fbpx

พูดถึงเรื่องราวการสรุปวงการสื่อกันไปแล้วในตลอดปี 2019 มาคราวนี้ส่องสื่อจะขอนำพาทุกท่านไปดูแนวโน้มทิศทางในปี 2020 กันบ้างว่าในสื่อ 2 แพลตฟอร์มหลักๆ ที่คนไทยนิยมกัน นั่นก็คือสื่อโทรทัศน์ และพอตแคสต์จะเปลี่ยนแปลงอย่างไรกันบ้าง? โดยเราได้รับเกียรติจาก “ดร.สิขเรศ ศิรากานต์” นักวิชาการสื่อสารมวลชน และ “พี่แซม พลสัน นกน่วม” บรรณาธิการ Mango Zero และผู้ร่วมก่อตั้ง Gettalks Podcast มาเล่าสู่กันฟังและดูทิศทางกัน ติดตามจากบทความนี้ได้เลยครับ


อุตสาหกรรมโทรทัศน์ : มันจะไม่ตกต่ำไปมากกว่านี้อีกแล้ว…

Credit : Bangkokbiz

ดร.สิขเรศ ศิรากานต์
นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน

อุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลในปี 2562 มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง?

ในอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลในปีที่ผ่านมาเป็นลักษณะของ U-Curve ซึ่งเกิดก่อนการใช้มาตรา 44 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ในวันที่ 11 เมษายน 2562 Curve ส่วนแรกก็คืออุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลมาถึงจุดที่ตกต่ำที่สุดแล้ว หลังจากวันที่ 11 เมษายน 2562 คือจะเป็น Curve ที่ค่อยๆ ไต่ขึ้นมา เพราะฉะนั้นถ้าเราเอาเรื่องเศรษฐศาสตร์การเงินมาพูดเนี่ย เราไม่ได้พูดว่าเราชอบหรือไม่ชอบในมาตรา 44 นะ แต่เราพูดถึงว่าพอมันมีมาตรา 44 อุตสาหกรรมก็เริ่มดีขึ้นตามลำดับ

เม็ดเงินโฆษณาในปีหน้าจะลดลงมากน้อยแค่ไหน?

คงต้องย้อนกลับไปดู อุตสาหกรรมทีวีดิจิอทัลของเราอยู่ในมายาคติแบบนี้มา 5-6 ปีแล้ว คือถ้าจำได้ เราประมูลทีวีดิจิทัลวันที่ 26-27 ธันวาคม 2556 ซึ่งเขาได้ประเมิน ณ ตอนนั้นไว้ว่ามีมูลค่าสูงถึง 200,000 ล้านบาท ซึ่งในตอนนี้มันไม่ได้เป็นแบบนั้นแล้ว เพราะฉะนั้นมูลค่าโฆษณาไม่ได้สูงเหมือนที่โชว์ในปัจจุบัน และอีกปัจจัยหนึ่งคือการมีสื่อดิจิทัลเข้ามา DAAT ประเมินไว้ว่ามีงบโฆษณาสูงถึง 20,000 ล้านบาทเชียวนะ

ทีนี้ผมเลยรวบรวมงานวิจัยและข้อมูลสำคัญ พบว่าตอนนี้สื่อดิจิทัลแซงสื่อหลายแพลตฟอร์มไปแล้ว และในต่างประเทศสื่อดิจิทัลตัดกับสื่อโทรทัศน์ไปแล้วเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

สื่อโทรทัศน์ควรปรับตัวไปในทิศทางไหนบ้าง?

อย่างแรกคือเราต้องข้ามไปที่ ecosystem อื่นๆ ก่อน อย่างจากงานวิจัยของผมบ่งบอกได้เลยว่า ณ ตอนนี้เราควรที่จะเป็นและสามารถเป็น Social TV ได้แล้ว (Social TV = Social Media + TV) ยกตัวอย่างเช่น ละคร “บุพเพสันนิวาส” ที่นำเอา Social Media ประยุกต์ให้สร้าง engagement กับทีวีด้วย และสามารถสร้างกำไรได้ด้วย แต่ทีวีบ้านเราต้องพัฒนาไปมากกว่านั้น อย่างในสหรัฐฯ มีการขาย Hashtag และใช้ Social Media ในการเพิ่มกำไรให้กับสื่อโทรทัศน์ไปแล้ว

และโทรทัศน์ในปี 2020 จะเข้าสู่ยุคของ 5G+8K และ immersive experience แล้วมากกว่า นอกจากนี้โทรทัศน์บ้านเราก็ยังไม่สามารถเป็นทีวีที่เป็น Big Data ได้เลย

บ้านเราจะมีโอกาสพัฒนาไป 8K ไหม?

