fbpx

“สวัสดีค่ะ/ครับ พวกเราเยาวราชแก๊งค์” หลายคนอาจจะกำลังงงๆว่าพวกเขาคือใครกัน? ทำไมถึงได้สัมภาษณ์ลงส่องสื่อด้วย แต่ถ้าเราจะขยายเพิ่มว่าพวกเขาคือผู้ที่ได้ผ่านการเข้าร่วมโครงการ “Saturday School x MIDL Youth Camp the Series” ตอน Bangkok What’s up! สร้างสื่อใหม่ ไทยเจริญ หลายคนก็คงจะพอเข้าใจบ้าง? วันนี้ส่องสื่อมีโอกาสได้เข้าไปดูน้องๆ นำเสนอผลงาน ซึ่งแต่ละคนทำผลงานกันเก่งมากๆ แต่ละผลงานเข้าตาเรามากพอสมควร เราเลยมาคุยกับน้องๆ บางส่วนที่ทำผลงานได้น่าสนใจและคุยเรื่องมิติสื่อกัน แต่ก่อนที่จะไปฟังเสียงของน้องๆ เรามารู้จักโครงการนี้กันก่อนดีกว่าว่ามีที่มาที่ไปอย่างไรกันบ้าง? ติดตามได้เลย

ที่มาของโครงการ?

ก่อนอื่นเราต้องบอกว่าแคมป์นี้เราถูกเชิญไปทำข่าวโดยกลุ่ม Saturday Film ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มของมูลนิธิ Saturday School นั่นเอง พวกเขามี Passion ด้าน New Media และนำ New Media ไปพัฒนาเพื่อขับเคลื่อนสังคมไทยได้ เขาก็เลยไปร่วมมือกับมูลนิธิสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน ร่วมกันทำโครงการ “MIDL for Inclusive Citis : สร้างเมืองของทุกคน” โดยนำกระบวนการการทำสื่อผนวกกับการเรียนรู้ในพื้นที่ชุมชนที่น่าสนใจเข้ามาเรียนรู้กับเยาวชนอายุ 15-20 ปี

ทุกคนที่ได้เข้าร่วมกระบวนการ จะทำกระบวนการทั้งหมด 3 ครั้งๆ ละ 2 วัน (ยกเว้นครั้งสุดท้ายจะเป็นการนำเสนอ โดยใช้เวลา 1 วัน) โดยมีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เข้าใจ เข้าถึงข้อมูล และเห็นความสำคัญของการรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทฟศ และดิจิทัล ซึ่งปัญหารากเหง้านั้นเกิดมาจากการขาดความรู้และการเข้าถึงข้อมูลของคนในสังคม จึงมีความจำเป็นที่จะต้องสื่อสารให้สังคมได้รับรู้ ซึ่งจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายมากขึ้นด้วยนั่นเอง

โดยครั้งนี้ทางโครงการเลือกที่จะใช้พื้นที่ “นางเลิ้ง” เป็นจุดในการเรียนรู้และให้เยาวชนสื่อสารขึ้นมา เนื่องมาจากตาม Bangkok Roadmap ได้จูงใจให้เอกชนพัฒนาพื้นที่รอบรถไฟฟ้าในระยะ 500 เมตร ทำให้นางเลิ้งควรจะเป็นพื้นที่ในการดูแลรักษาและเก็บข้อมูลอันมีคุณค่าต่อประวัติศาตร์ วัฒนธรรม และผู้คนเอาไว้สืบไปนั่นเอง

มารู้จักกลุ่ม “เยาวราชแก๊งค์” กัน

หลังจากนี้เรามาทำความรู้จักกับกลุ่มเยาวราชแก๊งค์กันดีกว่า ที่เราเลือกที่จะสัมภาษณ์น้องๆ กลุ่มนี้ก็เนื่องมาจากการนำเสนอผลงานที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการหยิบยกหัวข้ออย่าง “ละครชาตรี” การแสดงศิลปวัฒนธรรมในอดีตที่กำลังจะถูกเลือนหายลงไป นำมานำเสนอในรูปแบบของสารคดี ซึ่งให้ความน่าสนใจมากๆ เลยทีเดียว ทีนี้เรามาอ่านบทสัมภาษณ์ของน้องๆ แต่ละคนกันดีกว่า

