fbpx

ในงานเทศกาล Bangkok International Performing Arts Meeting หรือ BIPAM ที่ในปีนี้มาในธีม EYESOPEN เพื่อเปิดมุมมองใหม่ๆ ที่คุณอาจไม่เคยรู้ในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เต็มไปด้วยความรุนแรงและความขัดแย้ง และแน่นอน “Damage joy” ที่จัดแสดงในเทศกาลนี้ก็ทำให้ผู้ชมได้เปิดมุมมองใหม่ ๆ ด้วยเช่นเดียวกัน

ก่อนอื่นเมื่อคุณเข้าไปในโรงละคร Damage joy คุณจะพบกับธงสีแดงที่มีคำว่า STOP! อยู่บนผืนธงนี้ และเบื้องหน้าของคุณก็มีเวทีที่มีลูกโป่งสีน่ารักสดใสประดับตกแต่งอยู่ด้านหลัง รวมไปถึงอุปกรณ์ประกอบฉากสีสันสดใสมากมาย ก่อนละครเริ่มแสดงผู้ชมก็ได้ทราบถึงอำนาจของธงที่อยู่ในมือคุณว่ามีหน้าที่สำคัญในการหยุดการแสดงในเวลาที่คุณอยากให้มันหยุด แต่…ข้อแม้คือว่า ทุกคนในโรงละครต้องเห็นพ้องต้องกันเสียก่อนการแสดงถึงจะหยุดลงได้ เมื่อการแสดงเริ่มขึ้นนักแสดงเข้ามาในชุดหลากหลายสีพร้อมด้วยดนตรีแนวละครสัตว์รื่นเริงสนุกสนาน โดยมีนักแสดงชาย 1 คน หญิง 3 คน ทำให้ผู้ชมนึกถึงนักแสดงตลกราวกับอยู่ในสวนสนุก

ในช่วงแรกของละครเวที ตัวละครแสดงกิจวัตรประจำวันตัวเองคนดูรับรู้ได้จากคำว่า “เวลาน้ำชา” (Tea Time) ผู้กำกับพยายามทำให้คนดูรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้คือเรื่องปกติของตัวละคร เมื่อเสียงกริ๊ง Tea Time ดังขึ้น ตัวละครก็จะวิ่งไปต่อแถวกันอย่างมีความปกติสุข แต่ความไม่ปกติเริ่มเกิดขึ้นเมื่อตัวละครที่ยืนในแถวจะเรียงลำดับตามแบบเดิมทุกครั้งโดยที่มีผู้ชายอยู่หัวแถวสุด และท้ายแถวก็คือตัวละครคนเดิมทุกครั้ง เมื่อถึงเวลาน้ำชา เขาต้องคอยทำหน้าที่ทำความสะอาดเก็บข้าวของที่ทุกคนเล่นกันทิ้งไว้ คนดูต่างสนุกและขำไปสิ่งที่ตัวละครประสบพบเจอราวกันเป็นเรื่องปกติที่สังคมยอมรับได้ และความไม่ปกติเริ่มเห็นได้ขัดขึ้นเมื่อคุกกี้เหลือชิ้นสุดท้าย ทุกคนต่างแย่งกันว่าใครจะได้กินด้วยวิธีการต่าง ๆ คนแรกเริ่มด้วยการเลียมันทั้งอัน คนที่สองเอาคุกกี้ถูไปที่ฝ่าเท้า คนที่สามบ้วนน้ำลายใส่ลงไป และคนสุดท้ายเอาคุกกี้นั้นยัดเข้าไปในก้น ตัวละครใช้วิธีเสี่ยงดวงเลือกผู้โชคร้าย ผู้ชมบางคนเริ่มยกธงขึ้นมาโบกแต่ใบหน้าก็ยังยิ้มแย้มกันอยู่ สุดท้ายแล้วการแสดงก็ไม่ได้หยุดลงนักแสดงผู้โชคร้ายก็โดนบังคับกินคุกกี้ชิ้นนั้น

