fbpx

“มันไม่ใช่สถานที่สำหรับเที่ยวเตร่เพื่อหากำไรให้แก่ชีวิต ให้แก่ความเหลวไหลไม่เอาถ่าน แต่เหมืองแร่ คือตู่ใส่กับข้าวใบสุดท้ายที่บังคับให้ข้าพเจ้าประคองกระเพาะอันอิดโรยไปหามันไม่ใช่ขอร้องให้ไป มัน ต้อนข้าพเจ้ามากกว่า ต้อนรับ …

… พึงเข้าใจว่าข้าพเจ้า เป็นเพียงส่วนประกอบที่ไม่จำเป็นของมัน ในขณะที่ตัวมัน มีลีลาอย่างสง่าภาคภูมิเข้ามาสิงอยู่ในชีวิตของข้าพเจ้า”

ประโยคข้างต้นนั้น อาจินต์ ปัญจพรรค์ ได้กล่าวเอาไว้เมื่อนานมาแล้ว ในหนังสือตะลุยเหมืองแร่หนึ่งในรวมเรื่องสั้นชุดเหมืองแร่อันเป็นผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้กับเขาอย่างถล่มทลาย

สำหรับนักอ่านแล้วเหมืองแร่เปรียบเสมือนหนังสือบอกเล่าประสบการณ์ที่ควรค่าแก่การอ่านสักครั้งในชีวิต มันถูกบรรจุไว้ในรายชื่อหนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน (พ.ศ.2408 – 2519) และถูกตีพิมพ์ซ้ำอีกเป็นจำนวนมาก นับตั้งแต่การตีพิมพ์ครั้งแรกใน พ.ศ.2508

เหมืองแร่เดินทางต่อเนื่องอย่างยาวนานจนกระทั้งในปี พ.ศ.2548 บริษัท จีเอ็มเอ็ม ไท หับ หรือ GTH (ปัจจุบันคือ GDH559) ได้นำภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องสั้นชุดนี้ออกฉายในชื่อ มหา’ลัยเหมืองแร่ ทำให้เรื่องสั้นชุดนี้กลับมาเป็นที่รู้จักและถูกพูดถึงอีกครั้ง

ถึงแม้จะไม่ประสบความสำเร็จด้านรายได้แต่ก็กวาดรางวัลด้านภาพยนตร์ในปีนั้นไปมากมายรวมถึง รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากเวทีสุพรรณหงส์และยังเป็นภาพยนตร์ไทยที่ถูกเล่าขานมาจนถึงทุกวันนี้

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเหมืองแร่คือชื่อที่ควบคู่กันมากับอาจินต์ ทว่า ผลงานชิ้นนี้มิใช่สิ่งเดียวที่ถูกถ่ายทอดออกมาจากปลายปากกาของนักเขียนผู้เลื่องชื่อ และเพื่อเป็นการคาราวะแก่ท่านและหวังว่าจะเป็นแนวทางแก่มิตรรักนักอ่านส่องสื่อจะขอพาทุกท่านท่อง เหมืองผลงาน อาจินต์ ปัญจพรรค์ไปด้วยกัน

หนังสือ “ตะลุยเหมืองแร่” ฉบับ พ.ศ. 2530 ตีพิมพ์โดย สำนักงานเริงรมย์ 

เจ้าพ่อ– เจ้าเมือง

ปีพ.ศ.2529 มีการรายงานข่าวของสื่อมวลชนว่าพบแหล่งน้ำมันที่บ้านสะแกฯ ต.เก้าห้องจ.สุพรรณบุรี อาจินต์ในเวลานั้นหยิบแผนที่ขึ้นมากางทำการค้นคว้า ลงพื้นที่เก็บบรรยากาศและสัมภาษณ์ชาวบ้านจนได้นวนิยายที่สมบูณ์เรื่องนี้ออกมา

นับว่าเป็นอีกหนึ่งผลงานชิ้นเอกของเขานวนิยายซึ่งว่าด้วยเรื่องราวของ 3 ชั่วคน 3 ตระกูลในเรื่องของความรัก ความแค้นกฎหมาย การเปลี่ยนแปลงการปกครอง และการค้นพบแหล่งน้ำมันในแถบลุ่มแม่น้ำสุรรณ (คำโปรยหนังสือ เจ้าพ่อ สำนักพิมพ์หมึกจีน ,2533)

ปรัชยาไส้

เป็นการผสมคำจากคำว่าปรัชญา และ ยาไส้ เกิดเป็นงานเขียนที่ให้แง่คิดและบันทึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ซึ่งเกิดขึ้นในยุคสมัยนั้น นำเสนอด้วยความหลากหลายและภาษาที่สั้นๆ แต่กระแทกใจ อันเป็นเอกลักษณ์ของอาจินต์

เหมืองทองแดง

เรื่องราวของชายหนุ่มที่ต้องเข้าไปทำหน้าที่คุมงานสร้างเหมืองในสถานที่ซึ่งชื่อว่า”ดงผีบดทอง”อันห่างไกลจากความเจริญ และเดินทางด้วยความยากลำบาก ด้วยลีลาการเปิดเรื่องที่ค่อยๆแนะนำตัวละครในเรื่อง รวมถึงภาษาเขียนอันเป็นเอกลักษณ์ แม้อาจจะไม่เป็นงานเขียนชิ้นที่โด่งดังมากนักแต่ก็ไม่ควรมองข้ามไป

แม่น้ำยามศึก

บอกเล่าเรื่องราวของชนบทเล็กๆ ในช่วงระหว่างสงคราม เรื่องราวของการหนีทหาร การระดมกำลังของชาติ และผลกระทบจากสงครามที่เกิดขึ้น ทว่ายังคงดำรงชีพอย่างสงบ มีวิถีชีวิต ประเพณีอันสวยงามของตนเอง

นอกจากนี้ยังมี เรื่องสั้นนอกเหมืองแร่ที่มีเรื่องสั้นที่ถูกกล่าวขานจนถึงทุกวันนี้อย่าง เศรษฐศาสตร์กลางทะเลลึกหรือรวมเรื่องสั้นฟ้าเมืองไทย รวบรวมเรื่องสั้นจากนิตยาสารฟ้าเมืองไทยที่อาจินต์ก่อตั้ง และเป็นบรรณาธิการ รวมถึงงานเขียนของเขานอกเหนือจากที่กล่าวไปแล้วในช่วงปี พ.ศ.2520 – 2540 อีกด้วย

เหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นว่า อาจินต์คือผู้สร้างผลงานได้หลากหลายแง่มุมและสม่ำเสมอเหมืองผลงานของเขาถ่ายทอดออกมาจากประสบการณ์อันล้ำค่า เขาได้รับรางวัล ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ในปี พ.ศ.2534 และถือเป็น”ครู” ของใครหลายๆคนในฐานะนายช่างแห่งเหมืองกระโสม นักเขียนรุ่นพี่และนักเล่าเรื่องราวผู้ที่ตัวหนังสือของเขา ยังคงทำหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยมมาจนถึงทุกวันนี้

ส่องสื่อ ขอแสดงความนับถือต่อ อาจินต์ ปัญจพรรค์ มา ณ ที่นี้