กลุ่มเยาวราชแก๊งค์ ประกอบไปด้วยชายหญิง 4 คน แตกต่างพื้นที่ แต่ทำงานด้วยกันด้วยความสนุกและมี Passion ในการทำงาน ประกอบไปด้วยตากล้อง “ปลิ้ม” ชิษณุภงค์ บุญชม ครีเอทีฟสองแรงอย่าง “ตั้ม” ปิยะพงษ์ สุ่มมาตย์ และ “ปิ่น” รัตน์สิกา แสนคำ ท้ายที่สุดคือโปรดิวเซอร์ของงานอย่าง “อ้อมแอ้ม” อภัสนันท์ จึงสวัสดิ์

ทำไมถึงมาเข้าค่ายนี้กัน?

ตั้ม : คือเริ่มจากการที่อ้อมแอ้มทักมาชวนก่อน คือว่าอ้อมแอ้มเห็นว่ามีการแจ้งเตือนใน Camphub ซึ่งเขามีประกาศรับสมัครน้องมาเข้าค่ายของโครงการนี้ แล้วอ้อมแอ้มก็เลยส่งรายละเอียดโครงการมาให้ผมกับปลื้มดู ก็ตอบตกลงเลยทั้งๆ ที่ไม่ได้ดูรายละเอียดโครงการเลย ก็มาอ่านรายละเอียดหลังจากส่งใบสมัครเรียบร้อยแล้ว คือเราก็สนใจด้านการทำสื่ออยู่แล้ว แล้วจุดเด่นของค่ายนี้ก็คือได้ทำสื่อแล้วได้ลงพื้นที่ชุมชนจริงๆ เลย ทำให้ได้สื่อสารกับชุมชนนางเลิ้งด้วย

แต่ละคนคาดหวังอะไรกับการเข้าค่ายนี้บ้าง?

อ้อมแอ้ม : สิ่งที่คาดหวังตอนแรกคือ คาดหวังที่จะได้ลงพื้นที่จริงๆ นี่แหละ เพราะว่าในส่วนตัวหนูไม่รู้จักนางเลิ้งเลย อาจจะได้ยินชื่อผ่านๆ แต่ไม่เคยมาเดินเล่นจริงๆ ก็เลยคาดหวังว่าเราจะได้มาเดินที่ตรงนี้จริงๆ จะได้ทำในสิ่งที่เราอยากรู้ อยากทำ แล้วพอได้ลงพื้นที่จริงๆ ก็ทำให้เรารู้สึกว่าบางอย่างมันไม่เคยมีมาก่อน อย่างเช่นหัวข้อที่เราเลือกมาอย่าง “ศิลปะ ศิลปิน” คือเราไม่รู้ว่าที่นี่มีละครชาตรีเลย ส่วนตัวพวกหนูไม่รู้ด้วยซ้ำว่าละครชาตรีคืออะไร? แต่พอพวกเราได้รับหัวข้อนี้มา พวกเราก็ต้องไปศึกษาและก็ได้ไปลงพื้นที่จริงๆ ได้ฟังจากคนที่มีประสบการณ์ด้านนี้โดยตรง พวกหนูก็เลยได้เรียนรู้เกี่ยวกับละครชาตรี ได้ลองฝึกรำ ทำให้พวกหนูได้รู้สึกเลยว่าอยากอนุรักษ์มันเอาไว้ เพราะว่าสิ่งเหล่านี้มันไม่ได้นิยมในสังคมปัจจุบัน มันทำให้ค่อยๆ หายไปจากสังคมไทย บางคนอย่างเด็กรุ่นใหม่จะไม่รู้จักเลยว่าละครชาตรีคืออะไร?

หลังจากที่ทำเรื่องละครชาตรี ความคิดเกี่ยวกับวัฒนธรรมเปลี่ยนไปเลยไหม?

