fbpx

หากจะพูดถึงธุรกิจสื่อในบ้านเรา ก็คงมีไม่กี่ประเภทที่เรียกได้ว่าเป็นสื่อจริง ๆ หนึ่งในนั้นคือหนังสือพิมพ์ที่ปัจจุบันหลายหัวก็ทยอยหายไปจากแผงพอสมควร แต่เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2562 มีคนในวงการหนังสือพิมพ์ 2 หัว หนึ่งหัวคือกรุงเทพธุรกิจ และอีกหนึ่งหัวก็คือโพสต์ทูเดย์ มารวมตัวกันเพื่อทำหนังสือพิมพ์ธุรกิจในนาม “Business Today” ที่ประกาศตัวเป็น Subscription Model พร้อมเริ่มตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ โดยสร้างตัวตนใหม่ให้วงการธุรกิจเป็น “หนังสือพิมพ์ที่มีชีวิต” โดยการใส่ Infographic ลงบนหน้าหนังสือพิมพ์นั่นเอง

หลังจากนั้นก็ได้มีการดึงตัวกูรูด้านธุรกิจมาร่วมเขียน ร่วมสร้างให้หนังสือพิมพ์นี้มีชีวิตขึ้นมา หนึ่งในนั้นคือ “กองบรรณาธิการเว็บไซต์ส่องสื่อ” ที่ได้มาช่วยเขียนคอลัมน์ “ทันธุรกิจสื่อกับส่องสื่อ” ด้วย ซึ่งหลังจากนั้นก็ได้วางแผงบน SE-ED Book Center และร้านนายอินทร์ โดยกำหนดวางแผงทุกวันอาทิตย์-จันทร์ และวางแผงเรื่อยมาจนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2563 รวมทั้งสิ้น 30 ฉบับ

คำถามที่ทุกคนกำลังอ่านอยู่นี้ก็คือ “ทำไมถึงยกเลิกการตีพิมพ์ไปล่ะ?”

ย้อนกลับไปเมื่อวันเปิดตัว “คุณอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Business Today ได้ให้สัมภาษณ์ถึงการลงมาทำหนังสือพิมพ์อีกครั้งกับส่องสื่อไว้ว่า “เพราะว่ามันมีข้อมูลขนาดใหญ่ ถ้ามันไปอยู่บน Online มันมีปัญหาเยอะนะ พวก Data Visualization ถ้าเปิดบนมือถือก็มีปัญหาล่ะ เปิด PC ก็โอ้โห! ไม่พอ แต่ว่ามันก็เสริมกันหมดนะ โอเค สมมุติเราทำข้อมูลออกมาชุดหนึ่งเป็น infographic ขึ้นมา ถ้าลงใน Online มันก็ย้ายได้ มันก็ทำให้เข้าใจได้ แต่ถ้ามันอยู่ใน Print มันเติมรายละเอียดได้ โครงร่างเหมือนกัน แต่รายละเอียดอาจจะไม่เหมือนกัน”

นั่นทำให้เขาตัดสินใจทำหนังสือพิมพ์ โดยวางแผงอาทิตย์ละ 1 ครั้ง ราคา 30 บาท มี 3 Section ในหนังสือพิมพ์ (รวม BLT ที่แจกฟรีด้วย) ด้วยคอนเทนต์ที่เน้น Infographic ที่เข้าใจง่าย ทำให้ผู้อ่านค่อยๆ ให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ และจึงได้ต่อยอดด้วยการทำเว็บไซต์ www.businesstoday.co และรวมไปถึงการออกอากาศรายการสดผ่าน Facebook และวิทยุ FM 102 MHz อีกด้วย

แม้ Business Today ประกาศตนเองชัดว่าหนังสือพิมพ์ไม่ใช่ทางหลักที่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอดได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าหนังสือพิมพ์คือจุดขายของ Business Today เพราะด้วยความที่สามารถผลิต Infographic ลงหนังสือพิมพ์เป็นหลัก จึงทำให้คนจับตามองถึงการอยู่รอดของหนังสือพิมพ์น้องใหม่ในช่วงที่หนังสือพิมพ์หลายๆ หัวต่างออกจากแผงอย่างถาวร

แต่ถึงกระนั้น การจะทำหนังสือพิมพ์หรือสำนักข่าวสักสำนักหนึ่ง ย่อมต้องใช้คนที่มากพอสมควร จึงทำให้ต้องดึงคนในองค์กรต่าง ๆ มาเสริมทัพและทำให้สามารถผลิตเนื้อหาได้ทันท่วงที จึงทำให้ช่วงแรก Business Today ประกาศรับสมัครพนักงานเป็นจำนวนมาก เพื่อมาเสริมทัพทีมกัน และจนได้ทีมงานที่ลงตัวจึงได้ทีมที่สามารถทำข่าวได้หลากหลายมากขึ้น ทั้งบนเว็บไซต์และหนังสือพิมพ์นั่นเอง

