fbpx

ทิศทางปี 2020 ของทีวีดาวเทียม

ก่อนที่จะพูดถึงทิศทางในปี 2020 (พ.ศ. 2563)  จะมาขอพูดถึงในส่วนของปีนี้ก่อนว่ามี Timeline อะไรเกิดขึ้นบ้างในปีนี้

ความเดิมปีนี้: ช่องดาวเทียมปิดตัวเพิ่มขึ้น

มาเริ่มจากที่ต้นปีจนถึงปลายปีนี้จะพบว่าทีวีดาวเทียมปิดช่องเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะปัญหาทางเศรษฐกิจและคนให้ไปดูสื่อออนไลน์หรือว่า OTT มากขึ้น รวมถึงคนที่จะดูแต่ฟรีทีวี ก็หันไปดูทางภาคพื้นดินมากขึ้นเพราะว่าพอเป็นระบบดิจิทัลมันชัดมากอยู่แล้ว ที่พออยู่ได้ก็จะเป็นตลาดทีวีดาวเทียมที่เสียค่าบริการในการรับชม เนื่องจากคอนเทนท์นั่นเอง ส่วนทีวีดาวเทียมแบบขายขาดดูฟรี มักจะมีแต่ลูกค้าเดิมที่ติดมานานแล้วเป็นส่วนใหญ่ ไม่ค่อยมีการขยายตัวของฐานผู้ชม

ในปี 2019 นี้ เท่าที่ผู้เขียนบทความทราบ ทาง RS ก็ปิดตัวช่อง เพลินทีวี (หลังจากเคยปิดตัวและกลับมาอีกครั้ง) และช่อง Satellite Variety ทำให้ช่องดาวเทียมแบบดูฟรีลดลงเรื่อยๆ จากที่ปีก่อนๆ ก็มีการปิดตัวหลายช่องเรื่อยๆ อยู่แล้ว

เมื่อย้อนไปดูข้อมูลเก่าพบว่าเนื่องจากทีวีดิจิทัลมีความคมชัดจนคนหันมาดูแทนดาวเทียมมากขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้คนดูทีวีดาวเทียมลดลงมากจากเดิมที่เคยเติบโตอย่างก้าวกระโดด อีกทั้งเมื่อมีกสทช. มากำกับทีวีดาวเทียม และพิษเศรษฐกิจ พิษการเมือง จึงทำให้หลายช่องดาวเทียมตัดสินใจยุติการออกอากาศ แม้พอปรับตัวได้ก็กลับมาออกอากาศอีกครั้ง แต่หายไปหลายช่องมาก และบริษัทที่มีหลายช่องก็ลดจำนวนช่องลง หรือแตกเป็นบริษัทลูกละช่อง (เช่นช่องเครือ LIVE TV เดิม) มีการขายกิจการ ไม่ก็ขายสิทธิชื่อช่องให้บริษัทอื่น (เช่น ไทไชโย กลับมาออกอากาศอีกครั้งโดยการขายสิทธิชื่อให้กับ Wish Channel) อ้างอิงบางส่วนจาก https://www.posttoday.com/economy/news/410086

ความเดิมปีนี้: เพราะดาวเทียมทำให้อดดูพรีเมียลีกฟรีจาก PPTV?

ประเด็นต่อมาที่ร้อนแรงมากในช่วงกลางปีที่ผ่านมา ที่เดือดร้อนทั้งคอบอลสายฟรีและช่างจานดาวเทียมเลย เนื่องจากทางสถานีโทรทัศน์ PPTV HD 36 ได้ประกาศยุติการถ่ายทอดสดฟุตบอลอังกฤษ (พรีเมียร์ลีก) ชั่วคราว แต่ว่าลากยาวมาถึงสิ้นปีก็ไม่มีทีท่าจะกลับมาถ่ายทอดแต่อย่างใด โดยทาง PPTV กล่าวว่า “เนื่องจากการรั่วไหลของสัญญาณไปนอกประเทศไทยผ่านระบบโทรทัศน์ดาวเทียม” ทั้งที่ปัจจุบันฟรีทีวีดิจิทัลที่ส่งขึ้นดาวเทียม มีการเข้ารหัสสัญญาณอยู่แล้ว แต่ว่ามีการรั่วไหลของ BISS KEY หลุดออกไปทำให้ชาวต่างประเทศที่อยู่ในพื้นที่ที่รับดาวเทียมไทยคมได้ สามารถกรอก BISS KEY ดูได้ทันที