หลังเสร็จสิ้นความโหดร้ายนั้นแล้วตัวละครหญิงต่างเรียกร้องความเป็นชายจากตัวละครชาย ซึ่งมองว่าการไล่ผู้หญิงไปทำความสะอาดบ้านเป็นเรื่องที่ไม่ “แมน” ตัวละครชายถูกทดสอบความเป็นชายด้วยวิธีการต่าง ๆ เริ่มตั้งแต่การสวมหมวกแบบผู้ดีอังกฤษด้วยวิธีการที่แปลกประหลาดพิศดารเพื่อโชว์ความเก่งและความเท่ของตัวเอง การตีลังกาข้ามสิ่งกีดขวาง การดื่มเบียร์จนหมดกระป๋อง และวิธีการสุดท้ายคือการใช้ความรุนแรงโดยให้คนดูใส่นวมเดินเข้ามาชกท้องเพื่อแสดงความเป็นชายของตนเอง สิ่งเหล่านี้ผู้กำกับต้องการสื่อออกมาว่า เมื่อคุณอยากจะแสดงศักยภาพความเป็นชายในตัวคุณเอง คุณต้องทำสิ่งเหล่านี้ ถ้าคุณไม่ทำสิ่งเหล่านี้เท่ากับว่าคุณไม่ใช่ผู้ชาย แต่ผลการตัดสินของเหล่าตัวละครหญิงต่างบอกว่าตัวละครชายไม่แมนพอ

ความรุนแรงยิ่งทวีขึ้นเมื่อตัวละครชายแสดงความไม่พอใจตัวละครหญิงที่มาตัดสินความเป็นชายของตนเอง ตัวละครหญิงเหล่านั้นจึงเปรียบเสมือนที่ระบายอารมณ์ของตัวละครชาย เป็นอีกครั้งที่ผู้ชมหลาย ๆ คนเริ่มยกธงขึ้นเพื่อหยุดการแสดงลง นักแสดงเริ่มเดินเข้าไปหาผู้ชมยื่นลูกบอลให้ พร้อมท่าทางบุ้ยใบ้ให้ปาลูกบอลนั้นไปยังตัวละครหญิงเพื่อเป็นการทำโทษ ผู้ชมบางคนก็ปาไปที่ตัวละครหญิง บ้างก็ปาทิ้งไปส่ง ๆ บ้างก็ปานักแสดงชาย และบางคนก็วางมันไว้ข้างตัวเลือกที่จะไม่ทำอะไรกับมัน ถึงตรงนี้ผู้ชมหลาย ๆ คนเริ่มแสดงอาการอึดอัดออกมาอย่างเห็นได้ชัด แต่บางคนก็ยังขำขันกันการแสดงนี้อยู่

ในช่วงท้ายของละครตัวละครเริ่มแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย และดวลกันว่าใครจะได้รับคะแนนเสียงจากคนดูมากกว่า จากการโชว์การแสดงความรุนแรงต่อหน้าคนดู การโชว์มี 3 ระดับ ระดับ 1 เริ่มจากการใช้ฟองน้ำมาตีที่ตัวละครให้เกิดเสียงดัง (ผู้เขียนมั่นใจผู้กำกับได้ใช้อุปกรณ์ที่ไม่อันตรายต่อการแสดง) ฟองน้ำที่ตีลงไปบนตัวของนักแสดงทำให้เกิดเสียงดังสนั่นทั้งโรงละคร คนดูเริ่มยกธงขึ้นมา เริ่มส่งเสียงออกมาเมื่อตัวละครถูกตี ระดับที่ 2 (ผู้เขียนอยากให้เป็นระดับที่รุนแรงที่สุด) ตัวละครหยิบเชือกออกมาและเริ่มสร้างความทรมานให้ตัวเองผ่านเส้นเชือกเส้นนั้น จนสุดท้ายคือการนำเชือกมารัดคอตัวเองและเริ่มบิด คนดูเริ่มพูดกันเสียงดังขึ้น ส่งเสียงร้องราวกับเจ็บแทน ระดับที่ 3 ระดับสุดท้าย นักแสดงเอาไม้หนีบผ้าเริ่มมาหนีบตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย รวมไปถึงจุดที่เจ็บที่สุดบริเวณที่เนื้อบางมากที่สุด เวลานั้นผู้เขียนมองไปที่ระดับของธงที่ถูกโบกขึ้น อยู่ที่ 90% ไม่ถึง 100% เสียที จนการแสดงนั้นจบลงไปก่อน และเข้าสู่การแสดงช่วงสุดท้าย

