fbpx

หน่วยปฏิบัติการวิจัย DIRU นิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยผลวิจัย 15 ความเสี่ยงบนโลกออนไลน์ของคนไทยในแต่ละช่วงวัย พบว่า ความเสี่ยง 5 อันดับแรก เนื้อหาที่มีความรุนแรง โฆษณาสินค้าที่ไม่ได้รับการรับรองความปลอดภัย เนื้อหาสุขภาพที่ไม่น่าเชื่อถือ ข่าวปลอม เนื้อหาลกมกอนาจาร โดยกลุ่มวัยทำงานช่วงต้น 23-39 ปี เป็นกลุ่มที่พบเจอความเสี่ยงมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ ในขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุพบเจอความเสี่ยงจากการใช้สื่อสังคมออนไลน์น้อยที่สุด

รองศาสตราจารย์ ดร. พนม คลี่ฉายา หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านความรอบรู้ทางดิจิทัลและการรู้เท่าทันสื่อ หรือ DIRU รายงานผลการวิจัย เรื่อง “การเพิ่มความสามารถในความรอบรู้ทางดิจิทัลและการรู้เท่าทันที่มีต่อความผูกพันและความเสี่ยงจากการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของประชาชน” โดยกล่าวว่า “การวิจัยเริ่มต้นจากการสัมภาษณ์ประชาชน 4 ช่วงวัย ได้แก่ วัยรุ่นและเยาวชนอายุ 15-22 ปี  วัยทำงานช่วงต้นอายุ 23-39 ปี ผู้ใหญ่วัยทำงานช่วงอายุ 40-59 ปี และผู้สูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไป พบความเสี่ยงจากการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของประชาชนถึง 15 เรื่อง” และเมื่อนำความเสี่ยงทั้ง 15 เรื่องไปสำรวจกับกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศจำนวน 2,580 คน พบว่า ความเสี่ยง 15 เรื่องที่คนไทยมีโอกาสพบเจอจากการใช้งานสื่อออนไลน์ เรียงลำดับได้ดังนี้

1. เรื่อง “ภาพ คลิป คำพูดที่มีความรุนแรง” โดยพบเห็นภาพ คลิป คำพูดรุนแรง ถ้อยคำหยาบคาย
2. เรื่อง “โฆษณาสินค้าที่ไม่ได้รับการรับรองความปลอดภัย สินค้าผิดกฎหมาย” โดยพบเห็นโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง 
3. เรื่อง “เนื้อหาสุขภาพที่ไม่น่าเชื่อถือ” โดยได้รับเนื้อหาเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพทั่วไปที่ส่งต่อ ๆ กันมา ซึ่งอาจจะไม่ถูกต้องตามหลักการแพทย์
4. เรื่อง “ข่าวปลอม ข่าวลือ ข่าวลวง” โดยได้รับข่าวปลอมที่ส่งต่อกันมา หรือขึ้นในหน้าจอของตนเอง
5. เรื่อง “การเข้าถึงเนื้อหาด้านเพศ ลามก อนาจาร” โดยเห็นเน็ตไอดอล นุ่งน้อยห่มน้อย ไปในแนวโป๊ เปลือย อนาจาร
6. เรื่อง “หวยออนไลน์” โดยได้รับเลขเด็ด ใบ้หวยบนเฟซบุ๊ก หรือไลน์ แล้วเชิญชวนเข้ากลุ่มเล่นหวย
7. เรื่อง “การชักชวนเล่นการพนัน” โดยถูกชักชวนให้สมัครเป็นสมาชิกเพจการพนัน บ่อนออนไลน์ หรือกลุ่มเล่นพนันออนไลน์
8. เรื่อง “การหลอกลวงจากการซื้อสินค้าออนไลน์” โดยสั่งซื้อสินค้าแล้วได้ของที่ไม่มีคุณภาพ 
9. เรื่อง “การหลอกลวงโดยการชวนให้ไปทำงานหรือหารายได้ที่ให้ผลตอบแทนสูง” ถูกเชิญชวนให้สมัครงาน ทำอาชีพเสริมที่ให้ผลตอบแทนสูง แต่กลับกลายเป็นการเสนอขายสินค้า
10. เรื่อง “ความเสียหายที่เกิดจากระบบคอมพิวเตอร์” โดยพบเห็นโฆษณาที่ส่งมาถึงเราโดยระบบคอมพิวเตอร์
11. เรื่อง “แชร์ออนไลน์” โดยถูกเชิญชวนจากสมาชิกในกลุ่มสนทนา ให้สมัครเข้ากลุ่มแชร์ออนไลน์
12. เรื่อง “การถูกหลอกลวงจากคนแปลกหน้า” โดยการแจ้งว่าได้รับโชค แล้วให้กดลิงค์ที่นำไปสู่เนื้อหาที่อาจนำไปสู่การหลอกลวงได้
13. เรื่อง “ข้อมูลส่วนตัวถูกนำไปใช้เพื่อประโยชน์อื่นจนเกิดความเสียหาย” โดยถูกบังคับให้ต้องกรอกข้อมูลส่วนตัว เมื่อสมัครใช้งานเพจ หรือเข้ากลุ่มออนไลน์
14. เรื่อง “หุ้นออนไลน์” โดยถูกเชิญชวนให้เข้าร่วมเล่นหุ้นกับเว็บไซต์หุ้นออนไลน์จากในและต่างประเทศ
15. เรื่อง “การถูกกลั่นแกล้งจนเกิดความเสียหาย” โดยเพื่อน หรือคนอื่นแกล้งโพสต์เรื่องที่เสียหาย น่าอับอายเกี่ยวกับตัวเรา”

