fbpx

บริษัท โมโน เทคโนโลยี จำกัด(มหาชน) ประกาศผนึกกำลังครั้งยิ่งใหญ่ กับการร่วมมือกับบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด(มหาชน) รวมถึงยูนิต GMM Studio ในการเป็นพันธมิตรร่วมกันสร้างคอนเทนต์ และการร่วมมือกันในครั้งนี้ถือเป็นการจับมือเป็นผู้นำคอนเทนต์และสื่ออันดับ 1 ของเมืองไทย โดยได้มีการวางแผนทั้งด้านการผลิตคอนเทนต์ ,ด้านกลยุทธ์ทางการตลาด และการขยายช่องทางการเข้าถึงคอนเทนต์ 

คุณปฐมพงศ์ สิรชัยรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บมจ.โมโน เทคโนโลยี เปิดเผยถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า “ถือเป็นความร่วมมือที่พิเศษมากๆ สำหรับโมโน กรุ๊ป ทั้งเราและจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ต่างก็มีจุดแข็งที่ชัดเจน เมื่อเรามาผนึกกำลังกัน ผมเชื่อว่าคอนเทนต์ที่ถูกสร้างขึ้นมานั้นจะเป็นคอนเทนต์ที่สมบูรณ์แบบที่สุด ดีที่สุด โมโนเองเป็นผู้นำด้านธุรกิจสื่อและการให้บริการข้อมูลและธุรกิจบริการด้านความบันเทิงครบวงจร ที่ครอบคลุมการนำเสนอเนื้อหาทุกประเภทที่ครอบคลุมการนำเสนอเนื้อหาทุกประเภทซึ่งมีการพัฒนาและเติบโตอย่างต่อเนื่อง 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสำเร็จของธุรกิจทีวีดิจิทัลในช่วงระยะเวลากว่า 5 ปี จากการนำเสนอ content ที่มีคุณภาพระดับโลก สดใหม่ และเข้าถึงลูกค้าทุกกลุ่ม ผลักดันให้ช่อง MONO29 เติบโตและสามารถครองอันดับต้นๆ จากการจัดอันดับความนิยมหรือเรตติ้งของผู้ชมที่ดีมาตลอด 5 ปี อีกทั้งฐานลูกค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอีกด้วย 

ด้านของ GMM Grammy เป็นผู้นำสื่อและคอนเทนต์ที่แข็งแกร่งและแข็งแรงที่สุดของเมืองไทย ทั้งเพลง ศิลปิน ซีรีย์ที่ครองใจวัยรุ่นได้ทุกเพศทุกวัยมาโดยตลอดระยะเวลายาวนานกว่าหลาย 10 ปี รวมทั้งเครือข่ายบนโซเชียลที่ครอบคลุมทุกกลุ่มอย่างชัดเจน วันนี้เรามีเป้าหมายเดียวกันในการผลิตเนื้อหาและคอนเทนต์ต่างๆ ที่สนุกสนาน มีคุณภาพแถมยังรับชมได้หลากหลายช่องทางในเครือ mono อีกด้วย”

ในส่วนของเนื้อหาและ content ที่ทางโมโนและแกรมมี่จะร่วมมือกันนั้นจะมีทั้งส่วนของนักแสดง ศิลปิน เพลง original content และคาราโอเกะ โดยวางแผนในการผลิตคอนเทนต์แบ่งเป็นดังนี้

  • การสร้างศิลปินกลุ่มใหม่ ภายใต้รหัสลับ “Girl Universe” ตั้งเป้าปีแรกจะผลิตให้ได้ 2 กลุ่ม จำนวน 20 เพลง 4 อัลบั้ม
  • Original Content จะเป็นการผลิตซีรีส์ร่วมกัน 6-8 เรื่อง/ปี เป็นซีรีส์ในแนว action, drama ,horror ,romantic comedy โดยใช้นักแสดงหลักจากจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ร่วมกับนักแสดงจากโมโน คาดหวังการเติบโตและความหลากหลายให้กับ MONO29 และ MONOMAX
  • ซีรีส์บางส่วนและคาราโอเกะ โมโนจะนำเข้ามาเสริมทัพคอนเทนต์ให้กับแพลตฟอร์ม 3BB TV โดยใช้เทคโนโลยีจาก KT Corporation ประเทศเกาหลีใต้ โมโนจะทำหน้าที่เป็น Master Content Provider ให้ 3BB เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ตั้งเป้าผู้ใช้บริการนี้ 1.5 ล้านรายในหนึ่งปี โดยบริการนี้จะเริ่มเปิดในไตรมาส 2 ของปี 2020
  • ร่วมมือในด้านการตลาดร่วมกัน ด้วยสื่อ ฐานลูกค้า และแฟนคลับทางโซเชียลเน็ตเวิร์ค ของทั้งสองฝ่าย
  • วิเคราะห์การขายโฆษณาทางดิจิทัลทีวีร่วมกัน เพื่อให้เกิดการกำหนดมาตรฐานราคาที่เหมาะสมกับเรตติ้ง และส่งเสริมอุตสาหกรรมสื่อทีวีของไทย

คุณฟ้าใหม่ ดำรงชัยธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลยุทธ์ สายงานธุรกิจ GMM music บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เปิดเผยว่า “ต้องยอมรับว่า content is king ยังใช้ได้อยู่ แต่นอกจากคอนเทนต์ที่ดีแล้ว ยังจะต้องมีพันธมิตรที่ดีมาช่วยกันขับเคลื่อน รวมทั้งแผนการตลาดที่ครบทั้งออนไลน์และออฟไลน์ควบคู่กันไปด้วย เพราะหากมีคอนเทนต์ที่ดีแต่ไม่ทำการตลาดก็จะประสบความสำเร็จยาก 

การที่เราได้มาจับมือกับกลุ่มโมโนในครั้งนี้จะเป็นการจับมือเพื่อผลิตคอนเทนต์ที่จะตอบโจทย์ผู้บริโภคให้ได้มากที่สุดและความถนัดของเราทั้งสองบริษัทเมื่อมาผสมผสานกันแล้วคิดว่าจะออกมา perfect และตอบโจทย์ตลาดอย่างแน่นอน อย่างในมุมของธุรกิจเพลงทางจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่มีทีมนักสร้างสรรค์เพลงที่มีฝีมือและสร้างผลงานเพลงดังเพลงฮิตมากมาย ความร่วมมือครั้งนี้เราจะมาร่วมสร้าง original album ให้กับเกิร์ลกรุ๊ปศิลปินแม่เหล็กของทางโมโนซึ่งมั่นใจได้ว่าจะได้ผลงานเพลงที่ทำให้ธุรกิจเพลงมีปรากฏการณ์ใหม่ๆ ที่น่าติดตามอย่างแน่นอน

