fbpx

แปปเดียวเราก็ผ่านพ้นปี 2562 กันไปแล้วนะครับ แต่ปีที่ผ่านมาวงการสื่อก็ถูก Disrupt เป็นจำนวนมาก ทั้งในแง่ของการปรับเปลี่ยนสถานการณ์จากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป รวมไปถึงสถานการณ์การปิดตัวของสื่อที่เกิดจาก “ภาวะขาดทุน” ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่น่าสนใจมากๆ ในยุคนี้เลยทีเดียว รวมไปถึงอีกหลายเรื่องราว วันนี้ผมและทีมกองบรรณาธิการส่องสื่อเลยขอรวบรวมสถานการณ์สื่อที่น่าจับตามองมาฝากกัน เพื่อเป็นบทเรียนในการพัฒนาวงการธุรกิจสื่อต่อไปในอนาคต ติดตามได้จากบทความฉบับนี้ได้เลยครับ

ธุรกิจโทรทัศน์

เรียกได้ว่าเป็นปีที่ธุรกิจโทรทัศน์แทบจะสาหัสกันทุกเจ้าเลยทีเดียว เพราะในปีที่ผ่านมามีการปิดสถานีโทรทัศน์กันไปถึง 7 ช่องกันเลยทีเดียว อันเนื่องมาจากคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มาตรา 44 ประกอบกับประกาศของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ การปิดสถานีโทรทัศน์ในครั้งนี้ก็เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการขาดทุนอันเนื่องมาจากการประมูลทีวีดิจิทัล และการเวนคืนคลื่นความถี่ 700MHz ซึ่งแต่เดิมเป็นคลื่นสำหรับการออกอากาศทีวีดิจิทัล และมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำคลื่นดังกล่าวไปช่วยเสริมในกิจการโทรคมนาคมนำไปใช้สำหรับบริการ 5G นั่นเอง ซึ่งแต่ละเจ้าก็รับเงินคืนกันไปมากพอสมควรเลยทีเดียว

หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบสำคัญนั่นก็คือ “ไทยทีวีสีช่อง 3” ที่ก่อนหน้านี้ในมือถือไว้ทั้งหมด 3 ช่อง การคืน 2 ช่องไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่ “อริยะ พนมยงค์” กรรมการผู้อำนวยการ บมจ.บีอีซี เวิลด์ บอกกับทีมงานส่องสื่อถึงการคืนช่องไว้ว่า “จริงๆ แล้วเรามองในระยะไกลนะครับ ต้องยอมรับว่าวันนี้สถานการณ์ที่เม็ดเงินโฆษณามันทรงๆ หรือว่าลดลง จำนวนช่องมีเยอะกว่าจำนวนเม็ดเงินโฆษณา วันนี้แม้แต่ที่เราลดลงมาเหลือ 15 ช่องก็ว่ายังเยอะอยู่ เพราะว่าถ้าดูในความเป็นจริงเราก็จะเห็นว่าเม็ดเงินมันกระจุกอยู่แค่ 10 ช่อง แล้วเราจะเห็นได้ว่าการแข่งขันก็ไม่ได้ลดลงด้วย มีแต่เพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นเรามองในระยะยาว สิ่งที่เราควรจะทุ่มเทควรจะไปอยู่ที่ช่องหลักมากขึ้น ให้มันแข็งแกร่งและเติบโตมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ไปสร้างธุรกิจที่มันมีการเติบโตมากขึ้น”

ในขณะเดียวกัน ฟากของ Voice TV 21 เป็นอีกหนึ่งช่องที่จำเป็นต้องปิดตัวทางทีวีดิจิทัล และไปออกอากาศผ่านทีวีดาวเทียมในฐานะ Content Provider แทนนั้น “ธีรัตน์ รัตนเสวี” ผู้ประกาศข่าว Voice TV 21 ได้ให้สัมภาษณ์กับทางส่องสื่อไว้เกี่ยวกับประเด็นการปิดตัวของ Voice TV 21 ไว้ว่า “ก็ต้องยอมรับสภาพ เนื่องมาจากเป็นการตัดสินใจเชิงธุรกิจของผู้บริหารเอง เนื่องจากว่าย้อนกลับไป 10 ปี Voice TV ขาดทุนเยอะมาก การทำธุรกิจมันไม่ได้ง่าย ฉะนั้น ถึงแม้มันมีต้นทุนที่ต้องจ่ายเยอะมาก แล้วรายได้ที่เราได้ปีหนึ่งมันไม่ Cover ค่าใช้จ่าย เพราะฉะนั้นเมื่อมีโอกาสให้คืนได้ ก็ต้องคืน เพราะธุรกิจมันขาดทุนแหละ”