เวลาน้ำชาครั้งสุดท้าย ความสดใสที่เคยมีตอนต้นเรื่องมลายสิ้น เหลือเพียงความโมโหของนักแสดงที่กระทำความรุนแรงใส่กันและเริ่มทำลายข้าวของในฉากจนสิ้น ผู้ชมเห็นการค่อย ๆ ทำลายล้างทีละอย่าง ๆ ไปเรื่อย ๆ จนสุดท้ายสิ่งของเหล่านั้นถูกนำมากองรวมกันเป็นที่กำบังให้กับนักแสดงที่หลบหน้ากันเอง ราวกับเมื่อสงครามจบ ผู้ก่อสงครามก็ซ่อนตัวเองอยู่ในมุมมืดนั้น ราวกับไม่เคยเกิดเรื่องที่ผ่านมาขึ้นมาก่อน

ผู้เขียนขอเล่าเรื่องราวละครไว้เพียงเท่านี้ ที่เหลือจากนี้จะเป็นเนื้อหาที่ผู้เขียนมีความสนใจและเชื่อว่าผู้กำกับเองก็ตั้งใจจะสื่อสารอย่างไร ประเด็นแรกที่ผู้เขียนเห็นจาก Damage Joy “ความรุนแรงระดับไหนที่คนเราจะรับได้” การไต่ระดับความรุนแรงจากความรุนแรงที่คนดูมองว่าเป็นเรื่องตลกขำขัน ให้ผู้ชมชกท้องเพื่อแสดงความเป็นชาย จนไปถึงการเอาเชือกมัดคอตัวเองเพื่อเอาชนะฝ่ายตรงข้าม การเชื่อมโยงความรุนแรงเหล่านี้กับปัญหาความคิดในระบบสังคมไทย ความเป็นชายต้องเท่ากับการกินเบียร์ ต้องยอมรับความรุนแรงได้ และเมื่อเค้าไม่ได้รับการยอมรับในสังคมผู้ชายเหล่านั้นก็สร้างความรุนแรงเหล่านั้นต่อบุคคลอื่น แถมยังเชื้อเชิญให้คนอื่น ๆ กระทำความรุนแรงแบบเดียวกับตนเอง รวมไปถึงภาวะชายเป็นใหญ่ในบริบทสังคมไทย ภาวะชายเป็นใหญ่ใน Damage Joy มองว่าผู้หญิงเป็นเพียงของเล่นระบายความอัดอั้นตันใจของผู้ชายเท่านั้น รวมไปถึงการแสดงถึงความเป็นเจ้าชีวิตของผู้หญิงว่าจะทำอะไรกับผู้หญิงเหล่านั้นก็ได้

ในตอนท้าย ๆ ของละครตัวละครแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย เหมือนกับความคิดทางการเมืองทั่วโลก Binary Opposition ความคิดขั้วตรงข้าม ทั้งเรื่องเพศ เรื่องการเมือง หรือเรื่องสงครามเอง ต่างทำให้คนคิดออกเป็น 2 ฝ่ายเสมอ และแต่ละฝ่ายต่างเอาความรุนแรงมาใช้เพื่อสร้างอำนาจให้ฝ่ายตัวเองอยู่เหนือกว่า ในการแสดงนี้บอกให้คนดูทราบว่ายิ่งฝ่ายไหนแสดงออกถึงความรุนแรงมากที่สุด ฝ่ายนั้นจะได้รับเสียงตอบรับมากกว่าอีกฝ่ายหรือได้รับชัยชนะไป เหมือนกับการเมืองในแต่ละประเทศที่จบปัญหาทุกอย่างด้วยความรุนแรง และชัยชนะเหล่านั้นก็ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ

สิ่งสำคัญของการแสดงชุดนี้ คือการ “ยุติความรุนแรงอยู่ในมือคุณ” เมื่อคุณมองเห็นความรุนแรงอยู่ตรงหน้าคุณแล้ว คุณเลือกที่จะเฉย ๆ กับมัน หรือตัดสินใจที่ขยับมือยกธงขึ้นมาโบกเพื่อให้การแสดงนั้นหยุดลง แต่สิ่งเหล่านั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป เมื่อการลงความเห็นเหล่านี้ต้องได้รับการยินยอมพร้อมใจกันทุกคน หรืออาจจะมองว่ามันคือประชาธิปไตยก็ได้เช่นกัน การแสดงนี้สะท้อนปัญหาความรุนแรงในสังคมไทย ที่ประชาชนทั่วไปรับรู้ถึงการมีอยู่ของความรุนแรง แต่อยู่ที่คุณนั้นเลือกที่จะยุติมันด้วยมือของคุณ หรือเลือกที่จะปล่อยมันผ่านไป เพราะเพียงแค่มันไม่ใช่เรื่องของคุณ