อีกทั้งจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่มีความถนัดด้าน content ที่เกี่ยวกับวัยรุ่นและคนทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเพลง ศิลปิน series เราจึงมองความถนัดและเชี่ยวชาญของเราทั้งคู่ว่าจะสามารถช่วยกันเสริมให้กันได้ในทุกๆ ทาง สำหรับแผนกลยุทธ์ที่เราวางไว้ให้ 3 ปีต่อจากนี้เราจะมุ่งสร้าง 10 ศิลปิน  10 digital album  12 คอนเสิร์ต 30 Road tour event 200 เพลงคาราโอเกะและ 20 original content โดยคอนเทนต์ทั้งหมดจะต้องเป็นที่ถูกใจและตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคอย่างแน่นอน ให้สมกับเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญของ 2 บริษัทยักษ์ใหญ่แห่งวงการบันเทิงอย่างแท้จริง”

คุณอมฤต ศุขะวณิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง จำกัด เปิดเผยว่า “นับเป็นโอกาสที่ดีที่บริษัทมีความแข็งแรงทางด้าน content อย่างจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จะได้ร่วมงานกับพันธมิตรที่แข็งแกร่งอย่างโมโน ซึ่งจะทำให้ทั้งสองบริษัทสามารถโฟกัสในสิ่งที่ตัวเองถนัดในส่วนของ GMM Studio จะทำหน้าที่เป็นผู้ผลิต series ให้ในทิศทางที่โมโนต้องการ ในขณะเดียวกันโมโนก็สามารถโฟกัสด้านการสร้างและบริหารแพลตฟอร์มและทำการตลาดควบคู่กันไป ในส่วนของ content นั้นผมวางจุดเด่นของ series คือการเล่าเรื่องที่ซับซ้อน สนุก และน่าติดตาม เรามองว่าซีรีส์ที่ผลิตให้โมโนต้องสามารถเรียกผู้ชมทางโทรทัศน์ได้ และต้องสามารถเข้าไปอยู่ในบริการของ MONOMAX ที่สามารถดูในรูปแบบ OTT ได้ ซึ่งมีอายุที่นาน บางเรื่องอาจจะมีการพัฒนาเป็นซีซั่น 2 ถึง 3 ต่อไป ทั้งนี้การจับมือทำงานกันเป็นระยะเวลา 3 ปี มีจำนวนซีรีย์ที่วางแผนกันไว้เบื้องต้นมากถึง 20 ถึง 22 เรื่อง”


ทีนี้ เรามาฟังเรื่องราว ที่มาที่ไปของความร่วมมือครั้งยิ่งใหญ่ของ MONO x GMM Grammy แบบลึกขึ้นกัน โดยได้รับเกียรติจาก คุณปฐมพงศ์ สิรชัยรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บมจ.โมโน เทคโนโลยี และ คุณฟ้าใหม่ ดำรงชัยธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลยุทธ์ สายงานธุรกิจ GMM music บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ มาร่วมพูดไปกับเรา พร้อมตอบทุกข้อสงสัยแล้ว เรามาฟังกันเลยดีกว่า

พูดถึงความร่วมมือในครั้งนี้หน่อย

คุณปฐมพงศ์ : การร่วมมือ คือ ณ ตอนที่คุยในเรื่องของ อยู่ในธุรกิจเดียวกันนะครับ ตอนที่เจอกันเนี่ยฝั่งโมโนแกรมมี่เนี่ยเจอกัน คุยงานกันมากว่า 2-3 ปีแล้วอะครับ แต่พูดตามตรงไม่เคยคุยเรื่องการร่วมมือใดๆ เลย จะคุยกันงานย่อยๆ มากกว่า ทีนี้ในโปรเจกต์ที่มาแถลงข่าววันนี้อยู่ในกรอบการคุยงานกันแค่ 3 เดือน ซึ่งมันเป็น 3 เดือนที่พูดตามตรงว่า หลังจากเรื่องดิจิตอลทีวีที่บางช่องคืนสิทธิ์ครับ มันก็เหมือนกับเรารอด เรามั่นคง ในแกรมมี่มั่นคง เพราะฉะนั้นมันก็เลยเหมือนคิดโปรเจกต์ที่หลากหลายขึ้นว่าจากจุดที่เรามั่นคงแล้วเราทำอะไรได้ต่อ หาสิ่งที่เรามีปุ๊บในแกรมมี่ก็มีพอดี แล้วพอมาคุยปุ๊บมันเป็นส่วนที่มาเติมเต็มพอดี เพราะฉะนั้นในกรอบ 3 เดือนเนี้ยมันเหมือนกับแผนชนแผนอะครับ มันไม่ใช่ใครโน้มน้าวใครนะ ต่างคนต่างมีแผนแล้วมาผสมด้วยกันทั้งคู่ เพราะฉะนั้นแต่เดิมเนี่ยโมโนจะคุยกับแกรมมี่ จะคุยเป็นครั้งไป เช่น จัดคอนเสิร์ตขอซื้อลิขสิทธิ์เพลงหน่อย ขอยืมตัวนักแสดงมาแสดงหน่อย มันคุยเป็นแค่ 1 เรื่องใช่มั้ยครับ คราวนี้ต่างคนต่างมีแผนมาคุยกันปุ๊บ เรามี 3 ทางนี้มี 3 คุยไปคุยมาเลยเหมือนบนกระดาน เหมือนบนหน้าจอ ก็เลยกลายเป็นสุดท้ายสรุปกันมา 5 เรื่องร่วมมือกัน

ต้องเปิดบริษัทใหม่ไหม?

คุณปฐมพงศ์ : ในช่วงแรกคงไม่ต้องถึงกับเป็นบริษัทใหม่ เพราะว่าในบริษัทที่อย่างทางโมโนเองเนี่ยนะครับ ก็คือโมโนมิวสิคให้ทางแกรมมี่ช่วยของการปั้นของศิลปิน หาเพลงให้เนี่ย ก็คือยังอยู่ในโมโนมิวสิคอยู่ ส่วนการผลิต การคุยเรื่องคอนเทนต์ต่างๆ เนี่ย จะเป็นเรื่องของที่ทางเรามีการปิดดีล และก็ให้งบส่วนของทางแกรมมี่พอดี และก็ทำการตลาดบางส่วนด้วย เพราะงั้นก็ยังอยู่ในหน่วยของโมโนฟิล์ม กับบรอดแคสต์ ในช่วงแรกนี้ก็ยังไม่ถึงกับกลายเป็นบริษัทใหม่ เป็น Joint Venture แต่ในอนาคตไม่แน่ เพราะว่าคิดว่าพอมันมีการร่วมมือลงทุนมากขึ้น เป็นไปได้มันอาจจะต้องแบบพูดตามตรงนะครับเหมือนกับว่าต้องมีส่วนได้ส่วนเสียร่วมกันยาวขึ้น ตอนนี้ในบางส่วนใน 5 ข้อเนี่ย บางส่วนจะเป็นที่เราให้ทางแกรมมี่ผลิต ถ้าได้ทางเราจะได้เพิ่มในส่วนของการบริหาร บางส่วนจะเป็นการโตร่วมกันแบ่งรายได้กัน เพราะฉะนั้นก็จะมีแตกต่างกันไปในบางข้อ แต่ว่าก็คงเป็น Joint Venture คงต้องได้เสียร่วมกัน ได้ก็ได้ร่วมกัน เสียก็เสียร่วมกันตลอด

ถ้าเป็นซีรีส์จะเป็นลิขสิทธิ์ของทางแกรมมี่อย่างเดียวรึเปล่า?