นอกจากนี้ยังบอกความรู้สึกถึงการเห็นตัวเลขขาดทุนไว้ด้วยว่า “ก็ไม่ตกใจ เพราะพี่เห็นตัวเลขตรงนี้มาตั้งแต่ต้น ตอนที่เราเป็นผู้บริหารเราก็เห็นว่ามันขาดทุนแค่ไหนมาตั้งแต่ Day 1 เลยก็ว่าได้ และพอมาเป็นทีวีดิจิทัลเราก็ขาดทุนอย่างหนักด้วย แล้วเราก็เคารพการตัดสินใจของผู้บริหารด้วย ที่มันขาดทุนเยอะอยู่ต่อไปมันก็ลำบากเหมือนกัน”

สิ่งหนึ่งที่หนีไม่พ้นจากปัญหาการคืนช่อง นั่นก็คือ “โครงสร้างของธุรกิจสื่อ” ซึ่งมีผลต่อตัวเลขขาดทุน-กำไรมากๆ เรื่องนี้ “ฐปณีย์ เอียดศรีไชย” บรรณาธิการบริหาร The Reporters ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “ระบบโครงสร้างที่ข่าวทีวีบางทีทำร้อยข่าวออกได้แค่ข่าวเดียว มันก็ไม่ทันข่าวออนไลน์ที่มันจะสามารถสดได้ตลอดเวลา พอธุรกิจมันขาดทุนมันก็เลยต้องลดต้นทุน พอลดต้นทุนก็ทำให้ข่าวมันไม่มีคุณภาพ มันก็เป็นวงจรการทำข่าวที่มันไม่มีคุณภาพ พอมันไม่มีคุณภาพแล้วใครจะมาดูคุณ มันไม่มีความแตกต่าง แล้วมันจะมาดูทำไมในเมื่อหาดูที่อื่นก็เหมือนๆ กัน มันก็กลายเป็นวงจรอุบาทว์ที่พี่มองว่า “ถ้าเราไม่มาตั้งหลักในการหาข่าวที่มีคุณภาพ ที่มันแตกต่าง เราเองก็อยู่รอดไม่ได้”

อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่สำคัญมากๆ นั่นก็คือการร่วมมือกันระหว่างองค์กรสื่อทั้ง 2 องค์กรนั่นเอง แต่ที่เห็นจะเป็นดีลฟ้าแลบนั่นก็คือดีลของ GMM GRAMMY กับ MONO GROUP นั่นเอง ซึ่งถือเป็นดีลที่ทำกันในระยะเวลาเพียง 3 เดือนเท่านั้นเอง ซึ่งถือเป็นการร่วมมือครั้งยิ่งใหญ่ เพราะเป็นการร่วมมือทั้งในด้านการผลิตเนื้อหาเพื่อออกอากาศ ผลิตเพลงร่วมกัน และการร่วมมือทางด้านการตลาดร่วมกันอีกด้วย