และสาเหตที่ต้องงดเฉพาะพรีเมียร์ลีก เนื่องจากถูกเจ้าของลิขสิทธิ์จากต่างประเทศร้องเรียนมา รายการกีฬาอื่น ๆ ยังไม่ถูกร้องเรียน

ประกาศจาก PPTV HD 36

จริง ๆ ช่วงแรก ๆ ยังไม่ได้ถึงขั้นยุติการถ่ายทอดสด แค่งดออกอากาศรายการกีฬาดังกล่าวผ่านทางดาวเทียมเฉยๆ แต่ไม่มีการสื่อสารกับผู้ชมจนผู้ชมได้เข้าไปตำหนิที่แฟนเพจทาง Facebook ของ PPTV จนได้ออกมาสื่อสารกับผู้ชมแล้ว แต่ไม่ทราบว่าเหตุใดอยู่ดี ๆ ถึงยุติการถ่ายทอดสดไปเลย และให้เหตุผลว่าจะหาทางแก้ไขกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ซึ่งผ่านมาแล้วจะสิ้นปีก็ไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

ความเดิมปีนี้: ช่องทีวีดิจิทัลลดคุณภาพภาพบนดาวเทียมเป็น SD

อันนี้ก็เป็นอีกดราม่าในวงการนี้ เนื่องจากปลายปี 2562 นี่เอง เนื่องจากคำสั่งของ คสช. ภายใต้มาตรา 44 (คำสั่งที่ 76/2559) ที่สั่งให้กสทช. ช่วยเหลือค่าเช่าดาวเทียมให้กับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ในการส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมให้คมชัดเทียบเท่ากับที่ประมูลบนภาคพื้นดิน แต่ว่าคำสั่งดังกล่าวหมดอายุในวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา ทำให้หลายช่องตัดสินใจลดความคมชัดลงเป็น SD เพื่อลดต้นทุน

ภาพจาก Infosat

แต่ทั้งนี้ยังยกเว้นกล่องรับสัญญาณดาวเทียมของ True, IPM และ FreeView HD (Good TV) เนื่องจากว่าบริษัทเจ้าของกล่องได้ลงทุนเช่าช่องสัญญาณดาวเทียมเพื่อส่งฟรีทีวีแบบ HD เอง

นอกจากนี้ยังช่อง ThaiPBS ที่ต่างจากชาวบ้านคือเลิกส่ง SD ทางดาวเทียมไปเลย ส่งแต่ HD ทุกกล่องที่เป็นระบบ HD ในทุกจาน ดังนั้นจึงทำให้กล่องรับสัญญาณดาวเทียมที่เป็นระบบ SD จะไม่สามารถดูช่อง ThaiPBS ได้อีกต่อไป

*Update 22 ธันวาคม พ.ศ. 2562 ช่อง ThaiPBS กลับมาส่งสัญญาณ SD บนดาวเทียมอีกครั้ง แต่อาจต้องทำการจูนความถี่เอง

ภาพจาก Facebook Page: Thai PBS

ภาพจาก Facebook: Montree Sukrob

ปัญหานี้ทำให้เดือดร้อนทั้งผู้รับชมและช่างติดตั้งจานดาวเทียม รวมถึงบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ดาวเทียม และอาจส่งผลต่อตลาดนี้ในอีกไม่นานด้วย

ความพยายามอยู่รอดของเจ้าของกล่องดาวเทียม รวมกับ OTT แต่ไม่รุ่ง?

อย่างที่หลายคนพูดกันคือคนเริ่มดูคอนเทนท์ออนไลน์มากขึ้นเป็นอย่างมาก แต่ก็ใช่ว่าจะมีคนดูแต่จากมือถือหรือแทบเล็ต คอมพิวเตอร์ แต่ยังมีความต้องการดูแบบจอใหญ่ ซึ่งก็ไม่พ้นนำคอนเทนท์เหล่านี้มาดูบนทีวี

วงการกล่องทีวีดาวเทียมก็ต้องปรับตัวเพื่อแข่งขันกับกล่องทีวีออนไลน์รูปแบบต่าง ๆ โดยการออกกล่องระบบไฮบริด ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งรับสัญญาณดาวเทียมและคอนเทนท์ออนไลน์ อย่างเช่นที่ Infosat, PSI ทำ

Infosat HD-e168
PSI S3 Hybrid
PSI O5 Android Box Hybrid

แต่จากการที่ผู้เขียนสังเกตดูพบว่าอาจยังไม่ได้ช่วยกระตุนให้ตลาดกล่องดาวเทียมกลับมาโตแต่อย่างไร เดี๋ยวจะมาวิเคราะห์เรื่องนี้ให้ในท้ายบทความ

