fbpx

เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม เกิดเรื่องราวน่าเศร้าของวงการ K-pop อีกครั้ง เมื่อพบซอลลี สมาชิกวง f(X) เสียชีวิตในบ้านพักเธอเอง โดยผู้จัดการเป็นผู้พบศพเธอ ขณะนี้อยู่ในระหว่างชันสูตร แต่เชื่อว่าซอลลีจบชีวิตตัวเองจากภาวะซึมเศร้า ซึ่งก่อนหน้านี้เธอต้องเผชิญกับการถูกกลั่นแกล้งทางออนไลน์ หรือ Cyberbullying อย่างต่อเนื่อง

ซอลลี่ไม่ใช่เหยื่อรายแรกที่เลือกจบชีวิตจากภาวะซึมเศร้า

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2007 U;Nee หรือ Heo Yun นักร้องและนักแสดงหญิงชาวเกาหลีใต้ ที่จบชีวิตวัย 25 ปี ด้วยการแขวนคอตัวเอง เมื่อวันที่ 21 มกราคม ซึ่งก่อนหน้า U;Nee เผชิญกับการ Bully ของเนติเซนเกาหลีอย่างต่อเนื่อง จากการสอบสวนพบว่า สาเหตุเกิดจากภาวะซึมเศร้าและความเครียด ไม่มีจดหมายลาตาย แต่เธอเคยเขียนลงในเว็บไซต์ว่า

“ฉันรู้สึกว่าทุกอย่างว่างเปล่า ฉันกำลังเดินไปตามทางที่ฉันยังไม่รู้จุดหมาย”

เธอเสียชีวิตก่อนที่อัลบั้มที่สามของเธอ Habit จะออกจำหน่าย โดยต้นสังกัดยังคงกำหนดวางไว้เมื่อ 26 มกราคม ซึ่งออกจำหน่ายห้าวันหลังการเสียชีวิตของเธอ

25 กุมภาพันธ์ 2015 Ahn So-jin สมาชิกวง Baby Kara จบชีวิตตัวเองด้วยการฆ่าตัวตาย ด้วยการกระโดดตึกที่เป็นอพาร์ทเมนต์แห่งหนึ่ง จากรายงานเพิ่มเติมพบว่า โซจิน อยู่ในภาวะซึมเศร้า และตำรวจสันนิษฐานว่า อาจเป็นเหตุให้ตัดสินใจกระโดดจากอพาร์ทเมนต์ดังกล่าว

18 ธันวาคม 2017 Kim Jong-hyun สมาชิกวง SHINEE ส่งข้อความไปหาพี่สาว โดยเนื้อความบางส่วนนั้นได้มีเนื้อหาทำนองว่า “ลาครั้งสุดท้าย” และ “บอกสิว่าผมทำดีแล้ว” จากนั้นพี่สาวได้ติดต่อสายด่วนเหตุฉุกเฉินเพราะคิดว่าน้องชายอาจคิดฆ่าตัวตาย จากนั้นเวลาประมาณ 18:10 เจ้าหน้าที่พบร่างของจงฮยอนในสภาพหมดสติ เขาถูกนำตัวไปส่งที่โรงพยาบาลจากภาวะหัวใจหยุดเต้นและได้รับการ CPR ในทันที แต่อย่างไรก็ตามการช่วยฟื้นคืนชีพนั้นไม่เป็นผล จงฮยอนเสียชีวิตที่โรงพยาบาลเวลาโดยประมาณ 18:32 ด้วยอายุ 27 ปี จากการสืบสวนเชื่อว่าจงฮยอนได้เสียชีวิตลงจากการสูดดมควันพิษเข้าปอดมากเกินไป เนื่องจากเจ้าหน้าที่ค้นพบก้อนถ่านเผาอยู่ในกระทะขณะที่เข้าไปถึงอพาร์ตเมนต์ที่จงฮยอนอยู่