ผมคิดว่าเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนอยู่แล้ว การยอมรับเทคโนโลยีมีหลายปัจจัย เช่น การที่ประชาชนเห็นว่าภาครัฐสนับสนุนมากขึ้น เขาก็พร้อมขยับมากขึ้น ส่วนที่สองคืออยากให้ลองไปตามร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าแล้วไปดูโทรทัศน์ที่รองรับระบบ 4K ขึ้นไปจะราคามากกว่า 20,000 บาท เพราะฉะนั้นเรื่องราคาก็มีส่วนเหมือนกัน การที่จะทำให้ประชาชนยอมรับ สำคัญคือราคาที่เอื้อมถึงได้นั่นเอง 

ส่วนต่อมาก็คือในภาคการส่งสัญญาณ 8K ทำให้ตัดรถ OB ไปได้เลยนะ คือตอนนี้ประเทศที่ประสบความสำเร็จบางส่วนก็คือ ทีวีประเทศฝรั่งเศส (france television) ได้ทดลองและทดสอบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หรือแคว้นบาวาเรียล ประเทศเยอรมนี ก็มีการทดสอบ 5G ตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2018 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับเมืองไทย คาดการณ์ว่าเลขาธิการ กสทช. จะเปิดประมูลในไตรมาสแรกของปี 2020 นั่นเอง

สำหรับประเทศไทย การพัฒนาไปถึง 8K นั้น เนื่องจากตอนนี้ใบอนุญาตถูก Lock specification เอาไว้ กสทช. จำเป็นต้อง Live & Learn และนำไปใช้ด้วย อย่างในต่างประเทศก็จะมีโมเดลที่มากกว่าการประมูล ก็คือการต่อใบอนุญาต หรืออย่างการอัพเกรดในประเทศอังกฤษ สิ่งสำคัญโทรทัศน์ยังเป็นสื่อที่เข้าถึงได้ในราคาถูก ฉะนั้นการประับเทคโนโลยีไม่ได้ใช้เพื่อทางการค้า แต่เพื่อบริการของประชาชนนั่นเอง ถ้า กสทช. กลัวข้อครหาว่าจะเอื้อเอกชน ผมคิดว่าทีวีสาธารณะก็ไม่ได้ขี้เหร่จนเกินไป ไทยพีบีเอสก็สามารถเป็นโทรทัศน์ที่สามารถทดลองออกอากาศได้เช่นกัน 

จะมีการคืนช่องรอบที่ 2 จริงไหม?

ไม่ได้บอกว่าเกิดขึ้นไม่ได้นะ แต่มองจากรอบที่ 1 ซึ่งเป็นผลพวงจากกฎหมายพิเศษซึ่งอยู่เทียบท่าของรัฐธรรมนูญเลยก็ว่าได้ เพราะฉะนั้นมีหนทางเดียวคือ exit business หรือการออกด้วยตนเองโดยไม่ได้สิทธิพิเศษจากการออกจากธุรกิจใดๆ และจะยังมีปัญหาด้านกฎหมายไปอีก

ตอนนี้มีการปรับเปลี่ยนพนักงานฝ่ายข่าวเยอะมาก ตรงนี้มองว่าอุตสาหกรรมเป็นอย่างไร?

ตรงนี้มันเป็นตรรกะที่ย้อนแย้งพอสมควร คือทุกช่องพยายามที่จะทำรายการข่าว เพราะเขามองว่ามันเป็นคอนเทนต์ที่ราคาต่ำที่สุด และคาดหวังกำไรมากที่สุด ในปัจจุบันก็ถือว่าเป็นรายการที่ต้นทุนถูกที่สุดด้วยนะ ซึ่งมันก็ง่ายมากๆ เพียงแค่ไถฟีด Facebook แล้วเอามาเล่าข่าว พรรณนากันมากมาย หยอกล้อกันในห้องส่ง ทีนี้มันก็เลยกลายเป็นว่าทุกช่องก็อยากจะทำรายการข่าว ซึ่งมันย้อยแย้งกับสิ่งที่ตัวเองลงทุนแล้วจะคาดหวังกำไร 

ผมถึงบอกว่าทีวีดิจิทัลไทยไปจนถึงจุดที่ตกต่ำที่สุด และมันก็จะไม่ตกต่ำไปมากกว่านี้อีกแล้ว ตกต่ำในทีนี้ไม่ใช่เป็นการดูถูกวิชาชีพ แต่เป็นไปในเชิงเศรษฐศาสตร์ หลังจากนี้ก็น่าจะดีขึ้น อาจจะมีการเขย่าไปอีกสักพักนึงใหญ่ๆ เพราะกระแส Disrupt ก็ยังมีอยู่

แนวโน้มสื่อในปี 2020 จะเป็นอย่างไร?