คุณปฐมพงศ์ : ถ้าเป็นซีรี่ส์มันจะมีซีรี่ส์ 2 แบบครับ จะมีซีรี่ส์ที่ทั้งเราฉายบนช่อง แล้วก็ลงในแพลตฟอร์มหนัง ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นเราจ้างผลิต ซึ่งทางแกรมมี่ทำการบ้านมาว่าแอคชั่นเยอะหน่อย สืบสวนเยอะหน่วย แต่ก็จะมีบางอย่างที่เป็นในแนวคอมเมดี้ ส่วนพวกนี้ช่องจะไม่ค่อยได้เรตติ้ง ช่องเราก็แบบว่าคนดูจะคาดหวังกับแอคชั่น คอนเทนต์เหล่านี้จะเป็นทางช่องแกรมมี่ ช่อง one31 ช่อง GMM25 ฉายบ่อย แล้วมาลงใน MONOMAX ใน 3BB แล้ว access เดิมจะเป็น access ของทางแกรมมี่ แล้วเราซื้อสิทธิ์มา ขึ้นอยู่กับเรื่องครับ อันนี้แค่ยกตัวอย่าง

แบ่งรายได้กำไรกันยังไง?

คุณปฐมพงศ์ : ก็คือตอนนี้ในส่วนของการที่เช่าสิทธิ์ ซื้อสิทธิ์อย่างงี้ ก็คงเป็นเรื่องของทางเราง่ายๆ ก็ตรงตัวเนอะ แต่ว่าถ้าเป็นในเรื่องของที่กำลังคุยถึงเพลงหรือบางอย่างที่ไปลงใน 3BB บางส่วนเรากำลังคุยถึงเรื่องการเติบโตร่วมกันด้วย เพราะฉะนั้นก็จะมีทั้งส่วนที่เป็นค่าสิทธิ์บวกกับส่วนที่จะเป็นเรื่องของแบ่งรายได้ ในการแบ่งรายได้ตรงนี้เนี่ย ขออนุญาตที่ยังไม่ได้เปิดเผยเปอร์เซ็นต์ตรงตัว เพราะว่า 3BB TV เขารอเปิดตัวนิดนึง

ระบบ Interactive TV มันค่อนข้างใหม่ในไทย วิเคราะห์มองสถานการณ์ยังไง?

คุณปฐมพงศ์ : ใช่ อันนี้เป็นปัญหาของประเทศไทยเลย คือ Interactive TV นี่ เดิมมันคือชื่อที่เราจะรู้จักกันดี คือ IPTV แล้วปัจจุบันเราจะรู้จักในสิ่งที่แพร่หลายกันมากกว่า คือในรูปแบบ Cable TV แต่จริงๆ IPTV มันทำอะไรได้มากกว่านั้น ก็คือว่าถ้าเกิดมีรายการโหวตกดปุ๊บโหวตลงคะแนนได้เลย จะซื้อของกดปุ่มปุ๊บซื้อลงบิลได้เลย หรือแม้กระทั่งเรื่องคอนเทนต์ใช้ voice command ได้เลย

ที่นี้มันเคยเข้ามาในไทยในหลายๆ ผู้ให้บริการ แล้วทีนี้คนไทยไม่ชิน ส่วนมากไม่เวิร์ค แต่ว่าออสเตรเลีย ยุโรปใช้กันเยอะ การที่เราเอาเข้ามาอีกครั้งนึงเราก็เลยมองว่าถ้าเข้ามาครั้งนี้ เราไม่อยากให้เข้ามาเป็นแค่มาสอนว่าใช้ยังไง แต่เราอยากจะให้รู้ว่ามีอะไรน่าสนใจที่คุณจำเป็นต้องใช้ แล้วมันจะช่วยความบันเทิงยังไง ซึ่งนั่นเราก็เลยมองเป็นกลยุทธ์ของการที่ 3BB ก็เลยบอกว่าในเมื่อเค้าเป็น Engineer base เป็น Helper base แล้วเขาก็ไม่ถนัดเรื่องคอนเทนต์ เขาเลยบอกว่าเป็นไปได้ไหมที่โมโนจะเป็นเหมือนว่า Master Content Provider ในส่วนนี้ให้ เพราะฉะนั้นจากเดิมที่เราจัดการในเรื่องของ MONO29 ซึ่งในต่างประเทศเราก็รู้แล้วว่าการซื้อคอนเทนต์เป็นยังไง ภาพลักษณ์เป็นยังไง มาจัดการให้เขาได้ไหม และส่วนนี้มันก็เลยเป็นโจทย์ใหม่ตรงที่ว่าถ้าเราต้องการจัดการ

Interactive TV กำลังเป็นส่วนที่พรีเมียมกว่า แล้วก็มันก็ต้องเสียเงินในการซื้อ เพราะฉะนั้นการที่ได้คอนเทนต์ฟรี ดูฟรีกับทาง MONO29 กับสิ่งที่พรีเมียมกว่าเนี่ย คุณจะต้องเสียเงินแล้วก็จ่ายให้กับ 3BB TV ตรงนี้มันต้องแยกเซ็ตกัน ตรงนี้ก็จะเป็นโจทย์ที่ทางโมโนจัดการให้ แล้วเราก็คิดว่ามันดีแล้วก็เลยจัดการเรื่องของว่าจะมีพรีเมียมซีรี่ส์ ช่องต่างประเทศ แล้วก็ซีรี่ย์ไทยนะครับ เพลง คาราโอเกะ

มันจะไปตีกับบริการของ MONOMAX รึเปล่า?

คุณปฐมพงศ์ : จริงๆ แล้วก็จะมีบางส่วนที่ตีกัน บางส่วนก็ไม่ตีกัน เพราะ MONOMAX จะไปเป็นส่วนหนึ่งของ 3BB TV ตัวนี้ด้วย เพราะฉะนั้นในส่วนที่เป็นซีรีส์ต่างประเทศก็ดูผ่านช่อง MONO29 ได้ แต่ในบางครั้งก็ไม่อยากรอตามโปรแกรมที่มันจะมาตอน 17.00 น. ตอนนี้ฉันว่าง ตอนนี้อยากดูเลยก็เลือกจากบริการของ MONOMAX ไปได้ทันที ซึ่งมันก็จะดีกับลูกค้าต่างจังหวัดบางส่วนด้วย ต้องพูดตามตรงว่าพฤติกรรมของคนไทยบางครั้งถนัดแต่เล่นไลน์ แต่ว่าเขาไม่ถนัดกับการค้นหาข้อมูลต่างๆ การส่งอีเมล์ การเข้า URL เพราะฉะนั้นการที่เขาใช้บริการบนหน้าจอทีวีเลยในการเลือกคอนเทนต์ น่าจะเป็นสิ่งที่เขาสะดวก เพราะฉะนั้นเราจะเติมในส่วนนี้ว่าเขาจะสะดวกในการใช้ MONOMAX ก็เป็นส่วนเติมเต็มขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง

คอนเทนต์ของแกรมมี่จะไปอยู่ในส่วนไหนของ 3BB TV บ้าง?