ปิ่น : ก็อย่างที่อ้อมแอ๋มบอก คือตอนแรกพวกเราก็เป็นวัยรุ่นธรรมดา ไม่เคยรู้จักว่ามีละครชาตรีอยู่นะ แต่พอได้มาลงพื้นที่ ได้พูดคุยกับคนที่แสดงละครชาตรีจริงๆ แล้ว เราเลยรู้สึกเขาอยู่ตรงนี้ด้วยความรัก ความที่อยากจะอนุรักษ์ตรงนี้ไว้ มันทำให้เราเห็นว่าเขาอยากจะอนุรักษ์ขนาดนี้แล้ว ทำไมเราเป็นเด็กรุ่นใหม่ เราก็ควรที่จะสืบสานวัฒนธรรมนี้ต่อไม่ให้มันหายไป มันประทับใจมากๆ

ทำไมถึงเลือกนำเสนอเป็นสารคดี?

ตั้ม : คือด้วยความที่เรา Workshop กัน 2 รอบนะครับ เราก็เลยเอาเทคนิคของทั้ง 2 Workshop มาผสมผสานกันในเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับละครชาตรีที่มันไม่ควรจะหายไป เปิดหัวข้อมามันก็น่าจะจริงจัง เข้มข้นแล้ว การนำเสนอก็ควรจะจริงจังตามหัวข้อไปด้วย เพราะฉะนั้นแนวทางของสารคดีมันตอบโจทย์เราตรงนี้ แล้วด้วยรูปแบบการนำเสนอที่สมัยใหม่มันเลยเข้าถึงคนดูได้ง่าย ครบถ้วน แล้วก็เร็วที่สุด

โดยปกติพวกเราทำสื่อในโรงเรียนอยู่แล้วรึเปล่า?

อ้อมแอ้ม : ของหนูจะไม่ค่อยได้อยู่กับสื่อในโรงเรียน เพราะเนื่องด้วยสายการเรียนของหนูคือวิทย์-คณิต ส่วนมากก็จะอยู่กับการเรียนหนังสือ อ่านหนังสือสอบ แต่ว่าส่วรตัวเป็นคนที่ชอบด้านสื่ออยู่แล้ว แต่ว่าโรงเรียนก็ไม่ได้สนับสนุนเกี่ยวกับเรื่องของสื่อสักเท่าไหร่ เราก็เลยต้องออกมาแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง ก็เลยต้องมาหาตามค่ายแทน

อยากให้โรงเรียนส่งเสริมด้านสื่ออย่างไรบ้าง?

อ้อมแอ้ม : อยากให้โรงเรียนส่งเสริมด้านสื่อที่ว่า เด็กทุกคนที่เรียนวิทย์-คณิตไม่ได้อยากจะเป็นหมอ เป็นวิศวกรกันทุกคน มันก็ยังมีคนที่อยากจะเป็นนิเทศ บริหาร หรืออยากจะเรียนเกี่ยวกับภาพยนตร์ แต่ครูทุกคนเวลาเจอเด็กเรียนวิทย์-คณิตก็ต้องคิดว่าเด็กทุกคนต้องชอบวิทย์-คณิต ต้องอยากเป็นหมอ แต่ว่าบางคนอาจจะมาเรียนเพราะพ่อแม่บังคับ หรือเป็นเพราะคิดไม่ออก หรือเพราะว่าเป็นเทรนด์ เป็นสังคมนิยมที่ว่า “เอ้ย วิทย-คณิตสิดี” ถ้าโรงเรียนสนับสนุนมากกว่านี้ก็อาจจะทำให้เด็กเจอในสิ่งที่ชอบ แล้วก็เลือกทางให้ถูกและจะมีความสุขมากกว่านี้

ั้: คือผมมีความรู้สึกว่าการที่โรงเรียนหนึ่งจะมีสิ่งที่เป็นสื่อหรือชมรมนิเทศศาสตร์ ชุมนุมวารสารของโรงเรียนอะไรแบบนี้ ผมคิดว่าตรงนั้นอาจจะไม่ได้ช่วยให้เด็กไปทำงานด้านสื่อโดยเฉพาะ แต่รู้สึกว่าการที่ให้เด็กได้มาจับทำสื่อ ลองรู้จักสื่อจริงๆ มันเป็นทักษะในชีวิต คือเขาโตไปก็ต้องเสพข่าวแน่นอน เขาต้องแยกแยะให้ได้ว่าข่าวนี้คิดเห็นเช่นไร เขาสามารถคิด วิเคราะห์ได้ เป็นทักษะของสื่อ

