fbpx

เขียนโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภีรกาญจน์ ไค่นุ่นนา
หลักสูตรนิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์


สื่อมวลชนเป็นอาชีพหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่น้อยกว่าอาชีพอื่นอย่างเช่นบรรดานักข่าวที่ต้องทำหน้าที่รายงานสถานการณ์ต่าง ๆ จากภาคสนามสู่ประชาชนที่ติดตามรับชมอยู่ทางบ้าน ไม่เพียงมีข้อจำกัดด้านการออกนอกบ้านที่หลายคนเลือกปฎิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ประชาชนในการอยู่บ้าน (Self-isolation) และทำงานที่บ้าน (Work from home) แต่ก็ต้องยอมรับว่า ส่วนหนึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องออกไปทำงานในภาคสนามที่มีความจำเป็นในการพบปะผู้คนทั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐ เจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ ผู้ปฎิบัติงานตามสถานที่ต่าง ๆ กลุ่มเสี่ยงจนถึงประชาชนทั่วไป ด้วยธรรมชาติของการทำงานลักษณะนี้ ทำให้นักข่าวและทีมงานกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงเช่นกัน หากพลาดพลั้งก็อาจได้รับเชื้อโดยไม่รู้ตัว จากนักข่าวอาจกลายเป็นพาหะแพร่กระจายไปยังผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมวิชาชีพหรือบุคคลในครอบครัวของนักข่าวเอง

บางกรณีนักข่าวอาจได้รับเชื้อไวรัสมาจากการใช้ชีวิตประจำวันทั่วไปก็ได้ อย่างกรณีของอลิส สต๊อกตัน-รอสสินิ (Alice Stockton-Rossoni) นักข่าวในนิวยอร์กของสหรัฐอเมริกา เธอเป็นคนหนึ่งที่ติดไวรัสโควิด-19 เธอให้สัมภาษณ์ว่าน่าจะติดเชื้อไวรัสนี้มาจากงานเลี้ยงฉลองครบรอบ 90 ปีของแม่เธอที่นิวเจอร์ซี่เมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา หลังจากนั้นผู้เข้าร่วมงานเลี้ยงดังกล่าวติดโควิด-19 หลายรายรวมถึงพ่อแม่และน้องเขยของเธอด้วย โดยในจำนวนนี้เสียชีวิตแล้ว 2 ราย และเธอก็ไม่รู้ว่าเธอแพร่กระจายเชื้อไวรัสนี้ให้แก่ใครบ้าง สถานการณ์อันตรายต่อสุขภาพเช่นนี้ ทำให้วงการข่าวทุกประเทศต่างได้รับผลกระทบถ้วนทั่วกัน จนบางคนออกมาแซวกันเล่น ๆ แต่มันเป็นคือความจริงว่า “โควิด-19 คือ ผู้นำความเปลี่ยนแปลงขององค์กรสู่ความเป็นดิจิทัลอย่างแท้จริง” ผู้เขียนลองสำรวจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในรายการข่าวโทรทัศน์ของหลายประเทศพบว่ามีความน่าสนใจไม่น้อยต่อการปรับตัวดังกล่าว

บรรยากาศในห้องแถลงข่าวประจำวันของแคนาดาในวันที่นักข่าวรับฟังการแถลงข่าวด้วยตนเองผ่านระบบออนไลน์แทนการเดินทางมายังห้องแถลงข่าว

เริ่มกันที่ฟากฝั่งทวีปอเมริกาก่อน ที่แคนาดานั้นเป็นประเทศที่มีความตื่นตัวไม่น้อยในการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่เดิมนั้นการจัดแถลงข่าวประจำวันของรัฐบาลแคนาดาก็เหมือนกับประเทศอื่น ๆ คือ มีนักข่าวและช่างภาพเข้าร่วมการรับฟังการแถลงข่าวภายในห้องที่รัฐบาลกำหนดไว้ แต่ตอนนี้ที่แคนาดา นักข่าวและช่างภาพไม่จำเป็นต้องเดินทางมาเข้าร่วมรับฟังการแถลงข่าวด้วยตัวเองอีกแล้ว โดยนักข่าวจะรับฟังการแถลงข่าวแต่ละวันจากระบบประชุมทางไกล หากมีข้อสงสัยประการใดที่ต้องการซักถามแหล่งข่าวโดยตรงก็สามารถสอบถามได้เช่นเดิมผ่านระบบออนไลน์ที่กำหนดไว้เหมือนกับได้มานั่งอยู่ในห้องแถลงข่าวด้วยตนเองแตกต่างจากการแถลงข่าวของหลายประเทศที่ยังใช้รูปแบบการแถลงข่าวแบบเดิมอยู่ แนวปฎิบัติใหม่เช่นนี้ ยังเกิดขึ้นที่อังกฤษด้วย โดยนักข่าวไม่ต้องเข้ามาร่วมรับฟังการแถลงข่าวรายวันแต่จะรับฟังการแถลงข่าวด้วยตนเองจากระบบประชุมทางไกลที่ผู้แถลงข่าวและนักข่าวยังสามารถโต้ตอบกันได้เช่นเดิมเหมือนกับมานั่งฟังการแถลงข่าวด้วยตนเอง