คุณปฐมพงศ์ : ก็จะมีซีรีส์ไทยนะครับ แล้วก็อาจจะมีละครรีรัน คอนเสิร์ต และคาราโอเกะ 

3 เดือนถือว่าเร็วไปไหมสำหรับการจับมือร่วมกัน?

คุณปฐมพงศ์ : จริงๆ แต่ละบริษัทก็มีแผนอยู่แล้ว วิเคราะห์กันมาอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเรากำลังหา Partner ที่เหมาะ เพราะฉะนั้นก็เหมือนกับผมมองหาใครสักคนที่เหมาะ แกรมมี่ก็เรียกว่าเป็นตัวเลือกแรกพอดี แกรมมี่กำลังหาคนที่เหมาะกับแผนของเขา โมโนเป็นตัวเลือกแรกพอดี มันก็เลยมาเจอกันโดยที่ไม่ได้รู้สึกว่าเร็วเกินไป

MONO29 จะได้ประโยชน์อะไรจาก Project นี้?

คุณปฐมพงศ์ : ตัวของช่อง MONO29 เราพยายามเติมในส่วนของซีรีส์ไทยเข้าไปผสมอยู่แล้ว ปัจจุบันซีรีส์ไทยที่อยู่ในช่องพูดตามตรงว่าอยู่ในแอร์ไทม์คือร้อยละ 2 จากผังทั้งหมด ส่วนของข่าวและคอนเทนต์ต่างประเทศมีร้อยละ 98 แต่ทีนี้เนี่ยการที่มีคอนเทนต์ไทยอยู่บ้าง เรามองว่าดาราไทยไม่เคยที่จะได้รับชื่อเสียงหรือโอกาสจากทางโมโนเลย เราก็เลยเติมเข้าไป 

ทีนี้พอเติมเข้าไปก็มีเรื่องตี๋ใหญ่ที่ “เต๋า สมชาย” เล่นอยู่ ก็ไปตลาดมีแต่คนเรียกว่าตี๋ใหญ่ๆ เพราะฉะนั้นจากจุดนี้การที่เราเติมส่วนนี้เข้าไปให้มันมากขึ้น จาก 2 เป็น 5-8% ให้โอกาสกับหนังต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่อยู่ แต่ก็ทำให้คนที่ดูช่อง MONO29 ทั้งวันอยู่มันราบเรียบ พอดูหนังต่างประเทศจบต่อด้วยซีรีส์ไทย โดยผู้ผลิตคนไทย ผู้กำกับไทย นักแสดงไทยที่ได้โอกาสแบบนี้ ในการที่จะก้าวสู่ระดับโลก เราน่าจะดีขึ้น ผมมองว่าอย่างนั้นนะ มองว่าเราให้โอกาสตรงนั้นมากขึ้น แต่ไม่ได้เติมจนถึงขั้นเป็นคอนเทนต์หลักในช่อง ก็จะเติมเป็นในส่วนของกิมมิค แล้วถ้ามองในอนาคต ถ้าเป็นไปได้ก็อาจจะ Co-Production กับต่างประเทศด้วย ส่วนที่แกรมมี่มาเติม แทบจะเติมในทุกๆ แพลตฟอร์มของเรา 

ผลตอบรับในการลงซีรีส์ไทยเป็นยังไงบ้าง?

คุณปฐมพงศ์ : ก็ดีขึ้นเรื่อยๆ คือพูดตามตรงว่าจากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ในช่วง 3 ปีแรกก็ไม่ได้ขนาดว่าเรตติ้งเท่ากับคอนเทนต์ต่างประเทศ แต่ล่าสุดเราได้ค่าเฉลี่ยแล้ว มีการยอมรับดีขึ้นเรื่อยๆ แต่คนส่วนใหญ่ก็จะมองว่า เพราะเขาเห็นวิธีการนำเสนอแบบไทย แสงสีบางอย่างมันดูออกว่าเป็นไทยมากๆ เขาก็ไม่ให้โอกาส ซึ่งตรงนี้มันก็เหมือนแฟนคลับใครแฟนคลับมันนะครับ แฟนคลับแกรมมี่ชอบสไตล์แกรมมี่ แฟนคลับโมโนก็ชอบสไตล์โมโน ซึ่งเขาดูต่างประเทศมาก พอเห็นของไทยแสงสีมันไม่ใช่ แล้วก็บ่นด้วยนะว่าจะเปลี่ยนช่องแล้ว 

เพราะฉะนั้นเนี่ยถ้าเรายอมแพ้ก็คือคุณก็ซื้อต่างประเทศทั้งหมด ผู้ผลิตไทยไม่ได้โอกาสอีกเลยนะ แต่เราก็บอกว่าไม่ได้สิ ทำไมเราไม่ให้โอกาสผู้ผลิตไทยทำแสงสีให้มันเข้ากับต่างประเทศบ้างล่ะ เวลาคนดูเห็นแล้วเขาไม่เปลี่ยนช่อง ซึ่งพอฉายออกไปแล้วเรตติ้งโดยเฉลี่ยได้เท่ากับคอนเทนต์อื่นๆ แล้วเราก็ดีใจ เราลงทุนเรื่องของ Production เรื่องของ Colur Grading ที่มาจากต่างประเทศ ซึ่งผู้ผลิตก็มาใช้กล้องอย่างดี เป็น HD – 4K ซึ่งปัจจุบันถามว่า MONO29 ก็เป็นช่อง SD แล้วจะทำ 4K ไปทำไม? มันไม่มีที่ให้ออก แต่เราก็ถ่ายไว้ก่อน เพื่อที่จะได้ Colur Grading ที่ดี ที่เราถ่ายความละเอียดสูงเอาไว้ก่อน เพราะจะได้ปรับค่าละเอียดสีได้ลึกขึ้น อันนี้เราลงทุนเองหมดเลย ทีนี้การลงทุนแบบนี้พอคอนเทนต์ไปลงที่ 3BB TV ไปลงที่ MONOMAX ก็จะเห็นความละเอียดซึ่งขึ้นกับอินเตอร์เน็ต 

Slot เวลาซีรีส์ไทยของ MONO29 จะอยู่ในเวลาไหน? แล้วจะมีปรับเพิ่มอีกไหม?

คุณปฐมพงศ์ : ตอนนี้เราใส่คอนเทนต์ไทยเข้าไปอยู่นะครับ สำหรับภาพยนตร์ไทยเราปะปนกับภาพยนตร์ต่างประเทศอยู่ตลอดทั้งวันอยู่แล้ว แต่ว่าส่วนใหญ่จะอยู่ช่วงเช้าบ้าง เย็นบ้าง แต่ถ้ามี Slot ประจำ เราจะใส่เย็นวันศุกร์ กับเสาร์-อาทิตย์ตอน 15.00 น. อันนี้เป็นกลยุทธ์เพื่อให้คนเริ่มจำได้

ในส่วนของรายได้ 3-5 ปีนับจากนี้จะเป็นอย่างไรบ้าง?

