จากเหตุการณ์กราดยิงที่นครราชสีมา ทำให้แต่ละสื่อต่างต้องเร่งทำหน้าที่นำเสนอเรื่องราวนี้ เพื่อให้มีความฉับไวในการส่งสารถึงประชาชน แต่ว่าการนำเสนอข่าวนั้นกลับมีบางสื่อไม่รู้ว่าทำเกินขอบเขต เกินความเหมาะสม ทำให้มีการตั้งคำถามจากกลุ่มผู้ใช้สังคมออนไลน์เป็นจำนวนมาก แม้ภายหลังกสทช. ขอความร่วมมือก็ยังมีบางสื่อที่ไม่หยุดการนำเสนอข่าว
ตัวอย่างพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของสื่อที่แสดงให้เห็นในช่วงนี้ก็เช่น
- มีการโทรศัพท์ไปสัมภาษณ์พ่อแม่ของผู้เสียชีวิต
- มีการวิจารณ์โหงวเฮ้งจากใบหน้าของผู้ก่อเหตุ
- มีการถ่ายทอดสดการทำงานของเจ้าหน้าที่มากเกินไป เป็นเวลายาวนานต่อเนื่อง
- มีการบอกพิกัด ความเคลื่อนไหว
- มีการเผยแพร่ภาพผู้เสียชีวิต
- ทำกราฟิกแอนิเมชั่นที่ดูสมจริงเกินไป
ซึ่งการกระทำแต่ละอย่างนั้นกลับกลายเป็นว่าเกิดผลเสีย อย่างกรณีการโทรศัพท์ไปหาพ่อแม่ญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิต เผยแพร่ภาพผู้เสียชีวิต นั้นเป็นการตอกย้ำความซึมเศร้า หดหู่ และรบกวนสิ่งที่ญาติผู้เสียชีวิตต้องตั้งตัวและดำเนินการต่อ การถ่ายทอดสดที่อาจกีดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ การเผยแพร่พิกัดและความเคลื่อนไหวอาจทำให้ผู้ก่อเหตุรวมถึงคนอื่น ๆ ที่อยากสร้างความไม่สงบติดตามอยู่และหลบหนีหรือก่อเหตุเพิ่มได้ และการกระทำแบบนี้ก็เคยมีบทเรียนอันไม่ดีเกินขึ้นมาแล้ว ไม่ใช่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ส่วนการวิจารณ์โหงวเฮ้งผู้ก่อเหตุ เป็นการเสียมารยาทอย่างแท้จริงในสถานการณ์นี้
ทำไมสื่อถึงต้องทำแบบนี้ ทำไปเพื่ออะไร
เนื่องจากปัจจุบันนั้นข่าวมัน “ขายได้ราคา” และมีการแข่งขันสูง ทำให้แต่ละช่องต่างต้องสร้างจุดที่ทำให้ข่าวมีคนติดตามเยอะ ๆ แต่คงลืมจรรยาบรรณสื่อและความเหมาะสมไปแล้ว คิดแต่ว่าทำอย่างไรให้เรตติ้งดี โฆษณาเข้ามาก ๆ ส่วนฝั่งสื่อออนไลน์ก็หวังยอดไลค์ ยอดแชร์เยอะๆ เพื่อเอาไปขายโฆษณาและเรียกคนเข้ามาดูเพจ ยิ่งปัจจุบันมีสื่อที่แข่งขั้นกันเยอะและอยู่ไม่รอดขาดทุน แต่อย่าลืมว่า หากถูกสังคมประนาม ภาพลักษณ์สื่อของคุณก็เสีย ก็กระทบต่อรายได้ในอนาคตได้เช่นกัน สปอนเซอร์มีโอกาสไม่ต่อสัญญากับคุณเพราะกระทบต่อภาพลักษณ์สินค้าเขาด้วย ชื่อเสียงที่สร้างมากับมือของสื่อคุณในอดีตก็พังลง แม้ว่าจะมีคนชอบดูข่าวแนวๆ นั้น แต่ถ้าสัดส่วนมีน้อยกว่ามันคุ้มไหม

แล้วควรนำเสนออย่างไรดี
เข้าใจว่าต้องหารายได้ไว้ ต้องมีกินมีใช้ แต่ว่าควรดูให้เหมาะสมอย่าเกินขอบเขต อยากขายข่าวก็เอาไว้ขายข่าวที่มันไม่กระทบต่อเหตุร้ายหรือความสูญเสีย มาดูกันว่าควรทำอย่างไรบ้าง

- ไม่ต้องรีบมากเกินไปในการนำเสนอ เข้าใจว่ายุคนี้ต้องเร็ว แต่ว่าไม่ใช่จะเร็วแต่ไม่มีคุณภาพ ควรคิดดี ๆ วิเคราะห์ให้ชัวร์ ก่อนนำเสนอ ช้าหน่อยแต่ชัวร์
- อย่าไปเปิดเผยใบหน้าผู้เสียชีวิตหรือแม้กระทั่งผู้ได้รับบาดเจ็บเลย มันกระทบความรู้สึกญาติพี่น้องและเพื่อนๆ
- ไม่ต้องไป LIVE ถ่ายทอดสดตลอดเวลา ไม่ต้องติดตามเจ้าหน้าที่ แค่แจ้งให้ทราบว่าเขาทำงานเต็มที่ก็พอ พอดีเหตุด่วนตามมาค่อยตัดเข้าข่าวใหม่ก็ได้
- อย่าเสนออะไรที่มันทำให้ไม่ปลอดภัย เช่นพิกัด ประวัตินั่นนี่
- ไม่ควรไปติดต่อสัมภาษณ์ญาติผู้เสียชีวิตออกอากาศ
- ควรนำเสนอด้านเหตุผลด้วยว่าทำไมปล่อยให้มีการกระทำแบบนี้ในสังคมได้อย่างไร ควรตั้งประเด็นและนำเสนอแนวคิดด้วย
- มุมกล้องไม่ควรทำให้เห็นเหตุการณ์อันสลดชัดเจนเกินไป
ปัจจุบัน กสทช. ทำอะไรบ้าง

จริงๆ ทาง กสทช. ก็ได้โทรศัพท์ไปตักเตือนสื่อต่างๆ ที่ยังไม่หยุดกระทำ และล่าสุดมีการเรียกสถานโทรทัศน์ทุกช่อง โดยเฉพาะสถานีที่มีการรายงานสดอย่างต่อเนื่องและมีเนื้อหาที่อ่อนไหวต่อความรู้สึกของสังคมและความปลอดภัยโดยรวมมาปรับความเข้าใจในการนำเสนอ โดยจะดำเนินการในวันที่ 18 กุมภาพันธ์นี้ ก็ต้องดูกันต่อไปว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป