fbpx

หลังจากทีมกองบรรณาธิการส่องสื่อได้ไปดูเรื่องราวของจีเอ็มเอ็ม ทีวีกันไปพอสมควรแล้ว เราก็สงสัยต่อว่าทีวีของแกรมมี่ 2 ช่องได้แก่ ช่องวัน 31 และจีเอ็มเอ็ม 25 ช่องไหนกันที่ได้กำไรหรือขาดทุนมากกว่ากัน เราสงสัยเลยตามไปสืบมาให้ทุกท่านได้หายสงสัยกัน ติดตามได้จากบทความนี้ได้เลยครับ

มาที่ช่องวัน 31 กันก่อน ซึ่งปัจจุบันเป็นกิจการร่วมค้าของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่กับตระกูลปราสาททองโอสถ ภายใต้การบริหารของ บจก.เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพร์ส ซึ่งกิจการร่วมการค้าประกอบไปด้วย บจก.วัน สามสิบเอ็ด (ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ระบบดิจิทัล ความคมชัดสูง หมายเลข 31) ,บจก.มีมิติ ,บจก.เอ็กแซ็กท์ ซีเนริโอ และบจก.แอ็กซ์ สตูดิโอ ซึ่งเป็นการบริหารงานแบบครบวงจรเลยทีเดียว พูดกันง่ายๆ ก็คือช่องวัน 31 มีครบทุกอย่าง มีทีวีเป็นของตัวเอง มีสตูดิโอถ่ายทำละคร-รายการ-ซิทคอมเป็นของตนเอง มีบริษัทที่ดูแลบริหารศิลปินในสังกัด และมีบริษัทผลิตรายการโทรทัศน์ที่ผลิตให้ทุกช่องได้ ซึ่งทำให้สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย

โดยช่องวัน 31 ได้หัวเรือใหญ่อย่าง ถกลเกียรติ วีรวรรณ เป็นประธานคณะกรรมการบริหารของกลุ่ม เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพร์ส มาดูแลภาพรวมทั้งหมดของธุรกิจเลยก็ว่าได้ ซึ่งที่ผ่านมาช่องวัน 31 สามารถทะยานขึ้น Top 8 ได้เป็นที่น่าพึงพอใจมากๆ โดยเฉพาะการเพิ่มรายการข่าวเข้าไปให้เข้มข้นขึ้น รวมไปถึงการอัดฉีดรายการบันเทิง มีการดึงบุคลากรมาจากค่ายยุ้งข้าวมาช่วยทำรายการให้มีเรตติ้งที่น่าพอใจ โดยเฉพาะรายการในช่วง 18.00-20.00 น. ที่มีรายการเกมโชว์ร้องเพลงสู้ชีวิตและละครแนวชาวบ้าน ก็ทำสถิติไต่ขึ้นทุกวันๆ แซงละครหลังข่าวกันเป็นว่าเล่นเลย

มาถึงผลประกอบการกันบ้าง ช่องวัน 31 ทำรายได้ในปีที่แล้วไปทั้งหมด 2,782 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นเพียงไม่กี่สิบล้านบาทเท่านั้น แต่ข้อดีที่เราต้องชื่นชมก็คือตัวช่องวัน 31 สามารถบริหารจัดการต้นทุนให้น้อยกว่าปี 2561 ได้อย่างดีเยี่ยม ส่งผลให้ได้กำไรไป 174 ล้านบาทเลยทีเดียว!

มาถึงอีกหนึ่งกิจการร่วมค้ากันบ้าง กับ บจก.จีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง ที่คราวที่แล้วเราพอทราบกันไปแล้วบ้างว่าธุรกิจในเครือเขามีอะไรกันบ้าง? ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีธุรกิจในเครือแบบครบวงจร เหมาะสมกับตระกูลสิริวัฒนภักดีมากๆ เพราะสามารถเกื้อหนุนธุรกิจที่เขามีอยู่ได้ดีเลยทีเดียว ตอบโจทย์ทั้งในแง่การมีช่องทีวีเป็นของตัวเอง มีบริษัทผลิตรายการป้อนช่องตัวเองและช่องอื่นๆ ได้ด้วย และมีรายการวิทยุเป็นของตนเองอีกด้วย

ซึ่งพอมาดูผลประกอบการในช่วงปี 2562 ที่ผ่านมาต้องบอกว่ามีรายได้เพิ่มขึ้นมากเลยทีเดียว โดยมีรายได้รวมอยู่ที่ 2,551 ล้านบาท แต่มีต้นทุนเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน เมื่อหักบวกลบกันไปแล้วก็ขาดทุนไป 117 ล้านบาทนั่นเอง

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับช่องจีเอ็มเอ็ม 25 เกิดจากการหาเป้าหมายของคนดูไม่เจอ ในมุมมองของคนดูอย่างเราค่อนข้างเห็นว่าจีเอ็มเอ็ม 25 มีปัญหาตรงนี้ค่อนข้างมาก ถ้าสังเกตดูผังรายการตลอดทั้งวันเราจะพบว่ารายการเกินครึ่งเป็นรายการรีรัน และรายการส่วนใหญ่เน้นไปทางผู้ใหญ่ ส่วนรายการที่เน้นวัยรุ่นจะไม่ค่อยมี (ในขณะที่ช่องก็ยังแอบติดภาพลักษณ์ของความเป็นวัยรุ่นอยู่เล็กๆ) ซึ่งกลายเป็นว่าไปตีกับช่องอื่นๆ ที่แข็งแรงกว่า หรือตีแม้กระทั่งช่องวัน 31 เช่นเดียวกันนั่นเอง

ในขณะที่ช่องวัน 31 มีการค้นหากลุ่มเป้าหมายคนดูที่ชัดเจนกว่า และสามารถวางกลยุทธ์ให้ไปในแนวทางที่ชัดเจน ตรงกลุ่มเป้าหมายได้มากกว่า รวมไปถึงการบริหารจัดการรายได้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดก็ส่งผลต่อรายได้เช่นเดียวกัน

ก็หวังไว้ว่าปีนี้น่าจะไม่เจออะไรนอกจากโควิด-19 อีกละกันนะครับ…

อินโฟกราฟิกโดย ทินวุฒิ ลิวานัค