ผู้สื่อข่าวกำลังสัมภาษณ์ผู้แถลงข่าวประจำวันของรัฐบาลอังกฤษผ่านระบบออนไลน์ โดยไม่ต้องเดินทางมารับฟังการแถลงข่าวเหมือนที่เคยปฎิบัติ
Hari Sreenivasan ผู้ประกาศข่าววันอาทิตย์ในรายการ PBS News Hour สถานีโทรทัศน์พีบีเอสของสหรัฐอเมริกาที่เริ่มประกาศข่าวอยู่ภายในที่พักของตนเอง หากสังเกตให้ดีจะเห็นว่า คุณภาพของภาพอาจไม่เหมือนกับการอ่านข่าวในสตูดิโอ

ส่วนหน้าจอรายการข่าวของสถานีโทรทัศน์รายใหญ่ของสหรัฐอเมริกาเองก็เปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน ผู้ประกาศและนักข่าวอาจไม่จำเป็นต้องเข้ามานั่งทำงานในสถานีอีกแล้วภายใต้ภาวะวิกฤตเช่นนี้ โดยผู้ประกาศบางคนเริ่มทำงานอยู่ภายในบ้านของตนเอง อย่างกรณีรายการข่าว PBS NewsHour ของสถานีโทรทัศน์พีบีเอส ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะของสหรัฐฯ ผู้ประกาศเชื้อสายอินเดียอย่างแฮรี สรีนิวาสัน (Hari Sreenivasan) ที่เขาประจำอยู่ในนิวยอร์ก ซึ่งเป็นศูนย์กลางการระบาดของประเทศ เขาเปลี่ยนมุมภายในบ้านของตนเองเป็นสถานที่อ่านข่าววันอาทิตย์ โดยผนังบ้านถูกเปลี่ยนเป็นสีขาว (White screen) เพื่อใช้แทนห้องสตูดิโอที่เพียบพร้อมด้วยแสง สี แสง วันแรก ๆ อาจดูไม่เนียนตานัก แต่ในสถานการณ์เช่นนี้มันก็สะท้อนถึงวิกฤตในสังคมที่ทุกคนกำลังเผชิญหน้ากันอยู่ในเวลานี้

Chris Cuomo น้องชายผู้ว่าการรัฐนิวยอร์กและผู้ประกาศข่าวของซีเอ็นเอ็น (คนกลาง) จัดรายการอยู่ภายในบ้านของตนเอง หลังจากตรวจพบว่าเขาติดเชื้อโควิด-19 พร้อมกับแชร์ประสบการณ์ของตนเองในฐานะที่เป็นผู้ป่วยที่กลับไปรักษาตัวอยู่ที่บ้าน

เช่นเดียวกับรายการข่าวของคริส คูโม (Chris Cuomo) ทางสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น โดยคริสนั้นเป็นน้องชายของผู้ว่าการรัฐนิวยอร์กด้วย เมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา เขาออกมาประกาศว่าตัวเขาเองติดเชื้อไวรัสโควิด-19 คริสจึงกักตัวเองอยู่ภายในบ้าน และใช้ห้องใต้ดินของบ้านเป็นสตูดิโอแห่งใหม่ เขายังใช้ช่วงเวลาของการกักตัวนี้ในการถ่ายทอดประสบการณ์การเป็นผู้ป่วยไวรัสโควิด-19 ด้วย คริสเริ่มประกาศข่าวอยู่ที่บ้านตั้งแต่วันจันทร์ที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา หลังจากพบว่าตนเองมีอุณหภูมิของร่างกายเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และในวันนั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่เขาเริ่มจัดรายการที่บ้านของตนเอง ต่อมาวันอังคารเขาได้รับการยืนยันจากแพทย์ว่าติดไวรัสโควิด-19