โดย “ปฐมพงศ์ สิรชัยรัตน์” ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บมจ.โมโน เทคโนโลยี ได้ให้สัมภาษณ์กับส่องสื่อถึงประเด็นการปรับตัวของทีวีดิจิทัลเอาไว้ด้วยว่า “ดิจิทัลทีวีจะรอดไม่รอดขึ้นอยู่กับการบริหารงบการเงินด้วยว่าใช้จ่ายหนักไปรึเปล่า? แล้วก็คนดูยอมรับที่จะทำให้มีเรตติ้งหรือโฆษณาเข้ารึเปล่า? นอกจากนี้คนที่อยู่รอดก็ยิ่งได้คว้าโอกาสที่จะได้เงินมันแคบลงมาเหลือไม่กี่ราย ผมว่าถ้าอยู่รอดก็คงรอดไปอีกยาว คนดูที่ดูดิจิทัลทีวีถ้าตามกระแสจากเกาหลีใต้ยังไงก็ยังมีคนดูอยู่ 3-5 ปีแน่นอน ไม่ได้หนีไปไหน แต่ก็จะมีไปเบียดบังเวลาดูผ่านแพลตฟอร์มอื่นบ้าง แต่ถ้าลง OTT แล้วเอเจนซี่โฆษณาจะไปลงโฆษณาที่ไหน? เพราะ OTT มันไม่ได้รับโฆษณา เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นโจทย์สำคัญมากว่าดิจิทัลทีวีจะดึงดูดคนได้มากน้อยแค่ไหน? ผมถึงได้บอกว่าการที่ผมกำลังคุยเรื่องของการโปรโมทคอนเทนต์ต่างๆ บนดิจิทัลทีวี ผมอยากให้ดิจิทัลทีวีอยู่รอดกันทั้งหมด”


บทความที่แนะนำให้อ่านเพิ่มเติม


ธุรกิจวิทยุ

อีกหนึ่งธุรกิจที่ส่องสื่อพยายามนำเสนออยู่ตลอดเวลา นั่นก็คือ “ธุรกิจวิทยุ” นั่นเอง ซึ่งที่ผ่านมาการแข่งขันในธุรกิจนี้ค่อนข้างอยู่ในระดับที่ทรงตัว อันเนื่องมาจากคนรับฟังวิทยุน้อยลงเรื่อยๆ แต่ในขณะเดียวกันธุรกิจวิทยุต้องพึ่งพาการทำกิจกรรมหรือดำเนินธุรกิจอื่นๆ ร่วมกันด้วย โดยในปีที่ผ่านมามีการแข่งขันกันดุเดือดในแง่การจัดกิจกรรมเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงการดำเนินกิจการอื่นๆ เพื่อเพิ่มช่องทางในการรับฟังรายการต่างๆ อีกด้วย

สำหรับตัวเลขในการรับฟังวิทยุตลอด 10 เดือนที่ผ่านมา มีอัตราในการรับฟังวิทยุที่ค่อยๆ ลดลงตามลำดับ โดยเฉพาะในช่วงเดือนสิงหาคม – ตุลาคม ที่ลดลงทีละหลักแสนคน และเพิ่มขึ้นสูงสุดในเดือนกรกฎาคมที่อยู่ประมาณ 10,444,000 คน ซึ่งถือว่ามากที่สุดในปีนี้แล้วนั่นเอง

ในขณะเดียวกัน เม็ดเงินโฆษณาของปีนี้ถือได้ว่าค่อยๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับวิทยุ เช่น การจัดกิจกรรมเพื่อสังคม การจัดคอนเสิร์ตที่ปีนี้มีคอนเสิร์ตที่จัดโดยคลื่นวิทยุเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะ COOL93 ที่ปีที่ผ่านมาจัดคอนเสิร์ตใหญ่ โดยนำศิลปินยุค 90 มาเป็นตัวชูโรง ทั้ง Raptor และ D2B ซึ่งได้ผลการตอบรับที่ดีมากๆ ทั้งในแง่ของเม็ดเงินจากการขายบัตร เม็ดเงินจากผู้สนับสนุนในการจัดคอนเสิร์ต รวมไปถึงการต่อยอดเป็นเพลงออกมาอีกด้วย


บทความที่แนะนำให้อ่านเพิ่มเติม


ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์

ถือว่าเป็นธุรกิจที่ล้มหายตายจากมากที่สุดเลยก็ว่าได้ เพราะปีที่แล้วมาราธอนกันปิดสื่อสิ่งพิมพ์กันจำนวนมาก ทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร และรวมไปถึงการขายทรัพย์สินบริษัทอีกด้วย หลายสื่อก็ทยอยเลิกจ้างพนักงานและหันไปทำออนไลน์อย่างเป็นทางการด้วยเหมือนกัน