เปิดเสรีสัมปทานดาวเทียม

อันนี้น่าจะเป็นผลดีต่อผู้ชมทีวีดาวเทียม แต่ยังไม่สามารถฟันธงได้ว่าจะช่วยให้ตลาดทีวีดาวเทียมได้หรือไม่ เมื่อ กสทช. บัญญัติให้ “กสทช.” ดำเนินการให้ได้มาและรักษาไว้ซึ่งสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ทำให้เกิดการพิจารณาอนุญาตการประกอบกิจการทางด้านดาวเทียม เปิดทางให้ผู้ประกอบการรายใหม่ยิงดาวเทียมในนามประเทศไทยได้ ไม่ยึดติดกับเจ้าใดเจ้าหนึ่ง เปิดช่องให้ดาวเทียมต่างประเทศมาเปิดให้บริการช่องสัญญาณแก่ประเทศไทย รวมถึงสถานีส่งสัญญาณที่ไว้ส่งสู่ดาวเทียมต่างประเทศ โดยเริ่มตั้งแต่ไตรมาสแรกปี พ.ศ. 2563 นี้

โดยร่างแผนการจะเข้าสู่ที่ประชุมภายในวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2562 ทั้งนี้ยังมีการกำหนดหลักเกณฑ์ดาวเทียมต่างชาติที่ให้บริการในไทย ต้องมีการตั้งบริษัทในไทย และมีโครงข่ายเกตเวย์ หรือสถานีอัปลิงก์ในประเทศไทย เพื่อไม่ให้กระทบความมั่นคง รัฐบาลไทยสามารถปิดระบบได้ หากพบภัยความมั่นคง แต่ยกเว้นสถานทูตที่สามารถใช้งานดาวเทียมที่ไม่มีการมาตั้งบริษัทในไทยได้

และได้ปรับเงื่อนไขดาวเทียมเดินเรือให้ต้องมีสำนักงานในประเทศไทยด้วยเช่นเดียวกัน ส่วนดาวเทียมให้บริการยูโซ่เน็ต (สัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ) กำหนดให้ใช้ดาวเทียมต่างชาติที่ไม่มีบริษัทในประเทศไทยได้ในกรณีให้บริการยูโซ่ไม่เกิน 1 ปี หากเกิน 1 ปี จำเป็นต้องเข้าตามระบบของกสทช.

จะเห็นได้ว่าเปิดให้แข่งขันเสรี ไม่กีดกั้นต่างชาติ แต่ว่าต้องให้ไม่ได้รับผลกระทบจากภัยความมั่นคง

สรุปความเดิมปี 2019 มีแนวโน้มพาทิศทางปี 2020 ไปอย่างไร?

จากที่เล่ามานั้นพอจะสรุปทิศทางได้ว่า แต่ละปีจะมีช่องดาวเทียมแบบดูฟรีหรือ Free to air ปิดตัวเรื่อย ๆ แม้จะมีช่องใหม่เพิ่มมาบ้างแต่สัดส่วนค่อนข้างน้อย  อีกทั้งปัญหาฟรีทีวีภาคพื้นดินบนดาวเทียมบางช่องที่ยังไม่มีท่าทีแก้ไขปัญหาเรื่องการถ่ายทอดสดกีฬาสักที บวกกับภาพพื้นดินชัดมาก ลดคุณภาพความคมชัดบนดาวเทียมและคนดูคอนเทนท์ออนไลน์มากขึ้น ทีวีดาวเทียมอาจถึงจุดเสื่อมความนิยมในไม่ช้าก็ได้ และตลาดช่องที่ต้องเสียเงินรับชมก็อาจจะกระทบ แต่แค่กระทบในฐานะผู้ให้บริการผ่านจานดาวเทียม ไม่กระทบเรื่องการเผยแพร่และรายได้จากคอนเทนท์ เพราะค่ายใหญ่เหล่านี้ส่วนใหญ่นำคอนเทนท์ของตัวเองมาขายบน OTT หรือว่าสื่อออนไลน์แล้ว (กรณีถ่ายทอดสดกีฬาซึ่งจริง ๆ ผมเสนอว่าให้ใช้วิธีเปลี่ยน BISS KEY ทุกครั้งที่มีการแข่งขันเหมือนช่วงบอลโลกหรือบอลยูโร หรือที่ทีวีอินโดนิเซียทำก็พอจะช่วยผ่อนหนักเป็นเบาได้พอสมควร)