ปิ่น : คือปิ่นเป็นคนที่ไม่ได้รู้จักด้านสื่ออะไรมากมาย ก็แค่เป็นเด็กธรรมดาเล่น Social ดูคลิปที่เขาทำกันมา คือเราไม่เคยได้มาลงพื้นที่อย่างนี้จริงๆ แต่พอได้มาลงพื้นที่จริงๆ ค่ายนี้ไม่ได้สอนให้ทำงานร่วมกัน แต่มันสอนทุกอย่างแบบการใช้ชีวิต การอยู่ร่วมกันในสังคม การรู้เท่าทันสื่อ การผลิตสื่อ การเห็นผลกระทบในสิ่งที่เรานำเสนอออกไป มันให้ทุกอย่างเลย

เขาบอกวาคนรุ่นใหม่อยู่ในทวิตเตอร์เยอะ แล้วชอบก้าวร้าว ตรงนี้เรามองว่ายังไง?

อ้อมแอ้ม : อันนี้เราไม่ได้มองว่าเป็นการก้าวร้าว แต่ว่ามันเป็นพื้นที่ที่มีแต่วัยรุ่น ไม่ได้มีผู้ใหญ่ เราเลยสามารถที่จะแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ อย่างใน Facebook เวลาพิมพ์อะไรไปก็จะมีการตอบกลับประเภทที่ว่า “ทำไมเด็กรุ่นใหม่คิดกันยังงี้เนี่ย” มันทำให้เราไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ คนก็เลยไปอยู่ในทวิตเตอร์กัน

ตั้ม : ส่วนตัวผมเอง ผมมองว่าการที่เรานำเสนอความคิดเห็นอะไรบางอย่างออกไป เราไม่ได้ก้าวร้าว เราแค่แสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา อย่ามองเราว่าเราเป็นเด็ก แต่ให้มองเราว่าเป็นคนๆ หนึ่งที่เสพสื่อเหมือนกัน เป็นประชากรของประเทศนี้เหมือนกัน มีทัศนคติ มีความคิดเหมือนกัน มีความคิดความอ่านขึ้นมาบ้างแล้ว เราไม่จำเป็นต้องเป็นเด็กที่เชื่อตามผู้ใหญ่ทุกอย่าง แต่ว่าเราควรจะเชื่อแล้วเอามาคิดตามได้

ปิ่น : คิดว่าในทุกสังคมมีคนแตกต่างกัน ความคิดแตกต่างกัน คือบางครั้งที่เราเห็นเราคิดว่าก้าวร้าว ซึ่งจริงๆ อาจจะเป็นเพราะเราไม่เห็นตรงกันกับเขารึเปล่า? เราก็เลยมองว่าความคิดตรงนั้นมันไม่ดี มันก้าวร้าวทั้งที่ความคิดของคนเราแตกต่างกัน มุมมองเราแตกต่างกัน ทัศนคติแตกต่างกัน ไม่มีใครคิดเหมือนกันหรอก ก็เลยคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่ก้าวร้าว

สื่อมีพื้นที่ให้กับคนรุ่นใหม่เยอะรึยัง?

อ้อมแอ้ม : คือก็เยอะกว่าแต่ก่อนเลย

ปิ่น : คือมันเปิดกว้างแต่ยังไม่ยอมรับ เขายังคิดว่าเป็นเด็กตัวแค่นี้ ทำไมถึงกล้าแสดงออก ทำไมถึงกล้าวิจารณ์ เขาไม่ได้สนใจเสียงพวกเรามากขนาดนั้น คือเปิดกว้างแต่เขาไม่ได้ยอมรับเรา

อยากให้สื่อเปิดโอกาสเพื่อคนรุ่นใหม่แบบไหน?