คุณปฐมพงศ์ : จริงๆ ของทางโมโนเองก็ถ้าพูดถึงเรื่อวิธีของการทำรายได้ในอนาคต เรามองว่าอันที่หนึ่งในช่วง 3 ปีก่อน อันดับหนึ่งก็ยังคงเป็นเรื่องของทีวี อันดับที่ 2 ก็คือตัวออนไลน์อย่าง MONOMAX และอันดับ 3 ก็คาดว่าจะมาจากการเป็น Master Content Provider ให้กับ 3BB TV เพราะว่าที่คุยกันเรื่องของการขาย 3BB TV Standard Package ทางโมโนจะได้ส่วนแบ่งของรายได้ด้วย อันดับที่ 4 กำลังคิดว่าเป็นเรื่องของ Sponsership เพราะว่าปัจจุบันเรามีกิจกรรมทั้งที่เป็น Road Show คอนเสิร์ต และกีฬาต่างๆ ส่วนนี้หลายคนที่ชื่นชอบ เราก็เลยมี Road Show ออกมาเรื่อยๆ และปีหน้าน่าจะโตเป็นอันดับที่ 4 และอันดับที่ 5 ก็จะเป็นอย่างอื่น อย่างเช่น Home Shopping ซึ่งคิดว่า 1-2 ปีข้างหน้าน่าจะเป็นประมาณนี้ครับ

ทั้งสองบริษัทเอง รายได้ของ Home Shopping ลดลงรึเปล่า?

คุณปฐมพงศ์ : จริงๆ ในส่วนของ Home Shopping สัดส่วนรายได้คือเป็นส่วนเสริมอยู่แล้ว ณ ตอนนี้ คือก็ไม่ได้เป็นรายได้หลัก เราเลยไม่ได้มองว่ามันเป็นส่วนลดหรือส่วนเพิ่ม 

คุณฟ้าใหม่ : เศรษฐกิจไม่ดีมั้งครับ (หัวเราะ)

ซีรีส์ไทยสัดส่วนร้อยละ 2 คือมีทั้งหมดกี่เรื่อง? แล้วจะเพิ่มประมาณเท่าไหร่?

คุณปฐมพงศ์ : คือเดิมโมโนผลิตซีรีส์หรือละคร เรามีเติมโดยประมาณ 4 เรื่อง/ปี แล้วในปัจจุบันเราเติมด้วยการผลิตเป็นหนัง เป็นภาพยนตร์ที่มีคุณภาพ เหมาะสมลงทีวีเลย ไม่ต้องเข้าโรงภาพยนตร์ ตรงนี้เราผลิตมาแล้วประมาณ 12 เรื่อง แล้วก็เติมในส่วนของละครหรือซีรีส์ประมาณ 4-6 เรื่อง ซึ่งสองส่วนนี้จะมีความเหมือนหรือต่างกันอยู่ 

อันที่จริงที่เราผลิตเป็นภาพยนตร์ไปเลยก็เป็นเพราะว่าคนดูโมโนมีพฤติกรรมที่เปิดดูทั้งวันใช่ไหมครับ แล้วถ้ามันรีรันอีกครั้งหนึ่งมันก็เนียนไปกับผังรายการช่อง มันก็จะดูง่าย ส่วนซีรีส์บนช่องเรา เราต้องสร้างพฤติกรรม เราต้องยอมรับว่าคนที่ติดเราส่วนใหญ่ติดหนัง ไม่ค่อยได้ติดซีรีส์ แต่เราก็ยังอยากเติมซีรีส์ พอเป็นซีรีส์แล้วเราต้องจดจำว่าให้เขามาดูเวลาเดิม เพื่อให้มันต่อเนื่อง อันนี้ก็เลยเป็นโจทย์ที่เราค่อยๆ เติมเข้าไป ก็เลยมีผลิตออกมาเป็นสองแบบ ส่วนภาพยนตร์รีรันง่าย ส่วนที่เป็นละครซีรีส์เราไม่เคยเอามารีรันเลย เพราะการรีรันครั้งหนึ่งมันเหมือนกับการ Take Slot ไปอีกช่วงหนึ่ง เราก็เลยไม่ค่อยจะรีรันช่วงนี้

การได้ Local Partner มาผลิต Original Content จะทำให้สัดส่วนงบประมาณการซื้อลิขสิทธิ์จากรายการต่างประเทศน้อยลงไหม?

คุณปฐมพงศ์ : จริงๆ แล้วมันเหมือนกับการที่ผมบริหารงบคอนเทนต์ของทั้งบริษัทเท่าเดิม แล้วก็เปลี่ยนจากการที่เอาง่ายๆ ผมตั้งงบส่วนนั้นอยู่แล้ว แล้วส่วนนั้นผมตั้งให้กับ Local Content อยู่แล้วไม่ว่าจะซื้อจากที่มันผลิตเสร็จ หรือผลิตเอง หรือให้แกรมมี่ผลิตให้มันก็อยู่ในก้อนที่เราจัดสรรให้อยู่แล้ว เพียงแต่การเพิ่มจาก 2 เป็น 5-8% มันเป็นแผนใน 2 ปีที่ผ่านมาอยู่แล้ว ซึ่งผมกำก้อนนี้ไว้แล้ว

เอาง่ายๆ ถ้าผมไม่ให้แกรมมี่ผลิต ผมก็หา Suppler รายอื่นแต่ผมก็คาดการณ์เรื่องคุณภาพไม่ได้ พอให้แกรมมี่ผลิต คุณฟ้าใหม่ไม่ได้มาแค่แผนการผลิต แต่มาดูด้วยว่าแผนการทำการตลาดทำยังไงบ้าง? ก็เป็นผู้เชี่ยวชาญ เราก็สบายใจ

งบประมาณของการผลิตคอนเทนต์อยู่ที่เท่าไหร่?

คุณปฐมพงศ์ : การผลิตคอนเทนต์อย่างเดียวรวมทุกช่องทางเลยนะครับ ทั้งโมโนตอนนี้จะอยู่ที่ประมาณ 1,200-1,800 ล้านบาท แต่เดิมที่เราเคยคุยกันเมื่อ 2 ปีที่แล้ว สัดส่วนจะอยู่ที่แค่ 1,000 ล้านบาท แต่ตอนนี้เราขยับมา 1,200 ล้านบาท และอาจจะขยับถึง 1,800 ล้านบาท โดยเป็นงบ Local Content ประมาณ 10% 

โมเดลที่ปรับๆ กันของทีวีดิจิทัลจะทำให้แต่ละช่องรอดกันไหม? 

