fbpx

หมายเหตุ: บทความนี้เขียนโดยฟรานซิส บุญเกื้อหนุน เป้าทอง และแพรวา สุวรรณชีพ ผู้ซึ่งเป็นแฟนตัวยงของจักรวาลของสตาร์ วอรส์ (ระวัง! บทความนี้มีสปอยเลอร์อยู่ข้างล่าง)

  • The Rise of Skywalker เป็นการกลับมาของเจ. เจ. แอบรัมส์ ผู้กำกับภาพยนตร์มือฉมังที่เคยคุมบังเหียนหนังในจักรวาลของสตาร์ วอรส์  มาก่อน
  • หนังเรื่องนี้เป็นการกลับลำจากทิศทางที่ไรอัน จอห์นสัน ได้ตั้งไว้ตั้งแต่สองภาคที่แล้ว ที่เกิดเสียงวิพากษ์วิจารย์จากกลุ่มแฟนของสตาร์ วอรส์ 
  • จากมุมมองของคนทั่วไป และแฟนตัวยงของจักรวาลอันไกลโพ้นนี้ ถือว่าเป็นการจบที่ไม่ผิดหวัง แต่ยังมีสิ่งอื่นที่สามารถทำให้ภาคนี้เป็นที่สุดของสตาร์ วอรส์ได้

หลังจากที่ได้ดู Star Wars: The Rise of Skywalker จบลงนั้น ความรู้สึกตอนนั้นเหมือนกับคนเริ่มดูสตาร์ วอรส์  ครั้งแรก ไม่น่าเชื่อว่าในจักรวาลอันไกลโพ้นที่จอร์จ ลูคัสได้สร้างมาเมื่อปี พ.ศ. 2520 ซึ่งเป็นเวลาที่ล่วงเลยมาแล้วสี่ทศวรรษมาด้วยกัน และเชื่อว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะยังคงเป็นเรื่องที่ชอบไปอีกนาน ด้วยการที่นำตำนานผู้กำกับภาพยนตร์อย่างเจ. เจ. แอบรัมส์ ที่เป็นแฟนจักรวาลสตาร์ วอรส์ โดยตรงมาคุมบังเหียนในการสร้างหนังที่ถือว่าเป็นบทสุดท้ายของตระกูลสกายวอลค์เกอร์ ถือว่าเป็นการกลับมาของสตาร์ วอรส์ในภาคสุดท้ายนี้ถือเป็นการกลับลำจากทิศทางที่ไรอัน จอห์นสัน ได้วางไว้เมื่อสองภาคที่แล้ว และถ้าทุกคนจำได้ สองภาคที่ผ่านมา (The Force Awakens, The Last Jedi) เป็นที่ถกเถียงกันเป็นอย่างมากในบรรดาเหล่าแฟนเบสของสตาร์ วอรส์นี้ ถึงขนาดที่ว่ามีคนขอให้ดิสนีย์ถอน The Last Jedi ออกจากโครงเรื่องทั้งหมดในตระกูลสกายวอล์คเกอร์นี้ 

เรื่องนี้มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการที่จักรพรรดิปัลปาตีนฟื้นคืนชีพ หรือแม้แต่การที่ไคโร เลนกลับใจมาเป็นคนดี หรือแม้แต่ฉากต่อสู้กับปัลปาตีนที่ทำให้เกิดความตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตามในคราวนี้ ถึงแม้ว่าจะเป็นหนังที่ดูแล้วสนุก แต่ก็ยังมีจุดบางจุดที่ย้อนกลับมาดูกันแล้ว ยังไม่ชัดเจนว่านี่คือที่สุดของสตาร์ วอรส์ ภาคสุดท้ายแล้วหรือไม่

ตัวละครที่ไม่ได้เด่นเหมือนคราวที่แล้ว…

ในตอนที่ได้ดูนั้น มีการสังเกตเห็นถึงการพัฒนาของตัวละครหลักที่ไม่มีการพัฒนาต่อจากภาคที่แล้ว ยกตัวอย่างเรย์ ที่เป็นตัวหลักของเรื่อง สังเกตว่าไม่มีการเพิ่มเติมอะไรจากภาคที่แล้วเลย หรือแม้แต่กับโรสที่ว่าเป็นตัวละครที่สร้างความฮือฮาในภาคที่แล้ว กลับกลายเป็นว่าเธอรับบทเป็นเหมือนตัวเสริมของเรื่องไปโดยปริยาย 

ในภาคที่แล้ว ทั้งเรย์ และโรสเองก็ต่างก็ขึ้นมาเป็นตัวละครสำคัญ และมีความคาดหวังว่าทั้งสองคนนี้ อาจจะทำได้ดีกว่าในภาคนี้ อย่างเช่นเมื่อเรย์มีสายเลือดของจักรพรรดิปัลปาตีน ผู้ชมควรได้เห็นการเปลื่ยนแปลงทางมุมมอง / อารมณ์ของเรย์ในการดำเนินเรื่องด้วย หรือการที่ให้โรสมีการพัฒนาด้านทัศนคติและอารมณ์ ให้มันสร้างความเป็นไปได้ที่มากกว่าที่เห็นในบทของเธอ ซึ่งถ้าย้อนกลับมาดูในเรื่องนี้จริง ๆ เราแทบไม่ได้เห็นการพัฒนาของตัวละครมากเท่าที่ควรเลย