เริ่มตั้งแต่ฟากบางนาอย่าง “Nation Multimedia Group” ที่ตัดสินใจปิดหัวหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ตั้งแต่ The Nation ที่ปรับตัวสู่ออนไลน์ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2562 และมีแผนจะขยายออนไลน์ให้นำเสนอภาษาจีนต่ออีกด้วย หลังจากนั้นถึงเป็นตาของการขาย NINE หรือบริษัท เนชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อเยาวชน ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหารของเนชั่นให้เหตุผลไว้ว่า เพื่อทำให้บริษัทสามารถโฟกัสกับธุรกิจที่ถนัดได้มากกว่านั่นเอง

มาที่ฟากคลองเตยกันอย่าง “Bangkok Post” ที่เริ่มกันตั้งแต่ต้นปี 2562 ปิดตัวหนังสือพิมพ์ 2 หัวเลยทีเดียว อย่าง หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ และหนังสือพิมพ์ M2F ในสิ้นเดือนมีนาคม 2562 และปรับลดพนักงานลงเหลือทีมกองบรรณาธิการเพียง 20 คน เพื่อทำงานร่วมกับทีมดิจิทัลของ Bangkok Post เดิม หลังจากนั้นในปลายปี 2562 ก็ได้ประกาศขายทรัพย์สินของบริษัท ทั้งศูนย์การพิมพ์ที่บางนา และอาคารสำนักงานที่คลองเตย ปรับตนเองกลายเป็นเพียงผู้เช่าอาคารสำนักงานเท่านั้น (กรณีเดียวกับเนชั่นที่ก่อนหน้านี้ประกาศขายตึกตนเอง และปรับเป็นผู้เช่าในอาคารเดิม)

ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ปลายปี 2562 ยังมีนิตยสาร “สุดสัปดาห์” ในเครืออมรินทร์ที่ประกาศยุติการพิมพ์อย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม 2562 และนับตั้งแต่ 1 มกราคมที่ผ่านมา เราก็จะไม่ได้เห็นสุดสัปดาห์บนหน้าแผงอีกต่อไปแล้ว ตามยุทธศาสตร์อมรินทร์ที่ต้องการลดจำนวนสื่อสิ่งพิมพ์ลง และไปเพิ่มคุณภาพในการทำสื่อออนไลน์ต่อไปนั่นเอง

พูดถึงอุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์แล้ว ในปี 2562 เรามีตัวเลขยอดรวมโฆษณาบนหนังสือพิมพ์ตั้งแต่ปี 2557 – 2561 มาให้ทุกท่านติดตามสถานการณ์ร่วมกัน จะเห็นได้ว่าสถานการณ์การโฆษณาของสื่อสิ่งพิมพ์ในตอนนี้มีอัตราที่ลดลงอย่างต่อเนื่องทุกปี เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 20 โดยประมาณ แสดงให้เห็นว่าจำนวนเม็ดเงินโฆษณาน้อยลงเรื่อยๆ แล้วนั่นเอง

ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีสื่อสิ่งพิมพ์ที่เกิดขึ้นในปี 2562 อยู่ นั่นก็คือหนังสือพิมพ์เล่มนี้ที่ท่านกำลังอ่านอยู่นั่นเอง “Business Today” เกิดขึ้นโดยบุคลากรเก่าจากเนชั่นและ Bangkok Post ที่ขยับขยายมาทำสื่อแบบครบวงจรในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจมากขึ้นด้วย และปัจจุบันมี Platform ที่คอยเล่าเรื่องราวแต่ละหมวดหมู่ค่อนข้างครบครันเลยทีเดียว