การจากไปของจงฮยอนเชื่อมโยงกับโรคซึมเศร้าจากข้อมูลในอดีต ภายหลังจากการเสียชีวิตของจงฮยอน Nine9 จากวง Dear Cloud ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของจงฮยอน ได้โพสต์ถึงจงฮยอนลงบน Instagram ส่วนตัว รวมถึงได้เปิดเผยจดหมายที่คาดว่าจะเป็นจดหมายลาครั้งสุดท้ายของเขา ข้อความในจดหมายโดยสรุปนั้นมีเนื้อหาเกี่ยวกับการ “ถูกกลืนกิน” จากโรคซึมเศร้า การรักษาที่ไม่เป็นผล และไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างจริงจังภายในสังคม รวมถึงความทรมานของเขาในขณะที่ตนเองอยู่ในสถานะบุคคลที่มีชื่อเสียง


ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่เมื่อเรื่องราวน่าเศร้ากลับมาเกิดขึ้นอีกครั้ง คำถามต่าง ๆ จึงเกิดขึ้นตามมาว่าเหตุใดศิลปินมักเผชิญกับภาวะซึมเศร้า

Park Jin-hee นักแสดงสาว ซึ่งเธอเขียนไว้ในวิทยานิพนธ์ของเธอว่า ศิลปินเกาหลีใต้ร้อยละ 40 เคยคิดฆ่าตัวตายกันมาแล้วอย่างน้อยหนึ่งครั้ง เนื่องจากขาดความเป็นส่วนตัว การถูกวิจารณ์ในแง่ลบ การถูกกลั่นแกล้งในออนไลน์ รวมไปถึงการแข่งขันในอุตสาหกรรม K-pop ที่สูงขึ้นและความคาดหวังจากแฟน ๆ จนเกิดความกลัวว่าจะไม่เป็นที่ยอมรับ

Cyberbullying

Cyberbullying หรือ การกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ หรือศัพท์ใหม่ที่บัญญัติโดยราชบัณฑิตฯ ว่า “การระรานทางไซเบอร์”

ความน่ากลัวของการ Cyberbullyig คือ ทุกคนที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด เวลาใดก็สามารถกลั่นแกล้งผู้อื่นได้ แย่กว่านั้นคือ พวกเขา “ไม่ต้องเปิดเผยตัวตน” ก็ได้่

วัยรุ่นที่ใช้ Social Media ร้อยละ 95 มีส่วนรู้ส่วนเห็นการ bully และร้อยละ 35 กลั่นแกล้งอื่นเป็นประจำ และร้อยละ 55 เห็นคน bully กันในเว็บไซต์เป็นประจำ

Knetz & Tnetz

การ Cyberbully ในแวดวง K-pop ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่เกิดมานานหลายปีแล้ว…

ถ้าใครอ่านข่าวเกาหลี เรามักจะเห็นคำว่า “เนติเซน” (Netizen) ซึ่งเรียกแบบเข้าใจง่ายๆ ว่าชาวเน็ต ซึ่งจะทราบกันดีว่าเนติเซนเกาหลีนั้นมีชื่อเสียง (แง่ลบ) เรื่องของการ Bully และการวิจารณ์ทุกการกระทำของไอดอลอยู่เป็นประจำ

ปี 2017 Yeri สมาชิกวง Red Velvet ถูกวิจารณ์หลังจากที่เธอไปร่วมงานศพจงฮยอน และร้องไห้ออกมา เธอถูกเนติเซนวิจารณ์ว่า “ปลอม” และ “เรียกร้องความสนใจ”

หรืออย่างเหตุการณ์ล่าสุดที่ Krystal, Victoria สมาชิกร่วมวง f(X) และ IU ที่ถูกเนติเซนวิจารณ์เนื่องจากไม่โพสต์ไว้อาลัยซอลลี จน Victoria ออกมาโพสต์และตั้งคำถามกับเรื่องดังกล่าว โดยผู้ใช้ทวิตเตอร์ @fxthailandfans ได้แปลโพสต์ไว้