คุณปฐมพงศ์ : ก็ตามที่บอกครับ ดิจิทัลทีวีจะรอดไม่รอดขึ้นอยู่กับการบริหารงบการเงินด้วยว่าใช้จ่ายหนักไปรึเปล่า? แล้วก็คนดูยอมรับที่จะทำให้มีเรตติ้งหรือโฆษณาเข้ารึเปล่า? นอกจากนี้คนที่อยู่รอดก็ยิ่งได้คว้าโอกาสที่จะได้เงินมันแคบลงมาเหลือไม่กี่ราย ผมว่าถ้าอยู่รอดก็คงรอดไปอีกยาว คนดูที่ดูดิจิทัลทีวีถ้าตามกระแสจากเกาหลีใต้ยังไงก็ยังมีคนดูอยู่ 3-5 ปีแน่นอน ไม่ได้หนีไปไหน แต่ก็จะมีไปเบียดบังเวลาดูผ่านแพลตฟอร์มอื่นบ้าง แต่ถ้าลง OTT แล้วเอเจนซี่โฆษณาจะไปลงโฆษณาที่ไหน? เพราะ OTT มันไม่ได้รับโฆษณา เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นโจทย์สำคัญมากว่าดิจิทัลทีวีจะดึงดูดคนได้มากน้อยแค่ไหน? ผมถึงได้บอกว่าการที่ผมกำลังคุยเรื่องของการโปรโมทคอนเทนต์ต่างๆ บนดิจิทัลทีวี ผมอยากให้ดิจิทัลทีวีอยู่รอดกันทั้งหมด

แล้วส่วนหนึ่งที่โมโนกำลังพูดถึงอยู่ก็คือในปีหน้าเรากำลังจะปรับราคาโฆษณาด้วย ทีนี้การปรับราคาก็พูดตามตรงว่าในช่วงแรกที่เกิดการแข่งขันดิจิทัลทีวี มันก็มีทั้งเรื่องของการเป็นหน้าเก่าหน้าใหม่เข้ามา พ่วงกับธุรกิจเก่าธุรกิจใหม่ โมโนในฐานะผู้เล่นหน้าใหม่ บางคนก็ไม่มั่นใจว่าจะขึ้นรึเปล่า? เรตติ้งจะแกว่งรึเปล่า? เราก็เลยมีราคาซึ่งหลายคนก็สงสัยว่าเป็นการตัดราคาตลาดรึเปล่า? เพราะเราถูกประเมินว่าเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ในตลาด วันนี้ในการที่เรามีคนดูกระจาย ถึงมันจะเป็นคอนเทนต์ต่างประเทศ ดูเป็นคนเมือง แต่จริงๆ แล้วคนดูก็ดูเราหมด เรตติ้งเป็นอันดับ 3 ถาวรมา 2 ปี แล้วก็ภาพลักษณ์ต่างๆ ถ้าคนดูของเรานึกถึงหนังเรื่องนี้ก็ต้องมาเปิดที่ช่องของเรา คือคนดูมีความรู้นะ อย่างคนต่างจังหวัดดู Fast & Furious เขาก็อยากปรับจาก Local มาตรงนี้บ้าง

ผมว่าแฟนคลับของ MONO29 และการคงอยู่ตอนนี้มันทำให้เห็นว่าราคาโฆษณาไม่จำเป็นต้องตัดราคาใคร ซึ่งถ้าทางโมโนไม่ได้ทำราคาเพื่อตัดราคาใครจะสังเกตว่าช่องอื่นๆ น่าจะดีใจที่ทุกคนจะได้เห็นราคาที่เป็นมาตรฐานแล้ว ดังนั้นมันก็จะทำให้โตกันทั้งตลาด ฉะนั้นวันนี้เราจะไม่ได้มากลัวว่าคนจะไม่ดูเราแล้วไป Disrupt ที่อื่น เราควรมองว่าคนที่กำลังรอดอยู่ในตอนนี้เป็นดิจิทัลทีวีทั้งหมด ถ้าเรามาคุยกัน ร่วมมือต่างๆ หรือว่ามาคุยกันว่าเรามาเอาใจลูกค้า เอาใจเอเจนซี่อย่างไรบ้าง ในเมื่อคุณมีดิจิทัลทีวีอยู่ คุณกลัวออนไลน์ใช่ไหม? โมโนมีดิจิทัลและออนไลน์ มาไหม? ทางแกรมมี่มีทั้งช่องทีวีและการ Tie-in ในตัวคอนเทนต์ได้ พอใจไหม? ฉะนั้นมันจะมีลูกเล่นต่างๆ ที่ทำให้รายได้เข้าสู่ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการทีวีที่ไม่ได้หนีไปไหน จริงๆ เรามีออนไลน์นะ แต่ทีวีก็ต้องอยู่ของเขา อันนี้ผมอยากให้การเติบโตของดิจิทัลทีวีเป็นแบบนี้ เราอย่ามองว่าใคร Disrupt เรามองกันว่า Disrupt ตัวเองกันก่อนไหม? มาช่วยกันปรับพฤติกรรมของการซื้อการขายกันก่อนไหม? เพื่อให้รายได้ส่วนนี้ไม่หนีไปช่องทางอื่น

ปรับราคาโฆษณาในรอบปีนี้รึเปล่า?

คุณปฐมพงศ์ : จริงๆ ของโมโนเอง เราเคยปรับครั้งหนึ่งเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว แต่ครั้งนี้คงจะปรับในฐานะที่ว่าไม่อยากให้ใครมองว่าเราตัดราคาใคร หรือเขาบอกว่าให้สมฐานะกับสิ่งที่อยู่ในระดับมาตรฐาน คร่าวๆ ในช่วงไพร์มไทม์เราขึ้นเกือบ 200% เพื่อให้เหมาะสมกับเรตติ้งและกลุ่มฐานคนดูด้วย ว่าฐานคนดูแบบนี้จะซื้อประมาณไหน? ซึ่งช่วงไพร์มไทม์ของเราเหมือนกับช่องอื่นๆ เลยก็คือ 17.00-22.00 น.

การปรับโฆษณาจะมีส่วนช่วยให้รายได้เพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน?

คุณปฐมพงศ์ : ส่วนนี้คงช่วยเรื่องรายได้แล้วก็จะเป็นรายได้ขนาดไหนคงต้องดูผลตอบรับหลายอย่าง อย่างที่บอกว่าการที่ปรับราคาของเราหลายคนชอบไพร์มไทม์ ก็ยังเชื่อมั่นในไพร์มไทม์ บางคนก็ขอไปลงเวลาอื่นแทน ก็คิดว่าเรื่องคาดหวังได้ไหม? คาดหวังแน่ๆ ครับ แต่จะช่วยได้มากขนาดไหน? เดี๋ยวคงอาจจะต้องรอดูนะครับ

การปรับโฆษณาในครั้งนี้จะมีการปรับคอนเทนต์ให้หนังชนโรงมีมากขึ้นไหม?