และในส่วนที่ได้ค้างไว้คือ ทำไมผู้ผลิตและจำหน่ายกล่องทีวีดาวเทียมที่พ่วงฟีเจอร์ OTT มาด้วยดันทำแล้วแทบไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เกิดจากที่ผู้ซื้อมองว่า แต่ละผู้ผลิตไม่ได้ทำให้เต็มที่ เช่นสเปคไม่จัดเต็ม ไม่รองรับหลากหลายช่องทางการดูคอนเทนท์ ซึ่งเมื่อเทียบกับกล่องที่ขายแยก ว่าไปซื้อกล่อง OTT ที่ทำขายแยกจากกล่องดาวเทียม ให้คู่กับกล่องดาวเทียมแบบเดิมหรือเลือกแค่กล่อง OTT อย่างเดียวค่อนข้างคุ้มกว่า

แต่ก็มีผู้ผลิตกล่องทีวีดาวเทียมที่หันมาทำกล่อง OTT แบบแยกจากกล่องทีวีดาวเทียมและประสบความสำเร็จอย่างเช่นของ GMM Z และ TrueID TV โดยของทาง True นั้นมีจุดเด่นที่คอนเทนท์ของตัวเองและทำตลาดคู่กับสินค้าและบริการอื่น ๆ ในเครือได้ด้วย

ส่วนเรื่องเสรีสัมปทานดาวเทียม ก็ยังไม่สามารถวิเคราะห์ได้ชัดๆ จนกว่าร่างจะออกมาหรือว่าต้องลองดูหลังประกาศใช้ไปสักพัก แต่ว่าที่แน่ ๆ ลดการผูกขาดด้านดาวเทียม หลายจุดนี้ที่มีมากว่า 20 ปี ทำให้มีการแข่งขันกันมากขึ้นได้

อ้างอิง

[1] PostToday. 2559 “ทีวีดาวเทียมฟุบปิดตัว100ช่อง.” . สืบค้นเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2562 จาก posttoday.com/economy/news/410086

[2] TV DIGITAL WATCH. 2562. “Update! สถานะผู้ชมทีวีดิจิทัลผ่านกล่องดาวเทียมหลัง 20 ธ.ค. นี้” . สืบค้นเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2562 จาก tvdigitalwatch.com/news-tvdigital-15-12-62

[3] Infosat Facebook Fanpage. 2562. “ขอแจ้งการเปลี่ยนแปลงช่องโทรทัศน์ที่เป็นรายการทั่วไปผ่านระบบดาวเทียม (Must Carry)” . สืบค้นเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2562 จาก facebook.com/InfosatColtd

[4] ยามเฝ้าจอ Facebook Fanpage. 2562. “หมดเวลาคมชัดบนดาวเทียม!” . สืบค้นเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2562 จาก facebook.com/YamFaoJor/posts/3126259207599169

[5] Facebook ของคุณมนตรี สุขรอบ (Montree Sukrob) ผู้ประธานกรรมการ บริษัท ไทยแซท เอ็กซ์เพิร์ท เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด. 2562. “TPBS กลับมาส่ง SD เพิ่มเหมือนเดิมนะครับ” . สืบค้นเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2562 จาก facebook.com/montree.sukrob/posts/2897730810245605

[6] ThaiPBS Facebook Fanpage. 2562. “ไทยพีบีเอสได้กลับมาออกอากาศผ่านทางดาวเทียมได้เป็นปกติแล้วค่ะ” . สืบค้นเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2562 จาก facebook.com/ThaiPBSFan/posts/10163114941375085

[7] PostToday. 2562. “พีพีทีวี งดถ่ายทอดพรีเมียร์ลีกชั่วคราว พบสัญญาณรั่วไปนอกประเทศ” . สืบค้นเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2562 จาก posttoday.com/social/general/604577

[8] ประชาชาติธุรกิจออนไลน์. 2562. “2563 เปิดเสรีดาวเทียม ลู่วิ่งใหม่ “ไทยคม-Landing Right”” . สืบค้นเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2562 จาก prachachat.net/ict/news-403642

[9] TCIJ Online. 2562. “กสทช.ปรับเงื่อนไขเสรีดาวเทียม ต่างชาติต้องตั้งบริษัท-มีโครงข่ายเกตเวย์ในไทยด้วย” . สืบค้นเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2562 จาก tcijthai.com/news/2019/12/current/9677