หรือแม้กระทั่งเนติเซนไทยเอง ที่ นิกกี้ ณฉัตร จันทพันธ์ ได้เข้าไปคอมเมนต์อีโมจิร้องไห้ในไอจีของซอลลี แต่พบว่ามีบัญชีนิรนามในไอจีจำนวนมาก เข้าไปต่อว่านิกกี้ ในทำนอง “โหนกระแส” จนเจ้าตัวต้องลบคอมเมนต์ทิ้งไป

จากการเสียชีวิตซอลลี ทำให้ประเด็นการถูกกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้นกับศิลปิน กลับมาอยู่ในความสนใจของบรรดาแฟนเพลงและชาวเน็ตอีกครั้ง ไปสู่การตั้งคำถามที่ว่า เราจะจัดการและรับมือกับเรื่องนี้ยังไงดี?”

จากที่บอกข้างต้นคือ ปัญหาของ Cyberbully คือ เราหาตัวผู้กระทำได้ยาก ยิ่งเป็นบัญชีปลอมหรือไม่ระบุตัวตน ยิ่งเป็นไปไม่ได้ การกลั่นแกล้งในโลกจริง เรารู้ว่ามีการกลั่นแกล้ง เรารู้ผู้กระทำ แต่ในโลกอินเทอร์เน็ต เรารู้เราเห็นการกลั่นแกล้ง แต่เรา “ไม่รู้” ผู้กระทำ จนมีหลายคนที่เลือกจบชีวิตเพราะถูก bully มากขึ้น ทำให้เริ่มมีการเรียกร้องจนนำไปสู่การออกมาตรการคุมเข้มเสียที

Sulli’s Law

วันที่ 16 ตุลาคม สมาชิกรัฐสภาเกาหลีใต้ 9 คน ยื่นเสนอร่างกฎหมายฉบับใหม่ เพื่อจัดการกับ Cyberbully โดยเรียกกฏหมายฉบับใหม่นี้ว่า กฏหมายซอลลี่ (Sulli’s Law)

การเสนอร่างกฏหมายดังกล่าว เพื่อเป็นการบังคับใช้กฏหมายอย่างเข้มงวดต่อความคิดเห็นที่ส่งผลกระทบและเป็นอันตรายจากบุคคลนิรนามบนโลกออนไลน์  ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าวจะเตรียมนำเสนอต่อรัฐสภาเกาหลีใต้ ในช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้


กรณีของซอลลีและคนอื่น ๆ สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของอุตสาหกรรม K-pop ที่มีอัตราการแข่งขันที่สูง และการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ศิลปินหยุดอยู่กับที่ไม่ได้ ต้องพัฒนาตลอดเวลา จึงเกิดแรงกดดันทั้งจากแฟน ๆ และต้นสังกัด รวมไปถึงปัญหาของการ Cyberbullying ซึ่งไม่ใช่แค่ศิลปิน K-pop หรือบุคคลสาธารณะเท่านั้นที่โดน แต่ยังมีคนอีกหลายแสน หลายล้านคนที่ประสบกับเรื่องพวกนี้ และยังหาทางจัดการแบบเด็ดขาดไม่ได้เสียที

ในอนาคตหากกฎหมายดังกล่าวมีการบังคับใช้และลงโทษผู้กลั่นแกล้งอย่างจริงจัง บวกกับนโยบายของต้นสังกัดต่อการดูแลศิลปินทั้งเรื่องร่างกายและจิตใจให้ดีขึ้น เชื่อว่าเคสของซอลลี่จะเป็นเคสสุดท้าย และจะต้องไม่มีใครเลือกจบชีวิตลง เพราะการถูกกลั่นแกล้งบนอินเทอร์เน็ตอีก

R.I.P


อ้างอิง
http://english.chosun.com/site/data/html_dir/2007/01/22/2007012261006.html
https://www.ajunews.com/view/20171218220832781
https://www.theguardian.com/world/2017/dec/18/shinee-kim-jong-hyun-lead-singer-of-south-korean-boy-band-dies
https://n.news.naver.com/entertain/now/article/108/0002667935
https://www.bbc.com/thai/international-42421886
https://www.khaosod.co.th/entertainment/news_2976287
https://workpointnews.com/2019/10/17/sulli-law/