ผมคิดว่าถ้าเป็นสื่อทีวี เรามาถึงขอบอ่างกันเป็นที่เรียบร้อยแล้วนะ มันตกไปมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้นหลังจากนี้มันจะค่อยๆ ไต่ขึ้นมา เพราะฉะนั้นทีวีก็ต้องอภิวัฒน์ตัวเองเหมือนกัน และมันก็ยังไม่ได้หายไปโดยสิ้นเชิง เราต้องพูดว่านวัตกรรมการเปลี่ยนแปลงทีวีจะมีมากกว่านี้อีก 

ทีวีที่เรากดรีโมทอยู่จะมีไปอีกสักพักนึงอยู่แล้ว ในขณะที่ Social Media ของช่องโทรทัศน์ของบ้านเรามียอดผู้ติดตามสูงขึ้นทุกปี แต่เราก็ยังไม่สามารถหากำไรจากตรงนั้นได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทีวียุคต่อไปต้องบูรณาตัวเองไปสู่ OTT TV แล้วภาครัฐก็ต้องไม่นิ่งเฉยอีกต่อไปด้วย เพราะมันจะทำให้เราสู้กับต่างประเทศไม่ได้แน่นอน เรื่องต่อไปคือในยุคต่อไปเราก็อาจจะต้องเข้าสู่ยุค immersive experience ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการใช้ 5G ดูรายการเบสบอลของเกาหลีใต้ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่ามันมีการบูรณาการเข้าสู่มือถือ และเข้าสู่การรับชมกีฬา และต่อไปเราต้องเข้าสู่ยุค Big data เราต้องเข้าสู่ยุควารสารศาสตร์ดิจิทัล ซึ่งมีหลายสถาบันยังไม่ได้ Upgate ตัวเองสู่การเป็น Data journalist


อุตสาหกรรมพอตแคสต์ : ปี 2020 อาจจะยังไม่ใช่ปีทองของ Podcast

Credit : Mango Zero

พลสัน นกน่วม
บรรณาธิการ Mango Zero และผู้ร่วมก่อตั้ง Gettalks Podcast

ในปี 2019 มีคนเข้ามามากน้อยแค่ไหน?

ภาพรวมปีนี้คือโตมากขึ้นกว่าปีก่อนเลยทีเดียว ปีนี้เราเห็นสื่อหรือ Influencer มาจัดรายการ Podcast มากขึ้น หรือแม้กระทั่งสถานีวิทยุก็เริ่มเข้ามาทำ Podcast มากขึ้นแล้ว ในอีก่วนหนึ่งเราก็จะเห็นบุคคลทั่วไปที่เป็นคนฟังหันมาทำรายการกันมากขึ้น อีกสิ่งหนึ่งที่น่านใจคือ Influencer ที่เข้ามาทำ Podcast ชัดเจนที่สุดก็น่าจะเป็นช่อง 8 บรรทัดครึ่ง ซึ่งเพิ่งเริ่มทำเมื่อต้นปีนะ แต่ว่าเป็นหนึ่งในช่องที่คนฟังเยอะมากๆ ติดอันดับต้นๆ ของการจัดอันดับทุกสัปดาห์ อีกคนที่น่าสนใจคือ “พี่จีน Scoop Viewfinder” ซึ่งเปิดตัวได้แค่ 3 เดือนแต่ยอดการรับฟังดีมากถึงมากที่สุด คือถ้าเปิดอันดับ 1-10 Scoop Viewfinder เป็นหนึ่งในนั้นเลย 

แบรนด์มา Co-lab กับ Podcast ในปีที่ผ่านมามากน้อยแค่ไหน?

ผมเห็นอยู่ประมาณ 2 เจ้านะที่มาลุย Podcast คือ “กรุงไทย-แอคซ่า” และ “SCB” ที่ขยับมาทำ Podcast เองด้วย คือมาทำเองเลยนะ ส่วนการ Co-lab ก็ทั้งสองเจ้ามีการไปร่วมกับ The Standard ด้วยนั่นเอง

มีการทำให้แปลกแหวกแนวขึ้นไหม?