นอกจากนี้ผลการวิจัยยังชี้ให้เห็นว่าในแต่ละกลุ่มวันมีความเสี่ยงที่เหมือนกันและแตกต่างกันไป คือ กลุ่มอายุ 23-39 ปี เป็นกลุ่มที่พบเจอความเสี่ยงมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ ในเกือบทุกเรื่อง อย่างไรก็ตามกลุ่มอายุ 15-22 ปี พบเจอความเสี่ยงเรื่องข่าวปลอม และ การถูกกลั่นแกล้ง มากกว่ากลุ่มอื่น และพบเจอความเสี่ยงเรื่อง ข้อมูลส่วนตัวถูกนำไปใช้เพื่อประโยชน์อื่นจนเกิดความเสียหาย ใกล้เคียงกับกลุ่มอายุ กลุ่มอายุ 23-39 ปี นอกจากนี้กลุ่มอายุ 40-59 ปี พบเจอความเสี่ยงจากการถูกหลอกลวงจากคนแปลกหน้ามากกว่ากลุ่มอื่น ในขณะที่กลุ่มอายุมากกว่า 60 ปี พบเจอความเสี่ยงจากการใช้สื่อสังคมออนไลน์น้อยที่สุดในทุกเรื่อง

“จากผลวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า คนไทยทุกช่วงวัยมีโอกาสที่จะพบเจอความเสี่ยงบนโลกออนไลน์หลายเรื่องด้วยกัน ดังนั้นสิ่งที่ต้องดำเนินการคือ การเพิ่มความสามารถด้านความรอบรู้ทางดิจิทัลและรู้เท่าทันสื่อให้กับประชาชนทุกกลุ่มวัยเพื่อลดความเสี่ยงต่าง ๆ ซึ่งต้องเน้นความรู้ ทักษะ ความสามารถในการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างปลอดภัยและได้ประโยชน์ ส่งเสริมให้ความรู้และฝึกทักษะที่จำเป็นที่จะนำไปสู่ความรอบรู้ทางดิจิทัล ได้แก่ ฝึกทักษะการใช้งานสื่อออนไลน์ ฝึกความเคยชินในการตั้งคำถามกับเนื้อหาในเรื่องความถูกต้อง อคติหรือความหมายแฝง ความน่าเชื่อถือ ซึ่งการตั้งคำถามกับเนื้อหาถือเป็นจุดเริ่มต้นของการรู้เท่าทัน จากนั้นเพิ่มเติมด้วยการเรียนรู้วิธีการวิเคราะห์ ประเมิน ตรวจสอบความถูกต้องและคุณค่าของเนื้อหา รวมทั้งเรียนรู้วิธีการนำสื่อออนไลน์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวันและการดำรงชีพ การติดต่อสื่อสารกับคนอื่น ๆ ได้อย่างไม่มีปัญหา เสริมสร้างความเป็นพลเมือง สุดท้ายคือมีการปฏิบัติตนเพื่อลดความเสี่ยงที่นำไปสู่อันตรายจากการใช้งานสื่อออนไลน์ ซึ่งเป็นการเพิ่มความสามารถในด้านความรอบรู้ทางดิจิทัล ที่จะช่วยให้ประชาชนใช้สื่อออนไลน์ได้อย่างปลอดภัยและได้ประโยชน์” รองศาสตราจารย์ ดร. พนม คลี่ฉาย กล่าวสรุป

งานวิจัยเรื่อง “การเพิ่มความสามารถในความรอบรู้ทางดิจิทัลและการรู้เท่าทันที่มีต่อความผูกพันและความเสี่ยงจากการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของประชาชน” ฉบับเต็ม รายงานวิจัยและบทความทางวิชาการด้านความรอบรู้ทางดิจิทัลและการรู้เท่าทันสื่อ ซึ่งเป็นผลงานของหน่วยปฏิบัติการวิจัยฯ DIRU ได้นำขึ้นเผยแพร่บนเว็บไซต์หน่วยปฏิบัติการวิจัยฯ DIRU www.diru.commarts.chula.ac.th ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดได้ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-218-2197


เกี่ยวกับหน่วยปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านความรอบรู้ทางดิจิทัลและการรู้เท่าทันสื่อ DIRU
DIRU หรือ Digital Intelligence and Literacy Research Unit คือ หน่วยปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านความรอบรู้ทางดิจิทัลและการเรียนรู้เท่าทันสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหน่วยงานที่มุ่งพัฒนาความรอบรู้ทางดิจิทัลและทักษะการรู้เท่าทันสื่อซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันในตัวบุคคล ด้วยการวิจัยสร้างองค์ความรู้และการจัดการเรียนการสอน ทั้งการวิจัยเชิงปฏิบัติการ การสร้างการรวมกลุ่มชุมชนรอบรู้ทางดิจิทัลและรู้เท่าทันสื่อ รวมทั้งการพัฒนาและประดิษฐ์นวัตกรรมทางเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในสังคมออนไลน์

DIRU ยังมุ่งเผยแพร่ข่าวสารแง่มุมต่าง ๆ จากงานวิจัยที่ให้ความรู้ ข้อควรระวัง แนะนำวิธีการใช้งานสื่อออนไลน์สำหรับคนทุกเพศทุกวัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตในสังคมสื่อดิจิทัลอย่างรู้เท่าทันและชาญฉลาด ลดความเสี่ยงและอันตรายจากการใช้สื่อดิจิทัล และยกระดับคุณภาพชีวิตให้มั่นคงและยั่งยืน ตามยุทธศาสตร์ประเทศไทยด้านการพัฒนาประชาชนสู่สังคมดิจิทัลอย่างมีคุณภาพ ข้อมูลเพิ่มเติม www.diru.commarts.chula.ac.th หรือโทร 02-218-219