รายการของเขาได้สร้างความฮือฮาไม่น้อยเมื่อเขานำเสนอข่าวเกี่ยวกับการเสียชีวิตของแพทย์รายหนึ่งในรัฐนิวเจอร์ซีเพราะแพทย์และพยาบาลขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อปกป้องตนเอง เขาเลือกเพื่อนและสามีของแพทย์รายนั้นมาสัมภาษณ์สดออกอากาศ ปรากฏว่า สามีของแพทย์รายดังกล่าวที่ยังอยู่ในอาการโศกเศร้าจนไม่สามารถพูดคุยในรายการของคริสได้มากนัก รายการวันนั้นสร้างความสะเทือนใจแก่ผู้ชมรายการเป็นอย่างมาก แต่คริสกล่าวกับผู้ชมของเขาว่า การนำเสนอเรื่องราวของแพทย์คนหนึ่งที่ไม่ได้มีชื่อเสียงอะไรมากนัก และความเจ็บปวดของคนใกล้ชิดก็ไม่ได้เป็นความเจ็บปวดเดียวที่เกิดขึ้นในประเทศนี้ แต่เขาต้องการทำให้ผู้ชมเห็นภาพของปัญหาที่เกิดขึ้นกับแพทย์และพยาบาลที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการรักษาผู้ป่วยจากไวรัสโควิด-19

ด้านนักข่าวภาคสนามเองก็ระมัดระวังตัวเองมากขึ้นเช่นกัน โดยผู้สื่อข่าวหลายคนเลือกที่จะเปิดหน้าตัวเอง (Stand up report) ในการรายงานข่าวสดเข้าไปยังสตูดิโอจากภายในบ้านแทนการออกไปยืนอยู่ในสถานที่จริงดังที่เคยปฎิบัติมา ขณะที่การสัมภาษณ์แหล่งข่าวจากเดิมที่เคยยื่นไมโครโฟนจ่อปากแหล่งข่าวแล้วก็ถามคำถามที่อาจทำให้อยู่ใกล้ชิดแหล่งข่าวนานหลายนาที ผู้สื่อข่าวหลายคนเริ่มหันมาใช้ไมค์บูม (Boom mic) ที่มีแขนจับยาวเป็นพิเศษเหมือนกับการบันทึกเสียงในการถ่ายทำภาพยนตร์ การปฎิบัติเช่นนี้ทำให้มีระยะห่างทางสังคม (Social distancing) ระหว่างผู้สื่อข่าว แหล่งข่าว และช่างภาพ โดยไม่จำเป็นต้องใกล้ชิดกัน สบายใจและปลอดภัยกันทุกฝ่าย

ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ Sky News สหราชอาณาจักรใช้ไมค์บูมที่มีแขนจับยาวหลายเมตรเมื่อสัมภาษณ์แหล่งข่าวเพื่อเว้นระยะห่างทางสังคมระหว่างกัน โดยไม่ต้องใช้ไมค์จ่อปากสัมภาษณ์แหล่งข่าวเหมือนที่เคยปฎิบัติในยามปกติ

นักข่าวยังนิยมสัมภาษณ์แหล่งข่าวผ่านระบบออนไลน์ไม่ว่าจะเป็น LINE, Skype, Messenger หรือแอพลิเคชั่นอื่น ๆ ที่ทั้งสองฝ่ายสะดวกในการสื่อสารระหว่างกัน วิธีการนี้เป็นที่นิยมเป็นอย่างมากไม่ว่าจะเป็นในสหรัฐอเมริกา ยุโรป หรือแม้กระทั่งในอาเซียนของเรา หากวิเคราะห์กันให้ถ้วนถี่แล้ว แนวทางนี้ทำให้นักข่าวและองค์กรข่าวสามารถเข้าถึงแหล่งข่าวได้มากกว่าวิธีการแบบดั้งเดิมเสียอีก ข้อจำกัด คือ หากนักข่าวไม่ได้ลงไปสังเกตการณ์ในสถานที่จริงด้วยตนเองก็อาจทำให้ตีความข้อมูลคลาดเคลื่อนได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่พึงระวังในสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ การเข้าถึงแหล่งข่าวที่หลากหลายจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง หากเราสังเกตในรายงานข่าว ผู้ชมจะเห็นว่านักข่าวภาคสนามเหล่านี้ มีการพูดคุยกับแหล่งข่าวผ่านโน๊คบุ๊กหรือไม่ก็โทรศัพท์มือถือแทนการพูดคุยกันอย่างใกล้ชิดเชิงกายภาพ ภาพดังกล่าวคงจะเกิดขึ้นแบบนี้อีกนาน และชินตาผู้ชมมากขึ้น หากสถานการณ์ยังยืดเยื้อต่อไป

ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ CNA ของสิงคโปร์ประจำกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปินส์กำลังสัมภาษณ์แหล่งข่าว ซึ่งเป็นคนเร่ร่อนในกรุงมะนิลาที่ได้รับผลกระทบจากนโยบาย Lock down ของประธานาธิบดีดูเตอร์เต โดยเธอใช้แอพลิเคชั่นสื่อสังคมในโทรศัพท์มือถือสัมภาษณ์แหล่งข่าว
ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ iTV News ของสหราชอาณาจักรเลือกใช้การสัมภาษณ์แหล่งข่าวผ่านระบบออนไลน์โดยใช้โน้ตบุ๊กเป็นอุปกรณ์การสื่อสาร

ขณะที่การสัมภาษณ์สดแหล่งข่าวในรายการข่าวนั้น ต่างหันมาใช้ระบบออนไลน์เข้ามาช่วยในการสัมภาษณ์สด เป็นวิธีการที่ทดแทนการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ที่ได้ยินเฉพาะเสียงของแหล่งข่าวหรือการเชิญแหล่งข่าวเข้ามาสัมภาษณ์ในสตูดิโอของสถานีโทรทัศน์ ซึ่งเป็นวิธีการแบบเดิมที่เคยใช้ในรายการข่าว การสัมภาษณ์สดทางออนไลน์ช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของไวรัสได้ดี เพราะแหล่งข่าวไม่ต้องเดินทางมายังสถานีโทรทัศน์ ต่างฝ่ายต่างไม่ต้องหวาดระแวงซึ่งกันและกัน เข้าใจว่าแนวปฎิบัตินี้จะกลายเป็นวิธีการสัมภาษณ์สดในรายการข่าวโทรทัศน์ของบ้านเราต่อไป

ผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์ GMA ของฟิลิปินส์เว้นระยะห่างทางสังคมระหว่างกันอย่างน้อย 2 เมตรระหว่างการดำเนินรายการข่าว
รายการตอบโจทย์ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสสัมภาษณ์แหล่งข่าวผ่านระบบออนไลน์แทนการเชิญเข้ามานั่งพูดคุยกันในสตูดิโอ วิธีการนี้เป็นที่นิยมกันทั่วไปทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศเพราะสะดวกกันทุกฝ่ายในยามที่เรามองไม่เห็นศัตรูที่คุกคามเรา

ส่วนผู้ประกาศในสตูดิโอที่ต้องทำหน้าที่ประกาศข่าวมากกว่า 1 คนนั้น ก็ปรับมีการเว้นระยะหว่างทางสังคมเช่นเดียวกัน โดยผู้ประกาศแต่ละคนมียืนหรือนั่งห่างกันอย่างน้อย 2 เมตรระหว่างการปฎิบัติงาน ดังเช่นสถานี GMA News TV ของฟิลิปินส์ที่ใช้ผู้ประกาศข่าวถึงสามคนในรายการเดียวกัน พวกเขาต้องยืนห่างกันอย่างน้อยสองเมตร เช่นเดียวกับผู้ประกาศข่าวของสถานีโทรทัศน์บ้านเราที่พวกเขาก็ต้องเว้นระยะห่างทางสังคมเช่นเดียวกัน   

Richard Gizbert ผู้ผลิตรายการ The Listening Post ทางสถานีโทรทัศน์อัลจาซีรา (Aljazeera) ประกาศในรายการของเขาว่า เขาจะใช้พื้นที่ภายในบ้านของตนเองเป็นสถานที่ผลิตรายการแทนการเข้าไปนั่งอยู่ในสตูดิโอ

นี่เป็นการสำรวจการเปลี่ยนแปลงทางหน้าจอโทรทัศน์ที่ผู้ชมอย่างเรามองเห็นเท่านั้น แต่เบื้องหลังของการทำงานข่าวในภาวะวิกฤตนี้ให้ราบลื่นนั้น งานด้านเทคนิคหรือเทคโนโลยีการสื่อสารและการผลิตรายการขององค์กรข่าวแต่ละแห่งจะมีบทบาทสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ปรากฏการณ์ของการใช้ช่องทางออนไลน์ที่มีมากขึ้นนั้น ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่า บทบาทของนักวารสารศาสตร์ในภาวะวิกฤตเช่นนี้ โดยเฉพาะการทำงานในยุคดิจิทัล ซึ่งเส้นแบ่งระหว่างนักวิชาชีพข่าวกับประชาชนหรือสาธารณะนั้นแทบจะเลือนลางมากขึ้นทุกขณะ ประชาชนหรือพลเมืองสามารถส่งข้อมูลข่าวสารของตนเองหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใกล้ตัวผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่อยู่ในมือได้อย่างง่ายดาย เอาเข้าจริงแล้ว แรงกระเพื่อมนี้เหล่านี้กระทบต่อบทบาทการเป็นนักวิชาชีพวารสารศาสตร์ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการกระทบต่อบทบาทของการเป็นผู้เชี่ยวชาญที่จะถูกท้าทายจากพลเมืองกลุ่มต่าง ๆ โดยตรงมากขึ้น กระทบต่อวัฒนธรรมการทำข่าวแบบดั้งเดิม แต่ผลกระทบในเชิงบวกก็มีไม่น้อยเช่นกันเพราะการสื่อสารยุคปัจจุบันทำให้แหล่งข่าวมีตัวตนและปรากฎขึ้นมากมายในพื้นที่แห่งการสื่อสาร แน่นอนว่าบทบาทการเป็นนักวารสารศาสตร์แบบที่เคยปฎิบัติมาจำเป็นต้องเปลี่ยนไปสู่การเป็นวารสารศาสตร์เชิงเครือข่าย (Networked journalism)

แนวคิดนี้ได้รับการเสนอโดยเจฟฟ์ จาร์วิส (Jeff Jarvis) นักวิชาชีพและนักวิชาการด้านวารสารศาสตร์ที่ภาควิชาวารสารศาสตร์ (School of Journalism) ณ City University of New York โดยตัวเขาเองเป็นผู้อำนวยการสาขาสื่อใหม่ (New media program) และติดตามการทำงานของสื่อในยุคดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง

แนวคิดวารสารศาสตร์เชิงเครือข่ายนั้น เป็นแนวทางในการสร้างความร่วมมือระหว่างนักวิชาชีพวารสารศาสตร์กับผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ กลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคม และพลเมืองหรือประชาชนทั่วไปที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะทุกคนสามารถเข้ามาสู่สนามของการสื่อสารได้ด้วยตนเองผ่านช่องทางดังกล่าวกล่าวมาแล้ว โดยเป้าหมายของความร่วมมือดังกล่าวก็เพื่อช่วยกันเข้าถึงข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน นักวารสารศาสตร์เชิงเครือข่ายมีหน้าที่สำคัญในการเชื่อมโยงข้ามองค์กรและพื้นที่ทางกายภาพไปสู่การแบ่งปันข้อมูล ช่วยกันตั้งคำถาม ช่วยกันแสวงหาคำตอบ ช่วยกันระดมความคิดและมุมมองที่กว้างขวางมากขึ้น ด้วยบทบาทเช่นนี้ เจฟฟ์มองว่านักวิชาชีพวารสารศาสตร์เชิงเครือข่ายต้องเล่นบทเป็นจุดเชื่อมต่อ (Node) ในการเชื่อมร้อยผู้คน แลกเปลี่ยน และกระจายข้อมูลผ่านช่องทางดิจิทัล (Digital platform) ที่มีอยู่อย่างดาษดื่น บทบาทการเป็นจุดเชื่อมต่อของนักวารสารศาสตร์ในภาวะวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่คาดว่าจะใช้เวลาอีกพอสมควรกว่าจะคลี่คลายนั้น การนำแนวคิดวารสารศาสตร์เชิงเครือข่ายมาปรับประยุกต์ใช้ในวิถีการทำข่าวในปัจจุบัน จึงน่าจะเป็นโอกาสที่ทำให้การทำงานของนักวิชาชีพข่าวมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
https://buzzmachine.com/2006/07/05/networked-journalism/
https://edition.cnn.com/2020/04/02/media/chris-cuomo-coronavirus-reliable-sources/index.html