fbpx

หลายท่านคงต้องเคยฟังสถานีวิทยุมาอย่างแน่นอนใช่ไหมครับ? ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ฟังวิทยุเหมือนกัน แต่ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีต่างๆ การฟังเพลงแบบ Streaming ก็เข้ามาสู่อุตสาหกรรมบ้านเราค่อนข้างมาก วิทยุที่ทุกคนเคยขอเพลงไป เคยฟังไปตอนทำงานหรือตอนก่อนไปโรงเรียนก็ค่อยๆ จางหายไปเรื่อยๆ วันนี้เราจึงขอหยิบเรื่องราววิทยุที่น่าสนใจมาเล่าให้ฟังกันนะครับ เพื่อทำให้ทุกคนที่กำลังอ่านหนังสือพิมพ์เล่มนี้ เข้าใจเรื่องราวในแวดวงอุตสาหกรรมวิทยุมากยิ่งขึ้น ยังไงสามารถติดตามใน “วิทยุ เดอะซีรีส์” ได้ในคอลัมน์นี้เลยนะครับ

ก่อนอื่นต้องมาอัพเดตจำนวนคนฟังวิทยุจากรอบที่แล้วที่เราได้นำเสนอในบทความ “วิทยุไม่มีคนฟังจริงเหรอ?” กันก่อนว่าในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมามีจำนวนคนฟังอยู่ในระดับที่ค่อยๆ ลดลงไปเรื่อยๆ โดยเดือนกรกฎาคมยังมีจำนวนคนฟังที่มากขึ้นอยู่ที่ 10,444,000 คน ก่อนที่จะลดลงมาในเดือนสิงหาคมที่ 10,198,000 คน และมาลดลงมากที่สุดในเดือนกันยายนที่ 9,891,000 คน ซึ่งลดลงมากที่สุดในรอบ 3 เดือนเลยทีเดียว นั่นสะท้อนให้เห็นว่าคนรับฟังเริ่มเบนไปฟัง Podcast หรือรายการบนออนไลน์มากขึ้นนั่นเอง

ทีนี้เรามาดูตัวเลขมูลค่าโฆษณาตลอดทั้ง 5 ปีที่ผ่านมากันครับ โดยสำนักงาน กสทช. รวบรวมจากการโฆษณาผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงคลื่นหลักในระบบ F.M. ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 36 สถานี ตั้งแต่ 88.0-91.5 ,93.0-103.5 และ 104.5-107.0 MHz ซึ่งในปี 2557 มีมูลค่าทั้งตลาดรวมทั้งสิ้น 5,609.39 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในปี 2558 อยู่ที่ 5,675.43 ล้านบาท แต่หลังจากนั้นตัวเลขในมูลค่าตลาดโฆษณาโดยรวมลดลงอย่างรุนแรง โดยในปี 2559 ลดลงไปร้อยละ 7.27 และลดลงสูงสุดในปี 2560 ที่ร้อยละ 14.94 โดยลดลงไปอยู่ที่ 4,476.20 ล้านบาทเลยทีเดียว ก่อนที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นไปร้อยละ 7.27 อยู่ที่ 4,801.54 ล้านบาทในปี 2561 นั่นเอง

หนึ่งในเงื่อนไขที่ทำให้ตลาดโฆษณาในวิทยุโดยรวมอยู่ในภาวะค่อยๆ ขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย โดยเฉพาะการรุกในเชิงออนไลน์ของแต่ละสถานีวิทยุมากขึ้น โดยเฉพาะเจ้าหลักอย่าง A-TIME MEDIA ที่รุกเข้ามาทั้งการทำ Podcast และสถานีวิทยุออนไลน์ และรวมไปถึงกลุ่มคนฟังวิทยุที่มีความจงรักภักดีต่อคลื่นที่ตนเองชอบฟังมากๆ โดยมีเงื่อนไขอยู่นั่นก็คือ การเปิดเพลงที่ตนเองชื่นชอบ หรือการจัดรายการของดีเจคนนั้นๆ ที่สามารถดึงดูดคนฟังได้มากขึ้นนั่นเอง

สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ธุรกิจวิทยุจำเป็นต้องปรับตัวให้เหมาะสมกับช่องทางการรับชมของผู้ฟัง ซึ่งปัจจุบันมีทางเลือกมากมายทั้ง Podcast , YouTube Music , Spotify หรือการรุกขยายผ่านช่องทางอื่นๆ เช่น กิจกรรม หรือคอนเสิร์ต จะทำให้วิทยุยังอยู่รอดได้นั่นเอง