ตั้ม : อยากจะฝากถึงสื่อใหญ่ๆ โดยเฉพาะสื่อที่มีความน่าเชื่อถือ คือเราเป็นเด็ก เราก็ไม่ได้คิดว่าจะไปสอนเขา แต่ว่าในการเป็นสื่อแน่นอนว่าคุณต้องวางตัวเป็นกลาง การเป็นสื่อใหญ่แน่นอนว่ามีคนติดตามคุณเยอะ เพราะฉะนั้นคนจะเชื่อคุณเยอะ ประเทศเรามีความวุ่นวายจากการที่สื่อชักนำอยู่บ่อยครั้ง เพราะฉะนั้นสื่อต้องวางตัวเป็นกลาง ในขณะเดียวกันคนเสพสื่อก็ต้องมีทักษะในการเสพสื่อด้วย ควรจะคิดแยกแยะเป็นว่าข่าวไหนจริงหรือไม่จริง หรือว่าวิพากษ์วิจารณ์ตามเหมาะสม

อ้อมแอ้ม : มองว่าสื่อเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนสามารถรับรู้ข่าวสารได้ ในบางครั้งสื่อยังมีความกลัวที่นำเสนอความจริงออกมา ทำให้พวกเราได้รับความจริงแบบไม่เต็มที่พอ ทำให้พวกเราต้องไปหาความรู้จากที่อื่น ซึ่งอันนั้นเราเองก็ไม่รู้ว่าเป็นเรื่องจริงหรือเท็จ ก็เลยอยากให้สื่อนำเสนอความจริงออกมา ดีกว่าให้พวกเราไปนั่งหากันเอาเอง

ปิ่น : อย่างที่เคยได้ยินคำหนึ่ง เขาพูดว่า “ถ้าคุณควบคุมสื่อ คุณก็จะสามารถควบคุมประชาชนได้” รู้สึกว่าสื่ออย่าให้อะไรมาควบคุมคุณได้ เพราะคุณเป็นตัวกระจายข่าว ข่าวสารทั้งหลายเขาก็รับมาจากคุณ เขาก็ได้ความคิดต่างๆ มาจากคุณ ฉะนั้นอย่าให้ใครมาบงการความคิดคุณ

ตั้ม : สื่อก็ควรที่จะเป็นอิสระ มีความคิดของตนเองใช่ไหมครับ? สัญลักษณ์ของสื่อมวลชนทั่วโลกก็คือนกพิราบขาว

ปลื้ม : เรามองว่าสื่อมีอำนาจในการโน้มน้าวคน ให้คนเชื่อในสิ่งที่สื่ออยากให้เป็น เราก็เลยอยากจะฝากถึงสื่อว่าคุณจะโน้มน้าวคนอย่างไรก็ได้ แต่สำคัญที่สุดคือสื่อต้องโน้มน้าวภายใต้ข้อเท็จจริง ความจริงให้ชัดเจนที่สุดเท่าที่คุณจะทำได้ เพื่อให้ทุกคนที่รับสื่อสามารถวิเคราะห์ได้ด้วยตนเองได้ ไม่หน้ามืดตามัวหลงเชื่อในสื่อๆ เดียว มองว่าสื่ออื่นผิดหมด

รู้สึกอย่างไรบ้างเวลาเห็นคนแชร์ Fake News ออกมา?

อ้อมแอ้ม : ก็รู้สึก “อิหยังว่ะ?” แบบเห็นแล้วคืออะไร? (หัวเราะ) คือเราก็ไม่รู้ว่าตรงนี้มันน่าเชื่อถือขนาดไหน แต่พอเราอ่านเราก็รู้สึกว่ามันต้องขนาดนั้นเลยเหรอ? เอ้ย! มันจริงเหรอ? คือเราก็ต้องมานั่งเลื่อนอ่านความคิดเห็นต่างๆ ส่วนมากคนก็จะเชื่อไปแล้วครึ่งหนึ่ง แต่อีกครึ่งหนึ่งก็จะแบบว่ารอให้เขายืนยันก่อนไหม? แล้วคือส่วนมากก็จะเข้าใจผิดไปแล้ว พอเข้าใจผิดแล้วคนก็จะแชร์กันต่อ ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่ข่าวแบบนั้น แล้วข่าว Fake News มันทำให้เรารับรู้ข่าวสารได้ผิดเพี้ยนไปจากเดิม แล้วสิ่งที่โดนโจมตีอยู่ตอนนั้นก็อาจจะเป็นเรื่องแย่ๆ ไปเลย

ปลื้ม : ทำให้เราตัดสินใจผิดได้

ในฐานะที่เราเป็นพลเมือดิจิทัล เราจะแก้ปัญหาตรงนี้ได้ยังไงบ้าง?

