราะก่อนหน้านี้มินจะไปในเรื่องของเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี แล้วก็การให้ความรู้กับแม่ที่ไม่รู้จะเลี้ยงลูกยังไง? หรือท้องโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่ว่าตั้งแต่ได้มาเล่นเรื่องสองนรีก็ได้มีการสื่อสารกับ UNICEF ตลอดอยู่แล้ว เรามีความตั้งใจที่จะช่วยสังคมในหลายๆ จุดที่มันไปไม่ถึงจริงๆ ก็ต้องยอมรับว่าในยุคนี้ข้อดีคือ Social Media มัน Impact และเข้าถึงคนทุกหย่อมหญ้ามากๆ เพราะทุกวันนี้คนถือมือถือ งั้นเราก็เลยมีความตั้งใจที่จะทำยังไงให้ประเด็นมัน Impact เพราะเรามี Instagram ที่มีผู้ติดตาม เราก็พอมีพลังที่จะเป็นกระบอกเสียงกระจายข้อมูลที่มันจำเป็นต่อสังคมได้ ขอแค่เขารู้เขาก็สามารถใช้ชีวิตได้ ขอแค่เขาเข้าใจเขาก็จะสามารถเติบโตได้อย่างถูกต้อง มันอาจจะดูเป็นเรื่องเล็กๆ สำหรับใครบางคน แต่มินเชื่อว่ามันยิ่งใหญ่ที่จะยกระดับสังคม ซึ่งเรื่องนี้ถ้ามินพูดตรงๆ คือมินทำคนเดียวไม่ได้ แต่เราจะเป็นจุดเล็กๆ ที่อย่างน้อยเราก็ทำแหละ แล้วก็อยากให้ทุกคนมาช่วยกัน

อยากฝากอะไรถึงคนที่ยังไม่เข้าใจเรื่องเอชไอวีบ้าง?

มินคิดว่าเมื่อทุกคนพูดถึงเรื่องเอชไอวีแล้ว อยากให้ทุกคนศึกษาข้อมูลให้ดี แล้วก็การอยู่ร่วมกันบนโลกใบนี้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดๆ ก็ตาม การไม่ดูถูกคนอื่นมันก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องอยู่แล้ว แล้วก็การใช้ชีวิตที่แบ่งปันความรักมันก็เป็นเรื่องสมควรที่จะทำ เพราะฉะนั้นเริ่มต้นถ้าเราไม่แน่ใจเรื่องอะไรก็การปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างให้เกียรติมันก็เป็นสิ่งจำเป็นอยู่แล้ว แล้วที่เหลือคือเรื่องของการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมให้เราลดความกลัว เมื่อไหร่ก็ตามที่ความรู้มันมากขึ้น ความกลัวจะลดลง

ทั้งนี้ ท่านยังสามารถติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับเอชไอวี สุขภาพ และเพศศึกษาได้ผ่านทาง Facebook : Growing Up With HIV. และบนเว็บไซต์ได้เร็วๆ นี้