แน่นอนว่าถ้าเป็นคนที่เริ่มดูสตาร์ วอรส์ภาคนี้เป็นภาคแรกอาจจะไม่แปลกใจ แต่สำหรับคนที่ดูมาตลอดในไตรภาคนี้แล้ว จะเห็นการพัฒนาของตัวละครที่ยกมานี้ถดถอยลงไป ซึ่งอาจจะทำให้ตัวละครทั้งสองนั้นไม่เด่นเหมือนในภาคก่อน ๆ

เนื้อเรื่องออกกระโดดไปหน่อย…

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีข้อสังเกตได้อีกว่าในภาคนี้ บริบทของเนื้อเรื่องจะเป็นในรูปแบบการสร้างความสมดุลของพลัง (The Force) ระหว่างด้านมืดและด้านสว่าง และนั่นก็คือสิ่งที่ผู้กำกับพยายามจะสื่อให้ผู้ชมของภาคนี้เข้าใจ และแน่นอนว่าเราได้รับรู้เกี่ยวกับขุมพลังได้อย่างเต็มเหนี่ยว แต่เมื่อถึงคราวที่เบน โซโล (ไคโร เรนที่กลับตัวกลับใจมาอยู่ด้านสว่าง) กลับมาช่วยเรย์จากความตายเมื่อได้ล้มจักรพรรดิปัลปาตีนไปแล้ว เมื่อชุบชีวิตเรย์กลับมาได้ ก็เป็นเพียงแค่ช่วงเดียวก่อนที่เบน โซโลจะตายต่อหน้าเรย์ไป ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างความแปลกใจให้กับผู้ชมเล็กน้อย เพราะต่างก็มีความคิดที่ว่า เบนอาจจะอยู่ต่อกับเรย์และสร้างความสมดุลไปด้วยกัน

แล้วทำไมต้องสกายวอลค์เกอร์ ?

อีกหนึ่งเรื่องที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือตอนจบของเรื่อง เรย์ทำการฝังไลท์เซเบอร์ ทั้งสองอันของลุคและเลอาห์ และก็มียายผู้สูงวัยเดินเข้ามาถามว่าชื่ออะไร โดยที่เรย์มองไปทางแสงสว่างก่อนจะเห็นร่าง ลุคที่ยืนเคียงข้างกับเลอาห์ พร้อมตอบกลับไปว่าตนชื่อเรย์ สกายวอลเกอร์ แน่นอนว่าถ้าตามเนื้อเรื่องแล้ว มันคือการสร้างสมดุลของขุมพลัง ทั้งด้านมืดที่แสดงตัวตนในสายเลือกปัลปาตีนที่เรย์มี พร้อมกับทางเลือกของเจไดที่เรย์เลือกเดิน มันก็เป็นเรื่องที่น่าแปลกที่ว่าเรย์เลือกที่จะใช้สกายวอล์คเกอร์เป็นนามสกุล ทั้ง ๆ ที่เมื่อสมดุลแล้ว การตอบเพียงแค่ว่าเรย์ก็น่าจะเพียงพอแล้ว 

แล้วยังไงต่อ ?

โดยรวม ๆ แล้วเรื่องนี้มีความสนุกในตัวของมันอยู่แล้ว และแน่นอนว่าสิ่งที่แสดงให้เห็นในภาคนี้ก็แทบจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่านี่คือสตาร์ วอรส์ แต่การที่เจ. เจ. แอบรัมส์ทำในภาคนี้ก็เป็นการแก้สถานการณ์ที่ไรอัน จอหน์สันเข้ามากำกับสตาร์ วอรส์ในภาคที่แล้วมา และแน่นอนว่าการทำเช่นนี้ถือว่าเป็นการเล่นอย่างเป็นกลาง และต้องการสร้างหนังเพื่อให้แฟนเบสของสตาร์ วอรส์รู้สึกดีมากกว่าการสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับคนดูที่ยังไม่เคยคุ้นชินกับจักรวาลที่กว้างใหญ่นี้ 

แน่นอนว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ถือว่าเป็นการจบเรื่องของตระกูลสกายวอลค์เกอร์ได้อย่างดี เป็นการสรุปเรื่องที่ค่อนข้างเป็นไปได้มากที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าถามว่าภาคนี้เป็นที่สุดของสตาร์ วอรส์แล้วหรือไม่ ก็คงจะตอบได้ยาก เพราะว่ายังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่ทำให้ดีขึ้นได้ แต่เมื่อรวม ๆ ทั้งเรื่องที่ดีและเรื่องที่ควรปรับปรุงแล้ว ภาคจบของสตาร์ วอรส์ในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการจบได้ไม่ผิดหวังเหมือนที่คาดไว้