คุณปฐมพงศ์ : ก็ยังคงเป็นหนัง Blockbuster อยู่ แต่ตอนนี้ภาพยนตร์ที่เข้าโรงแล้วจะเข้าสู่ MONO29 ตอนนี้ก็มีหลากหลายแนว เร็วที่สุดก็คือประมาณ 9 เดือน จนถึงประมาณ 2 ปี ตามไลน์ที่จะเข้า แล้วแต่เรื่องครับ ซึ่งมันขึ้นอยู่กับแนวทางตอนนั้น เรื่องลิขสิทธิ์ เรื่องการโปรโมทต่างๆ บางเรื่องพอเขาเข้าแล้วเขาเห็นว่าเดี๋ยวจะมีเรื่องต่อไปที่จะออกฉาย แล้วเรื่องนี้เป็นภาคเก่า บางทีเขาก็อาจจะลัดคิวให้เรารีบออกอากาศ เพื่อที่จะได้โปรโมทไปสู่ภาคต่อๆ ไป อันนี้ก็แล้วแต่การตลาดของแต่ละค่ายหนังด้วยเช่นกัน

จริงๆ ตอนนี้เดินไปต่างประเทศ เราเนื้อหอมมากนะครับ แต่ก่อนคือเดินไปแล้วมีแต่คนถาม “โมโนช่องอะไร?” แต่ตอนนี้พอเรามีแบบนี้ เราเดินไปต่างประเทศคนก็แบบอยากจะนัด อยากจะคุยอะไรแบบนี้ แต่คอนเทนต์ก็จะมีทั้งถูกลงและแพงขึ้น คือผมมองอย่างนี้ บางคนที่พยายามจะขายเป็นแพคเกจใหญ่ ราคาหนังต่อเรื่องก็จะถูกลง เป็นเรื่องธรรมดา บางคนที่มองว่าถ้ามาลงที่ช่อง MONO29 แล้วจะเป็นการโปรโมทภาคต่อๆ ไปของเขาด้วย บางทีเขาก็จะให้อะไรเพิ่มโดยเฉลี่ยก็จะถูกลง บางส่วนที่แพงขึ้น เพราะว่าเขาอยากจะให้เราจัดการมากกว่านั้น หรือบางทีก็ไปพาดกับ OTT อะไรประมาณนี้ มีการแย่งกันก็จะมีโอกาสแพงขึ้น รวมทั้งในวงจรของหนังต่างประเทศ เมื่อมันสดใหม่ราคามันจะแพง เมื่อมันผ่านไปหลายๆ ปีราคาก็จะตกลง

จะมีการ Co-Package โฆษณากันไหม?

คุณปฐมพงศ์ : อันนี้พูดยาก ถ้าพูดถึงการ Co-Package มันจะทำให้ทีม Sale 2 ทีมต้องมาแบ่งค่าคอมมิชชั่นกัน (หัวเราะ) มันยากครับ อย่างที่คุยกันจนเคลียร์เรื่องกระบวนการทำงานของทั้งสองบริษัท อย่างต่ำคือต้องคุยอย่างละ 5 ทีมเลย แต่ 5 ทีมนี่คือโตร่วมกันใช่ไหม? แต่ถ้า Co-Sale นี่แต่ละทีมต้องมาตบตีแย่งคอมมิชชั่นกันอีก เป็นเรื่องกันไปอีก 

ทีมที่ร่วมกันพัฒนามีทีมไหนบ้าง?

คุณปฐมพงศ์ : ทีม Production , ทีมเพลง , ทีมลิขสิทธิ์ , ทีมการตลาด , ทีมเทคนิค 

ในอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล จากที่หลายช่องแข่งกันกลายเป็นว่าต้องมาร่วมมือกัน ตรงนี้มันสะท้อนอะไรได้บ้างไหม?

คุณปฐมพงศ์ : สำหรับผม ผมมองว่าทุกคนถ้าอยู่รอดปลอดภัยแล้ว คือถ้าไม่อยู่รอดปลอดภัยคือต้องทำให้ตัวเองรอดก่อน แต่พออยู่รอดปลอดภัย ตอนนี้ผมมองว่ามีบางส่วนที่ผมผลิตแล้วผมผลิตไม่เก่ง ผมต้องมองหาคนที่ผลิตเก่งให้กับผม บางส่วนที่ผมผลิตแล้วไม่มีประสิทธิภาพ ถ้าผลผลิตเอง สมมุติผมใช้ 100 มีคนที่ผลิตเหมือนกันแต่เขาคิดแค่ 80 ผมอาจจะต้องให้เขาผลิต ผมคิดแบบนี้ เพราะฉะนั้นสเกลความร่วมมือในปัจจุบันนี้ไม่ว่าจะเป็นช่องอะไรร่วมมือกับช่องอะไร ผมมองว่าเขาเห็นแล้วว่าการที่เขากำลังทำอะไรหลายๆ อย่างไม่มีประสิทธิภาพ ให้อีกคนหนึ่งผลิตแล้ว economies of scale มันดีกว่า อย่างผมเองผมมองว่าการร่วมมือกับแกรมมี่ เดิมผมต้องมองว่าเราผลิตอะไรให้ใครดู คุยกับคุณฟ้าใหม่เสร็จแล้ว นอกจากจะผลิตอะไรให้ใครดูแล้ว ยังแถมมาด้วยว่าใครจะดูผมยาวๆ ยังไงเพราะฉะนั้นในเมื่อผมคุยในฐานที่เท่ากัน แต่ได้ผลลัพธ์ที่มากกว่าก็กลายเป็นการที่ช่องได้จับมือกัน

ตอนนี้เรามี Production ที่ผลิตให้ Local Content สักกี่ราย? มีตัดใครออกไปไหม?

คุณปฐมพงศ์ : เรามีมากกว่า 10 ราย ไม่ได้ทิ้งครับ ไม่ได้ถึงกับตัดใครออก แต่ทุกรายที่เข้ามามันถูกจังหวะ ถูกเวลารึเปล่ามากกว่า คือบางเรื่องเขาผลิตมาแล้วมันไม่ตรง แล้วก็อีกหลายเรื่องก็เอาดาราแกรมมี่มาแสดงอีกที 

พอแกรมมี่มาจับมือกับโมโนแล้ว รายได้จะสปีดขึ้นไหม?

คุณฟ้าใหม่ : จริงๆ เราก็คงคาดหวังให้มันโตขึ้น โดยภาพรวมทั้งหมดเลย เพราะเราจับมือกันมันไม่ใช่แค่ Part Content เดียว แต่คือทั้งหมดของเครือแกรมมี่ ทั้งเพลง ,Original Content หรืออะไรต่างๆ ฉะนั้นโดยภาพรวมเราคาดหวังการเติบโตของตลาด ที่คุยกันเร็วเพราะว่าเราคิดการณ์ใหญ่กันทั้งคู่ มันเลยคุยกันรู้เรื่อง (หัวเราะ) 

ตรงนี้จะไปอยู่รายได้ส่วนไหนของแกรมมี่?