หลังจากนั้น Business Today ก็วางแผนเปิดตัว Event ที่จัดขึ้นเป็นระยะ ๆ โดยอาศัยเงินสนับสนุนจากบริษัทต่าง ๆ ในการช่วย Support ในการจัดงาน โดยอาศัยการขายที่ครอบคลุมทุกสื่อในมือ เพื่อให้ดึงดูดเหล่าบริษัทที่จะมาลงสื่อในเครือ Business Today โดยในช่วงที่ผ่านมามีกิจกรรมจัดไป 5-7 งานแล้ว และในต้นปี 2563 ก็ได้ร่วมมือกับภาคเอกชนเปิดคอร์สเรียนเพิ่มเติมอีกด้วย

แต่หลังจากผ่านปี 2562 ไป ก้าวสู่ปี 2563 ปัญหาที่คาดไม่ถึงก็เกิดขึ้น เพราะเนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 เริ่มส่งผลอย่างรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้แผนของ Business Today ไม่เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ จึงต้องยกเลิกการจัดงานที่อยู่ในแผนเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงบริษัทต่าง ๆ ก็ลดงบประมาณโฆษณาลง ทำให้ Business Today รายได้ไม่เข้าเป้า จึงทำให้ต้องลดค่าใช้จ่ายในองค์กร

สิ่งที่ Business Today ทำอย่างแรกก็คือ การลดบุคลากรและหน้าบนหนังสือพิมพ์ที่ไม่จำเป็นออก (ตามที่เขาคิดไว้) ซึ่ง “กองบรรณาธิการเว็บไซต์ส่องสื่อ” ก็เป็นหนึ่งในคอลัมน์ที่ถูก Lay off (จะเรียกว่างั้นก็คงไม่ผิดนัก) เป็นกลุ่มแรกๆ พร้อมกับการลดหน้า Media ลง ซึ่งตามเหตุผลเราเข้าใจได้ และจบลงด้วยคอลัมน์ 1 หน้าที่เขียนถึง 50 ปีไทยทีวีสีช่อง 3 ในช่วงโค้งสุดท้ายของการออกอากาศทีวีแอนะล็อกนั่นเอง

หลังจากนั้น Business Today ก็ได้มีการประชุมทีมผ่าน Video Conference จนสุดท้ายก็ตัดสินใจที่จะลดขนาดองค์กรชั่วคราว และได้ประกาศว่า “จะยุติการตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ชั่วคราว” โดยกำหนดในช่วงแรกคือ 3 เดือน (เมษายน – มิถุนายน 2563) โดยยังคงผลิตคอนเทนต์ทางออนไลน์เหมือนเดิม

สิ่งที่ส่องสื่อเห็นจากเรื่องราวทั้งหมดนี้ เราวิเคราะห์โดยที่ยังไม่เห็นตัวเลขใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นยอดคนเข้ามาเป็นสมาชิกของ Business Today หรือยอดการขายหนังสือพิมพ์ ซึ่งเราคงไม่สามารถดูได้ แต่จากสถานการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงการที่ธุรกิจสื่อในปัจจุบันต้องดิ้นรนและประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอด ท่ามกลางเม็ดเงินโฆษณาในสื่อสิ่งพิมพ์ที่น้อยลงไปทุกที โดยปีนี้ GroupM Thailand คาดการณ์ว่าสื่ออย่างหนังสือพิมพ์จะลดลงไปถึงร้อยละ 31.5 และได้ยอดแบ่งจากทั้งก้อนอยู่แค่ร้อยละ 3 เท่านั้น

เราคงไม่ฟันธงว่าการตัดสินใจลงมาทำหนังสือพิมพ์ของ Business Today จะเป็นหนทางที่ถูกหรือผิด แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้เราเห็นชัดก็คือ การบริหารบุคลากรในวงการสื่อธุรกิจให้มีประสิทธิภาพเป็นอีกสิ่งที่สำคัญและจะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จต่อไป อีกสิ่งที่ Business Today ต้องกลับมาทบทวน นั่นก็คือการทำ Marketing แบบ Subscription Model จะทำอย่างไรให้หลังจากมรสุมนี้ผ่านไป กลับมาเป็นรายได้หลักนอกจากโฆษณาได้ อะไรเป็นสิ่งที่ดึงดูดใจนักลงทุนหรือเจ้าของธุรกิจ รวมไปถึงการพัฒนาเว็บไซต์ให้สามารถตอบโจทย์ผู้ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการวาง UX/UI ที่เข้าใจฐานผู้ชมเว็บไซต์ และการบริหารจัดการพื้นที่โฆษณาให้มีความเหมาะสม จะยิ่งช่วยทำให้ธุรกิจสื่อมีความอยู่รอดได้มากขึ้นนั่นเอง

แต่สิ่งที่ตอนนี้เราจะช่วยกันได้ คือการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน และหวังว่า Business Today จะผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่ยากลำบากนี้ไปได้ เพราะคงไม่มีสื่อไหนที่ทำ Infographic ได้เข้าใจเหมือน Business Today อีกแล้ว

ยังไงก็เป็นกำลังใจให้ต่อไปนะครับ