สิ่งสำคัญที่ทำให้ Business Today ยังคงเชื่อมั่นในการทำสื่อสิ่งพิมพ์ “อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Business Today ได้ให้สัมภาษณ์กับส่องสื่อไว้ว่า “เพราะว่ามันมีข้อมูลขนาดใหญ่ ถ้ามันไปอยู่บน Online มันมีปัญหาเยอะนะ พวก Data Visualization ถ้าเปิดบนมือถือก็มีปัญหาล่ะ เปิด PC ก็โอ้โห! ไม่พอ แต่ว่ามันก็เสริมกันหมดนะ โอเค สมมุติเราทำข้อมูลออกมาชุดหนึ่งเป็น infographic ขึ้นมา ถ้าลงใน Online มันก็ย้ายได้ มันก็ทำให้เข้าใจได้ แต่ถ้ามันอยู่ใน Print มันเติมรายละเอียดได้ โครงร่างเหมือนกัน แต่รายละเอียดอาจจะไม่เหมือนกัน”


บทความที่แนะนำให้อ่านเพิ่มเติม


อนาคตต่อไปของนิเทศศาสตร์…?

รองศาสตราจารย์พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กัล หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กับส่องสื่อถึงทิศทางในอนาคตของทั้งนิเทศศาสตร์เมืองไทย และการเรียนการสอนของนิเทศศาสตร์ไว้ว่า “จริงๆ นักวิชาชีพหรือว่าอาจารย์ก็แทบจะตามไม่ทันเลยกับโลกที่เปลี่ยนไป สิ่งที่องค์กรสื่อทำกับตอนนี้คือจับมือกับภาคเอกชนหรือนักวิชาชีพที่ให้พวกเขามาช่วยพัฒนาศักยภาพของเขา คืออย่างในมหาวิทยาลัย หัวใจหลักที่ยังคงใช้อยู่คือการเล่าเรื่อง ซึ่ง ‘Storytelling Never die’ กำแพงที่จะทำให้ทุกคนออกมาเป็นสื่อมันน้อยลงแล้ว เพราะฉะนั้นมหาวิทยาลัยหรือว่าองค์กรสื่อก็พยายามปรับตัวให้ทัน เข้าใจการเล่าเรื่องของ Platform ใหม่ๆ มากขึ้น”

และเมื่อเราถามถึงการปรับตัวในอนาคตของนิเทศศาสตร์ รศ.พิจิตรา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า “อนาคตของนิเทศศาสตร์ก็ต้องปรับตัวเยอะมาก และร่วมมือกับ Platform ระดับโลกมากขึ้น ในขณะเดียวกันเราต้องสื่อสารแบบมีจรรยาบรรณมากขึ้น อีกอย่างคือสร้างเงินได้ด้วย เราไม่ใช่องค์กรการกุศลที่ไม่จำเป็นต้องมีเงิน เราจำเป็นต้องหาเงินด้วยเช่นกัน เพื่อให้เราสามารถสร้าง eco system ที่ดีของประเทศไทย ในด้านของการเป็นนักเล่าเรื่องที่ดี เล่าความจริง ไม่ดรามา แล้วก็ไม่พาสังคมให้ดรามาไปด้วย

ในปี 2563 วงการสื่อยังคงต้องพบการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่อีกระลอก ทั้งกิจการโทรทัศน์ที่มีข่าวแว่วๆ ว่าจะมีการคืนช่องระลอกที่ 2 รวมไปถึงกิจการวิทยุที่กำลังรอวันประมูลวิทยุดิจิทัลว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่? การคืนคลื่นวิทยุที่มีอยู่เดิมจะต้องพบอุปสรรคเหมือนที่ผ่านมาอีกไหม? รวมไปถึงการปิดตัวและเปลี่ยนแปลงของสื่อสิ่งพิมพ์ยังคงต้องเกิดขึ้นอีกแน่นอน ไม่ช้าก็เร็ว ยังไงท่านยังคงสามารถติดตามการรวบรวมเรื่องราวในแต่ละอุตสาหกรรมอย่างละเอียดได้ที่ songsue.co/recap2019 ได้เลย และติดตามกับคอลัมน์ของส่องสื่อได้ใหม่ในครั้งต่อๆ ไป สวัสดีปีใหม่ครับ

จากหนังสือพิมพ์ Business Today ฉบับที่ 18 ประจำวันที่ 6 – 12 มกราคม 2563