ปิ่น : มีสติก่อน ตัวเราต้องมีสติก่อน

ตั้ม : ทุกคนต้องรู้ว่าอันไหนจริง อันไหนเท็จ อันนี้คือแบบพื้นฐานเลยนะ เพื่อนแชร์มาแบบนี้ “น้ำปัสสาวะ รักษาได้ทุกโรค ยาวิเศษที่คนธรรมดายังไม่เคยรู้” แล้วขึ้นชื่อเว็บแบบแปลกๆ แล้วคือแบบสื่อใหญ่ยังไม่เล่นเลย แล้วแกเป็นแบบสื่อเล็กๆ ที่คนไม่รู้จักเลย ทำไมถึงไปเชื่อสื่อเล็กๆ ทั้งๆ ที่สื่อใหญ่ๆ ยังไม่เคยเล่นเลย

Fake News มันเป็นเรื่องของการหลอกหลวงผู้บริโภคด้วย เขาทำเพื่อที่เขาต้องการบางอย่าง ซึ่งยิ่งเขาปั่นให้คนเชื่อได้เยอะมากเท่าไหร่ การเข้าถึงมันก็จะมากขึ้น แล้วก็จะได้ผลประโยชน์บางอย่างไป คือคุณอยากได้ผมประโยชน์ คุณก็ควรจะมีความรับผิดชอบต่อสังคมบ้าง

อ้อมแอ้ม : เราก็ไม่ควรที่จะเชื่ออะไรกันง่ายๆ รอดูกันในข่าวต่อๆ ไปก่อน ไม่ใช่ว่าเห็นแค่ข่าวแล้วเราก็เชื่อเลย คือเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นเรื่องจริงหรือเปล่า? คนที่ปล่อยข่าวเขาก็ไม่ได้ยืนยันว่าเขาปล่อยข่าวออกมา เจ้าตัวที่โดนพูดถึงก็ไม่ได้ออกมาพูดว่ามันคือเรื่องจริง มันมีแค่กลุ่มๆ เดียวที่บอกว่าข่าวมันจริงนะ เราก็ควรที่จะไม่เชื่ออะไรง่ายๆ

ฝากอะไรถึงคนรุ่นใหม่ด้วยกันเองบ้าง?

อ้อมแอ้ม : อยากให้ทุกคนมีสติค่ะ (หัวเราะทั้งกลุ่ม) มีสติที่แบบไม่เชื่ออะไรง่ายๆ อันนี้ก็เหมือนจะบอกตัวเองด้วย

ปิ่น : ใช้ชีวิตให้มีสติ อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง เราเป็นคนรุ่นใหม่ เราก็ต้องคิดอะไรเยอะๆ

อ้อมแอ้ม : คิดให้รอบคอบ ไม่ใช่แบบว่าทำอะไรทำเลย พิมพ์อะไรก็พิมพ์ ไม่ได้คิดอะไรก่อน

ปลื้ม : อยากฝากว่า การตัดสินใจเรื่องใดเรื่องหนึ่ง การตัดสินใจของคุณนั้นอาจจะทั้งพลาดหรือทั้งโชคดีก็ได้ ซึ่งถ้ามันพลาดไปแล้วก็ไม่สามารถกลับไปแก้อะไรได้ จงมีสติและรอบคอบให้ได้มากที่สุด

ตั้ม : อยากให้มีวิจารณญาณเยอะๆ ดูแล้วต้องตรวจสอบว่ามีสื่อไหนที่ลงบ้าง? ข่าวเป็นยังไง? คือมันเชื่อแค่ตาเห็นไม่ได้ มันต้องดูอีก

ติดตามกิจกรรมเพื่อเยาวชนของ Saturday Film และ Saturday School ได้ผ่านทาง https://www.facebook.com/SaturdaySchoolThailand/