ผมว่าการทำละครวิทยุ หรือการนำเรื่องราวมาวางเรียงต่อกัน นั่นแหละคือความแปลก เท่าที่ผ่านมาเราจะเห็นมีอยู่สองรายการที่นำเอาเรื่องราวมาต่อกัน แสดงให้เห็นถึงว่าเขาตั้งใจในการสื่อสารอยู่แล้วด้วยนั่นเอง เราเลยเห็นมิติใหม่ในการทำ Podcast มากขึ้น

Podcast คือสื่อสำหรับคนชนชั้นกลาง?

ก็จริงครับ ถ้าเราอิงตามสถิติหลังบ้าน ยอดการรับฟังรายการ Podcast ส่วนใหญ่ก็มาจากคนฟังที่อยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รองลงมาคือหัวเมืองใหญ่ น้อยมากที่จะอยู่ในจังหวัดรองลงมา ซึ่งรายการที่ผลิตออกมาก็ตามความต้องการของคนที่ฟังซึ่งเป็นคนชนชั้นกลาง ก็เลยไม่แปลกเลยที่จะมองว่า Podcast คือสื่อสำหรับคนชนชั้นกลาง ในขณะที่คนต่างจังหวัดก็ยังดูทีวีอยู่ เล่น Social Media แต่ไม่ได้สนใจ Podcast

ปี 2020 Podcast จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง?

สิ่งแรกที่น่าจะเปลี่ยนสำหรับปีหน้าคือเรื่อง Production ย้อนกลับไป 2-3 ปีก่อนมันคือเรื่องของการเรียนรู้นะ เป็นเรื่องของการทดลองทำ Production ไม่เนี้ยบไม่เป็นไร แต่ปี 2020 สิ่งที่ต้องเปลี่ยนแน่ๆ ก็คือ Production จะต้องเนี้ยบขึ้น จะไม่ได้ทำกันเล่นๆ แล้ว เพราะว่าในแง่ของเครื่องมือ เราเริ่มรู้แล้วว่าเราจะใช้ยังไงได้บ้างให้มันเนี้ยบที่สุด 

ส่วนที่สองคือ Content ที่ในปี 2020 มันจะหลากหลายขึ้น ถ้าปีที่ผ่านมา Content ที่ได้รับความนิยมคือ Content ที่เล่าให้ฟัง คุยกัน เล่าจากหนังสือให้ฟัง อันนี้เยอะมาก แต่ในปี 2020 มันจะมี Content แนวอื่นที่ไม่ใช่แนวพัฒนาตัวเองมากขึ้น จะเน้นเฉพาะทางมากขึ้น เพราะว่าคนฟังจะเริ่มเบื่อมากขึ้นเรื่อยๆ Content แนวนี้มันไม่ได้ตอบโจทย์อีกต่อไป เขาค้นหา Content ที่สนุกและ Enjoy มากกว่าให้ครมาสรุปให้ฟัง ซึ่งมันมีช่องว่างให้ Podcast อีกหลายแนวที่ให้เราสามารถเข้าไปได้อีก ในปีหน้าจะเห็นชัดมากขึ้นแน่ๆ

แล้วเรื่องโฆษณา Podcast จะมีการเติบโตมากขึ้นรึเปล่า?

ตัวเอเจนซี่หรือตัวแบรนด์เองยังไม่กล้าให้เงินกับ Podcast เยอะ เพราะหลายแบรนด์ก็ยังไม่ได้รู้จัก Podcast โดยหลังจากที่ผมเปิดตัว Gettalks Podcast ไปก็มีหลายแบรนด์เข้ามาขอ Rate Card และเข้ามาขอทำความเข้าใจ คำถามที่เจอบ่อยก็คือ “Podcast คืออะไร?” คำถามต่อมาคือ “มันวัดยอดยังไง?” และคำถามสุดท้ายคือ “แบรนด์จะได้อะไร?” ส่วนมากแบรนด์ที่ลงโฆษณาผ่าน Podcast คือแบรนด์ที่อยากจูนติดกับคนรุ่นใหม่มากกว่า แล้วก็อยากจะขายของกับคนที่อยู่ตรงนี้แน่ๆ แบบว่า Podcast อาจจะมีคนฟังสัก 1,000 คน แต่ใน 1,000 คนนั้นมีคนที่เป็นลูกค้าเขาสักร้อยละ 50 ก็เป็นไปได้


อย่างไรก็ตาม ส่องสื่อเชื่อว่าในปีหน้าวงการสื่อจะต้องพัฒนาได้มากขึ้นอีกอย่างแน่นอน ยังไงก็เอาใจช่วยพี่น้องในวงการสื่อทุกคนด้วยนะครับ ยังไงปีหน้าฟ้าใหม่ขอให้เป็นปีที่วงการสื่อสดใสล่ะกันนะครับ เจอกันใหม่ปี 2020 นะครับ สวัสดีครับ