คุณฟ้าใหม่ : หลายส่วนเลยครับ เพราะว่าอย่างที่ว่า 5 เรื่องเราประกอบร่างกันหลายทีมมาก ยกตัวอย่างเช่น Music มีทางด้านของ GMM Studio ที่จะผลิต Original Content ต่างๆ แล้วก็มีทางด้านคอนเสิร์ต หรือว่าอื่นๆ อย่าง On-ground Activities ต่างๆ เพราะฉะนั้นมันมาจากหลายส่วน แต่หลักๆ เลยก็คือจะเป็นส่วนที่เป็นเพลง กับส่วนของ GMM Studio

เรามีการมองการเติบโตอย่างไรบ้าง? ในฝั่งของแกรมมี่

คุณฟ้าใหม่ : จริงๆ เรามองว่าต้องโตตลอดเวลา (หัวเราะ)  เรามีวิธีคิดยึดมั่นอยู่ที่การเป็น Content Provider เพราะฉะนั้นเราจะเน้นการผลิตคอนเทนต์ให้เยอะ และให้ดีได้คุณภาพ แล้วสิ่งที่สำคัญของการเติบโตของแกรมมี่คือการบริหารคอนเทนต์ให้มันโตของตัวมันเอง เพราะว่าเราเปิดกว้างเสมอที่จะหา Partner ที่แข็งแกร่ง หาโอกาสใหม่ๆ ที่จะบริหารคอนเทนต์ให้ครบทุกหน้าจอการรับชม เพราะฉะนั้นการเติบโตก็จะมาจากการบริหารคอนเทนต์ให้กว้างและไกลที่สุด เราไม่ได้มองตัวเองเป็นแค่ช่องทีวี เราไม่ได้มองตัวเองเป็นแค่ช่องทาง แต่เรามองตัวเองเป็นคอนเทนต์ที่ต้องไปครบทุกช่องทาง นี่เป็นความคิดแบบเปิดกว้าง เราจึงอยากจะมีการจับมือกับ Partner ที่แข็งแกร่งอย่างเช่นโมโน เพื่อที่จะนำพาคอนเทนต์ของเราขยายวงกว้างและตรงนั้นจะนำพาสู่ความเติบโต

ตอนนี้เราเติบโตเท่าไหร่ และคาดหวังการเติบโตมากน้อยแค่ไหน?

คุณฟ้าใหม่ : จริงๆ แกรมมี่เราโตอย่างต่อเนื่องอยู่แล้วครับ อย่างปีที่แล้วเราก็เริ่มมีผลประกอบการที่ดี ส่วนในอนาคตจะเติบโตเท่าไหร่นั้น เป็นเรื่องของอนาคตครับ ส่วนที่เติบโตในครึ่งปีหลังของปีนี้มันเติบโตจากหลายส่วน ทั้งในด้านการบริหารและการจัดการที่ดี เพราะว่าในวิธีการบริหารของเราคือการบริหารคอนเทนต์ แล้วเติมศักยภาพของคอนเทนต์ให้เต็มประสิทธิภาพของมัน ฉะนั้นสิ่งที่ช่วยได้ก็คือการบริหารงานที่ดี สิ่งที่กสทช. เยียวยาก็มีส่วนช่วย ในการเติบโตไปในอนาคต อย่างที่ว่าถ้าเรายิ่งขยายช่องทางการดูมากเท่าไหร่ มันก็ยิ่งเป็นการเติบโตที่ก้าวกระโดด ทุกวันนี้ถ้าพูดกว้างๆ รวมๆ เลยก็มีช่องทาง มี Platform ที่เกิดขึ้นใหม่ๆ อยู่เสมอ ซึ่งมันเป็นการเร่งการเจริญเติบโต ไม่ใช่แค่ของแกรมมี่แต่ทั้งอุตสาหกรรมให้มันขยายวงกว้างขึ้น 

จะมี Partner จับมือกับแกรมมี่อีกเยอะไหม?

คุณฟ้าใหม่ : เห็นอย่างต่อเนื่องครับ ที่ผ่านมาจริงๆ แล้วอย่างที่ว่าที่ผ่านมาเราพยายามที่จะหา Partner ที่แข็งแรง เพื่อขยายช่องทางในการรับชมของคอนเทนต์ ตอนนี้หลักๆ ในอุตสาหกรรมที่มาเป็น Trend ก็คือ Streaming Platform ซึ่งยิ่งเยอะยิ่งดีครับ จะมองด้านหนึ่งเป็นด้านของ Disrupt ก็ได้ แต่ถ้าเราถอยมาดูมามองว่าคอนเทนต์เป็นคอนเทนต์ของเรา ยิ่งมีช่องทางการรับชม ยิ่งขยายวงกว้างมากเท่าไหร่ ยิ่งสามารถรับชมซ้ำๆ หลายๆ รอบจากหลายๆ ช่องทาง มันยิ่งก่อเกิดให้มูลค่าของมันมากขึ้น อันนั้นจริงๆ มันก็คือการ Disruption แต่มันก็เป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมไปในตัว 

Partner จากฝั่งดิจิทัลทีวีจะมีให้เห็นบ้างไหม?

คุณฟ้าใหม่ : ก็คงจะมีให้เห็นครับ เราก็เปิดกว้าง เพราะว่าจริงๆ เราถือตนเองเป็น Content Provider เพราะฉะนั้นเราไม่ได้ปิดกั้นตัวเองกับใครเลย แต่ว่าพอเราเป็น Partner กับใครแล้ว เราก็คงต้องเสิร์ฟคอนเทนต์ให้กับ Partner เจ้านั้นเท่านั้น ซึ่งมันก็ต้องมีเป้าหมายของคนดูที่ไม่ทับซ้อนกันของแต่ละ Partner เพราะถ้าเรา Partner กับทุกคนแล้วตีกันเอง เราก็คงไม่มีใครคบเหมือนกัน

แกรมมี่ยังมีเพลงเป็นหัวใจหลักของรายได้อยู่ไหม?

คุณฟ้าใหม่ : จริงๆ ของแกรมมี่มีหลายส่วนนะครับ ถ้าพูดรวมๆ เรื่องของเพลงยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง จริงๆ แล้วถ้าพูดเรื่องเพลงทั่วโลก ตอนนี้เริ่มมีกระแสในการเติบโตที่ดี พอ Streming Platform ต่างๆ เข้ามาช่วยก็ทำให้วงการเพลงนั้น Trun Around ก็ทำให้มีโอกาสใหม่ๆ เข้ามารวมถึงแกรมมี่ด้วย จริงๆ แกรมมี่โชคดีตรงที่มีมูลค่าในตลาดมาก เลยสามารถควบคุมตลาดเพลงได้พอสมควร เราเลยสามารถเพิ่มมูลค่าในตัวคอนเทนต์ได้และไม่ลดทอนคุณค่าตัวเอง แต่ถ้าพูดในภาพรวมๆ เพลงก็ยังโตอย่างต่อเนื่องอยู่ อันนี้ก็คงเป็นฐานหลักของเรา ส่วนในด้านทีวี พอผู้เล่นที่น้อยลง ตอนนี้ทุกคนก็รอดแล้วเนี่ย เราก็มีความคิดสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ที่จะสร้างสรรค์คอนเทนต์อะไรใหม่ๆ ที่จะตอบโจทย์ผู้บริโภค แล้วก็อย่างที่ว่าการบริหารคอนเทนต์มันไม่ใช่แบบอยู่บนหน้าจอทีวีอย่างเดียว แต่มันต้องไปทุกๆ ที่ ทุกช่องทาง

Trend ของ Streaming ไม่ได้เติบโตแค่ในกลุ่มเพลง แต่ยังเติบโตแบบรุนแรงในภาคของวีดีโออีกด้วย รวมถึง Social Media Platform หลักก็ยังกระโดดมาเล่น Video Content ด้วยเช่นกัน